๔๔. แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๒) : โทรทัศน์สี ร้านหนังสือ น้ำบ่อทราย ห้วยปลาเน่า เรือโดยสาร ป่าช้าวัดหนองกลับ สามล้อถีบ


            โทรทัศน์สีเครื่องแรกของอำเภอหนองบัว ดูเหมือนว่าประมาณปี 2515 หนองบัวก็เริ่มมีโทรทัศน์สีเป็นเครื่องแรก ผู้ที่มีโทรทัศน์สีเป็นเครื่องแรกของหนองบัวก็คือร้านขายยาช้างทองเภสัช ซึ่ง ณ เวลานั้น  อยู่ข้างตลาดสดหนองบัว และต่อมาก็ขยับขยายไปที่อื่น  และเป็นธรรมดา ในเวลานั้น ชาวบ้านยังไม่ค่อยมีสื่อโทรทัศน์ 

            ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมีโทรทัศน์สีหรือขาวดำ  ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ต้องแบ่งปันให้กับผู้คนรอบข้างไปด้วยกรายๆ  เนื่องจากพอตกเย็นผู้คนก็จะไปรวมกลุ่มอยู่หน้าร้าน รุมดูโทรทัศน์ จนในที่สุด  ก็ต้องยกออกมาวางที่หน้าร้าน เหมือนกลายเป็นโทรทัศน์สาธารณะไปเลย  นึกๆดูก็จะเห็นถึงชีวิตความเป็นชุมชนที่อบอุ่นและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันของชุมชน

            ร้านตาเอี๋ยม ร้านหนังสือ สินค้าความรู้และสินค้าทางปัญญาแห่งแรกของหนองบัว  อำเภอหนองบัวเริ่มมีร้านหนังสืออย่างเป็นกิจลักษณะเป็นแห่งแรกคือร้านตาเอี๋ยม  อยู่ข้างตลาดสดหนองบัวเช่นกัน  ขายหนังสือและจัดระบบการรับเป็นสมาชิกด้วย  พ่อผมสมัครเป็นสมาชิกหนังสือให้พวกผมอ่านหลายเล่มก็จากร้านตาเอี๋ยมนี่เอง คือ หนังสือเด็กก้าวหน้า ชัยพฤกษ์ หนูจ๋า อมยิ้ม ซึ่งเมื่อผมไปรับมาแล้ว เพื่อนๆและเด็กๆในหมู่บ้าน  ก็จะมาป้วนเปี้ยนรออ่านหนังสือกันอยู่ที่บ้านผมไปด้วย

            น้ำบ่อทราย สระหลวงพ่ออ๋อย  หนองบัวเป็นอำเภอที่กันดารมาแต่ไหนแต่ไร  แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคเท่าที่มีอยู่จึงเป็นปัจจัยชีวิตส่วนรวมที่มีบทบาทขับเคลื่อนความเป็นสังคมท้องถิ่น และการจัดการชีวิตและความเป็นอยู่ด้วยกันอย่างมีส่วนร่วมอันแท้จริง  น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ ซึ่งคนท้องถิ่นมักเรียกว่า วัดหลวงพ่ออ๋อย เป็นแหล่งน้ำที่คนในตัวอำเภอต่างใช้สอยร่วมกัน  ทำให้เกิดรถเข็นน้ำ ซึ่งเรียกว่า 'รถลุน หรือรถสาลี่' และกลุ่มคนรับจ้างเข็นน้ำ แพร่หลายไปทั่วอำเภอหนองบัว 

           รถเข็นคันหนึ่งก็จะมีปี๊บใส่น้ำ 8-12 ใบ ทำให้ข้างๆ และโดยรอบสระ  มีกิจกรรมเศรษฐกิจชุมชนต่อเนื่อง เช่น  ร้านปะยางรถ  ร้านปะและบัดกรีปี๊บ ซึ่งได้กลายเป็นร้านทำหน่อไม้อัดปี๊บไปด้วย และเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในหนองบัว อยู่ตรงข้ามบ้านอัยการประเวศ รักษพล ข้างเกาะลอยและข้างต้นมะขามโบราณต้นใหญ่ที่สุดของหนองบัว

           ความกันดารและการขาดแคลนน้ำ  เป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่งของอำเภอหนองบัวมากระทั่งปัจจุบัน

            เรือเครื่องโดยสาร หนองบัว-ชุมแสง  ในปัจจุบัน หากมีผู้กล่าวว่า  หนองบัวในอดีต  มีเรือโดยสารแล่นระหว่างหนองบัว-ชุมแสง ผู้คนต้องไม่เชื่อและยากที่จะจินตนาการได้ว่าเป็นไปได้อย่างไร แต่มีจริงๆ โดยก่อนยุคที่จะมีรถเมล์  เมื่อถึงหน้าน้ำหลาก  หนองบัวก็จะมีน้ำบ่าท่วม  เจิ่งนองและไหลล่องลงไปทางใต้  ยิ่งใกล้ถึงอำเภอชุมแสง  จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ไกลออกไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร  ก็จะยิ่งกลายเป็นที่ลุ่มและน้ำท่วมสูง  ผู้คนท้องถิ่นจึงสามารถแล่นเรือโดยสารได้จากหนองบัว-ชุมแสง เป็นการสัญจรที่สะดวกและมีประสิทธิภาพที่สุด  กระทั่งมีรถประจำทางในช่วงทศวรรษ 2510

            ห้วยน้อยและห้วยปลาเน่า  ในช่วงประมาณทศวรษ 2510 นั้น ตัวอำเภอหนองบัวยังแคบมาก  บริเวณที่เป็นหัวถนนและศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ในปัจุบันนั้น  ยังคงเป็นย่านหมู่บ้านและคอกวัวของชาวบ้าน  พ้นทางที่ซึ่งเป็นไปรษณีย์ในปัจจุบัน  ก็จะกลายเป็นท้องนา และเชื่อมต่อกับที่ราบลุ่มซึ่งเรียกว่าห้วยน้อยและห้วยปลาเน่า  ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นแหล่งอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นในอดีต

           ห้วยน้อยและห้วยปลาเน่า  เป็นแหล่งอาหาร มีแมกไม้ และผักปลาที่มากับน้ำ เช่น เทา  ไข่ผำ  ผักแว่น  มากมาย ปลาและสัตว์น้ำชุกชุมเป็นที่สุด ชาวบ้านจากทุกสารทิศของชุมชนโดยรอบ  มักพากันไปตั้งเพิงจับปลา ใช้เวลาเพียงจ้าวละวัน-สองวัน ก็กลับไปเป็นพะเรอเกวียน  ทั้งปลาย่าง  ปลาเป็นๆ ปลาหมักที่เตรียมนำกลับไปทำปลาร้าปลาจ่อม

          ปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยและพบว่า เทาและไข่ผำ เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง และเป็นแหล่งอาหารในธรรมชาติ  ที่เป็นตัวบ่งชี้ความสมดุลของระบบนิเวศน์ในท้องถิ่นนั้นๆด้วย  ที่ซึ่งมีเทาและไข่ผำให้หากินได้อยู่ จะสะท้อนให้รู้ว่า ชาวบ้านและชุมชนยังสามารถดูแลรักษาให้สภาพแวดล้อมมีความสมดุลเพียงพอ  ไม่มีสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนในระบบนิเวศน์ในระดับที่เป็นอันตราย

          นอกจากนี้  ห้วยน้อยและห้วยปลาเน่ามีความเป็นแอ่งและที่ราบลุ่มน้ำขังยาวนาน  ทำให้มีต้นกกมากมาย  จึงเป็นแหล่งเก็บเกี่ยวต้นกกแบบได้เปล่าในแหล่งธรรมชาติ  ก่อเกิดวัฒนธรรมการทอเสื่อและต่ำสาด ควบคู่ไปกับการทอผ้าใช้เองของชาวบ้าน ซึ่งเพิ่งจะซาและหายไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อสิบกว่าปีมานี้ หลังจากสภาพความเป็นแอ่งน้ำของห้วยน้อยและห้วยปลาเน่าหายไป

            ป่าช้าวัดหนองกลับ  ปัจจุบัน  ด้านหน้า ตรงข้ามซุ้มประตูวัดหนองกลับหรือวัดหลวงพ่ออ๋อย ซึ่งยังคงเป็นศูนย์กลางของความเป็นชุมชน อำเภอหนองบัวอยู่นั้น ผู้คนอาจจะเห็นว่ามีธนาคารกสิกร ย่านอาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ห้องแสดงสินค้า และที่อยู่อาศัยหนาแน่น  เหมือนกับเป็นใจกลางของตัวอำเภอแห่งหนึ่งเลยทีเดียว 

            ทว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมาแล้ว บริเวณดังกล่าวนั้น เป็นป่าช้าฝังศพทั้งของชาวไทยและชาวไทยจีน ป่าละเมาะ ดงต้นพุดทรา และทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวควายของชาวบ้าน  บรรยากาศเปลี่ยวและน่ากลัวทั้งกลางวันกลางคืน  เมื่อถึงหน้างานประจำปีของวัดหนองกลับ  ก็จะถูกปรับสถานที่ให้เป็นที่ฉายหนังกลางแปลง  โรงลิเก  ร้านหมอลำ  และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ  ณ  เวลานั้น  ไม่มีทางที่จะจินตนาการออกได้เลยว่าจะมีสภาพความเป็นชุมชนเมืองอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

             ต่อมา  ประมาณในช่วงย่างเข้าสู่ทศวรรษ 2520  จึงมีงานรื้อป่าช้า  โดยทำพิธีแบบชาวจีนผสมผสานไปทั้งพราหมณ์ พุทธ และไสยศาสตร์  มีซินแสและคนเข้าทรง  คอยวิ่งชี้แหล่งที่มีกระดูกและศพฝังอยู่  แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันขุดขึ้นมาทำพิธีขอขมาและทำบุญให้  ซึ่งพบกระดูกมากมาย  หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนาการเป็นย่านชุมชนเมืองดังที่เห็นในปัจจุบัน

              สามล้อถีบหนองบัว  ชุมชนอำเภอหนองบัวในอดีต  อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย การสัญจรในท้องถิ่นที่มีบทบาทก่อนที่จะมีมอเตอร์ไซค์คิวและรถสองแถวก็คือ สามล้อถีบ ซึ่งวิ่งรับส่งผู้โดยสารไปทั่วตัวอำเภอ และเส้นทางที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริการสาธารณะก็คือการวิ่งรับ-ส่งผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนผู้ที่ไปโรงพยาบาลกับคิวรถต่างๆในตัวตลาด ซึ่งจะใช้การถีบเป็นระยะทาง 1-2 กิโลเมตร

             ครอบครัวเพื่อนผม ก็มีสามล้อถีบด้วย คือ ครอบครัวพ่อโน้ม-แม่มาลัย ซึ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่ของอรุณ โลหเวช ซึ่งในขณะเรียนหนังสือกันที่หนองคอกนั้น  อรุณ หรือชื่อเล่นว่าน้อย เมื่อเลิกเรียนและวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็ช่วยพ่อแม่หารายได้ด้วยการถีบสามล้อ ซึ่งผมและเพื่อนๆเคยขอทดลองถีบ  ก็รู้สึกหนักและถีบยากเป็นที่สุด  ดูเหมือนว่าน่าจะง่ายกว่าถีบจักรยาน ทว่า หากถีบไม่เป็นแล้ว กลับหงายท้องและคว่ำเทกระจาดอย่างง่ายดาย  คนถีบสามล้อจึงใช้ทักษะสูงและร่างกายต้องแกร่งอย่างยิ่ง 

            ครอบครัวของอรุณเป็นคริสเตียนและนับพวกเราเป็นลูกๆไปด้วยทั้งหมด  อรุณนั้น  เป็นเพื่อนสนิทที่รักใคร่กับผมและครอบครัวของผมมากที่สุดคนหนึ่ง ต่อมาก็ศึกษาต่อจนจบมหาวิทยาลัย  สาขาภูมิศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร และหลังจากนั้นก็ได้ทุนการศึกษา และปัจจุบัน ท่านเป็นบาดหลวง  ดูเหมือนว่าอยู่แถวภาคเหนือ และไม่เคยได้เจอกันเลยนับแต่แยกย้ายจากกันเมื่อจบหนองคอก.

 

หมายเลขบันทึก: 232582เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2008 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีครับ

ผมผ่านหนองบัวทุกครั้งที่ผ่านไปกลับบ้านครับ

สวัสดีครับคุณหมอ จากปาย ผ่านหนองบัว แล้วข้ามฟากไปบ้านคุณหมอนี่ เรียกว่าเดินทางข้ามฟากประเทศทุกครั้งที่กลับบ้านเลยนะนี่นะ ประสบการณ์ชีวิตดีจังเลยนะครับ

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

ประวัติวัดหนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

  • เมื่อวานตอนเย็น (๓ ก.ค. ๕๒) อาตมาเดินทางไปงานศพที่อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ ได้ขอหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงพ่ออ๋อย สุวณฺโณ อายุ ๘๗ ปี)พิมพ์ปี พ.ศ ๒๕๓๒ ซึ่งรวบรวมโดยพระครูวาปีปทุมรักษ์(พระครูไกร) เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ(ปัจจุบันเป็นพระราชาคณะที่พระนิภากรโสภณซึ่งมักเรียกกันทั่วไปว่าท่านเจ้าคุณ) จากหลวงน้าส้ม แก้วนิคมท่านให้มาหนึ่งเล่ม
  • มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่างจะขอนำเสนอเป็นเรื่อง ๆ ไปตามลำดับ
  • วันนี้ขอเสนอประวัติวัดหนองกลับก่อนดังนี้
  • ประวัติวัดหนองกลับ(คนรุ่นเก่าเรียกวัดหลวงพ่ออ๋อย) ตำบลหนองกกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ (เดิมขึ้น ต. หนองกลับ อ. บางมูลนาก จ. พิจิตร)
  • วัดหนองกลับสร้างเมื่อ พ. ศ. ๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ ใครสร้างไม่ปรากฏประวัติ ทราบตามคำบอกเล่าว่าตรงที่สร้างวัดหนองกลับนี้ ในสมัยสงครามเวียงจันทร์เป็นที่ตั้งค่ายของชาวหนองบัว-หนองกลับ เพื่อป้องกันทัพเวียงจันทร์ที่ผ่านมา
  • ด้วยบ้านนี้ตั้งมานานหลายร้อยปี มีวัดเก่าชื่อวัดหนองม่วง ตั้งอยู่ตำบลหนองกลับ มีวัดสระมะนาว ตั้งอยู่ตำบลหนองบัว
  • เมื่อชาวบ้านตั้งค่าย ณ วัดหนองกลับ จึงต้องย้ายวัดตามมาด้วย จึงมีวัด ๒ วัดอยู่ติดกัน ในสมัยนั้นชาวบ้านเรียกวัดนอกกับวัดใน
  • ต่อมาพระภิกษุในวัดเกิดเป็นอหิวาต์ มีพระภิกษุมรณภาพ พระภิกษุที่เหลือจึงย้ายไปอยู่วัดนอก (คือวัดหนองกลับปัจจุบัน)
  • ตั้งแต่นั้นมาจึงรวมกันโดยปริยาย สำหรับชื่อวัดนั้นมีผู้เขียนไว้ว่าเดิมชื่อ “วัดประทุมคงคา” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดหงษ์” เพราะมีเสาหงษ์อยู่หน้าวัด
  • ต่อมามีเจ้าเมืองพิจิตรมาตรวจราชการ จึงเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมือนกับชื่อหมู่บ้านว่า “วัดหนองกลับ” และด้วยเหตุวัดอยู่ติดกับหมู่บ้านหนองบัว ชาวบ้านปัจจุบันจึงนิยมเรียกว่า “วัดหนองบัว” แต่ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองกลับ
  • เมื่อทางราชการตั้งกิ่งอำเภอหนองบัว จึงโอนตำบลหนองกลับจาก อ. บางมูลนาก จ.พิจิตร มาขึ้นกับจังหวัดนครสวรรค์
  • ด้วยยังไม่มีที่ทำการจึงใช้วัดหนองกลับเป็นที่ทำการกิ่งอำเภอหนองบัว และข้าราชการก็อาศัยกุฏิพระอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงย้ายที่ทำการไปอยู่ที่ทำการปัจจุบัน
  • เมื่อทางบ้านเมืองมีฐานะเป็นอำเภอแล้ว มีคณะสงฆ์อำเภอขึ้น โดยวัดหนองกลับเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอ มีพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงพ่ออ๋อย) เป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัว
  • นับว่าวัดนี้มีประโยชน์ต่อสังคมเป็นอันมาก วัดหนองกลับนี้เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดอยู่นานก็คือพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงพ่ออ๋อย) ปกครองอยู่ถึง ๕๖ ปี
  • ต่อมาท่านชราภาพอายุถึง ๗๗ ปี ประกอบกับดวงตาเป็นต้อจนมองไม่เห็นทางคณะสงฆ์จึงยกเป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗
  • ในขณะที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น ได้นิมนต์พระครูนิวาสธรรมขันธ์(หลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ อ. ตาคลี) มาสร้างศาลาการเปรียญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นศาลาเสาไม้ที่ใหญ่มีหน้าบันทำด้วยปูนปั้นลวดลายสวยงามมาก เป็นรูปพระพุทธเจ้าผจญมาร เป็นศาลาทรงไทย กว้าง ๒๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร
  • ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๓.๑๐ นาที หลังคาศาลาได้พังลงมา ทำให้ไม้เครื่องบน และพื้นกระดาน กระเบื้องมุงหลังคาเสียหายประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
  • เหตุที่พังเพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เกิดพายุพัดหลังคาเอนเอียงไปมาก ประกอบกับความหนักของกระเบื้องและหน้าบัน จึงได้พังลงมาตามวันเวลาดังกล่าว
  • และในขณะที่พังนั้น มิได้มีลมและฝนแต่ประการใด และเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ว่า หลังคาศาลาพังลงมาหลังวันทำบุญเข้าพรรษา ๑ วัน เท่านั้น มิเช่นนั้นจะมีคนตายเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นบุญกุศลแก่วัด และชาวหนองบัวเป็นอย่างยิ่ง
  • ทางวัดได้แก้ไขให้ศาลาอยู่ในสภาพเดิม พร้อมกันนั้นก็ต้องบำรุงศาลาเก่าไว้ให้ชนรุ่นหลังดูสืบไป.
  • ถ้าโยมอาจารย์วิรัตน์จะมีอะไรเพิ่มเติมหรือมีข้อสังเกตช่วยให้ได้ข้อมูลรายละเอียดเชิงสังคมวัฒนธรรมอีกก็น่าจะมีความสมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้านมากยิ่งขึ้น
  • วันต่อไปคงได้นำเสนออีกโปรดติดตามตอนต่อไป

                                                            ขอเจริญพร

                                                 พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

เรือเครื่องโดยสาร หนองบัว-ชุมแสง

  • เรื่องนี้ไม่ทราบเลย พยายามนึกถึงแต่ก็นึกไม่ออก แต่เห็นคลองเรือและพอจะรู้จัก
  • แต่สภาพคลองเรือที่อาตมาจำได้ส่วนมากตั้งแต่หน้าอำเภอลงไปจนถึงที่ทำการไปรษณีย์มีแต่ขยะเน่าเหม็นและคนก็เผาขยะควันไฟคลุ้งเหม็นไปทั่วบริเวณเมื่อตอนเดินทางไปโรงเรียนทั้งเช้า-เย็น
  • หน้าน้ำหลากน้ำคร่ำที่เน่าเหม็นในคลองเรือก็ไหลเข้านาชาวบ้านสีน้ำดำปี๋ แต่น้ำในคลองเรือนั้นเมื่อไหลเข้านาทำให้ข้าวงอกงามต้นเขียวแตกต่างจากข้าวทั่วไป
  • ส่วนต้นข้าวบริเวณที่อยู่ใก้ล ๆ คลองเรือส่วนมากข้าวจะงามเกินไปไม่มีรวงจะมีแต่ใบแน่นมากสีเขียวเนื่องเพราะในน้ำคงมีสารเคมีอะไรสักอย่าง
  • คนที่ใช้เรือโดยสารจากหนองบัวไปชุมแสง น่าจะมีอายุประมาณ ๖๐ ปีขึ้นไปแต่ก็ไม่ทราบข้อมูลส่วนนี้เลย.

                                                            ขอเจริญพร

                                                  พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ผมได้เรียนรู้ไปด้วยมากมายครับ เลยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์มากยิ่งๆขึ้นหากเป็นหัวเรื่องเฉพาะให้คนเข้ามาอ่านและช่วยกันเพิ่มเติมข้อมูลเล็กๆน้อยๆไปด้วย ผมเลยตั้งหัวข้อไว้ให้เฉพาะที่นี่ครับ
  • พระคุณเจ้าเข้าไปเขียนเพิ่มเติมได้เสมอครับ และคนหนองบัวหรือผู้อ่านที่สนใจ ก็จะได้ค้นหาได้สะดวก อยากให้ข้อมูลหรืออยากร่วมสร้างความรู้แง่มุมใดด้วยกัน ก็จะได้มีหัวข้อเฉพาะไว้รองรับครับ
  • เรื่องใช้เรือโดยสารนี้ รุ่นผมก็ยังทันครับ (๕๐ ปี) ผมรู้จักเจ้าของเรือโดยสารเก่าแก่อยู่จ้าว-สองจ้าว ถึงแก่กรรมหมดแล้ว แต่ลูกหลานยังอยู่ครับ เมื่อมีโอกาสจะลองถามไถ่รวบรวมข้อมูลไว้ครับ เพราะจำได้แต่เพียงลางๆเท่านั้น

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

การลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวบ้านชุมชนหนองบัว

ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

การลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวบ้านทั้งชุมชนหนองบัวและโดยรอบ เป็นการระดมน้ำใจและการเอาแรงที่มีพลังมหาศาล ชาวบ้านจะดาหน้าและจัดวางตนเองโดยอัตโนมัติระดมพลังเดินหน้าเกี่ยวข้าวไปพร้อมกัน

แต่ละคนจะรับผิดชอบด้านหน้าตนเองและซ้ายขวาออกไปประมาณข้างละเมตรพอเอื้อมแขนและโน้มตัวไปถึง มีการพูดคุย กระเซ้าเย้าแหย่ เล่นปฏิภาณกัน บางคนอยากจะร้องเพลง ก็ร้องอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นที่สนุกสนาน

แต่ละไร่ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ แต่ละจ้าวก็จะลงแขกและเอาแรงเกี่ยวข้าวไม่กี่วันก็เสร็จ นับว่าเป็นวัฒนธรรมการจัดการชุมชนการผลิตที่มีพลังมากจริงๆ

                           

ในภาพเป็นห้วยน้อยและสะพานหนึ่งหรือสะพานห้วยน้อย อยู่ใกล้กับบ้านป่ารังที่แลเห็นลิบๆในภาพ แต่เดิมนั้นบริเวณห้วยน้อยเป็นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก  ปลาและอาหารที่มากับน้ำมีอย่างมากมาย ชาวบ้านทั้งหนองบัว ป่ารัง บ้านรังย้อย บ้านตาลิน และโดยรอบ สามารถไปหาปลาในบริเวณนี้

หน้าน้ำทรง เพียงลงอวนลากเที่ยวเดียว ก็จะได้ปลาซิวปลาสร้อยทำน้ำปลา-ปลาจ่อม ได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งหน้าแล้ง ก็เป็นที่เดียวที่มีเขียดมากมายกระทั่งสามารถใช้อวนลาก ลากเตี้ยๆไปบนผืนดิน เขียดก็จะกระโดดขึ้นไปติดอวนมากมาย

ข้างสะพานจะมีต้นโพธิ์และต้นไทรอยู่ริมถนน อีกด้านหนึ่งก็มีต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่ ออกลูกดกและมีนกป่ากับกระแต-กระรอกมากิน แต่คนกินไม่ได้เพราะเปรี้ยวจัดและมียางมาก

ตรงสะพานซึ่งมีน้ำไหลและเป็นแอ่งน้ำ พื้นที่ลึกมากกว่าแหล่งอื่น จึงไม่สามารถปลูกข้าวได้ จึงจะมีกกและพืชน้ำมากมาย ชาวบ้านในท้องถิ่นก็จะมาเกี่ยวต้นกกเพื่อนำไปทำเสื่อและสาด ในอดีตนั้น การทำเสื่อ สาด ทอผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งการปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย และปั่นนุ่น เป็นทักษะพื้นบ้านที่ใครๆก็ทำเป็น เด็กๆก็มีโอกาสเรียนรู้และทำเองได้

ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นสะพานคอนกรีตแล้ว และตัวเมืองหนองบัวก็ขยายออกไปจนเกือบถึงบริเวณนี้  สภาพโดยรอบจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นชุมชนเมือง มีโรงสีข้าว ที่พักอาศัยและแหล่งประกอบกิจการที่ขยายออกไปจากตัวอำเภอ

สวัสดีค่ะ

  • เมื่อวันก่อนขับรถผ่านเส้นทางคลองชลประทานแถวๆ พระนครศรีอยุธยาพบชาวบ้านวางที่ดักปลาคล้ายๆ ในภาพที่อาจารย์วาดไว้ค่ะ เรียกไม่ค่อยถูก อาจารย์บอกว่า "ตั้งเพิงจับปลา" แต่เสียดายว่าไม่ได้ถ่ายรูปไว้ ขากลับมาก็เย็นมากแล้ว ชาวบ้านเค้าเก็บไปแล้วค่ะ คาดว่าคงได้ปลาเยอะอยู่

  • การยกยอแถวๆ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยาพบเห็นได้เยอะเลยค่ะ แถวหนองบัวยังพอมีให้เห็นไหมค่ะ?

โรงเรียนอุตรดิตถ์แวะมาศึกษาข้อมูลอันน่าทรงจำของชาวหนองบัวด้วยครับ

น่าสนใจมากทีเดียว เหมือนกับได้ย้อนอดีตไปสู่ยุคเก่าๆ (ร่วมรุ่น ร่วมสมัยเหมือนกันครับท่านวิรัตน์)

  • สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์
  • ในวิถีชุมชนการผลิตดั้งเดิมนั้น ลักษณะของเครื่องมือการผลิตและเครื่องมือการทำมาหากิน จะสะท้อนลักษณะถิ่นฐานและมีภาษาสื่อถึงระบบนิเวศวิทยาในแหล่งนั้นๆด้วยครับ
  • อย่างที่อาจารย์นำมาฝากในภาพนี้ ก็จะบอกถึงความเป็นถิ่นที่แหล่งน้ำมีความแน่นอน มีน้ำตลอดปี มีโอกาสที่จะเลือกขนาดปลาและสัตว์น้ำจำเพาะตัวใหญ่ๆ 
  • ลักษณะของยอก็จะติดตั้งไว้ได้อย่างถาวร แล้วก็จะใช้ยกจับปลาเพื่อไปทำกินแบบเป็นมื้อๆเหมือนการเบิกอาหารจากธรรมชาติเป็นครั้งๆ เมื่ออยากได้ปลาไปทำอาหาร ก็เดินมายกยออย่างนี้ ครั้ง-สองครั้ง ก็จะได้ปลาไปปรุงอาหารหนึ่งมื้อ ซึ่งลักษณะอย่างนี้จะทำไม่ได้ในแหล่งที่ไม่ไดมีน้ำตลอดเวลา
  • ชุมชนอย่างหนองบัว และในแหล่งอื่นๆที่น้ำท่าจะหลากมาตามฤดูกาลนั้น ไม่เอื้อให้ติดตั้งยอในลักษณะนี้ อีกทั้งน้ำที่หลากตามฤดูกาล จะมีปลาหลากหลาย ยอที่ใช้ก็จะมีขนาดเล็กและตาถี่ มักได้แต่ปลาขนาดเล็กๆ ใช้ยกโดยเดินย้ายที่ไปเรื่อยๆ และเมื่อหมดฤดูกาลก็ไม่ต้องทิ้งยอไว้เหมือนในแหล่งที่มีน้ำตลอดปี
  • เห็นยอแบบในรูปนี้ที่ไหน ก็พอจะบอกได้ว่า ที่นั่นมีพื้นฐานเป็นชุมชนลุ่มน้ำ และเป็นแหล่งที่มีน้ำตลอดปี ดังนั้น แถวอำเภอหนองบัวซึ่งมีน้ำท่าจำเพาะบางฤดู จึงไม่มียอแบบนี้ครับ
    • สวัสดีครับอาจารย์โตคนเมืองพระยาพิชัยดาบหัก
    • เป็นวิธีช่วยกันเขียนความรู้ท้องถิ่นและรวบรวมข้อมูลของชุมชนท้องถิ่นที่น่าประทับใจดีมากทีเดียวครับ
    • มองในแง่จัดการความรู้ ก็เห็นการผสมผสานจุดแข็งของ IT เข้ากับการปฏิสัมพันธ์ของแหล่งข้อมูลและความรู้จาก ๓ จุดยืน คือ ชาวบ้านและกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่  คนที่มีถิ่นเกิดในชุมชนและย้ายถิ่นไปอยู่แหล่งอื่น  กลุ่มคนที่อยู่ภายนอกชุมชนแต่มองเข้าไปในชุมชนจากทรรศนะของคนที่เห็นภาพกว้าง
    • เหมือนกับทำเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนการเรียนรู้ แต่อยู่กันคนละทิศละทางเลยครับ เป็นการทำเรื่องเดียวกันจากระยะไกลเลย
    • อาจารย์โตและทุกท่าน ก็เชิญร่วมสนทนาและร่วมเขียนความรู้จากทรรศนะคนในท้องถิ่นได้ตามอัธยาศัยเลยครับ

    อรุณสวัสดิ์ค่ะ

    • ขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์ค่ะสำหรับข้อมูล เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่เคยทราบมาก่อนค่ะ ได้ความรู้ใหม่เลยค่ะ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

    • ต้องขออนุโมทนาอาจารย์โตด้วยที่เข้าอ่านและให้กำลังใจชาวหนองบัว
    • ถ้าดียิ่งขึ้นอีกก็อยากเห็นอาจารย์โตเขียนเรื่องราวร่วมสมัยให้ได้อ่านกันบ้าง อย่าให้ผิดหวังนะอาจารย์.
    • เห็นภาพยกยอที่อาจารย์ณัฐพัชร์นำมาให้ดูแล้วทำให้นึกถึงตอนเป็นเด็ก ไปวิดปลาที่หนองแหนไม่ทราบชื่อนี้ถูกต้องหรือไม่  อยู่ใกล้ ๆ สะพานหนึ่งที่อาจารย์วาดภาพพอดีเลย
    • จำได้ว่าปลาชุมมากโดยเฉพาะปลาดุกวิดในหนองน้ำโดยใช้ระหัด ปลาติดตูดระหัดขึ้นมาที่ปากด้านบน
    • สิ่งที่อาตมามีประสบการณ์ร่วมสมัยอีกอย่างหนึ่งก็คือการนั่งสามล้อถีบไปโรงพยาบาลหนองบัวได้ใช้บริการบ่อย ๆ
    • ถ้าวาดเป็นภาพได้ก็จะเป็นสิ่งแรกของหนองบัวอีกบรรยากาศหนึ่งที่หลายคนได้เคยใช้บริการด้วยความประทับใจและยังจดจำกันได้ดีถึงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของตนเองในเมืองหนองบัวอีกด้วย.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

    คนห้วยปลาเน่า ขอรายงานตัวครับ

    สมัยเด็ก ๆ ในคลองห้วยปลาเน่า ( หลังบ้าน) เห็นคนมาหาปลากันเยอะจริง ๆ อย่างที่อาจารย์ว่าไว้ มาจากหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะลาวโซ่ง หรือไททรงดำจากบ้านน้ำสาดเหนือ - น้ำสาดกลาง มาเป็นกลุ่ม ๆและมากันเป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงสูงอายุ คนพวกนี้เวลาเขาพูดกัน ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ......ทำทรงผมแปลก ๆ.......ไว้ผมยาวแล้วรวบผมทั้งหมดมาขมวดไว้ตรงกระหม่อม.........มีสวิงเป็นเครื่องมือ สำหรับใช้ช้อนกุ้งและตักปลา ต้องยอมรับว่าคนเผ่าพันธุ์นี้ เป็นสุดยอดฝีมือในการหาปลาจริง ๆ ครับ

    ห้วยปลาเน่านั้น นอกจากเป็นที่ลุ่มคอยรับน้ำจากห้วยน้อยแล้ว ยังมีคลองน้ำสาดซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในพื้นที่อำเภอหนองไผ่ และอำเภอบึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ด้วย คลองน้ำสาดนี้จะไหลผ่านหนองไผ่ - ร่องดู่ - น้ำสาดเหนือ - ห้วยด้วน - บ้านน้อย - น้ำสาดกลาง - ป่าเรไร - โคกมะกอก (ตำนานกลองยาวของตาห่วง) - ห้วยปลาเน่า (ตอนกลาง ๆ ระหว่างห้วยปลาเน่าเหนือกับห้วยปลาเน่าใต้)

    คลองห้วยปลาเน่า กับคลองน้ำสาดนี้ เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองถึง 3 ตำบลของอำเภอหนองบัว

    บ้านผมอยู่ใต้วัดลงไปประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่ตำบลห้วยถั่วเหนือหมู่สุดท้าย (หมู่ 9) ฟากคลองหลังบ้านซึ่งเป็นที่บรรจบของคลองทั้งสอง และมีลักษณะเป็นที่ชายธงนั้น เป็นตำบลหนองบัว ถัดจากคลองน้ำสาดก็เป็นตำบลธารทหาร.........สรุปว่า หมู่บ้านห้วยปลาเน่าเหนือ ในช่วงระยะทาง ประมาณ 400 เมตร จากบ้านผมไป 3 แยกบ้านเจ๊กตี๋ (ถนนสายหนอบัว - ท่าตะโก) กินอาณาเขตถึง 3 ตำบล แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าแม้ว่าบ้านบางหลังจะตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองบัวและตำบลธารทหาร แต่ก็แจ้งต่อทางการว่าเป็นพลเมืองตำบลหว้ยถั่วเหนือครับ

    สุดท้านี้ ขอนมัสการขอบคุณพระมหาแลฯ เป็นอย่างสูงครับ ที่ทำให้ได้ทราบประวัติอำเภอหนองบัวอย่างละเอียด

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)ครับ

    • กระทู้ในกล่องสนทนา ๑๓ ของพระคุณเจ้า เล็ดรอดผมไปไม่ได้เข้ามาตอบได้อย่างไรตั้งหลายเดือนครับเนี่ย กราบอภัยครับ
    • พูดถึงสามล้อถีบด้วย ผมเคยขอเพื่อนถีบดูครับ พอขึ้นและขยับนิดเดียวก็เกือบคว่ำเลย ที่เห็นเขาถีบกันดูง่ายๆนั้น ที่จริงแล้วถีบยากมากครับ
    • เพื่อนผมและครอบครัวญาติๆของเพื่อนแถวหน้าโรงพยาบาลหนองบัวเป็นมือถีบสามล้อด้วยครับ

    เอาลิ้งค์ชมทุ่งมาฝากค่ะ..เป็นภาพถ่ายฝีมือคุณสุพจน์แกเป็นช่างซ่อมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แต่ชอบเล่นกล้องมีอะไรแกเอามาฝากเรื่อย..อีกคนคือช่างลือคนบ้านเดียวกะครูอ้อยแต่อยู่คนล่ะอำเภอ..ช่างลือเป็นเจ้าหน้าที่อิเล็กทรอนิกส์ ม.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

    http://www.watchari.com/board/index.php?topic=2034.0

     

    ส่วนอันนี้ลิ้งค์ห้องรวมภาพที่โพสต์ค่ะ...

    http://www.watchari.com/board/index.php?board=23.0

    • สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทอง
    • พอนึกภาพออกครับ อย่างกับได้ฟังคนนั่งเล่าให้ฟังเลย
    • ข้อมูลชาวบ้านที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยนี่ดีจังเลยนะครับ ผมมีเพื่อนหลายคนเป็นคนธารทหาร ต้องหาเรื่องไปเยี่ยมสักกันสักหน่อยดีกว่า
    • แถวบ้านผมมีตำนานบอกเล่าของชาวบ้านที่มีคนธารทหารเข้าไปเป็นคนเดินเรื่องด้วยครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่รายละเอียดจะขาดๆเกินๆอยู่บ้างครับ
    • แถวบ้านมีทำนบแห่งหนึ่งซึ่งคนเก่าก่อนจะเรียกว่า ทำนบไอ้ลบ และเลยออกไปนอกหมู่บ้านก็มีไดไอ้แล่ อยู่ห่างกันสัก ๓-๔ กิโลเมตรแต่มีที่มาจากเหตุการณ์เดียวกันครับ
    • ทำนบเป็นแนวกั้นทดน้ำ หรือเป็นระบบจัดการน้ำแบบฝายอย่างหนึ่ง ส่วนไดนั้น เป็นบริเวณที่ลุ่มรับน้ำ ที่ลึกและมีน้ำท่วมขังมากกว่าที่โดยรอบ
    • ชาวบ้านเล่าต่อๆกันมาว่า ไอ้ลบกับไอ้แล่ เป็นหนุ่มธารทหารซึ่งเมื่อก่อนเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีโน้น ต้องถือว่าห่างไกลจากบ้านผมและหนองบัวจนยากจะไปมาหาสู่กันได้ตามปรกติ
    • สองคนนี้ อันที่จริงแถวบ้านผมแต่ก่อนนี้จะเรียกผู้ถึงแก่กรรมไปแล้วว่าสาง เลยขอเรียกว่าสางไอ้แล่กับสางไอ้ลบนะครับ
    • ทั้งสองเขาเป็นเกลอกันหรือญาติกันนี่แหละ ไปช่วยกันฉุดสาว ซึ่งในอดีตนั้นก็มีธรรมเนียมอย่างนี้อยู่เยอะครับ ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ หากฉุดไปได้ก็กลับมาขอขมากันแล้วก็อยู่มีลูกหลานเป็นญาติพี่น้องกันอย่างดี แต่ระหว่างที่ฉุดนี่แหละ ที่จะมีเรื่องซึ่งเหมือนกับเป็นการทดสอบในวิถีนักเลงชาวบ้าน
    • สาวที่ฉุดไปนั้นก็เป็นคนธารทหารด้วยกันนั่นแหละครับ แต่ว่าในอดีตนั้นก็อย่างที่แถวบ้านเราจะทราบกันดีว่า คนแถวธารทหาร ตุ๊กแก ตากฟ้า ท่าตะโกนั้น เป็นถิ่นนักเลง เพื่อนผมซึ่งเป็นคนถิ่นนั้นเขาเรียกเองว่า เสือเยอะ แถมเป็นเสือปล้นปืนอีกด้วย เลยเจอตามล่าครับ
    • ไปสว่างเกือบถึงแถวบ้านผมแล้วก็ไล่ยิงสู้กันไปเรื่อย จนบ่ายแก่ๆก็ล้มสางไอ้ลบ แล้วก็ไล่สางไอ้แล่จนไปล้มที่ไดอีกแห่งหนึ่งเลยหมู่บ้านออกไปไกลโขสัก ๓-๔ กิโลเมตร  
    • เมื่อตอนเป็นเด็กเรื่องนี้เป็นที่รับรู้และคุยสืบทอดสู่กันอย่างกว้างขวาง ชนิดที่ตกเย็นก็ไม่ค่อยมีใครอยากเดินผ่านไปแถวนั้นเลยครับ เดี๋ยวนี้ไม่น่ากลัวแล้วครับ คนเลยลืมๆ

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก แวะเข้าไปดูเว็บครูอ้อยเล็กแล้วเลยจำได้ว่า เว็บนี้ผมเคยลิ๊งค์เข้าไปแนะนำให้กับผู้อ่านและดูในเว็บของเพาะช่างนะครับ แสดงว่าผมเคยรู้จักงานของครูอ้อยเล็กมากก่อน ก่อนที่จะได้เจอตัวใน GotoKnowนี้และได้คุยกัน ตอนนั้นผมยังแปลกใจอยู่เลยว่า เจ้าของเว็บเป็นศิษย์เก่าเพาะช่างและดูมีทักษะทางศิลปะศึกษาดีมาก ทำไมเจ้าของเว็บนี้ไม่เข้าไปคุยในเว็บพาะช่างด้วย

    ตอนนั้นผมไปเป็นกรรมการกลุ่มสาระทางการเรียนรู้ให้กับกรมวิชาการ เขาบอกว่ามีคนแนะนำผมเข้าไป ผมจะปฏิเสธก็เป็นคนทำงานและรู้อยู่ว่าคนที่ต้องทำงานจริงๆที่อยู่เบื้องหลังในแต่ละเรื่องทั้งในวงการศึกษาและเรื่องต่างๆนั้นทำงานยากลำบากแค่ไหน ก็เลยช่วยกันทำไปก่อน แต่ในใจก็คิดว่าหากทำเพียงพึ่งตนเองในการทำงานแล้วผมคิดว่าตัวเองพอใช้ได้อยู่ในเรื่องศิลปะ แต่ถ้าเพื่อการศึกษาของชาติแล้วผมอยากให้เขาได้มือดีๆดีกว่า ก็เลยพยายามช่วยเขาอยู่เงียบๆเพื่อหาคนเก่งๆ ก็เลยได้เจอข้อมูลเกี่ยวกับครูอ้อยเล็กและผู้คนในแวดวงศิลปะมากมายที่เก่งๆ

    แต่คนเก่งๆทางการปฏิบัติและรู้จริงในงานที่กำลังลงมือทำก็มักมีข้อจำกัดที่จะออกไปคุยและไปผลักดันให้เกิดสิ่งดีๆในสังคมด้วยตนเอง เลยก็ไม่รู้จะทำกันอย่างไร ต้องทำเหมือนยืนพิงเชือกชกมวยครับ โดยระหว่างนั้นผมก็เขียนหนังสือ เขียนบทความ บรรยาย จัดเวที ให้กับคนศิลปะและในวงการต่างๆมากมาย เพื่อหนุนหลังและลงนวมซ้อมให้แกร่งเอง เพื่อให้เขาสามารถทำงาน ตกผลึกความคิดและพูดถ่ายทอดออกมาในนามของคนที่ทำจริงๆ อย่างในเว็บเพาะช่างและใน GotoKnow นี้ก็ทำภายใต้แนวคิดนี้เหมือนกันครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • อาจารย์สมบัติมาช่วยเสริมความรู้ เพิ่มเติมเรื่องราว แบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกันก็ยิ่งทำให้หนองบัวเรามีข้อมูลรายละเอียดในชุมชนได้อีกอย่างมาก ก็รู้ว่าชาวน้ำสาด น้ำสาดกลางนั้นเป็นพี่น้องชาวลาว แต่ไม่ยักกะรู้ว่าเป็นลาวอะไรอย่างไรก็พึ่งทราบ
    •  ยังอยากรู้รายละเอียดอื่น ๆ ในชุมชนรอบนอกหนองบัว จากคนที่มีประสบการณ์ทั้งในหนองบัวและชุมชนเพื่อนบ้านต่างประเทศอีกต่อไป
    • นึกภาพตามก็พอเห็นทาง(คลอง)สายน้ำ เพราะแถบนี้เป็นเส้นทางเดินไปทำนา นาอยู่ห้วยน้อย
    • หน้าน้ำต้องเดินทางจากบ้านเนินตาโพ หนองกลับ ผ่านศูนย์ท่ารถชุมแสง -หนองบัว เกาะลอย บ้านใน สะพานหนึ่ง ห้วยด้วน บ้านน้อย น้ำสาดกลาง บ้านป่าเรไร เลี้ยวเข้าห้วยน้อย โดยขับ(ขี่)เกวียน
    • อ้อมมากจริง ๆ เดี่ยวนี้มีถนนเข้าห้วยน้อยแยกจากถนนหนองบัว-ชุมแสงใกล้นิดเดียว ยุคมีรถวิ่งได้ถึงกลับเป็นทางลัด แต่ยุคใช้เกวียนกลับอ้อมครึ่งโลกเลยแนะ

    ที่ี่หนองบัว มีตำนานไอ้เป๋........เขตติดต่อฆะมัง ชุมแสง ไผ่สิงห์ ไผ่ขวาง หนองสระ หนองละมาน ดงจันนทำ ตะเฆ่ค่าย โคกกระถิน หนองแจง สายลำโพง ห้วยปลาเน่า ป่าเรไร น้ำสาด มีตำนานไอ้ไฮ้บ้า สูบกัญชา........................ที่หมู่บ้านน้ำสาดเอง ก็มีตำนานไอ้เริง(บ้า)

    ไอ้เริงที่ว่านี้ แก้ผ้ามาตั้งแต่เด็ก ถูกบังคับให้ใส่เสื้อผ้าอย่างไรก็ไม่ยอมท่าเดียว..บอกว่ามันร้อน...แต่ก็ยังดีนิดนึงที่ว่ามีผ้าขาวม้าไว้คลุมหัว - กันแดด กันฝน กันหนาว ไล่ยุง.......... ฯลฯ

    ไอ้เริงมีพ่อแม่ิพี่น้องอยู่ที่น้ำสาดกลาง ไม่เคยเร่ร่อนออกนอกพื้นที่ ....ขยันขันแข็ง......ช่วยพี่น้องทำนาได้

    เล่ากันว่า.....

    ผืนนาที่ไอ้้เริงเคยไปช่วยพี่น้องทำนั้นได้ถูกขายไป แต่ไอ้เริงก็ยังเดินไปดูนาอยู่เรื่อย ๆ (ทำไม่ไหว เพราะแก่มากแล้ว) ชาวบ้านร้องตะโกนถามว่า ..... นามึงน่ะ เขาขายไปแล้ว.... มึงจะออกไปดูทำไม.......ไอ้บ้า....

    ไอ้เริงตอบว่า..........ใครว่า มึงน่ะสิบ้า.....กูออกไปดูเมื่อไร กูก็เห็นมันอยู่คือเก่า .....ต้นไม้ ..จอมปลวกก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม มึงอย่ามาตัวะกูดีกว่า (พูดเป็นภาษาลาวโซ่ง)..นี่คือวลีเด็ดของคนที่ใคร ๆ ก็ว่าเขาเป็นคนบ้า

    ทราบว่าไอ้เริง ตายไปแล้วเมื่อตอนอายุ 60 กว่า ๆ........ขออนุญาตที่พาดพิง......ขอให้ดวงวิญญาณไปสู่สุคติ...สาธุ

    ทั้งไอ้เริงและไอ้ไฮ้ต่างก็เป็นลาวโซ่ง.........จะมีใครให้ความกระจ่างได้ไหมครับว่า...ไอ้เป๋ พูดภาษาอะไร ?

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ".....กูออกไปดูเมื่อไร กูก็เห็นมันอยู่คือเก่า .....ต้นไม้ ..จอมปลวกก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม มึงอย่ามาตัวะกูดีกว่า..."
    • นี่ถ้าไม่บอกว่าเป็นคนบ้า คงนึกว่าเป็นวาทะ ของพระเซ็น นิกายหนึ่งของพระญี่ปุ่นที่แยกไปจากมหายานอีกที เลยนะนี่
    • ลึกซึ่ง ๆ เข้าท่าดีแท้ ได้แง่คิด ตอนที่เขาพูดคงมีความสีหน้าแววตาเปี่ยมสุข
    • นับถือ ๆ มองเห็นอะไรไหมเอ่ย (ระหว่างผู้ถาม-ผู้ตอบ)
    • ไอ้เป๋ หนองบัว เท่าที่เห็นและเป็นไปตลอดชีวิตของแก อาตมาไม่ได้ยินแกพูดเป็นภาษาหรือสำเนียงที่จะบ่งบอกได้ว่า ไทยหรือลาว
    • มีแต่เสียงอ้อ ๆ แอ้ อือ ๆ เท่าที่จำได้ตัวเองไม่รู้จริง ๆ ว่า ไอ้เป๋หนองบัว พูดว่าอย่างไร
    • เป็นคำถามที่ดีนะอาจารย์ ทำให้คิดและทบทวนอดีตไปในตัว เป็นโจทย์ที่น่าหาคำตอบ
    • ก็ฝากเป็นการบ้านต่อไปว่าใครรู้บ้างช่วยบอกทีเถอะ
    • ผมก็ไม่เคยเห็นไอ้เป๋หนองบัวพูดเป็นภาษาเลยนะครับ แทบจะไม่เคยได้ยินเสียงอีกด้วย นอกจากทำท่าเหมือนบูชาพระอาทิตย์ ซึ่งผู้คนที่เป็นคนปรกติก็มักจะเอาไปตีเป็นหวยอีก
    • ท่านพระมหาแล ลองดึงไปยังแง่มุมแบบพระเซ็นก็ให้การฉุกคิดดีจังเลยครับ ให้อนุสติได้อย่างหนึ่งว่าไม่ว่าข้างนอกจะดีหรือบ้า เขาก็เป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยนั้นๆ ทว่า ความตื่นรู้(ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอย่างไร)ย่อมอยู่ข้างในตัวเรา
    • คุณสมบัติทำให้เรื่องต่างๆ ทั้งได้ความรอบรู้และสนุกดีจังเลยนะครับ

    เรื่องสนุก ๆ เกี่ยวกับเมืองลาวผมพอมีข้อมูลอยู่บ้างครับ ไว้โอกาสเหมาะ ๆ จะนำมาลงไว้ใน blog ให้ญาติพี่น้องชาวหนองบัวได้อ่านกัน

    รับรองว่าเรื่องนี้ จะไม่ทำให้เกิดการประท้วง หรือกระทบกับความรู้สึกว่ามีการดูหมิ่น/เหยียดหยามใด ๆ ระหว่างคนไทย - คนลาว

    การเขียนเรื่องพวกนี้ เราพึงระมัดระวังเป็นพิเศษครับ......เพราะเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวมาก

    แต่คนลาว สังคมลาว ......ประเทศลาว น่ารักครับ เคยมีศิลปิน มีนักเขียน หรือแม้แต่นักการเมืองไทยบางท่านไปกล่าว ก้าวล่วงเขา เขาก็ไม่เคยไปเผาสถานทูต หรือ ขับทูตออกนอกประเทศ (คุ้น ๆ อยู่นะ) อย่างรุนแรงที่สุด มีเพียงแค่ให้พลังมวลชนมาถือป้ายแสดงความไม่พอใจหน้าสถานทูตเท่านั้น........แต่ถ้าจะให่ดี อย่าให้เกิด/เราระงับที่เหตุดีกว่าครับ......ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ใช่ว่าจะสร้างกันได้ง่าย ๆ ....สรุปแล้ว...รักกัน/เป็นมิตรที่ดีต่อกันดีกว่าครับ

    อันที่จริงผมก็เก็บรวบรวมข้อมูล แล้วก็มีข้อมูลของลาวในด้านที่ผมคิดว่าผมจะเอาไว้คุยให้ฟังได้บ้างพอสมควร อยู่บ้างเหมือนกัน ยิ่งเมื่อสองสามปีก่อนนี้ผมได้ไปลาวและไปถ่ายภาพหลายอย่างมาเอง ก็คิดว่าได้ความสมบูรณ์มากเลย แต่ตอนนี้ผมนึกไม่ออกเลยว่าผมลืมหรือมันหายไปไหนหมด แล้วทำไมมันต้องหายจำเพาะในหมวดที่ผมเก็บไว้เขียนหนังสือและเขียนรูป หาจนอ่อนใจแล้ว หลายเรื่องเสียดายที่สุดเลย แต่ตั้งใจกับหมู่เพื่อนและคนใกล้ชิดว่าจะต้องหาโอกาสไปอีก

    สวัสดีครับ พี่วิรัตน์ ผมเป็นลูกศิษย์ครูฟื้น รุ่นสุดท้าย

    สวัสดีครับคุณ Jumper ครับ

    • เป็นลูกศิษย์ครูฟื้นรุ่นสุดท้าย ก็คงจะจบจากโรงเรียนวันครูไปแล้ว ๑๕-๑๗ ปีแล้วละสิครับ เป็นหนุ่มแล้วละครับ ดีใจจริงๆครับที่เข้ามาทักทายกัน
    • รวมทั้งคงต้องเป็นคนบ้านเราเลยเชียว หากเป็นคนบ้านเรา ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็หาโอกาสเข้ามาเขียนอีกนะครับ ลงทะเบียนและสมัครเป็นสมาชิกเลยครับ จะได้สามารถเขียนและร่วมแสดงทรรศนะ แลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันเรื่องราวต่างๆกับคนอื่นได้อย่างสะดวกทั้งต่อตัวเราเองและคนอื่นครับ
    • อยากให้เป็นประโยชน์อย่างไรทั้งต่อการพัฒนาตนเองและต่อบ้านเกิด ก็บุกเบิกและริเริ่มขึ้นตามประสบการณ์ของเรานะครับ เชื่อว่าประเดี๋ยวคนอื่นก็เข้ามาช่วยกันพัฒนาต่อไปได้เองครับ ทำให้เป็นทางเดินให้กับลูกๆหลานๆที่บ้านเราครับ ให้มีจุดเริ่มต้นที่ไกลและดีกว่าคนรุ่นเราๆ มีกำลังใจ มีความมั่นใจที่จะเป็นกำลังสร้างสรรค์สิ่งดีๆทั้งต่อสังคมและต่อบ้านเกิด อย่างไม่ต้องเริ่มต้นที่ศูนย์ มากยิ่งๆขึ้น
    • เมื่อพอมีโอกาสก็จะได้มีคนหลากหลายเพิ่มขึ้นที่จะกลับไปช่วยโรงเรียน วัด และชุมชนบ้านเรา ตามกำลังของแต่ละคนนะครับ
    • เลยขอลิงก์บล๊อกของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) กับเรื่องราวของชุมชนบ้านตาลินมาฝากให้ด้วยเลยนะครับ .......แวะเข้าไปอ่านและสนทนาตามอัธยาศัยเลยครับ
                      (๑) โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) และชุมชนบ้านตาลิน http://gotoknow.org/blog/civil-learning/233623
                      (๒) ชุมชนบ้านตาลิน http://gotoknow.org/blog/civil-learning/238004
                      (๓) เวทีคนหนองบัว http://gotoknow.org/blog/nongbua-community
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท