๕๕. ทุนสังคมวัฒนธรรม อ.หนองบัว : ข้อมูล | เรียนรู้ชุมชน..พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)


"....วัดหนองกลับ มีประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเป็นวัดที่หลวงพ่ออ๋อยและหลวงพ่อเดิม ได้ร่วมกันสร้างและวางรากฐานให้มีความมั่นคงถาวรจนถึงปัจจุบัน จึงนับว่าเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ เป็นปูมชุมชน และเป็นแหล่งที่มีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมของท้องถิ่นที่สุดแหล่งหนึ่ง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน.... "

ประวัติวัดหนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

  • เมื่อวานตอนเย็น (๓ ก.ค. ๕๒) อาตมาเดินทางไปงานศพที่อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ ได้ขอหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงพ่ออ๋อย สุวณฺโณ อายุ ๘๗ ปี)พิมพ์ปี พ.ศ ๒๕๓๒ ซึ่งรวบรวมโดยพระครูวาปีปทุมรักษ์(พระครูไกร) เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ(ปัจจุบันเป็นพระราชาคณะที่พระนิภากรโสภณซึ่งมักเรียกกันทั่วไปว่าท่านเจ้าคุณ) จากหลวงน้าส้ม แก้วนิคมท่านให้มาหนึ่งเล่ม
  • มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่างจะขอนำเสนอเป็นเรื่อง ๆ ไปตามลำดับ
  • วันนี้ขอเสนอประวัติวัดหนองกลับก่อนดังนี้
  • ประวัติวัดหนองกลับ(คนรุ่นเก่าเรียกวัดหลวงพ่ออ๋อย) ตำบลหนองกกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ (เดิมขึ้น ต. หนองกลับ อ. บางมูลนาก จ. พิจิตร)
  • วัดหนองกลับสร้างเมื่อ พ. ศ. ๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ ใครสร้างไม่ปรากฏประวัติ ทราบตามคำบอกเล่าว่าตรงที่สร้างวัดหนองกลับนี้ ในสมัยสงครามเวียงจันทร์เป็นที่ตั้งค่ายของชาวหนองบัว-หนองกลับ เพื่อป้องกันทัพเวียงจันทร์ที่ผ่านมา
  • ด้วยบ้านนี้ตั้งมานานหลายร้อยปี มีวัดเก่าชื่อวัดหนองม่วง ตั้งอยู่ตำบลหนองกลับ มีวัดสระมะนาว ตั้งอยู่ตำบลหนองบัว
  • เมื่อชาวบ้านตั้งค่าย ณ วัดหนองกลับ จึงต้องย้ายวัดตามมาด้วย จึงมีวัด ๒ วัดอยู่ติดกัน ในสมัยนั้นชาวบ้านเรียกวัดนอกกับวัดใน
  • ต่อมาพระภิกษุในวัดเกิดเป็นอหิวาต์ มีพระภิกษุมรณภาพ พระภิกษุที่เหลือจึงย้ายไปอยู่วัดนอก (คือวัดหนองกลับปัจจุบัน)
  • ตั้งแต่นั้นมาจึงรวมกันโดยปริยาย สำหรับชื่อวัดนั้นมีผู้เขียนไว้ว่าเดิมชื่อ “วัดประทุมคงคา” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดหงษ์” เพราะมีเสาหงษ์อยู่หน้าวัด
  • ต่อมามีเจ้าเมืองพิจิตรมาตรวจราชการ จึงเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมือนกับชื่อหมู่บ้านว่า “วัดหนองกลับ” และด้วยเหตุวัดอยู่ติดกับหมู่บ้านหนองบัว ชาวบ้านปัจจุบันจึงนิยมเรียกว่า “วัดหนองบัว” แต่ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองกลับ
  • เมื่อทางราชการตั้งกิ่งอำเภอหนองบัว จึงโอนตำบลหนองกลับจาก อ. บางมูลนาก จ.พิจิตร มาขึ้นกับจังหวัดนครสวรรค์
  • ด้วยยังไม่มีที่ทำการจึงใช้วัดหนองกลับเป็นที่ทำการกิ่งอำเภอหนองบัว และข้าราชการก็อาศัยกุฏิพระอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงย้ายที่ทำการไปอยู่ที่ทำการปัจจุบัน
  • เมื่อทางบ้านเมืองมีฐานะเป็นอำเภอแล้ว มีคณะสงฆ์อำเภอขึ้น โดยวัดหนองกลับเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอ มีพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงพ่ออ๋อย) เป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัว
  • นับว่าวัดนี้มีประโยชน์ต่อสังคมเป็นอันมาก วัดหนองกลับนี้เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดอยู่นานก็คือพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงพ่ออ๋อย) ปกครองอยู่ถึง ๕๖ ปี
  • ต่อมาท่านชราภาพอายุถึง ๗๗ ปี ประกอบกับดวงตาเป็นต้อจนมองไม่เห็นทางคณะสงฆ์จึงยกเป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗
  • ในขณะที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น ได้นิมนต์พระครูนิวาสธรรมขันธ์(หลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ อ. ตาคลี) มาสร้างศาลาการเปรียญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นศาลาเสาไม้ที่ใหญ่มีหน้าบันทำด้วยปูนปั้นลวดลายสวยงามมาก เป็นรูปพระพุทธเจ้าผจญมาร เป็นศาลาทรงไทย กว้าง ๒๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร
  • ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๓.๑๐ นาที หลังคาศาลาได้พังลงมา ทำให้ไม้เครื่องบน และพื้นกระดาน กระเบื้องมุงหลังคาเสียหายประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
  • เหตุที่พังเพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เกิดพายุพัดหลังคาเอนเอียงไปมาก ประกอบกับความหนักของกระเบื้องและหน้าบัน จึงได้พังลงมาตามวันเวลาดังกล่าว
  • และในขณะที่พังนั้น มิได้มีลมและฝนแต่ประการใด และเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ว่า หลังคาศาลาพังลงมาหลังวันทำบุญเข้าพรรษา ๑ วัน เท่านั้น มิเช่นนั้นจะมีคนตายเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นบุญกุศลแก่วัด และชาวหนองบัวเป็นอย่างยิ่ง
  • ทางวัดได้แก้ไขให้ศาลาอยู่ในสภาพเดิม พร้อมกันนั้นก็ต้องบำรุงศาลาเก่าไว้ให้ชนรุ่นหลังดูสืบไป.
  • ถ้าโยมอาจารย์วิรัตน์จะมีอะไรเพิ่มเติมหรือมีข้อสังเกตช่วยให้ได้ข้อมูลรายละเอียดเชิงสังคมวัฒนธรรมอีกก็น่าจะมีความสมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้านมากยิ่งขึ้น
  • วันต่อไปคงได้นำเสนออีกโปรดติดตามตอนต่อไป

ขอเจริญพร

พระมหาแล  ขำสุข (อาสโย)

 

--------------------------------------------

หมายเหตุเกี่ยวกับบทความ :

บทความนี้ ท่านพระมหาแล ขำสุข (อาสโย) เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น โดยท่านได้ได้ประมวลจากการอ่านและศึกษาจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงพ่ออ๋อย สุวณฺโณ อายุ ๘๗ ปี) พิมพ์ปี พ.ศ ๒๕๓๒ รวบรวมโดยพระครูวาปีปทุมรักษ์(พระครูไกร) เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ แล้วนำมาเผยแพร่โดยเป็นหัวข้อย่อยของการสนทนา เรื่อง แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ ซึ่งผมเขียนไว้เผยแพร่และเป็นหนทางสนทนาสร้างความรู้กับผู้อ่านในหัวข้อ วิถีประชาศึกษา ซึ่งเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์และมีความรู้เกี่ยวกับชุมชนอำเภอหนองบัวที่น่าสนใจ หากคนท้องถิ่นและผู้สนใจทั่วไปได้มีโอกาสอ่านละร่วมเขียนความรู้หรือสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันไปตามอัธยาศัย ก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมการร่วมกันเขียนและสร้างความรู้เกี่ยวกับชุมชนอำเภอหนองบัวให้มากยิ่งๆขึ้น ผมจึงคัดลอกแล้วตั้งให้เป็นหัวเรื่อง ทุนทางสังคมวัฒนธรรมอำเภอหนองบัว : วัดหนองกลับ หลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อเดิม นี้ให้แก่พระคุณเจ้าพระมหาแล ขำสุข(อาสโย) เพื่อเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งๆขึ้นต่อไป  นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเคารพและแสดงความเป็นเจ้าของ ของผู้เขียน รายละเอียดต่างๆ จึงยังคงรักษาให้เป็นไปตามต้นฉบับเดิมทุกประการ ขอนิมนต์พระคุณเจ้าท่านพระอาจารย์พระมหาแล ได้เขียนรวบรวม แลกเปลี่ยนความรู้ และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆไปตามแต่จะเห็นสมควรครับ : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  กรกฏาคม ๒๕๕๒ 

หมายเลขบันทึก: 273652เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (263)
พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

ประวัติพระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงปู่อ๋อย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

      วันนี้ขอนำประวัติหลวงปู่อ๋อย มาเผยแพร่สู่ธารณะชนหลวงปู่อ๋อยท่านผ่านวัยถึงขั้นบวชลูกศิษย์จนถึงหลานของลูกศิษย์จึงขนานนามท่านว่า "หลวงปู่" และขออนุญาตพิมพ์ตามต้นฉบับเดิมที่พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๒ ที่รวบรวมโดยพระครูไกร ดังนี้

  • ชื่อ พระครูนิกรปทุมรักษ์ ฉายา สุวณฺโณ อายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๗ น.ธ. ตรี (ท่านจบนักธรรมชั้นตรี –การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม มี ๓ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก)
  • วัดหนองกลับ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ดำรงตำแหน่ง อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองบัว กิตติมศักดิ์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ
  • ๑. สถานะเดิม ชื่อ อ๋อย นามสกุล พรมบุญ เกิดวันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒ บิดาชื่อนายพรม มารดาชื่อนางพวง หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
  • ๒. อุปสมบทวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ วัดพนมรอก ต. พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ วิทยฐานะ ป. ๒
  • ๓. งานปกครอง
  • ๑. พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ และเป็นเจ้าคณะหมวด วัดหนองกลับ
  • ๒. พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นพระอุปัชฌาย์
  • ๓. พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัว ๔. พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัวกิตติมศักดิ์
  • ๔. งานการศึกษา น.ธ. ตรี
  • ๕. สมณศักดิ์
  • พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นพระฐานานุกรมที่พระสมุห์
  • พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูนิกรปทุมรักษ์
  • พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก
  • พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ
  • ๖. พระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน คือ
  • ๑. พระครูนิกรปทุมรักษ์ (หลวงปู่อ๋อย) นามสกุล พรมบุญ 
  •  ๒. นายดำ พรมบุญ                  ถึงแก่กรรมแล้ว
  • ๓. นายไพร พรมบุญ                  ถึงแก่กรรมแล้ว
  • ๔. นางป่วน พรมบุญ                  ถึงแก่กรรมแล้ว
  • ๕. นางนวล พรมบุญ                  ถึงแก่กรรมแล้ว
  • ๖. นางปุ่น   พรมบุญ                   ถึงแก่กรรมแล้ว
  • ๗. นางป้น พรมบุญ (พุกน้อย) สมรสกับ นายปุย พุกน้อย
  • ๘. นางพู พรมบุญ(ใยชม)สมรสกับทายกกรี ใยชม ถึงแก่กรรมแล้ว
  • ๙. นางพัน พรมบุญ (ฉ่ำน้อย) สมรสกับนายลื่น ฉ่ำน้อย
  • เป็นชาย ๓ คน หญิง ๖ คน รวม ๙ คน

                                                ขอเจริญพร

                                           พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

หลวงพ่อเดิมชื่นชมคนหนองบัว

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  •   มีเกร็ดประวัติที่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้ทันเห็นหลวงพ่อเดิมตอนมาสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่และกุฏีของวัดหนองกลับตามคำกราบอาราธนานิมนต์ของหลวงปู่อ๋อยเล่ากันมาว่า 
  •  ญาติโยมชาวบ้านหนองบัวจะมีความเคารพนับถือและกริ่งเกรงบารมีท่านเป็นอย่างมาก 
  •  เรียกว่าท่านพูดอะไร ชี้แนะอะไรเป็นอันต้องทำให้ได้ตามเจตนารมณ์ท่านด้วยความเต็มใจและเคารพอย่างสูง
  • เช่นการสร้างศาลาหลังใหญ่กว้าง ๒๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร ต้องใช้คนงานคิดว่าทั้งหมู่บ้านหนองบัวหนองกลับเป็นแน่ 
  • ศาลาหลังนี้มีเสาไม้ขนาดใหญ่ร้อยกว่าต้น สมัยนั้นการตัดไม้ใหญ่ขนาดเสาศาลาวัดหนองกลับและการชักลากขนย้ายต้องใช้พิรุนลาก(พิรุน-เป็นคำเฉพาะที่คนหนองบัวเรียกยานชนิดหนึ่งมีล้อ ๒ ล้อใช้สำหรับลาก)ด้วยแรงงานคนร่วมกันลากจากป่าเหนือเขาสูงเขาพระหรือเรียกให้ถูกต้องก็คือดง เพราะสภาพเขาพระเขาสูงในสมัยนั้นเป็นป่าเป็นดงและมีสัตว์ป่าชุกชุม เช่นช้างป่า เสือ ควายป่า เป็นต้น 
  •  เป็นดงที่มีสัตว์ป่าดุร้ายนานาชนิดมากมาย การทำอย่างนี้ได้ต้องอาศัยศรัทธาของญาติโยมชาวบ้านที่มีต่อหลวงพ่อเดิมเท่านั้น จึงจะทำได้
  • ถ้าไม่มีบารมีถึงขั้นระดับชั้นหลวงพ่อเดิมเห็นจะหมดโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหญ่โตอย่างเช่นศาลาการเปรียญนี้ได้ เพราะเทียบเท่ากับการสร้างบ้านสร้างเมืองของชุมชนหนองบัวเลยทีเดียว 
  •  คนรุ่นเก่าบอกว่า หลวงพ่อเดิมท่านชอบคนหนองบัวมาก ๆ เลยคือ ตอนสร้างศาลาวัดหลังใหญ่และกุฏินั้น เวลาชาวหนองบัวหนองกลับมาวัดจะมีเครื่องไม้เครื่องมือติดตัวมาด้วยมีขวาน มีดเหน็บ เลื่อย สิ่ว ค้อน มุ้ย กบ พอหลวงพ่อเดิมเรียกคนไหนใช้ให้ทำอะไรคนคนนั้นทำได้ทันที เรียกว่าใช้ให้ทำอะไรสามารถทำได้ทุกอย่าง แสดงถึงความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริงของชาวหนองบัว 
  •  และด้วยการแสดงความสามารถให้ท่านเห็นประจักด้วยสายตาเช่นนี้แหละ จึงทำให้หลวงพ่อเดิมท่านรักเมตตาและชื่นชอบในการมีฝีมือของคนหนองบัว.

                         ขอเจริญพร

                  พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ประเพณีถวายเทียนพรรษา

  • เหลืออีกสองวันก็จะเข้าพรรษาแล้วอาตมาภาพขออนุญาตแทรกบทความเรื่องการถวายเทียนพรรษาสักวันเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศแห่งการบำเพ็ญบุญกุศลของชาวพุทธขอให้อ่านเป็นความรู้และเพิ่มพูนบุญกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ดังนี้
  • มีประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา
  • ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด ๓ เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง
  • ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
  • การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย
  • รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วยด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว
  • แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการทำเทียนพรรษาในประเทศไทยถวายเริ่มมีมาแต่สมัยใด แต่ปรากฏความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่พรรณาการบำเพ็ญกุศลในช่วงเข้าพรรษาว่ามีการถวายเทียนพรรษาด้วย ในประเทศไทย การถวายเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นพิธีใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
  • ในสมัยรัตนโกสินทร์การถวายเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยจะเรียกว่าพุ่มเทียน มีการพระราชทานถวายพุ่มเทียนรวมถึงโคมเพื่อจุดบูชาตามอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครและหัวเมือง ซึ่งพิธีนี้ยังคงมีมาจนปัจจุบัน
  • การถวายเทียนพรรษาโดยแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ นั้น มีมาแต่โบราณ เดิมเป็นประเพณีราชสำนักดังที่ปรากฏในเทียนรุ่งเทียนหลวงตามพระอารามต่าง ๆ
  • สำหรับเทียนแกะสลักที่ปรากฏว่ามีการจัดทำประกวดกันเป็นเรื่องราวใหญ่โตในปัจจุบันนั้น พึ่งเริ่มมีเมื่อปี พ.ศ. 2483 โดยนายโพธิ์ ส่งศรี ได้เริ่มทำแม่พิมพ์ปูนซีเมนต์เพื่อหล่อขี้ผึ้งเป็นทำลวดลายไทยไปประดับติดพิมพ์บนเทียนพรรษา
  • นับเป็นการจัดทำเทียนพรรษาแกะสลักของช่างราษฏร์เป็นครั้งแรก และนายสวน คูณผล ได้ทำลวดลายนูนสลับสีต่าง ๆ เข้าประกวดจนชนะเลิศ
  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 จึงเริ่มมีการทำเทียนพรรษาติดพิมพ์ประกวดแบบพิศดารโดยนายประดับ ก้อนแก้ว คือทำเป็นรูปพุทธประวัติติดพิมพ์จนได้รับรางวัลชนะเลิศติดต่อกันมาหลายปี
  • จนปี พ.ศ. 2502 นายคำหมา แสงงาม ช่างแกะสลัก ได้ทำเทียนพรรษาแบบแกะสลักมาประกวดเป็นครั้งแรกจนได้รับรางวัลชนะเลิศ
  • จากนั้นจึงได้มีการแยกประเภทการประกวดต้นเทียนเป็นสองแบบคือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก จนในช่วงหลังปี พ.ศ. 2511 นายอุตสาห์ และนายสมัยแสงวิจิตร ได้เริ่มมีการจัดทำเทียนพรรษาขนาดใหญ่โต ทำเป็นหุ่นและเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของเทียนพรรษาขนาดใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบัน
  • ในอดีต การหล่อเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวพุทธจะมารวมตัวกันนำขี้ผึ้งมาหลอมรวมเป็นแท่งเทียนเพื่อถวายแก่พระสงฆ์
  • แต่ในปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่จะนิยมการซื้อหาเทียนพรรษาจากร้านสังฆภัณฑ์ โดยบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างถวายแก่พระสงฆ์แทนด้วย
  • ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำเทียนมาจุดเพื่ออ่านหนังสืออีกแล้ว พระสงฆ์คงนำเทียนไปจุดบูชาตามอุโบสถวิหารเท่านั้น

 

                               พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

บุญขนมห่อ-หนองบัว หนองกลับ

  • บุญขนมห่อเรียกตามชื่อขนมที่ทำช่วงฤดูเข้าพรรษาเพื่อนำไปทำบุญที่วัดถวายพระที่รู้จักเคารพนับถือ
  • และไม่เพียงเท่านั้นในงานบุญประเพณีขนมห่อนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เผื่อแผ่ต่อเนื่องขยายวงกว้างออกไปช่วยผูกพันประสานไมตรีเครือญาติของตนและญาติฝ่ายคู่ครองอีกด้วย
  • เพราะมีการนำขนมห่อไปให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมีปู่ย่าตายายเป็นต้น และฝ่ายหญิงสาวที่มีคู่ดองนั้น
  • เมื่อถึงบุญขนมห่อก็เป็นประเพณีท้องถิ่นหนองบัวที่ถือปฏิบัติกันสืบมาก็คือ การนำขนมห่อไปให้คู่ดองของตนที่บ้านฝ่ายชาย (แปลกดีเหมือนกันที่ว่าแปลกก็เพราะว่าฝ่ายหญิงเป็นผู้อาสานำข้าวของไปให้ฝ่ายชาย เพราะโดยปกติทั่วไปจะเป็นฝ่ายชายมากกว่าที่จะนำข้าวของหรือสิ่งอื่น ๆ ไปให้ฝ่ายหญิง นี่ก็เป็นวิถีคิดคนรุ่นเก่าที่น่าสนใจน่าศึกษาแนวคิด)
  • เมื่อสมัยที่การทำนายังนิยมทำนาดำกันอยู่นั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังดำนาได้เกือบ ๆ กลางฤดู เพราะมีเวลาทำต่ออีกประมาณเดือนครึ่งก็จะสิ้นสุดฤดูดำนาแล้ว
  • ทุกคนต่างรอยคอยบุญขนมห่อนี้อย่างใจจดใจจ่อเพราะถ้าใครมีคู่ดองก็จะได้กินขนมห่อคู่ดอง
  • และอีกอย่างหนึ่งจะได้หยุดยาวสามสี่วัน เปรียบเทียบสมัยนี้ถึงฤดูเทศกาลเข้าพรรษาจะมีวันหยุดยาวหลายวันผู้คนก็ดีใจลางานหยุดล่วงหน้าก็มีรีบเดินทางกลับภูมิลำเนากันเนืองแน่นเต็มท้องถนน
  • ในอดีตคนทำนาก็คล้าย ๆ กันนี่แหละจะได้หยุดยาวหลายวัน ส่วนมากจะไปไหนกันละเมื่อหยุดยาวอย่างนี้
  • ก็ไม่ได้ไปไหนหรอกเพราะไม่มีห้างสรรพสินค้าให้เที่ยวจะมีก็แต่ห้างนาเท่านั้นและก็เป็นห้างใครห้างมันเป็นห้างของครอบครัว
  • ส่วนใหญ่ก็ไปทำบุญที่วัดสองวันและอยู่บ้าน ก่อนถึงบุญขนมห่อจะต้องเตรียมเกี่ยวหญ้าให้ได้เยอะ ๆ เพื่อให้วัวควายได้กินหลาย ๆ วันบ้านใครมีฟางก็ค่อยยังชั่วไม่ต้องเกี่ยวหญ้าให้เหนื่อย
  • หญ้าคอมมิวนิสจะเก็บอยู่ได้หลายวันเพราะต้นใหญ่ใบงามวัวควายชอบกิน บุญใหญ่เข้าพรรษาหรือบุญขนมห่อนี้วัวควายก็ได้หยุดยาวหลายวัน คนก็ได้หยุดยาวเช่นเดียวกัน
  • และถ้าบุญใหญ่นี้ตรงกับวันเสาวันอาทิตย์ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวัวควายจะได้หยุดชดเชยหรือเปล่า.

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • เรื่องราวที่เกี่ยวกับหลวงพ่ออ๋อยนั้น ถึงแม้จะได้มีการรวบรวมและเผยแพร่ไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่ก็เหมาะสมดีแล้วครับที่จะนำมาเป็นหัวข้อหนึ่งของการพูดคุย รวมทั้งเผยแพร่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไว้อยู่เสมอๆ เพราะนอกจากทำให้การสืบทอดและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนยังคงมีชีวิตแล้ว  เรื่องที่เกี่ยวกับประวัติหลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อเดิม และวัดหนองกลับนั้น คงต้องถือว่ามิใช่เป็นเพียงเรื่องราวของบุคคลและสถานที่แห่งหนึ่งอย่างธรรมดาทั่วไปเท่านั้น ทว่า เป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่จะเข้าใจเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของชุมชนท้องถิ่นหนองบัวด้วยเลยทีเดียว นำมาสืบทอดและเรียนรู้แง่มุมที่จะนำมาใช้พัฒนาชุมชนได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ย่อมเป็นเรื่องดีและน่าอนุโมทนาอย่างที่สุดครับ
  • ผมเองก็เพิ่งได้รู้รายละเอียดตั้งหลายเรื่องครับ เป็นคนหนองบัวและเมื่อได้รู้เรื่องราวเหล่านี้ ก็นับว่าได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้นไปด้วย
  • หากดูจากเสาศาลาวัดขนาดใหญ่ของวัดหนองบัว ซึ่งมีเสาทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่จำนวนมากมายนับร้อยต้นนั้น  จะเห็นว่าเป็นเสาไม้ที่กลมสวยงาม เสาอย่างนั้น เป็นงานฝีมือและเป็นผลผลิตจากแรงงานชุมชนทั้งสิ้น บ่งบอกถึงวิชาช่างและการจัดการการผลิตความเป็นส่วนรวมด้วยกัน
  • ในวิถีชุมชนนั้น ครอบครัว ชุมชน และการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนในลักษณะต่างๆ มีบทบาทต่อการเป็นหน่วยการผลิตและสะสมทุนทางปัญญาเป็นอย่างมาก การสืบทอดวิชาช่าง การฝีมือ นอกจากผ่านการสร้างบ้าน เครื่องมือทำมาหากินแล้ว วัดและพระซึ่งเป็นผู้นำทางจิตใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เก็บความเชี่ยวชาญและสืบทอดให้กับประชาชนพลเมืองรุ่นต่อรุ่น ผ่านการทำสาธารณสมบัติ
  • ใครอยากเรียนรู้และแสดงเชิงช่าง ก็จะถือเครื่องไม้เครื่องมือไปทำงานสร้างวัดและสร้างของที่เป็นส่วนรวม ลูกเด็กเล็กแดงก็จะถูกหอบหิ้วให้ไปได้รู้เห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เขาพากันทำ เป็นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาภูมิปัญญาให้ผู้คนและชุมชนเป็นคลังความรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง ใครอยากเข้าถึงและได้วิชา ก็ต้องเป็นสมาชิกของชุมชนและทำตัวให้เป็นที่ยอมรับนับถือ การครองตนโดยธรรมชาติก็ทำให้อยู่กันอย่างเป็นปรกติสุข พอเหมาะ-พอเพียง ในยุคสมัยนี้แล้วเราอาจไม่ต้องทำอย่างนั้น แต่การมีประสบการณ์ที่ดีต่อสังคมและการเรียนรู้ทางสังคมของพลเมืองเพื่อพัฒนาสังคมและพัฒนาคุณภาพแห่งชีวิตนี้ จำเป็นอยู่เสมอครับ
  • บางส่วนที่เป็นประสบการณ์ตรงของตนที่พระคุณเจ้าถ่ายทอดไว้นี้ ในทางวิชาการ ถือว่าเป็นความรู้และเรื่องราวชุมชนจากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในชุมชน ซึ่งมีคุณค่ามากครับ โดยเฉพาะคุณค่าในแง่ที่ทำให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ให้กับสังคมของตนเอง ชีวิตเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งดังในคติทั้งของชาวพุทธและในทุกศาสนา
  • ดังนั้น การได้แสดงถึงการที่เราก็เป็นผู้เก็บรวมรวมความรู้ไว้ในตนเองด้วย ความสำคัญจึงมิใช่เพียงข้อมูลสารสนเทศหรือความรู้ ทว่า อยู่ที่การสื่อสะท้อนว่า ชุมชนและสังคมนั้นๆ มีความสุขและดีงามพอที่จะทำให้คนได้แสดงพลังความมีชีวิตออกมาอย่างคนที่เป็นเจ้าของส่วนรวมได้อย่างเสมอกัน เป็นการเรียนรู้และพัฒนาการทำหน้าที่สร้างสรรค์ต่อส่วนรวมอย่างหนึ่งครับ
  • พูดเป็นแนวเสริมกำลังใจปฏิบัติ เพราะอยากให้ชาวบ้านและผู้คนอื่นๆ ทั้งเด็ก คนหนุ่มสาว  คนทำงาน และผู้นำในท้องถิ่น อาศัยในเวทีนี้เป็นที่สร้างคลังความรู้ของชุมชนแบเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ศาลาหลวงพ่อเดิมกับโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • วันนี้อาตมาภาพพบข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)ที่น่าสนใจและขอนำมาเผยแพร่พร้อมมีขัอสังเกตบางประการเกี่ยวกับคนหนองบัวชุมชนหนองบัว
  • และอยากเชิญชวนท่านผู้ใดที่มีข้อมูลอยู่ให้ช่วยนำมาเผยแพร่ได้เรียนรู้บ้างคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อส่วนรวม
  • ประวัติโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ก่อตั้งโดยท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ในปีเดียวกันนี้หลวงปู่อ๋อยท่าน
  • ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์และรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ปี พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๙๙ (ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๖)
  • ที่น่าสนใจก็คือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีเดียวกันและถือว่าเป็นสถานที่เดียวกันอีกด้วย เพราะโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมนั้นได้ใช้ที่ดินของวัดหนองกลับเป็นสถานที่ก่อตั้งโรงเรียน
  • ฉะนั้นการสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองกลับโดยหลวงพ่อเดิมซึ่งหลวงปู่อ๋อยนิมนต์ท่านมาเป็นประธานต้องมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมด้วย
  • หลวงพ่อเดิมเป็นประธานสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่เสาร้อยกว่าต้นใหญ่ทีสุดในหนองบัว
  • ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม อาตมาภาพถือว่าทั้งสามท่านนี้เป็นผู้วางรากฐานชุมชนหนองบัวหรือเป็นผู้สร้างเมืองหนองบัว ก่อตั้งบ้านหนองบัว-ชุมชนหนองบัว
  • เพราะสามท่านนี้ ได้สร้างสองสิ่งที่สำคัญพร้อมกันคือศาสนสถานแหล่งบำเพ็ญบุญกุศลของชาวหนองบัวและพร้อมกันนั้นท่านทั้งสามนี้ก็มีส่วนในการก่อสร้างสถานศึกษาให้แก่กุลบุตรกุลธิดาในชุมชนหนองบัว
  • แต่สิ่งที่อาตมากำลังตั้งข้อสังเกตนี้ ไม่ได้ยินคำบอกเล่าหรือมีการกล่าวถึงกันเลยจึงทำให้น่าสนใจว่าประวัติศาสตร์อันสำคัญนี้ไม่ได้รับการจดจำแม้แต่คำบอกเล่าก็ไม่พบร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ในการสร้างบ้านสร้างเมืองนี้(เพราะวัดกับโรงเรียนสมัยโน้นต้องถือว่าเทียบกับการสร้างเมืองสร้างชุมชน)
  • คงต้องฝากโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้รู้ชาวหนองบัวช่วยสืบหาร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ตกหล่อนก่อนจะลืมเลือนหายไป
  • อาตามาภาพเองทราบประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกแค่ว่า ท่านเป็นคนหนงบัว เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ และเจ้าคณะตรวจการภาค ๖
  • อาตมาพอจะสรุปได้ตอนนี้ ก็คือ คนเฒ่าคนแก่ชาวหนองบัวจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกนั้น ท่านเป็นคนดุมาก ชาวบ้านจะเกรงกลัวท่านเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจะเรียกท่านว่า ท่านเจ้าคุณห้อง อันเป็นนามเดิมของท่าน
  • ในความทรงจำของพระเถระในหนองบัวท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกจะมีภาพความเป็นพระนักศึกษาผู้คงแก่เรียน เพราะท่านศึกษาภาษาบาลีได้ถึงเปรียญธรรม ๖ ประโยค (ป.ธ.๖)
  • เมื่ออาตมาภาพได้ข้อมูลว่าท่านเป็นพระนักศึกษาก็ทำให้นึกหายสงสัยได้ระดับหนึ่งว่า ทำไมท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกจึงก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม
  • คนหนองบัวรุ่นท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก สามารถเล่าเรียนได้ถึงเปรียญธรรม  ๖  ประโยค คงไม่ใช่เรืองง่าย ๆ ที่ว่าไม่ใช่ง่าย ๆ ไม่ได้หมายถึงความยากของการเล่าเรียน แต่ยากลำบากในการเดินทางแสวงหาความรู้
  • เพราะคิดดูก็แล้วกันการเดินทางจากหนองบัวไปบวชเณร กับหลวงพ่อคล้าย วัดพนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เมื่อร้อยปีที่ผ่านมา(ไม่ถึงร้อยปีก็น่าจะใกล้เคียง) จะลำบากขนาดไหนแล้วท่านก็เดินทางต่อไปเรียนที่กรุงเทพฯ วัดมหาธาตุฯ ท่านพระจันทร์
  • แสดงว่าท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ท่านต้องเป็นผู้ที่ใฝ่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
  • อาทิตย์นี้มีวันหยุดหลายวัน อาตมาภาพได้ฝากให้คุณเสวก ใยอินทร์ ไปสืบหาประวัติของท่านกับชาวหนองบัวคนเฒ่าคนแก่คิดว่าอีกไม่กี่วันคงจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกไม่มากก็น้อย
  • แต่ถ้าใครมีข้อมูลท่านเจ้าคุณห้องอยู่ก็ขอให้นำมาบันทึกไว้ และเล่าสู่กันฟังบ้าง อาตมาก็ขอเชิญชวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้อ่านข้อมูลเข้าสักวันหนึ่ง.
ได้นิมนต์พระครูนิวาสธรรมขันธ์(หลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ อ. ตาคลี) มาสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองกลับด้วยเช่นกันคือ พ.ศ. ๒๔๖๖ นั่นเอง

                         ขอเจริญพร

                  พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขอแก้ไขบทความเรื่อง

ศาลาหลวงพ่อเดิมกับโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม

  • ไม่ทราบว่าทำไมจึงเป็นสีแดง และข้อความบรรทัดที่ห้าจึงได้เลื่อนมาอยู่ล่างสุด คือข้อความบรรทัดที่ห้าดังต่อไปนี้
  • ได้นิมนต์พระครูนิวาสธรรมขันธ์(หลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ อ. ตาคลี) มาสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองกลับด้วยเช่นกันคือ พ.ศ. ๒๔๖๖ นั่นเอง

                                 พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ผมพลอยได้ความตื่นเต้นไปด้วยมากเลยครับ ผมเคยถามเรื่องนี้จากคุณครูเก่าๆ รวมทั้งพ่อผม และพ่อใหญ่ผมอีกท่านหนึ่งที่ท่านเป็นครูรุ่นเก่า ก็ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งสอดคล้องข้อมูลที่พระคุณเจ้าถ่ายทอดมาจากเว๊บไซต์ของโรงเรียนหนองบัวเทพนี้แหละครับ
  • แต่ส่วนที่ต่อห้อยท้ายมาอีก คือ วิทยาคมนั้น บางก็ว่ามาจากวิทยา-คม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชื่อของครูและคนเก่าแก่ของหนองบัวอีกสองคนที่มาร่วมกับหลวงพ่อก่อตั้งโรงเรียนหนองบัว บ้างก็ว่าเป็นการคำสนธิ วิทยา-อาคม ซึ่งมักนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งเป็นชื่อโรงเรียนและสถานศึกษา ห้อยท้ายชื่อหลวงพ่อให้ได้ทั้งความหมายและความเป็นสิริมงคล
  • แง่มุมที่พระคุณเจ้าผุดขึ้นมาเพื่อชวนมองนั้น เป็นแง่มุมที่เชิดชูคุณค่าและบทบาทของการศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจของคนหนองบัว และสร้างสำนึกร่วมในความเป็นสังคมคนนครสวรรค์ของคนหนองบัวมากเลยทีเดียวครับ ในอดีตนั้น แม้บวชเรียนในระดับนักธรรม ก็นับว่าสุดยอดมากแล้ว หากเป็นเปรียญ ๓ ก็ต้องถือว่าเป็นผู้มากด้วยการศึกษา แต่พอมาเป็นเปรียญ ๕-เปรียญ ๖ ขึ้นไปนี่ อีกทั้งเป็นยุคเมื่อเกือบร้อยปีก่อนโน้นด้วยแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นยอดของนักศึกษาและบัณฑิตแล้วละครับ ผมเคยอยู่วัดครับ ทราบดีว่าคนที่ขึ้นไปเป็นมหาเปรียญได้นั้น ต้องพากเพียรและเอาชนะตนเองได้อย่างมากมาย  เข้มข้นกว่าการศึกษาวิชาการทางโลกเยอะครับ
  • พระคุณเจ้ามองว่าการสร้างวัดหนองกลับ และการสร้างโรงเรียนหนองบัว (เทพวิทยาคม) (อันที่จริงผมว่าน่าจะครอบคลุมไปถึงโรงเรียนหนองคอกด้วย) มีบทบาทสำคัญระดับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมืองหนองบัวเลยทีเดียวนั้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ หากสืบค้นประวัติและความเป็นมาของท่านได้มากขึ้น แล้วก็นำมาเรียนรู้ เพื่อซาบซึ้งและให้ความสำคัญของการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมสถาบันทางจิตใจ เพื่อพัฒนาคนและท้องถิ่น ให้มากยิ่งๆขึ้นแล้ว ก็คงจะทำให้คนทั้งอำเภอนั่นเลยครับ เกิดกำลังใจและมีความสำนึกร่วมกันในสิ่งดีๆมากมาย
  • ผมจะลองหาข้อมูลไปด้วยเช่นกันครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ปฏิปทาหลวงปู่อ๋อย

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • วันนี้วันอาสาฬหบูชา อาตมาภาพขอให้ครอบครัวโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่านจงประสพแต่ความสุขความเจริญงอกงามไพบูลในธรรมตลอดไป
  • วันนี้จะขอบันทึกเรื่องราวของหลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ ต่อไปที่รวบรวมโดยพระครูวาปีปทุมรักษ์(พระครูไกร) ดังต่อไปนี้
  • ที่กุฏีหลวงปู่อ๋อยจำวัตรอยู่นั้น ท่านตั้งใจสร้างด้วยอาคารไม้สักทั้งหลังเพื่อเป็นอนุสรณ์ ท่านบอกว่าต่อไปไม้สักจะหายาก หลังคามุงด้วยสังกะสีอลูมิเนียมเป็นกุฏี ๒ ชั้น ๕ ห้องมีมุข
  • ท่านอยู่จำพรรษาที่กุฏีหลังนี้ตลอดอายุของท่าน หลวงปู่อ๋อย ท่านเป็นผู้แสวงหาวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ
  • ท่านเล่าว่าเมื่อประมาณพรรษา ๒ ได้เดินทางไปวัดหลวงพ่อเงิน อำเภอโพทะเล จ.พิจิตร เพื่อศึกษาวิชา ขณะนั้นหลวงพ่อเงินชราภาพ พอดีมีโรคอหิวาห์เกิดขึ้น  ได้จำวัตรอยู่ ๒ คืน จึงเดินทางกลับ
  • ท่านเล่าว่ารอบวัดมีไม้ไผ่ ท่านคงจะไปวัดท้ายน้ำเป็นแน่และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้ข่าวหลวงพ่อเงินมรณภาพ
  • และท่านเคยเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจากหลวงพ่อเดิม ท่านเป็นโรคประจำตัวคือโรคปวดหลัง ท่านรักษาตัวเองจนหาย รักษาอยู่หลายปีจนอายุถึง ๖๐ ปี จึงหายขาด
  • ความเป็นผู้นิยมในคาถาอาคม

มีคาถาอยู่บทหนึ่งจะว่าในขณะที่จาม จะว่า "ติงหะ คัชชะ " คือเวลาจามนั้นไม่จามเหมือนคนทั่วไป จะเปล่งเสียงออกมาว่า "ติงหะ คัชชะ" ท่านบอกว่าเป็นคาถากันผีปอบเข้า

เป็นคนอดทนคอคำนินทาว่าร้าย

  • การกระทำกิจการต่าง ๆ ย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของคนทุกคน เวลามีคนนำไปพูดต่าง ๆ นา ๆ ลูกศิษย์ผู้หวังดีมาบอกท่าน ท่านจะพูดอยู่คำเดียวว่า "ช่างเถอะปากตลาด" อย่างนี้ทุกครั้งไป
  • จนบางครั้งลูกศิษย์ทนไม่ได้ แต่นานไปก็เป็นดังหลวงปู่ ว่าบุคคลที่กล่าวร้ายภายหลังก็เห็นดีเห็นงามไปด้วยคือท่านถือหลักไม่โต้ตอบกับคนว่าร้าย
  • หลวงปู่อ๋อยเป็นคนช่างพูด มีอัธยาศัยไมตรีกับคนทุกคนโดยเฉพาะแขกบ้านไกลมา ท่านนิยมให้พักแรกกับท่าน ให้ลูกศิษย์จัดที่นอนให้เป็นเนืองนิตย์ เป็นที่ติดใจแก่ผู้มาเยือนทุกคน
  • แต่บั้นปลายชีวิตของท่าน คือพรรษาสุดท้าย หลวงปู่อ๋อยไม่ค่อยพูดเหมือนเช่นเคย พูดน้อย เหตุเพราะโรคประจำตัวรบกวนคือโรคไตไม่ทำงาน. (ยังไม่จบ)

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ผมต้องกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งในคำเจริญพรที่พระคุณเจ้าได้มอบให้ผมและท่านผู้อ่าน
  • วันนี้เป็นวันที่โชคดีจริงๆอย่างไม่น่าเชื่อเลยครับพระคุณเจ้า คือ เมื่อเช้าตรู่เลยของวันนี้ พอตื่นนอนขึ้นมา สติและความรู้สึกแรกที่เข้ามาก็คือวันนี้เป็นวันพระ และอยู่ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ระหว่างทำจิตใจให้มีความสงบสำหรับตนเองอยู่นั้น ภรรยาก็ขอให้นำสวดมนต์และไหว้พระ เลยก็ได้สวดมนต์และไหว้พระพร้อมกัน แล้วก็เตือนกันเองว่าวันนี้ขอให้ดูแลจิตใจและความรู้สึกให้ดีตลอดวัน กระทั่งมาถึงเย็น ก็ได้รับการเจริญพรปิดท้ายวันให้อีก เลยกลายเป็นได้อยู่กับสิ่งที่ให้ความดีงามได้ทั้งวันอย่างที่กำหนดใจไว้ตั้งแต่ต้นจริงๆ
  • ในงานหล่อเทียนพรรษานั้น นอกจากทางโรงเรียนมักจะมีกิจกรรมหล่อเทียนพรรษาและนำมาถวายวัดหนองกลับแล้ว กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่วัดหนองกลับและโรงเรียนได้ร่วมมือกันทำเพื่อสร้างเด็กและเยาวชนก็คือ การทำบุญ ฟังธรรม และปวารนาตนเป็นพุทธมามกะ ในรุ่นพวกผมนั้นก็ทำกันที่ศาลาไม้หลังใหญ่ของวัดหนองกลับนั่นเอง
  • จำเพาะในส่วนนี้ ผมจะลองผุดหัวข้อสำคัญๆไว้ เพื่อช่วยยกระดับให้เห็นเรื่องราวต่างๆสำหรับให้คนเก่าแก่และคนที่รู้เรื่องราวต่างๆ ได้เห็นหัวข้อการเข้ามาคุยต่อเติมหรือนำข้อมูลต่างๆมารวบรวมไว้นะครับ.......
  • การก่อตั้งและพัฒนาการของชุมชนอำเภอหนองบัว  
  • บุคคลผู้นำและบุคคลผู้มีบทบาทต่อการสร้างเมืองหนองบัว
  • วัดหนองกลับและโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)
  • หลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อเดิม หลวงพ่อเงิน และท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก กับชาวอำเภอหนองบัว
  • ประเพณีการแห่และบวชนาคหมู่
  • บทบาทของวัดต่อการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นในปัจจุบัน
  • กลุ่มคน กลุ่มทางวัฒนธรรม และศิลปวัฒนธรรม ท้องถิ่นหนองบัว

หากมีรูปถ่ายเก่าๆ หรือสิ่งของเครื่องใช้เก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่กล่วถึง ก็สามารถถ่ายรูปและนำมาเก็บรวบรวมไว้ในบล๊อกนี้ได้ครับ นอกจากจะเป็นการสร้างความรู้ขึ้นจากข้อมูลของชุมชนแล้ว คนที่วิเคราะห์ได้ก็จะช่วยต่อเติม ให้ได้เรื่องราวต่างๆที่ดีมากยิ่งๆขึ้นอีกครับ

แต่ว่าก็เป็นการให้หัวข้อเพื่อเป็นหมวดหมู่ในการดึงประสบการณ์และข้อมูลที่มีอยู่ในชุมชนให้ออกมาสะสมไปเรื่อยๆเป็นคลังความรู้ของชาวหนองบัวเฉยๆหรอกนะครับ  อันที่จริงพอนึกอะไรออกและจำอะไรพอได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็รีบนำมาลงบันทึกไว้ก่อนก็จะดีกว่าครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • วันนี้อาตมายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกแต่มีคำบอกเล่าจากชาวหนองบัวก็เลยขออนุญาตนำมาเผยแพร่ในที่นี้

  • แต่ถ้ามีข้อมูลจากเอกสารก็จะได้นำมาเผยแพร่อีกที คนเก่าคนแก่เล่าว่าท่านไปศึกษาพระปริยัติธรรมยังวัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ ในยุคที่มีเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารีมหาเถระ)เป็นผู้บริหารการศึกษาในวัดมหาธาตุฯ
  • สมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี ท่านเป็นนักการศึกษานักบริหารกิจการคณะสงฆ์และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
  • อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้กล่าวถึงท่านสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี ว่า "...ท่านเป็นผู้ปลุกปั้นการศึกษาแบบใหม่ เจ้าคุณสมเด็จเขมจารีท่านมีความคิดที่ก้าวหน้าทางการศึกษาและการบริหาร"
  • อาตมาคิดว่าแนวคิดเรื่องการศึกษาของสมเด็จวันรัต เฮง เขมจารี นี้ย่อมมีอิทธิพลต่อการศึกษาของเยวชนของท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกอย่างแน่นอนในการคิดก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมในหนงอบัว
  • ยังมีคำบอกเล่าต่อมาอีกว่า ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกนั้นท่านเป็นผู้เคร่งครัดในระเบียบวินัยตามพุทธบัญญัติเป็นอย่างมากซึ่งก็สอดคล้องกับการดำรงสมณเพศและปฎิปทาของสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารีที่ว่า

"...แม้ในทางพระวินัย ก็ไม่ยอมให้โทษเกิดขึ้นได้โดยรู้ตัว แม้จะเป็นอาบัติเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม...กวดขันในเรื่องการทำวัตรสวดมนต์ รักษาศีลาจารวัตร อุดหนุนพระปริยัติศึกษา และเอื้อเฟื้อทางด้านการศึกษาของเยาวชนด้วย"

  • ยิ่งท่านสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี เอื้อเฟื้อทางด้านการศึกษาของเยาวชนด้วย ก็ยิ่งทำให้เห็นแนวคิดท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกที่เป็นศิษย์สมเด็จวันรัต ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าหนองบัวสมัยนั้นไม่มีโรงเรียนสำหรับเยาวชนหรืออย่างไร
  • ตรงจุดนี้ก็น่าสนใจว่าหนองบัวตอนนั้นประชาชนเรียนหนังสือกันที่ไหนและท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกท่านเรียนที่หนองบัวหรือไม่
  • ท่านสมเด็จพระวันรัตท่านมีศิษย์มากมายและท่านก็ส่งศิษย์ไปบริหารการพระศาสนาตามภูมิภาคต่าง ๆ ด้วย เช่นในบทความบูชาคุณสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารีก็กล่าวว่า

"...ส่งศิษยานุศิษย์ให้ไปเป็นเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสในมณฑลนั้นๆ ช่วยให้การพระศาสนาเป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันดีงาม"

  • และท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกซึ่งเป็นศิษย์ก็เป็นเจ้าคณะจังหวัดด้วยนี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่สมเด็จพระวันรัตได้ส่งศิษย์ให้ไปบริหารการพระศาสนาอย่างเดียวก็หาไม่ แต่ได้ส่งให้ไปจัดการศึกษาสำหรับเยาชนด้วยซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าทางการศึกษาที่พระสงฆ์ท่านอาจทำก่อนที่รัฐจะขยายการศึกษาไปถึงราษฏรเสียอีก.
  • นี้ก็เป็นข้อสังเกตส่วนตัวของอาตมาอาจจะไม่ถูกต้องเลยก็ได้สำหรับข้อมูลที่ใช้ประกอบบทความวันนี้คือ.
  • บทความพิเศษ โดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์

 

เรื่อง บูชาคุณสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี(๒๔๔๒-๒๔๘๖)

งานเปิดหอสมุดสมเด็จพระวันรัต เขมจารี ณ วัดธรรมโสภิต อ.เมือง จ.อุทัยธานี พ.ศ.๒๕๔๘

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

 

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

ปฏิปทาหลวงปู่อ๋อย(ต่อ)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • เรื่องต่อไปนี้เป็นบันทึกของพระครูวาปีปทุมรักษ์(พระครูไกร)ดังนี้
  • ความขลังที่ลูกศิษย์เล่าให้ฟัง โดยนางนันทา เลาหะเรืองรองกุล เจ้าของโรงสีร่วมเจริญ ประสบการณ์ครั้งหนึ่ง โรงสีร่วมเจริญ มีหนูกินข้าวที่โรงสีเป็นเนืองนิตย์ เถ้าแก่บุ้นกวงให้ลูกน้องเอายาฆ่าและให้ลูกน้องไล่ฆ่าหนู แต่ต่อมาหนูมากัดกระสอบข้าวกันใหญ่ ภรรยาเถ้าแก่โรงสีรู้เข้า บอกเรื่องอย่างนี้ไม่ดี ห้ามไม่ให้ลูกน้องฆ่าหนู จึงมาเล่าให้หลวงปู่อ๋อยฟัง ท่านยิ้ม ๆ แล้วขอน้ำมนต์ไปพรม ปรากฏว่าหนูไม่รบกวนใหม่เลยจนถึงขณะนี้ทั้งที่โรงสีอยู่ติดตลาดมีหนูชุกชุม นางนันทา เลาหะเรืองรองกุล ภรรยาเถ้าแก่โรงสีเล่าให้ฟังว่า เวลาไปพรมน้ำมนต์ก็บอกว่าหิวก็ให้มากินแต่อย่ามารบกวนกัดกระสอบทางใครทางมัน ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยใช้ยาฆ่าหนูอีกเลย
  • ทำน้ำมนต์คลอดลูกง่าย หลายรายในอำเภอหนองบัวในสมัยที่ยังไม่มีโรงพยาบาลการคลอดลูกเป็นเรื่องลำบากมาก ชาวหนองบัวนิยมมาอาบน้ำมนต์ก่อนคลอดเวลาท้องใกล้คลอดและนำน้ำมนต์ไปดื่ม เลาจะคลอดปรากฏว่าปลอดภัยทุกราย
  • เสกทรายหว่านตามไร่ ตามนาชาวบ้านรังย้อย อำเภอหนองบัว ถึงฤดูลงนาจะมาขอดินทรายหลวงปู่ทุกปี บอกว่ากันหนูกัดข้าวในนาดีนัก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ชาวรังย้อยมาขอจากผู้เขียนไปกันหนูกัดข้าวในนา ผู้เขียนบอกให้ไปเอาดินทรายในกระถางหน้าศพหลวงปู่ ปรากฏว่าได้ผล หนูไม่รบกวนเหมือนท่านปลุกเสกเอง
  • ใครกินน้ำสระหลวงปู่อ๋อยแล้วต้องกลับมาอีก เป็นคำพูดของคนหนองบัวว่า ถ้าใครมาหนองบัวกินน้ำสระหลวงปู่อ๋อยแล้วต้องกลับมาอีก เรื่องนี้ส่วนมากพ่อค้าที่ตลาดหนองบัวหลายคนเคยพูดให้ฟังว่าครั้งแรกมาดูทำเลการค้าที่หนองบัว ไม่คิดว่าจะมาอยู่แต่ต่อมาต้องมาอยู่หนองบัวเสียจนได้
  • แม้ข้าราชการก็เหมือนกัน หลายคนเวลามาอยู่หนองบัวร้องไห้ไม่อยากมาอยู่ แต่เวลาจะกลับร้องไห้คิดถึงคนหนองบัวด้วยความอาลัยรักทุกรายไป ไม่รู้ว่าหลวงปู่อ๋อยทำอะไรไว้แต่เป็นเช่นนี้ส่วนมากจนเป็นที่กล่าวขานดังที่กล่าวแล้ว. (ยังไม่จบ)

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ประวัติหลวงปู่อ๋อย
  • วันนี้อาตมาภาพพบข้อมูลประวัติหลวงปู่อ๋อยจากเว็บพระเครื่องเมืองสี่แควจึงขออนุญาตผู้เขียนนำมาเผยแพร่และอนุโมทนาขอบคุณผู้เขียนในที่นี้ด้วย
  • หลวงพ่ออ๋อย วัดหนองบัว(หนองกลับ) อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ *** หลวงพ่ออ๋อยนามเดิมท่านชื่อ อ๋อย พรมบุญ บิดาทานชื่อ พรม มารดาชื่อ พวง ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2442 ปีกุน หมู่ที่ 2 บ้านใหญ่ ต.หนองกลับ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร (ขณะนี้โอนมาขึ้นกลับ อ. หนองบัว จ.นครสวรรค์ ) ***
  • เมื่ออายุครบบวชท่านได้อุปสมบท ณ วัดเขาพนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ มีพระนิพันธ์ธรรมมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการอู่ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอธิการพรมเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2462
  • หลวงพ่ออ๋อยท่านเป็นพระเถระรุ่นราวคราวเดียวกันกับ หลวงพ่อทบ วัดชนแดน เพชรบูรณ์ และ หลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว นครสวรรค์ เพียงแต่หลวงพ่ออ๋อย มีอาวุโสน้อยกว่า แต่ท่านชอบไปมาหาสู่กันเสมอๆ ถ้ามีงานด้านพุทธาภิเษก มักจะปลุกเสกร่วมกันเสมอ ***
  • ในสมัยที่หลวงพ่ออ๋อย ได้เป็นพระสมุห์อ๋อย ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ แล้วท่านยังได้นิมนต์ หลวงพ่อเดิม มาสร้างศาลาการเปรียญที่วัดหนองบัวด้วย ซึ่งก็แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
  • หลวงพ่ออ๋อย ท่านเป็นพระเถระที่มีบารมีท่านหนึ่ง ประชาชนมักจะนำบุตรมาบวชเป็นศิษย์ของท่านปีละประมาณ 300 กว่ารูปทุกปี เป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ ทั้งเป็นผู้ที่มีอารมณ์ยิ้มแย้มอยู่เสมอ ชอบเล่าเรื่องขบขันและยังชอบเล่านิทานพื้นบ้านอีกด้วย...
  • สิ่งที่หลวงพ่ออ๋อย ท่านโปรดปรานมากเวลามีงานที่วัดจะขาดเสียมิได้คือ เพลงโคราช หลวงพ่ออ๋อยท่านจึงเป็นมิ่งขวัญของชาวหนองบัวโดยแท้ และสิ่งที่ชาวบ้านนิยมที่สุดคือ วัตถุมงคลของหลวงพ่ออ๋อย ที่ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชามาจาก หลวงพ่อเดิม ที่ประชาชนนิยมกันมากก็จะเป็น มีดด้ามงา
  • ท่านสร้างปีละประมาณ 250 เล่ม ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา นับว่าสร้างมีดมากที่สุดในบรรดาศิษย์สายหลวงพ่อเดิม...
  • หลวงพ่ออ๋อย ท่านมีโรคประจำตัวคือ โรคต่อมลูกหมากอักเสบ เคยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์หลายครั้ง เนื่องด้วยท่านอายุมากแล้ว ไม่สามารถผ่าตัดได้ รักษาโดยวิธีกินยา
  • ครั้งสุดท้ายท่านป่วยอีกต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองบัว และได้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2529 ทำการรักษาที่โรงพยาบาลจนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2529 ท่านก็ได้มรณภาพลง เวลา 02.05 รวมอายุได้ 87 ปี พรรษา 67 และได้ทำการตั้งศพบำเพ็ญกุศลไว้ที่วัดหนองบัว 15 วัน
  • การจากไปของท่าน สร้างความเศร้าโศรกเสียใจแก่ คณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง แต่ผลงานและเกียรติคุณและความเคารพนับถือในพระคุณ ท่านยังปรากฏอยู่ ดุจประหนึ่งว่าท่านยังมีชีวิตอยู่ ด้วยท่านสร้างถาวรวัตถุและวัตถุมงคลไว้ให้คุ้มครองศิษย์เป็นอันมาก เป็นอนุสรณ์สืบไป.. แก้ไขล่าสุด ( วันพุธที่ 25 มีนาคม 2009 เวลา 14:51 น. )

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

การบูรณะนอกวัดของหลวงปู่อ๋อย

ขอเพิ่มเติมประวัติพร้อมทั้งผลงานหลวงปู่อ๋อย สุวณโณ คือมีวัดที่ท่านได้บูรณะเสนาสนะและสร้างถาวรวัตถุขึ้นมาใหม่หลายแห่งด้วยกันแต่ก็อยู่ในอำเภอหนองบัวทั้งสิ้นมี  ๘ แห่งดังนี้

๑. วัดเทพสุทธาวาส ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญ

๒. วัดใหม่นิกรปทุมรักษ์(บ้านตาลิน) ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญ

๓.วัดหนองประดู่ ต. หนองกลับ อ. หนองบัว จ. นครสวรรค์ สร้างกุฏิ และศาลาการเปรียญ

๔. วัดเขาพระ ต. หนองกลับ อ. หนองบัว จ. นครสวรรค์ สร้างกุฏิและศาลาดิน

๕. วัดจิกยาวใต้ ต.ห้วยถั่วเหนือ อ.หนองบัว จ. นครสวรรค์ บูรณะอุโบสถที่หลวงพ่อเดิมสร้างไว้

๖.วัดห้วยถั่วใต้ ต.ห้วยถั่วใต้  อ. หนองบัว  จ.นครสวรรค์ บูรณะศาลาการเปรียญ

๗.วัดสหชาติประชาธรรม(วัดเหมืองแร่) ต. หนองกลับ  อ. หนองบัว จ.นครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญ

๘. วัดหนองไผ่ ต. หนองบัว อ.หนองบัว จ. นครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

โยมไปนอนนา

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • ศัพท์นี้อาตมาไม่แน่ใจว่าคนรอบนอกหนองบัวรุ่นหลังจะได้ยินและเข้าใจหรือเปล่า รุ่นโยมอาจารย์วิรัตน์น่าจะได้ยินและคงเข้าใจ
  • ที่หนองบัวมีประเพณีอย่างหนึ่งของคนหนองบัว-หนองกลับคือการส่งจังหัน(อาหารเช้า)แล ส่งเพลพระลูกชายตั้งแต่บวชวันแรกจนกระทั่งลาสิกขาประมาณเดือนสี่(มีนาคม)
  • แต่เมื่อถึงฤดูทำนา-ดำนา พ่อ-แม่ก็จะไปทำนาหรือนอนนาจนทำนาเสร็จแล้วค่อยยกกลับบ้าน ซึ่งการใช้เวลานอนนาก็ประมาณเดือนกว่า ๆ หรือจนหมดระยะเวลาทำนา(ประมาณกลางเดือนสิบ)
  • เมื่อโยมพ่อ-แม่ ไปนอนนาหลายวันก็จะไม่มีใครส่งจังหัน ส่งเพลพระบวชใหม่ พระท่านก็ออกบิณฑบาตแต่เมื่อก่อนวัดจะมีลูกศิษย์วัดหลายคนแต่ละกุฏิทำให้อาหารจากการบิณฑบาตฉันได้เฉพาะมือเช้าเหลือไม่เพียงพอไปถึงมื้อเพล
  • เพราะฉะนั้นตอนเพลพระแต่ละกุฏิก็จะทำอาหารเพลฉันเองเมนูยอดฮิตก็แกงพริกเกลือและเหลือไว้สำหรับศิษย์วัดมื้อเย็นด้วย
  • เมื่อพระใหม่ต้องทำอาหารเพลฉันเองเช่นนี้ โยมพ่อ-แม่ ก่อนจะไปนอนนาก็จะนำข้าวสาร ปลาร้า พริกเกลือ พริกแห้ง เกลือ น้ำปลา ฟักแฟง ฟักทอง ถ่านหุงข้าว(ถ่านไม้) และที่ขาดไม่ได้คือปัจจัย(ตังค์)
  • เพราะต้องเอาไว้ซื้อข้าวของในตลาดสดหนองบัวมาทำอาหารเพล และคนที่ซื้อของในตลาดหนองบัวต้องถือว่า มีภาระหนักต้องเหน็ดเหนื่อยเดินไปซื้อกับข้าวหลายเที่ยวเพราะพระมีหลายกุฏิเมื่อเดินหลายรอบก็ต้องมีทิปสำหรับคนซื้อบ้างเพื่อเป็นแรงจูงใจ
  • คนที่เดินเข้าออกตลาดซื้อผัก-หมู เป็นประจำก็คือสมชายอยู่กุฏิพระครูสงวน(เมื่อก่อนท่านไม่ได้เป็นพระครูชาวบ้านเรียกว่าปลัดหงวน)บ้านอยู่ที่ไหนตอนนี้นึกไม่ออกเสียแล้ว
  • ไอ้เนียน(พระจะเรียกแกแบบนั้น)บ้านอยู่บ้านโคกมะกอก อยู่กุฏิพระใบฏีกาส้ม ส่วนไอ้เป๋(ทุกคนเรียกแกอย่างนั้น)ก็วนเวียนอยู่ในตลาดบ้าง วัดบ้างแต่พระก็ไม่ใช้แกหรอก
  • สองคนนี้อาสาเดินซื้อให้ทุกกุฏิ ตั้งแต่กุฏิหลวงปู่อ๋อย กุฏิพระครูไกร เรื่อยไปจนถึงกุฏิใกล้ ๆ โรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม
  • เงินที่ใช้ซื้ออาหารแต่ละวันนั้นก็มาจากการรวมทุนกันของพระแต่ละกุฏิในจำนวนเท่า ๆ กัน
  • ในยุคนั้นมีไอติมปั่นขายในตลาดตอนเย็นสองคนนี้ก็เดินเข้าตลาดอีกจนมืดค่ำสมชายนั้นตอนกลางคืนจะมีภาระดูแลรับใช้หลวงปู่อ๋อยคือการบีบนวดให้หลวงปู่เป็นประจำทุกค่ำคืน
  • พอเสร็จจากดำนาแล้วโยมแม่ก็ส่งจังหันส่งเพลเหมือนเดิม แต่เมื่อถึงหน้าเกี่ยวข้าวก็ทำเช่นเดียวกันกับตอนดำนา โยมไปนอนนาเกี่ยวข้าวพระก็ทำอาหารเพลฉันเอง
  • เมื่อนวดข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ส่งอาหารลูกพระจนถึงเดือนสี่ส่วนมากพระก็จะสึกเดือนนี้
  • ก็เป็นอันว่าโยมแม่หมดภาระกิจบุญทานศีลหนึ่งปีที่ทำด้วยความสุขใจในการเห็นบุตรชายบวชเรียนอยู่ในผ้าเหลืองทรงผ้ากาสาวพัสต์.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)

  • แถวบ้านผมก็ต้องทำอย่างนั้นเหมือนกันครับ รวมทั้งเวลาไปทำไร่ด้วย ก็จะไปนอนและอยู่ทำกันตลอดฤดูกาลหนึ่งๆเลย แต่โดยมากแล้ว การทำนาแถวบ้านผมนั้น ผืนนาส่วนใหญ่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน คนหนองบัวหลายจ้าวทำนาไกลจากบ้านมาก
  • ทั้งหน้าทำนาและหน้าอื่นๆ แถวบ้านผมก็มีวัฒนธรรมการส่งเพลเหมือนกันครับ แต่ละบ้านจะหมุนเวียนกันทำอาหารไปส่งเพลพระ ใช้จำและคอยบอกปากเปล่ากันเอง วันหนึ่งๆก็จะมีครอบครัวชาวบ้านเป็นเจ้าภาพไปส่งเพลถวายพระ ๓-๔ จ้าว จำได้และรู้ทั่วถึงกันหมดครับว่าวันไหนถึงรอบของใครบ้าง
  • ในด้านที่สร้างโรงเรียนและสร้างวัด ทั้งโดยตรงของหลวงพ่ออ๋อยและโดยผ่านลูกศิษย์ลูกหานั้น มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อชุมชนหนองบัวและสังคมท้องถิ่น จัดว่าเป็นการพัฒนาคนและพฒนาความเป็นชุมชนให้มีความเป็นปึกแผ่นและเข้มแข็งทางจิตใจ  อันที่จริงโดดเด่นกว่าและสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าเหรียญและเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อมาก แต่โดยมากแล้ว คนชนบทโดยทั่วไป รวมทั้งคนหนองบัว ก็มักใช้ความศรัทธาและความเชื่อแบบพึ่งพิงสิ่งดลบันดาลภายนอกตนเองเป็นตัวนำ หากฟื้นฟูและมีคนผุดแง่มุมอื่นๆที่ทำให้คนได้ตัวความรู้เพื่อการพึ่งการพฒนาตนเองไปด้วยอยู่เสมอๆ ก็จะเป็นทุนในการพัฒนาให้ชุมชนมีความเป็นองค์รวมทั้งกำลังแห่งศรัทธา กำลังปัญญาและความรู้ที่สานกับสิ่งที่เป็นทุนทางสังคมของท้องถิ่น และการถักทอเครือข่ายผู้คนที่มีสำนึกร่วมกันต่อชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดทุนทางจิตใจ ทำให้คนมีความเข้มแข็งในการพึ่งตนเองเพื่อการพัฒนามากยิ่งๆขึ้น

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • เมื่อวานนี้(๑๑ ก.ค.๕๒) อาตมาภาพได้รับหนังสือประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกจากท่านพระครูสม เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาสรู้สึกตื่นเต้นดีใจ และขอขอบคุณท่านพระครูเป็นอย่างมากที่ท่านเก็บรวบรวมแสวงหาข้อมูลจากวงศ์ญาติลูกหลานท่านเจ้าคุณเทพฯ ท่านบอกว่า การทำหนังสือไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเก็บข้อมูลเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลามาค่อนข้างนาน ผู้ให้ข้อมูลและร่วมแสวงหาประวัติท่านเจ้าคุณเทพฯ ก็มีท่านกำนันเทียน ท้วมเทศ ท่านพระครูยังกล่าวต่ออีกว่า กลัวคนหนองบัว-หนองกลับ รุ่นหลังจะไม่รู้จักและจะลืมท่านเสียก่อนก็เลยจัดทำเก็บไว้ให้คนหนองบัวได้จดจำเรียนรู้ต่อไป ท่านกล่าวเสริมต่อด้วยความมั่นใจว่า คิดว่าประวัติชุดนี้มีความสมบูรณ์น่าจะประมาณ ๙๙ เปอร์เซ็น อาตามาภาพในนามคนหนองบัวต้องขอขอบพระคุณท่านพระครูสมเจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาสอย่างสูงยิ่ง ในหนังสือเล่มนี้ท่านพระครูท่านทำเฉพาะที่เกี่ยวกับวัดเทพสุทธาวาสเป็นส่วนมาก ก็เลยได้ทราบข้อมูลที่เป็นเอกสารหนังสือและจะเป็นข้อมูลที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้อย่างถูกต้องแม่นยำแน่นอนเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณเทพฯต่อไป
  • เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ อามตมาได้อ่านประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก จากหนังสืองานศพน่าจะเป็นงานพระราชทานเพลิงศพของท่านเล่มเล็ก ๆ ที่ห้องสมุดวัดธรรมโสภิต อ.เมือง จ.อุทัยธานีเป็นหนังสือเก่ามาก แต่ก็ไม่ได้ถ่ายเอกสารหรือสำเนาไว้แต่อย่างใด เมื่อวานก็ลืมถามท่านพระครูสมว่ามีหนังสือเล่มนี้หรือเปล่า ก็ยังนึกเสียดายจนทุกวันนี้ถ้าใครมีหนังสือเล่มดังกล่าวนั้นอยู่ก็ให้บอกกล่าวผ่านทางคอลัมน์โยมอาจารย์วิรัตน์นี้ก็ได้
  • โยมอาจารย์วิรัตน์เคยเล่าว่าการเดินทางมาเรียนที่โรงหนองบัวเทพฯ และหนองคอกต้องเดินทางจากบ้านตาลินไป-กลับด้วยความยากลำบากเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านก็ยังมองเห็นภาพและนึกตามไปได้พอสมควร แต่เมื่อเทียบกับท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกแล้วแค่การศึกษาเบื้องต้นของท่านก็ต้องไปเรียนไล่เรียงตั้งแต่ วัดหนองกลับ-วัดห้วยร่วม-วัดชุมแสง(อ.ชุมแสง)-วัดเขาพนมรอก อ.ท่าตะโกจนถึงต่างจังหวัดคือจ.อุทัยธานีโน่น จังหวัดอุทัยธานีเมื่อร้อยปีที่แล้ว(เพราะท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกท่านเกิด ๒๔๓๘ ช่วงเรียนเบื้องต้นอายุ ๑๐ กว่าปีก็ตกประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐ กว่า ๆ แค่นั้นเอง ก็เกือบร้อยปี)ก็ห่างจากคนหนองบัวที่ได้เล่าเรียนหนังสืออย่างยากลำบากประมาณหนึ่งช่วงตัว คือสักห้าสิบปี เรื่องนี้น่าสนใจน่าติดตามน่าศึกษาน่าค้นคว้าร่องรอยช่วยกันตามหาเส้นทางชีวิตผู้ให้กำเนิดโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมและผู้ให้กำเนิดวัดเทพสุทธาวาสในบ้านเมืองหนองบัวและชุมชนหนองบัวเรา ท่านก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมก่อนวัดเทพสุทธาวาสหลายปีมาก ก็แสดงให้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญกับการศึกษาเล่าเรียนของคนหนองบัวขนาดไหน ตอนนี้ท่านพระครูสมท่านได้ทำประวัติของท่านเจ้าคุณเทพฯในด้านที่เกี่ยวข้องกับการสร้างวัดเทพสุทธาวาสได้อย่างน่าชื่นชม ทีนี้ก็ยังเหลือชาวหนองบัวที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมที่ขณะนี้มีการศึกษาเจริญก้าวหน้าและมีหน้าที่สำคัญ ๆ ในหนองบัวหรือนอกหนองบัวมากมาย คงต้องมาหวนรำลึกถึงบุพการีชนคนหนองบัวในอดีตกันอย่างไรดีจึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนกตัญญูและตอบแทนคุณท่านอย่างไรกันบ้าง อันดับแรกนี้ก็ขอเจริญพรเชิญชวนชาวหนองบัวทุกท่านผ่านโยมอาจารย์วิรัตน์ในที่นี้ก่อนและก็ฝากโยมอาจารย์วิรัตน์ให้ช่วยบอกต่อ ๆ ไปด้วย
  • ต่อไปนี้จะขอนำเสนอประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ในเบื้องต้นก่อนดังต่อไปนี้

  • ประวัติเจ้าคุณเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ. ๖) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
  • โดย พระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฉ่ำน้อย ฐิตสีโล) เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาส เจ้าคณะตำบล ห้วยร่วม เขต ๒
  • ชาติภูมิ
  • พระเดชพระคุณ เจ้าคุณเทพสิทธินายก นามเดิมชื่อ ห้อง นามสกุล ท้วมเทศ เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ ตรงกับขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม เวลา ๒๓.๐๐ น. ณ บ้านเนินพลวง หมู่ที่ ๔ ต.หนองกลับ อ. หนองบัว จ. นครสวรรค์ บิดาของท่านชื่อ นายท้วม มารดาของท่าน ชื่อ นางเขียว (นามสกุลเดิม อินทชิต) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน คือ
  • ๑. นายอินทร์   ท้วมเทศ
  • ๒. นางสร้อย    ท้วมเทศ
  • ๓. นายคำ       ท้วมเทศ
  • ๔. นายหัด      ท้วมเทศ
  • ๕. นายทิม      ท้วมเทศ
  • ๖. นายเพ็ชร    ท้วมเทศ
  • ๗. นายพัด      ท้วมเทศ
  • ๘. พระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ. ๖)

การศึกษาเบื้องต้น

 เมื่ออายุได้ ปี ไปศึกษาภาไทย กับ พระหัด ท้วมเทศ ผู้เป็นพี่ชาย ที่วัดหนองกลับ แล้วไปเรียนภาษาขอมและภาษาบาลี กับพระเหม ที่วัดห้วยร่วม

ครั้นายุได้ ๑๑ ปี ได้ไปศึกษาภาษาไทยและเขลคณิต กับพระอาจารย์ปลัดห่วง แล เจ้าคุณพระนิพันธ์ธรรมาจารย์(พระครูคล้าย) ที่วัดเขาพนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์

พออายุได้ ๑๓ ปี บิดานำไปฝากกับหลวงพ่อพระครูสด วัดชุมแสง อ.ชุมแสง จ. นครสวรรค์ เรียนภาษาบาลีกับพระอาจารย์โชติ พระอาจารย์เครื่อง และพระอาจารย์คลึง แล้วย้ายไปอยู่วัดนครสวรรค์ กับพระอาจารย์โชติ เพื่อเรียนภาษาบาลีต่อ มีพระหมาพุฒิ และพระอาจารย์ผ่อง เป็นอาจารย์

ครั้นอายุได้ ๑๕ ปี ได้ย้ายไปเรียนบาลีที่วัดพิชัย อ. เมือง จ. อุทัยธานี

วันหน้าจะได้นำเสนอต่อไป

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) 

สวัสดีครับอาจารย์ ผมน่าจะเคยเป็นรุ่นน้องอาจารย์ที่เพาะช่างนะครับ รู้สึกคุ้นๆมากครับ เเละบังเอิญมีน้องที่ทำงานด้วยกันนามสกุลเดียวกับอาจารย์ด้วย ที่กรมการพัฒนาชุมชนครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ผมก็พลอยสนุกและตื่นเต้นไปกับพระคุณเจ้ามากเลยครับ เรื่องราวชีวิตการบวชเรียนและศึกษาของเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกน่ะครับ ผมสนใจมากเลยครับ รวมทั้งความผูกพันของท่านกับชุมชนชาวหนองบัวที่ผ่านมาทางหลงพ่ออ๋อย
  • หากพระคุณเจ้าจำสภาพของท้องถิ่นได้ เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมานั้น อย่าว่าแต่คิดที่จะออกบ้านไปบวชเรียนและแสวงหาการศึกษาอบรมเลยครับ แค่คิดที่จะเดินทางจากหนองบัวไปชุมแสง หรือจากบ้านผมเข้าหนองบัว ชาวบ้านก็ขี้เกียจคิดแล้วครับ คนที่พอจะคิดได้ก็คงเป็นคนที่ขี่ม้าเป็น  มีรถถีบ  มีปัญญาขึ้นรถเมล์ หรือขอโบกรถบรรทุกแร่ รถบรรทุกไม้ ซึ่งในระยะแรกๆ ก็เสี่ยงเอาว่าจะมีรถกลับหรือไม่ เพราะพอบ่ายๆสักช่วงเวลาปล่อยวัวควายกินหญ้านั้น ก็แทบจะหารถวิ่งไม่ได้แล้ว ในยุคนั้น ก็อย่างที่พระคุณเจ้าพูดถึงในตอนหนึ่ง รถแทบทุกคันที่มีก็จำกันได้หมด ทั้งเสียง สีของรถ เลขทะเบียนของรถ  และคนขับ รถไม่ค่อยมีครับ  เดินและขี่เกวียนกันอย่างเดียว
  • บ้านปู่ย่าและญาติพี่น้องทางพ่อของผมก็อยู่อุทัยธานี  ที่บ้านห้วยคต อำเภอบ้านไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอห้วยคต  เมื่อตอนผมเป็นเด็ก เวลาจะไปนครสวรรค์ อุทัยธานี และไปบ้านปู่ย่า ก็ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่สว่าง แล้วก็เดินมาขึ้นรถคันแรก เพื่อไปต่อรถไฟที่ชุมแสง(แรกๆยังเป็นรถจักรไอน้ำ) ไปนครสวรรค์ แล้วก็ไปข้าเรือยนต์ที่มโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ไปถึงสถานีขนส่งอุทัยธานี ก็บ่ายแล้วครับ ตอนนั้นเมืองอุทัยราวกับเป็นเมืองลับแลอยู่กลางป่าดง จากนั้น ก็โดยสารรถไปลงที่แยกเขาทรมะ เพื่อขี่ช้าง หรือขี่มอเตอร์ไซค์ลัดเลาะไปในป่าต่อไปอีก  ระหว่างทางบางทีก็ได้ยินเสียงชะนีและช้าง ไปถึงบ้านสางปู่ย่าก็มืดค่ำพอดี ไปแถวเขาพนมรอก หรือท่าตะโกก็เหมือนกันครับ เมื่อก่อนรู้สึกว่ามันไกลและเส้นทางถึงกันแสนกันดารเหลือเกิน
  • ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีกเป็นสองเท่า ก็ย่อมกันดารและลำบากจนสุดจะคิด การที่ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ท่านสามารถบวชและแสวงหาครูอาจารย์ ได้ศึกษาอบรมจนถึง ปธ ๖ แล้ว ท่านกับหลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อเดิม และคนเก่าแก่ ซึ่งหากเป็นมาอย่างนี้ก็เหมือนกับกลุ่มปัญญาชน ก็ยังร่วมมือกันบุกเบิกวางรากฐานสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างวัดศูนย์กลางชุมชน และการสร้างโรงเรียนเพื่อการศึกษาของคนรุ่นหลังนั้น จึงไม่ธรรมดาอย่างยิ่งครับ  เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกี่ยวกับพัฒนาการการศึกษาของชุมชน ที่มีคุณค่ามากอย่างยิ่งครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

สวัสดีครับอาจารย์กู้เกียรติ

  • ผมเลยต้องขอแวะเข้าไปทำความรู้จักอาจารย์ไปด้วยเลย เลยได้รู้ว่านี่กระบี่มือหนึ่งคนหนึ่งในเรื่องการ์ตูนและหนังสือแบบเรียนเลยนะครับเนี่ย ยินดีเป็นอย่างมากนะครับ และขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยือนให้ได้รู้จักนะครับอาจารย์
  • แล้วก็ยังเป็นคนในแวดวงศิลปะทั้งสำนักเพาะช่างและศิลปากร แล้วก็ทำงานในแนวชุมชนอีกด้วย ดีใจจริงๆ  เลยนำลิ๊งค์ห้องเสวนาทางศิลปะในบล๊อกโอเคเนชั่นของคุณสุทธิชัย หยุ่น มาฝากนะครับ อาจารย์คลิ๊กไปที่นี่เลย เผื่อเป็นเวทีเสวนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนคอเดียวกันนะครับ
  • น้องชายผมเองครับ ชื่อพีระ คำศรีจันทร์ ตอนนี้ไปอยู่อุ้มผาง ชุมชนต้นน้ำท่าจีน-แม่กลอง หรือแม่กลองคี ผมฟังเขาเล่าถึงชุมชนอุ้มผางและสภาพการทำงานในพื้นที่อยู่บ่อยๆ จนคิดอยากจะไปสัมผัสด้วยตนเองด้วยให้ได้หลายครั้งแล้วครับ
  • อาจารย์ ดร.อุทัย ดุลยเกษม ก็เป็นครูผมด้วยครับ และกูรุทางการวิจัยเชิงคุณภาพที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นครูทั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั้งการวิจัยและหลายเรื่องของผมด้วยเช่นกันครับ 
  • อาจารย์เก่ง ประสบการณ์รอบด้าน และมีโอกาสทำงานให้สังคมได้เยอะดีจริงๆ ครับ ดีใจครับ-ดีใจ ขอให้มีพลังใจอยู่เสมอครับ มีความสุขครับ.
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ. ๖) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์

เส้นทางสู่การบรรพชา(บวชเณร)

 พ.ศ. ๒๔๔๕ ปีนี้ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ท่านมีอายุ ๘ ขวบ และได้เรียนหนังสือเป็นครั้งแรกถ้าการศึกษาภาคบังคับของรัฐที่บังคับใช้ในภายหลังอายุ ๗ ต้องเข้าโรงเรียน ก็แสดงว่าท่านได้รับการศึกษาตามเกณฑ์ของรัฐแต่เกินนิดหน่อย ๑ ปีเอง ท่านได้ศึกษาภาษาไทยกับหลวงพี่หัดซึ่งเป็นพี่ชายของท่านและบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่หนองกลับใกล้บ้านนั่นเอง ในเวลาไม่ห่างกันมากนักก็ยังมีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างชุมชนหนองบัว-เมืองหนองบัวท่านผู้นั้นก็คือหลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ ซึ่งท่านเกิดหลังท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ๔ ปี คือหลวงปู่อ๋อย เกิด พ.ศ.๒๔๔๒ ตามประวัติที่ระมีบุไว้หลวงปู่อ๋อยท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ (ป.๒) อาตมาก็เกิดความสงสัยขึ้นมาอีกว่า ถ้าหลวงปู่อ๋อยเรียนหนังสือ ถึงชั้น ป.๒ ก็แสดงว่าหนองบัวต้องมีโรงเรียนประถมแล้วหรือท่านไปเรียนที่อื่น ถ้าไปเรียนที่อื่นก็นึกไม่ออกว่าไปเรียนที่ไหน ถ้าจะให้สันนิษฐานความเป็นไปได้ก็คือมีอยู่ ๒ ทางคือ ๑ อำเภอชุมแสง จ.นครสวรรค์ ๒ อำเภอบางมูลนากจ.พิจิตร แต่ความเป็นไปได้จะมีเปอร์เซ็นน้อยเต็มที เพราะเมื่อท่านทั้งสองนี้มีอายุสิบกว่าปี ก็ประมาณร้อยปีเห็นจะได้ แล้วร้อยที่ผ่านมาคนหนองบัวจะส่งลูกไปเรียนหนังสือชั้นประถมถึงชุมแสงหรือบางมูลนากนั้นยังนึกไม่ออกเพราะโยมอาจารย์วิรัตน์เคยพูดว่า แค่คิดจะเดินทางออกจากบ้านตาลินซึ่งอยู่ห่างจากหนองบัวเพียง ๗-๘ กิโลเมตรก็ไม่อยากคิดแล้วคือไปหนองบัวแล้วกลัวไม่มีรถกลับบ้าน นี่แค่เมื่อสิบปีที่ผ่านนี้เองก็ยังลำบากมาก ๆ แต่เมื่อท่านเจ้าคุณเทพสิทธินายกและหลวงปู่อ๋อยอยู่ในวัยเด็กนั้นคิดดูก็แล้วกันว่าไปกันอย่างไร ถ้าไปเรียนหนังสือก็ต้องเป็นนักเรียนประเภทโรงเรียนกินนอน(คือกินนอนอยู่ในวัด) จะเป็นมูลเหตอย่างนี้หรือไรจึงทำให้ต่อมาอีกหลายสิบปีจึงเกิดมีแนวคิดสร้างโรงเรียนขึ้นในหนองบัวคือปี ๒๔๖๖โดยท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก และปีเดียวกันนั้นเองก็มีการสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองกลับโดยมีหลวงพ่อเดิมเป็นประธาน ซึ่งในตอนนั้นหลวงปู่อ๋อย ท่านก็เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองกลับอยู่ด้วย เท่าที่ทราบอำเภอหนองบัวมีโรงเรียนแห่งแรกคือโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม ซึ่งผู้ก่อตั้งก็คือท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ในขณะนั้นซึ่งเป็นชาวอำเภอหนองบัว นับตั้งแต่ท่านเรียนหนังสือเมื่ออายุ ๘ ขวบกับพระพี่ชายจนถึงปีก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมนั้นก็กินเวลา ๒๐ ปี ท่านมีอายุ ๒๘ ปี นับว่ายังหนุ่มมาก ตามประวัติของท่าน พ.ศ.๒๔๖๕ ท่านสอบได้เปรียญธรรม  ๖ ประโยค รุ่งขึ้นอีกปี คือพ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านมาก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม เรียนจบใหม่ ๆ สด ๆ ร้อน ๆ ท่านรีบกลับมาพัฒนาบ้านเกิดทันที ช่วงระยะนี้ท่านยังจำพรรษาอยู่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ ท่าพระจันทร์ โดยเป็นครูสอนทั้งนักธรรมและบาลีในวัดมหาธาตุฯ นี่คือวิสัยทัศน์ ของคนหนองบัวในยุคเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา ชาวหนองบัวต้องถือว่าหลวงพ่อเดิม,ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก,หลวงปู่อ๋อยมีคุณูปการอย่างสูงยิ่งต่อเมืองหนองบัวชุมชนหนองบัวเพราะปี พ.ศ.๒๔๖๖ นั้นท่านทั้งสามได้สร้างสาธารณะประโยชน์ขึ้นในหนองบัว คือหลวงปู่อ๋อยได้บริจาคที่ดินสร้างโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม โดยให้ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน และหลวงปู่อ๋อยก็ได้นิมนต์หลวงพ่อเดิมมาเป็นประธานสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่สร้างกุฏิบูรณะโบสถเสร็จภายในปีเดียว ต้องนับว่าท่านทั้งสามและชาวหนองบัวยุคนั้นได้สร้างประโยชน์ทั้ง ๒ ด้านในเวลาเดียวกันคือ ด้านบุญกุศลบุญสถาน และสถานศึกษาให้ชาวหนองบัวได้ใช้ประโยชน์สืบมาจนถึงทุกวันนี้.

ก็เป็นอันว่าวันนี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกท่านยังไม่ได้บรรพชาเป็นสามเณรขออนุญาตยกเอาไว้วันหน้าก็แล้วกัน.

โปรดติดตามตอนต่อไป

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) 

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

แก้ไขข้อคำที่ผิดพลาดในบทความประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกตอนเส้นทางสู่การบรรพชา คือคำว่า นี่แค่เมื่อสิบปี เป็น นี่แค่เมื่อสี่สิบปี

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)

  • ผมคงต้องขอติดตามอ่านไปพลางๆก่อนนะครับ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ยังกระจัดกระจาย แล้วก็มีการรวบรวมไว้เป็นหลักเป็นฐานน้อยมาก เลยคิดว่าที่พระคุณเจ้าไปได้มาจากไหนก็อุตส่าห์นำมารวบรวมไว้ก่อนอย่างนี้ ก็คิดว่าดีที่สุดแล้วนะครับ สักระยะหนึ่งคิดว่าจึงพอที่จะช่วยพระคุณเจ้า ผุดประเด็นหัวข้อสำหรับจัดหมวดหมู่ เพื่อให้ศึกษาได้ง่ายและน่าติดตามมากขึ้น  
  • ท่านอื่นๆ ที่จะช่วยพระคุณเจ้ารวบรวมข้อมูลไว้ให้คนได้อ่าน-ได้ศึกษา ก็เชิญตามอัธยาศัยนะครับ ในเบื้องต้นนี้ รวบรวมข้อมูลหยาบๆไปก่อน แล้วค่อยเริ่มเรียบเรียงและสอบทานเอกสาร-หลักฐานในภายหลัง ก็คงจะได้ความน่าเชื่อถือและมีความถูกต้องดีขึ้นเรื่อยๆ
  • เรื่องนี้เชื่อว่าจะเป็นคุณูปการมากมายต่อคนหนองบัวนะครับ โดยเฉพาะโรงเรียนและวัดหนองกลับ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแหล่งสร้างคนทั้งหนองบัวก็ว่าได้ครับ 
  • ครอบครัวและตระกูลของท่านดูแล้วน่าจะเป็นปึกแผ่นมากครับ อย่างนามสกุล อินทชิตนั้น  เพื่อในรุ่นผมนามสกุลนี้ก็มี ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้ก็น่าจะย้งมีญาติพี่น้องที่มีข้อมูลเกี่ยวกับท่านที่ไม่ได้มีการเผยแพร่และเขียนขึ้นเป็นความรู้อีกหลายแง่มุม  หากใครเขียนและรวบรวมจากความทรงจำและการมีประสบการณ์ตรง ก็จะเป็นอีกด้านหนึ่งที่ให้ความสมบูรณ์ของเนื้อหาต่างๆมากขึ้นครับ
  • เช่น เขาระดมผู้คนกันอย่างไร จำเพาะคนในเมืองหนองบัว หรือว่ามาจากแหล่งอื่นๆที่เป็นชุมชนรอบข้างด้วย พวกไม้มากมายไปเอามาจากแหล่งไหน เกิดอุปสรรคปัญหาและความยากลำบากที่ต้องฝ่าฟันกันอย่างไร เขาแก้ไขกันอย่างไร นอกจากพระแล้ว ผู้นำชาวบ้านที่มีบทบาทเป็นใครบ้าง เหล่านี้เป็นต้น
  • เรื่องการขุดสระวัดหนองกลับก็น่าสนใจมากนะครับ ไม่รู้ขุดได้อย่างไรถึงลึกและใหญ่โตขนาดนั้น  อีกทั้งเป็นระบบการจัดการแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคเมื่อแรกมีของอำเภอหนองบัวอีกด้วย เป็นทั้งความยาก ความบุกเบิกริเริ่ม และการให้รากฐานของชุมชนชาวหนองบัว ที่พัฒนาการมาได้อย่างดีถึงปัจจุบัน

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ. ๖) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
  • โดย พระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฉ่ำน้อย ฐิตสีโล) เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาส เจ้าคณะตำบล ห้วยร่วม เขต ๒
  • วันนี้อาตมาภาพขอนำประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกที่เรียบเรียงโดยพระครูสมต่อจากเมื่อวานนี้ดังต่อไปนี้
  • บรรพชา พออายุได้ ๑๖ ปี ได้กลับมาอยู่วัดนครสวรรค์ อ. เมือง จ. นครสวรรค์ และได้บรรพชาเป็นสามเณรกับ(หลวงพ่อคล้าย วัดเขาพนมรอก อ.ท่าตะโก) อยู่วัดนครสวรรค์ เป็นลำดับมา
  • ครั้นอายุย่างเข้าได้ ๒๐ ปี ย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปรัยัติธรรมในสำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ อุปสมบท
  • เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท ณ พัมธสีมาวัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ กรกฏคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปี เถาะ โดยมีสมเด็จพระวันรัต(ฑิตย์) เป็นพระอุปัฌชาย์ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เวลานั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นราชสุธี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระประสิทธิ์สีลคุณ (จ้อย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้สมณฉายว่า ชาตสิริ การศึกษาพระปริยัติธรรม
  • การศึกษาพระปริยัติธรรม 
  • ในศกนี้(พ.ศ. ๒๔๕๘) ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง สอบได้นักธรรมชั้นตรี
  • ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นเปรียญ ๓ ประโยค
  • ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นนักธรรชั้นโท
  • ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นเปรียญ ๔ ประโยค
  • ปี พ.ศ ๒๔๖๔ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นเปรียญ  ๕ ประโยค
  • ปี พ.ศ ๒๔๖๕ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นเปรียญ   ๖ ประโยค หน้าที่การงาน
  • ได้เป็นครูสอนทั้งธรรมและบาลีในสำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง พ. ศ. ๒๔๗๗
  • พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมตรีและบุรพภาค ป.ธ. ตรี ในสนามหลวง
  • พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโทและบุรพภาค ป.ธ. ตรี ในสนามหลวง
  • พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นกรรมการตรวจ ป.ธ. ๓, ป.ธ. ๔
  • พ.ศ. ๒๔๖๘ นำปัญหาธรรมวินัยไปเปิดสอบที่จังหวัดอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์
  • พ.ศ. ๒๔๖๙ นำปัญหาธรรมวินัยไปเปิดสอบที่จังหวัดกำแพงเพชร มณฑลนครสวรรค์
  • พ.ศ. ๒๔๗๑ นำปัญหาธรรมวินัยไปเปิดสอบที่จังหวัดกำแพงเพชร มณฑลนครสวรรค์และเป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นตรีในสนามมณฑลนี้
  • พ.ศ. ๒๔๗๒ นำปัญหาธรรมวินัยไปเปิดสอบที่จังหวัดตาก มณฑลนครสวรรค์และเป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโทในสนามมณฑลนี้
  • พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นอนุศาสนาจารย์ เที่ยวจาริกสอนประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชร
  • พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖ ได้เป็นเลขาฯ ในการตรวจการคณะสงฆ์ของรองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
  • พ.ศ. ๒๔๗๗ สมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) ครั้นเป็นพระพิมลธรรมเจ้าคณะมณฑลอยุธยา ได้ส่งให้มาอยู่วัดนครสวรรค์ อ. เมือง จ. นครสวรรค์ เพื่อจัดการศึกษาพระปริยัตธรรม สมณศักดิ์
  • พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับสมษศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระเทพสิทธินายก
  • พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้เลื่อนสมณศักด์เป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราชในนามเดิม
  • พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้เลื่อนสมณศักด์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพเป็นพระเทพสิทธินายก ปาพจนาธิปก ตรีปิฏกภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ตำแหน่งพระคณะธิการ
  • พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นพระคณะจารย์โท ฝ่ายคันถธุระ
  • พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
  • พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นอุปัฌชาย์ในเขตจังหวัดนครสวรรค์
  • พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
  • พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นหัวหน้าคณะวินัยธรชั้นต้น
  • พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๒
  • พ.ศ ๒๔๙๒  เป็นเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๔
  • พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๖
  • หน้าที่พิเศษ เป็นผู้จัดการศึกษาและการบริหาร ของสำนักเรียนและวัดนครสวรรค์ ตลอดสมัยที่ท่านมาอยู่วัดนครสวรรค์
  • ช่วยสมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) ครั้งเป้นพระธรรมไตรโลกาจารย์ ตรวจชำระพระไตรปิฏกสยามรัฐ(บาลี) เป็นผู้จัดการสร้างเสนาสนะและกำแพงวัดนครสวรรค์ เป็นผู้จัดการสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นในวัดนครสวรค์หนึ่งหลัง เป็นตึก ๓ ชั้น ก่ออิฐเทคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาเทคอนกรีตเป็นดาดฟ้า ยาว ๑๓ วา กว้าง ๔ วา ออกมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
  • เพื่อจุดประสงค์ ๔ ประการคือ
  • ๑. เพื่อเหมาะและสะดวกแก่การศึกษา การสอบ และการตรวจข้อสอบ
  • ๒. เพื่อความก้าวหน้าแห่งการศึกษาของพระภิกษุสามเณร
  • ๓. เพื่อเป็นที่เก็บสรรพหนังสือ มีหนังสือพระไตรปิฏกเป็นต้น
  • ๔. เพื่อความาเจริญแห่งพระพุทธศาสนา
  • พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นผู้อำนวยการสร้างวัดใหม่ที่หมู่บ้านหนองกลับ(คือวัดเทพสุทธาวาส) อ.หนองบัว จ. นครสวรรค์ ซึ่งเป็นชาติภูมิของท่าน โดยสร้างกุฏิขึ้น ๒ หลัง และใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้สร้างกุฏิขึ้นอีก ๔ หลัง หอสวดมนต์ ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หลัง รวมเป็น ๖ หลัง ทำเสร็จเพียงวันเดียวเท่านั้นด้วยความพร้อมเพรียงของประชาชน ภายใต้การนำของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกนั่นเอง
  • พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เวลา ๑๓. ๐๘ น. ด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ คำนวณอายุได้ ๖๐ ปี ๖ เดือน ๒๘ วัน ๑๔ ชั่วโมง ๘ นาที รวมพรรษา ๔๑ พรรษา “คณะสงฆ์ต้องสูญเสียพระดีที่จากไป…”

 วันต่ิอไปจะนำเสนอการสร้างวัดเทพสุทธาวาส

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • อาตมาเห็นด้วยกับโยมอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างยิ่งว่าคนเฒ่าคนแก่ที่มีอายุประมาณ ๗๐ ปีขึ้นไปคือผู้ที่ได้ทันเห็นและร่วมประสบการณ์ทำงานสร้างสรรค์ประโยชน์ในหนองบัวกับท่านเจ้าคุณเทพฯนั้นยังคงจำเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อห้าสิบปีได้แม่นยำและสามารถถ่ายทอดได้ดีเพียงแต่ลูกหลานใฝ่ใจอยากรู้เท่านั้นบอกความประสงค์ให้คนเฒ่าคนแก่ทราบท่านเหล่านั้นก็จะเล่าได้อย่างดีเรียกว่าเล่าได้เป็นคุ้งเป็นแคว
  • ก็ขอเชิญชวนลูกหลานเหลนของท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกที่เป็นนักการศึกษาได้ช่วยกันศึกษาหาข้อมูลเกร็ดประวัติชีวิตผลงานของท่านเจ้าคุณพระเทพฯและนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะในวงกว้างคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังอย่างมาก หรือแม้แต่รุ่นเราก็มีคุณค่าอย่างมากเช่นกัน
  • อาตมาขอเชิญชวนชาวหนองบัวทุกท่านได้ช่วยกันศึกษาและบันทึกเรื่องราวของชุมชนหนองบัวทั้งประเพณีวัฒนธรรมและงานบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ ของหนองบัวที่มีเอกลัษณ์ประจำถิ่นอีกมากมายที่ยังไม่มีการเผยแพร่จะได้นำมาศึกษาเรียนรู้และส่งต่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้และช่วยกันสืบสานให้ดำรงอยู่ต่อไปเป็นมรดกท้องถิ่นเป็นภูมิปัญญาที่บรรบุรุษสร้างสรรค์ไว้จะได้ไม่สูญหายไปกับกาลเวลา
  • หวังว่าคงจะได้ข้อมูลเรื่องราวประวัติศาสตร์ของบ้านเราจากผู้รู้ทั้งหลายในโอกาสต่อไปในวันข้างหน้า.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ประวัติวัดเทพสุทธาวาส

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • เรียบเรียงโดยพระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฉ่ำน้อย ฐิตสีโล) เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาส เจ้าคณะตำบลห้วยร่วม เขต ๒
  • วัดเทพสุทธาวาส ตั้งอยู่เลขที่ ๗๙ หมู่ที่ ๙ ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ. นคสวรรค์ (เดิมขึ้นกับจังหวัดพิจิตร) สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
  • ความเป็นมาของวัดเทพสุทธาวาส
  • เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๗ นายเล่ง พรมอ่อน อายุ ๔๙ ปี ได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านว่าจะสร้างวัดใหม่ขึ้น ในหมู่บ้านทุ่งมาบปรัง เจ้าของที่ดินพร้อมใจกันยกที่ดินของตนให้เพื่อสร้างวัด เจ้าของที่ดินคือ
  • ๑. ปู่ฮ้อ       ย่าชิน          เถียรทิม
  • ๒. นายปลื้ม นางพลับ       ดำโต
  • ๓. นายดุ     นางกรี          เถียรทิม
  • ๔. นายปุย    นางทำ         ยิ้มปาน
  • ๕. นายอาง   นางมี           มากน้อย
  • ๖. นายเหรียญ นางทิม        เหว่าโต
  • ๗. นายบุญ     นางมล        ชุ่มแป้น
  • ๘. นายเพ็ชร   นางน้อย       ลาพรม
  • ๙. นายยัน      นางพลัด       ท้วมเทศ
  • ๑๐. นายพรม  นางน้อย        อยู่ศรี
  • ๑๑. นายต่อม  นางเล็ก         เอี่ยมเนตร
  • ๑๒. นายเชื้อ   นางก๊วย         ตี๋เกิด
  • ๑๓. นายอาง   นางยม          ลาพรม
  • ๑๔. นายปุ่น    นางฟู           เพ็ชรคง
  • ๑๕. นายทำ    นางผง          ท้วมเทศ
  • ๑๖. นายฉิว     นางริ้ว           พรมอ่อน
  • มีผู้อยู่ในที่ดินก่อนสร้างวัด คือ
  • ๑. นายโม้       นางทิม          เพ็ชรคง
  • ๒. นายโบ๊ะ      นางกลอย      น้อยรอด
  • ๓. นายสี         นางแก้ว         เหว่าโต
  • ๔. นายกวน     นางตุ่น           ส่งอู๋
  • ๕. นายมี        นางทอง          ส่งอู๋
  • ๖. นายเที่ยง    นางสวน          เหว่าโต
  • ๗. นายตาม     นางเรียบ         ลาพรม
  • ๘. นายถนอม   นางยิ้ม           ชูจ้อน
  • ๙. นายทำ        นางใจ           จ่างพัด
  • พื้นที่สร้างวัด เป็นที่ราบลุ่มมีทางสาธารณะโดยรอบบริเวณขอบเขต มีบ้านเรือนของประชาชนตั้งอยู่ทั่วไป ชาวบ้านได้ไปปรึกษาพระเดชพระคุณ พระเทพสิทธินายก เจ้าคณะตรวจการภาค ๖ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงพ่ออ๋อย สุวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ เจ้าคณะอำเภอหนองบัว จึงได้สร้างที่พักสงฆ์ขึ้นชื่อ “วัดใหม่ทุ่งมาบปรัง” เรียกตามชื่อหมู่บ้าน
  • ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ สร้างกุฏิ ๒ หลัง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระเดชพระคุณพระเทพสิทธินายก ได้ตั้งชื่อวัดมา ๓ ชื่อ คือ
  • ๑. วัดต้นโพธิ์ทอง
  • ๒. วัดมะขามขอทอง
  • ๓. วัดเทพสุทธาวาส เพื่อให้ประชาชนช่วยกันเลือกชื่อ ประชาชนปรึกษาหารือกันแล้วพร้อมใจกันเลือกชื่อ วัดเทพสุทธาวาส ซึ่งแปลว่า สถานที่อยู่ของเทพผู้หมดจด หรือสถานที่อยู่ของเทพผู้สูงส่ง หรือสถานที่อยู่ของเทพผู้วิเศษ และต่อมา
  • ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้สร้างกุฏิ ๔ หลัง หอสวดมนต์ ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หลัง รวมเป็น ๖ หลัง ทำเสร็จเพียงวันเดียวเท่านั้น ด้วยความพร้อมเพรียงของประชาชน ภายใต้การนำของพระเดชพระคุณพระเทพสิทธินายก และพระครูนิกรปทุมรักษ์( หลวงพ่ออ๋อย สุวณฺโณ) มีนายเล่ง พรมอ่อน พร้อมด้วยชาวบ้านให้การช่วยเหลือสนับสนุน
  • ลำดับเจ้าอาวาส
  • ๑. พระใบฏีกาสังวาล ธมฺมปาโล(นาคสุทธิ์) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
  • ๒. พระใบฏีกาเสรี (โปน เอี่ยมเนตร)          หัวหน้าวัด
  • ๓. พระอาจารย์ส้ม  แก้วโต                      หัวหน้าวัด
  • ๔. พระอาจารย์เกลื่อน (ไม่ทราบนามสกุล)
  • ๕. พระครูนิวิฐสุทธิธรรม (หลวงพ่อปาน ฐิตมโน) เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒
  • ๖. พระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฉ่ำน้อย ฐิตสีโล) เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ - ปัจจุบัน
  • นี่ก็คือความเป็นของท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกในด้านที่เกี่ยวข้องกับการสร้างวัดเทพสุทธาวาสถ้าพูดภาษาปัจจุบันก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มากในการสร้างวัดเทพฯคือสร้างเสร็จภายในวัดเดียวเท่านั้น นี่คือบารมีอย่างแท้จริง
  • หรือฆราวาสชอบใช้ให้หมายถึงผู้ที่มีความสามารถขนาดนี้ว่า ผู้มีิอิทธิพล
  • ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกและหลวงพ่ออ๋อยสองท่านนี้จะต้องเรียกว่าเป็นผู้มีิอิทธิพลก็ได้แต่ท่านเป็นผู้มีิอิทธพลทางด้านจิตใจ
  • นี่คือความสามัครคี ของคนหนองบัวก่อนหน้านั้นก็มีปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งมาแล้ว คือการสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่เสาร้อยกว่าต้นวัดหนองกลับ เสร็จภายในหนึ่งปีโดยการนำของหลวงพ่อเดิม และหลวงพ่ออ๋อย เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองกลับในตอนนั้นด้วย
  • อาตมาภาพค่อย ๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวความเป็นมาของบุคคลสำคัญเมืองหนองบัวให้เห็นภาพอาจจะยังไม่แจ่มชัดมากนักแต่ก็พอได้เค้ามองเห็นร่องรอยเป็นบางส่วน ก็ต้องค้นคว้าสืบค้นเสาะหาประวัติของท่านกันต่อไปอีกก็ขอฝากโยมอาจารย์วิัรัตน์อีกเช่นเคยและท่านอื่น ๆ ที่มีข้อมูลหรือมีบันทึกเืรื่องราวทำนองนี้ก็ให้นำมาเผยแพร่ให้ได้รับรู้กันบ้าง
  • วันนี้ก็ขอจบประวัติท่านเจ้าคุณพระทเพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ. ๖ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์)
  • ผู้ให้กำเินิดก่อสร้างวัดเทพสุทธาวาส แต่เพียงเท่่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้.

ขอเจริญพร

พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) ชาวหนองบัว และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ผมเริ่มเห็นนามสกุลของครอบครัวที่ผมรู้จักสอง/สามครอบครัวแล้ว ผมจำได้เพราะพวกผมเรียกเพื่อนโดยเรียกชื่อพ่อเพิ่งเห็นประโยชน์วันนี้นี่เอง 
  • ในความเป็นจริงแล้ว ชุมชนหนองบัวฝั่งที่เป็นด้านวัดเทพสุทธาวาสนั้น เก่าแก่และหนาแน่นกว่าฝั่งชุมชนหนองกลับ และแต่เดิม ก็มีแนวโน้มที่จะเจิรญ ขยายตัวเป็นศูนย์กลางของตัวเมืองมาก ไม่น้อยไปกว่าฝั่งหนองกลับ โดยมีวัดเทพสุทธาวาสและโรงเรียนวัดเทพเป็นศูนย์กลาง
  • การมีตลาดสด งานงิ้วที่เกาะลอย โรงไฟฟ้าที่เกาะลอย และโรงน้ำแข็ง-โรงไอติม รวมไปจนถึงโรงสีข้าวและท่ารถเมล์ที่ฝั่งหนองกลับ ด้านหนองกลับเลยขยายตัวมากมาย ส่วนฝั่งชุมชนวัดเทพสุทธาวาส ก็หดตัวและเกือบจะเป็นเหมือนชุมชนหมู่บ้านเงียบๆไปเลย
  • เห็นพระคุณเจ้ารวบรวมข้อมูลไว้อย่างนี้แล้ว ผมจะพยายามเขียนแนวการเป็นนักวิจัยชาวบ้านและคนทำสารคดีชุมชนของชาวบ้าน มาถ่ายทอดง่ายๆไว้ในนี้นะครับ เผื่อมีคนของท้องถิ่น อสม ผู้นำชุมชน หรือนักเรียน เยาวชน คนที่ได้การศึกษาและสนใจที่จะค่อยๆเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะอย่างนี้ แล้วก็โยนเก็บบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตอย่างนี้ช่วยพระคุณเจ้าและคุณเสวกนะครับ เช่น การถ่ายรูปและบันทึกข้อมูล การคุยกับคนเก่าแก่เพื่อทำสารคดีและประวัติชุมชนจากคำบอกเล่า รวมทั้งการดูข้อมูลเก่าๆที่อยู่ตามบ้านดั้งเดิม เช่น รูปถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แล้วก็ถ่ายรูปและเก็บข้อมูล มาเขียนบันทึกถ่ายทอดง่ายๆ เหล่านี้เป็นต้น จะกลายเป็นคลังความรู้ของคนหนองบัวอย่างดีนะครับ
  • หากทำในลักษณะนี้ จะสามรรถพัฒนาความรู้และการจัดการความรู้ ไปเสริมการจัดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่วัดหนองกลับได้อย่างดีอีกด้วยนะครับ ตอนนี้พิพิธภัณฑ์เป็นที่รวบรวมสิ่งจัดแสดงที่บอกเล่าสังคมและชุมชนไว้มากแล้ว แต่ผมคิดว่ายังขาดเรื่องการทำให้คุยและบอกเล่นเรื่องราวสังคมเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้เมืองหนองบัวให้ดีๆอีกหลายอย่างครับ
  • หนองบัวเป็นเหมือนศูนย์กลางที่เปิดไปสู่ภาคเหนือ  ภาคอีสาน และอินโดจีน ทำเลที่ตั้งอย่างนี้ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็วและมีผลกระทบต่อการขยายตัวที่จะทำให้สัดส่วนของประชากรแฝงที่เคลื่อนมาจากที่อื่นมีมากกว่าคนท้องถิ่น และโครงสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก้จะเปลี่ยนแปลงไป  การค่อยๆทำไว้ตั้งแต่ตอนนี้ในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากมายครับ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ประวัติหลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณวัดหนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

วันนี้อาตมาภาพจะขอนำประวัติของหลวงปุ่อ๋อยที่ยังเหลืออยู่

มาลงต่อจากตอนที่แล้วเนื่องจากหลายวันที่ผ่านมาได้นำประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกมาลงแทรกหลายตอนต่อไปนี้ก็จะได้นำประวัติช่วงสุดท้ายของชีวิตและมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างถือว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งประวัติศาสตร์เมืองหนองบัวอย่างหนึ่งที่คนหนองบัวยังจดจำเหตุการณ์นั้นจนทุกวันนี้เชิญทุกท่านอ่านได้ตามอัธยาศัยดังต่อไปนี้

ในปัจจฉิมวัยของท่าน

  •  ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงปู่อ๋อยได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ด้วยโรคไตและต่อมลูกหมากอักเสบ จากนั้นกลับมาพักจำพรรษาที่วัดเมื่อถึงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๙ หลวงปู่ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองบัวเพื่อทำการเช็คร่างกายด้วยโรคเดิม
  • คณะศิษย์ก็คิดว่าเป็นการไปตรวจรักษาตามปกติธรรมดาเช่นเคย แต่เป็นการจากวัดครั้งสุดท้ายกล่าวคือ เมือถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๙ โรงพยาบาลหนองบัวได้นำส่งหลวงปู่อ๋อยไปรักษาตัวต่อทีโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และเมื่อไปถึงโรงพยาบาลคณะศิษย์ไปเยี่ยม ปรากฏว่าหลวงปู่ท่านนอนจำวัตรเป็นส่วนมากไม่ยอมพูดจากับใครเลย
  • มีบรรดาหลานเฝ้าไข้อยู่ ๒- ๓ คน สร้างความห่วงใยให้บรรดาลูกศิษย์เป็นอันมาก เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๙ ทางวัดได้รับโทรศัพท์ประมาณตี ๔ แจ้งข่าวมรณภาพของหลวงปู่อ๋อย
  • ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๙ เวลา ๐๒. ๐๕ น. ด้วยโรคระบบหัวใจล้มเหลวและเบาหวาน รวมศิริอายุได้ ๘๗ ปี ๖ เดือน ๙ วัน
  • เตรียมการรับศพ ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๖ เวลาเช้า ๐๗.๐๐ น. ทางวัดและคณะกรรมการวัดหนองกลับ ได้เรียกประชุมด่วน มีทายกทายิกาผู้บำรุงวัดมากันเนืองแน่นบริเวณวัด ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสจึงแบ่งหน้าที่และรถไปรับศพ รถรับศพโดยรถของ สจ. ประวเวศ ศิริยส ไปรับที่โรงพยาบาลพร้อมรถอีก ๕ คัน เมื่อถึงโรงพยาบวลเจ้าหน้าที่ได้นำศพหลวงปู่อ๋อยมาไว้ชั้นล่างเพื่อรอการฉีดยา มีนายสวัสดิ์ คำประกอบ สส. นครสวรรค์และพระภิกษุอยู่ในห้องนั้นหลายท่าน
  • เกิดอุบัติเหตุในขณะฉีดยา(ยาฉีดศพ) ในขณะที่คณะกรรมการพร้อมกันที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ได้มาถามว่าจะเก็บศพไว้นานเท่าไร จะได้ฉีดยาป้องกันจึงตอบกันว่าจะเก็บไว้ประมาณ ๒ ปี เจ้าหน้าที่มีหมอมาลินีเป็นหัวหน้า และนายสวัสดิ์ คำประกอบ พระภิกษุอยู่ในห้อง ในขณะที่เครื่องฉีดยาทำงานทำการฉีดศพหลวงปู่อ๋อย สายยางจากขวดยาได้หลุด น้ำยาที่สายยางจึงสบัดไปถูกคนที่อยูใกล้ ๆ เป็นผลให้น้ำยาเข้าดวงตา คือ นายสวัสดิ์ คำประกอบ พระสมเกียรติ และหลานท่านอีก ๑ คน รวม ๓ คน ต้องรีบล้างตาโดยด่วนและต้องใช้ผ้าปิดตาอยู่หลายวัน
  • เป็นที่แปลกคือน้ำยาถูกตาซ้ายเหมือนกันหมดและถูกเฉพาะคนที่ใกล้ชิด และตรงกับที่ดวงตาหลวงปู่ที่เป็นโรคต้อที่ตาข้างซ้ายเช่นกัน นำศพกลับวัดเวลา ๙.๑๐ น. ถึงวัดหนองกลับ เวลา ๑๐.๒๕ น.
  • การเข้ารักษาของหลวงปู่ บรรดาศิษย์ไม่นึกเลยว่าท่านจะกลับมาในสภาพเช่นนี้ พอรถถึงวัดหนองกลับซึ่งเต็มไปด้วยพระภิกษุและญาติโยม ข้าราชการหลายร้อยคนบนศาลาเต็มพอดี ยังมีญาติโยมนั่งอยู่บริเวณวัดยิ่งสายเข้าคนก็ยิ่งมากขึ้นจนเต็มบริเวณวัด คณะกรรมการนำศพขึ้นตั้งเพื่อเตรียมสรงน้ำศพ มีพระเถระจากรุงเทพฯ คือท่านเจ้าคุณพระเทพเมธี วัดเศวตฉัตรมาร่วมรดน้ำศพด้วย และพระราชเวที เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และคณะสงฆ์อำเอหนองบัว
  • เริ่มสร้งน้ำศพเวลา ๑๕. ๐๐ น. จนถึง ๒๐.๐๐ น. จึงทำพิธีบรรจุศพ ตั้งศพสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ๑๕ วัน มีเจ้าภาพสวดอภิธรรมทุกคืนไม่ได้ขาดทั้งกลางวันและกลางคืน ทำพิธีเก็บศพไว้บนวิหารหลวงพ่อเดิม ในวันเก็บศพ มี สส.ประเทือง คำประกอบ และ สส. วิจิตร แจ่มใส นายอำเภอหนองบัว สวญ. สจ. ร่วมงานโดยทั่วหน้า
  • เป็นประวัติการณ์คนมากมายสุดที่นับได้เต็มวัดไปหมด คงไม่ต่ำกว่า ๑๕, ๐๐๐ คน เมื่อหลวงปู่มรณภาพ คณะกรรมการสำรวจทรัพย์สิน ปรากฏว่าไม่มีเงินสดเลย มีแต่วัตถุมงคล เช่นรูปหล่อ เหรียญ มีดด้ามงา ส่วนเงินสดนั้นท่านให้หลานสาวเก็บไว้เพื่อรักษาพยาบาล มีเงินในบัญชี ๑๕๐,๐๐๐ บาท ท่านสั่งเอาไว้ใช้ในงานศพ เหมือนท่านรู้ชะตากรรม เหลือแต่วัตถุมงคลของท่านเท่านั้นที่จะเป็นอนุสรณ์และคุณงามความดีให้ได้จดจำสืบไป
  • หลวงปู่ไม่สะสมเงินทอง
  • หลวงปู่อ๋อยเป็นนักเสียสละ ถือเมตตาเป็นหลัก ใครต้องการสิ่งใดจะบริจาคให้ เช่น มีงานบุญต่าง ๆ มักจะรับเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะงานศพ ท่านชอบรับเป็นเจ้าภาพอยู่เสมอ โดยมีญาติโยมเตือนหลวงปู่ว่าให้เก็บเงินไว้ทำศพตังเองบ้าง เพราะว่าเป็นพระผู้ใหญ่ เวลาสิ้นบุญจะได้มีเงินทำศพ หลวงปู่ท่านตอบว่าเงินงานศพหลวงปู่มีแล้ว ฝากไว้กับลูกหลานและศิษย์ทุกคน
  • ท่านหมายถึงเงินที่หลวงปู่ให้เป็นขวัญถุงวันแต่งงาน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมคนหนองบัว-หนองกลับ เวลาแต่งงานสมรสคู่บ่าว สาว ทั้งคู่จะมาไหว้หลวงปู่ขอศีล ขอพร ท่านจะให้เงินขวัญถุงเป็นการผูกข้อมือทุกคนไป สร้างความสนิทสนมและผูกพันธ์ อย่างแน่นแฟ้นไม่มีวันลืม
  • เช่น บางคนแต่งงานปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มาไหว้หลวงปู่ให้เงินเป็นขวัญถุงถึง ๔ บาท เท่ากับข้าว ๑ เล่ม ในสมัยนั้น จนถึงขณะนี้ได้ ๔๖ ปี (พ.ศ.๒๕๓๑) หลวงปู่จะกล่าวเตือนลูกหลานที่มาไหว้ท่านวันแต่งงานว่า “เวลาหลวงปู่ตาย เอาเงินกลับมาทำบุญกันนะ” ซึ่งคำกล่าวนี้ได้เป็นจริงตามท่านพูดทุกประการ เมื่อกลางพรรษาปี ๒๕๓๑ คณะกรรมการประกาศจะจัดงานศพหลวงปู่ ในวันที่ ๑๕-๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงบอกบุญไปยังพี่น้องชาวหนองบัว ได้มีประชาชน พ่อค้า ข้าราชการ พระสงฆ์ได้นำเงินมาบริจาค เพื่อจัดงานศพหลวงปู่อ๋อย เป็นจำนวนเงินถึง ๖๒๔,๑๕๐ บาท เพราะว่าทุกคนรู้ว่าหลวงปู่ไม่มีเงินเหลือ จึงเตรียมใจกันบริจาคด้วยจิตศรัทธาโดยทั่วกัน.

ขอเจริญพร

พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

ต้องขออนุโมทนาขอบคุณโยมอาจารย์อย่างมากที่นำดอกบัวมาให้ดูพักสายตาทำให้ชื่นตาชื่นใจชื่นจิตเบิกบานสุขใจดีจัง อาตมาภาพเคยจำพรรษอยู่แถว ๆ นครชัยศรีนั่งรถไฟบ้าง รถสองแถวคันใหญ่ ๆ บ้างผ่านศาลายาบ่อย ๆ แถวนั้นมีนาบัวเยอะแยะ ส้มโอก็เยอะ ดินดำนำ้ดีผลไม้งามดีมาก มีน้ำให้ทำการเกษตรได้ตลอดปี ตอนเช้าบิณฑบาตข้างทางรถไฟคอลงมหาสวัสดิ์บ้าง ข้ามสะพานคลองมหาสวัสดิ์บ้าง บรรยากาศดีผู้คนจิตใจงามใจบุญไม่ไ้ด้ไปหลายปีแล้วไม่ทราบทางรถไฟที่สร้างใหม่คู่กับสายเก่าเสร็จหรือยัง ถ้ามีโอกาศได้ไปเยี่ยมวัดแถวนั้นอีกคงได้แวะบ้านโยมอาจารย์วิัรัตน์สักวัน

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

วันนี้เข้าไปในเมืองพิษณุโลก ได้ซื้อหนังสือมาหนึ่งเล่ม ชื่อ

เด็กกลุ้มหลวงตาแก้ เด็กมีปัญหาหลวงตาเทศนาแก้ไข

โดยหลวงตาแดง  วัดคลองขุด จ. พระนครศรีอยุธยา กระผมพระมหาแลเห็นหลวงตาแดงสอนเด็ก ๆ แล้วมีข้อคิดน่าสนใจได้คติสอนใจหลายอย่าง วัยอย่างผมก็ใกล้เข้าสู่ความเป็นหลวงตาสำหรับเด็ก ๆ ก็เลยอยากจะนำมาฝากท่านผู้อ่านจึงกราบขออนุญาตหลวงตาแดงนำมาเผยแพร่ต่อในที่นี้ด้วยนะครับ

                               ยึดก็ผิด ติตก็หลง

                      เกิดมาก็อาศัยอยู่เนินกองดิน

                      ทำมาหากินบนกองงาน

                      ทำบุญสุนทานด้วยกองเงิน

                      ทุกขณะก็เดินสู่กองฟอน

                      ตายแล้วก็นอนในกองไฟ

                      เผาไหม้แล้วก็เหลือแต่กองกระดูก

                      เหลือแต่ ผิด กับ ถูก ที่ทิ้งไว้

                      บาป-บุญ ติดจิตไปในภาพหน้า.

เอวัง

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) ชาวหนองบัว และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ผมดูๆแล้ว ข้อมูล เรื่องราว และการนึกถึงสังคม ที่ทำให้พระคุณเจ้าอุตส่าห์พากเพียรบันทึกและถ่ายทอดไว้ในบล๊อกนี้ เป็นเหมือนหนังสือรวบรวมข้อมูล และความรู้ ของชุมชนหนองบัว หรือเป็นหนังสืออีเลคทรอนิค e-learning ไปแล้วละครับ ผมเลยขอช่วยทำให้น่าอ่านแล้วก็เอารูปมาช่วยเสริมให้คิดเป็นภาพ เพื่อให้ได้อรรถรสและความซาบซึ้งของการเข้ามาอ่านของคนที่สนใจในภายหลังไปด้วยเลยนะครับ
  • พระคุณเจ้าพูดถึงสวัสดิ์ คำประกอบ  ประเทือง คำประกอบ และวิจิตร แจ่มใสด้วย ตระกูลคำประกอบเป็นตระกูลนักการเมืองคู่กับนครสวรรค์มานมนานนะครับ
  • โดยเฉพาะลุงสวัสดิ์ คำประกอบนั้น ย้อนกลับไปช่วงสัก ๒๐-๓๐ ปีในยุคก่อน ๑๕ ปีที่ผ่านไปแล้วนี้ ผมว่าแทบจะไม่มีใครในหนองบัวและนครสวรรค์ไม่รู้จัก เกร็ดประวัติศาสตร์ที่เข้ามามีกิจกรรมกับชาวบ้านหนองบัวอย่างนี้ ก็น่าประทับใจดีครับ
  • ภาพถ่ายเหล่านี้ เป็นชุดภาพถ่ายที่ผมเก็บบันทึกเป็นข้อมูลไปด้วย แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งที่เตรียมเป็นงานเพื่อจัดแสดงภาพถ่ายของกลุ่มทำวิจัยชุมชน เป็นกิจกรรมทั้งทำงาน พาพวกน้องๆและลูกศิษย์พัฒนาวิธีถ่ายภาพและทำงานศิลปะเพื่อการวิจัยแบบบูรณาการครับ
  • ที่บ้านคลองมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนั้น เป็นแหล่งที่มีการทำนาบัวมากที่สุดในอำเภอพุทธมณฑล
  • ในอำเภอพุทธมณฑลนั้น เมื่อปี ๒๕๔๒ หากเทียบสัดส่วนของพื้นที่-ที่ดินแล้วต่ออำเภอ ก็เป็นอำเภอที่มีชาวนาบัวมากที่สุดของประเทศครับ (๗๘ ครอบครัว) 
  • ทว่า ผ่านมาอีก ๑๐ ปีคือในปี ๒๕๕๒ นี้แล้ว คงจะมีทั้งลดลงไปในบางพื้นที่ และขยายตัวในอัตราที่ลดลงในบางพื้นที่ ผมกำลังตระเวนไปถ่ายรูปไว้อีกเป็นรอบสิบปีเพื่อบันทึกสภาพการเปลี่ยนแปลงไว้ครับ
  • ที่นาบัว บ้านคลองมหาสวัสดิ์นั้น ชาวนาบัวและคนท้องถิ่น สามารถรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมล่องเรือชมสวนและเที่ยวนาบัว ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ชาวบ้าน ชาวนาบัว และผู้นำชุมชนหลายสาขา สามารถเป็นคนลุกขึ้นมาพูดความรู้เกี่ยวกับตนเองให้ผู้คนทั้งในและต่างประเทศได้มาสัมผัสและเรียนรู้กับคนรากหญ้า
  • เมื่อสอง-สามปีที่ผ่านมา  ก็ถึงกับได้ต้อนรับแขกของประเทศและพระราชอาคันตุกะ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้โดดเด่นของโลกในสาขาการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับรางวัลมหิดลบีบราวน์  จากมูลนิธิมหิดล
  • ลุงคนหนึ่ง เป็นเจ้าของสวนส้มโอ และเป็นผู้คิดค้นพัฒนาพันธุ์ส้มโอ ส้มโอของแกมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วประเทศ  
  • ทางรถไฟคู่ขนานที่เห็นเริ่มสร้างนั้น ก็นอนแน่นิ่งอยู่อย่างนั้น เนื่องจากไม่ได้สร้างให้ตลอดไปจนถึงเมืองที่เป็นเมืองเครือข่ายของกรุงเทพอย่างเช่นนครปฐม ราชบุรี หรือกาญจนบุรี
  • บางครั้งผมก็ลองหาโอกาสนั่งไปนครปฐม ดูสภาพชุมชนสองข้างทางและดูผู้คนบนรถไฟ ได้ความเป็นชีวิตอีกแบบและให้ความประทับใจเสมอครับ
  • ฟังดูพระคุณเจ้าพูดถึงสภาพชุมชนแล้ว ก็คิดว่าเป็นผู้รู้จักชุมชนอย่างใกล้ชิด จึงรู้สึกยินดีมากอย่างยิ่งครับ หากพระคุณเจ้าอยากทำสิ่งดีๆที่อำเภอหนองบัว ก็จะมีบทเรียนและตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงมากมายที่อำเภอพุทธมณฑลและบ้านคลองมหาสวัสดิ์นั่นแหละครับ ที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างของการที่ชาวบ้านจะเริ่มต้นคิดและทำสิ่งต่างๆกันเองได้เป็นอย่างดี
  • ปีหน้า ทางชุมชนกำลังมาชวนไปช่วยกันทำงานรำลึก ๑๕๐ ปี คลองมหาสวัสดิ์ด้วยกัน หากพระคุณเจ้าได้มีโอกาสผ่านไป ก็จะขอกราบคารวะครับ เขาจะร่วมมือกันทำทั้งอำเภอเลย  ส่วนหนึ่งก็ผ่านการใช้สภาวัฒนธรรมอำเภอเป็นเวทีครับ
  • ผมเคยไปขอนอนที่วัดในชุมชนศาลายาเหมือนกันครับ ส่วนหนึ่งก็อยากไปอยู่ในบรรยากาศของวัด และส่วนหนึ่งก็เนื่องจากมีนาบัวผืนใหญ่ติดอยู่กับกุฎีพระ ผมอยากรู้ว่า สภาพแวดล้อมกลางคืน เวลานอน และเวลาตื่นขึ้นมาสัมผัสกับนาบัว มันเป็นอย่างไร
  • บทกลอน ยึดก็ผิด ติดก็หลง ของหลวงตาแดงที่พระคุณเจ้านำมาถ่ายทอดไว้นั้น นอกจากให้การภาวนามากแล้ว ในแง่วิถีทรรศนะ  ก็สะท้อนวิธีคิดแบบกองธาตุอย่างที่ผมเคยแลกเปลี่ยนกับพระคุณเจ้าไว้ที่ไหนสักแห่งเลยละครับ
  • ความทั้งเป็นและไม่เป็น ทั้งเป็นความมีและความว่าง หรือ ตถตา อย่างนี้ มีหลักในพุทธธรรมด้วยครับ ซึ่งก็น่าแปลกที่ความลึกซึ้งอย่างนี้มักสะท้อนออกมาจากการตกผลึกชีวิต ไม่เพียงจากหลวงตาแดงอย่างนี้เท่านั้นครับ บางทีชาวบ้านทั่วไปของสังคมไทยและกลุ่มประทศในโลกตะวันออกก็มีครับ แม้ไม่มีการศีกษาสมัยใหม่มากนัก มันเหมือนกับบ่งบอกว่า การดำเนินชีวิตและสภาพแวดล้อมในถิ่นฐานหนึ่งๆ ก็เป็นหนทางเข้าถึงธรรมอันลึกซึ้งอย่างเดียวกันได้ของผู้คน
  • ความดีงามของชีวิตเลยเหมือนกับดอกบัวที่เป็นมรดกธรรมและบรรณาการต่อความชื่นชม-เชิดชูในชีวิต ของผู้ที่มาทีหลัง นอกจากสื่อสะท้อนบทกลอนหลวงตาแดงแล้ว ก็สะท้อนปัญญาธรรมจากเรื่องราวของหลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อเดิม และท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก รวมไปจนถึงชาวบ้าน ที่พระคุณเจ้านำเอาเรื่องราวจากแหล่งต่างๆมาสืบทอดไว้
  • แต่ชีวิตและการสร้างสิ่งต่างๆสะสมไว้ของชุมชน ก็เหมือนกับเม็ดบัวและฝักบัว ซึ่งรวบรวมสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความเป็นดอกบัวและพลังความเป็นชีวิตเข้าไปเป็นเมล็ดอ่อนแล้วก็ทำแพ๊คเกจ ทำหีบห่อเก็บรักษาอย่างดี เพื่อสืบทอดและส่งผ่านไปสู่อีกภพภูมิหนึ่ง ก่อเกิดความงอกงาม เคลื่อนไหว เป็นพลังความเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดยิ่ง
  • เลยนำเอาสองรูปนี้มาประกอบ ให้ผู้อ่านได้อารมณ์สมาธิและการภาวนาจากการอ่านครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิัรัตน์

  • ตอนเป็นเด็กจะได้ิยินพ่อเฒ่า-แม่เฒ่า พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ปู่-ย่า ตา-ยาย หรือป้า-น้า-ลุง พูดถึงสถานที่สำคัญ ๆ ในทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทอยู่บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ไ่ม่ได้ไปแต่ได้ยินได้ฟังจากคำบอกเล่าของผู้ที่ได้ไปไหว้มาแล้วก็มาบอกต่อทำให้จำได้และบ่งบอกว่ามีความประสงค์อยากจะไปไหว้สักครั้งหนึ่งในชีวิตก่อนที่จะตาย
  • หรือบางทีก็ปรารภเปรย ๆ ขึ้นมาให้ได้ยินในทำนองว่าชีวิตนี้คงไม่ได้ไปไหว้รอยพระบาทแล้วแหละ คือคงตายก่อนอะไรทำนองนี้
  • ตอนนั้นเราเป็นเด็กน่าจะเคยถามว่า แล้วรอยพระบาทเหล่านั้นอยู่ที่ไหน จังหวัดอะไร บางท่านก็ตอบได้บางท่านก็ตอบไม่ได้ คือส่วนใหญ่รู้จักชื่อแต่ก็ไม่สนใจว่าอยู่จังหวัดอะไรที่ไหนอย่างไร
  • แสดงว่ารอยพระบาทมีอิทธิพลทางด้านความเคารพศรัทธาเลื่อมใสความเชื่อถือมากถึงกับพูดว่าขอให้ได้ไไปหว้สักการะก่อนตายสักครั้งก็ยังดี
  • ทำไมคนยุคนั้นจึงมีความปรารถนาจะได้ไปไหว้รอยพระบาทและก็รู้จักหลายแห่งเสียด้วยในบริเวณรอบ ๆ ภาคเหนือตอนล่างนี้ เช่น พระแท่นศิลาอาสน์(จ.อุตรดิตถิ์)พระแท่นดงรัง(จ.กาญจนบุรี) พระพุทธบาท(จ.สระบุรี)
  • รอยพระบาทเหล่านี้สมัยเมื่อโยมอาจารย์วิรัตน์และอาตมานั้นต้องถือว่าไกลมาก ๆ ไกลสุด ๆ เลยแหละ
  • ที่เล่ามานี้ก็อยากจะบอกลูกหลานชาวหนองบัวในยุคปัจจุบันที่มีปู่ย่า ตายาย พ่อเฒ่ แม่เฒ่า พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ถ้าท่านเหล่านั้นชวนให้พาท่านไปไหว้รอยพระบาทที่กล่าวมานี้ ถ้ามีเวลามีโอกาสก็ให้รีบพาท่านไปไหว้ตามความปรารถนาของท่านเลยจะเป็นการดีมาก ๆ เราลูกหลานจะได้บุญกุศลได้ความเลื่อใสศรัทธาปสาทะเกิดขึ้นจากบุญจริยาแบบนี้
  • ถือว่าเป็นการกตัญญูต่อบุพพาการีอีกโสตหนึ่งเลยทีเดียว สมัยเมื่ออาตมาเป็นเด็กก็สี่สิบปีที่แล้ว ไปลำบากมากถึงมากที่สุด
  • แล้วอีกอย่างเงินทองก็ไม่ค่อยจะมีที่จะได้ใช้จ่ายเดินทางไกลขนาดข้ามจังหวัดเฉพาะกิจแบบนี้ ใจศรัทธาอยากไปอยู่ แต่ขัดสนทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ระยะทางไกลมากอีกด้วย
  • จะขอพูดแบบคนหนองบัว คนบ้านเดียวกัน(คล้ายเพลงฮิตนักร้องลูกทุ่งเลย) หลวงน้าขอเชิญชวนลูกหลานสมัยนี้ถ้ามีเวลามีโอกาสให้พาท่านไปไหว้รอยพระบาทกันได้เลย ระยะทางไกลเท่าเดิมแต่การเดินทางสะดวกรวดเร็วไปเช้าเย็นกลับก็ได้ เช่นสมัยนี้นักศึกษาเทียวไปเรียนต่างจังหวัดก็มี พิจิตรบ้าง พิษณุโลกบ้าง เหมือนยุคสมัยหลวงน้าไปนามาบ นาห้วยถั่ว นาดงยาง นาซับข้าวอะไรประมาณนั้น แต่หลวงน้าขี่คววยไปนา(เท่ดีนะจะบอกให้)
  • วันนี้นึกถึงพ่อเฒ่า แม่เฒ่า พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ปู่ย่า ตา ยาย ก็เลยเขียนเล่าสู่กันฟังอย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อนนะคุณโยม.
  • เดี่ยวมีโอกาสจะเล่าการไปไหว้พระพุทธบาทสระบุรีตอนเป็นเด็กไม่นานหรอก แค่สี่สิบปีที่ผ่่านนี่เอง เจอลิงลพบุรีที่ศาลพระกาฬเยอะแยะด้วย

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

มอญเคยอยู่ที่หนองบัว??  นครสวรรค์

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • วัดหนองกลับสร้างเมื่อ พ. ศ. ๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ ใครสร้างไม่ปรากฏประวัติ ทราบตามคำบอกเล่าว่าตรงที่สร้างวัดหนองกลับนี้ ในสมัยสงครามเวียงจันทร์เป็นที่ตั้งค่ายของชาวหนองบัว-หนองกลับ เพื่อป้องกันทัพเวียงจันทร์ที่ผ่านมา สำหรับชื่อวัดนั้นมีผู้เขียนไว้ว่าเดิมชื่อ “วัดประทุมคงคา” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดหงษ์” เพราะมีเสาหงษ์อยู่หน้าวัด ข้อความข้างบนนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ชุมชนหนองบัว
  • คืนนี้ก่อนนอนขอคุยเรื่องประวัติชุมชนหนองบัวกับโยมอาจารย์เกี่ยวกับชื่อและสัญลักษณ์ที่วัดหนองกลับ บริเวณวัดหนองกลับเคยเป็นที่ตั้งค่ายของคนหนองบัวเพื่อป้องกันทัพเวียงจันทร์สมัยนั้นกองทัพเวียงจันทร์ผ่านหนองบัว เมื่อผ่านหนองบัวแล้วมีคำถามว่าจะเดินทัพต่อไปที่ไหน? ไปพิษณุโลกหรือเปล่า? หรือไปที่ใด? เพราะมีบันทึกในหนังสือประวัติหลวงปู่อ๋อยว่า ทัพเวียงจันทร์ผ่านหนองบัวขอถามโยมอาจารย์วิรัตน์หรือนักประวัิติศาสตร์เป็นความรู้ประเด็นด้านประวัติศาสตร์ไว้ด้วยก็แล้วกัน
  • อาตมามองเห็นตรงนี้อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจขอท่านผู้รู้ช่วยวิสัชนา(ตอบ)ด้วย
  • อีกประเด็นหนึ่งชื่อและสัญลักษณ์คือวัดหนองกลับเคยมีชื่อว่าวัดหงษ์ เพราะมีเสาหงษ์อยู่หน้าวัด ก่อนจะเขียนบทความได้คุยกับคนอุตรดิตถ์อายุยี่สิบกว่าปีเองแต่สนใจประวัติศาสตร์บอกให้ฟังว่า วัดที่มีเสาหงษ์อยู่หน้าวัด ส่วนมากบริเวณนั้นน่าจะมีคนมอญอาศัยอยู่จำนวนพอสมควรหรือเป็นชุมชนก็ได้เพราะสามารถสร้างวัดและนำเสาหงษ์มาตั้งหน้าวัดได้
  • คนมอญอยู่ที่ี่ไหนจะสร้างศิลปะประจำวัดไว้ ๓ อย่างคือ
  • ๑.เสาหงษ์หน้าัวัด
  • ๒.พระพุทธรูปศิลปะมอญ 
  • ๓.วิหารทรงมอญ สามอย่างนี้เ้ป็นข้อสังเกตของเด็กหนุ่มชาวอุตรดิตถ์ ที่หนองบัวนั้นมีชื่อวัดและมีเสาหงษ์หน้าวัด ถ้าหนองบัวเคยมีคนมอญอาศัยอยู่แต่ทำไมจึงไม่มีสิ่งอื่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญหลงเหลือตกทอดไว้ในหนองบัวเลยแกตอบว่าอาจจะเป็นไปได้ว่า แพ้สงคราม อพยพหนีความแห้งแล้ง ย้ายถิ่นที่ทำกิน
  • คนมอญอาจจะอยู่ชั่วคราวแต่เมื่ออยู่่แล้วจะต้องมีสิ่งก่อสร้างเป็นที่ระลึกของกลุ่มชนของตนก็คือวัดที่หนองบัวทำได้ถึงขั้นมีเสาหงษ์หน้าัวัดและตั้งชื่อวัดด้วยก็แสดงว่่าชุมชนมอญที่นี่มีอิทธิพลมีพลังทางการปกครองอยู่ไม่น้อย
  • นี่คือประวัติศาสตร์สองบรรทัดที่มีบันทึกไว้ในชุมชนหนองบัวอาตมาว่าน่าจะมีะอะำำไรให้ค้นหาสืบเสาะได้อีกไม่น้อยเหมือนกันนะหนองบัวเรานี่

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

เช้าวันนี้ก่อนพระบิณฑบาตมีเรื่องสั้นมาฝากโยมอาจารย์เมื่อคืนก่อนมีหลวงตาแดง วันนี้เป็นเณรน้อยองค์หนึ่งดำเนินเรื่องเป็นผลงานการเขียนของคุณบัณฑิต ใจนวล จากนิตยสารธรรมจักร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่พิมพ์ปี ๒๕๔๕ ขออนุญาตผู้เขียนนำมาเผยแพร่ ดังต่อไปนี้

วิถีชาวพุทธ

“ตอน : ยานยนต์และหนทาง”

       “ค่ำคืนนี้หม่นหมองจัง ท้องฟ้าดูไม่แจ่มใสนัก นั่นไง แม้ดวงจันทร์ยังทอประกายแสงแสนเศร้า หมู่ดาวรอบข้างดูเริงร่าประดุจจะหัวเราะเยาะถากถางไม่น่า พระจันทร์เจ้าคิดมากไปเอง หมู่ดาวใช่หัวเราะร่าไม่ หมู่ดาวยังมีแววซึมเศร้าในสายตาอยู่.... สายลมหนาวบอกยังงั้น”

        พลิกกายลุกขึ้นมาดื่มน้ำ จำได้ว่าเป็นครั้งที่ ๒๑ แล้ว สำหรับคืนนี้ “ดื่กดื่นเที่ยงคืนยังไม่ยอมนอน มัวทำอะไรอยู่ ? ไม่เข้าใจตัวเองเลย” มโนสำนึกผุดขึ้นแทนที่ความคิดอันสับสนนั้น ก็ต่อเมื่อราตรีล่วงเลยไปแล้วถึงตอนตี ๒ “หยุดเฟ้อฝันบ้างได้ไหม ? “ ความคิดฝ่ายขยันเข้าครอบงำ “อ่านหรือแปลหนังสือบ้างดิ ”

      “ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้ธรรมจักษุด้วยการฟัง อนัตตลักขณสูตร ท่านสารีบุตรเถระ บรรลุอรหัตตผลด้วยได้ฟังเทศนาเวทนาปริคคหสูตร พระนันทเถระ บรรลุธรรมด้วยอุบายที่พระบรมศาสดา พาไปดูสตรีรูปงาม พระอานนทเถระเล่า ท่านได้สำเร็จพระอรหัตตผลในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จะว่าอิริยาบถใดก็ไม่ใช่ แต่อยู่ในท่ากำลังจะเอนตัวลงนอน ส่วนพระสีวลี ได้บรรลุมรรค-ผลตั้งแต่-เมื่อเวลาปลงผมเสร็จ…”

      “?...?...”

      “..ไปไหนเล่าไอ้ตัวดี ..กลับมาไอ้โจ๊กเกอร์แนะ ? ยังจะวิ่งไปอีก เห่าเขาทำไม? เห็นไหมนั่นนะ…? ..ฝนกำลังจะตก…เห็นไหม ? โห ? ว่าแล้วเปียกฝนจนได้ ว่าแล้ว” สะดุดลงแค่นั้นสำหรับความฝันตอนสายโด่ “เมื่อไรจะตื่น ?..” เสียงหลวงลุงข้างห้องโหกวเหวกดังลั่น “…อยากเจออีกขันใช่ไหม ? นี่จะ ๑๐ โมงครึ่งแล้ว ไม่ไปโรงเรียนหรืยงัย?? สุดเสียงนั้นสายของวารีแช่เย็นอันมีสัญฐานดุจดังสายฝนที่โหมกระหน่ำซัดไอ้หมาน้อยโจกเกอร์ในความฝันปริวว่อนทั่วเตียงนอนกระสานซ่านเซนไปกระทบผนังห้องดัง “ซ่า” จำเป็นละต้องผลุนผันลุกขึ้นเก็บหนังสือใส่ยาม รัดอกห่มดองไปโรงเรียน ลืมแม้กระทั่งอาหารเช้าและการล้างหน้า

       บนถนนสายเล็ก ๆ สองสาย ประมาณอายุของมันคงไม่เกิน ๒ ปีมานี้แน่ จำได้ว่าเมื่อก่อนมันเป็นเพียงถนนลูกรังที่น่ารักสายหนึ่งเท่านั้น ข้างทางด้านขวามือคือต้นไม้ใหญ่ที่เมื่อฤดูร้อนมันมักออกดอกเป็นสีแดงสด แม่ค้าขนมจีนชอบเอาดอกที่มันได้ผลิแล้วมาทำเป็นน้ำยา (ต้นอะไรเอ่ย ?) ส่วนฝั่งซ้ายมือคือคลองชลประทานสายเล็ก ๆ ที่มีน้ำไหลเอื่อย ๆ บ้าง ไม่เอื่อยบ้างตลอดปี ถนนลูกรังสายนั้นถูกแทนที่ด้วยถนนคอนกรีตอย่างดีในเวลาต่อมา แต่กระนั้นก็ตามสภาพของมันก็คงขรุขระไม่ต่างจากเมื่อก่อนนัก (งบก่อสร้างคงแพงใช่เล่นละสิ ? ) เณรน้อยวัย ๑๕ หน้าตาบูดเบี้ยวเดินย่ำดุ่ย ๆ มาบนถนนสายนั้น “พระภิกษุในพุทธศาสนาบรรลุมรรคผลได้หลายทาง..” เข้าใจว่าคงยังไม่ตื่นจากภวังค์ดีนักจึงได้เก็บเรื่องราวที่ได้ค้นพบตอนก่อนหลับไหลมาขบคิดอีกรอบ “….ใช่ ? เข้าถึงธรรมได้หลายทาง” ๒ เท้ายังคงเดินต่อไปบนถนนสายนั้นอันมีความยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร เหงื่อกาฬเริ่มไหลย้อยบ้างเพราะความร้อนของพระสุริยะยามสาย แต่จิตหาใส่ใจไม่ “ อือ ? ถ้าจะเปรียบเทียบ จะเปรียบได้กับอะไรน้า ? “เณรน้อยรำพึงกับตัวเองเบา ๆ ท่าทางครุ่นคิหนัก “อ้อ..คิด ออกแล้ว คงเปรียบเทียบได้กับการที่เราตั้งใจจะเดินทางไปประตูเชียงใหม่ จากหน้าโรงเรียนดอนปินนี้อันว่ารถยนต์ที่มีอย่างมากมายนั้น เราไม่จำเป็นต้องอาศัยรถเหลืองเพื่อเข้าไปถึงประตูเชียงใหม่ได้แต่ประการเดียว แต่เราสามารถอาศัยรถแดง รถเก๋ง รถกระบะ รถสิบล้อ รถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้กระทั่ง ๒ เท้าตัวเอง พาร่างกายนี้ไปถึงจุดหมายได้ ฉันใดก็คงจะเหมือนเช่นกันหรืออย่างไร ? “เณรน้อยกระหยิ่มยิ้มย่องกับคติธรรมใหม่ที่ค้นพบ “ก็คงดุจดังกัน การที่จะบรรลุถึงความรักอันสวยงามกับหญิงใดสักคนได้ – หญิงนั้นไม่จำเป็นต้องใช่ น้องแอน น้องแนน น้องกิ๊กส์ น้องอาย หรือแม้กระทั้งน้องนาย ฉันนั้นแน่แท้หึ ๆ “รอยยิ้มจาง ๆ ปรากฏที่มุมปาก หน้าตาดูสดใสขึ้นเล็กน้อยทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงจะมาจากความคิดอันโลดแล่นแต่เช้าเป็นแน่ ๒ เท้ายังย่ำต่อไปอีก ๕ ก้าวก็จะถึงถนนไฮเวย์สายหลักแล้ว

       แสงตะวันยังเปรี้ยงป้างเช่นเคย แต่ดูเหมือนจะทวีความร้อนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดรถรายังวิ่งกันอย่างขวักไขว่เช่นเคย เณรน้อยเดินมาหยุดรอตรงฝั่งถนนด้วยอาการสงบเยือกเย็น

       มอเตอร์ไซค์ผ่านไป สิบล้อผ่านไป รถเก๋งคันแพงผ่านไป รถเมล์ดอยเต่าเชียงใหม่ผ่านไป รถเหลืองไม่จอด กระบะไปอีก สามล้อมผ่านไป ซาเล้งผ่านไป รถเหลือง ? ว้าคนเต็มผ่านไป เก๋งผ่านไป รถแดง ผ่านไป รถโรงพยาบาลผ่านไป รถแดง เปิดไฟสูงวูบวาบผ่านไป ๑๐ นาทีผ่านไป

       “ร้อนก็ร้อน” เณรน้อยเริ่มบ่นอุบอิบ 

        มอเตอร์ไซค์ผ่านไปพร้อมรอยยิ้มของคนขับ รถเมล์ดอยเต่า-เชียงใหม่ผ่านไปพร้อมรอยยิ้มผู้โดยสาร สามล้อผ่านไปพร้อมรอยยิ้มของคนขับ รถเหลือง ว้าคนเต็มผ่านไปพร้อมรอยยิ้มของคนขับ รถแดง ผ่านไปพร้อมรอยยิ้มของคนขับ รถโรงพยาบาลผ่านไปพร้อมรอยยิ้มของผู้ป่วย ๓๒ นาทีผ่านไป 

        ยิ้มละไมกันทุกคนเชียวนะ มีความสุขละสิ เยาะเย้ยใช่ไหม ? อย่าให้มีบ้างละกัน” เณรน้อยเริ่มกัดฟันแน่น เหงื่อเม็ดเท่านิ้วก้อยเริ่มผุด

        ฯลฯ รถเหลือง ? คนขับโบกมือบาย ๆ รถแดง? จอดแล้ว “วัดสวนดอก? สั่นหัว เบ้หน้า ตะบึงรถไปอย่างเร็วไว “อะไรว้า ?” เณรน้อยส่ายหัวอย่างสับสน รถแดง อีกคัน “สวนดอก ” “คนเดียว - ๒๐” ไร้คำตอบ เณรน้อยกลืนน้ำลายลงคอดัง “เอือก ” มันก็ผ่านไป ๕๗ นาทีผ่านไป

                “จันทร์เจ้าขาขอข้าวขอแกง

                   ขอรถสีแดง ๆ ให้ฉันได้ขี่

                   ขอมีที่ให้ฉันได้นั่ง

                   ขอมันผลั่งไปส่งฉันไว

                   ขอครูใหญ่โปรดใจอาดูร

                   โปรดเกื้ออกูลอย่าดุนักเลย

                    รอเฉย ๆ ไม่ว่าอะไร ?

                   นี่ ร้อนบรรลัย อยากร้องไห้จัง”

       พยายามเสาะหาบทกลอนเพื่อปลอบประโลมใจอันเต็มไปด้วยความคับแค้นน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดขึ้นนี้ แต่กระนั้นเถอะ แสงพระสุรีย์ไม่เคยปราณีแก่หัวใจดวงน้อย ๆ นี้เลย มันเผาไหม้จนร้อนระอุ บทกลอนที่พยายามจะแต่งให้ดูน่าขำกับขำไม่ออก ไม่มีรถคันไหนจอดรับหรือจอดถามเลย คงผ่านไปและก็ผ่านไป การรอคอยกับหยดน้ำตาไฉนจึงรักกันมากปานปลาท่องโก๋คู่กับกาแฟยามเมื่อน้ำเต้าหู้ไร้ความหมายอะไรยังงี้ “ การถึงประตูเชียงใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ..คงพอ ๆ กับความสมหวังกับใครสักคนก็เป็นเรื่องยากดั่งกัน” เณรน้อยชักท้อ

        ตะวันโบยบินลัดฟ้า โชยแสงสะรั่วพร่าดูอ่อนโยน เณรน้อยเดินย่ำต๊อก ๆ ด้วยอาการเนือย ๆ พ้นประตูโรงเรียนออกมา หยุดรอ

         มอเตอร์ไซค์ผ่านไป สิบล้อผ่านไป รถเก๋งคันแพงผ่านไป ฯลฯ รถโรงพยาบาลผ่านไป รถแดง เปิดไฟสูงวูบวาบผ่านไป ตะวันลัดฟ้าผ่านไป

         เณรน้อยค้นพบคติธรรมอย่างใหม่ “ สำหรับพุทธศาสนิกชนแล้ว วิถีชีวิตและการเดินทางบนท้องถนน คงไม่มีใครให้เณรน้อยเช่นเรา ร่วมเดินทางไปด้วยเป็นแน่ ??”

บัณฑิต ใจนวล.(๒๕๔๔-๒๕๔๕). วิถีชาวพุทธ “ตอน : ยานยนต์และหนทาง”. ธรรมจักร, ๒(๕),๔๗-๔๙.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และทุกท่าน

  • เห็นด้วยกับที่พระคุณเจ้าพูดถึงครับ อย่าว่าแต่คนเฒ่าคนแก่รุ่นก่อนๆเลย ผมเองก็มีจินตนาการเกี่ยว'พระพุทธบาท'และ'บ้านล่าง' (แถวบ้านผมจะเรียกสระบุรีและลพบุรีว่าบ้านล่าง) ฝังแน่นอยู่ในหัว จนรู้สึกราวกับเป็นสิ่งที่อยู่ในอุดมคติของชีวิตอย่างหนึ่งเลย บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเกิดขึ้นจากการรับรู้ทางไหน พระแท่นศิลาอาสน์และพระแท่นดงรังก็เหมือนกันครับ
  • โดยสำนึกของลูกหลานคนทำไร่ทำนาและคนที่อยู่ในชนบทร่วมกันเป็นเครือญาติ ก็มักมีวิธีคิดเป็นหลักชีวิตอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับที่พระคุณเจ้าว่า คือ แรงใจในการทุ่มเททำมาหากินและขยันขันแข็งต่อการทำงานอย่างหนึ่ง คือ มักมีความหวังกันไว้อยู่เสมอว่า ต้องเก็บเงินให้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย-ผู้แก่ผู้เฒ่าได้ไปไหว้พระพุทธบาทและได้ทำบุญทอดกฐินผ้าป่าให้กับวัดบ้านเกิดเมืองนอน เลยก็ทำให้ขยันขันแข็งและมีหลักชีวิตที่อิงอยู่กับการตอบแทนพระคุณบุพการีและการบำรุงความเป็นส่วนรวมที่ตนเองเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติ
  • ผมว่าเป็นสำนึกและคุณธรรมทั้งต่อผู้อื่นและต่อส่วนรวม ซึ่งให้ผลดีต่อตนเองด้วย ที่ได้มาจากการเรียนรู้ทางสังคมอย่างหนึ่งเลยนะครับ
  • ผมถือคติอย่างนี้เหมือนกันครับ นอกจากพระพุทธบาทสระบุรีและทอดกฐินผ้าป่าที่พ่อแม่และญาติผู้เฒ่าผู้แก่บ้านผมได้ไปกันหมดในรุ่นก่อนแล้ว ก็เคยคิดว่าสักวันจะขอพาคนแก่เฒ่าและญาติๆที่ไม่ค่อยได้ไปไกลจากหมู่บ้าน ไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพและวัดเก่าแก่ต่างๆ ที่เชียงใหม่ รวมทั้งได้ไปเห็นผู้คน ได้กินอาหารและเห็นของแปลกๆของเมืองเหนือ แล้วปีหนึ่งก็ได้ไปอย่างที่หวังไว้ครับ
  • ใครไม่เคยฝ่าความยุ่งยากกระทั่งได้เห็นตอนที่คนเฒ่าคนแก่จบมือน้อมตนกราบพระ แล้วนั่งมองพระเหมือนหลุดพ้นสิ่งต่างๆโดยพลันในปัจจุบันขณะนั้น ยากที่จะเข้าใจครับว่าทำไมคนเขามีจุดหมายลึกๆอย่างนี้ผูกโยงกันไว้ด้วย
  • เรื่องเสาหงษ์หน้าวัดหนองบัวและข้อสังเกต-ข้อปุจฉาเกี่ยวกับชาวมอญกับการเดินทัพของเวียงจันทร์ผ่านหนองบัวในอดีตนั้น ผมไม่มีเอกสารและหลักฐานอะไรอยู่ในมือเลยครับ เป็นเรื่องที่เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกันครับ ตอนนี้ก็เลยเห็นจะปุจฉาแบบคิดเอายังไม่ได้ครับ
  • ประทับใจการบรรลุอรหันต์ของพระอานนท์มากเลยนะครับ อย่างนี้ต้องเรียกว่าทุกอย่างก็มักมีข้อยกเว้น คือ นอกจากการยืน เดิน นั่ง นอน แล้ว ใครจะคิดไปถึงได้อีกนะครับว่าจะมีท่าที่ไม่ใช่ทั้ง ๔ นี้อีก คืออยู่ระหว่างอาการเคลื่อนไหวและล้มตัวนอนลง แล้วก็บรรลุอรหันต์เลย
  • ยิ่งไปกว่านั้น ท่านบรรลุธรรมช้ามากกว่าเพื่อน ทั้งที่ปัญญากร้าแข็ง ได้ปฏิบัติใกล้ชิดพระพุทธองค์ และมีความรู้มากที่สุดรองๆจากพระพุทธองค์เท่านั้น
  • ขณะเดียวกัน องค์อื่นๆมักได้บรรลุธรรมเมื่อได้สดับธรรมะจากพระพุทธองค์ซึ่งแต่ละองค์ก็ได้ปริศนาธรรมไม่เหมือนกันเลย เป็นไปตามเงื่อนไขความเป็นปัจจัตตัง ทว่า พระอานนท์ซึ่งได้สดับธรรมและเคร่งครัดต่อตนเองมากมาย แต่ก็ไม่ได้บรรลุอรหันต์ กลับเกิดบรรลุธรรมในอาการที่ผ่อนคลายออกจากสิ่งที่รู้ รวมทั้งไม่อยู่ในอาการใดๆอีกด้วย
  • หากเป็นเรื่องแต่ง มองในแง่การผูกเรื่อง ก็นับว่าแยบคายและฉลาดอย่างที่สุดครับ เนื่องจากพระอานนท์เป็นพระญาติและวงศ์กษัตริย์ อีกทั้งมีบทบาท มีคุณธรรม สมบูรณ์พร้อมและยิ่งใหญ่ หากทำให้เหมือนกับองค์อรหันต์อื่นๆก็ลดฐานะท่าน
  • ครั้นจะทำให้สมกับที่บรรลุธรรมอย่างไม่ขึ้นต่อการสดับธรรมจากพระพุทธองค์ ก็จะกลายเป็นการตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองเสมอพระพุทธเจ้า ซึ่งก็ไม่ใช่อีก 
  • การที่ไม่อยู่ในอาการใดๆเลยอีกทั้งเกิดขึ้นหลังจากคลายออกจากสิ่งที่ได้รับการสอนธรรมมากมายจากพระพุทธเจ้า เลยเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงต่อพระอานนท์ พระพุทธองค์ และอรหันต์องค์อื่นๆ น่าประทับใจจิรงๆครับ
  • เรื่องสั้นคติธรรมที่พระคุณเจ้านำมาถ่ายทอดต่อนั้น ก็อ่านกำลังเพลินครับ ผมคลับคล้ายคลับคราว่าเคยไปเป็นวิทยากรและจัดกระบวนการเพื่อเรียนรู้และฝึกฝนการวิจัยชุมชนถวายเครือข่ายพระนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ที่เชียงใหม่นะครับ ดูเหมือนว่าจะชื่อเครือข่ายศูนย์โพธิยาลัยหรืออย่างไรนี้แหละครับ
  • เรื่องสั้นที่จบลงแล้วให้ผู้อ่านตั้งคำถามและคิดต่อ เพื่อผสมผสานงานศิลปวรณกรรมกับการเรียนรู้ธรรมอย่างนี้ เป็นวิธีการที่น่าสนใจและคุณบัณฑิต ใจนวลก็ทำได้ดีมากเลยนะครับ
  • การจบแบบปลายเปิดนั้น มันเหมือนกับนิทานที่ไม่ต้องจบแบบได้ข้อสรุปแบบผูกขาดว่า...นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า.....ก็ได้  แต่จบโดยที่แต่ละคน ต่างก็สามารถสรุปเป็นหลักคิดขึ้นมาได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง เป็นวิธีที่ดีได้เหมือนกันครับ
  • อย่างกรณีนี้ การได้บทสรุปแก่ตนเอง ทั้งเข้าในสถานการณ์และเข้าใจตนเองของเณรน้อย ซึ่งเหมือนกันพุ่งไปที่จะไม่ได้เดินทางร่วมไปกับคนอื่นนั้น เณรน้อยกลับรรลุธรรมในตน หยุดเดินทางภายนอก แล้วได้เดินทางเข้าสู่ภายในตนเอง โดยที่ไม่ต้องคิดว่าสิ่งที่ไม่ได้อย่างที่มุ่งหวังนั้นเป็นความน่าเสียใจและผิดหวัง เนื่องจากแท้จริงแล้ว กลับได้เข้าใจตนเองและเห็นความเป็นจริงของสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น 
  • เป็นการได้ไปโรงเรียนอีกทางหนึ่งนะครับ จึงดีแล้วครับที่ไม่มีรถให้ขึ้นไปโรงเรียนจนทำให้มีเวลาสำหรับปรารภธรรมในตนโดยมีความยากลำบากที่ได้เจอเป็นครู

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

มีภาพคั่นพักสายตาอีกรูปหนึ่งก็แล้วกันนะครับ เข้ากับเรื่องทั้งเป็นและไม่เป็นอาการใดๆเลยของบทเรียนการบรรลุอรหันต์ของพระอานนท์พอดี

เป็นภาพประหลาดสำหรับผมครับ เนื่องจาก เป็นกลุ่มนก ๔ ตัวที่กอปรไปด้วยความเป็นเอกภาพของความแตกต่าง ๓ ตัวเป็นนกเอี้ยงดำ(ขาว) และอีก ๑ เป็นนกกางเขน ซึ่งมารวมกลุ่มหากินกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

                       

หากมองออกไปจากการรับรู้ของเราเองแล้ว นกเอี้ยงดำนั้น ความจริงแล้วเป็นทั้งสีดำและสีขาว ส่วนนกกางเขนก็เช่นกัน ทั้งดำ ขาว และขนอกสีเทา  จึงกลายเป็นว่า มีทั้งความเป็นและไม่เป็นอยู่ในตัวเอง มันเป็นอย่างที่มันเป็น แปลกและให้ข้อคิดดีดีจริงๆครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

       คนเก่าคนแก่ในหนองบัวนั้นอาจารย์นุช  เจริญสุขถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะที่ชาวบ้านรู้จักและนับถือท่านในฐานะเป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถมากผู้หนึ่งทั้งในฐานะครูบาอาจารย์และเป็นคนวัดคนวาท่านหนึ่งเพราะบั้นปลายชีวิตท่านมาช่วยเป็นโฆษกประชาสัมพันธ์ประจำหน้าวิหารหลวงพ่อเดิมวัดหนองกลับ ทุกเช้าจะได้ยินเสียงท่านกล่าวบทกลอนบ้าง ขับเสภาทำนองเสนาะบ้างอยู่ทุกวันท่านเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนพูดจาไพเราะจับใจคนฟัง พูดธรรมะเป็นกลอนเวลาพูดบนศาลาการเปรียญวัดหนองกลับคนเต็มศาลาชาวบ้านจะตั้งใจฟังท่านกันอย่างดี ที่ท่านรอบรู้ธรรมะดีก็คงเนื่องด้วยว่าท่านเป็นนักบวชเก่ามาก่อน ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า ครูนุช วันนี้จะขอนำบทกลอนของท่านในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่อ๋อยมาเผยแพร่สักวันดังนี้

คติเตือนใจ

โดย อาจารย์นุช   เจริญสุข

เรื่องเกิดแก่เจ็บตายไม่วายวัน        ต่างพากันลี้ลับกลับเมืองผี

องค์นักบวชพระเถรหรือเณรชี        ไม่เห็นมีเหลือหลงสักองค์เลย

อีกราชาจักรพรรดิกษัตริย์ราช         หมู่อำมาตย์ราชเสนาเจ้าข้าเอ๋ย

จะมีจนคนใดไม่ละเลย                ไม่เห็นเคยผ่านพ้นจากคนตาย

หมู่สัตว์โลกน้อยใหญ่ที่ไหนนั่น      ครั้นถึงคราวต้องแยกแตกทลาย

ธาตุสลายตายแน่ไม่แปรปรวน       จะแตกต่างกันบ้างเป็นทางแจ้ง

ตอนตำแหน่งเกิดตายให้สืบสาน      จะตายเร็วหรือช้าน่าทบทวน

ตามขบวนกำหนดปรากฏกาล          จะหนีไปอยู่ไหนก็ไม่พ้น

ถ้าเวียนยนแหวกว่ายในสงสาร         แม้อยู่ตึกวังโตมโหฬาร

เมื่อถึงกาลวอดวายตายทุกคน        เรื่องความตายใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งใด

จะหนีไปอยู่ไหนก็ไร้ผล                 ตายเป็นตายยอมตายวายกังวล

เมื่อเราตายเราได้อะไรมั่ง              ทิ้งความหลังไว้ให้ได้สร้างสรรค์

ดีหรือชั่วเท่านั้นหมั่นตรึกตรอง         ถ้าทำดีย่อมมีคนสรรเสริญ

เป็นทางเดินพ้นชั่วไม่มัวหมอง         คนเคารพบูชาค่าเนืองนอง

ต่างมุ่งมองเดมอย่างในทางดี          ถ้าทำชั่วแม้ตัวจะตายจาก

ไปสู่กรรมลำบากมากเมืองผี            ตัวจะถูกนินทาทั้งตาปี

ชั่วและดีจะอยู่คู่โลกา                    รวมย่นย่อแต่พอเป็นข้อคิด

มีถูกผิดชั่วดีเท่านี้หนา                   ก่อนจะทำอะไรใช้ปัญญา

แสวงหาความดีเท่านี้เอย.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • คุณครูนุช เจริญสุข เป็นคนเก่าแก่ของหนองบัวอีกท่านหนึ่งที่รุ่นผมก็ทันครับ คนหนองบัวหลายรุ่นเป็นลูกศิษย์ลูกหา และเคารพรักท่านเหมือนกับเป็นญาติผู้ใหญ่ แต่ว่าท่านยังอยู่หรือครับ ป่านนี้คงอายุกว่าร้อยปีแล้วกระมังครับ
  • คนเก่าแก่ของหนองบัว ที่บวชเรียน รวมทั้งเป็นครูอาจารย์ และเป็นผู้นำด้านการศึกษา แล้วก็มักเป็นเจ้าพิธีและเป็นผู้นำกิจกรรมพัฒนาด้านจิตใจด้วยนั้น ดูเหมือนว่าจะมีหลายคนเหมือนกันนะครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขออภัยด้วยที่ไม่ได้บอกโยมอาจารย์ว่า่ท่านอาจารย์นุช เจริญสุขได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

จะขอนำเสนอประวัติวัดหนองกลับต่อจากคราวก่อนเพราะยังมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับลำดับเจ้าอาวาสและด้านสาธารณะประโยชน์ดังนี้

ลำดับเจ้าอาวาสผู้ครองวัด

วัดหนองกลับมีลำดับเจ้าอาวาสดังนี้

  • ฐานะวัดเป็นพัมธสีมา  สร้างเมื่อ พ.ศ.  ๒๓๖๓ 
  • พ.ศ. ๒๓๖๓ - ๒๔๐๐ ไม่ปรากฏใครเป็นเจ้าอาวาส
  • พ.ศ. ๒๔๑๐- ๒๔๕๐ พระอาจารย์เนียม
  • พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๖๐ ว่างเจ้าอาวาส แต่มีพระอาวุโสปกครองอยู่รูปละปี ๒ ปี
  • พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๕๑๗ พระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัว
  • พ.ศ. ๒๕๑๗ - ปัจจุบัน พระอธิการไกร ฐานิสฺสโร (พระครูวาปีปทุมรักษ์-พระครูไกร)เป็นเจ้าอาวาส
  • พ.ศ. ๒๕๒๐ พระครูวาปีปทุมรักษ์ (พระครูไกร) เป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบัว-ปัจจุบัน
  • ตามบันทึกที่มีอยู่ตอนนี้ คือหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่อ๋อย ปี พ.ศ. ๒๕๓๒
  • วัดหนองกลับได้บริจาคที่ดินเพื่อสาธารณะประโยชน์ต่อส่วนรวมดังนี้
  • ๑. ด้านสาธารณะประโยชน์ ทางวัดได้แบ่งที่ดินให้ทางราชการตั้งโรงเรียนประชาบาล(โรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม-อนุบาลหนองบัว)ขึ้น ๑ หลัง มีอาคารเรียน ๕ หลัง  นักเรียนประมาณ  ๑,๓๐๐  คน   ครู  ๕๗  คน ภารโรง  ๒ คน

    ๒.  ทางวัดขุดสระน้ำขึ้นในที่ดินของวัด ๒ ลูก  เนื้อที่ประมาณ  ๒๐  ไร่ เพื่อให้ประชาชนได้บริโภค

    ๓.  ให้ทางราชการใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่คัดเลือกทหารเป็นประจำทุกปีตลอดมา

  •  การขุดสระน้ำที่ดินวัด ๒๐ ไร่ คงเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่งในอำเภอหนองบัวของวัดหนองกลับเคยนึกอยู่เหมือนกันว่าเขาทำกันอย่างไรเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา คงจะต้องหาข้อมูลส่วนนี้มาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

หลวงพ่ิอจรัญพบท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก

เจริญพรโยมอาจารย์วัรัตน์

วันนี้อาตมาภาพได้พบบันทึกหลวงพ่อจรัญ (พระธรรมสิงหบุราจารย์) วัดอัมพวัน สิงห์บุรี ท่านได้บันทึกไว้ในประวัติส่วนตัวของท่านเมื่อตอนไปอยู่กับหลวงพ่อเดิมและได้พบกับท่านเจ้าคุณพระเทพสิิทธินายกซึ่งนับเป็นเอกสารชิ้นแรกที่อาตมาพบในรูปบันทึกที่เป็นคำพูดของท่านเจ้่าคุณพระเทพสิทธินายกเป็นบันทึกสั้น ๆ ซึ่งหลวงพ่อจรัญได้บันทึกไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกดังนี้

  • ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ อาตมาอยู่กับหลวงพ่อเดิมจนวาระสุดท้าย หลวงพ่อเดิมท่านก็ให้ลูกหลานช่วยแต่งจีวรครองให้ท่านให้รัดกุม แล้วท่านก็หลับตา มือสองข้างพนมไว้ที่หน้าอก ปากสวดพร่ำภาวนาคาถาและเจริญกสิณของท่านไปเพียงไม่นาน เมฆฝนก็ก่อตัวขึ้นดำมืดไปหมด แล้วก็ตกลงมาอย่างหนักจนน้ำไหลลงสระถึงค่อนสระจึงขาดเม็ด และเมื่อฝนขาดเม็ด หลวงพ่อเดิมท่านก็ขาดใจเหมือนสายฝน
  • อาตมารู้ว่าหลวงพ่อสิ้นเมื่อได้ยินเสียงลูกหลานหลวงพ่อที่อยู่ด้านในห้องร้องไห้ และออกมาร้องบอกคนข้างนอกว่า หลวงพ่อเดิมท่านมรณภาพแล้ว ให้ตีกลองและระฆังเป็นสัญญาณ อาตมารู้สึกใจหาย แม้จะเป็นศิษย์เพียงหกเดือนสุดท้าย แต่อาตมาได้รับสมบัติตกทอดจากหลวงพ่อเดิมอย่างมหาศาล คือ กสิณ และความเป็นพระมาจนทุกวันนี้ ถ้าไม่ได้หลวงพ่อเดิม ป่านนี้อาตมาก็คงไม่ได้มาเล่าเรื่องนี้ทั้งที่ครองผ้าเหลืองหรอกนะ
  • อาตมาอยู่ช่วยงานศพหลวงพ่อเดิมตลอดเจ็ดวันเจ็ดคืนที่มีการตั้งศพหลวงพ่อเพื่อสวดพระอภิธรรม ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก (เดิมเป็นมหาห้อง) เจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานจัดงานศพ เพราะเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อเดิมอย่างยิ่ง ตอนนั้นอาตมาได้เข้าใกล้ชิดท่าน เพราะท่านเคยมาเยี่ยมหลวงพ่อเดิม และหลวงพ่อเดิมก็คงจะบอกกับท่านว่า พระจรัญรูปนั้นเขาจะสึกไปเป็นฆราวาสแล้วท่านยับยั้งเอาไว้ พอว่างแขกท่านก็เรียกอาตมาเข้าไป อาตมาก็เข้าไปกราบท่านพูดว่า

 “เธอใช่ไหมชื่อ จรัญ มาจากพรหมบุรี”

“ขอรับกระผม หลวงพ่อบอกกับพระคุณท่านหรือขอรับ”

“นี่เธอฟังฉันนะ ฟังให้ดี ๆ เธอเคารพหลวงพ่อเดิมหรือเปล่า”

“ขอรับ กระผมเคารพขอรับ”

“ดีแล้วฉันจะบอกกับเธอตรงนี้โดยไม่ปิดบังว่า ฉันเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ฉันนี่แหละคือศิษย์ของหลวงพ่อเดิมองค์หนึ่ง ได้ดีมาทุกวันนี้ก็ด้วยบารมีหลวงพ่อเดิมนี่แหละ เธอเป็นศิษย์ที่หลวงพ่อเลือกสรรแล้ว” อาตมาก็งงนอกจากเจ้าคณะจังหวัดจะเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิมแล้ว จึงเรียนถามเจ้าคณะจังหวัดไปตามประสาซื่อว่า

“กระผมไม่เข้าใจขอรับว่าทำไมพระคุณท่านจึงว่า หลวงพ่อเดิมเลือกสรรกระผมแล้ว”

“เธอฟังฉันให้ดี ๆ นะ วิชาคชศาสตร์นี้ไม่ว่าฆราวาสหรือสงฆ์ในหรือนอกบ้านหนองโพ หลวงพ่อเดิมไม่เคยถ่ายทอดให้ แต่คุณคนเดียวนี่แหละที่หลวงพ่อมอบให้ จึงนับเป็นวาสนาบารมีของคุณโดยแท้ มีผู้มาขอเรียนกับหลวงพ่อเดิมตรง ๆ แต่หลวงพ่อเดิมก็ได้แต่หัวเราะ อย่างเก่งก็บอกว่า รอไปก่อนนะ ยังไม่ถึงเวลาจนแล้วจนรอด หลวงพ่อท่านก็ไม่พูดถึง เป็นอันว่าไม่ได้เรียน”

ขอเจริญพร

พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • สระน้ำวัดหนองกลับนี่ ๒๐ ไร่ทีเดียวเลยหรือครับ ผมรู้สึกเพียงแต่ว่ามันใหญ่มาก แต่ไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่เท่าไหร่ เมื่อก่อนนี้ เป็นแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคทั้งชุมชนรอบๆวัดหนองกลับ ไกลออกไปนิดหนึ่งก็ใช้เกาะลอย ส่วนชุมชนวัดเทพสุทธาวาสก็จะมีสระน้ำของวัดอีกแห่งเหมือนกัน เมื่อตอนรุ่นพวกผมอยู่ที่โรงเรียนหนองคอก ทั้งทางอำเภอ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ก็พยายามไปทำแหล่งน้ำสำหรับชาวหนองบัวขนาดใหญ่อกแห่งหนึ่งที่หนองคอก ใหญ่จนแทบจะเรียกว่าเป็นแอ่งน้ำเลย แต่ที่นั้นน้ำขุ่นตลอด 
  • ผมได้เรียนรู้ไปด้วยครับว่า คนเมื่อก่อนนี้เขาสร้างคน และมีความเป็นครูเป็นศิษย์กัน มีคุณธรรมการดูแลกันให้เติบโตงอกงาม ทั้งผ่านการอบรมสั่งสอน การถ่ายทอดเคล็ดวิชา การขัดเกลาคุณธรรมและความเป็นคนดี การพาทำและอยู่ด้วยกันพื่อซึมซับจากการครูพักลักจำให้สิ่งที่ได้มีความเป็นตัวของตัวเอง 
  • หัวข้อนี้ของพระคุณเจ้ามีคนเข้ามาอ่านเยอะมากเลยนะครับ ขออนุโมทนาในการทำทานด้วยปัญญาในครั้งนี้อย่างยิ่งครับ ยิ่งไปกว่านั้น การเขียนเรื่องที่โดยตัวเนื้อหาแล้ว เป็นเรื่องของคนดี และมีเนื้อหาที่กล่อมเกลาและบ่มเพาะสิ่งดี ทุกตัวอักษรและถ้อยความที่พิมพ์ลงในนี้ จึงเป็นความดี ความงดงามลึกซึ้งที่ไหลผ่านการคิดและการได้อยู่ในอารมณ์แห่งความดีงามของผู้ได้ทำไปด้วย ทั้งผู้ทำปัญญาทานและผู้ได้รับจึงต่างก่อเกิดสิ่งดีขึ้นแก่ตนเองไปด้วยกัน เลยขออนุโมทนากับทุกคนเลยครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • นับแต่ได้เจอโยมอาจารย์วิรัตน์เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ถึงวันนี้เป็นเวลาได้สองเดือนเศษ ๆ ได้ความรู้ได้ปัญญาได้มุมมองได้เรียนรู้ชุมชนทั้งหนองบัวนอกหนองบัวหรือชุมชนนานาชาติอย่างมากมาย ทั้งหมดนี้ขอมอบเป็นปัตตานุโมทนามัยกุศลจริยา(ความมีปัญญา,ความฉลาด-กุศล,ความใฝ่รู้สร้างสรรค์อันดีงาม,ความสุขสวัสดีทางปัญญา)ให้แก่โยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านเทอญ สาธุ

ขอเจริญพร

พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

รำลึกถึงโยมทายกว่อน ขำสุข

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • วันนี้(๒๑ก.ค.๕๒)อาตมาภาพเดินทางจากพิษณุโลกไปงานฌาปนกิจศพโยมลุงว่อน ขำสุข อายุ ๘๐ ปี ที่วัดหนองกลับ อ.หนองบัว นครสวรรค์ โยมลุงว่อนท่านเป็นทายกวัดหนองกลับ
  • มีคนร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพเป็นจำนวนมากโดยปกติคนหนองบัว-หนองกลับจะนิยมจัดงานศพที่บ้านเพราะบ้านคนหนองบัวส่วนมากหลังใหญ่จุคนได้จำนวนมากญาติเยอะแยะก็สามารถรับรองได้ไม่ต้องกลัวเต็มบ้าน บางบ้านมีบ้านลูกสาวปลูกติดกันอีกยิ่งจุคนได้เพิ่มขึ้นอีก
  • ฉะนั้นงานบวชงานแต่ง งานศพจึงจัดได้อย่างสะดวกสบาย ประเพณีงานศพที่หนองบัว-หนองกลับจะมีญาติพี่น้องมานอนเป็นเพื่อนเจ้าภาพเต็มบ้านสองถึงสามหลังเลยทีเดียว
  • โยมลุงว่อนเสียชีวิตลงท่านเจ้าคุณพระนิภากรโสภณ(พระครูไกร) ได้แนะนำให้ลูก ๆ ซึ่งลูกชายคนโตเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ต.หนองกลับอยู่ด้วย ว่าควรนำศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลศพที่วัดหนองกลับเถอะ เพราะทายกว่อนผู้คนเคารพนับถือมากคนต้องเอยะแน่นอน และก็เป็นไปตานนั้นคนมางานศพโยมลุงว่อน เต็มศาลาวัดหนองกลับ
  • อาตมาไปเห็นแล้ววันนี้ก็อดซาบซึ้งใจแทนโยมลุงและลูก ๆ ของโยมลุงไม่ได้ตอนท่านมีชีวิตอยู่วันพระช่วงเข้าพรรษาท่านจะเป็นผู้นำอุบาสก-อุบาสิกาทำวัตรสวดมนต์ทั้งเช้า-เย็น ตลอดมาเป็นเวลาหลายปี
  • นอกเหนือจากนั้นก่อนที่จะมีรถเกี่ยวข้าวดังปัจจุบัน ท่านยังเป็นช่างตีมีด ตีเคียว ผู้คนนิยมใช้บริการทั้งบ้านทั้งเมืองเพราะท่านทำมีดทำเคียวได้อย่างสวยงามเป็นที่ถูกใจลูกค้าชาวหนองบัวในรุ่นที่ใช้เคียวเกี่ยวข้าว ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกช่วยคู่ดองของหนุ่มสาวชาวหนองบัว
  • วันนี้คนมางานศพของท่านอย่างมากมายเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและยังจดจำความดีโยมลุงว่อน ขำสุข ตลอดไป อาตมาในนามหลานโยมลุงก็ขออนุโมทนาบุญต่อญาติมิตรที่มีน้ำใจเสียสละมางานนี้ทุกท่านด้วย.
  • วันหน้าอาตมาจะเล่าเรื่องโยมพ่อนั่งเรือจากหนองบัว-ไปชุมแสง (ปี พ.ศ.๒๔๙๗ )

ขอเจริญพร

พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

  • ขออนุโมทนาครับ
  • ขอกราบคารวะดวงวิญญาณลุงว่อน ขำสุข ทายกวัดหนองกลับ ของชาวหนองบัว และโยมลุงของพระคุณเจ้า เทียบกับอายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายของสังคมไทย ซึ่งประมาณ ๖๘ ปี และหญิงประมาณ ๗๒ ปี แล้ว ต้องถือว่าลุงว่อนอายุยืนมากกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป รวมทั้งมากกว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป
  • ความมีอายุยืน อีกทั้งทำหน้าที่ทายก บำรุงความเป็นส่วนรวม และมีลูกหลานทำหน้าที่เป็นผู้นำให้กับชุมชนอีกอย่างนี้ หากถือตามคติชาวพุทธ ก็คงต้องถือว่าเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ทั้งอายุยืน เป็นพละอย่างหนึ่ง และการได้ทำความดีงามของลุงว่อน ก็ยิ่งมีความยืนยาว หอมหวนทวนลม เป็นรัตตัญญู ที่มิใช่เพียงแก่ชราด้วยวันคืน ทว่า เป็นผู้ได้ศึกษาและปฏิบัติ ทั้งต่อตนเองและเป็นไปเพื่อผู้อื่นด้วย จึงเป็นความอาวุโสและความงดงามของชีวิตที่ควรแก่การน้อมคารวะ แม้ละสังขาร ธาตุทั้งหลายคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ และสลายสู่ความว่างเปล่าแล้ว ความดีงามทั้งหลายจึงยังคงเป็นมรดกสังคมยั่งยืน ทั้งด้วยการเป็นที่จดจำรำลึก และเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังสืบทอด
  • ขอร่วมกล่าวสรรเสริญ เพื่อน้อมคารวะความดีงามของลุงว่อน ขำสุขครับ กิจกรรมชีวิตที่ท่านทำเพื่อบำรุงความเป็นส่วนรวม ทั้งต่อวัดและต่อชุมชนกระทั่งอายุล่วง ๘๐ ปีอย่างนี้ เป็นวิถีของโพธิสัตว์ครับ ลูกหลานทำให้งดงาม ย่อมได้ความดีงาม ทั้งต่อความเป็นพรหมในฐานะพ่อแม่ และต่อความเป็นผู้บำเพ็ญตนเพื่อคนส่วนใหญ่ในชีวิตของท่านครับ
  • เรื่องราวในชีวิตของท่าน คงมีเกร็ดประวัศาสตร์ท้องถิ่นมากมาย น่าสนใจและเป็นการเรียนรู้ชุมชนหนองบัวในอีกด้านหนึ่ง ที่ชาวบ้านเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ขึ้นมาครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

วันนี้เวลาประมาณเที่ยงกว่า ๆ  คุณเสวก ใยอินทร์ได้ส่งเมลมาถึงอาตมาภาพโดยกล่าวถึงโยมลุงว่อน ขำสุข ก็เลยขอนำข้อเขียนมาลงไว้ที่นี้หลวงอาก็ขออนุโมทนาขอบคุณต่อคุณเสวกที่ได้ร่วมรำลึกถึงทายกว่อนด้วย ขอคงไว้ตามต้นฉบับเดิม ดังนี้

  • น่าประทับใจแทนครอบครัวทายกว่อนด้วยครับ แต่ก่อนทายกว่อนแกเป็นช่างตีมีดมือหนึ่งเลยก็ว่าได้ครับทำมีด ลับแรเคียวก็ดีเยี่ยม ผมเองก็ยังทันพ่อใหญ่มักให้เอามีดไปชุบบ่อย จนทายกว่อนเห็นผลงานของต้นที่พ่อใหญ่ฝนจนไม่มีลอยตี แกเอามีดใหม่มาให้ 2 เล่ม และขอซื้อคืนแต่พ่อใหญ่ไม่ขายให้เลยมานั่งสนทนากันทั้งวัน ชาวบ้านมักชอบพูดติดปากเวลาหยอกล้อเล่นมักพูดว่า เดี๋ยวปัดเดี๊ยะฟันด้วยมีดตาว่อนเลย ...และก็ติดปากกัน จนมาทุกวันนี้ไม่มีการตีมีดแล้วก็ยังพูดกันบ้าง เอกลักษณ์ของมีดที่แสดงถึงว่ามีดเป็นของแกนั้นคือ จะตีตัวอักสรตัว ว. แทนชื่อย่อตัวแกเอง.

ขอเจริญพร

พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

 

  • ร้านทายกว่อนนี่อยู่ตรงไหนครับ
  • อยู่ที่ข้างเกาะลอยหรือเปล่าครับ

 ร้านทายกว่อน เปิดอยู่หน้าบ้านแกเองครับ จะปลูกสร้างด้วยหลังคามุงด้วยหญ้าแฝก โดยมีเตาไฟ และทั่งตีมีด ตลอดจนอุปกรณ์ต่างที่เกี่ยงข้องกับการทำมีดนั้นด้วย มีดทีทำส่วนมากเป็นมีดเหน็บ ทางเข้าบ้านถ้ามาจากบ้านตารินจะมีทางลงจะเข้าทางซ้ายระหว่างร้าน ช.พัฒนา 2009 และโรงขายเหล้า เข้าไปไม่ลึกจะมีทางเล็กๆ ขวามือซึ่งอยู่หลังบ้าน ครูสุธีร์ นาคสุทธิ์ บ้านโคกมะกอกครับคงพอนึกออกบ้างไหมครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เห็นรถไฟครั้งแรก

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  •  เมื่อวาน(๒๑ก.ค.๕๒)เสร็จงานเผาศพโยมลุงว่อน ขำสุข ก่อนกลับพิษณุโลกได้ถามโยมพ่อเรื่องหนึ่งเมื่อตอนเป็นเด็กจำได้ลาง ๆ ว่า ตอนนั้นเด็กมาก ๆ ครั้งหนึ่งเตรียมตัวจะเดินทางไปไหนสักงานหนึ่งทางชุมแสง แต่ไม่ได้ไปโยมพ่อได้ไป ตัวอาตมาเองก็กลับบ้าน โยมพ่อเฉลยวานนี้ว่า ไปงานรับพัดยศของหลวงปู่อ๋อยยังไม่ได้ย้อนไปดูประวัติช่วงนั้นว่า หลวงปู่ได้รับสัญญาบัตรพัดยศชั้นไหน ถ้าถามก็ยังบอกไม่ได้ว่าปีพ.ศ.ใด เหตุการณ์วันนั้น
  •  ก็ลืมถามโยมพ่ออีกนิดหนึ่งว่า ไปแค่ชุมแสงหรือว่าไปถึงไหนกันคราวนั้น แต่ตัวเองจำได้ไม่ลืมเลยไปรอตรงสี่แยกตลาดหนองบัว(สี่แยกไฟแดงปัจจุบัน) ข้างปั้มน้ำมัน มีต้นมะขามเทศอยู่ใกล้ ๆ ปั้มด้วยคิดว่าไม่น่าจำผิด เพราะยืนรอรถใต้ร่มไม้คนเต็มมาก ๆ เด็กไปไม่ได้เลย 
  •  และหลังจากนั้นอีกไม่นานได้ไปชุมแสงเป็นครั้งแรกในชีวิตได้เห็นรถไฟในความรู้สึกของตัวเองมันยาวมากเลย เพราะไม่เคยเห็นรถไฟในทีวีเลยช่วงนั้นที่หนองบัวน่าจะยังไม่มีทีวีด้วย 
  •  จำได้ว่าครั้งนั้นไปบ้านนายทุนเงินกู้หรืออะไรสักอย่างแต่ไม่ใช่ธนาคารเป็นสถานที่ที่คนหนองบัวกู้เงินมาทำนา บ้านแกอยู่ริมน้ำไม่ทราบว่าเป็นแม่น้ำอะไรอีก นอกจากนั้นก็นึกไม่ออกเลยสภาพชุมแสงเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว อาจจะตัวเองเด็กมากจึงลืมเหตุการณ์เกือบหมดแล้ว
  •  คนรอบนอกหนองบัวยุคโน้นมีไปกู้เงินนายทุนมาทำนาแบบนี้บ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ 
  •  ไปคราวนี้ได้เพียงแต่เห็นอย่างเดียวไม่ได้ขึ้นรถไฟ ต้องรออีกหลายปีจึงได้ขึ้นรถไฟครั้งแรกในชีวิตไปไกลมากสุดชีวิตเลยแหละคือถึงลพบุรีแนะ. (ไปไหว้พระบาทสระบุรี-โอกาสหน้าจะเล่าบรรยากาศให้ฟัง)

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และสวัสดีคุณเสวก รวมทั้งผู้อ่านทุกท่านครับ

  • พยายามนึกภาพตามอยู่ครับ หากนึกออกก็จะวาดเป็นรูปออกมาได้ จะพยายามอ่านและทบทวนความจำไปด้วยครับ วันหลังจะได้ทำภาพประกอบให้ครับ
  • เป็นข้อมูลที่เกี่ยวการผลิตของชุมชนในอดีตเลยนะครับ พวกมีด เคียว จอบ เสียม รวมไปจนถึงผาล เหล่านี้ ถือว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการผลิตของครัวเรือนและของชุมชน เมื่อก่อนนี้ เวลาผู้ใหญ่บอกว่า เคียวอันไหนเป็นของเรา ก็จะรู้สึกว่าเราได้รับใบประกาศนียบัตรให้มีส่วนร่วมในการลงไปทำงาน-ทำการในผืนนาได้แล้ว เรียกว่ามีวุฒิภาวะและเริ่มโตแล้ว ในยุคการทำนา-ทำไร่ ผู้คนเลยจะมีความเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าในปัจจุบัน
  • การทำมีด เคียว มีดเหรียญ และจอบ จึงเป็นเหมือนผู้รู้ในการสร้างเทคโนโลยีและเครื่องมือการผลิต เป็นวิชาอีกขั้นหนึ่งที่ใช้ความรู้ ทักษะ ภูมิปัญญาปฏิบัติมากกว่าคนทั่วไป คนทั่วไปจะมีวิชาที่จำเป็นสำหรับทุกคน เช่น การดูเมฆและประเมินฤดูกาล การดูน้ำ การทำไถ การดูไม้ การทำลาน การทำและทอดแห การสานเครื่องมือและเครื่องใช้เพื่อการทำมาหากิน การดูลักษณะวัว ควาย การไหว้แม่โพสพ เหล่านี้เป็นต้น
  • เรื่องพวกนี้มีหลักคิดและหลักปฏิบัติที่จำเป็นต้องเรียนรู้และสืบทอดไว้ในวิถีชีวิต ซึ่งคนภายนอกโลกทรรศน์เดียวกันอาจจะมองไม่เห็น  หลายเรื่องจึงควรสร้างขึ้นมาจากชาวบ้านนั่นแหละครับ อย่างที่คุณเสวก พระคุณเจ้า และหลายท่านที่กำลังทำนี้จึงนับว่ามีคุณค่ามากครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

งานสวนสนุก

 เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • ในหนองบัวยุคก่อนจะมีงานฤดูหนาวทุกปีเป็นหน้าเกี่ยวข้าวงานแสดงเพลงลูกทุ่งปิดวิก คืองานสวนสนุก หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวฝั่งตรงข้ามอำเภอ ผู้จัดงานคือ ตาหวิด ขออภัยนึกนามสกุลไม่ออก งานหน้าเกี่ยวข้าวตาหวิดแกจัดทุกปีโดยจะหานักร้องลูกทุ่งที่กำลังมีชื่อเสียงกำลังดัง กำลังฮอตมาแสดง ยุคนั้นจะมีพี่เป้า สายัณห์ สัญญา ศรเพชร ศรสุพรรณ ยอดรัก สลักใจ และคณะอื่น ๆ วันแสดงจริงรถโฆษณาประกาศทั่วอำเภอ รวมถึงรอบนอกบ้านห้วยด้วน น้าสาดกลาง วัดป่าเรไร ห้วยน้อยห้วยปลาเน่า ถึงบ้านตุ๊กแกเขตติดต่อท่าตะโก ฝั่งตะวันตกก็มีบ้านป่ารัง บ้านตาลิน ห้วยร่วมห้วยน้ำโจน ห้วยใหญ่ จนถึงหนองแก้วติดต่อชุมแสงใครมีคู่ดองก็จะพาคู่ดองไปดูนักร้อง ฝ่ายหญิงจะมีเพื่อนไปด้วยอีกประมาณ ๓-๕ คน คนจ่ายค่าบัตรผ่านประตูก็ตกอยู่กับฝ่ายชาย การแสดงกว่าจะเลิกก็ประมาณเที่ยงคืน รุ่งเช้าต้องแหกขี้ตาตื่นไปนาเกี่ยวข้าว ไม่ทราบว่าโยมอาจารย์ได้มาเที่ยวงานสวนสนุกหน้าอำเภอหนองบัวบ้างไหม

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • งานปิดวิกที่ต้องเสียตังค์เข้าไปดูนี่ ผมไม่เคยได้ดูเลยครับ งานวัดที่มีวงดนตรีลูกทุ่งไปแดสงแล้วผมได้ดูนั้น เท่าที่จำได้คือ ได้ดูแค่สองคณะ คือ เพลิน พรมแดน กับ สังข์ทอง สีใส ที่งานโรงสีและงานวัดเกาะแก้วครับ ที่ได้ดูนั้น ก็เพราะว่า เป็นธรรมเนียมของหนังล้อมผ้าและการแสดงดนตรีงานวัดเลยครับที่พอหัวหน้าคณะออกและพอถึงเพลง-สองเพลงสุดท้าย  และถ้าหากเป็นหนังก็เมื่อตอนใกล้จบ เขาก็จะเปิดผ้าที่ล้อมไว้ออก ให้คนดูฟรี ผมก็เลยได้ดู
  • นอกนั้นก็ดูแบบไม่ต้องเสียตังค์หมดครับ คือหนังกางแปลง ลิเก หมอลำ เพลงฉ่อย เพลงโคราช ลำตัด อย่างพวกงานงิ้วหนองบัวนี่ก็ได้ดูครับ เพราะลงทุนเดินไกลๆเป็น ๑๐ กิโลเฉยๆ แต่ไม่ต้องเสียตังค์
  • เวลานั่งดูหนังหรือดูลิเก พอมีรถย่างปลาหมึกหรือขนมถังแตกผ่านไป ก็จะนั่งสูดกลิ่นหอม น้ำหลายไหลเอื๊อกๆไปเท่านั้นแหละครับ แต่ไม่มีตังค์ไปซื้อกิน
  • แถวบ้านผมมักมีหนังล้อมผ้าไปฉายเหมือนกันครับ ฉายแล้วเก็บตังค์เข้าดู แต่กรณีอย่างนี้ผมจะได้เข้าดูครับ เพราะพอเขาไปตั้งเครื่องและทำโรงหนังล้อมผ้า พวกผมเด็กๆก็จะหิ้วกระแป๋งไปแล้วเข้าไปประจ๋อประแจ๋ ตักน้ำใส่ถังแกลลอน ๒ ถังที่เขาเรียกว่าถังหล่อเย็นสำหรับเครื่องปั่นไฟ ไปถึงก็ช่วยกันตักไปใส่แบบรู้งานเลยทีเดียว พวกผู้ใหญ่ที่ไปฉายหนังจะชอบใจ ก็จะให้พวกผมเข้าไปดูหนังได้โดยไม่ต้องเสียเงิน อย่างนี้ได้ดูครับ นอกนั้นไม่เคยได้เที่ยวหรือได้ดูเลย
  • ในยุคที่พวกผมอยู่ชั้นประถม โรงเรียนหนองบัวเทพนั้น  การที่จะมีกางเกงและเสื้อผ่้าชุดลูกเสือใหม่ๆ เป็นของตัวเองสักชุดหนึ่งนั้น ต้องพากเพียรเก็บข้าวตกจากนาให้ได้ข้าวเปลือก ๓ ถัง ซึ่งตอนนั้นถังละ ๑๔ บาทครับ ต้องเดินตะรอนๆอยู่กลางแดดตามทุ่งนาข้าวที่เขาเก็บเกี่ยวไปแล้วและเหลือข้าวตก เดิน ๕-๑๐ ก้าว ก็จะได้ข้าวตกสักรวงหนึ่ง รวบรวมจนเป็นข้าวเปลือกได้ ๓ ถังนั่นแหละครับ หาเงินลำบากมากครับ
  • ตอนผมเล่นแตรวง งานแรกที่ผมออกงานก็ได้ค่าตัว ๓ บาท  มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมพอมีฝีมือดีขึ้นและคณะแตรวงก็งานเข้าเยอะ ผมได้ค่าตัวถึง ๙๐ บาทซึ่งพอๆกับราคาข้าวเปลือก ๗ ถัง และสามารถซื้อเสื้อผ้าได้งามๆเป็นชุดเลย ตอนนั้น ผมอยากได้กางเกงขายาว อยากใส่กางเกงขายาวไปเป่าแตรวง
  • แม่ผมบอกว่าจะไปหาให้ แล้วก็เอาตังค์ไป วันสองวันก็ห่อกางเกงมา แล้วก็บอกว่านี่ละกางเกงขายาว ผมก็ดีใจเป็นที่สุด พอกางออกก็ปรากฏว่า แม่ไปเอากางเกงเก่าๆของพ่อมาตัดขาและเย็บให้ขามันเล็กลงก็กลายเป็นกางเกงขายาวตัวโค่งสำหรับผม แล้วแม่ก็คิดค่าทำกางเกงขายาวไป ๙๐ บาทขาดตัว
  • ผมได้ค่าตัวจากการเป่าแตรสูงสุดในยุคหลังๆ ๒๕๐ บาท ในขณะที่ตอนนั้นข้าวเปลือกเกวียนละ ๘๐๐ บาท ในฤดูกาลบวชนาคแต่ละปี ผมจะมีรายได้จากการเป่าแตรเท่ากับขาวเปลือก ๒-๔ เกวียนเลยทีเดียว แต่กระนั้น ก็ไม่เคยใช้เพื่ออย่างอื่นเลย ให้แม่ทั้งหมดอย่างเดียวเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าหนังสือเรียน
  • ตาหวิดนี่ ใช่ตาหวิดร้านตัดผมในศูนย์หรือเปล่าครับ หากใช่ก็รู้จักเป็นอย่างดีและแกก็รู้จักทั้งผมและครอบครัวพ่อแม่เป็นอย่างดีครับ พี่ชายแกชื่อตาหวัด ผมชอบคุยกับแก เป็นคนทำมาหากินและจะว่าไปแล้วเป็นปัญญาชนชาวบ้านมากๆครับ ไม่ยอมจนตรอกและใช้สติปัญญาแก้ปัญหาอยู่เสมอ
  • สี่แยกตลาดหนองบัวแต่เดิมนั้น เป็นต้นมะขามแล้วก็มีปั๊มน้ำมันสามทหารอยู่ครับ ที่ใต้ต้นมะขามก็จะมีที่นั่งเล่นหมากรุกเพื่อรอรถ ตกเย็นก็มักกลายเป็นวงเหล้าเซี่ยงชุนของชาวบ้านในตลาด ปัจจุบันเจ้าของเป็นเถ้าแก่เนี๊ยเง๊ก เพื่อนร่วมรุ่นที่หนองคอกผมอีกคนหนึ่งครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ยินดีกับคำด่า

โดยพระจันทร์

คืนนี้ขอนำบทกลอนของท่านจันทร์มาฝากท่านผู้อ่านทุกท่านก่อนนอน ดังนี้

ยินดีกับคำด่า                      เพราะเหตุว่ามันน่าฟัง

ด่าค่อยหรือด่าดัง                 ฟังให้ดีมีปัญญา

ด่าถูกหรือด่าผิด                  ไม่ควรคิดจิตถือสา

เลือกเฟ้นเอาคำด่า               เพื่อตรวจตรารักษาตน

ด่าถูกเมื่อถูกด่า                   จงปรีดาในบัดดล

เลวคุดเขาขุดค้น                  เขาคือคนผู้มีคุณ

ด่าผิดผิดของเขา                 ไม่รับเอามากักตุน

 ขอบใจที่เจือจุน                   ยอมลงทุนด่าตัวเรา

ด่าถูกหรือด่าผิด                   ไม่มีสิทธิ์ไปโกรธเขา

ด่าหนักหรือด่าเบา                ไม่มีเราเขาด่าใคร.

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ท่านจันทร์ วรเสฏโฐ ท่านเป็นทั้งนักกลอนและนักสื่อสารเพื่อให้การศึกษาเรียนรู้-พัฒนาจิตใจ ที่เข้าถึงผู้คนและมวลชนได้ทุกระดับครับ
  • ความสามารถในการจดจำ การแต่งกลอน และการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ให้นำไปสู่การได้ข้อธรรม เจริญสติ และสร้างหลักปฏิบัติให้ได้แก่ตนเอง ท่านมีมากจริงๆครับ
  • นอกจากสิ่งที่ได้จากเนื้อหาการแสดงธรรมและทรรศนะทางธรรมต่างๆแล้ว สิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้จากท่านมากเลยเรื่องหนึ่งก็คือการสร้างความรู้ หลักคิด และวิธีเรียนรู้จากสิ่งต่างๆที่อยู่ในชีวิตประจำวันง่ายๆ
  • ผมเพิ่งคุยกับพรรคพวกที่ทำงานผมไปเมื่อวานนี้เอง ทำนองเดียวกับอย่างนี้เลยครับว่า การทำงาน นอกจากควรมุ่งทุ่มเทไปกับตัวงานแล้ว อย่าลืมให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านการทำงานไปด้วย อย่าหยุดความทุ่มเทต่องานลงเพียงแค่การได้ความพอใจและการได้การยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งบางทีผู้คนก็มักดูเรื่องนี้จากท่าทีของผู้อื่นที่กระทำต่อตนเอง รวมทั้งการด่า การกระทำทางวาจา การกระทำรุนแรงต่อกันด้วยการแสดงอารมณ์
  • การไม่ถูกทำร้ายด้วยการด่าและสิ่งที่ผู้อื่นดา จึงนอกจากจะเป็นสิ่งกระทบทีสามารถแปรเป็นโอกาสสำหรับเจริญสติภาวนา คลายออกจากตัวตนและความเป็นตัวกูของกูอย่างดีมากแล้ว ยังเป็นสิ่งบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่า เรามีเป้าหมายชีวิตและการให้ความสำคัญต่อสิ่งต่างๆที่สูงกว่านั้น
  • พระคุณเจ้าให้เป็นบทกลอนได้อ่านเป็นอารมณ์ก่อนนอน แต่ผมมานั่งอ่านเมื่อตอนเช้า เลยคิดว่าดีเหมือนกันครับ ถือว่าได้อารมณ์สำหรับการเริ่มต้น และใช้เป็นเครื่องกำกับสติในวันนี้ไปด้วยเลย

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

รถบรรทุกข้าวเข้าไปบรรทุกข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว ขนไปโรงสีและลานข้าวต่างในหนองบัว โรงสีห้วยถั่วใต้ ท่าข้าวและโรงสีชุมแสง

                      

ในอดีตนั้น  นครสวรรค์ถือว่าเป็นศูนย์กลางของการผลิตและค้าข้าวทั้งของประเทศไทยและของโลก ทั่วโลกจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของผลผลิตและการกำหนดราคาข้าวของประเทศไทยที่ท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • ภาพประกอบรถบรรทุกข้าวเปลือกตามทุ่งนาหนองบัวยุคก่อนภาพนี้ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกร่วมสมัยเมื่อครั้งอดีตได้ดีมาก ๆ ช่วยให้เรื่องราวมีความชัดเจนขึ้นมากอย่างยิ่ง ถ้ารถบรรทุกข้าวเปลือกคันเล็ก ๆ ชาวบ้านเรียกว่า รถกี๊ฟ
  • ตาหวิดที่จัดงานสวนสนุกหน้าอำเภอหนองบัว ก็คือตาหวิดร้านตัดผมในศูนย์ ถามหลานทำงานที่นครสวรรค์ว่ารู้จักตาหวิดจัดงานสวนสนุกหน้าำอำเภอไหม หลานบอกรู้จักแต่ตาหวิดบาร์เบอร์ในศูนย์ คนยุคหลังจะไม่รู้จักเพราะไม่ทันงานสวนสนุกหน้าอำเภอ แต่เมื่อสักครู่โทร.ถามเลขานุการเจ้าคณะอำเภอหนองบัว(พระครูนิทานกิจจานุยุต-สมุห์ประสิทธิ์)คนร่วมสมัยงานสวนสนุกหน้าอำเภอ ท่านยืนยันมาแน่นอนแล้วว่าใช่ตาหวิดร้านตัดผมในศูนย์ตลาดหนองบัว

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • เมื่อคืน(๒๓ก.ค.๕๒)อาตมาโทร.ติดต่อไปหาอาจารย์ผัน อินทชิต โรงเรียนรังงาม อ.หนองบัว เนื่องเพราะทราบข่าวจากหลาน ๆ ที่อยู่ระยองว่า อ.ผันจะทำประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ท่านบอกว่าอยากจะทราบประวัติสุกลของท่านเอง คืออินทชิตว่ามีความเป็นมาอย่างไร อยากจะทำแต่ช่วงนี้งานยุ่งมาก เลยได้ทราบว่าเป็นรุ่นเดียวกันกับอาจารย์วิรัตน์และท่านเองเคยอยู่วัดนครสวรรค์ด้วย
  • อาตมาก็เลยเชิญชวนอาจารย์ผันให้มาร่วมคิดร่วมเขียนร่วมเรียนรู้ชุมชนหนองบัวร่วมกัน แกบอบว่าคนเฒ่าคแก่เหลือไม่กี่คนแล้วที่รู้เรื่องราวในอดีต
  • ท่านยังบอกว่าพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกนั้นมีคุณูปการต่อหนองบัวมาก แต่คนหนองบัวอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักท่านมากนัก
  • ก็ขอฝากให้อ.ผันช่วยหาประวัติชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ของท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกอีกทางหนึ่งด้วยในที่นี้เลยหรือท่านอื่น ๆ ก็ได้ที่มีข้อมูลท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ก็นำมาเผยแพร่เรียนรู้ร่วมกันจะเป็นประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข (อาสโย)

  • การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง บางทีก็ผ่านวิถีชีวิตและกระบวนการผลิตของชุมชน รวมทั้งการติดต่อสื่อสารก็โลกภายนอกหมู่บ้านของชุมชนในลักษณะอย่างรูปวาดนี้แหละครับ เด็กๆและชาวบ้าน เวลาเห็นรถยนต์ ก็มักจะตะลึง ยืนดูแบบจริงๆจังๆ  พอหลังจากนั้น เด็กๆก็จะกลายเป็นรถกันไปหมด จะเดินไปเอาข้าวของอะไร หรือจะไปโรงเรียนก็ต้องทำปากเป็นเสียงรถแล้วก็วิ่งไป ช่วงอารมณ์อย่างนั้นให้วิ่งไปไหนก็ไม่ค่อยเหนื่อยครับ เพราะไม่ได้เป็นคนแล้ว เป็นรถ  เลยต้องไม่เหนื่อย
  • พอซาๆไปก็จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น พอเห็นวิ่งฝุ่นตลบบนทางเกวียนและในมือมีกังหัน ก็แสดงว่าตอนนั้นเป็นเครื่องบินกัน หากตอนไหนทำกางแขนร่อนและแหกปากร้องกา กา กา กา ก็แสดงว่าเปลี่ยนไปเป็นฝูงนกกา เรียกว่าแทบไม่ต้องอาศัยวัตถุและปัจจัยภานอกมากนัก เล่นด้วยจินตนาการเกือบจะล้วนๆเลยทีเดียว
  • หากเป็นตาหวิดร้านตัดผมในศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ ก็เป็นตาหวิดเดียวกันที่ผมรู้จักครับ
  • อาจารย์ผัน อินทชิตนี่ก็เพื่อนรุ่นเดียวกันของหนองคอก เพื่อนๆ ถามไถ่ถึงเขาอยู่เสมอครับ ตั้งแต่จบไม่เคยเจอกันเลย

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ตู้เพลง

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

ที่ศูนย์ท่ารถเมล์หนองบัว(ไปชุมแสง-ท่าตะโก) เมื่อก่อนพ.ศ.๒๕๒๐ จะมีตู้เพลงประจำอยู่ที่ร้่านขายข้าวแกง-ก๋วยเตี๋วย วัยรุ่นยุคนั้นจะมีสถานบันเทิง(จะเรียกว่าอะไรดี)ให้ได้เที่ยวยามค่ำคืน ๒ แห่งคือ วิกหนังไทยประเสริฐหรือหนองบัวราม่า และก็ตู้เพลงที่ศูนย์ี่่ท่ารถเมล์ อยากฟังเพลงอะไรก็หยอดตังค์ไม่มีไมค์ให้ร้องตามได้เหมือนสมัยต่อมา แต่แค่ฟังอย่างเดียวก็นับว่าทันสมัยที่สุดแล้วลูกค้าส่วนใหญ่หรือขาประจำก็คอเพลงลูกทุ่งทั้งนั้น มิวสิคก็ไม่มีดู ถ้าอยู่บ้านอยู่ตามท้องนาก็ฟังตามรายเพลงทางวิทยุA.M. มทบ.๔ วสป.๗๐๒ ๐๔ ตาคลี ความบันเทิงก็วนเวียนอยู่สามสี่่อย่างนี่แหละ วิทยุทรานซิสเตอร์,วิกหนัง,งานสวนสนุก,งานงิ้ว,งานวัดใหญ่(หนองกลับ)ตู้เพลงศูนย์ท่ารถเมล์ โยมอาจารย์วิรัตน์ได้เป็นลูกค้าตู้เพลงที่ศูนย์ท่่ารถเมล์บ้างหรือเปล่า

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และสวัสดีทุกท่านครับ

ความละเอียดอ่อนต่อสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมภาวะผู้นำสตรี-บุรุษ

  • เพื่อให้เราสามารถเป็นบรรณาธิการตนเองไปด้วย ผมเลยต้องกราบขออนุญาตพระคุณเจ้าและท่านผู้อ่าน ขอนำข้อปุจฉา-เสวนาที่ ๖๕ ออกไปก่อนนะครับ (หลังจากดึงออกไปแล้ว ก็จะแทนที่ด้วยหัวข้อนี้ครับ) หัวข้อดังกล่าวเป็นบทกลอนให้คติชีวิตที่ประมวลมาจากการอ่านอย่างมากมาย แล้วสรุปเป็นบทกลอนให้วิธีคิดและให้วิธีจดจำข่าวสาร งานวรรณคดี งานประพันธ์ และงานวรรณกรรมต่างๆ ซึ่งมีคุณค่าและน่าเสียดายส่วนอื่นๆเป็นอย่างยิ่ง
  • ทว่า มีอยู่ ๓ เรื่องที่ผมต้องคิดแล้วคิดอีก กระทั่งต้องตัดสินใจว่าจะขอช่วยทำหน้าที่บรรณาธิการเฉพาะกิจ คือ ๑. การกระทบตัวบุคคล การนำเอาตัวบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีการต่อสู้กันทางความคิด-การเมือง กระทั่งใช้วิธีทำให้ได้อายและทำลายความน่าเชื่อถือ มาเป็นตัวอย่างเพื่อให้ได้หลักคิดว่า อย่าเป็นอย่างนั้น มองอีกด้านหนึ่ง จะเป็นการนำขึ้นมากล่าวถึงใหม่เพื่อตอกย้ำและทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องอีก ทั้งที่เหตุการณ์ได้ผ่านไปนานมากแล้ว ๒. การกล่าวว่า 'อย่ามักมาก เหมือนกากี' และ ๓. 'อย่าเปลี่ยนสามีเหมือนโมรา'
  • สองบทสรุปและสองคตินี้ เป็นการกระทำโน้มน้าววิธีคิด และการกระทำทางวาทกรรมที่ในวงวิชาการ รวมไปจนถึงกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางสังคมและองค์การระหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชน เคยให้ข้อทักท้วงไว้อย่างต่อเนื่องแล้วก็เสนอแนะไว้ในหลายระดับว่า เป็นงานวรรณกรรมและวิธีคิดที่ลดทอนเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของสตรี ก่อให้เกิดโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมประชาธิปไตย ถือความได้เปรียบและวัฒนธรรมเชิงอำนาจของเพศชาย รวมทั้งการนิยมใช้วิธีรุนแรงมาเป็นหนทางแก้ปัญหา ทำให้ผู้หญิงและสตรีอยู่ในฐานะเพียงวัตถุทางเพศของเพศชาย (Sex object) จึงขอนำออกไปก่อนนะครับ ต้องขออนุญาตทุกท่านเลย

สื่อและแหล่งการเรียนรู้ชุมชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

  • อันที่จริง มองในแง่การทำให้เกิดกิจกรรมทางสังคม การทำให้ผู้คนมีประสบการณ์ร่วม และก่อให้เกิดการเรียนรู้และได้ข่าวสารในชีวิต ที่นำไปสู่การพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคมแล้ว โรงหนัง ตู้เพลง งานวัด งานสวนสนุก ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ตามท่ารถเมล์และแหล่งชุมชนต่างๆ เหล่านี้  องค์กรที่ดูแลทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ การสื่อสาร และวัฒนธรรม ของสหประชาชาติ (UNESCO) ให้การยอมรับว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ระดับการพัฒนาทางด้านการศึกษาเรียนรู้ของสังคม ทั้งในแง่ของเนื้อหาและคุณภาพ และปริมาณเฉลี่ยต่อหัวของประชากร  หากมีในสัดส่วนที่เหมาะสม เพียงพอ และหลากหลาย ก็จะสะท้อนไปสู่การพัฒนาทั้งความทันสมัยและการมีวัฒนธรรมที่กลมกลืน-สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง พวกสถานีวิทยุและสื่อท้องถิ่น-สื่อพื้นบ้านต่างๆก็เช่นกันครับ
  • ในเบื้องต้นนี้ หากคุยและเก็บรวบรวมข้อมูล ต่อเติมและเสริมข้อมูลกันไปก่อนอย่างนี้ สักระยะหนึ่งผมเชื่อว่าจะได้ประเด็นที่ดึงข้อมูลเหล่านี้กลับมาเป็นข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ขึ้นใหม่ ก็จะเห็นบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนหนองบัว เป็นอย่างดีอีกมิติหนึ่งครับ
  • ในบางเรื่อง อาจจะเป็นประสบการณ์ทางสังคมจำเพาะยุคสมัยและจำเพาะของคนหนองบัว-นครสวรรค์ เช่น ในยุคที่หนองบัว-เพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่สีแดง-สีชมพูนั้น ชาวบ้านคงคุ้นเคยกับหนังและสื่อทำสงครามจิตวิทยามวลชนกันของสังคมต่างขั้วในยุคสมัยนั้นๆ  แอบคลุมโปงฟังคลื่นวิทยุภาคภาษาไทยจากปักกิ่ง รวมทั้งต้องแอบฟังวิทยุเบาๆในตอนกลางคืนตามหลุมหลบภัยที่ทำไว้นอนกลางคืน ต่อมาก็มีหอกระจายข่าวโดยเสียงตามสายตรงสี่แยกหัวตลาด แล้วก็มีวิทยุ-โทรทัศน์แพร่หลาย มีตู้เพลง มีโรงหนัง เป็นอีกด้านหนึ่งของพลังการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่น่าสนใจมากอย่างยิ่งครับ
  • หากสร้างความรู้ปะติดปะต่อแล้วก็สามารถรวบรวมสิ่งของเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่มากจัดแสดงให้เห็นและจับต้องได้ในแหล่งที่มีอยู่แล้วในหนองบัว ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหนองคอกหรือที่วัดหนองกลับ ก็จะเป็นงานเรียนรู้สังคมหนองบัวที่มีคุณค่าอย่างที่สุดครับ เช่น อย่างที่คุณอนุกูลพูดถึงเครื่องฉายหนัง ๑๖ มม.ของ VICTOR ที่เหลืออยู่เครื่องเดียว

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

คนหนองบัวเชื้อสายไทใหญ่

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • วันนี้อาตมาภาำพพบบทความชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงหนองบัวในเว็บที่นำมาลงไว้ในที่นี้ ซึ่งเขียนโดย คุณวลัยลักษณ์  ทรงศิริ รู้่สึกตื่นเต้นดีใจอย่างมากที่ได้พบข้อมูลหลักฐานความเป็นมาของหนองบัวโดยเฉพาะประวัติที่กล่าวว่าคนหนองบัวส่วนมีเชื้อสายไทใหญ่ อาตมาก็นึกสงสัยว่าสำเนียงภาษาที่คนหนองพูดเหน่อหรือแปร่ง ๆ นี้จะต้องมีที่มาที่ใดสักแห่งแต่ก็สันนิษฐานไม่ได้ว่ามาจากกลุ่มภาษาใด วันนี้มีคำเฉลยจากบทความต่อไปนี้ อาตมาภาพขออนุโมทนาขอบคุณคุณวลัยลัษณ์ ทรงศิริ ที่เปิดเผยร่องรอยประวัติศาสตร์กลุ่มคนหนองบัวบางส่วนทำให้ข้อกังขาข้อสงสัยที่มีมาเป็นเวลานานได้กระจ่างชัดเสียที
  • ถ้าคนรอบนอกหนองบัวส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าบรรพบุรุษของตัวมาจากไหนอย่างไร แต่คนหนองบัว-หนองกลับส่วนใหญ่มักไม่ทราบที่มา
  • อาตมาสังเกตคำพูดสำเนียงหนองบัวมีส่วนคล้ายสำเนียงสุโขทัย
  • เชิญคนหนองบัวบางส่วนลูกหลานไทใหญ่อ่านประวัติความเป็นมาหรือโคตรเหง้าเหล่ากอได้ ณ บัดนี้

http://www.konrakmeed.com/webboard/upload/lofiversion/index.php?t5496.html (ชุมชนคนรักมีด-เหล็กโบราณ) รวบรวม โดย คุณ Oat, Quote เขียนโดย คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ

  • เขตพื้นที่ระหว่างเพชรบูรณ์ทางตะวันออก และพิจิตรทางตอนเหนือของจังหวัดนครสวรรค์ คืออำเภอหนองบัวเป็นรอยต่อของภูมิประเทศแบบลอนลูกคลื่น ซึ่งมีภูเขาเตี้ยๆห่างๆ กันตั้งอยู่ กับพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งจะเทไปสู่ลำน้ำน่านแถวอำเภอชุมแสง ก่อนจะรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพต่อไป
  • ที่บ้านหนองบัว ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแต่ดั้งเดิมไม่มีลำน้ำใหญ่ไหลผ่าน ชาวบ้านอาศัยน้ำกินน้ำใช้จากหนองบัว ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า๑๗ไร่ จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่
  • คนหนองบัวบางส่วนสืบเชื้อสายคนไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยมานานเต็มที จนเหลือแต่ร่องรอยความทรงจำในสำเนียงที่พูด เสียงแปร่งไปกว่าคนทั่วไป หรือมีการทำนาข้าวเหนียวเก็บไว้กินในเฉพาะกลุ่ม
  • คนหนองบัวรุ่นเก่าเล่าสืบต่อกันมาว่า พื้นที่แถบนี้เนื่องจากมีโลหะธาตุอุดมสมบูรณ์ จึงต้องส่งส่วย เหล็กหางกุ้ง ให้กับทางเมืองหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา
  • ลุงแหวน บุญบาง อดีตกำนันตำบลหนองบัวเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านจะทำการ " สลุงเหล็ก " ( หมายถึง ถลุงเหล็ก ) โดยนำแร่เหล็กมาจาก เขาเหล็ก ที่บ้านคลองกำลัง เขตรอยต่อกับเพชรบูรณ์ ห่างจากหนองบัวไปราว ๒๐ กิโลเมตรถลุงแล้ว เรียกว่าเหล็กหางกุ้งไปส่งส่วยแทนการเสียเงินปีละ๖บาท
  • ผู้นำของชุมชนเรียกชื่อว่า พ่อหลวงโลหะ และลูกหลานที่สืบเชื้อสายต่อมา ใช้นามสกุลกันว่า โลหะเวช
  • ใกล้หนองบัวบริเวณท้ายตลาด มีโบราณสถาน เรียกว่า กุฏิฤาษี ตั้งอยู่พบเศษขี้เหล็ก หรือตะกรันเหล็กอยู่มากมาย นอกจากนี้ตามทุ่ง และภูเขาบางแห่งยังพบก้อนแร่ตะกั่วที่ผ่านการถลุงแล้วก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ จำนวนมาก ชาวบ้านเรียกกันว่า ตะกั่วเถื่อน
  • ปัจจุบันในเขตอำเภอหนองบัว ที่เหมืองแร่ทุ่งของห่างจากตัวอำเภอราว๑๗ กิโลเมตร มีการผลิตแร่ยิปซั่มเป็นจำนวนมาก ในบริเวณเหมืองแร่แห่งนี้ ยังได้พบเครื่องมือหินขัดและเศษภาชนะจำนวนหนึ่งอยู่ในเขตเหมือง และยังไม่มีการสำรวจบันทึกเป็นหลักฐาน
  • เรื่องการส่งส่วยเหล็กให้กับกรุงศรีอยุธยาที่เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมานั้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะที่หนองบัวเพียงแห่งเดียว ที่บ้านเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากหนองบัวไปราว ๕๐ กิโลเมตร และอยู่ในเขตของการถลุงเหล็ก ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี อยุธยา โดยมีหลักฐานโบราณวัตถุและทางเอกสาร ก็ยังมีการเล่าสืบต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของคนเขาทอง ต้องส่งส่วยเหล็กให้กับกรุงศรีอยุธยา และมีชื่อในการถลุงเหล็ก ต่อมาเลิกทำ เปลี่ยนมามีชื่อในการทำเกวียนแทน เป็นคำบอกเล่าที่ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอน
  • แต่ที่แน่ชัดบ้านเขาทองกลุ่มดั้งเดิมในหมู่ที่ ๑ นั้น ตั้งอยู่บนเนินถลุงเหล็ก เป็นโคกสูงกว่าบ้านอื่น ๆ เห็นได้ชัดเจน มีบันทึกจากรายงานการค้าขายของชาวอังกฤษในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า แร่เหล็กมีทำกันมากในเขตเมืองเหนือแถบสุโขทัยและเมืองพิษณุโลก นอกจากนั้นยังมีบันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสอีกว่า บริเวณเมืองชัยนาท มโนรมย์ เรื่อยมาจนถึงเขาแม่เหล็ก ชาวบ้านยังต้องส่งส่วยเหล็กให้กับกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนหนึ่งหาบต่อคน ราคาจำหน่ายเหล็กต่อหาบบันทึกไว้ว่า ราคา ๖ - ๗ บาท
  • ส่วนข้อมูลสินค้าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บันทึกไว้ว่า แหล่งผลิตเหล็กอยู่บริเวณเมืองระแหง นครสวรรค์ และแม่ตาก ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดอนแถบภูเขา เหล็กผลิตเพื่อใช้เองภายในประเทศ เหลือส่งออกไปตามคาบสมุทรมาเลย์บ้างเล็กน้อย
  • ที่วัดหนองบัว ซึ่งเป็นการรวมเอาวัดหนองกลับเข้าอยู่ด้วยกัน เรียกว่า วัดหนองบัว - หนองกลับ มีพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมสิ่งของแบบพื้นบ้าน เช่น ตะเกียงเจ้าพายุ เครื่องมือสีข้าว เครื่องมือจับปลา เครื่องหั่นใบยาสูบ ฯลฯ
  • อาคารพิพิธภัณฑ์มีถึง ๒ หลัง และยังนำเอาเรือโยงขนาดใหญ่มาตั้งบนบกแสดงให้คนบ้านดอนที่มาเยี่ยมชมโดยพระครูวาปีปทุมรัตน์เจ้าอาวาสวัดหนองบัวหนองกลับเป็นผู้รวบรวมนอกจากนี้วัดหนองบัวยังมีศาลาไม้หลังใหญ่ประกอบโดยการใช้สลักไม้และโบสถ์ที่หลวงพ่อเดิมเกจิอาจารย์ของชาวนครสวรรค์มาสร้างไว้ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๖๖ และพ.ศ.๒๔๗๕ ตามลำดับเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงหลวงพ่อเดิมแม้ท่านจะจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองบัวเป็นระยะเวลาไม่นานนัก หนองบัวที่นครสวรรค์.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

  • ดีจังเลยครับ มีข้อมูลและเรื่องราวของชุมชนหนองบัวเพิ่มหลายมิติมากขึ้นเรื่อยๆ
  • นามสกุลโลหเวช เป็นนามสกุลที่ใหญ่ มีเยอะทั้งในหนองบัวและอีกหลายแห่งในประเทศ
  • ในหนองบัวเพื่อนผมคนหนึ่ง ชื่ออรุณ โลหเวช เป็นลูกหลานขอพ่อโน้ม-แม่มาลัย โลหเวช แต่เดิมมีบ้านเรือนและร้านขายของอยู่หน้าโรงพยาบาลคริสเตียน ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลอำเภอหนองบัว
  • อรุณ โลหเวช ต่อมาจบการศึกษาปริญญาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สาขาวิชาภูมิศาสตร์ จากนั้นก็เป็นบาทหลวงในคริสตศาสนา ซึ่งก็มีแววตั้งแต่เด็ก เพราะบุคลิกเยือกเย็น และครอบครัวพ่อแม่ก็นับถือคริสตศาสนา
  • อำเภอหนองบัวมีทรัพยากรจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายอย่าง นอกจากเหล็กแล้ว ก็มีเหมืองแร่ยิบซั่ม ไม้  ดินลูกรัง และผลิตภันฑ์จากป่า มากมาย

                       

  • สะพานไม้ที่บ้านตาลิน หน้าบ้านพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย แสงอาภา ครอบครัวดั้งเดิมครอบครัวหนึ่งของชุมชนบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ เป็นสะพานไม้ข้ามคลองซึ่งหน้าน้ำหลากเรือสามารถวิ่งได้ ข้างสะพานมีต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่
  • ถนนหนองบัวชุมแสงแต่เดิมเป็นดินโคลน รถบรรทุกไม้ต้องใช้โซ่พันรอบล้อทุกล้อให้เกาะถนน พร้อมกับมีลวดสลิงด้านหน้าเพื่อยึดกับต้นไม้และฉุดให้รถบรรทุกวิ่งไปบนถนนดินโคลนตลอดทาง
  • รถบรรทุกไม้จากป่าหนองบัว บรรทุกซุงจากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไปยังชุมแสง เพื่อล่องซุงไปแปรรูปและส่งไปตามเมืองต่างๆโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร
  • รถขนไม้และท่อนซุง ทำให้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีสาง นางพญาตานี นางไม้  รุกขเทวา รวมทั้งเรื่องลึกลับต่างๆเกี่ยวกับป่าและวิญญาณแห่งป่า บุคลิกของรถบรรทุกไม้และคนขับรถขนไม้จึงดูเป็นเรื่องขรึม ขลัง ลึกลับ น่ายำเกรง  เด็กๆและผู้หญิงมักถูกบอกห้ามเข้าใกล้ พร้อมกับมีเรื่องเล่าเรื่องผีผลักและทำให้โซ่ล่ามซุงขาด

ภาพประกอบ วาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ๒๕๕๒

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • มีผู้กล่าวถึงอำเภอหนองบัวและประวัติสั้น ๆ ของบุคคลสำคัญสองท่านในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ขออนุญาตนำมาลงไว้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ดังนี้

  http://www.nongbua.ac.th/tour.html

  • อำเภอหนองบัว เป็นอำเภอหนองบัวหนึ่งของ จังหวัดนครสวรรค์อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 70 กิโลเมตร เมื่อเดินทางไปตาม ถนน นครสวรรค์-ชัยภูมิ
  • อำเภอหนองบัวก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 100 ปี โดยการชักนำของเจ้าคุณเทพสิทธินายก (ห้อง ) วัดนครสวรรค์ ในสมัย แรกๆเป็นป่าเขาดงดิบอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านในสมัยนั้นอยู่กินทำกินกันแบบเรียบง่าย
  • มีวัดเป็นศูนย์รวมใจ เนื่องจากมีหลวงพ่อเดิม ซึ่งเคยจำอยู่ที่วัดหนองโพ เดินทางมาอยู่จำพรรษา ณ วัดหนองบัว-หนองกลับ ในสมัยนั้นเรียกว่า " วัดใหญ่ " หลวงพ่อได้นำพาชาวบ้านสร้างโบสถ์และศาลา ไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน มาจนถึงทุกวันนี้
  • ปัจจุบันมีประชากรเพิ่มขึ้นมากมาย ป่าเขาลำเนาไพรก็ถูกหักล้างถางพง ทำไร่ไถนา เปลี่ยนจากชนบท กลายเป็นสังคมเมืองไป แต่ชาวบ้านก็ยังรักษาเอกลักษณ์ที่เป็นประเพณีพิธีกรรม ไว้ได้ เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับ เรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเสมือนมรดกตกทอดสืบต่อกันมา ทำให้คนที่ไปท่องเที่ยวได้รับความเพลิดเพลิน อิ่มเอิบกับความมี น้ำใจ จากชาวหนองบัว... นครสวรรค์
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • เห็นภาพวาดรถข้ามสะพานของโยมอาจารย์แล้วทำให้นึกถึงตอนเข็นข้าวฟ่อนจากนามาไว้ที่ลานบ้านข้าวฟ่อนจะเรียงเป็นชั้น ๆ บนตู้เกวียนสูงขึ้นไปอีกสาม-สี่แถว
  • ข้าวฟ่อนใหญ่ ๆ ไม่มีเชือกมัดเหมือนรถอาจารย์แต่จะมีไม้คันหลาวเสียบตรงกลางยึดฟ่อนข้าวให้แน่น คนขับเกวียนนั่งอยู่ข้างบนเวลาเกวียนตกร่องหรือเหยียบก้อนขี้แต้แต่ละทีเกวียนจะโงนเงนโยกเยกน่ากลัวตกมาก ยิ่งเข็นฟางด้วยแล้วจะสูงกว่าข้าวฟ่อนมากและมองไม่ค่อยเห็นทางเกวียนอีกต่างหาก 
  • บางครั้งถ้ามีหัวขี้แต้มาก ๆ โชว์เฟอร์หรือคนขับเกวียนต้องลงมายืนที่ทวกเกวียนเพราะถ้าตกมาพร้อมฟ่อนข้าวแล้วจะเจ็บไม่ใช่เล่น

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

การขนข้าวด้วยเกวียนของเกษตรกรชุมชนหนองบัว

ท่านพระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ได้เล่าถึงการขนข้าวของเกษตรกรชุมชนนหนองบัว นครสวรรค์ ผมก็เลยเขียนภาพมาให้ดูไปด้วย เพราะการขนข้าวนั้นเป็นวิถีชุมชนการผลิตซึ่งในแต่ละท้องถิ่นอาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง

ในความแตกต่างดังกล่าวมักมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ของชาวบ้าน สะท้อนการคิดและพัฒนาตนเองขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เห็นถึงบริบทของสังคม สภาพแวดล้อม และลักษณะต่างๆของแต่ละท้องถิ่น ได้เป็นอย่างดี

ล้อเกวียนและลักษณะเกวียน รวมทั้งการใช้วัวกับการใช้ควายของชาวบ้านในตัวเมืองหนองบัวกับชุมชนรอบนอก อาจแตกต่างกัน สิ่งที่เป็นปัจจัยความแตกต่างที่สำคัญคือลักษณะดินในพื้นที่การทำนา โดยเฉพาะดินทราย ดินร่วน และดินเหนียว กับการใช้ควายหรือวัว

ในพื้นที่นาและชุมชนที่มีดินทรายมาก ล้อเกวียนชาวบ้านจะมีซี่ยาวและโปร่ง ยกเพลาและเรือนเกวียนสูง ตัวถังเกวียนจะสอบแคบและสูงกว่าทั่วไปเพื่อให้เหมาะแก่การใช้วัวเทียมเกวียนมากกว่าใช้ควาย

ส่วนพื้นที่ชุมชนที่มีดินเหนียวมาก เช่น แถวบ้านตาลินและพื้นที่รอบนอกของตัวเมืองหนองบัว กงล้อเกวียนจะเล็กกว่า ตัวเรือนเตี้ย ซึ่งจะเหมาะแก่การเทียมควาย

การขนฟ่อนและมัดข้าวในหนึ่งเกวียน ชาวนามีวิธีวางเรียงและบรรทุกได้ถึงครั้งละ ๔๐-๖๐ มัดโดยไม่ต้องมีเชือกหรือใช้โซ่ผูกเลย ใช้หลักของความสมดุล การออกแบบเกวียน และศิลปะการเรียงอย่างรู้แรงยึดกันเองของฟางข้าวเป็นอย่างดี

 

                     

ในชุมชนเกษตรกรภาคเหนือกับภาคใต้ จะมีวัฒนธรรมการเก็บเกี่ยวและนวดข้าวต่างจากชุมชนหนองบัวและชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง โดยจะจัดลอมข้าว ทำลานข้าว และนวดข้าวด้วยการตีแล้วจึงฝัด เสร็จแล้วจึงค่อยขนจากนาเข้ายุ้งฉางที่สร้างไว้ในบริเวณบ้าน

ส่วนเกษตรกรชุมชนหนองบัวโดยส่วนใหญ่นั้น จะขนฟ่อนข้าวและมัดข้าวไปจัดเป็นลอมข้าวในลานซึ่งอยู่ในบริเวณบ้าน แล้วจึงขอลงแขกจากญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านนวดและขนข้าว

ภาพประกอบ วาดโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฎาคม ๒๕๕๒

การฝัดข้าว วัฒนธรรมการลงแขก - เอาแรง และเทคโนโลยีพอเพียง

ในภาคเหนือและภาคใต้ เกษตรกรนาข้าว อาจมีวิธีการนวดและฝัดข้าวแตกต่างกันออกไป วิธีการและกระบวนการที่แตกต่าง ก็จะมีการคิดค้นเครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อชุมชนการผลิตของเกษตรกรที่แตกต่างกันออกไป โดยเน้นการตีฟ่อนและมัดข้าวบนลาน หรือเครื่องจักสาน

ระหว่างนั้น ก็พัดโบกเพื่อให้เมล็ดข้าวกับข้าวลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการแยกออกจากกัน อีกทั้งมักทำในที่นาเลย ซึ่งจะเหมือนกับวิธีการของชาวนาในเมืองหลวงพระบางและหลายแห่งที่ผมเคยได้ไปเห็น จากนั้นจึงค่อนขนกลับบ้านและเก็บเข้ายุ้งฉาง วิธีการดังกล่าว มักทำในหมู่เกษตรที่มีผืนนาไกลออกไปมากจากที่อยู่อาศัย

การฝัดข้าวของชุมชนบ้านตาลินและชุมชนหนองบัว

การฝัดข้าว หากมีจำนวนมากเกินจะฝัดด้วยกระด้ง เกษรตกรก็จะต้องทำช่วยกันเป็นชุมชนหรือกลุ่มก้อนการผลิต โดยใช้เครื่องฝัดข้าวซึ่งเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่าสีฝัดข้าว แรงงานในการช่วยกันฝัดข้าวจะเป็นเอาแรงกัน โดยทั่วไป ชาวบ้านจะอาสาไปช่วย ไปขอเอาแรง ดังนั้น เกษตรกรที่จะฝัดข้าวก็จะบอกกล่าวต่อๆกันไป บ้านไหนรู้ก็จะขอมาเอาแรง เพื่อจะได้มีคนไปช่วยตนบ้างเมื่อถึงคราต้องฝัดข้าวของตน

การฝัดข้าว จะทำหลังฤดูเก็บเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวและฤดูแล้ง ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งลมจะไม่ค่อยผันผวน เป็นลมว่าวและลมล่องข้าวเบา

 

                       

การฝัดข้าวด้วยสีฝัดข้าว กระด้ง วัฒนธรรมการลงแขก - เอาแรง และเทคโนโลยีพอเพียง ของชุนบ้านตาลินและชุมชนเกษตรกรหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรค์  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฎาคม ๒๕๕๒

 

เครื่องฝัดข้าว เป็นเครื่องเป่าลมซึ่งมีชุดใบพัดหลายใบอยู่ข้างในตัวสีฝัดข้าว ทำด้วยไม้ผสมเครื่องเหล็ก รูปทรงเหมือนหัวแมงปอ ใช้มือหมุนและผลัดกันหมุนทีละคนก็สามารถหมุนได้อย่างดี

เกษตรกรจะใช้กระบุงโกยข้าวเปลือกและเทใส่สีฝัดข้าวจากด้านบน ลมแรงจากสีฝัดข้าวจะเป่าข้าวเปลือกที่นวดแล้วแยกออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่เป็นเมล็ดข้าวเปลือกจะมีน้ำหนักมาก ก็จะร่วงลงด้านล่างและไหลออกมาตามรางด้านหน้า เกษตรกรและแขกผู้มาเอาแรงกันก็จะช่วยกันโกยออก แยกเป็นกองข้าวเปลือกที่ฝัดแล้ว

อีกส่วนหนึ่ง เป็นเมล็ดข้าวลีบ เศษฟางข้าว และสิ่งที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเมล็ดข้าว ก็จะถูกลมแรงมากจากเครื่องฝัดข้าวเป่าออกไปไกล เกษตรกรจะเก็บส่วนนี้ไว้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงเผาถ่านหรือคลุมแปลงปลูกผัก เป็นปุ๋ยโดยธรรมชาติ

อีกส่วนหนึ่ง น้ำหนักน้อยกว่าเมล็ดข้าว แต่ก็ไม่ปลิวออกไปไกลมากนัก จะหลุ่นกองอยู่ตรงท้ายเครื่องฝัดข้าว ตรงส่วนนี้อาจจะมีเมล็ดข้าวปะปนอยู่กับข้าวลีบและเศษฝาง ขณะเดียวกัน ระหว่างโกยเมล็ดข้าวเปลือกใส่ลงไปในสีฝัดข้าว ก็จะมีข้าวเปลือกบางส่วนลงเหลือกติดลานข้าว รวมทั้งบางส่วนที่มีก้อนดินและเศษไม้ เศษหิน เจือปน

เกษตรกรก็จะนำเอาทั้ง ๒ ส่วนนี้มาฝัดด้วยกระด้ง เพื่อแยกเมล็ดข้าวออกมาด้วยมือและแรงคน

ในขณะที่ฝัดข้าว หากมีคนมาเอาแรงและช่วยกันลงแขกมาก ก็จะขนข้าวที่ฝัดแล้วเก็บเข้ายุ้งฉางเลย ข้าวที่นวดแล้วและยังไม่ได้ฝัด จะกองอยู่อีกทางหนึ่ง และข้าวที่ฝัดแล้วก็จะกองอยู่อีกทางหนึ่ง

เจ้าภาพการฝัดข้าว จะต้อนรับขับสู้แขกและผู้มาเอาแรงเป็นอย่างดี ทั้งอาหารการกิน น้ำท่า ขนมทำเอง รวมทั้งการทำอุ เหล้าขาว และข้าวหมากสำหรับเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้ไม่นิยมดื่มเหล้าขาว ซึ่งจะเลือกเอาจากข้าวเหนียวอย่างดีและหมักอย่างดีเพื่อเตรียมต้อนรับแขกฝัดข้าวอย่างเป็นการเฉพาะ

อุปกรณ์และเครื่องใช้ในการฝัดข้าวก็จะทำขึ้นเป็นชุด โดยมากก็ทำขึ้นด้วยมือ ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งทรัพยากร วัตถุดิบและเทคโนโลยีในท้องถิ่น เช่น เครื่องไม้และเครื่องจักสานจากไม้ไผ่

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • เมื่อคืนอินเตอร์เน็ตหลุดทั้งคืนและเลยมาถึงบ่ายวันอาทิตย์อีกด้วย
  • พอดีวันนี้ไปธุระที่วัดใหญ่(พระุพุทธชินราช)พิษณุโลก มาถึงก็เปิดคอมพิวเตอร์เห็นภาพวาดของโยมอาจารย์แล้วถูกใจมากเลย วาดได้ดีมีชีวิตชีวามากมองเห็นบรรยากาศของท้องทุ่งในอดีตเมืองหนองบัวและรอบนอกได้แจ่มแจ๋มชัดเจน
  • และมีคำบรรยายบอกรายละเอียดวิธีการทำได้ครบทุกขั้นตอนอ่านและดูภาพประกอบแล้วจึงได้ทั้งความรู้และความสุข.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และสวัสดีทุกท่านครับ

  • คนเก่าๆ ได้ดูแล้วจะได้มีความสุข ได้รำลึกถึงชีวิตและความเป็นอยู่ในอดีต ผมเองก็มีความสุขระหว่างที่วาดดีเหมือนกันครับ
  • คนรุ่นใหม่ที่มาเจอสภาพการเปลี่ยนแปลง ทั้งของสังคมและของท้องถิ่น ก็จะได้นึกภาพออก การเชื่อมโยงประสบการณ์ทางสังคมและการเกิดมโนภาพเกี่ยวกับตนเองของคนระหว่างรุ่น ก็แจ่มชัดมากขึ้นเหมือนอย่างที่พระคุณเจ้าสะท้อนความคิดเห็นให้ด้วยนะครับ
  • ถึงแม้จะเป็นคนวาดเอง แต่ผมก็ได้ความประหลาดใจและเป็นโอกาสได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียกว่า ความรู้จากประสบการณ์ทางสังคมและความรู้ฝังลึกในตัวของเรา หรือ Tacit Knowledge มากเลยทีเดียวครับ  ต้องกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าและทุกท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในนี้ ที่เป็นผู้กระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจในทางอ้อมนะครับ
  • เนื่องจากพอนั่งวาด ทุกๆอย่างก็เหมือนปริ่มอยู่ตรงปลายนิ้วมือเท่านั้นเอง มันเห็นและนึกภาพออกเพราะฝังแน่นอยู่ในหัว
  • เลยเห็นบทบาทของการเรียนรู้ผ่านกระบวนการชุมชนและการมีประสบการณ์ต่อสังคม การได้อยู่ได้ทำ ได้ใช้ชีวิต และมีผู้คนรอบข้างเป็นทั้งครูและผู้เรียนของกันและกัน ว่ามันทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นมวลประสบการณ์นั้น ฝังแน่น คงทน และแจ่มชัดมากจริงๆ ไม่ได้นำมาทบทวนก็ไม่รู้ตนเองเหมือนกันครับ 
  • ครอบครัวและญาติพี่น้อง กิจกรรมชุมชน และแหล่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงให้เด็กๆและผู้คนมีประสบการณ์อย่างใกล้ชิดต่อวิถีชีวิตชุมชน จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้มากๆครับ
  • หลายอย่างที่ชุมชนหนองบัวมีอยู่ จึงเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่ดี อย่างที่พระคุณเจ้าและหลายท่านในนี้กำลังช่วยกันรวบรวมน่ะครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • อาตมาภาพนั่งนึกถึงเรือโดยสารหนองบัว-ชุมแสงแล้วไม่ทันได้เห็นจริง ๆ
  • แต่เหลืออีกสองสิ่งที่โยมอาจารย์เขียนถึงคือโรงไฟ้ฟ้เกาะลอย กับวงเวียนสี่แยกหอนาฬิกาหนองบัวสองสิ่งนี้ก็พยายามทบทวนความจำนึกแล้วนึกอีก ยังมีภาพความทรงจำเกี่ยวกับหอนาฬิกาอยู่นิดหน่ยอคือเกือบจะนึกไม่ออกแล้ว ถ้ามีคนถามขึ้นมาเหมือนกับจะบอกไม่ได้เลยว่า เคยมีสิ่งเหล่านี้ที่หนองบัว ส่วนโรงไฟฟ้เกาะลอยจำไม่ไ้ด้แล้ว
  • ทั้ง ๆ รุ่นอาตมาน่าจะจำได้ แต่โรงพยาบาลคริสเตียนที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั้นยังจำได้ดีแม้แต่หมออรุณที่เป็นฝรั่งชื่อไทยก็ยังนึกเค้าหน้าตาออก

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

แก้คำผิด โรงไฟ้ฟ้เกาะลอย แก้เป็น โรงไฟฟ้าเกาะลอย

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) ชาวหนองบัว และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • เรือโดยสารนี่ผมนึกภาพออกครับ แต่เวลานึกถึงทีไรก็นึกเห็นภาพการลอดใต้สะพาน ซึ่งนึกไม่ออกว่าเป็นที่ไหน พยายามนึกอยู่ก็เห็นจะมีอยู่เพียงสองที่คือที่สะพานโรงสีห้วยถั่วใต้ ก่อนถึงวัดกระดานหน้าแกร กับสะพานตรงสี่แยกที่ข้างโรงพยาบาลคริสเตียนเดิม แต่พอพระคุณเจ้าบอกว่าไม่ทันได้เห็นเรือโดยสารหนองบัว-ชุมแสง ผมก็เลยชักไม่แน่ใจ แต่ภาพที่นึกถึงมันก็ชัดมากพอสมควร จะลองสอบถามข้อมูลจากคนเก่าๆก่อนครับ
  • โรงไฟฟ้านี่ผมพอนึกถึงที่ตั้งออกและจำภาพรวมๆของเกาะลอยได้ครับ วงเวียนหอนาฬิกาและลำโพงกระจายเสียงตามสายตรงสี่แยกหนองบัว-หนองกลับ ก็พอจะนึกภาพออกครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

 

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ ผมเองตื้นตันใจมากเห็นภาพย้อนยุค มีเพื่อนๆหลายคนโทรมาถามบอกว่า อารมณ์ได้จัดเลยหล่าว..

ยิ่งหอนาฬิกา ขะบวนนั่งเป่าแตรแห่นาคบนหัวรถ สิบล้อยิ่งอยากเห็นขึ้นมาอีก หอนาฬิกา ผมเองคนรุ่นหลังยอมรับไม่ทันครับหวังว่าท่านอาจารย์คงมีผลงานมาให้ชมกันนะครับ

  • สวัสดีครับคุณเสวก ผมอ่านที่คุณเสวกเขียนแล้ว ที่บอกว่า อารมณ์ได้จัดเลยหล่าว นั้น อ่านแล้วอดยิ้มคนเดียวไม่ได้ เพราะแว่วสำเนียงเหน่อๆของคนหนองบัวขึ้นมาเลย
  • ดีใจครับที่ทำให้ได้อ่านและดูรูปแล้วได้ตื้นตันใจแล้วก็ทำให้มีเรื่องราวของบ้านเกิดเมืองนอนไปคุยกันให้ได้ความสุขและได้ความซาบซึ้งใจเกี่ยวกับเรื่องราวของสังคมที่เราก่อเกิดและเติบโต
  • หอนาฬิกาและหอกระจายเสียงตามสายกับการแห่นาคนั้น ว่างๆจะวาดมาให้ดูครับ รวมทั้งเรื่องอื่นๆที่ทุกท่านได้เก็บรวบรวมและเขียนไว้ หากเป็นเรื่องที่ร่วมสมัยกับผมและผมพอจะรู้จัก-มีประสบการณ์ต่อเรื่องนั้นๆ ก็จะช่วยเขียน-วาดรูปประกอบให้นะครับ เป็นการให้กำลังใจในทางอ้อมแก่ทุกท่านนะครับ
  • ทุกเรื่องในหัวข้อที่เปิดไว้ให้พระคุณเจ้าพระมหาแลท่านเป็นเจ้าของเรื่องตรงหัวข้อนี้ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อการแสดงออกในการเรียนรู้ของคนท้องถิ่นและคนทั่วไปครับ
  • เพียงแต่มีบางส่วนที่ทุกท่านเขียน ได้นำมาจากงานเขียนและแหล่งความรู้อื่นๆของผู้อื่น แต่ก็เห็นว่าได้มีการกล่าวถึงและให้การอ้างอิง เป็นการแสดงเจตนาที่ไม่ได้นำมาถ่ายทอดเพื่อมุ่งประโยชน์แก่ตนเอง ซึ่งถ้าหากเป็นไปได้ ในโอกาสต่อๆไป หากมีการนำมาถ่ายทอดอย่างนี้อีกก็อยากให้ใช้วิธีลิ๊งค์เอานะครับ หรือไม่อย่างนั้นก็นำมาเขียนและเรียบเรียงใหม่ในภาษาและวิธีการของเราเองพร้อมกับอ้างอิงถึงแหล่งที่มา
  • ขอให้มีความสุขในการเรียนรู้ตนเองและร่วมกันสร้างความรู้ไว้ให้แก่ชุมชนในวิถีชาวบ้านๆทุกท่านนะครับ
  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

    ตอนเป็นเด็กชอบกินไอติม(คนในบ้านเรียกไอ้ติม)แท่งมากและเด็ก ๆ นั้นจะชอบไอติมรสถั่วดำ จำได้ว่าไอติมที่ปลายไม้มีสีแดงเรียกว่าไอติมป๊อบ (ไม่ทราบว่าทำไมจึงเรียกอย่างนั้นเหมือนกัน)ถ้าเด็กกัดแล้วเจอปลายไม้สีแดงก็ได้เฮดีใจใหญ่ เพราะนำไปแลกฟรีได้อีก ๑ แท่ง การมีไอติมป๊อบถือเป็นกลยุทธ์การขายไอติมที่ได้ผลดีมากเพราะซื้อแล้วคอยลุ้นว่าจะได้อีกกินฟรีอีกแท่งหรือไม่ โรงไอติมหนองบัวอยู่ติดสระน้ำวัดใหญ่ทางไปเกาะลอย ตรงข้ามกับบ้านครูจำลอง.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

    เด็กแสบห้องครูเก่า    ฝังดูแล้วไม่น่างงครับ วันนี้ผมอยากมาลำลึกถึงคุณครู โรงเรียนหนองบัวเทพบ้างครับ เด็กแสบห้องครูเก่ามักจะมีทุกๆโรงเรียนแต่เรื่องเล่านี้เกิดขึ้นกับตัวผมเอง ตอนเรียน ชั้นเตรียมเรียนอยู่ที่โรงพิธีของวัดหนองกลับ เป็นเด็กที่กลัวคนมาก วันแรกแม่ผมไปส่ง และแวะไปซื้อของที่ตลาดสด ความกลัวทำให้ผมกล้าเดินกลับบ้านคนเดียวได้โดยมาถึงบ้านผมก่อนแม่เสียอีก หนทางก็น่ากลัวสำหรับเด็ก ต่อมาขึ้นประถม ครูจำลอง-ครูเสถียร มีอายุมากแล้วลีลาการสอนจะโดดเด่นกว่าครูคนอื่นๆ ไม่รู้เป็นเพราะอะไรที่ดลให้มาพบกัน นักเรียนกว่าครึ่งห้องล้วนแสบทั้งนั้น เดิมห้องเรียนมีครูจำลองเพียงคนเดียว แต่ต่อมาดูท่าจะเอาไม่ไหวเลยจำเป็นต้องมีครูเสถียรเพิ่มมาอีกคน ครูจำลองอยู่หน้าห้อง ครูเสถียรอยู่ด้านหลัง เสียงต้องดัง บวกกับการเอาไม้เรียวฟาดโต๊ะ ทุกคนไม่กล้าที่จะเอ่ยปากพูดคุยในเวลาสอน เหตุที่ต้องมีครูสองคนความจริงไม่ใช่เพราะว่าเอาเด็กไม่อยู่หรอกครับ เพราะครูสองคนใกล้เกษียณทั่งคู่เลยให้มาช่วยกันสอน แต่ตอนเด็กๆคงไม่มีใครคิดได้อย่างนั้น ได้แต่แอบขำกันว่าเราคือห้องเด็กแสบ และไม่ว่าจะไปชั้นไหนก็มักจะดุๆทั้งนั้นแต่ผมก็ยังศัทธาคุณครูทุกคนครับ

    เครื่องหีบอ้อย กับคนหนองบัว-หนองกลับจังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านหนองบัวหนองกลับไม่เพียงแต่จะทำนาทำไร่เป็นอย่างเดียว แต่การคิดค้นทำสิ่งประดิฐทางภูมิปัญญาต้องยกนิ้วให้ การทำเครื่องมือแปรสะภาพของผลทางการเกษตร เช่น เครื่องหีบอ้อย มักจะทำโดยการนำท่อนไม้ขนาดใหญ่ สามท่อน โดยการทำแบบเฟืองขบกันโดยใช้ควายเป็นต้นกำลังในการลากจูงให้เครื่องทำงาน ด้านล่าง จะขุดชักร่องไว้สำหรับตักน้ำอ้อยได้ โดยมี ภาชนะที่ทำจากกะลามะพร้าวต้อด้วยด้ามไม้ น้ำอ้อยที่ได้ชาวบ้านมักเรียกว่าน้ำเยี่ยววัว มีลักษณะคล้ายปัสวะของวัวนั่นเอง พื้นที่ที่มีการหีบอ้อย ได้แก่ คลองสมอ นาโศกจั่น บ้านหนองขาม มักทำควบคู่ไปกับการเผาถ่าน ปัจจุบันเครื่องหีบอ้อย ไม่แน่ใจว่าที่วัดหนองกลับยังมีให้ชมอยู่หรือป่าว ถ้าจะให้ลองนึกดูภาพที่วาดนั้นจะได้จากการจดจำสมัยตอนเด็กๆอาจมี บางส่วนที่ไม่สมจริง เพราะมันนานมากเลยครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) ท่านอาจารย์วิรัตน์ และท่านผู้อ่านทุกท่าน อีกครั้งครับ

    เมื่อสักครู่ผมได้ส่งเรี่องเครื่องหีบอ้อย แต่รูปไปอยู่ใน ไฟล์อัลบั้ม ของผม ไม่ทราบว่าจะมีวิธีการลิ้งค์เข้ามาอย่างไร ผมเองลองหลายครั้งแล้วว่าจะเป็นการผิดพลาดก็เป็นได้ และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกกราบขอประทานภัยไว้ณ.ที่นี้ด้วยครับ

    สวัสดีค่ะ คุณเสวก

    • ถ้ารูปอยู่ในไฟล์อัลบั้มแล้ว ถือว่าทำสำเร็จไป ๕๐% แล้วค่ะ
    • หลังจาก เข้าสู่ระบบ แล้วลองทำตามลำดับนี้นะค่ะ
    • (๑) มาที่กล่องข้อความเพื่อแสดงความคิดเห็นนะค่ะ
    • (๒) คลิ๊กที่ "เรียกใช้งานตัวจัดารข้อความ" ซึ่งด้านบนจะปรากฏบล๊อคสำหรับจัดรูปแบบข้อความขึ้นมา ส่วนด้านล่าง จะขึ้นคำว่า "คลิกที่นี่เพื่อแทรกรูปภาพ" ซึ่งหลังจากคลิ๊กตรงส่วนนี้แล้ว ภาพที่คุณเสวกได้นำภาพเข้าไปอยู่ที่ไฟล์อัลบั้มแล้วจะปรากฏขึ้นมาค่ะ
    • (๓) คลิ๊กเลือกรูปภาพที่คุณเสวกต้องการจะนำมาใส่ในกล่องแสดงความคิดเห็นได้เลยค่ะ
    • (๔) เมื่อนำภาพขึ้นมาในกล่องนี้ได้แล้ว จะปรากฏภาพดังนี้ค่ะ

           

    • ลองดูนะค่ะ
    • อ้าว! ไหงข้อความไปซะแล้ว กำลังจะบอกว่า ฝาก "ข้าวหอใบบัว" สำหรับทุกท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในบล๊อคนี้ด้วยนะค่ะ

            

    • ดีใจกับคน หนองบัว หนองกลับ จังเลยค่ะที่กำลังมีคลังข้อมูลที่มีคุณค่ามากๆ ในบล๊อคนี้ค่ะ
    • ขอแว๊บๆ มาแอบอ่านเรื่อยๆ นะค่ะ ได้ความรู้ และขอเรียนรู้ไปกับข้อมูลชุมชนชุดนี้ค่ะ ...
    • ขอบคุณค่ะ
    • ขอแสดงความยินดีกับคุณเสวก กลุ่มพริกเกลือ และชาวหนองบัวนะครับ ที่เปิดบล๊อกของตัวเองขึ้นมาได้แล้ว
    • อาจารย์ณัฐพัชร์ไปยังไงมายังไงกันล่ะเนี่ย งั้นแนะนำให้เสวนากันไปตามอัธยาศัยเลยนะครับ อาจารย์ณัฐพัชร์นี่เป็นทีมนักวิจัยที่กำลังศึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรที่ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ด้วยนะครับ เผื่อมีโอกาสแวะมาศึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์และเรื่องชุมชนของหนองบัวบ้าง ชุมชนในท้องถิ่นจะได้มีเครือข่ายนักวิชาการชุมชนมาเป็นเพื่อนเสิรมกำลังทางปัญญานะครับ
    • ขอกราบขอบพระคุณท่าน อาจารย์ณัฐพัชร์ เป็นอย่างสูงมากเลยครับที่เข้ามาถ่ายทอดเกร็ดคามรู้ดีๆแด่กันฟังครับ

    รูปภาพนี้เป็นรูปต่อจากหัวข้อ

    เครื่องหีบอ้อย กับคนหนองบัว-หนองกลับ ยังต้องฝึกฝนอีกมาก ดูแล้วขี้เหล่มากและที่สำคัญต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ณัฐพัชร์ ที่ให้คำแนะนำการนำรูปลงด้วยครับ

    • เข้าท่าจริงๆครับคุณเสวก ไม่ขี้เหร่หรอก ดูดี มีเสน่ห์ มีคุณค่ามากกว่ารูปถ่ายเยอะเลยครับ
    • ในทางศิลปะก็นับว่าสวยงามนะครับ
    • ในแง่ของการวาดรูปเพื่อการวิจัยชุมชน เก็บบันทึกข้อมูล และนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ก็ได้รายละเอียดโดยภาพรวม เห็นภาพและนึกภาพออกเลยครับว่าก่อนได้กินน้ำตาลกรวดและน้ำตาลอ้อยนั้น ได้มาอย่างไร ชาวบ้านเขามีวิถีการผลิตขึ้นมาอย่างไร
    • ข้อมูลที่คุณเสวกเล่าและวาดรูปขึ้นมาอย่างนี้นั้น หากค่อยๆสำรวจและศึกษาชุมชนของเราเองต่อ ผมว่าก็จะทำให้เกิดแนวร่วมนักวิจัยชาวบ้าน เสาะหาสิ่งของและเรื่องราวของชุมชน ที่จะยิ่งทำให้เรื่องต่างๆเกี่ยวกับชุมชนหนองบัว มีความสมบูรณ์มากยิ่งๆขึ้นนะครับ
    • ใครๆแม้เป็นชาวบ้าน เมื่อเห็นรูปแล้วก็นึกออก และสามารถใช้ความรู้จากประบการณ์ เป็นนักวิจัยและหาความรู้เรื่องอย่างนี้ร่วมกับคุณเสวกได้ครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์คุณเสวกและผู้อ่านทุกท่าน

    •  เห็นภาพวาดของคุณเสวกภาพนี้แล้วคนรุ่นอาตมาภาพจะนึกถึงไร่อ้อยป่าเขาพระได้ทันทีเลย
    • ขอบคุณที่ช่วยให้ได้รำลึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ แจ่มชัดขึ้นอีก.

     ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) สวัสดี อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คุณเสวก ใยอินทร์ ค่ะ

    • วันนี้ได้เดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กราบนมัสการท่านพระครูอุทัยธนารักษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองน้ำส้ม และเจ้าคณะอำเภออุทัย พระนักพัฒนา เพื่อขอสัมภาษณ์ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน(ท้องถิ่น) ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดหนองน้ำส้ม ชื่อ "พิพิธภัณฑ์เรือไทยวัดหนองน้ำส้ม" ตั้งอยู่ที่ ต.หนองน้ำส้ม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
    • "ฉันเป็นลูกชาวนา" นี่คือประโยคแรกที่หลวงพ่อแนะนำตัวท่านเอง และขอรับทราบถึงความเป็นมา ในการริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เรือไทยแห่งนี้
    • "หนองน้ำส้มเป็นที่กันดาร เป็นที่ที่ห่างจาก อ.อุทัย ๑๐ กิโล อ.วังน้อย ๑๐ กิโล อำเภออื่นๆ อีกประมาณ ๑๐ กิโล หน้าแล้งก็แล้งมาก หน้าน้ำก็น้ำท่วมสูง ต้องมีการดูแลจัดการตัวเองทุกปี เหนื่อย แต่ก็สนุกดี" หลวงพ่อขยายความให้ฟังต่อเนื่องเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนวัดหนองน้ำส้ม เพราะสงสารเด็กๆ ที่จะต้องเดินเท้า หรือปั่นจักรยานไปโรงเรียนในอำเภออื่นๆ
    • "ทางวัดมีเรือมาด เรือพายม้า เรือหมู รู้จักไหม? มีเกวียนที่สามารถบรรทุกข้าวได้ถึง ๔๐-๕๐ กระสอบ เคยเห็นไหมเกวียน? เครื่องมือในการทำนา อย่างคราด คันไถ เครื่องฝัดข้าว เคยเห็นไหม? ........." หลวงพ่อจะลงท้ายประโยค เป็นประโยคคำถามแทบทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึงวัตถุจัดแสดงของท่าน เพื่อสอบถามผู้สัมภาษณ์ ซึ่งของบางอย่างผู้สัมภาษณ์ก็ได้แต่เพียงยิ้ม และส่ายหน้า แต่ตาลุกวาวเพราะอยากเห็น ......
    • "........................ ......... ......"
    • เมื่อจบการสัมภาษณ์ หลวงพ่อได้พานำชมพิพิธภัณฑ์ของท่าน ระหว่างเดินจากศาลาที่นั่งสัมภาษณ์ (ซึ่งขณะนี้มีการจัดวางศพอยู่) ไปยังศาลาที่จัดวางเรือ เกวียน ไปจนถึงเครื่องมือในการทำนา คราด คันไถ ซึ่งท่านสะสมไว้เยอะมาก จนถึงเครื่องฝัดข้าว พอเห็นแล้วร้อง อ๋อ ในใจ เพราะคุ้นๆ ว่าเคยเห็นภาพวาดของท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ในบล๊อคนี้

    • เครื่องฝัดข้าวที่ดูว่ายังสมบูรณ์อยู่มาก แต่หลวงพ่อบอกว่า ยังต้องซ่อมแซมนิดหน่อย

    • ฝัดข้าวเปลือกโดยใช้มือหมุนตรงนี้ค่ะ

    • ข้าวก็จะออกมาทางช่องนี้ค่ะ

    • หลวงพ่อสาธิตวิธีหมุนเครื่องให้ชมค่ะ แต่ฝืดๆ เล็กน้อย ท่านบอกว่า "ต้องทำความสะอาด และทำให้มันลื่นกว่านี้ เอาไว้อาคารใหม่เสร็จเมื่อไหร่ จะทำให้ดีกว่านี้ เด็กๆ รุ่นใหม่จะได้รู้จัก และมีของจริงให้ดู" .......
    • ไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ยังมีเครื่องฝัดข้าวที่ยังสามารถใช้ได้จริงอยู่หรือเปล่าค่ะ? หรือว่าจะมีแค่ให้เห็นได้ในพิพิธภัณฑ์แบบนี้ค่ะ?

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์อาจารย์ณัฐพัชร์และผู้อ่านทุกท่าน

    • วันนี้ลูกชาวนาขนานแท้ดั้งเดิมอย่างอาตมาขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์เป็นอย่างมากที่อาจารย์สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
    • วันก่อนได้เห็นภาพวาดเครื่องสีข้าว(ฝัดข้าว)ของอาจารย์วิรัตน์ว่าแจ่มแล้วเชียว แต่วันนี้ของอาจารย์ณัฐพัชร์ยิ่งแจ่มใหญ่เลย
    • ต้องขอกราบนมัสการขอบพระคุณ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดหนองน้ำส้ม เจ้าคณะอำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยาอย่างสูงที่หลวงพ่อได้เก็บเครื่องมือการทำนาของชาวบ้านเอาไว้ให้ลูกหลานได้ดูศึกษาเรียนรู้นับว่ามีคุณค่าอย่างมาก
    • หลวงพ่อท่านยังได้สร้างโรงเรียนให้คนในชุมชนได้เล่าเรียนหนังสืออีกด้วยท่านเป็นสงฆ์ที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างน่าเคารพบูชาเห็นแล้วก็สุขใจชื่นใจในกุศลจริยาสัมมาปฏิับัติขอกราบอนุโมทนาต่อหลวงพ่อด้วยครับ
    • จะขอเล่าให้อาจารย์ณัฐพัชร์ฟังว่าเครื่องฝัดข้าวนี้อาตมาเคยมีประสบการณ์ตรงเลยแหละ
    • มีเพลงพุ่มพวง ดวงจันทร์ชื่อเพลงอะไม่รู้แต่จะมีท่อนหนึ่งที่ร้องว่า ตอนทำนาข้าชื่อดาวเรือง ท่อนต่อไปจำไม่ไ้ด้เสียแล้ว
    • ตอนอาตมาทำนายุคโน้นนะรถเกี่ยวข้าวที่หนองบัวไม่มี ต้องใช้เครื่องฝัดข้าวที่อาจารย์นำมาให้ดูนี่แหละฝัดข้าว ข้าวเปลือกกองท่วมหัวยื่นมือ สิบเกวียน ยี่สิบเกยีน(๑๐ ตัน ๒๐ ตัน) ต้องระดมคนด้วยการเอาแรงกัน ๑๐-๒๐ คน
    • อาจารย์คิดดูนะเครื่องนี้ต้องใช้คนหมุนตั้งแต่หัวค่ำกว่าจะเสร็จเรียบร้อยก็ดึกดื่นค่อนคืนเหนื่อยแสนเหนื่อยจนบรรยายไม่ถูก
    • หมุนด้วยมือทีละคนตอนแรกก็หมุนได้สม่ำเสมอดีหรอกหมุนแขนซ้ายเมื่อยแล้วเปลี่ยนแขนขวา แขนเดียวเมื่อยมากไม่ไหวก็รวบทีเดียวสองแขน
    • ล้าจนไม่ไหวก็ให้คนอื่นมาเปลี่ยนสลับกันอย่างนี้แหละ ถ้าจะให้ดีต้องไปเอาแรงบ้านอื่นที่อยู่ใกล้กันแล้วถ้ามีสาว ๆ ด้วยยิ่งดีใหญ่เลยคล้ายจะไม่เหนื่อยหรืออย่างไรก็ไม่รู้นะ
    • ฝัดเสร็จก็เลี้ยงอาหารรอบดึกปิดท้าย
    • หน้านี้หนาวเสียด้วย เรื่องอาบน้ำดึก ๆ อย่างนี้บางครั้งก็เอาไว้วันรุ่งขึ้นก็มีและอิ่มข้าวแล้วก็นอนตามกองฟางเลยอุ่นดีเสียด้วยนะจะบอกให้
    • ตอนนี้มีแต่รถเกี่ยวข้าวไม่แน่ใจว่าจะยังมีเครื่องฝัดข้าวที่ชาวบ้านใช้ได้จริงอยู่หรือไม่.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • เลยยิ่งทำให้เห็นภาพและได้รายละเอียดดีมากขึ้นไปอีกนะครับ เหมือนสารคดีและพิพิธภัณฑ์ออนไลน์เลย
    • รูปที่เป็นด้านหลังของเครื่องฝัดข้าวนั้น ไม่ใช่ที่เมล็ดข้าวออกมาหรอกครับ หมายถึงรูปนี่น่ะครับ

    • ตรงด้านหลังนี้เป็นที่แกลบ ข้าวลีบ และเศษฟาง ซึ่งจะไม่มีน้ำหนักเหมือนเมล็ดข้าว เลยถูกลมเป่าออกมา
    • แต่เมล็ดข้าวจะตกลงไปบนรางแล้วไหลออกไปทางด้านหน้าครับ
    • อันที่จริงผมต้องวาดรูปในบรรยากาศกลางคืนอย่างที่พระคุณเจ้าว่า การฝัดข้าวและการลงแขกกัน โดยมากจะทำกันตอนกลางคืน ต้องมีตะเกียงเจ้าพายุอีก

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และกราบสวัสดี อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ค่ะ

    • พระคุณเจ้าขึ้นท่อนแรกเพลงของคุณพุ่มพวงมา ทำให้ต้องไป seacrh หาฟังเลยทีเดียวค่ะ
    • youtube ช่วยได้จริงๆ นอกจากจะได้ฟังเพลงจากเสียงของคุณพุ่มพวง ยังได้เห็นภาพของคุณพุ่มพวงที่เรียกว่า Music Video (MV) ให้หายคิดถึงเธอ หลังจากที่มีข่าวของคุณพ่อ และคุณลูกมีปัญหากระทบกระทั่งกันจนเป็นข่าวดัง
    • "ดาวเรือง ดาวโรย" ค่ะ ..... เพลงเพื่อชีวิต ของจริง ชีวิตจริงเลยหล่ะค่ะ ...
    • วัฒนธรรม "เอาแรง" นี่ดีจังเลยนะค่ะ เห็นได้ชัดถึงความร่วมมือ ร่วมแรง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ถ้า "กินแรง" เห็นท่าจะไม่ดีหล่ะค่ะ ...
    • .......
    • อ๋า! ต้องขอบพระคุณ อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ค่ะ ที่ช่วยแก้ไขข้อมูลให้ค่ะ พอย้อนกลับไปดูภาพวาดของอาจารย์แล้วชัดเจนค่ะว่าแกลบจะถูกพ่นออกมาด้านไหน และเมล็ดข้าวจะออกทางด้านไหน

      ประเพณีการแห่นาคหมู่และการบวชนาคหมู่ของชุมชนชาวหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

      ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฏาคม ๒๕๕๒

                                 

       

      ภาพขบวนแห่นาคหมู่อำเภอหนองบัว : ประเพณีการแห่นาคและการบวชนาคหมู่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ริเริ่มมายาวนานนับแต่ยุคหลวงพ่ออ๋อย หรือพระครูนิกรปทุมรักษ์ แห่งวัดหนองกลับหรือวัดหนองบัว ลูกศิษย์หลวงพ่อเดิม 

       

      การแห่นาคจะแห่นาคแต่ละจ้าวมาจากหมู่บ้านและชุมชนต่างๆทั่วสารทิศ ทั้งในตัวชุมชนอำเภอหนองบัวและจากโดยรอบ มักเริ่มแห่ออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณ ตี ๔-ตีห้าโดยประมาณ โดยกะให้ไปเตรียมข้าวของเพื่อเริ่มทะยอยเข้าโบสถ์อีกครั้งที่วัดหนองกลับซึ่งก็จะเริ่มแต่เช้าตรู่ให้เสร็จก่อนเพลเพื่อที่ญาติพี่น้องและนาคจะได้ทำการฉลองพระใหม่และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ได้

      บางปีมีนาคนับเป็นร้อยจ้าวก็จะเริ่มแห่และทำพิธีตั้งแต่ก่อนสว่าง เมื่อต่างก็แห่นาคมาถึงวัดแล้วก็จะมารวมกันที่ศาลาวัดหนองกลับ ซึ่งเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่โต

      ระหว่างการรอเพื่ออุปสมบทเป็นนาคหมู่พร้อมกัน ก็จะมีการเล่นแตรวง รำวง ล้อมวงกินข้าว แบ่งปันขนมและสิ่งของเพื่อช่วยงานกันและทำบุญกุศลร่วมกัน

      ในประเพณีดังกล่าว แตรวงมากมายหลายวง ก็จะมีบทบาทเหมือนกับเป็นผู้จัดกระบวนการทางสังคมและเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม รวมกลุ่มช่วยกันเป่าแตรและเล่นเพลงให้ชาวบ้านรำวงเอาแรงกัน จ้าวไหนแห่เสร็จก่อนก็จะไปช่วยแห่ให้กับจ้าวอื่น บ้างก็จะขอหามเสลี่ยงและขอให้ได้เป็นพาหนะให้นาคขี่คอ ด้วยถือว่าได้อานิสงมาก บ้างก็ขอช่วยหาบข้าวของที่เป็นอัฐบริขาร และบางทีก็แบ่งปันข้าวของตนเองเข้าไปช่วย

      การเข้าไปเดินร่วมในขบวนและการออกไปร่ายรำหน้านาค มักมีคนเฒ่าคนแก่และชาวบ้านทั่วไปที่โดยปรกติก็จะไม่เห็นการร่วมกิจกรรมรื่นเริง เนื่องจากในประเพณีดังกล่าว การร่ายรำหน้าขบวนแห่นาค อยู่ในฐานคติของการทำเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาหรือการบูชาด้วยดนตรีและการร่ายรำ มิใช่เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

      ในหมู่แตรวง จะมีวัฒนธรรมการไล่เพลง นั่งต่อเพลง และสอบทานทางเพลงให้กัน จึงนอกจากจะทำให้การบวชนาคทำให้ผู้คนหนองบัวมีสำนึกในการเป็นศิษย์ครูอาจารย์ร่วมโบสถ์เดียวกันแล้ว วัฒนธรรมอย่างในกลุ่มแตรวงนี้ ก็มีส่วนในการทำให้ผู้คนซึ่งก็มาจากชาวนาและชาวบ้าน ได้รู้จักเคารพนับถือกันเป็นครูอาจารย์รวมไปถึงทั้งชุมชน จะคิดและทำสิ่งใดก็มุ่งปรึกษาหารือกัน เป็นกลไกโดยธรรมชาติในการอยูร่วมกันในอดีต

      จากนั้นก็จะเริ่มแห่ขบวนนาค จัดเป็นนาคเอก นาคโท หรือไปจัดในตอนนั่งในโบสถ์ แห่รอบโบสถ์ เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทพร้อมกัน เป็นประเพณีการบวชนาคหมู่ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนชาวหนองบัว นครสวรรค์

      ระหว่างการแห่นาค ทั่วตลาดอำเภอหนองบัว รวมทั้งในวัดหนองกลับ ก็จะก่อให้เกิดการสื่อสารเรียนรู้และสร้างการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอย่างคึกคัก ทั้งชุมชนอำเภอเต็มไปด้วยบรรยากาศงานบุญและความครึกครื้น ปลื้มปีติ ผู้คนจะถามไถ่และทบทวนว่านาคเอก นาคโท เป็นใคร รวมทั้งพ่อนาคคนอื่นๆเป็นลูกหลานของใคร

      สิ่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของชุมชน เป็นวิธีสืบทอดประเพณีทางศาสนาที่ผสมผสานกลมกลืนกับวิถีของท้องถิ่น คงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้การบวชนาคและการแห่นาคหมู่ เป็นหนึ่งในคำขวัญของอำเภอหนองบัว.

       

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และกราบสวัสดี อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ

      หลวงอาครับผมเห็นรูปแล้วผมนึกถึง อะไรรู้ไหมครับ ก็จะอะไรเสียอีกละครับ ที่ผมนึกถึงคือ ภาพเขียนกระดานท้ายเกวียนครับ ภาพวาดท่านอาจารย์วิรัตน์ แสดงภาพเก่าๆได้เยี่ยมเลย  ลังเกตุจาก ที่กลองจะมีคำว่า ช.ลูกทุ่ง  เช่นเดียวกับกระด้านท้ายเกวียน จะมีภาพวาดที่ผมชอบมากและจำได้คือ  วงดนตรี  เพชรโพธิ์ทาราม  หรือไม่ก็การชนวัวชื่อก็จะเป็นคล้ายๆกับพระโคแรกนา ตอนเด็กมักเมื่อเวลาไปหยอดถัวลิสงแถวๆเขามรกตชาวบ้านจะไปวันเดียวกันคือชวงเดือนหกหรือเดือนเจ็ด แต่ต้องวันอาทิตย์ เด็กๆก็หยุดเรียนตามพ่อแม่ไปไร่ด้วย เกวียนก็จะไปจอดรวมๆกัน เด็กๆก็จะไม่ไปเล่นไกลเกวียนเพราะต้องคอยเฝ้าย่ามห่อข้าวด้วย ถ้าไม่งั้นสุนักมากินหมด เวลาเล่นกันมักวะมาคุยล้อกันว่า เกวียนเจ้านั้นไม่ค่อยมีคนเลยสู้ของเราไม่ได้มีคนมากกว่า เพราะภาพการชนวัวจะมีคนมาดูเยอะนั่นเอง มีโอกาศท่านอาจารย์วิรัตน์เขียนภาพวาดรวมถึงกระดานทายเกวียนด้วยผมว่าเดี๋ยวนี้ไม่รู้จะไปดูที่ไหนแล้ว ที่บ้านผมก็ยังมี แต่สีภาพมันหายไปแล้วครับ

      สวัสดีครับคุณเสวก กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • ผมก็พลอยสนุก ได้ทบทวนความทรงจำ ได้รำลึกถึงผู้คนและสิ่งต่างๆที่เราผูกพันไปด้วย การนั่งวาดรูปเป็นกระบวนการใช้ความคิดและทบทวนความรู้เกี่ยวกับตนเองที่ดีมากจริงๆ
      • หัวข้อนี้ของพระคุณเจ้ากลายเป็นหัวข้อยอดฮิตในบล๊อกผมไปแล้ว  เพิ่งเริ่มเขียนเมื่อไม่นาน ตอนนี้คนเข้ามาดูเกินพันครั้งไปแล้วครับ
      • คุณเสวกพูดถึงรูปวาดท้ายเกวียนนี่ผมนึกภาพออกเลย อันที่จริงผมเคยเขียนถึงงานศิลปะของช่างชาวบ้านนี้ในเว๊บศิษย์เก่าเพาะช่างซึ่งเป็นชุมชนศิลปะโดยตรงไปแล้ว มีรูปประกอบมากมาย แต่ตอนนี้เว๊บเข้าไม่ได้มาหลายเดือนแล้ว เสียดายจังเลย
      • หากไปหาถ่ายรูปมาได้ก็เอามาโพสต์ใส่ให้หน่อยสิครับ  รูปวาดตามข้างรถสองแถวและรถบรรทุกก็มี มีลมหายใจของชาวบ้านดี
      • คุณเสวกบอกว่าเคยไปหยอดถั่วทำไร่ที่เขามรกตด้วย บ้านผมก็มีไร่และไปทำไร่อยู่แถวเขามรกตอยู่พักหนึ่งเหมือนกันครับ รวมทั้งไปหาไม้ หาหน่อไม้ ฟืน กลอย มันเสา ปลูกข้าวโพด แล้วก็เคยได้กินลูกลานที่นั่นด้วย

      หอกระจายข่าว หอนาฬิกา และวงเวียน แยกกลางตลาดหนองบัว

      ภาพประกอบ วาดโดย :  ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สิงหาคม ๒๕๕๒

       

      ภาพแยกตลาดหนองบัวเดิม ตรงทางแยก มีวงเวียนหอนาฬิกาและหอนาฬิกานั้นก็ติดตั้งลำโพงเพื่อกระจายเสียงตามสาย ข้างหอนาฬิกามีป้อมตำรวจ ด้านซ้ายถัดจากป้อมตำรวจเป็นปั๊มน้ำมันสามทหาร มีต้นมะขาม ต้นมะขามเทศ และท่ารถไปเหมืองแร่ เขามะเกลือ ปากดง รถบรรทุกแร่และรถบรรทุกไม้ จากเหมืองแร่และปากดงไปยังชุมแสงและปากน้ำโพ จะผ่านที่แยกนี้ ถนนเป็นถนนลูกรังและดินเหนียว ฝุ่นหนาเป็นปึก

                              

      ระหว่างป้อมตำรวจกับปั๊มน้ำมันสามทหาร เป็นแยกที่เข้าไปยังชุมชนวัดเทพสุทธาวาส เป็นทั้งทางรถ ทางเกวียน ทางวัวและควาย เวลาแห่นาคจากด้านชุมชนวัดเทพสุทธาวาสมาวนตลาดหนองบัว หรืออาจจะมาวัดหนองกลับ ก็มักจะออกมาทางถนนแคบๆนี้

      ด้านขวาของป้อมตำรวจ มีกลุ่มอาคารพาณิชย์ เป็นอาคารไม้สองชั้น ๒ ฟากถนน ห้องแรกตรงคูหาริมขวานั้น เดิมเคยเป็นโรงพยาบาลคริสเตียน ซึ่งต่อมาได้ย้ายออกไปตั้งอีกที่หนึ่งนอกตัวเมืองกระทั่งพัฒนาเป็นโรงพยาบาลหนองบัวดังปัจจุบัน

      ห้องติดกับที่เป็นโรงพยาบาลคริสเตียนเดิม มักเห็นเป็นที่นั่งซ้อมวงดนตรีของชาวไทยจีนสำหรับแห่ล่อโก๊ะและเล่นงานงิ้ว ทางแยกที่เข้าไปแยกนี้ จะทะลุไปยังชุมชนวัดเทพสุทธาวาสเช่นกัน เวลาแห่ขบวนเจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัว จะเข้าไปที่แยกนี้

      ข้างอาคารหัวตลาดด้านขวามือของภาพ มักเป็นที่จัดกิจกรรมขายของของพ่อค้าเร่ เช่น เล่นกล และรถขายยา ร้านหัวตลาดที่เห็นในภาพเป็นร้านอาหารตามสั่ง ในปี ๒๕๑๑ นั้น ร้านตรงหัวตลาดนี้มีโทรทัศน์ขาวดำแล้ว

      ครั้งที่มีการถ่ายทอดยานอพอลโล ๑๑ ลงจอดบนดวงจันทร์นั้น คนทั้งอำเภอแห่กันมานั่งดูโทรทัศน์กันที่่ร้านนี้ แม้แต่โรงเรียนก็หยุดการเรียนการสอนชั่วครู่เพื่อให้เด็กๆและคุณครูมาดูการถ่ายทอดโทรทัศน์ยานอพอลโล ๑๑ ลงจอดดวงจันทร์

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) และกราบสวัสดี อาจารย์ วิรัตน์ คำศรีจันทร์ รวมทั้งผู้อ่านทุกๆท่าน

              แยกนี้ถ้าผมเดาไม่ผิดคือน่าจะเป็นทางออกของร้านครูมหาย้อยใช่ไหมครับสังเกตุจากร้านด้านขวาถ้าปัจุบันจะเป็นร้านกานต์ขายของกิ๊บช็อบซึ่งตรงข้ามกับจุดรับผู้โดยสารถ้าไม่ใช่ต้องขออภัยด้วยครับ เพราะสังเกตุจากร้านค้าด้านขวามือวาดได้เหมือนเอากล้องไปถ่ายมาเลยครับ แต่หอนาฬิกาผมจำไม่ได้หรือว่าเกิดไม่ทันเป็นแน่ครับ วันนี้อีกวันมีความสุขจริงๆครับ

      • หากบอกว่าเป็นทางออกของร้านคุณครูมหาย้อยก็คงใช่ แต่ร้านของคุณครูมหาย้อยกับร้านของปลัดกิ่งอยู่ใกล้ๆกันอีกแยกหนึ่ง ลึกเข้าไปด้านตลาดสดอีกทีหนึ่ง หากดูจากรูป ก็เดินตามถนนออกทางด้านหลังของรูปคนสองคนถือตะกร้าหิ้วของน่ะครับ
      • ด้านขวาของอีกคูหาหนึ่งเป็นร้านขายกิ๊ฟช็อป ดูเหมือนว่าชื่อร้านกานต์อย่างที่คุณเสวกว่านะครับ ไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนเจ้าของแล้วหรือยัง แต่เดิมนั้นเป็นร้านครอบครัวของเพื่อนหนองคอกรุ่นผม
      • ดีใจที่บอกว่าทำให้มีความสุขครับ

      การแห่นาคไปอุปสมบทของชาวชนบท

                                   

      ภาพแตรวงบนหลังคารถบรรทุกและการแห่นาคไปอุปสมบทของชาวชนบท วาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สิงหาคม ๒๕๕๒

      แตรวงกำลังบรรเลงบนหลังคารถบรรทุกแห่นาคไปอุปสมบท  การวัดขนาดของแตรงวง จะวัดขนาดด้วยจำนวนเครื่องเล่นดนตรีที่นอกเหนือจากกลองและเครื่องเคาะต่างๆ เช่น ฉาบ ฉิ่ง กรับ เริ่มตั้งแต่เครื่อง ๓ ซึ่งมีเครื่องเล่นพื้นฐานเสียงทุ้ม กลาง แหลม อย่างละชิ้น เครื่อง ๕ เครื่อง ๗ เครื่อง ๙ และมากกว่า หมายถึงมีจำนวนเครื่องเป่าจำนวนเท่านั้นๆชิ้น เมื่อบอกขนาดวงว่าเท่าใดแล้วก็เพิ่มเข้าไปอีก ๓ คนเป็นมาตรฐานสำหรับตีกลอง ฉาบ และฉิ่ง

      ที่บ้านตาลินมีแตรวงอยู่ด้วยชื่อวง ช.ลูกทุ่ง และผมก็ได้เล่นแตรวงแห่นาค-เชียร์รำวงอยู่เกือบ ๑๐ ปี แตรงวง ช.ลูกทุ่ง มีตาปุ่นบ้านรังย้อยเป็นครูแตร ผู้ก่อตั้งคือลุงสังวาลย์ ขุนอินทร์ เป็นชาวนา หัวหน้าแตรวงมี ๒ รุ่นคือตาบุญช่วย มีแสง และนายจำลอง ทองแท่ง สมาชิกทั้งหมดเป็นชาวนา เมื่อเว้นจากหน้านาก็จะซ้อมแตรวงและรับงานทั่วไป แตรวง ช.ลูกทุ่ง ก่อตั้งและมีชื่อเสียงอยู่ในวงการแตรวงอยู่เกือบ ๒๐ ปี

      ในยุคก่อนมีแตรงวงของอำเภอหนองบัว ชุมชนบ้านตาลิน และโดยรอบนั้น การมีดนตรีบรรเลงในงานต่างๆของชาวบ้านมักมี ๓ ลักษณะ คือ วงระนาด วงปี่มอญ และวงแคน ซึ่งปี่มอญนั้น จะเป็นแตรปากกว้าง ตัวปี่ทำด้วยไม้และปากแตรทำด้วยโลหะ ให้เสียงอ่อนหวาน โศกเศร้า

      วงระนาดและวงแคนนั้นไม่เป็นที่นิยมมากนัก อาจจะเนื่องจากทรรศนะของชาวบ้านว่าวงระนาดและเพลงดนตรีไทยนั้นเป็นของสูง-ของศักสิทธิ์ ไม่ควรกับฐานะของชาวบ้านทั่วไป ส่วนวงแคนนั้น แม้นเรียบง่ายแต่ก็มักต้องว่างานจากชาวอีสานซึ่งคนมีฐานะและมีเพื่อนฮักแพงกันเท่านั้นจึงจะสามารถว่าวงแคนมาเล่นในงานต่างๆได้ 

      การใช้รถบรรทุกแห่นาคในอดีตในยุคยังไม่ค่อยมีรถรานั้น นาคจะนั่งอยู่ด้านหน้าข้างคนขับ ชาวบ้านที่ไปบวชนาคเกาะและห้อยโหนไปด้วยกันอย่างเต็มที่ ในรถบรรทุกก็ขนข้าวของ อาหาร อัฐบริขาร และญาติพี่น้องที่ไปร่วมบวชนาค มักออกแต่ยังไม่สว่าง อาจต้องแวะรับญาติพี่น้องที่ขอขึ้นไปร่วมแห่นาคเข้าโบสถ์ด้วยตลอดรายทาง ผู้ที่มีฐานะหน่อยก็อาจเช่ารถเมล์หรือรถโดยสาร มาแห่ขบวนนาค

      น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับหรือวัดหลวงพ่ออ๋อย 

      น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ ซึ่งคนท้องถิ่นมักเรียกว่า วัดหลวงพ่ออ๋อย เป็นแหล่งน้ำที่คนในตัวอำเภอต่างใช้สอยร่วมกัน  ทำให้เกิดรถเข็นน้ำ ซึ่งเรียกว่า 'รถลุน หรือรถสาลี่' และกลุ่มคนรับจ้างเข็นน้ำ แพร่หลายไปทั่วอำเภอหนองบัว 

      รถเข็นคันหนึ่งก็จะมีปี๊บใส่น้ำ 8-12 ใบ ทำให้ข้างๆ และโดยรอบสระ  มีกิจกรรมเศรษฐกิจชุมชนต่อเนื่อง เช่น  ร้านปะยางรถ  ร้านปะและบัดกรีปี๊บ ซึ่งได้กลายเป็นร้านทำหน่อไม้อัดปี๊บไปด้วย และเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในหนองบัว อยู่ตรงข้ามบ้านอัยการประเวศ รักษพล ข้างเกาะลอยและข้างต้นมะขามโบราณต้นใหญ่ที่สุดของหนองบัว

                                

      น้ำบ่อทรายวัดหนองกลับและรถสาลี่เข็นน้ำชุมชนอำเภอหนองบัว สระน้ำวัดหนองกลับมีสองสระกินพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ด้านเหนือของสระบนซ้ายของภาพเป็นโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)  ภาพประกอบวาดโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สิงหาคม ๒๕๕๒

      ในหน้าแล้ง น้ำในสระวัดหนองกลับซึ่งจำนวน ๒ สระรวมกันแล้วกินเนื้อที่ถึง ๒๐ ไร่นั้น ก็จะแห้งจนเหลือแต่พื้นทราย ชาวบ้านในชุมชนโดยรอบสระก็จะขุดก้นสระให้เป็นน้ำบ่อทรายเต็มไปทั้งก้นสระ แล้วก็จะต้องนำปี๊บเปล่าๆลงไปตักน้ำจากบ่อทราย หาบขึ้นมาใส่รถสาลี่บนขอบสระ ซึ่งทั้งต้องเดินไกลและต้องเดินขึ้นขอบสระลาดชันสูงนับสองสามวา ผู้ที่ไม่แข็งแรงหรือครอบครัวที่ไม่มีแรงงานผู้ชาย จึงต้องอาศัยซื้อและจ้างคนเข็นน้ำ ทำให้เกิดรถสาลี่เข็นน้ำ รับเข็นน้ำทั่วตลาดหนองบัว

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • อินเตอร์เน็ตที่วัดล่มไปเกือบอาทิตย์คิดถึงท่านผู้อ่านจังเลย
      • วันนี้เดินทางมาเปิดอินเตอร์ที่วัดเขาสมอแคลงใกล้ ๆ เทศบาลวังทอง ห่างจากวัดศรีโสภณประมาณ ๕ กิโลเมตร 
      • อินเตอร์เน็ตที่วัดจะใช้ได้อาทิตย์หน้าเพราะเกี่ยวกับโทรศัพท์ด้วยตอนนี้สัญญาณโทรศัพท์ไม่มีต้องตรวจสอบสายโทรศัพท์วัด ฉะนั้นคงหายไปอีกหลายวัน
      • มีภาพเพิ่มขึ้นอีกเห็นหนองบัวแจ่มแจ๋วบอกได้อย่างที่คุณเสวกว่าไว้ คือดูแล้วมีความสุขคิดย้อนไปแล้วเห็นผู้คนเดินเข็นน้ำเต็มตลาดหนองบัว ทุกซอยจะมีรถเข็นน้ำส่งตามบ้านร้านตลาด
      • อาตมาอยากเห็นภาพอาคารเรียนหลังยาวโรงเรียนหนองบัวเทพฯ หน้าอาคารมีต้นมะขาม ใต้ต้นมะขามมีร้านขายก๋วยจั๋บยังนึกภาพคนขายได้อยู่เลย แต่นั่งนึกชื่ออยู่คนเดียวตอนนี้นึกไม่ออก
      • ด้านหลังอาคารมีต้นจามจุรีหรือฉำฉาใหญ่มาก ข้างสระน้ำวัดใหญ่มีอาคารเรียนอีกสองหลัง ตอนนั้นมีถึง ป.๗
      • หวังว่าอาทิตย์คงได้เห็นภาพนี้นะโยมอาจารย์

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

       

       

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) สวัสดีคุณเสวก คุณครูเอนก และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

      ดูเหมือนว่าอาคารหลังเก่าที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนั้นยังอยู่ในสภาพเดิม ผมเลยวาดสนามเล่นกลางแจ้งเอนกประสงค์ใต้ต้นฉำฉาด้านหลังอาคารเรียนก็แล้วกันนะครับ เห็นมีการกล่าวถึงอยู่หลายครั้ง คงเป็นบรรยากาศที่อยู่ในความทรงจำร่วมกันของคนหนองบัวมากมายหลายคนอยู่นะครับ

                                   

      ภาพประกอบวาดโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สิงหาคม ๒๕๕๒

      สภาพแวดล้อมของสถานศึกษาและโรงเรียน เป็นแหล่งการเรียนรู้ตามอัธยาศัย อีกทั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างความรู้และความทรงจำระยะยาว ในทางการศึกษาและการบริหารจัดการปัจจัยแวดล้อมทางการศึกษา ถือว่าเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดการเรียนรู้จากการเล่นและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือการเรียนรู้ทางสังคม ทำให้ผู้เรียนสามารถได้ประสบการณ์ทางสังคม มีทักษะชีวิตและทักษะทางสังคมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

      ในแง่ของการเรียนรู้ ก็มีบทบาทต่อการเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงของนักเรียนที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน โดยเฉพาะในระยะยาว ก็จะมีบทบาทต่อการเป็นเครื่องช่วยจำและดึงประสบการณ์ระยะยาวออกมาใช้ได้ ทำให้ความคงทนของการเรียนรู้มีความเข้มแข็ง 

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • วันนี้วันแม่ขอรำลึกพระคุณแม่แทนท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยบทกลอนดังนี้
      • แม่ โดย ท่าน ศ. สียวน

      แม่มีท้องต้องลำบากไปฝากท้อง โตก็ต้องฝากโรงเรียนเพียรศึกษา

      พอจบเรียนเพียรฝากงานมีหน้าตา แม่ชราขอฝากไข้ไม่ใจมาร

      แม่มีแต่ให้ไม่คิดรับ                   แม่ให้ทรัพย์ให้ชีวิตให้อาหาร

      ยามเมื่อแม่แก่เฒ่าชรากาล     ไม่อ้างงานทิ้งท่านเหงาเปล่าเปลี่ยวใจ.

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • หยุดไปหลายวันเพราะอินเตอร์เน็ตล่ม
      • เมื่อวานซืนช่างจากทีโอทีมาต่อสายโทรศัพท์ให้ก็เลยใช้ได้ตามเดิมไม่รู้จะมีอะไรขัดข้องอีกหรือเปล่านึกไปคล้าย ๆ ตอนทำนาคนที่มีนาอยู่ปลายคลองปลายน้ำ น้ำก็ไม่ค่อยไหลมาถึงนาตนเองเท่าไหร่ได้น้ำน้อยกว่าเจ้าอื่น ๆ
      • ช่างบอกว่าวัดอยู่ปลายสายปลายทางเน็ตก็เลยมาเบา ๆ เอื่อย ๆอืด ๆ อืดแล้วแถมหลุดบ่อยอีกต่างหาก
      • เห็นภาพวาดสี่แยกหอนาฬิกาหนองบัวของโยมอาจารย์วิรัตน์แล้วนึกถึงตอนก่อนบวชได้ขับเกวียนผ่านสี่แยกนี้ไปนาหนองพันปลอกซึ่งอยู่ห่างวัดป่ามะเขือไม่มากนักและใช้เส้นทางนี้ไปเข็นไม้ที่ป่าเขาพระเขามรกตช่วงหลังสงกรานต์มาเผาถ่านไว้ใช้ตอนไปนอนนาตลอดถึงหน้าเกี่ยวข้าวอยู่หลายปี(เผาถ่านไว้ใช้เองไม่ได้ขาย-คนหนองบัวพูดว่าเผ่าถ่าน)
      • ขับเกวียนเข้าตลาดบางครั้งวัว-ควายไม่คุ้นเคยผู้คนก็จะตื่นกลัวบ้าง โชว์เฟอร์ต้องระวังคอยควบคุมอย่าให้วัวควายตกใจไม่งั้นจะได้พาเกวียนวิ่งบนถนนเสียงดังโกร้ง ๆ ๆ ๆ ทั้งตลาดเป็นแน่
      • หรือไม่งั้นก็ขับเกวียนผ่านทางศูนย์ท่ารถออกทางเกาะลอยเส้นทางนี้ใช้เข็นข้าวฟ่อนมานวดที่บ้านนึก ๆ ไปเหมือนกับไม่นานนะโยมอาจารย์
      • ข้างโรงพยาบาลคริสเตียนซอยทางไปวัดเทพสุทธาวาสจะมีสะพานไม้ข้ามคลองเรือใช้ทางนี้เป็นเส้นทางเดินไปโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว)ทุกวัน
      • ถ้าอยากเดินทางลัดหน่อยก็จะเดินผ่านร้านครูอุดม ออกซอยหลังตลาดห้องแถวทะลุผ่านป่าช้าวัดใหญ่เส้นทางนี้ต้องมีพวกไปหลาย ๆ คนจึงจะดี
      • คนเดียวไม่กล้าเดินเพราะมีป่าไม้รกเต็มไปหมดเวลาเดินผ่านป่าช้าแล้วไม่อยากจะเหลียวหลังกลัวเห็นผีบางครั้งก็หลอกกันเองแล้วก็พากันวิ่งลิ้นห้อยหอบแฮ่ก ๆ สนุกสนานดี.

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      • ตรงสะพานที่เรียกว่าคลองเรือนั้น เป็นที่จอดเทียบเรือด้วยหรือเปล่าครับ
      • ก่อนหน้านี้ เวลาผมมีภาพแวบขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องเรือหางยาวและเรือโดยสารที่หนองบัว ผมก็มักเห็นภาพเหมือนกับว่ามีสะพานไม้อยู่ตรงทางแยกที่ข้างโรงพยาบาลคริสเตียนเก่าเช่นกันครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • ก่อนจะตอบโยมอาจารย์เกี่ยวกับที่จอดเทียบเรือตรงสะพานคลองเรือหน้าโรงพยาบาลคริสเตียน(ชาวบ้านเรียกโรงพยาบาลฝรั่ง-มีหมอฝรั่งเป็นหมอใหญ่)
      • ต้องสัมภาษณ์สอบถามข้อมูลทางไกลด้วยมือถือจากผู้อาวุโสคนหนองบัวก็เลยได้ข้อมูลยืนยันเป็นที่แน่นอนเมื่อสักครู่นี้เอง
      • ก็เลยรีบเขียนทันทีว่า สะพานนี้เป็นที่จอดเทียบเรือของแม่ค้าที่ส่งผักและเครื่องอุปโภคอื่น ๆ มาจากอำเภอชุมแสง
      • คิดถึงหมอหนิมและสุขศาลาผู้เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขขั้นต้นในเรื่องสุขภาพของคนเมืองหนองบัวในยุคที่กันดารไกลปืนเที่ยงอย่างมาก ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์หนองบัวทีเดียว ถ้าวาดเป็นภาพก็จะได้เห็นหน้าตาหนองบัวแจ่มชัดขึ้นอีกมากเลย.

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      • ชักเริ่มได้รายละเอียดดีขึ้นครับ ผมก็ว่าผมจำได้ว่ามีเรือจอดและมีสะพานอยู่ตรงทางแยกโรงพยาบาลคริสเตียนเก่า น่าจะเมื่อประมาณ ๔๐ ปีก่อน แต่เห็นท่านอื่นจำไม่ได้และบอกว่าไม่ทันได้เห็น ผมเลยลังเล
      • หากมีโอกาสผมจะลองถามลูกหลานคนที่เขามีเรือและเคยวิ่งเรือหางยาวดูครับ
      • รูปที่ผมวาดและเรื่องที่คุยกับชาวหนองบัว ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยครับ มีเพื่อนและกลุ่มคนที่เขาจัดประชุมวิชาการ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน เขาจัดประชุมและคุยกันเรื่องการทำนาข้าวและเศรษฐกิจชุมชน เขาค้นหาข้อมูลมาเจอที่มีการคุยกันในนี้ เลยเข้ามาอ่านและโทรมาขอนำรูปไปใช้ประกอบการจัดทำเอกสารการประชุม เลยเป็นการได้ร่วมทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในวงกว้างมากขึ้นของการคุยกันเรื่องชุมชนชาวหนองบัวนะครับ

      กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • เรื่องนี้ได้ยินมาตั้งแต่เป็นเด็กคือคนหนองบัว-หนองกลับเวลาเจ็บป่วยเป็นไข้ไม่สบายนอกจากจะรักษาตัวที่โรงพยาบาลคริสเตียนเก่าหรือโรงพยาบาลหนองบัวในปัจจุบันแล้ว
      • อีกที่หนึ่งก็คือโรงพยาบาลสรรค์ประชารักษ์ในตัวจังหวัดการเดินทางก็ใช้รถเมล์สายหนองบัว-ชุมแสงเป็นหลัก แล้วต่อรถจากชุมแสงเข้าตัวเมือง
      • คนบ้านนอกอย่างคนหนองบัวจะได้เข้าเมืองกับเขาแต่ละทีก็ต่อเมื่อมีลูกหลานบวชพระที่วัดนครสวรรค์
      • และเมื่อเจ็บป่วยมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์นี่แหละนอกเหนือจากกรณีนี้แล้วมีน้อยเต็มที
      • คนบ้านนอกเข้าเมืองญาติไม่มีคนรู้จักกันก็ไม่มีจะพักโรงแรหรือก็ไม่มีตังค์อีก หรือคนรุ่นเก่าก็จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรงแรมไปในทำนองว่าเป็นสถานที่ที่ไม่ควรไปพักนอน คล้าย ๆ เป็นสถาอโคจรอะไรทำนองนั้น
      • ทีนี้ก็ยังเหลือสถานที่ที่พอจะพึ่งพาอาศัยได้อย่างสบายใจแต่อาจจะไม่สะดวกอยู่บ้างก็ตามที สถานที่ว่านั้นก็คือวัด
      • และวัดที่คนหนองบัว-หนองกลับ คุ้นเคยและพักได้อย่างอบอุ่นที่สุดก็คือวัดนครสวรรค์ ที่มีท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก คนบ้านเนินพลวงตำบลหนองกลับเป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์อยู่ด้วยนั่นเอง
      • ญาติของคนไข้จะนอนพักที่คณะ ๑ กุฏิที่อยู่ติดกำแพงด้านทิศใต้ตรงมุมรั้ววัดตะวันตกพระอุโบสถ
      • คณะ ๑ นี้มีพระเถระผู้ใหญ่ชาวหนองบัวท่านหนึ่งอยู่จำพรรษาจนตลอดชีวิตของท่าน ตอนนี้ท่านมรณภาพไปหลายปีแล้ว แต่คนหนองบัวจะรู้จักท่านเป็นอย่างดีเพราะเคยไปพักพาอาศัยที่กฏิของท่านและฝากลูกฝากหลานเล่าเรียนหนังสือหลายต่อหลายรุ่น ก็คือหลวงลุงพระปลัดเงิน โอภาษี
      • พระปลัดเงินในความทรงจำคนหนองบัวก็คือพระเดชพระคุณท่านเป็นคนใจเย็นมาก ๆ ใจดีเหลือเกินศิษย์หาคนที่รู้จักและคนใกล้ชิดจะรักเคารพนับถือท่านมาก
      • เมื่อก่อนวัดนครสวรรค์จะมีโรงศึกษาผู้ใหญ่ภาคค่ำสำหรับพระภิกษุสามเณรเรียนที่ตึกข้าง ๆ คณะ ๑ หลวงลุงพระปลัดเงินท่านสอนวิชาภาษาอังกฤษ

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      • นามสกุล โอภาษี เป็นนามสกุลที่มีคนอยู่ในตัวเมืองและตลาดหนองบัวเยอะอยู่นะครับ เป็นสกุลที่ใหญ่ ดูเหมือนว่าท่านปลัดกิ่งและคุณครูมหาทองย้อย ที่ทำร้านขายเครื่องเขียนและหนังสือแบบเรียนจ้าวแรกๆอยู่ในตลาดหนองบัว ก็นามสกุลนี้นะครับ
      • เป็นญาติพี่น้องทางดองญาติๆของผมด้วยครับ
      • ข้อมูลที่พระคุณเจ้าได้ถ่ายทอดไว้อย่างนี้ สื่อให้เห็นได้ว่าในยุคที่มีข้อจำกัดทางด้านการสื่อสารและการคมนาคมของท้องถิ่นนั้น เครือข่ายทางสังคมและการสื่อสารเรียนรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านต่างๆของท้องถิ่นหนองบัวมาก โดยเฉพาะทางด้านสุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรม สื่อบันเทิงและมหรสพ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • นาคหมู่ที่หนองบัวที่ขี่ช้างนี้ อาตมาภาพไม่มีความทรงจำเหลืออยู่เลย
      • คือเหมือนกับตนเองไม่เคยเห็นภาพนี้เลยจริง ๆ
      • อาตมาจำได้แต่นาคหมู่ที่ขึ้นคานหาม(เสลี่ยง) แห่รอบหนองบัวเป็นบรรยากศที่สนุกสนานมาก
      • ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของเมืองหนองบัว
      • มีคนบอกอีกว่า คนมีฐานะfหน่อยนาคจะได้ขี่ช้างและชาวบ้านทั่วไปนาคก็จะได้ขี่ม้าอะไรประมาณนั้น

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      • ผมพอได้เห็นอยู่ครับ แต่เวลาแห่นาคหมู่นั้น ไม่มีช้างให้ขี่ทุกจ้าวหรอกครับ
      • นาคที่ได้ขี่ช้างก็จะเป็นอย่างพระคุณเจ้าว่านั่นแหละครับ มักจะเป็นนาคที่มีฐานะทั้งทางด้านเศรษฐกิจและฐานะทางสังคม
      • วันที่แห่และนั่งหลังช้าง-ม้า และเสลี่ยงนั้น มักเป็นวันที่เรียกว่าวันโฮมนาค หรือวันสุกดิบ
      • เป็นวันที่ประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้และอนุโมทนา ตกเย็นก็อาจจะตามไปทำขวัญนาคและรำวงกันให้เป็นที่สนุกสนาน
      • ในยุคก่อนนั้น การมีลูกหลานเติบโตและจัดงานบวชได้ เป็นความสุขทั้งของครอบครัว ญาติพี่น้องและชุมชนที่อยู่ด้วยกัน จึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ครึกครื้น
      • วันสุกดิบ ไปโกนหัวให้นาคที่วัดแล้วก็ขี่ช้าง ขึ้นเสลี่ยง ขี่ม้า แล้วเดินรำวงแห่กันเป็นขบวน พ่อแม่ก็รับอนุโมทนาบุญไปตลอดทางที่เดินผ่านนั้น ตอนอยู่ที่วัดก็จะมีทั้งช้างม้าและแตรวง เล่นรำวงรอกันอย่างสนุกสนาน 
      • ขบวนแห่ในวันไปอุปสมบท โดยมากแล้วก็มักจะนำเอานาคมาขี่คอและผลัดกันเป็นม้าให้นาคเพราะถือกันว่าได้ทำหน้าที่ส่งนาคเข้าโบสถ์ ได้บุญมาก

      กราบนมัสการด้วยความเคารพ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • การใช้รถบรรทุกแห่นาคมาบวชที่วัดหนองกลับนั้นหน้าแล้งจะมีนาคมาบวชกับหลวงปู่อ๋อยทุกอาทิตย์
      • นาคจะมาจากทุกสารทิศเรียกว่า สามร้อยหกสิบองศาเลยก็ว่าได้ คือมาจากทุกหมู่บ้านในอำเภอหนองบัว
      • นาคจะออกเดินทางตั้งแต่ตีสองตีสามโดยประมาณเพราะตีสีตีห้าจะได้ยินเสียงแตรวงแห่นาคดังลั่นก่อนจะเข้าวัด
      • พระก็ต้องตื่นแต่เช้ามืด บวชเสร็จสว่างพอดี อาตมาคิดเอาเองว่า ยังไม่ทราบที่อื่นจะมีนาคบวชตั้งแต่ยังไม่แจ้งหรือไม่
      • ช่วงที่อาตมาจำพรรษาอยู่วัดหนองกลับ(๒๕๒๓) ช่วงนี้หลวงปู่อ๋อยมีปัญหาทางด้านสายตาคือเป็นโรคต้อท่านไม่สามารถมองเห็นแล้ว แต่ด้วยความมีเมตตาธรรมท่านจึงไม่ย่อท้อต่อกิจกรรมอันสำคัญคือการบวชของกุลบุตรผู้เลื่อมใสศรัทธาในองค์ท่าน
      • นึกถึงแล้วมันเป็นบรรยากาศที่คึกคักสนุกสนานเต็มไปด้วยความสุขทางจิตใจอิ่มบุญกุศลของคนหนองบัว

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      ครบรอบ  ๒๖ ปีแห่งมรณกาล

      • วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่ ๒๖ วันมรณภาพหลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ(พระครูนิกรปทุมรักษ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ และเจ้าคณะอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
      • อาตมาได้นิมนต์พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุลอุทิศถวายส่วนกุศลแด่หลวงปู่ท่าน ที่กุฏิอาตมา เมื่อเวลา ๒๐.๓๐ น.
      • อาตมาในฐานะสัทธิวิหาริก(ศิษย์)ที่บวชกับท่าน ขออนุญาตแจ้งข่าวการบำเพ็ญกุศลให้โยมอาจารย์วิรัตน์และทุกท่านได้ร่วมรำลึกถึงหลวงปู่อ๋อยและอนุโมทนาบุญในคราวครั้งนี้ร่วมกัน

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

       

      • ขอร่วมกราบอนุโมทนาบุญที่พระคุณเจ้าได้ทำให้ครูอาจารย์ครับ

       

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • ในนามคนหนองบัวและผู้ร่วมเขียนเรื่องท้องถิ่นหนองบัวได้ทราบข่าวว่าอาจารย์ได้รับการคักเลือกให้เป็นนักเขียนฝีมือดี(ขออภัยจำชื่อรางวัลไม่ได้) ในเว็บไซต์โกทูโน
      • อาตมาและชาวหนองบัวพร้อมด้วยผู้อ่านทุกท่านขออนุโทนาแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้กับโยมอาจารย์วิรัตน์ด้วย
      • ขอให้มีพลังในการทำงานเพื่อมวลชนยิ่ง ๆ ขึ้นไป.

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      สวัสดัครับท่านอาจารย์ที่เคารพ

      เพิ่งกลับมาจากการโหวด ในนามตัวแทนของกลุ่มพริกเกลือที่ล้วนเป็นศิษเก่าโรงเรียนหนองบัว และชาวหนองบัวทุกคน ขอร่วมแสดงความยินดีไว้ในโอกาศนี้ด้วยครับ และเป็นกำลังใจให้ทุกๆผลงานครับ

      • กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าครับ
      • ขอบคุณคุณเสวกและสมาชิกกลุ่มพริกเกลือครับ
      • หัวข้อ เรื่องของหนองบัว ก็เป็นที่น่าสนใจมากนะครับ ทั้งของพระคุณเจ้าในหัวข้อนี้ และของคุณเสวก คนเข้ามาดูเยอะมากเลยเมื่อเทียบกับทั่วๆไปนะครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์พี่น้องชาวหนองบัวและท่านผู้อ่านทุกท่าน

                                       ข้าวคอยฝน

      • ฟังเสียงแต่ละเสียงที่ได้สดับรับฟังมาตอนนี้ บ่งบอกถึงความวิตกกังวลปนระทมทุกข์หนักใจของพี่น้องชาวนาเกษตกรหนองบัวอย่างมาก
      • แต่ละวันคอยฟังกรมอุตุฯ ว่าจะพยากรณ์ไปในทิศทางใด แต่พอได้ฟังแล้วก็ถอนหายใจดังเฮือกใหญ่ ๆ ขึ้นมาทุกที
      • เพราะท่านพยากรณ์ว่า ฝนฟ้าจะตกที่จังหวัดนั้น-นี้-โน้น เฉียดไปเฉียดมา ไม่ตรงจังหวัดบ้านเกิด หรือบ้านตัวเองสักที
      • น้ำในคลองที่เคยทำนาปรังได้บ้างก็มาแห้งขอดไปแต่เดือนก่อนหน้านี้แล้ว
      • พิธีกรรมความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีมาก่อนก็ได้นำมาใช้เป็นที่พึ่งทำตามความเชื่ออีกครั้ง
      • โดยนำสิ่งศักสิทธิ์ที่มีอยู่ในหนองบัวมาแห่เพื่อให้ช่วยเมื่อประสบทุกข์ภัยเดือดร้อน
      • ความอบอุ่นใจความหวังที่มีอยู่ตามธรรมชาติของพวกเขาเมื่อคอยนานไปก็ชักจะริบหรี่ลงไปเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่สิ้นหวัง
      • เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและต้องให้กำลังใจกันอย่างมากในยามทุกข์ยากขนาดนี้
      • หวังว่า วิกฤติคงผ่านพ้นไปด้วยดีและมีโชคชัยดังใจปรารถนาทุกท่าน.

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

       

       

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      ตามหา

      • เมื่อปี ๒๕๔๕ มีธุระไปที่กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ
      • ได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งท่านกำลังค้นแฟ้มขนาดใหญ่ก็เลยสนใจเขาไปถามท่าน ก็เลยได้ทราบว่าท่านกำลังหารายชื่อพระที่สอบได้เป็นเปรียญธรรม-บาลี ของคนอำเภอสองพี่น้องสุพรรณบุรีท่านมาจากวัดในอำเภอสองพี่น้อง โดยท่านค้นหาตั้งแต่ยุคแรกที่กรมการศาสนามีบันทึก
      • และท่านก็ตามหาคนสองพี่น้องว่ามีใครได้เป็นเปรียญบ้างตั้งแต่อดีต ท่านบอกอีกว่าจะนำรายชื่อที่มีที่หาได้ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือ แจกคนสุพรรณฯและเก็บไว้ให้คนสองพี่น้องได้ศึกษาเรียนรู้บุคคลในอดีต ในชุมชนบ้านตัวเอง
      • ในตอนนั้นยังนึกชมเชยท่านในใจเลยว่า ท่านช่างมีความพยายามอย่างน่าสรรเสริญยิ่ง เพราะท่านบอกว่าใช้เวลาค้นหาเป็นอาทิตย์ด้วยเอกสารมีเยอะแยะมากมาย นั่งค้นทั้งวันว่างั้นเถอะ
      • เคยทราบมาว่า พี่น้องชาวจีนนั้นสามารถสืบแซ่สกุลตนเองได้ถึงสมัยสุโขทัย เรียกว่า ตามบรรพบุรุษได้อย่างยาวไกลเป็นพันปีเลยทีเดียว
      • การได้รู้เรื่องราวบรรพชนเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เพราะได้เห็นความเป็นมาเป็นไปของตัวได้ซาบซึ้งถึงท่านเหล่านั้น ได้เรียนรู้ประวัติของท่านจนกระทั่งสืบต่อมาถึงสมัยของเรา
      • ถ้าจะเปรียบเทียบทางธรรมก็ต้องถือว่า เป็นการประกาศเกียรติคุณของท่านให้ปรากฏ ภาษาธรรม คือการนำความดี การบำเพ็ญประโยชน์ที่ท่านได้ทำไว้ในแง่มุมต่าง ๆ ให้ได้รับรู้กัน
      • และเป็นการตอบแทนคุณอย่างหนึ่งอันเป็นการแสดงความมีน้ำใจของคนอยู่หลัง ท่านจัดเป็นกตัญญูธรรมในทางศาสนาประการหนึ่งด้วย.

       ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      • งานวิจัยสร้างความรู้จากเอกสารและข้อมูลจากหลักฐานในลักษณะนี้ ต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน อดทน มีความเพียร ค้นคว้า อ่านและเขียนเป็น ซึ่งพระจะทำได้ดีครับ
      • ชาวบ้านและคนมีความรู้ในพื้นที่ ก็สามารถทำและมีส่วนร่วมได้ดีครับ ในนี้ผมถึงเห็นความสำคัญของการหาวิธีให้คนที่เขาเข้ามาใช้เป็น ค่อยๆโยนข้อมูลเก็บรวบรวมไว้ก่อนน่ะครับ
      • หากมองว่าในชนบทอย่างหนองบัวและหลายแห่งของนครสวรรค์นี้ บทบาทของวัดและพระ ไม่เพียงเป็นเครือข่ายเพื่อการพัฒนาพระศาสนาเท่านั้น แต่เป็นเครือข่ายภาวะผู้นำทางการพัฒนาอีกหลายด้านของประชาชนด้วย ก็อาจจะถือเป็นจุดเริ่มต้น ทำวิจัยและสร้างความรู้โดยเครือข่ายคนท้องถิ่น ให้เป็นการสร้างทุนทางปัญญาและทุนทางสังคม ในเรื่องนี้ก็น่าสนใจนะครับ เช่น มีวัดและองค์กรทางศาสนาต่างๆอยู่มากน้อยแค่ไหน  สภาพในปัจจุบันโดยรวมเป็นอย่างไร จุดเด่นของแต่ละแห่งอยู่ตรงไหน เป็นฐานในการเสริมบทบาทขึ้นจากสิ่งที่ริเริ่มและทำได้เองอยู่แล้วในเรื่องใดได้บ้าง  พระ เณร  ที่เป็นผู้นำในด้านต่างๆ เด่นๆมีอยู่อย่างไร ทั้งด้านการศึกษา การปฏิบัติภาวนา การอบรมเผยแผ่ธรรม การนำการเปลี่ยนแปลงและนำการพัฒนาชุมชน ซึ่งก็ควรจะรวมถึงการรวบรวมพระมหาเปรียญจากอดีตและปัจจุบันด้วย
      • หรือจะเริ่มให้ใกล้ตัวสุดอย่างที่พระคุณเจ้ายกตัวอย่างชาวจีนนั้นก็น่าส่งเสริมมากครับ หัดให้ทุกคนที่พอได้เรียนหนังสือหนังหา กลับมาเสริมกำลังชุมชนและญาติพี่น้องของตนไปด้วยสักหน่อยโดยเรียนรู้ชุมชนตนเองและมิติต่างๆของญาติพี่น้อง ทำโอกาสการพบปะกันในเทศกาลต่างๆให้มีความหมายมากขึ้นโดยการนั่งคุยและนำกลับมานำเสนอเพื่อรวบรวม-สะสมข้อมูลให้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ก็จะทำให้การเรียนรู้ทางสังคมเกิดขึ้นจากระดับชุมชน มากมายครับ
      • ผมเองและพี่ๆน้องๆก็ทำอย่างที่พระคุณเจ้าว่ามานี้เลยครับ แล้วก็ขยายไปสู่ทำให้กับชุมชนและท้องถิ่น ขยายออกไปเรื่อยๆด้วยครับ พระคุณเจ้าจะยกตัวอย่างอย่างที่คนหนองบัวได้ทำขึ้นบ้างแล้วในนี้ก็ได้ครับ คนจะได้เห็นภาพ เรื่องอย่างนี้ดีแน่ๆครับ

      กราบนมัสการด้วยความเคารพ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      อาลัย อาจารย์กรุณา กุศลาสัย

      วันนี้อาตมาเปิดเว็บไซต์เจอข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ซึ่งท่านได้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมาแล้วแต่เพราะไม่ได้ติดตามข่าวสารเลยไม่ทราบก็ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของท่านและขอแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของท่านในที่นี้ด้วย  เนื่องด้วยเคยอ่านงานคิดงานเขียนงานแปลของท่านมาและที่ประทับใจมาก ๆ ก็คือชีวิตที่เลือกไม่ได้ ทำให้ทราบว่าท่านเป็นชาวนครสวรรค์ต้องถือว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญของนครสวรรค์เลยทีเดียว  มีรายละเอียดของข่าวดังนี้

      • กรุณา กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ 2546 ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและการศาสนา ผู้แปลวรรณกรรมชั้นเยี่ยมอินเดีย เสียชีวิตแล้วในวัย 89 ปี
      • นายกรุณา กุศลาสัย วัย 89 ปี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2546 ถึงกาลมรณกรรมแล้วด้วยโรคชราวัย 89 ปี ที่บ้านพัก
      • โดยได้บริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลศิริราช และทางญาติกำหนดทำพิธีบำเพ็ญกุศลในวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม ที่วัดเครือวัลย์วรวิหาร ถ.อรุณอมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่
      • นายกรุณา กุศลาสัย เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2463 ที่จังหวัดนครสวรรค์ บรรพบุรุษมีเชื้อสายจีน เป็นกำพร้ามาแต่เด็ก และบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปีในโครงการ “พระภิกษุสามเณรใจสิงห์” ของพระโลกนาถ แล้วติดตามพระโลกนาถไปศึกษาที่สาธารณรัฐอินเดีย
      • ได้เรียนรู้ภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ สอบภาษาฮินดีได้ที่ 1 ของสาธารณรัฐอินเดีย
      • ได้รับทุนการศึกษาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่ออายุเพียง 15 ปี เริ่มงานเขียนตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอยู่ในประเทศอินเดีย ใช้นามปากกา “สามเณรไทยในสารนาถ” เขียนบทความลงในธรรมจักษุ พุทธศาสนา และ ประชาชาติ
      • เมื่อเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 นายกรุณา ถูกจับเป็นเชลยสงคราม เผชิญกับความอดอยากแสนสาหัส จนต้องสึกจากสามเณร เมื่อสงครามสงบได้ตัดสินใจกลับประเทศไทยเพราะคิดถึงบ้านเกิด ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับจากสาธารณรัฐอินเดียทำให้ นายกรุณา กุศลาสัย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภารตวิทยาอย่างยิ่ง อันเป็นพื้นฐานสำคัญให้สามารถแปลเรียบเรียงวรรณกรรมชิ้นเอกของอินเดีย
      • ได้แก่ มหากาพย์พุทธจริต ซึ่งเป็นวรรณคดีสันสกฤตพุทธประวัติฝ่ายมหายานที่มีชื่อเสียงของอัศวโฆษ ร่วมกับนางเรืองอุไร กุศลาสัย ภรรยา และมหาภารตยุทธ มหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่ของอินเดีย
      • นอกจากนั้น ยังสร้างสรรค์วรรณกรรมที่ทรงคุณค่าอีกมากในระหว่างที่ถูกคุมขังด้วยข้อหาทางการเมือง เขียนบทความสั้นๆ เกี่ยวกับวรรณคดี วัฒนธรรมอินเดีย ทั้งได้แปลแต่งวรรณคดีชั้นเยี่ยมของอินเดียจำนวนมาก ที่สำคัญ ได้แก่ คีตาญชลี พบถิ่นอินเดีย ชีวประวัติของข้าพเจ้า และ แด่นักศึกษา ฯลฯ
      • ส่วนสารคดีเรื่องเด่นของ กรุณา กุศลาสัย คือ อัตชีวประวัติ เรื่อง ชีวิตที่เลือกไม่ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงบันทึกชีวิตของผู้เขียนเท่านั้น แต่เป็นอนุสรณ์ของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า อันยังประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งปวง
      • ผลงานสร้างสรรค์ของ กรุณา กุศลาสัย จึงมีคุณค่าทางปัญญาและปรัชญาที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ นับเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ภาษาไทยอย่างยิ่งทั้งที่เรียบง่ายและวิจิตรอลังการ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 60 ปี
      • จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • อาตมาในนามตัวแทนชาวหนองบัวขออนุโมทนาและแสดงความยินดีกับอาจารย์ที่ได้รับรางวัลสุดคะนึงประจำเดือน ส.ค. ๕๒ ขอให้มีพลังกายใจผลิตผลงานที่มีคุณภาพต่อไป

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      • ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาศัย รวมทั้งอาจารย์เรืองอุไร กุศลาศัย เป็นปราชญ์ที่ทำงานทางปัญญาและงานวรรณกรรม ที่ยิ่งใหญ่มากครับ
      • กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้า คุณเสวก กลุ่มพริกเกลือ และพี่น้องชาวหนองบัว(รู้สึกเหมือนนักการเมืองปราศัยเลย) ขอมอบเพื่อเป็นกำลังใจแก่คนหนองบัวด้วยเช่นกันครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

      วันนี้มีข่าวสารมาประชาสัมพันธ์ฝากถึงศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและชาวหนองบัว มีสองงานด้วยกัน ฉะนั้นจึงขออนุญาตประชาสัมพันธ์ต่อในที่นี้อีกที่หนึ่งด้วย ศิษย์เก่าและชาวหนองบัวคลิกไปอ่านรายละเอียดได้ที่หัวข้อชื่อ เวทีพลเมือง : สร้างสุขภาวะชุมชนหนองบัวให้เข้มแข็งและยั่งยืน ในบล๊อคนี้ได้เลย

      • งานแสดงกตเวทิตาและมุฑิตาจิต เกษียณก่อนกำหนด คุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว
      • ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและท่านผู้อ่านทุกท่าน

      งานวัด : สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน

      • เมื่อปีที่แล้วไปร่วมงานหล่อพระองค์ใหญ่ที่อำเภอชาติตระการ จ.พิษณุโลก หมู่บ้านปากรองใกล้ปากทางเข้า อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ
      • ผู้คนมากมายพะลึกพะลือจริง ๆ เยอะชนิดว่าหมดบ้านหมดเมืองเลยทีเดียว
      • งานวัดแบบนี้ไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว พอได้เห็นก็ชื่นใจปลื้มใจ ได้เห็นชาวบ้านมาร่วมงานกันล้นหลามคับคั่งเนืองแน่นเต็มลานวัด
      • เจ้าสำนัก(ยังเป็นสำนักสงฆ์)ท่านเป็นครูสอนศีลธรรมที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอชาติตระการอยู่ด้วย และอีกหลายโรง
      • คุณครูก็พาเด็กมาร่วมบุญสองสามโรงเรียนที่ท่านไปสอน
      • ขนทรายขึ้นไปเทบนแบบองค์พระขนาดใหญ่คิดว่าตอนนี้ถือว่าใหญ่สุดในชาติตระการ คนเข้าแถวยาวเหยียดแบบเข้าไม่ถึงก็มี
      • ช่างคือทีมงานของพระสงฆ์จากเมืองกาญจนบุรีหรือนรครปฐมนี่แหละท่านมาทำให้ฟรี ไม่คิดค่าแรงพระสงฆ์ประมาณสิบรูป เสียแค่ค่าน้ำมันรถขนย้ายแบบ
      • เห็นแล้วก็ปลื้มใจในบุญของพระสงฆ์ที่ท่านช่วยเอาบุญ และชาวบ้านชาวเมืองก็มากันเอาบุญจริง ๆ
      • งานลักษณะนี้ ยังจำได้เมื่อวัดเทพสุทธาวาสสร้างโบสถ์
      • คนหนองบัวหนองกลับก็ไปช่วยขนทรายทำงานวัดกันมากมายและหลังจากนั้นก็ไม่เห็นอีกเลย จนได้มาเห็นเมื่อปีที่แล้ว เหตุการณ์ห่างกันประมาณ ๔๐ ปี
      • โยมที่ไปจากวังทองกับอาตมาแม้จะสูงวัยแล้วแต่ก็ยังได้ช่วยเขาขนทรายยกบุ้งกี่สองสามครั้งก็ยิ้มแป้นอย่างมีความสุข
      • งานนี้สุขกันทั้งเด็กผู้ใหญ่ พระสงฆ์ คนในชุมชนเป็นงานวัดที่คนมีจิตสาธารณะช่วยกันสร้างสุขภาวะได้จริง ๆ

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      • เดี๋ยวนี้ความเป็นส่วนรวมระดับชุมชนและระดับกลุ่มก้อน ไม่แข็งแรงเหมือนในอดีตแล้วครับ หลายท่านคงจำกันได้ เมื่อก่อน ทศวรรษ ๒๕๓๕ วงสัมมนาโดยทั่วไปต่างก็ประเมินว่า ภายใต้การพัฒนาที่ก้าวหน้าหลายด้านของประเทศนั้น ชุมชน และครอบครัว ของสังคมไทยได้ล่มสลายไปมากมาย และปัจเจกก็อ่อนแรง การระดมพลังชุมชนและผู้คนในหน่วยสังคมเล็กๆให้มีกิจกรรมเพื่อส่วนรวมเดี๋ยวนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทำยาก คนเลยมักจูงใจกันด้วยวิธีการต่างๆนาๆ ก็ได้แต่เรื่องบันเทิงหวือหวา ไม่เป็นพลังความร่วมแรงแข็งขันกันของสังคมที่พอจะทำสิ่งต่างๆให้ชีวิตส่วนรวมดีขึ้นได้ 
      • เดี๋ยวนี้หลายคนเลยให้ความสนใจมากขึ้นที่จะส่งเสริมพลัง และพัฒนาพลังการจัดการตนเองของหน่วยทางสังคมขนาดเล็กๆ เช่น ปัจเจก กลุ่มคน ชุมชนเล็ก องค์กรที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ หรือเครือข่ายการเรียนรู้ของคนมีจิตสาธารณะ ที่ไม่ได้เป็นคนรอรับโอกาสจากผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นพลเมืองที่ต้องการใช้สิทธิและหน้าที่เพื่อพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์สังคมด้วย เพราะนอกจากจะช่วยกู้สถานการณ์สังคมในหลายเรื่องแล้ว ก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งของอนาคตการพัฒนาที่เข้มแข็งยั่งยืนของสังคม
      • เหมือนอย่างที่พระคุณเจ้า ผม และเวทีคนหนองบัวนี้กำลังทำ ก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งได้เหมือนกันครับ

      สวัสดีครับ

      ได้อ่านทั้งบันทึกและการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกันไปมาระหว่างท่านอาจารย์กับพระอาจารย์แล้ว ประเทืองปัญญามากครับ

      ผมพบปรากฏการณ์เดียวกันกับที่อาจารย์ต้ังขอสังเกตไว้ว่าชุมชนอ่อนแอลงเป็นลำดับ แม้จะมีความพยายามสร้าง/คิดค้นเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่ก็ดูไม่เป็นมรรคผลเท่าใด

      ทางเลือกที่อาจารย์กำลังดำเนินการที่หนองบัว น่าสนใจมากครับ

      ขออนุญาตเอาไปขยายต่อนะครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • รู้สึกดีใจมาก ๆ เลยนะเนี่ยที่หนานเกียรติเข้ามาเยี่ยมเยือนชาวหนองยัว หนานเกียรติเป็นคนหนุ่มไฟแรงมาก ๆ เป็นคนมีคุณภาพมาก ทำงานเพื่อคนเล็กคนน้อยคนด้อยโอกาสในสังคม
      • แอบชื่นชมอยู่นะ ถ้างั้นขอเรียนรู้งานหนานเกียรติไปด้วยเลย
      • ขอแนะนำคนหนองบัวเข้าไปเยี่ยมเยือนและเรียนรู้ดูงานของหนานเกียรติได้ทุกท่าน
      •  และอยากเชิญชวนหนานเกียรตินำประสบการณ์ดี ๆ จากการทำงานเพื่อชุมชนมาเผื่อแผ่ให้คนหนองบัวได้เรียนรู้ในที่นี้บ้าง หวังว่าคงไม่ผิดหวังนะ

        ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      สวัสดีครับหนานเกียรติ

      • ผมก็ได้เรียนรู้และเกิดมุมมองใหม่ๆหลายอย่างไปด้วยมากเลยครับ เหมือนกับกำลังประชุมและเสวนากับชุมชนทางความรู้ ที่เรายังไม่เคยต้องพบปะกันจริงๆเลย แต่ก็ได้ทำหลายอย่างไปด้วยกันเยอะแล้วครับ แล้วก็เป็นประโยชน์มากด้วยต่อท้องถิ่น
      • อย่างบางท่าน เช่น คุณครูอ้อยเล็ก ก็อยู่ไกลออกไปจากหนองบัวกว่า ๓๐๐ กิโลเมตร แต่ก็ออกแบบหน้าจอเว๊บบล๊อกให้กับคนหนองบัว หารือกันทางไกล แล้วก็ติดตั้งได้เสร็จสรรพโดยที่ก็ยังไม่เคยเจอกันเลย
      • ความรู้ท้องถิ่นและข้อมูลข่าวสารจำนวนหนึ่ง เลยกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการช่วยกันทำจากแหล่งอันห่างไกลคนละทิศละทาง เหมือนกับหนองบัวกำลังมีบางด้านที่เป็นชุมชนย่อส่วนของเรือข่ายความรู้จากหลายแห่งทั่วประเทศ เป็น Mini-Thailand ทางการเรียนรู้และสร้างความรู้ 
      • หนานเกียรตินำหลักคิด บทเรียนจากการทำงาน และเรื่องราวจากชุมชน หรือทางผ่านในชีวิตของหนานเกียรติ มาเล่าถ่ายทอดให้คนหนองบัวได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยนะครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • ชุมชนเก่า มักทำหรือผลิตข้าวของเครื่องใช้ขึ้นมาใช้เองดูเหมือนเป็นเอกเทศ ปัจเจก แต่ก็สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างแน่นแฟ้นมั่งคนและพึ่งตนเองอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตน
      • ชุมชนใหม่ เป็นองค์กร บริษัทห้างร้าน เป็นมหาชน หรือกลุ่มคนอาชีพเดียวกัน แต่แปลกการรวมกลุ่มกลับทำไม่ค่อยได้ภายในองค์กรของตน แทนที่จะเป็นชุมชนหรือคนทำงานแห่งเดียวกันที่มีความเหนียวแน่นแต่ไม่เป็นปึกแผ่นเท่าที่ควร
      • ด้านสถานศึกษา แทนที่จะรวมชุมชนได้ไป ๆ มา ๆ เหมือนจะเป็นตัวสลายชุมชนกลาย ๆ  เพราะแข่งขันกันอย่างหนักในเวทีเด็กน้อยในโรงเรียน เด็กเครียด จากการแข่งขันทางด้านการเรียนการศึกษา
      • ด้านสุขภาวะ เราก็สอนประชาชนว่า เจ็บป่วยให้มาหาหมดซิจะได้หายจากโรค เป็นว่าการมีสถานพยาบาลไว้รักโรคภัยไข้เจ็บมาก ๆ เป็นความดี ความก้าวหน้า เป็นความเจริญ หรือไม่ใช่
      • การมีสถานพยาบาลเยอะ ๆ ทำให้สุขภาวะชุมชนย่ำแย่ไหม  เจ็บป่วยกันทั่วหน้า ยิ่งขยายมากเตียงเท่าไร ก็ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย
      • แล้วถ้าเป็นยังงี้สุขภาวะชุมชนจะเป็นอย่างไรต่อไป มากันทุกทิศทุกทางเลย การสลายชุมชน

       ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

                                                                                                     

      • มุมมองและข้อสังเกตในเรื่องนี้ของพระคุณเจ้าสอดคล้องกับทรรศนะของนักคิดและนักวิชาการทั้งของไทยและต่างประเทศครับ โดยเฉพาะการทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการทางการศึกษาและวิถีการพัฒนาของสังคม
      • ทางด้านการศึกษานั้น ก็มีการคิดทบทวนกันอย่างกว้างขวางว่า มีความเชื่อมโยงและสนองตอบต่อความเป็นไปของสังคมอย่างไรหรือไม่ หรือว่าเพียงแต่สร้างโอกาสให้กับคนส่วนน้อยและกลายเป็นระบบที่แย่งโอกาสกับทรัพยากรของสังคม ให้ชุมชนระดับต่างๆอ่อนแอ ในระยะ ๑๐-๒๐ ปีที่ผ่านมา เราจึงมักเห็นประเด็นการเคลื่อนไหวของสังคม ที่ให้ความสำคัญต่อความเชื่อมโยงและการสนองตอบต่อความเป็นไปของสังคมมากขึ้นของการศึกษา (Social relavant)
      • ในเรื่องวิถีการพัฒนา ก็หันมามุ่งภาวะความเป็นมนุษย์และสุขภาวะของสังคมที่มีด้านจิตใจและความเป็นองค์รวมแห่งชีวิตมากขึ้น เพราะในระยะที่ผ่านมา การพัฒนามักเน้นไปที่ความเป็นวัตถุนิยมและเน้นความมั่งคั่งร่ำรวยจนเสียความสมดุล
      • เรื่องพวกนี้หากเป็นประเด็นการพูดคุยอยู่เสมอของคนหนองบัวและท้องถิ่นต่างๆ ก็เชื่อว่าจะก่อให้เกิดพลังสัมมาทรรศนะ ขับเคลื่อนพลังการเปลี่ยนแปลงไปสู่การคิดและทำ เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกใหม่ๆในการพัฒนาของชุมชนได้ครับ
      • ชุมชนการผลิตนั้น ครอบครัวและการรวมกันเป็นกลุ่มก้อนของปัจเจก จะจัดความสัมพันธ์กันผ่านปัจจัยการผลิตและการใช้แรงงาน อันนี้ก็ว่าไปตามวิธีมองแบบทฤษฎีของคาร์ลมาร์กซ์นะครับ ซึ่งก็ให้ภาพได้แจ่มชัดดี ปัจจัยการผลิตก็มีที่ดินเรือกสวนไร่นา เครื่องมือทำมาหากิน แรงงานและกำลังคน การมีและไม่มี รวมทั้งมีมากน้อยต่างกัน หรือมีแล้วสามารถบริหารจัดการด้วยตนเองได้มากน้อยแค่ไหนเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดกิจกรรมชีวิตและการจัดวางตนเองทางสังคม แตกต่างหลากหลายกันไป การมีปัจจัยการผลิตและได้ทำนาทำไร่ รวมทั้งได้ดำเนินชีวิตอยู่บนฐานการผลิต จึงเป็นหัวใจของสุขภาวะสังคม  ต่างจากปัจจุบัน ชุมชนแบบใหม่อย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนั้น โดยมากแล้วเป็นชุมชนบริการและชุมชนผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้ผลิต แต่หาเงินและทำงานแข่งขันกันให้ได้เงินมากๆก่อน จึงจะสามารถเข้าถึงและได้ปัจจัยเพื่อการดำเนินชีวิต ซึ่งบางทีก็กลายเป็นได้รับความสำคัญมากกว่าเป้าหมายที่แท้จริงของสังคมไปเลย
      • การมองว่าบริษัท หน่วยงานและองค์กรสมัยใหม่ เป็นชุมชนอย่างใหม่ที่ต่างจากชุมชนการผลิตแบบในอดีตนั้น เป็นแนวคิดฝ่ายก้าวหน้ามากครับ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดของนักสังคมวิทยาหลังสังคมอุตสาหกรรมและสังคมหลังสมัยใหม่ (Post industrial society and Postmodern society) ที่เด่นๆก็เช่น ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ที่นำเสนอทฤษฎีชุมชนแห่งการเรียนรู้และองค์กรแห่งการเรียนรู้ กับแฮมเมอร์ ที่นำเสนอเรื่องการรื้อสร้างเพื่อปฏิรูปองค์กรสมัยใหม่ (Reengineering) ข้อแตกต่างที่สำคัญ จากแนวคิดเก่าอย่างแนวคิดของแมกซ์ วีเบอร์ ผู้นำเสนอองค์กรและวิธีมองสังคมแบบโครงสร้างหน้าที่ ซึ่งทำให้ออกแบบระบบและองค์กรราชการ เริ่มจากอเมริกาแล้วแพร่หลายไปทั่วโลกก็คือ ในองค์กร หน่วยงาน บริษัทและแหล่งประกอบการของสังคมหลังยุคอุตสาหกรรม ไม่ได้จัดความสัมพันธ์กันด้วยโครงสร้างหน้าที่ให้เกิดพลังการผลิตบริการขององค์กรอย่างเดียว ทว่า มีด้านที่เป็นการดำเนินชีวิตและการสร้างสังคมบนความเป็นธรรมชาติเพื่อสนองตอบปัจจัยด้านความเป็นมนุษย์ขึ้นมาด้วย ดังนั้น องค์กรและแหล่งประกอบการที่สามารถสร้างสุขภาวะและความเติบโตงอกงามในด้านความเป็นมนุษย์ขึ้นมาด้วย ก็จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ยั่งยืนและเข้มแข็งมากกว่า แนวคิดอย่างนี้ ทำให้องค์กรสมัยใหม่เริ่มมีการใช้วิธีการชุมชนและการรวมกลุ่มอย่างเป็นธรรมชาติ เข้ามาเป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม เน้นภาวะผู้นำเป็นรวมกลุ่มและเน้นการสร้างทุนมนุษย์ให้เป็นพลังการผลิตอีกทีหนึ่ง
      • อันที่จริงก็ไม่ใช่ของใหม่ครับ พอจะเห็นเค้าเงื่อนของสิ่งที่มีอยู่ในสังคมเดิมได้อยู่ครับ ในวิธีคิดทางพุทธนั้น เรียกการรวมกลุ่มและการจัดการตนเองเป็นกลุ่มก้อนของสังคมว่าบริษัท เช่น พุทธบริษัท ๔ ก็หมายถึงกลุ่มก้อนและภาคส่วนของสังคมผู้เกี่ยวข้อง ๔ ฝ่าย ดังนั้น แนวคิดอย่างนี้นำมาใช้วิเคราะห์และใคร่ครวญเกี่ยวกับสังคมในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆนี้ได้ครับ
      • การเรียนรู้ทั้งของเก่าและของใหม่ แล้วผสมผสานเข้าด้วยกัน นำมาขยายกรอบทรรศนะ เข้าใจความซับซ้อนของโลก แล้วก็คิดหาทางทำสิ่งต่างได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ทั้งได้ทางเลือกใหม่ๆและสานต่อพื้นฐานเดิมของสังคมให้เข้มแข็งมากยิ่งๆขึ้นครับ

      กราบนมัสการด้วยความเคารพ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและท่านผู้อ่านทุกท่าน

      • เห็นคำตอบของอาจารย์ในที่แห่งหนึ่งน่าสนใจและน่าจะได้เรียนรู้หลักคิดวิถีการทำงานร่วมกันจึงขอนำมาพูดคุยขยายความให้ได้สาระเพิ่มเติมเพื่อจะได้เห็นประโยชน์ในวงกว้าง
      • คิดว่าจะเป็นแรงส่งให้เกิดกำลังใจแก่ท่านผู้อ่านได้
      • หลักการเป้าหมายคือกำไรสูงสุด ถ้าตั้งธงไว้อย่างนี้คนก็จะถูกกีดกันให้ห่างไกลออกจากกันไปเรื่อย ๆ ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ทำให้ขาดการเคารพในฐานเป็นมนุษย์
      • เคยสังเกตประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของแต่ละยุคดูยิ่งใหญ่อลังการมาก ๆ แต่ว่าความยิ่งใหญ่เหล่านั้น ดำรงอยู่เฉพาะชั่วคราวร้อยสองร้อยปี ก็สิ้นสลายเปลี่ยนมือ
      • หรือแค่พ่อสู่ลูกก็ล่มสลาย บางทีสถาปนาตัวให้ดูประหนึ่งว่าเหนือกว่าผู้อื่นอย่างเหลือเกิน
      • อำนาจราชศักดิ์ทุกสิ่งที่ได้มา ล้วนด้วยการประหัตประหารฆ่าฟันทำลายซึ่งกันและกันสุดท้ายก็ถูกผู้อื่นโค่นล้มเป็นวงจรเลือดตลอดมา
      • แต่องค์กรหรือชุมชนทางวัฒนธรรมหรือศาสนาของแต่ละศาสนามองดูเหมือนรวมตัวกันหลวม ๆ แต่การรวมตัวนั้นเป็นของชุมชนของทุกคนของสังคมเป็นสาธารณะประโยชน์ของส่วนกลาง ถึงแม้จะดูไม่เข็มแข็งมากนักแต่ก็สามารถดำรงคงอยู่มานับพันสองสามพันปี
      • หลักคิดของเราสร้างองค์กรให้เป็นแค่ชุมชนหรือสมบัติส่วนตัวหรือเฉพาะกลุ่มคนไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับสังคมหรือชุมชนเลย
      • มองตนเองสำคัญกว่าทุกสิ่งรอบตัวก็ย่อมขาดความเห็นอกเห็นใจความทุกข์ยากลำเค็ญของผู้อื่นอย่างเป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง
      • การมองเห็นความทุกข์ยากของผู้อื่นแล้วทนไม่ได้ต้องหาทางปลดเปลื้องปลดปล่อยคลี่คลายให้ปัญหานั้นหมดไปท่านกล่าวว่า เป็นหัวใจของพระโพธิสัตว์จริงแท้

      "ใช้หลักการอยู่ด้วยกันอย่างเป็นเพื่อร่วมทุกข์สุข เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันอย่างนี้ มาเป็นแนวการดำเนินชีวิตและทำการงานในสังคมสมัยใหม่ก็ดีเหมือนกันนะครับ การบริหาร การทำงานให้สังคม การประเมิน การจัดการความขัดแย้ง การทำธุรกิจ และอีกหลายอย่างในโลกความเป็นจริงของเรา ผมว่าสังคมเราไม่ค่อยถือและใช้หลักแห่งการมีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่อเพื่อนมนุษย์"

       ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      • พระคุณเจ้าอภิปรายและเสวนาได้หลากรส เหมือนกับเป็นคน ๔ คนที่เขียนได้ ๔ แนวในคนเดียวกันเลยนะครับ ด้านหนึ่งก็เป็นด้านงานวรรณกรรมทางพุทธธรรม อีกด้านหนึ่งก็เป็นแนวนักวิชาการท้องถิ่น  อีกด้านหนึ่งก็เป็นการบอกเล่าและบันทึกของชาวบ้าน อีกด้านหนึ่งก็เป็นนักสังเกตการณและให้ทรรศนวิพากษ์ทางสังคม
      • เห็นพระคุณเจ้าเขียนและเห็นบัณฑิตฝ่ายบรรพชิตซึ่งจบเปรียญธรรมตั้งแต่ ปธ ๓-ไปจนถึง ปธ ๙ หลายท่านแล้ว เลยเกิดความสนใจว่า น่าจะมีสถาบันหรือเครือข่ายรองรับให้ทุนมนุษย์ที่มีอย่างนี้ ได้มีโอกาสศึกษาเชิงลึกและผลิตงานวรรณกรรมทางศาสนาสำหรับสังคมไทยนะครับ ผมเคยอ่านหนังสือที่เขียนโดยมหาเปรียญ โดยเฉพาะในขั้นสูง ปธ ๗- ปธ ๙ นั้น เชื่อได้ร้อยเปอร์เซนต์เลยครับว่าจะเป็นงานเขียนที่อ่านดีจริงๆ ทั้งตัววิถีปัญญา องค์ความรู้ และอรรถรสทางวรรณกรรม
      • หากไม่มีก็คงเสียดายมากอย่างยิ่งสำหรับสังคม เพราะนอกจากจะมีน้อยแล้ว ชุมชน ชาวบ้าน และสังคมโดยทั่วไปก็คงมัวแต่ไปนิมนต์ท่านให้ไปจมอยู่กับกิจกรรมพิธีกรรมต่างๆนาๆ ซึ่งพระและวัดก็คงจะปฏิเสธชาวบ้านไปไม่ได้ อันที่จริง หากที่ไหนมี ก็ควรจะรวบรวมในฐานที่เป็นทุนทางสังคม และวางเงื่อนไขแวดล้อมที่เอื้อให้ทุนทางสังคมที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างนี้ ได้เป็นเครือข่ายสร้างและสะสมทุนทางปัญญาของสังคมที่บูรณาการกับพุทธธรรมนะครับ เป็นข้อสังเกตและสะกิดชาวบ้านทั่วไปไปในตัวน่ะครับ
      • อย่างที่พระคุณเจ้าให้หลักคิดตบท้ายนั้น เป็นวิธีคิดของคนที่อยู่ด้วยกันเป็นชุมชนและกลุ่มก้อนจริงๆเลยนะครับ โดยเฉพาะวิธีคิดที่มากับพุทธศาสนา(เข้าใจว่าศาสนธรรมอื่นๆก็คงมี แต่ผมยังไม่ค่อยมีความรู้เลยครับ) ที่ว่า การได้อนุโมทนาและคิดใส่ใจต่อผู้อื่น แม้นอยู่ในความสำนึกของเราและสะท้อนอยู่ในขอบเขตการปฏิบัติของเราที่บอกถึงความมีสำนึกนั้น ยังไม่ได้กระทำให้กับผู้อื่นโดยตรงว่าเราร่วมรู้สึกทุกข์สุขไปด้วยกันอย่างไร ก็ถือว่าเป็นการก่อให้เกิดสิ่งดีแล้วนั้น ผมก็ขอสนับสนุนแนวทรรศนะนี้ครับ
      • เพราะการรู้สึกร่วมทุกข์สุขกับผู้อื่น แม้จะยังไม่ได้กระทำให้กับกับผู้อื่นโดยตรงด้วยว่าการทำสิ่งต่างๆดังที่คิดนั้น คงต้องอาศัยการประชุมและเกื้อหนุนกันของเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่ก็สะท้อนอยู่ในการปฏิบัติต่อตนเองนั้น อย่างน้อยก็ลดการเบียดเบียนตนเองซึ่งจะไปเพิ่มแรงกดดันทางสังคมให้คนอื่นเขาทุกข์เพิ่มขึ้น และการไม่ทำให้ตนเองไปเบียดเบียนผู้อื่น ก็มีความเป็นปัจจัยแวดล้อมอยู่ในตัวเองให้ผู้คนที่เราร่วมทุกข์สุข ได้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สบายมากกว่าเดิม เรียกว่าแค่เราเริ่มต้นคิดดีและทำในใจให้แยบคาย  สุขภาวะภายในของเราและโลกภายนอก ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนะครับ เลยเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

      กราบนมัสการด้วยความเคารพ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      คาถาหลังแดง

      • ไม่ใช่พื้นที่สีแดง
      • ไม่ใช่พื้นที่สีเขียว
      • ไม่ใช่พื้นที่สีเหลือง
      • ไม่ใช่รถป้ายแดง
      • ไม่ใช่รถป้ายเหลือง
      • ไม่ใช่รถจักรยานสีแดง
      • ไม่ใช่รถรถจักรยานสีเขียว
      • ไม่ใช่รถจักรยานสีเหลือง
      • ไม่ใช่โรงเรียนแดง
      • ไม่ใช่โรงพยาบาลหลังคาแดง
      • ไม่ใช่โสมแดง
      • ไม่ใช่โสมขาว
      • ไม่ใช่โสมเขียว
      • ไม่ใช่โสมเหลือง
      • ไม่ใช่เสื้อเหลือง
      • ไม่ไช่เสื้อแดง
      • ไม่ใช่เสื้อเขียว
      • ไม่ใช่มดแดง
      • ไม่ใช่ปูแดง
      • ไม่ใช่วัวแดง
      • ไม่ใช่ปลวกแดง
      • ไม่ใช่ปูนแดง
      • ไม่ใช่หมึกแดง
      • ไม่ใช่หมึกเขียว
      • ไม่ใช่หมึกเหลือง
      • ไม่ใช่กระเบื้องสีแดง
      • ไม่ใช่กระเบื้องสีเหลือง
      • ไม่ใช่กระเบื้องสีเขียว
      • ไม่ใช่พระประแดง
      • ไม่ใช่ไผ่แดง
      • ไม่ใช่ผ้ายันต์แดง
      • ไม่ใช่ผ้ายันต์เหลือง
      • ไม่ใช่พริกแดง
      • ไม่ใช่พริกเขียว
      • ไม่ใช่พริกเหลือง
      • ไม่ใช่นกกะปูดตูดแดง
      • ไม่ใช่ปีศาจแดง
      • ไม่ใช่หงษ์แดง
      • ทั้งหมดไม่ใช่ทั้งเหลือง ทั้งแดง ทั้งเขียว แต่คือคาถาหลังแดง
      • เป็นภาษาใต้ลองผวนดูก็ได้ จึงจะรู้ว่าไม่เกี่ยวกับเหลืองแดงหรือเขียวใด ๆ ทั้งสิ้น
      • คล้ายเป็นคำเตือน เมื่อมีคนพูดคุยกันเสียงดัง หรืออาจจะโต้เถียงไม่ยอมลดลาวาศอก ประเภทขิงก็ราข่าก็แรง
      • เมื่อมีเหตุการณ์ถึงขั้นนี้แล้วจบยากก็จะมีคนกลางมาไกล่เกลี่ยกระซิบบอกให้เลืกเสีย ให้ยุติความขัดแย้ง
      • คนใต้ก็จะบอกว่า อย่าหลังแดง-อย่าแหลงดัง(แหลงคือพูด หมายความว่าอย่าพูดดัง,)เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ยินคำเตือนแล้ว ก็ฉุกคิด แล้วก็เลยเลิกโต้เถียงกันน่าจะประมาณนี้แหละโยม.

      ขอเจริญพร

      • พระคุณเจ้าเล่นปล่อยมุขเด็ดเลยนะครับ
      • ดีครับ ให้บรรยากาศผ่อนคลายดีครับ
      • ผมไม่รู้ว่าท่านอื่นๆจะเข้ามาหาหัวข้อนี้เจอหรือเปล่า ตอนนี้ผมย้ายบันทึกความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวกับชุมชนอำเภอหนองบัว มาไว้รวมกันในเวที Nong-Bua Community ทั้งหมดเลย จะได้สะดวกและเป็นหมวดหมู่ดีขึ้นครับ
      • พอย้ายมารวมไว้ด้วยกันแล้วก็เพิ่งเห็นภาพว่าเรื่องของหนองบัวมีเยอะและหลากหลายดีเหมือนกันนะครับ

      กราบนมัสการด้วยความเคารพ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • "เห็นพระคุณเจ้าเขียนและเห็นบัณฑิตฝ่ายบรรพชิตซึ่งจบเปรียญธรรมตั้งแต่ ปธ ๓-ไปจนถึง ปธ ๙ หลายท่านแล้ว เลยเกิดความสนใจว่า น่าจะมีสถาบันหรือเครือข่ายรองรับให้ทุนมนุษย์ที่มีอย่างนี้ ได้มีโอกาสศึกษาเชิงลึกและผลิตงานวรรณกรรมทางศาสนาสำหรับสังคมไทยนะครับ"
      • เมื่อวานได้พูดคุยกับพระครูสิริรัตนานุวัตร(พระมหา ดร.ทวี ฐานวโร ป.ธ.๕ Ph.D.)ผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช พิษณุโลก ท่านปรารภว่าบัณฑิตที่จบไปยังไม่ค่อยเห็นมีลักษณะแนวทางในด้านการขีดเขียน การประพันธ์เท่าไหร่
      • อาจจะไม่เวทีให้ท่านหรือไร หรือว่าท่านไม่ถนัดด้านนี้ก็ไม่รู้ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้มีประสบการณ์หลายด้าน เป็นพระผู้บริหาร พระสังฆาธิการ เป็นผู้นำชุมชน ผู้นำชาวบ้านเป็นเปรียญ ผู้นำทางจิตวิญญาณ
      • อาจารย์พูดถึงเครือข่ายหรือสถาบันรองรับบัณฑิตเหล่านี้ให้มีเวทีผลิตงานวรรณกรรมก็น่าสนใจอย่างมาก
      • ถ้ามีเวทีให้ท่านได้แสดงบ้างน่าจะดีไม่น้อย
      •  ถ้ามีเวลามีโอกาสมีช่องทาง คงต้องขอปรึกษาอาจารย์ให้เป็นผู้เปิดเวทีให้แก่บัณฑิตเหล่านั้นที่สนใจงานขีดเขียน ผลิตงานวรรณกรรมด้านพุทธธรรมสู่บรรณพิภพบ้างสักวัน

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • "หนองบัวเป็นเหมือนศูนย์กลางที่เปิดไปสู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และอินโดจีน ทำเลที่ตั้งอย่างนี้ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็วและมีผลกระทบต่อการขยายตัวที่จะทำให้สัดส่วนของประชากรแฝงที่เคลื่อนมาจากที่อื่นมีมากกว่าคนท้องถิ่น และโครงสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก้จะเปลี่ยนแปลงไป การค่อยๆทำไว้ตั้งแต่ตอนนี้ในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากมายครับ"
      • ดูเมืองหลายเมืองก็เป็นเหมือนที่อาจารย์กล่าวไว้ คนที่สนใจก็ได้เห็นอดีตได้รับรู้ความเป็นมา หรือคนที่มาอยู่ทีหลังในอนาคตก็จะได้ทราบประวัติภูมิหลังไปด้วย
      • การได้ศึกษาเรียนรู้ภูมิหลังประวัติบ้านนามเมือง ก็จะได้รู้จักตนเองพร้อมกันด้วยเลย
      • คนก็จะได้ติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องและอยู่ด้วยกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน     จะได้ไม่เป็นผู้แปลกหน้าตลอดกาล
      • น่าจะดีกว่าไม่รู้จักกันและอยู่ด้วยกันจนตลอดชีวิตอึดอัดแย่เหมือนผู้คนเมืองใหญ่ทั่ว ๆ ในเวลานี้
      • เป็นการมองเห็นอดีตแจ่มชัด และรู้อนาคตว่าจะอยู่ร่วมกันแบบไหนอย่างไร ฉะนั้นคงต้องให้การศึกษาเรียนรู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

      ขอเจริญพร

      • เป็นข้อสังเกตผมเองน่ะครับ ผมว่าพระมหาเปรียญที่เขียนหนังสือนั้น มักเขียนพิถีพิถัน เมื่อ ๓-๔ ปีก่อน ผมได้หนังสือเรื่อง อริยวินัย นิพนธ์โดย พระราชวรเมธี (ยุ้ย อุปสนฺโต ปธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเขาวังราชบุรีและรองเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ก็รู้สึกได้เลยว่าจะเป็นมรดกทางวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเล่มหนึ่งของสังคมชาวพุทธไปอีกนับร้อยปี
      • หากพระคุณเจ้าและกลุ่มพระที่มีกิจกรรม ที่คิดว่าผมจะรับใช้ได้ก็ยินดีเสมอเป็นอย่างยิ่งครับ
      • การได้เรียนรู้และมีแหล่งข้อมูลชุมชนนอกเหนือจากที่มีอยู่ในรูปแบบอื่นๆอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านที่เขียนและสร้างขึ้นจากคนในชุมชน ในอนาคตจะมีประโยชน์มากครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • อาจารย์มหายุ้ย อุปสนฺโต(พระราชวรเมธี ป.ธ.๙) ท่านเป็นทั้งพระธรรมกถึกและเป็นนักวิชาการถือเป็นบุคลากรฝ่ายพุทธจักรเป็นผู้นำที่เป็นหลักท่านหนึ่งของสงฆ์ไทย
      • สมกับเป็นผู้ครองวัดที่บทบาทต่อการพัฒนาสังคมฝ่ายกรรมฐานในเมืองราชบุรี
      • ศิษย์ของท่านรูปหนึ่งเพิ่งจบ ป.ธ.๙ ก็ถนัดทางกรรมฐานภาวนา

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • เมื่อวาน(๑๙ ก.ย.๕๒)เป็นวันสารทไทย เทศกาลบุญสิ้นเดือนสิบ
      • ตอนเป็นเด็กเมื่อถึงบุญสารทไทยจะตื่นเต้นได้ทำบุญใหญ่หน้าทำนา หน้าดำนา
      • นาดำบางปีน้ำน้อยต้องรอคอยน้ำนองน้ำหลากถึงเกือบสิ้นเดือนสิบ เมื่อน้ำนองมาก็ได้ดำนากัน
      • แต่เมื่อถึงบุญสารทไทยหรือคนหนองบัวเรียกว่าบุญขนมห่อ ก็ต้องหยุดดำนามาทำบุญกันสักวันสองวัน
      • ก่อนถึงวันทำบุญจะต้องตระเตรียมตัวก่อนโดยเฉพาะผู้หญิงก็เตรียมข้าวของที่จะนำมาทำขนมหรือข้าวเม่า(กระยาสารท)
      • ส่วนผู้ชายก็เตรียมตัวเกี่ยวหญ้าไว้ให้วัว-ควายโดยอย่างน้อยต้องพอกินสักสองสามวันจึงจะดีเพราะได้หยุดหลายวันช่วงทำบุญ
      • และอีกอย่างหนึ่งที่จะได้ตัดผมตัดเผ้าให้ดูเกลี้ยงเกลาเหลาหล่อเท่สวย เพราะดำนากันมาเป็นเดือนตัวดำ ผมรก ผมยาว รวมทั้งเป็นฮ่องกงฟุตน้ำกัดเท้าอีกต้องใช้มะขามป้อมเผาไฟร้อน ๆ มาแปะมาพอกบริเวณที่น้ำกัด
      • การตัดผมถ้าจะให้ประหยัดดี ก็ต้องให้ป้าน้าอาที่พอตัดผมเป็น ได้ตัดให้ลูกหลานแต่ว่าท่านไม่ใช่มืออาชีพ ตัดปีละไม่กี่ครั้ง ความชำนาญก็อาจจะน้อย
      • ตอนตัดก็นั่งตัวตรงนิ่งเชียวเพราะกลัวกรรไกรหนีบพลาดไปหนีบใบหูนะซิ
      • ยิ่งตอนโกนท้ายทอยนี่ถ้ามีดโกนไม่คมด้วยแล้ว โดนช่างจำเป็นลากใบมีดเสียววาบ ๆ เจ็บแสนเจ็บ กัดฟัดกรอด ๆ
      • กว่าจะได้ผมสวย -หล่อไปทำบุญกะเขาสักที ต้องแลกกับความเจ็บตัวเลยทีเดียว.

      ขอเจริญพร

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

      สารทไทย : นำเรื่องสารทไทยมาสืบสานไว้ก็ดีเหมือนกันครับ สารทไทยนั้นเป็นอาหารชุมชนและเป็นศิลปะของอาหารที่แฝงปรัชญาชีวิตและวิถีชุมชนการผลิตอย่างมากครับ ผมเคยเขียนไว้ที่นี่ครับ กระยาสารท ข้าวหลาม ขนมจีน : อาหารชุมชน

      • ความเป็นชุมชนในอาหาร ส่วนผสมในการทำกระยาสารทจะแล้วแต่ละแวกบ้านว่าจะมีสิ่งต่างๆ อย่างไร คือ  ข้าวเก่าเพื่อทำข้าวตอก  ข้าวเบาที่เริ่มแก่เพื่อทำข้าว เม่า มะพร้าวที่สะสมไว้ซึ่งแต่ละปีจะมันมากน้อยก็ขึ้นกับดิน น้ำ และฤดูกาล น้ำตาล แบะแซ และอื่นๆ
      • แต่ละบ้านก็จะหิ้วสิ่งของมาโฮมกัน แล้วก็ช่วยกันทำ พระคุณเจ้าอยู่บ้านเราก็คงจะพอนึกออกว่า เมื่อถึงเวลาเอาขนมใส่กาละมังไปแลกกันกินนั้น หากบ้านไหนและละแวกบ้านญาติพี่น้องกลุ่มไหน มีขนมกระยาสารทส่วนประกอบถึงไปหมด เราก็จะรู้ได้ว่าญาติพี่น้องกลุ่มนั้นมีความสมบูรณ์พูนสุข ข้าวปลาอาหารไม่ขาดแคลน
      • แต่ถ้าหากบ้านไหน กินแล้วก็สัมผัสได้ว่าเครื่องกระยาสารทไม่ถึง ขาดๆเกินๆ ซึ่งก็จะบอกให้เราทราบได้ทันทีว่ามีหลายอย่างที่ขาดหายไปจากญาติพี่น้องกลุ่มบ้านนั้น หากเครื่องถึงแต่ก็ยังรสชาดไม่ลงตัว ก็อาจจะมาจากแรงงานที่ต้องช่วยกันทำไม่พรักพร้อม ลูกหลานและกลุ่มญาติพี่น้องไม่ร่วมแรงร่วมใจกัน  เพราะวัตถุดิบและขั้นตอนต่างๆของกระยาสารทนั้น ไม่สามารถทำกินได้คนเดียว หากแรงงานน้อย ลูกหลานไม่รักกัน ความสุขเป็นกลุ่มก้อนไม่ดี ข้าวเม่าซึ่งต้องคั่วและตำตั้ง ๓-๔ ขั้นตอนก็จะไม่อ่อนนุ่มและเต็มไปด้วยกาก ข้าตอกก็จะไม่แตกทั่วทุกเม็ด น้ำตาลและแบะแซก็ไม่มีคนช่วยกันกวนให้อยู่ตัว ไม่คืนตัวเมื่อเก็บไว้ข้ามคืน  เหล่านี้เป็นต้น
      • หากกินกระสาสารทที่ศาลาวัด เราก็จะรู้ได้ทันที่เลยว่ากลุ่มบ้านในในปีนั้นจะทุกข์ร้อนขาดแคลน และกลุ่มบ้านไหนที่กระยาสารทอร่อยจะมีความสุข มีความสมานสามัคคี
      • ความเป็นศิลปะของอาหารและการกินอยู่ : อันที่จริง ตอนนี้ในสังคมไทยไม่ได้ใช้พันธุ์ข้าวหนักสำหรับนาปี และพันธุ์ข้าวเบาสำหรับข้าวนาดอน และฤดูกาลต่างๆก็เพี้ยนไปหมดแล้วครับ หากไม่ผิดคลาดเคลื่อนกันไปหมด เราจะรู้ว่ากระยาสารทและการทำบุญสารทไทยนั้น เป็นศิลปะของอาหารและวิถีชีวิตของชุมชนการผลิตของชาวนาไทยอย่างยิ่งครับ  ข้าวตอก นั้น เป็นตัวแทนข้าวเก่าจากยุ้งฉางจากปีที่ผ่านมา ส่วน ข้าวเม่า ความจริงแล้วก็คือตัวแทนของข้าวใหม่จากท้องนาที่ข้าวเบากำลังเริ่มแก่ ของปีที่มีงานบุญสารท
      • งานทำบุญสารทไทย จึงเหมือนการเฉลิมฉลองการผลิตและสร้างกำลังใจเพื่อรอคอยฤดูกาลเก็บเกี่ยว
      • ช่วงนี้ต้องเป็นหน้าน้ำหลาก ข้าวหนักจะกำลังเติบโตเข้มแข็ง พ้นน้ำและเริ่มแตกกอ เตรียมตั้งท้องออกรวง ถึงตอนเย็นก็จะได้ยินกลองย่ำค่ำ วันโกนวันพระชาวบ้านก็จะไปถือศีลอุโบสถ

      การตัดผม : เมื่อก่อนที่ตอนเป็นเด็กนั้น กลัวที่สุดก็ตอนตัดผมนี่แหละครับ มันเจ็บและโดนผู้คนล้อเลียนทั้งในหมู่บ้านและที่โรงเรียน

      • แถวบ้านผม จะมีผู้ใหญ่ที่ตัดผมได้อยู่ท่านเดียว ชื่อแม่ใหญ่เหลือ หากแม่ใหญ่เหลือตัดผมให้นั้น ทุกคนก็จะยอมรับได้ เพราะนุ่มนวลและหัวไม่ลายเป็นหมาแทะ
      • แต่บางทีคนตัดผมเยอะกันไป ก็ต้องอาศัยมือสมัครเล่นเท่าที่จะมีแม่ป้าน้าอาท่านไหนจะสงเคราะห์ อุปกรณ์สำหรับตัดผมก็เป็นกรรไกรตัดผม เวลาตัดก็เจ้าประคุณเอ๋ย บางครั้งมันก็ดึงผมจนร้องจ๊าก และระหว่างที่ตัด เส้นผมก็จะตำตามเนื้อตัวให้คันยุกยิก นั่งไปก็อยากถลาไปโดดน้ำให้หายคัน
      • หลังจากตัดผมแล้ว วันรุ่งขึ้นก็จะต้องหาผ้าคลุมหัวและทนให้เพื่อนล้อไปสัก ๒-๓ วันเพราะหัวจะลายเป็นแถบๆเหมือนไปนอนให้หมาแทะหัวอย่างนั้นเลยครับ นึกแล้วก็ขำดีครับ
      • พอเดินทางสะดวกมากขึ้น ก็เริ่มไปตัดที่ร้านตัดผมที่หนองบัวครับ เวลาจะไปตัดพ่อแม่ก็จะต้องรอให้ทุกคนมีขนหัวยาวจนเป็นขนเม่นพอๆกันก่อน เพราะเดินทางลำบาก  เวลาใครจะไปตัดผมนั้นดูรู้เลยทีเดียวครับ หัวจะเหมือนเม่น และเวลาไปตัดผมที่ตลาดหนองบัวนั้น ก็จะเป็นพระเอกไป ๑ วัน เพราะพ่อแม่จะต้องเอาขนมและของเล่นหลอกล่อ เวลาตัดก็จะใชัปัตตาเลี่ยนมือบีบ ซึ่งบางทีช่างก็อาจจะฝนไม่คม มันก็จะหนีบและกระชากผมอย่างแสนทรมาน
      • นึกถึงแล้วสนุกดีครับ

      กราบนมัสการด้วยความเคารพ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • การขาด การด้อย การไร้ บางคนช่างมีซะทุกอย่างเลย น่าจะยกเว้นบ้าง กระไรหนอจึงเป็นเช่นนี้
      • ขาดโดกาสตั้งแต่ยังไม่เกิด
      • ด้อยโอกาสตั้งแต่ยังไม่เกิด
      • ไร้แม้กระทั้งสัญชาติ
      • ไร้โอกาสตั้งแต่ยังไม่เกิด
      • สิ้นไร้ไม้ตอก
      • ไร้บ้านแม้จะซุกหัวนอน
      • ชาวนาก็ไร้ที่นาซะงั้นแหละ
      • บ้านใหญ่โตแต่ก็ไร้คนอยู่เพราะมีลูกคนเดียว
      • บ้านเท่ารังหนูแต่ไม่ไร้ผู้อาศัยเพราะมีกันถึงครึ่งโหล
      • โรงเรียนไร้ผู้เรียนเขียนอ่าน
      • วัดวาดอารามไร้ผู้อยู่อาศัย แต่ก็หมั่นเพียรสร้างกันไม่หยุดหย่อน(แล้วใครจะรักษาคุ้มครองดูแลกันละ)
      • รถราคาถูก ๆ แต่ไม่ไร้ผู้คนเดินทาง ไปด้วยกันเป็นทีมแน่นรถ
      • รถราคาแพง ๆ แต่ก็ไร้คนเดินร่วมทาง เดินทางผู้เดียวสบายใจเฉิบ
      • สมบัติสิ่งของสาธารณะไร้คนดูแลเอาใจใส่ ทิ้งขว้างปล่อยปละละเลย
      • ประเพณีดีงามหลายอย่างก็ไร้คนสืบสานหมดคุณค่า
      • บ่นไปบ่นมาก็ชักจะรู้สึกว่าไร้สาระเข้าไปทุกที
      • ไร้อะไร ก็ไร้ได้ ไม่ว่ากัน แต่ขออย่างเดียวอย่าไร้ผมบนศีรษะก็แล้วกัน

      เอวัง

      ขอเจริญพร

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • เมื่อพ.ศ.๒๕๓๑-๒ จำพรรษาที่วัดวิชิตสังฆาราม อ.เมือง จ.ภูเก็ต
      • ตอนนั้นหลวงพ่อพระเทพปริยัติมุนี(หลวงพ่อเข็บ อนงฺคโณ ป.ธ.๙ )เป็นเจ้าอาวาส
      • และเป็นเจ้าคณะภาค ๑๗ ปกครอง ๕ จ้งหวัด คือภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา และระนอง
      • หลวงพ่อท่านเป็นคนบ้านไม้เรียงอำเภอฉวาง จ.นครศรีธรรมราช พระเดชพระคุณเป็นศิษย์วัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ
      • เมื่อได้เป็นเปรียญ ๙ แล้ว สมเด็จพระสังฆราช (พระสังฆราช ปลด)เจ้าอาวาสวัดเบญฯ ได้ส่งท่านไปเป็นผู้ปกครองผู้บริหารพระศาสนาที่ถิ่นใต้บ้านเกิด
      • หลวงพ่อเข็บเป็นผู้ที่มีนิสัยสู้งานมากจริง ๆ สู้แบบไหนวันหน้าจะเล่าให้ฟัง

      ขอเจริญพร

      • ผมคงสมปรารถนาดังคำอวยพรของพระคุณเจ้าที่ว่าอย่าได้ไร้ผมบนศีรษะอย่างเดียว เลยไม่กังวลไร้ผมบนศีรษะแล้วครับ แต่ตอนนี้กังวลเรื่องหงอกครับ เมื่อไม่กี่ปีมานี้พอเห็นผมหงอกก็พอจะถอนออกไหว แต่ตอนนี้ชักจะเต็มหัวแล้วครับ กลายเป็นถอนผมดำออกจะงานเบากว่าเสียแล้ว เริ่มเฒ่าแล้วละครับ แต่รู้สึกเป็นสุขและเหมือนกับได้ชนะแก่ตนเองอย่างไรชอบกลครับ ไม่รู้คนอื่นจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่า มีความรู้สึกว่าให้กลับไปเป็นเด็กและเป็นคนหนุ่มสาวอีกก็ไม่เอาครับ
      • พระคุณเจ้ามีประสบการณ์ในการเดินทางและได้พำนักในถิ่นต่างๆเยอะนะครับ หากบันทึกถ่ายทอดสิ่งที่ได้สัมผัสจากประสบการณ์ชีวิตออกมาไว้ได้ ก็จะเป็นข้อมูลชุมชนจากประสบการณ์ชีวิตของผู้ได้อยู่อาศัยครับ ในทางวิชาการก็นับว่ามีคุณค่ามากครับ

      กราบนมัสการด้วยความเคารพ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      หลวงพ่อพระเทพปริยัติมุนี(หลวงพ่อเข็บ อนงฺคโณ ป.๙) เจ้าอาวาสวัดวิชิตสังฆาราม เมือภูเก็ต

       เรื่องทำงาน ปรกติการทำงานวัด เช่น การกวาดลานวัด ตัดหญ้า ขุดดิน จะเป็นหน้าที่ของพระลูกวัด ศิษย์วัดก็พอรับมือไหว แต่ที่วัดควน(คนภูเก็ต เรียกวัดวิชิตสังฆาราม ว่าวัดควน) มีพระผู้ใหญ่ระดับเจ้าคณะภาค ปกครองสงฆ์ถึงห้าจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา และระนอง ) เป็นเจ้าอาวาส ทุกวันท่านจะกวาดลานวัด ญาติโยมที่มาจากที่อื่นจะไม่ทราบว่า พระที่กำลังกวาดลานวัดอยู่นั้นเป็นเจ้าอาวาส บางทีฟังดูแค่นี้อาจจะบอกว่าก็ไม่เห็นมีอะไรก็เหมือนพระทั่วไปก็เห็นทำกันอยู่อะไรทำนองนั้นสมภารทั่วไปที่ทำแบบนี้ก็เยอะแยะ สมภารท่านอื่นทำเป็นบางเวลา ทำชั่วครั้งชั่วคราว ครั้งละไม่กี่ชั่วโมงก็เลิกแล้ว ส่วนพระเทพปริยัติมุนี(หลวงพ่อเข็บ) ท่านทำงานพูดแบบชาวบ้านว่า ทำงานกรรมกร ท่านทำได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเลยแหละโยม ช่วงนั้นอาตมาอายุเลยเบญจเพศมานิดหน่อยเอง แต่ทำงานกรรมการสู้หลวงพ่อเข็บอายุ ๕๐ กว่าไม่ได้รวมทั้งพระเณรรูปอื่น ๆ ทั้งวัดด้วย พระเณรทำงานแบ่งกันเป็นกะ กะละกี่ชั่วโมงก็แบ่งให้เท่า กัน พอหมดกะก็เปลี่ยนชุดทำงาน(ถากหญ้า ขุดดิน ขุดตอไม้รากไม้ใหญ่ ๆ) หมุนเวียนกันทั้งคืน ส่วนหลวงพ่อเข็บท่านทำไม่หยุด เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ทำต่อ ตลอดคืนถึงสว่าง เกิดมาเป็นตัวเป็นตัวยังไม่เคยเห็นใครทำขนาดนี้เลย ไม่ต้องพูดถึงพระ แม้แต่ชาวบ้านแท้ ๆ ก็ทำสู้ท่านไม่ได้ คนเก่า ๆ ที่ภูเก็ตยังจำได้ กลางคืนกลางสายฝนส่วนมากพระเณรจะหยุดพักเมื่อฝนตกหนัก ๆ ฝนหายแล้วค่อยทำต่อ แต่หลวงพ่อเข็บ ท่านทำกลางสายฝนที่กำลังตกอย่างหนักโดยไม่สนใจสายฝนที่โปรายปรายใส่ร่างกายท่าน ที่แปลกที่สุดก็คือ ท่ามกลางสายฝนนั่นเอง หลวงพ่อก่อไฟจุดกองเศษหญ้าที่ถากที่ตัดไว้ควันโขมง อบอวนโดยการจุดเปลือกมะพร้าวที่ผ่าเป็นชิ้น ๆ ถือเป็นความอัศจรรย์ที่สุดในชีวิตอาตมาที่ได้เห็นพระสงฆ์แบบนี้ ต้องถือว่า ไม่มีอีกแล้วในโลกนี้ เพราะในเมืองไทยน้อยไป ท่านเผาเศษหญ้ากลางสายฝนได้เรียบร้อยงดงาม ความรู้สึกของเราเมื่อเห็นทั้งทึ่ง ทั้งสงสัย ทั้งไม่อยากทำตาม คิดตามความรู้สึกตัวเองว่ามากเกินไป แต่ท่านทำได้อย่างสบายใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทุกข์ร้อนต่อฟ้าฝน ต่อธรรมชาติ ใครมีประสบการณ์เห็นคนแบบนี้พระแบบนี้บ้างก็เล่าสู่กันบ้างก็จะดี พระระดับเจ้าคณะภาคนั้นถือว่าเป็นผู้บริหารพระศาสนาที่อยู่ระดับสูงเหนือเจ้าคณะจังหวัดขึ้นไป วัดควนมีลักษณะพื้นที่ลาดเป็นเชิงเขา ถ้าภาษาภาคกลางบ้านจะเรียกว่า ตีนเขาบ้าง เชิงเขาบ้าง แต่คนใต้จะเรียกว่า ควน พื้นดินต่างระดับกัน จำเป็นต้องทำให้แต่ละชั้นเสมอกันวิธีทำก็คือขุดดินเป็นหน้าฉาก ๙๐ องศาเพื่อแบ่งพื้นที่โดยหน้าฉากต้องนำหินก้อนใหญ่ ๆ มาเรียงเป็นหน้าฉากอัดแน่น ช่วงที่ทำตอนนี้ก่อนหน้าอาตมานานมากไม่ได้เห็น แต่พระผู้ใหญ่ที่ทำมากับท่านเล่าว่า หลวงพ่อเข็บทำงานชุดนี้อย่างทุ่มเทจิตใจให้พระศาสนาอย่างถวายหัวไม่มีคิดถึงชีวิตสุขภาพขององค์ท่านเลยเพื่อพระศาสนาจริง ๆ ช่วงที่อาตมาเห็นนั้นแค่ขุดดินถากหญ้า เผาเศษหญ้าซึ่งเทียบไม่ได้กับการบุกเบิกสร้างวัดควนให้ดูสง่างามเด่นทั้งการศึกษาแข็งแกร่งทั้งการงานทั้งการใช้ชีวิติ การดำเนินชีวิตท่านเป็นต้นแบบทำให้เห็นจริง สัมผัสได้ ทราบว่าพระเณรหลายรูปต้องกราบลากลับมาตุภูมิเพราะเจองานกรรมกรของหลวงพ่อเข็บ ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจมาศึกษาภาษาบาลี ต้องถือว่ายุคหลวงพ่อเข็บ หรือพระมหาเข็บ ป.๙ วัดวิชิตสังฆาราม(วัดควน)การศึกษาภาษาบาลี ฝั่งทะเลอันดามันใครก็มุ่งหน้าสู่วัดควน ใครที่ผ่านเวทีวัดควน ผ่านการศึกษาสู้งานแบบหลวงพ่อเข็บไปได้สามารถต่อสู้กับโลกภายนอกได้ทุกสถานการณ์ (นี่แค่งานกวาด ขุด ถาก ยังมีงานอื่นอีกต้องติดตาม)

      โปรดติดตามตอนต่อไป

      • เคยศึกษาวิถีปฏิบัติของพระบางท่าน การทำงานหนักและทำกิจต่างๆทั้งของวัดและชุมชนนั้น เป็นมรรควิถีในการเข้าถึงธรรมโดยการปฏิบัติของท่านเหมือนกันครับ ในเรื่องล่าของเว่ยหล่างและเคยฟังท่านพุทธทาสกล่าวเป็นปริศนาธรรมในลักษณะนี้เช่นกันว่า เวลากราบพระพุทธนั้น พระพุทธไม่ได้อยู่ในโบสถ์หรอก แต่อยู่โน่นในท้องนาที่คนกำลังไถนาและในการงานที่ผู้คนกำลังทำ
      • แต่ระดับนี้คงต้องเข้าใจและกำหนดรู้ด้วยการศึกษาให้ลึกซึ้งด้วยเหมือนกันครับ เพราะในแนวการสอนที่สำคัญของพุทธศาสนาอย่างหนึ่งนั้น ต้องเชื่อว่าปัจเจกทุกคนเรียนรู้และพ้นทุกข์ได้ด้วยวิถีแห่งปัญญา ซึ่งในแง่หนึ่งก็มีนัยยะว่าคนเราทุกคนมีความเป็นพุทธะอยู่ในตัวเองที่รอการปฏิบัติให้ถูกต้องก็จะสามารถตื่นรู้ขึ้นมาได้
      • หลวงพ่อเข็บท่านคงจะเป็นอย่างนี้ก็ได้นะครับ
      • กำลังรออ่านตอนต่อไปครับผม
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ภูเก็ตเป็นเมืองสงบน่าอยู่ผู้คนมีอัธยาศัยดีเป็นเมืองปิดใครไปใครมารู้จักหมด เพราะอะไร เพราะภูเก็ตเป็นเกาะที่ไม่ค่อยไดติดต่อกับชุมชนภายนอกเท่าไหร่ คนภูเก็ตเรียกบ้านตัวเองว่า แผ่นดินเล็กไม่ติดต่อกับจังหวัดใด เรียกคนพังงาและจังหวัดอื่อ ๆ คนแผ่นดินใหญ่ เรียกฝั่งพังงาว่า แผ่นดินใหญ่ เมื่อก่อนสะพานสารสินยังไม่มี ต้องข้ามเรือที่หมู่บ้านท่าฉัตรไชยฝั่งภูเก็ต ท่านุ่นฝั่งจังหวัดพังงา

      ท่านที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท่านุ่นคงเคยได้ยินมาบ้าง มีกรณีข่าวใหญ่มาก ๆ ณ บริเวณท่านุ่น ณ ท่านนุ่นนี้มีพี่น้องชาวไทยพุทธ-อิสลามมาก แต่พี่น้องเหล่านั้นอยู่กันอย่างแบบพี่แบบน้องเป็นเพื่อนเป็นมิตรกันมาก โอกาสหน้าจะเล่าให้ฟังบริเวณท่านุ่น

      สมัยหลวงพ่อพระเทพปริยิติมุนี(หลวงพ่อเข็บ ป.๙) มาเป็นเจ้าอาวาสวัดควน(วิชิตสังฆาราม) เมืองภูเก็ต แถวอำเภอถลาง อำเภอกะทู้ วัว-ควาย ปล่อยโดยไม่ต้องมีคอก สามารถปล่อยกินหญ้าได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีโจรผู้ร้ายลักขโมย ไม่มีกรณีวัว-ควายหายเลย แสดงว่าเป็นเมืองที่สงบสมชื่อ เพราะบริเวณดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ กว่า ๆ ก็ยังเป็นสภาพท้องทุ่งนา มีวัวควายมากอยู่ ความเจริญต่าง ๆ มีน้อยจริง ๆ ไปตามหาดต่าง ๆ เงียบสงบ ถ้าคนชอบความอึกทึกสนุกสนานละก็ จะผิดหวังเพราะเงียบมากถึงวังเวงเลยะแหละ เป็นเกาะที่อาตมาไปเป็นที่แรกที่อื่นยังไม่ได้ไป ความเป็นธรรมชาติยังมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ถ้าเป็นสมัยหลวงพ่อเข็บ ที่ยังไม่ไม่สะพานสารสิน จะสงบน่าอยู่ขนาดไหน คงจะเหมือนที่อื่นทั่ว ๆ ไป ที่เมื่อยังไม่เป็นเมืองท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะสงบเงียบธรรมชาติงดงาม

      หลวงพ่อมาสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้นที่ฝั่งอันดามัน ณ เมืองภูเก็ต ชื่อว่าโรงเรียนภูเก็ตธรรมวิทยาทาน ผลิตบัณฑิตฝ่ายบรรพชิตรูปปัจจุบันที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดก็จากโรงเรียนนี้ และเป็นพระสังฆาธิการก็จากโรงเรียนวัดควน และที่มีบทบามโดดเด่นในสภาผู้แทนราษฏรและทำงานช่วยกิจการพระศาสนาอย่างมากที่จะต้องกล่าวถึงต่อไป เขาผู้นั้นคือใคร ขอใช้สำนวนใต้หน่อยว่า

      โปรดอดใจรอสักฮิตตะ

      อ่านเพลินดีครับ ต้องรออ่านตอนต่อไปด้วยความตื่นเต้นครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • วันนี้ขอแนะนำลูกศิษย์พระเทพปริยัติมุนี (หลวงพ่อเข็บ อน.คโณ ป.ธ.๙) วัดวิชิตสังฆาราม เมืองภูเก็ต อดีตเจ้าคณะภาค  ๑๗
      • คิดว่าอาจารย์วิรัติ และหลายท่านคงจะรู้จักอาจารย์สนิท ศรีสำแดง ก็อ่านประวัติและผลงานไปก่อนวันหน้าจะได้พูดถึงท่านในแง่อื่น ๆ บ้าง อาจารย์สนิท ศรีสำแดง ท่านเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐
      • สำหรับ ดร.สนิท ศรีสำแดง เป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ได้อุทิศตนเพื่องานพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน และร่วมกันต่อสู้กับพุทธศาสนิกชนเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
      • ประวัติ
      •  อาจาย์สนิท นามสกุล ศรีสำแดง
      •  เกิดวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
      •  ภูมิลำเนาเดิม
      • ต.เสาธง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
      •  บิดา นายเขียว ศรีสำแดง
      •  มารดา นางแช่ม ศรีสำแดง
      •  คู่สมรส นางบุณฑริก ศรีสำแดง
      • วุฒิการศึกษา
      •  ประกาศนียบัตรพิเศษครูมัธยม (พ.ม.)
      •  ประกาศนียบัตรวิชาการพูดในที่ชุมนุมชน (Cert. In E.S.)
      •  เปรียญธรรม ๙ ประโยค (ป.ธ.๙)
      •   พุทธศาสตร์บัณฑิต (พธ.บ.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
      •  นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
      •  ปริญญาโททางการศึกษา (M.Ed) Baroda University ประเทศอินเดีย
      •  ปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประวัติการทำงานและประสบการณ์
      •  อดีตอาจารย์บรรยายพิเศษ ร.ร.ป่าไม้แพร่ (๒๕๑๙)
      •  อดีตอาจารย์บรรยายพิเศษ ร.ร.นารีรัตน์ จ.แพร่ (๒๕๑๙)
      •  อดีตหัวหน้าภาควิชาพื้นฐาน มหาวิทยาลัยสยาม
      •  อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
      •  วิทยากรบรรยายหลักสูตรผู้จะเป็นผู้กำกับ (๒๕๓๗-๒๕๔๐)
      •  วิทยากรหลักสูตร "คุณธรรมและสมรรถภาพข้าราชการ" (นิด้า)
      •  อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
      •  อดีตอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
      •  ทนายความชั้น ๑
      •  กรรมการอำนวยการพุทธธรรมสภา สภาผู้แทนราษฎร
      •  อดีตคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร
      •  อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
      •  อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ การมีส่วนร่วมวุฒิสภา (พ.ศ.๒๕๔๕)
      •  อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการ การมีส่วนร่วมกิจการพระพุทธศาสนา วุฒิสภา (พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๖)
      •  อดีตคณะอนุกรรมมาธิการศาสนา จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม วุฒิสภา
      •  อดีตที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
      •  อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
      •  อดีตนายกเปรียญธรรมสมาคม แห่งประเทศไทย
      •  วิทยากรรายการ "ธรรมะร่วมสมัย" F.M.100.5 Mhz อ.ส.ม.ท.
      •  ศึกษาดูงานประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๑๕
      •  ศึกษาดูงานประเทศอินเดีย พ.ศ. ๒๕๑๘
      •  ศึกษาดูงานประเทศพม่า พ.ศ. ๒๕๓๙
      •  นายกเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๔ ด.ร สนิท ศรีสำแดง (๑ สมัย ๒ ปี)
      •  รองประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ฝ่ายคฤหัสถ์) เกียรติประวัติ
      • ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์มงกุฏไทย (จ.ม.)

      เป็นเส้นทางชีวิตแบบ จากโคลนตม-สู่หิ้งพระ จริงๆเลยนะครับ มีพลังการเรียนรู้ เติบโตงอกงาม และได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆมากมายตลอดชีวิตเลยครับ

       

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • อาจารย์สนิท ศรีสำแดง ท่านเป็นนักพูด นักปาฐกถา นักเล่านิทาน นักบรรยายธรรมะ นักวิชาการ เขียนตำราปรัชญาศาสนา วิชาการเข้มแข็ง รู้ศาสตร์หลายศาสตร์ทั้งเก่า-ใหม่ ประยุกต์ได้ดี
      • ท่านเป็นคนอารมณ์ดีมาก ๆ พูดตลก มีมุขทำให้ฮาได้ตลอดเวลาที่พูดต่อหน้าผู้คน สมกับเป็นคนใต้ เจ้าบทเจ้ากลอน
      • ท่านเคยเล่าว่า ตอนเป็นพระมีคนที่รู้จักกันนิมนต์ไปเทศน์งานศพที่จังหวัดแพร่
      •  มหาสนิท ศรีสำแดง เทศน์จนเจ้าภาพที่ร้องไห้อยู่ หัวเราะออกมาได้ เคยอ่านพระชาวฝรั่งท่านหนึ่ง ตอนนี้จำชื่อท่านไม่ได้
      • ท่านเทศน์งานศพแบบไม่ให้เจ้าภาพโศกเศร้า ท่านเล่าที่ไว้ไหนสักแห่ง ท่านบอกว่าตอนนี้ มีฝรั่งที่บ้านท่านนิยมนิมนต์ท่านไปเทศน์แล้ว มีความรู้สึกดี ๆ ไม่โศกเศร้า ควรพูดถึงผู้วายชนม์ในแง่ที่รำลึกถึงแล้วไม่ต้องร้องไห้ก็ได้ท่านว่างั้น
      • น่าสนใจมากเลยกรณีแบบนี้ มีเวลาคงต้องหามาศึกษาเรียนรู้กันต่อไป
      • อาจารย์สนิท ท่านพูดเรื่องหนัก ๆ วิชาการล้วน ๆ แต่ท่านมีเคล็ดมีมุขพูดให้ผู้ฟังไม่ง่วงไม่เบื่อหน่าย คอยสอดแทรกเรื่องเบา ๆ เป็นระยะ ๆ คนฟังได้ฮากันทั้งพระทั้งโยม
      •  แต่นี่ก็น่าเสียดาย ว่าคนมีความสามารถมากขนาดนี้ ก็ยังไม่ทราบว่ามีใครบันทึกเกร็ดชีวิตความรู้ เทคนิควิธีการพูด การเผยแผ่ วิชาการแบบชาวบ้านก็ได้ แบบวิชาการก็ได้ เรียกว่าได้รูปแบบจริง ๆ บุคลากรแนวนี้สูญชีวิตวิชาก็มักจะสูญตามไปด้วยน่าเสียดายจริงๆ
      •  เคยเจอท่านครั้งหนึ่งที่วัดวิเศษการ ใกล้ ๆ โรงพยาบาลศิริราช กมท. ตอนนั้นท่านมีบุตร และนำบุตรมาวัดที่กุฏิพระอาจารย์หมาคล่อง ศิษย์วัดควน(ภูเก็ต) ท่านหนึ่ง
      • ที่แปลกสำหรับทุกคนที่รู้จักพระเทพปริยัติมุนี(หลวงพ่อเข็บ ป.ธ.๙) ทุกท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ลูกท่านอาจาย์สนิท ศรีสำแดง นี้เหมือนหลวงพ่อเข็บ อย่างมาก ทั้งพระทั้งโยมทุกท่านหัวเราะชอบใจ
      • โดยเฉพาะอาจารย์สนิทอุ้มโชว์ให้ทุกคนดูด้านข้าง ด้านหน้า ด้านหลัง แล้วพูดว่า เออลูกเรานี่เหมือนเจ้าคณะภาค ๑๗ จริง ๆ เนาะ(หลวงพ่อเข็บ)

      พระอาจารย์หมาคล่องนี่ สงสัยจะเป็นมหาคล่องใช่ไหมครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ทวนแล้วยังผิดอีก ผิดตรงที่สำคัญเสียด้วยซิ

      ขอบคุณอาจารย์ แก้เป็นพระอาจารย์มหาคล่อง

      ผมนี่ยิ่งแล้วใหญ่ครับ มีโอกาสทำให้พิมพ์ผิดอยู่เรื่อย นิ้วมือผมใหญ่กว่าปุ่มสัมผัส เวลาพิมพ์แล้วชอบโดนอีกปุ่มไปด้วย / สายตาก็ไม่ดีครับ ทั้งมองได้ไม่ชัดเจนและเจ็บลูกตา ทำให้มองจิ้มดีดผิดอยู่เรื่อย บางทีต้องอาศัยแก้พิรี้พิไรหลายรอบ แต่นึกถึงว่าจะเป็นประโยชน์ให้คนได้เข้ามาอ่านในวันหลังๆ ก็เลยต้องอดทนทำ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เดินทางไปเกาะภูเก็ต

      รถเมล์รถบัสจะเขียนชื่อติดไว้ที่หน้ารถโดยสาร ว่าเกาะภูเก็ต นี่เมื่อพ.ศ.๒๕๒๘-๙

      ไม่ทราบปัจจุบันยังมใช้ชื่อนี้อยู่หรือเปล่า คงเขียนตามสภาพพื้นที่จริงเพราะภูเก็ตเป็นเกาะ แยกจากแผ่นดินใหญ่

      ขึ้นรถยุคนั้นทั้งสนุกทั้งเหนื่อย เพราะส่วนใหญ่เป็นรถพัดลม รถทัวร์ก็พอมีแต่จำนวนน้อย เหนื่อยเพราะทางคดเคี้ยวภูเขาแถวจังหวัดระนองมีมาก นั่งครั้งแรก พระนั่งหลังสุดด้วย(ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมพระต้องนั่งท้ายด้วย) รถเลี้ยวโค้งทีก็เอนตัวขืนไม่ให้ลื่นไหลไปหาคนอื่น นั่งเอามือยืนเบาะเวียนหัวมากเลย

      กว่าจะพ้นจังหวัดระนองไปได้มึนหัวเวียนหัว แต่บรรยากาศข้างทางมีแต่ป่าเขา สวนยางพารา หมู่บ้านนาน ๆ จะมีสักแห่ง

      ส่วนมากชาวบ้านจะปลูกบ้านอยู่บริเวณที่ดินของตัวเองอยู่ใต้ต้นยางพารา อยู่ห่างกัน นั่งนึกเปรียบเทียบกับบ้านตัวเองแล้วทำให้มีข้อกังขาเกิดขึ้นว่า ทำไมอยู่กันโดดเดี่ยวจังเลย ไม่กลัวโจรภัยหรือไร ถ้าเกิดเหตุเภทภัยอะไรขึ้นมาจะร้องเรียกกันคงจะไม่ได้ยินเสียงเป็นแน่ เพราะไกลกัน เพราะบ้านตัวเองที่หนองบัวนั้นปลูกติดกันสี่หลังห้าหลังแล้วแต่ใครมีลูกมากน้อยเท่าไร ใต้ถุนที่บ้านหนองบัวเด็ก ๆ วิ่งเล่นกันสนุกสนานไม่ต้องกลัวเรื่องแดดเรื่องฝน เป็นพื้นดินที่กว้างขวางจริง ๆ ด้วยบ้านแต่ละหลังยาวสามวาสี่ห้าหลังคาเรือน ก็กินพื้นที่มากอยู่ บ้านทางภาคใต้ปลูกติดกับดินเตี้ย ๆ หลังเล็ก ๆ แต่ฐานะไม่ถึงกับยากจน ชาวสวนยางนั้นมีรายได้เกือบตลอดปี จากการตัดยางกรีดยาง เว้นประมาณเดือน เม.ย. ให้ยางได้ผลัดใบหยุดผลิตน้ำยางช่วงสั้น ๆ ฉะนั้นชาวบ้านก็ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูนั้นฤดูนี้เหมือนกับคนภาคอื่นที่ทำนาทำไร่ ทำนา-ไร่บางครั้งฝนแล้ง บางครั้งน้ำท่วม แล้วแต่ธรรมชาติไม่แน่นอนเรื่องผลผลิต แต่พี่น้องทางใต้ สามารถทำมาหากินได้ เรียกว่าตลอดปีก็ยังได้ ความอุดมสมบูรณ์ยังมีอยู่มากเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย นั่งรถจากกรุงเทพฯ-เกาะภูเก็ต ใช้เวลาประมาณ ๑๔ ชั่วโมง เมื่อก่อนรถจะออกจากสามแยกไฟฉาย (ขนส่งสายใต้เก่า)ช่วงประมาณ ๑๗-๑๘ น. ถึงภูเก็ตประมาณ ๐๘.๐๐ กว่า ๆ นั่งเมื่อยแล้วเมื่อยอีก หลับสองตื่นสามตื่นก็ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางและโดยที่จังหวัดระนองนี่แหละโค้งมากต้องพยายามกำหนดว่า ขอให้หลับช่วงประจวบฯเถอะเมื่อถึงระนอง จะได้ไม่เวียนหัว กำหนดได้เป็นบางครั้ง บางครั้งก็หลับตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ พอถึงระนองตื่นพอดีพบ กับทางคดเคี้ยว จังหวัดประจวบฯนี่เป็นจังหวัดที่ยาวมาก ๆ กว่าจะพ้นแต่ละอำเภอหายอยาก นั่งรถผ่านประจวบฯ ครั้งแรก ๆ จะชอบมากเลย เพราะเพลิดเพลิน(เพราะเคยนั่งตอนกลางวัน)ด้วยบรรยากาศบ้านช่องเรือนชานตลอดสองข้างทาง มีทั้งสวนสัปปะรถ สวนมะพร้าว สวนยาง มีอยู่ข้างทางดูแปลกตา เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แค่ประจวบฯกับชุมพรสองจังหวัดนี้รถวิ่งไม่น้อยกว่าสี่ห้าชั่วโมง เมื่อก่อนถนนเพชรเกษมไม่มีถนนคู่ขนานดังปัจจุบัน กลางคืนจะมีรถสิบล้อเยอะมากวิ่งตามกันเป็นแถวยาวเหยียด รถโดยสารหรือรถส่วนตัวที่วิ่งไปเจอขบวนสิบล้อเข้าแล้วต้องทำใจ เพราะแซงลำมาก แซงไปก็อันตราย ก็ต้องวิ่งตามสิบล้อไปเป็นเวลานาน ๆ แต่เมื่อถึงอำเภอเมืองชุมพรแล้วเลี้ยวขวาเข้าระนอง ระนองนี้หารถไม่เจอนานมาก ๆ กว่าจะได้เจอรถวิ่งสวนมาสักคันหนึ่ง วิ่งได้อย่างสบาย ถ้าขับรถไปคนเดียวแล้วรู้สึกไปน่าไปเพราะมืดและมีป่าเขาดูน่ากลัว ทั้ง ๆ ก็ไม่มีอะไร อุบัติเหตุหรือเหตุจากโจรภัยต่าง ๆ เกือบจะไม่มีเลย สงบเงียบถึงวังเวง เมื่อก่อนน่ากลัวอย่างหนึ่งก็คือโชว์เฟอร์ขับรถมีเพียงคนเดียวขับสิบสี่สิบห้าชั่วโมง โดยไม่มีมือสองมาเปลี่ยน ไม่เหมือนปัจจุบันจะมีพลขับสองคนเปลี่ยนกัน ขับคนเดียวดึก ๆ ผู้โดยสารก็หลับ เด็กรถก็หลับ เหลือโชว์เฟอร์คนเดียวนั่งฟังเพลงตลอดทั้งคืนยันรุ่ง เคยมีรถเสียที่อำเอกกะเปอร์ ดีที่เสียใกล้อู่ซ่อมไม่งั้นคงนั่งหาวในป่าอดข้าวแน่เชียวเรา.

      บ้านเรือนของชาวบ้านภาคใต้ในย่านที่ทำสวนยางกับสวนผลไม้ มีลักษณะเหมือนกับการตั้งบ้านเรือนของชาวและชาวสวนแถวสามพราน นครปฐม และเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานครที่ทำสวนผลไม้และสวนผัก หลายแห่ง โดยมีลักษณะกระจายไปตามสวน ไม่ค่อยตั้งบ้านเรือนอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มละแวกบ้านเหมือนชาวบ้านที่ทำนา เพราะชาวบ้านที่ทำนาจะมีวิธีทำห้างและเถียงนา เพื่อออกไปอยู่นาชั่วคราวในฤดูกาลผลิต แต่ชาวสวนจะอยู่เฝ้าสวนตลอดเวลามากกว่า ลักษณะบ้านเลยเป็นที่อยู่เฝ้าสวนไปในตัว เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ แล้วลักษณะชุมชนอย่างนี้ก็จะเป็นต้องพัฒนาวิธีทำงานกับชาวบ้านอีกแบบหนึ่ง คนจะมารวมกลุ่มกันยากมากครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • การอยู่ก็เป็นเอกเทศ เป็นเหมือนเฝ้าสวนไปในตัวเลย
      • บุคลิกลักษณะคนภาคนี้เป็นคนชอบแสดงออก กล้าพูด กล้าวิพากษ์วิจารณ์
      •  ไม่ค่อยกลัวผู้คน หรือเก็บตัวเงียบ ๆ ถ้าไม่รู้พื้นเพนิสัยอาจมองว่าเป็นคนโผงผาง รุนแรง
      • ถึงจะเป็นชาวบ้านทั่ว ๆ ไป แต่มีทัศนะมุมมองได้หลายมิติ
      • ทั้งการเมืองก็เสวนาได้ มีความตื่นตัวมีความเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ทันคน หรือเรื่องทั่ว ๆ ไปก็มักพูดคุยได้อย่างหลากหลาย
      • จริงใจ มีความมั่นใจค่อนข้างสูง พึ่งพาตนเองได้ รักพวกพ้อง
      • อาจมีส่วนทำให้การรวมกลุ่มยากดังว่า
      •  เพราะทุกคนก็สามารถพอ ๆ กัน เรียนรู้เท่า ๆ กันเลยไม่รู้จะมีใครตามใครดี
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      พระเทพปริยัติมุนี(หลวงพ่อเข็บ อนงฺคโณ ป.ธ.๙)วัดควนเมืองภูเก็ตอดีตเจ้าคณะภาค ๑๗

      ท่านสร้างสิ่งที่คนท้องถิ่นเข้าใจไม่ค่อยถูกต้องอันหนึ่งไว้ เมื่อเมืองภูเก็ตยังไม่บูมเรื่องการท่องเที่ยว

      ท่านสร้างตึกสำหรับให้คนที่มาท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตได้พักอาศัยตัวท่านก็อยู่ตึกนี้ด้วย และก็มีนักท่องเที่ยวจากทุกภาคของประเทศมาพักที่วัดควนเป็นจำนวนมาก

      พักที่วัดก็จะเอาสุขสบายเหมือนกับโรงแรมคงไม่ได้หรอก แต่ก็พอพักพาอาศัยได้ยุงไม่กัดก็แล้วกัน

      แนวคิดท่านก็คงแค่ให้คนที่มาภูเก็ตแล้ว มีช่องทางประหยัดรายจ่ายบ้างเพราะนอนวัด ทางวัดก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร

      แล้วแต่ผู้มาพักจะถวายค่าน้ำค่าไฟให้วัด บางคันถือโอกาสออกจากวัดตั้งแต่ตีสามตีสี่ โดยลืมหรือตั้งใจก็ไม่ทราบนอนตื่นแล้วไปเลยไม่ได้ถวายค่าไฟให้วัดก็มี(รถบัสพวกวัยรุ่น)

      สรุปว่า ไม่ใช่เป็นรายได้อะไรมากมายของวัดที่จะนำมาพัฒนาวัดวาได้เลย โบสถ์ที่ท่านสร้างไว้จนมรณภาพก็สร้างไม่เสร็จ

      แต่ผู้คนเข้าใจว่า หลวงพ่อเข็บสร้างโรงแรมรับนักท่องเที่ยวแข่งกับโรงแรม ฟังดูคำพูดแล้วค่อนข้างแรง น่าเห็นใจผู้ที่ไม่เข้าใจเจตนาวัตถุประสงค์ของท่าน ท่านเพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์ญาติโยม แต่คนมองแบบธุรกิจผลประโยชน์เงินทอง

      แล้วชีวิตหลวงพ่อเข็บที่เห็นท่านเป็นคนสมถะสันโดษ อยู่กินอย่างง่าย ๆ ไม่สะสม ชีวิตทำแต่งาน ทำหนักเสียด้วย

      เป็นเจ้าคณะภาคมีรถเก่า ๆ คันหนึ่งไว้ใช้ สำหรับรับส่งพระเณรไปสำนักสงฆ์บ้านพารา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง ซึ่งเป็นชุมชนพี่น้องมุสลิม

      มีพี่น้องไทยพุทธน้อยมาก ท่านเมตตาชาวพุทธที่ไม่มีที่ทำบุญ ได้ส่งพระเณรหมุนเวียนกันไปเมื่อถึงวันพระ โดยมีพระประจำอยู่รูปเดียว

      และที่แห่งนี้ท่านก็ได้ทำงานบุกเบิกด้วยแรงกายชนิดที่โหมหนัก ๆ ขุดดิน ขุดบ่อน้ำ ไม่มีน้ำจืดใช้ เพราะใกล้ทะเล น้ำบ่อเป็นสนิมสีแดง อาบแล้วถูสบู่ไม่ค่อยมีฟอง ท่านทำทุกอย่างงานในวัด

      และที่ทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมก็คือขุดคลองจากทะเลมาถึงหน้าวัดบ้านพารา ปัจจุบันเป็นแหล่งที่คนไปแถวนั้นก็ได้ไปดูชุมชนมุสลิม ที่หลวงพ่อเข็บพัฒนาไว้

      ท่านได้สร้างบุคลากรทางศาสนาไว้จำนวนมาก และที่ลาสิกขาไปทำประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่ใช่น้อย สงเคราะห์อนุเคราะห์ไม่เลือกศาสนา ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เอาเป็นแบบอย่างสงฆ์ผู้อุทิศตนเพื่องานแห่งอันดามัน

      ยังมีตอนต่อไป

      การอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนและชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย แล้วผู้นำชุมชนรวมไปจนถึงชาวบ้าน ต่างก็ดูแลสารทุกข์สุขดิบให้กัน จนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตอันปรกติสุขของกันและกันอย่างนี้ ที่ชุมชนหนองบัวก็เป็นชุมชนลักษณะเดียวกันเลยนะครับ

      ยังจำได้ดีครับ....สถานีขนส่งสายใต้ - เกาะภูเก็ต

      หลังสอบ ก.พ.ได้.....ลาออกจากการเป็นข้าราชการมหาวิทยาลยที่รามคำแหง นั่งรถจากขนส่งสายใต้ ไปสว่างเอาแถว ๆ อำเภอท้ายเหมือง .... ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา.........ช่วงที่ผ่านบ้านทุ่งมะพร้าว ยังเห็นร่องรอยการระเบิด ร่องรอยการเผาไหม้โรงเรียน สถานีอนามัย บ้านเรือน อาคารร้านตลาดอยู่เลย.......ทำได้เพียงแต่นึกภาวนาในใจ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต

      อ่านข้อเขียนของท่านพระอาจารย์แล้ว...หวลนึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ สมัยอยู่ที่นั่น ถึง 4 ปีเต็ม ๆ

      บ้านพัก อยู่ใกล้ ๆ สะพานหิน สิ่งที่พระอาจารย์บรรยายมานั้น....เห็นภาพอย่างชัดเจนครับ.

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      อาจารย์สมบัติมาช่วยรำลึกถึงแดนใต้ รู้สึกดีใจคิดว่า ตัวเองเล่าไปแล้ว จะไม่มีคนร่วมสมัยได้สัมผัสบรรยากาศแบบที่เขียนเสียแล้ว

      เมื่อก่อนในเมืองภูเก็ต มีตึกรามบ้านช่องรูปทรงแปลก ๆ สิ่งก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบโปรตุเกส

      ใครมาเห็นก็ตื่นตาตื่นใจได้อารมณ์ความรู้สึกย้อนยุค ตึกเก่า ๆ ยุคโบราณมีเยอะน่าชมได้เห็นร่องรอยอดีตที่สวยงาม

      แต่ผู้คนส่วนมากก็จะนึกถึงเพียงหาดทรายชายทะเล ชื่มชมแต่สถานที่ท่องเที่ยว ไม่ได้สัมผัสกลิ่นไอ ความเป็นเมืองโบราณ

      ที่ไปก็อยากไปดู ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม(วัดฉลอง)พระวัดควนท่านไปบิณฑบาตเกือบจะถึงสะพานหินเลยแหละ

      อาจารย์สมบัติแวะมาทักทาย พูดถึงภูเก็ตทำให้นึกถึงพระและญาติโยมหลายท่านทีเดียว และคงต้องหาโอกาสไปเยี่ยมท่านสักครั้ง

      อยู่นครสวรรค์ค่ะ ขอบคุณที่เล่าให้ฟัง

      มานั่งเกาะขอบโต๊ะ ร่วมฟังท่านพระมหาแล คุณสมบัติ ฆ้อนทอง และคุณ nana เสวนากันครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      วัดบ้านพารา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

      ขอนำข้อมูลมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดบ้าพารา ที่หลวงพ่อเข็บ วัดควนท่านไปสร้างไว้ให้พี่น้องชาวพุทธได้ทำบุญทำกุศลและอาตมาเคยจำพรรษาที่นี่โดยจะขออนุญาตนำบทความของ พล.อ.โอภาส โพธิแพทย์ ที่ท่านได้กล่าวถึงวัดบ้านพาราไว้ใน

      หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์ เที่ยวไป-กินไป หลายปีมาแล้ว ขอขอบคุณเจ้าของบทความอย่างมาก ดังนี้

       ....เนื้อที่ของผมที่จะเล่าเรื่องวัดในภูเก็ตคงหมดเท่านี้ แต่มีอีกวัดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผม คือวัดบ้านพารา เกี่ยวข้องตรงที่วัดนี้ยังเป็นสำนักสงฆ์อยู่ มีเนื้อที่ไม่มากประมาณ ๗ ไร่

      อยู่ท่ามกลางหมู่บ้านชาวไทยอิสลาม พระลำบากมากเพราะเดินไกลเพื่อรับบาตร และเดิมชาวภูเก็ตแทบไม่รู้จัก

      ต่อมาผมเขียนเล่าไว้ในไทยรัฐ วันอาทิตย์ หน้า ๖ คอลัมน์ เที่ยวไป กินไป ของผม ชาวภูเก็ตจึงพากันไปทำบุญมากขึ้น วัดค่อยบรรเทาความขาดแคลน แต่ต้องบิณฑบาตรไกลประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เช่นเดิม

      เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดน้อยนพคุณ ได้บิณฑบาตรขอให้แนะนำพระประธานไปถวายวัดนี้ ผมก็บูชาพระประธานหน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว นำไปถวายไว้เป็นพระประธาน ต่อมามีผู้นำพระองค์เล็กกว่าไปถวายอีกหลายองค์ ผมว่าตอนนี้ท่านมีพระประธานแล้ว พระเล็ก ๆ ก็เกินพอ ช่วยท่านสร้างศาลาการเปรียญที่ท่านสร้างถังน้ำฝน ไว้ข้างล่างจะดีกว่าเพราะน้ำดื่มขาดแคลนมาก

      เคยให้ท่านขุดบ่อน้ำบาดาลแต่ปรากฏว่าน้ำกร่อยดื่มไม่ได้ น้ำฝนที่เก็บไว้เดิมก็ต้องแบ่งปันให้ชาวไทยอิสลามที่มาขอน้ำ ศาสนาพุทธนั้นจิตกว้างขวางเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่บุคคลทั่วไป ทำให้น้ำแทบจะไม่พอฉัน ตอนนี้ดีขึ้นเพราะสร้างถังน้ำไว้ใต้ศาลาการเปรียญ ไม่ดีตรงศาลาการเปรียญที่ไม่ใหญ่โตอะไรนัก สร้างไม่เสร็จสักทีเพราะไม่มีปัจจัย

      ผมจึงขอเชิญชวนโดยเฉพาะชาวภูเก็ต จะทำบุญวันเกิด วันตายของญาติผู้ใหญ่ ไปทำที่วัดบ้านพาราด้วย และช่วยท่านสร้างศาลาการเปรียญ เกือบลืมบอกทาง หากไปจากเมืองภูเก็ต พอถึงอนุสาวรีย์ท่านท้าว ฯ ก็เลี้ยวขวาไปอีก ๑๔.๕ กิโลเมตร มีป้ายบอกทางขวา เลี้ยวขวาเข้าไปสัก ๕๐๐ เมตร วัดจะอยู่ทางขวามือ

      ขออนุโมทนาบุญ

      พล.อ.โอภาส โพธิแพทย์

      • ผมอยากจะวาดรูปช่วยเป็นภาพประกอบ แต่นึกภาพไม่ออกเลยครับ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนที่มีลักษณะจำเพาะแห่งหนึ่งที่น่าสนใจครับ 
      • แต่อ่านแล้วก็ได้ความรู้สึกงดงามและดีงามไปด้วยครับ คนชนบทเวลาอยู่ร่วมกันนั้น ถือเอาการร่วมทุกข์สุข เป็นที่พึ่งของกันและกันเป็นที่ตั้ง ความแตกต่างหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมจะเป็นอย่างไรก็รู้สึกเพียงมีความเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างหลากหลาย แต่ไม่มีพรมแดนความเป็นคนอื่นหรือเป็นคนละพวกในแง่ที่จะปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นคนอื่น
      • ความรู้และเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชุมชนนั้น ตามบ้านนอกและชุมชนในชนบทหลายแห่ง มักจะมีอยู่ในตัวคนที่ในห้วงชีวิตหนึ่งได้อยู่อาศัยชุมชน หรือได้ไปเยือน รวมทั้งได้มีกิจกรรมร่วมกันกับคนในชุมชนในลักษณะนี้แหละครับ การมีแหล่งให้ผู้คนได้คุยถ่ายทอดเก็บรวบรวมไว้ ก็จะทำให้มีความรู้ให้ได้ความซาบซึ้งเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของชุมชนมากขึ้น 
      • แต่ชาวบ้านและคนแก่คนเฒ่าที่มีประสบการณ์เหมือนกับเป็นหนังสือมีชีวิตนั้น โดยมากก็ไม่ถนัดในการอ่าน เขียน พูดบรรยาย หรือแม้แต่บอกเล่าให้ฟังอย่างเป็นการเฉพาะ
      • การส่งเสริมให้มีกระบวนการเรียนรู้ผสมผสานเข้าไปในวิถีชีวิตของชุมชนจึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญและทุกคนช่วยกันทำได้ 
      • โดยทั่วไปนั้น ผู้คนตามชุมชนต่างๆจะมีวัฒนธรรมการนั่งพูดคุยและฟัง เข้ามาแทนสังคมอ่านเขียนหนังสือ ซึ่งก็เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับการเสริมศักยภาพความเป็นชุมชนที่มีการเรียนรู้อยู่เสมอครับ

                         

      • เมื่อก่อนงานบุญปะพณีตามศาลาวัดและเวลามีกิจกรรมร่วมกัน ก็จะมีบทบาทต่อสิ่งนี้ให้ชุมชน การทำให้กิจกรรมเหล่านี้เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมชุมชนไปด้วยและผสมผสานการได้เรียนรู้พัฒนาตนเองทั้งของปัจเจกและชุมชนไปด้วย ก็เป็นเรื่องที่น่าทำครับ ดูเหมือนว่าเมื่อตอนต้นๆจะได้เสวนากับพระคุณเจ้าในเรื่องนี้เยอะเลย พอได้เห็นตัวอย่างง่ายๆและเป็นธรรมชาติแบบชาวบ้านๆอย่างนี้ที่ภูเก็ต ก็เลยอยากนำมาเรียนรู้อีกครับ
      • การดำเนินชีวิตและมีประสบการณ์ผ่านการดำเนินชีวิต สามารถสร้างความรู้และเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับชุมชนวัดบ้านพารา วัดควน ที่ถลาง ภูเก็ต ได้อย่างงดงามอย่างไร ที่ชุมชนหนองบัวและที่อื่นๆที่ยังไม่ค่อยมีคนช่วยกันทำ ชาวบ้านและคนท้องถิ่นที่พอมีความสามารถ ก็สามารถช่วยกันทำได้เช่นกันครับ
      • อย่างที่เวที่คนหนองบัวทำนี่เลยเป็นเรื่องเล็กๆแต่ดีครับ เลยมีความสุขไปด้วยที่ได้มีส่วนร่วมครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ ที่นำภาพชุดนี้มาประกอบเรื่องให้ดูดีขึ้นมาก

      ถ้าพระคุณเจ้าที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านพาราซึ่งท่านเป็นชาวจ.สุรินทร์ และชาวจ.น่านได้เห็นท่านคงจะดีใจไม่น้อย อาจารย์คิดได้ใกล้เคียงมากเลย

      อาตมาเห็นแล้วก็นึกถึงเด็กหนุ่มทางภาคอีสานที่ไปทำงานรับจ้างตัดยางกรีดยางพารา และเป็นลูกเรือประมงได้หนุ่มตังเก แล้วได้แต่งงานกับคนท้องถิ่นตั้งหลักปักฐานอยู่แถวอำเภอถลาง หลายคน ด้วยความเป็นคนอีสานก็จะมีความใกล้ชิดคุ้นเคยวัดบ้างไม่มากก็น้อย หรืออีกอย่างหนึ่ง การได้มาคุยกับพระสงฆ์องค์เจ้า ก็ทำให้หายคิดถึงบ้านได้พอสมควร เพราะหลวงพ่อท่านเป็นคนอีสานด้วย พูดภาษาเดียวกันในที่ต่างถิ่นเป็นเหมือนได้เจอญาติ

      บรรยากาศถึงจะไม่เหมือนในภาพนี้โดยตรง แต่ก็ใกล้เคียงทำให้อาตมานึกถึงบรรยากาศชายทะเลเลยเหมือนกัน กลางคืนได้ยินคลื่นน้ำทะเลยกระทบฝั่งดูน่ากลัวต่อมาก็เพลินดี จากท้องนาไปอยู่วัดริมทะเลได้ฟังคลื่นลมทะเลหลายปีอยู่เหมือนกัน

       

      มีภาพวาดทะเลอยู่พอดีครับ เพื่อให้ได้บรรยากาศการคุยกันถึงวัด ชุมชน และเมืองชายทะเลภูเก็ต เลยเอามาเป็นภาพคั่นการเสวนานะครับ

                          

      แต่รูปชุดนี้จะขอนำไปใช้เขียนบันทึก นำเสนอข้อมูล และถ่ายทอดเรื่องราวในหัวข้อจำเพาะของมันอีกนะครับ 

      อาจารย์ครับ ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์สำหรับหนังสือที่กรุณาส่งให้ผม...มีคุณค่ามากๆครับผมอ่านเเบบรวดเดียวเลย ได้ทั้งความรู้ประสบการณ์เเละเเง่งามทางวิชาการครับ...ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

      เรื่องราวของพระสมุห์โกศล ญาณวโรนี่น่าประทับใจมากเลยนะครับ ท่านจบเพาะช่างปี ๒๕๒๗ นี่เป็นรุ่นน้องผมเพียงปี-สองปีเองครับ

      ประเดี๋ยวต้องรีบไปบอกน้องๆที่เขาคิดทำกันขึ้นมา ต้องยิ้มกันแก้มปริเลย  ขอมอบให้เป็นกำลังใจอาจารย์กู้เกียรตินะครับ

      ประสบการณ์และวัตถุดิบจากการทำงาน บวกกับฝีมือทางศิลปะ และแนวการเป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพอย่างอาจารย์กู้เกียรตินี่ หากทำบทเรียนออกมาและพิมพ์เป็นหนังสือก็จะงดงามทั้งเนื้อหาและความเป็นหนังสือที่สวยกว่านี้อีกนะครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เห็นภาพวาดทะเลของอาจารย์แวบแรก นึกว่าเอ๊ะ ชายทะเลบ้านพารา ป่าคลอกหรือเปล่าใกล้เคียงมาก

      แต่ชายทะเลบ้านพาราจะเป็นคลองที่หลวงพ่อเข็บขุดจากหน้าวัดไปเชื่อมกับทะเล

      ทะเลบ้านพาราไม่มีต้นมะพร้าว มีแต่ป่าโกงกาง

      เป็นที่สงบจากลมทะเล เพราะมีภูเขากั้นไว้ ทำให้ปลอดจากลมมรสุมที่แรง ๆ ได้ดี

      และที่ห่างจากวัดบ้านพารา ประมาณเกือบ ๒ กิโลเมตรที่ท่านพล.อ.โอภาส โพธิแพทย์ พูดถึงนั้นพระคุณเจ้าก็ไปรับบิณฑบาตที่ศูนย์วิจัยฯทุกวัน มีข้าราชการไทยพุทธตักบาตรประจำ ถ้าวันไหนฝนตกหนัก ๆ พระไม่ได้ไปบิณฑบาตโยมท่านก็นำอาหารมาถวายที่วัดศูนย์วิจัยฯที่ว่านั้นก็คือ

      "ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต บ้านพารา ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต"

      เขียนถึงบ้านพาราป่าคลอก ก็ทำให้คิดถึงญาติโยมคนบ้านพาราขึ้นมาทันทีเลย

      ถ้าว่างจะเขียนถึงทายกวัดบ้านพารา ท่านเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ อพยพจากมหาชัย(จ.สมุทรสาคร)ไปอยู่ที่บ้านพารานานมาแล้ว

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      นำบุญกฐินมาฝากอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

      • เมื่อวานนี้(๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๒) วัดศรีโสภณ(วัดเสือลากหาง) อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
      • มีงานทอกกฐินสามัคคี ก็มีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงวัดศรีโสภณหลายหมู่บ้านมาร่วมงานวานนี้
      • ชาวบ้านเสือลากหาง
      •  ชาวบ้านดอนม่วง
      • ชาวบ้านศรีชนูทิศ
      • ชาวบ้านหนองอีพุ่ม
      • โรงเรียนคุรุประชาชนูทิศ (วันครู ๒๕๐๔)
      • อาจารย์จากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก
      • ได้ร่วมบริจาคคนละเล็กละน้อย คนละบาทสองบาท ได้ปัจจัยบำรุงวัด ๑๒๐,๐๐๐ กว่าบาท
      • วัดจะสร้างกำแพงหน้าวัด แทนกำแพงเก่าที่ชำรุด
      • ขอนุโมทนาบุญต่อญาติโยมสาธุชนทั้งหลายที่ได้ร่วมแรงร่วมใจอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาในครั้งนี้
      • ขอให้ทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกัน เทอญ.

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ขออนุโมทนากับทางวัดและทุกท่านด้วยครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ข่าวการกุศล โดยที่นายวิฑูรย์ ขำสุข ชาวหนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ทำงานอยู่ที่อยุธยาได้มีจิตศรัทธาเป็นผู้นำชักชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ  น้อง ๆ และพนักงานในที่ทำงานร่วมกันสร้างพระพุทธรูปเพื่อนำไปถวายวัดหนองกลับ อาตมาจึงขอบอกบุญชาวหนองบัวและผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบุญหรือจะไปร่วมงานและอนุโมทนาในวันดังกล่าวก็ได้ 

       เรื่อง ..... ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูป

      • ขอเชิญพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้องๆ พนักงานทุกท่านที่มีจิตศรัทธา ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการสร้างพระพุทธรูป ขนาดหน้าตัก ๓๒ นิ้ว(โดยประมาณ)
      • เพื่อนำไปถวายยัง วัดหนองกลับ(วัดหลวงพ่ออ๋อย) อำเภอหนองบัว จังหวัด นครสวรรค์ ซึ่งองค์พระนี้ จะตั้งไว้บนศาลาการเปรียญ เพื่อให้ญาติพี่น้องที่มาทำบุญในวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาได้กราบไหว้บูชากัน และก็เป็นการสร้างสมบุญของผู้มีจิตศรัทธาทุก ๆ ท่านด้วยเช่นกัน
      • วันที่จะนำไปถวาย  วันเสาร์ที่ ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๕๒

        เรียนมาด้วยความนับถือ

      นายวิทูรย์ ขำสุข

      ขอร่วมอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วยครับ เป็นความงดงามอย่างหนึ่งเลยนะครับ ไม่ใช่เป็นการบำรุงพระศาสนาและเป็นการทำบุญกุศลให้ตนเองได้จิตใจที่แจ่มใสดีงาม เป็นทุนชีวิตและเป็นกำลังในการสร้างสัมมมาปฏิบัติต่อไปอีกในวันข้างหน้าเท่านั้นนะครับ แต่เป็นการสร้างความเป็นส่วนรวมให้คนอื่นๆได้มีแหล่งทำสิ่งดีๆด้วยกัน เป็นกิจอย่างหนึ่งของผู้ที่กำลังเรียนรู้เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเองให้เติบโตงอกงามมากยิ่งๆขึ้นครับ

      เคยได้ฟังครูอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่าในพุทธกาล ก็มีคนที่ทำให้กับชุมชนตนเองอย่างนี้ ชื่อว่ามฆมานพ ซึ่งถ้าหากชุมชนและสังคมมีคนอย่างมฆมานพ ที่เป็นคนดูแลตนเองและบำรุงความเป็นส่วนรวมไปด้วยนี้อย่างหลากหลาย ก็จะเข้มแข็งและมีสุขภาวะมากครับ

      อีกอย่าง ที่ คุณวิฑูรย์ ขำสุข และหมู่ญาติพี่น้องกับหมู่คณะที่มาทำการงานที่อยุธยาแล้วก็ยังหาโอกาสทำสิ่งงดงามอย่างนี้กับบ้านเกิดตนเองได้นี่ ต้องถือว่าเป็นการย้ายถิ่นและไกลบ้านอย่างสร้างสรรค์นะครับ การมีคนออกจากชุมชนและไปอยู่ที่อื่นไม่ได้ทำให้ชุมชนบ้านเกิดเสียกำลังคนและเสียโอกาสการพัฒนาเสมอไป แต่สามารถส่งเสริมให้เป็นโอกาสการพัฒนาจากเครือข่ายลูกหลานท้องถิ่นที่ไกลบ้านได้ด้วย

      ขออนุโมทนาอีกครั้งครับ

      จากความเห็นที่ 170

      พูดถึงพี่น้องชาวอีสาน ที่ไปทำงานบนเรือตังเก.....สมัยที่อยู่ภาคใต้...ผมนำเรือศุลกากร 520 (ถ้าจำไม่ผิด) ออกลาดตระเวณ/ท่องทะเลอันดามัน... ไปตามทะเลหลวง....เกาะใหญ่... เกาะน้อย บางเกาะไม่มีผู้คน..ไม่มีต้นไม้ มีแต่โขดหินและนกทะเลอาศัยอยู่

      ยิ่งไกลออกไป มองไปทางไหนเห็นแต่น้ำและท้องทะเลอันเวิ้งว้าง กับนกนางนวล..........นาน ๆ จะพบเรือตังเกสักลำ

      เมื่อพบเรือตังเกพวกเราดีใจ....ลูกเรือตังเกก็ดีใจมาก ลูกเรือตังเกส่วนใหญ่เป็นคนงานพม่าและพี่น้องชาวอีสานบ้านเฮา

      พบกันแล้วก็ต้องทำการเทียบเรือ เมื่อเทียบเรือเสร็จ จะเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน..พวกเราเอาผลไม้...อาหารแห้ง กะปิ น้ำปลา น้ำมันพืชให้เขา .... เขาก็เอากุ้งเป็น ๆ หอย ปู ปลา ปลามึกสด ๆ มาให้เราเป็นการแลกเปลี่ยน ต่างคนต่างมา.....ต่างคนต่างภารกิจ แต่ก็รู้สึกอบอุนและมีความสุขเล็ก ๆในใจเมื่อได้เจอกับคนกลุ่มนี้

      พวกเราออกไปทำงานกลางทะเล มีที่พักอยู่ตามเกาะ เช่น เกาะสาหร่าย เกาะตะรุเตา...หรือบางครั้งหาอ่าวที่ค่อนข้างสงบจากคลื่นลมจอดและทอดสมอ ครั้งหนึ่งประมาณ 2 - 3 วันครับ

      แต่พี่น้องตังเกนี่ ต้องออกทะเลเป็นเดือน...ครึ่งเดือน ลากอวน/หาปลาอยู่อย่างนั้น ส่วนสัตว์ทะเลที่หาได้ก็จะหมักน้ำแข็งและมีเรือจากกฝั่งมารับไปขายเป็นครั้งคราว..........น่าเห็นใจมากครับ พวกตังเก/ลูกเรือนี่......บางคนก็ไม่มีโอกาสกลับมาหาญาติพี่น้องหรือเห็นหน้าลูก/เมียอีกเลย.

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      อาจารย์สมบัติบรรยายได้เหมือนกับเพลงลูกทุ่งของใครก็ไม่แน่ใจระหว่างไพรวัล ลูกเพชรม กับยอดรัก สลักใจ

      เคยนั่งไกลสุด ก็แค่จากดอนสัก-เกาะสมุย เรือเฟอรี่ เรือใหญ่หน่อยก็เลยไม่โคลงเคลงมาก แต่ก็มองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากน้ำทะเล ภูเขา ท้องฟ้า

      หนุ่มตังเก ก็เป็นเหมือนที่อาจารย์เล่ามานั่นแหละ เคยไปกิจนิมนต์ที่ท่าเรือในเมืองภูเก็ต ดูลูกเรือก็มีความสุขดี ฟังเขาเล่าต่อมาว่า

      เมื่อขึ้นฝั่งมีสตางค์เยอะไอ้หนุ่งตังเกก็ไปเที่ยวหาความสำราญกันเต็มที่จนบางคนตังค์ที่เก็บได้จากทำงานทั้งเดือนหมดเลยก็มี

      การย้ายถิ่นไปทำมาหากินที่อันห่างไกล ไปใช้แรงงาน ไปศึกษาเรียนรู้ หรือไปอยู่อาศัยในแหล่งอื่น ต้องพัฒนาตนเองให้มีการเรียนรู้ที่จะครองตน และเรียนรู้ที่จะสร้างสังคมกับผู้อื่นให้ทุกแห่งเป็นโอกาสที่ดี ไปด้วย การไปทำมาหากินถิ่นไกลๆจึงจะเป็นโอกาสในการได้ประสบการณ์ชีวิตและมีความเติบโตงอกงามไปตามห้วงเวลาของชีวิตที่ต้องสูญเสียไป

      เรื่องพวกนี้เราต้องหัดทำให้ลูกหลาน เครือญาติ เพื่อนฝูง รวมไปจนถึงคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกับเราไปด้วยตามแต่โอกาสจะมีนะครับ ทำไปตามกำลังที่เรามีนี่ก็ดีครับ ได้ผลไม่ได้ผลอย่างไรก็ควรต้องทำ และคนอื่นๆเมื่อไกลบ้านไปมีประสบการณ์แล้ว ไม่ว่าจะไปทำงานเป็นแรงงานประมงหรือในสาขาอื่นๆ หากได้กลับบ้านก็ควรหัดสะสมประสบการณ์เอาไปเล่าให้ลูกหลานและคนในชุมชนฟัง หรือไม่อย่างนั้นก็มาคุยในเว็บบล๊อกนี้ ก็ได้เลยครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • ได้ถามเด็กหนุ่มอายุยี่สิบปลาย ๆ ว่าเคยใช้บริการโทรเลขไหม (โบราณเรียกตะแล๊บแกร๊บ)
      • ตอบว่าเคยทั้งรับและส่งแต่ไม่บ่อยนัก
      • เขาบรรยายต่อว่าถ้าไปคุยกับเด็กสมัยนี้เด็ก ๆ คงหัวเราะหาว่าคุยเรื่องโบราณ
      • เรื่องนี้ก็อยู่ในประสบการณ์ตรงและร่วมสมัยอยู่ไม่น้อยทีเดียว
      • แม้ตอนเป็นพระก็ตาม เวลาได้รับโทรเลขจากทางบ้าน
      •  มักจะมีความรู้สึกว่าข่าวสารที่มากับโทรเลขนั้นให้เดากันได้ไม่กี่เรื่องคือไม่เจ็บป่วยก็มีการสูญเสียเกิดขึ้น
      • ฉะนั้นการสื่อสารที่ถือว่าเร็วที่สุดในยุคนั้น สำหรับชาวบ้านแล้วมีความทรงจำประมาณนี้
      • คงจะโบราณดังชายหนุ่มว่าจริง ๆ ซะแล้วเพราะตอนนี้โทรเลขก็ยกเลิกการให้บริการโทรเลขอย่างเป็นทางการทั่วประเทศไปแล้ว หลังจากรับใช้บริการประชาชนมา ๑๐๐ กว่าปี
      • เป็นช่วงเวลารำลึก ๑๐๐ ปี หรือรอบศตวรรษของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพอดีเลยนะครับ โทรเลขเป็นส่วนหนึ่งที่เริ่มมีในประเทศไทยในรัชสมัย ร.๕ ครับ
      • ที่หนองบัวก็มีกิจการไปรษณีโทรเลขในช่วงประมาณปี ๒๕๑๕ สำนักงานที่ก่อตั้งและพัฒนามาจนถึงปัจจุบันนี้นั้น แต่เดิมมีสภาพเป็นทุ่งนา รอบข้างมีแต่นาข้าวและคอกวัวชาวบ้าน ข้างๆก็มีอู่รถปราสาททอง พอพ้นจากสำนักงานไปรษณีย์นิดเดียวก็เป็นห้วยน้อยแล้วครับ
      • นับถึงปีนี้สำนักงานไปรษณีย์โทรเลขของหนองบัวจึงน่าจะดำเนินการมาได้เกือบ ๔๐ ปีแล้ว
      • เมื่อก่อนนี้ตัวกระตุ้นการสื่อสารทางไปรษณีย์แถวหนองบัวที่มีบทบาทมากก็คือ รายการวิทยุค่ายจิรประวัติและแถวนครสวรรค์ กับสลากสินค้าต่างๆ เช่น เปลือกถ่านไฟฉาย กระดาษห่อสบู่ ซองยา ซึ่งชาวบ้านจะแกะออกแล้วก็เขียนจดหมายขอเพลงและให้โฆษกอ่านออกอากาศ บางครั้งก็ประกาศบอกกล่าวงานบุญ งานญาติพี่น้อง หรือสื่อสารถึงกันออกอากาศ แล้วก็ขอเพลงฟัง
      • ปัจจุบัน ในยุคข่าวสารและความรู้เป็นพลังอำนาจอย่างหนึ่ง ประเทศไทยมีดาวเทียมสื่อสารที่สามารถครอบคลุมพื้นที่ ๑๕ ประเทศของทวีปเอเชีย แต่ดูเหมือนว่าเราได้ขายกิจการให้ทุนต่างชาติไปแล้ว
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เรือกระดานผีหลอก แค่ชื่อก็แปลกแล้ว

      เคยได้ยินว่า คนอยู่ริมแหล่งน้ำขนาดใหญ่ใช้เรือกระดานผีหลอกหาปลา หนองบัว-หนองกลับ เป็นบ้านดอนไม่มีแหล่งน้ำใหญ่ถึงขนาดใช้เรือหาปลาเลยไม่รู้จัก

      วันนี้ได้สนทนาเรื่องเก่า ๆ กับพระหลวงตาในวัดถามท่านว่ารู้จักเรือกระดานผีหลอกไหม ท่านตอบว่า ตอนเป็นหนุ่มห้าสิบกว่ามาแล้วได้ทำเรือกระดานผีหลอกหาปลาที่บึงราชนก ซึ่งเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่มากของเมืองพิษณุโลก

       เมื่อก่อนเดินสำรวจพื้นที่บึงทั้งวันก็ไม่ทั่ว ตอนกลางคืนใช้เรือกระดานผีหลอก โดยใช้กระสีขาววางพาดแคมเรือด้านหนึ่ง อีกด้านขึงตาข่ายกั้นปลาโดดข้าม พายเรือเลาะตะลิ่งไปเรื่อย ๆ ท่านบอกว่าปลาเห็นกระดานสีข่าวตกใจก็กระโดดข้ามกระดานตกลงเรือพอดี

      เราคนบ้านดอนเข้าใจว่า กระดานสีขาวคงหลอกปลาให้เห็นเป็นตลิ่งปลาจึงโดดขึ้นตลิ่ง (ปลาโดนหลอก) เดาแบบคนพายเรือไม่เป็น

      ประสบการณ์ของชาวบ้านอย่างนี้ หากมีคนจัดให้นั่งคุย-เสวนากันอยู่เสมอ คนที่ได้คุยและฟังก็จะได้มีโอกาสนำเอาบทเรียนชีวิตมานั่งตกผลึก คิดใคร่ครวญ แล้วก็ได้ความลึกซึ้งในชีวิตจากประสบการณ์ที่ผ่านไป ทำให้คนในชนบท ยิ่งสูงวัยก็จะยิ่งดูงดงาม เห็นความแกร่งกร้าและเข้าใจชีวิต ตรงกันข้ามกับสังคมการทำงานกินเงินเดือน การเห็นคนสูงวัยหรือคนแก่จะกลายเป็นเห็นการหมดความหมาย และตัวปัจเจกเองพอหมดวัยทำงาน ก็แทบจะกลายเป็นคนเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตใหม่ไปเลย

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ไปกิจนิมนต์ฉันเพลทำบุญบ้านใหม่ของโยมบ้านดอนม่วงหลังวัดได้สนทนากับโยมจึงทราบว่าท่านมาจากลพบุรีมาซื้อที่ดินปลูกบ้านโดยไม่มีญาติอยู่ที่วังทองเลย แต่มากับเพื่อนที่รู้จักกัน โดยลูกทำงานอยู่กรุงเทพฯพ่อก็เฝ้าบ้านคนเดียวก็มีคนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมทำบุญด้วยหลายคน

      เท่าที่สังเกตเห็นมาหลายปีที่ผ่านมาทุกแห่งทุกที่เหมือนกันหมดก็คือ การปลูกบ้านใหม่เจ้าของบ้านต้องซื้อดินมาถมที่ให้สูงเพื่อจะไม่ให้น้ำท่วมบ้าน เมื่อมีบ้านใกล้กันถมที่สูงขึ้นก็ทำให้บ้านของเราต่ำกว่า เมื่อฝนตกน้ำจึงท่วมบ้าน จากไม่เคยมีน้ำท่วมมาก่อนต้องซื้อดินมาถมที่บ้านซึ่งมองดูแล้วสิ้นเปลืองไม่น้อยเลย

      ที่หนองบัวจำได้ว่าที่บ้านเวลาฝนตกลานกลางบ้านน้ำไหลจากลังคาบ้านหลาย ๆ หลังมารวมกัน แล้วก็จะมีร่องน้ำช่วยระบายลงสู่สอกท้องทุ่งนาน้ำแห้งภายในเวลาไม่นานนัก พื้นทรายลานขาวสะอาดไม่ต้องกวาดขยะใบไม้ แต่มาช่วงหลังหนองบัวมีถนนแทนสอกเมื่อฝนตกน้ำระบายไม่ทัน เกิดน้ำท่วมขังใต้ถุนบ้าน บ้านที่เคยมีทรายสะอาดขาว

      ก็กลายเป็นสีดำน้ำเน่าเหม็นสกปรก ไม่มีทางระบายน้ำออกจากบ้านของตน ทำยังไงก็ซื้อดินมาถมใต้ถุนบ้านลานหน้าบ้าน บางบ้านน้ำขังใต้ถุนบ้านหลายเดือนตลอดฤดูฝน ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้ ทั้ง ๆ หนองบัวเป็นบ้านดอน บ้านปลูกในที่ดินที่สูงพอสมควรฟังชื่อบ้านก็รู้ เช่น บ้านเนินไร่ เนินตาเกิด เนินตาโพ โคกมะกอก เนินพลวง โคกขี้เหล็ก ดูชื่อบ้านแล้วไม่น่าจะมีน้ำท่วมบ้าน

      น้ำจะใช้ทำนาทางการเกษตรก็ไม่ค่อยมี น้ำกินก็หายาก บ้านก็อยู่ที่สูงแต่น้ำกลับท่วมบ้าน

      พัฒนาก็ดีแต่เมื่อพัฒนาแล้วประชาชนต้องรับภาระเดือดร้อนเพิ่มรายจ่ายโดยไม่จำเป็น เคยเห็นน้ำท่วมบ้านแต่ในเมืองใหญ่ ๆ เมืองหลวงของไทย แต่เดี่ยวภาวะเช่นนั้นได้เดินทางมาถึงบ้านนอกแล้ว

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

      อ่านเรื่องที่พระคุณเจ้าเล่าถึงชาวบ้านที่ย้ายจากลพบุรีไปอยู่วังทองอย่างไร้ญาติขาดมิตร แต่ก็ได้ความเป็นญาติและได้ความเป็นเพื่อนบ้านจากคนรอบข้างที่ไปอยู่ด้วย กระทั่งได้มาทำบุญด้วยกันนั้นรู้สึกดีไปด้วยมากเลยครับ ใครไม่เคยไปอยู่ที่ไหนแบบไกลญาติพี่น้อง ไกลถิ่น หัวเดียวกระเทียมลีบ แล้วละก็ จะไม่รู้เลยว่าเรื่องที่ดูเหมือนเล็กๆน้อยๆอย่างนี้ หากไม่เป็นคนดีแล้วก็ยากที่จะได้รับจากคนอื่น และเมื่อได้รับแล้ว ก็ทำให้มีความอุ่นใจในชีวิต มีความสงบใจ มากยิ่งกว่ามั่งมีเงินทองเสียอีก

      ผมมีประสบการณ์อย่างนี้ด้วยครับ โดยไปอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในคอนโดและหมู่บ้านที่ไม่มีญาติพี่น้องเลย ปีใหม่ปีหนึ่งมีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านที่พักอาศัยด้วยกันไม่สบายใจมาก ผมกับคนที่อยู่คอนโดด้วยกัน ๒-๓ คนก็เลยเดินหารือ หาแนวร่วมทีละคนสองคนเพื่อจัดทำบุญกัน พอมีคนเริ่มก็จึงได้รู้ว่ามีแต่คนเห็นด้วยและช่วยกันทำอย่างกุลีกุจอ ผมเป็นนายพิธีให้ พอทำไปแต่ละขั้นก็จะถือโอกาสคุยนำกิจกรรมเพื่อให้ได้วิธีคิดและได้ความแยบคายแก่ตนเอง ทุกคนก็รอทำไปด้วยกันอย่างเอื้ออาทรผู้อื่นเหมือนตอนอยู่บ้านนอกเลยครับ เสร็จแล้วก็นั่งกินข้าวด้วยกัน คุยและทำความรู้จักกัน เมื่อได้ความคุ้นเคยกันขึ้นแล้วก็รู้สึกมีความร่มเย็นในจิตใจมากขึ้นทีเดียวครับ

      เลยขออนุโมทนาที่พระคุณเจ้าร่วมเป็นผู้ทำให้เกิดกระบวนการนี้อย่างไม่ได้จงใจครับ ดูเหมือนผมได้เคยเสวนากับพระคุณเจ้าในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นๆครับว่า หากพระสงฆ์และผู้นำทางศาสนาต่างๆซึ่งถือว่าเป็นผู้นำทางจิตใจ จะแปรโอกาสงานทำบุญและประเพณีทางศาสนา ให้เป็นเวทีสื่อสารเรียนรู้ชุมชนอย่างเป็นธรรมชาติไปด้วย ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เพิ่มพูนทุนทางสังคมและสร้างความแน่นแฟ้นในหมู่ผู้คนของชุมชนนั้นๆไปด้วย อย่างที่พระคุณเจ้าเล่าถ่ายทอดไว้นี่แหละครับ

      ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตั้งถิ่นฐาน การสร้างบ้านเรือน และกิจกรรมของผู้คนที่เกิดขึ้นบนถิ่นที่อาศัยที่ขยายตัวความเป็นเมืองและความหนาแน่นของชุมชน แล้วทำให้เกิดผลกระทบและผลสืบเนื่องหลายอย่างในเชิงลบเกิดขึ้นตามมามากยิ่งๆนั้น เป็นปัญหาทั้งของชาวหนองบัว สังคมไทย และชุมชนเขตเมืองต่างๆทั่วโลกครับ การทำตามๆกันเหมือนอย่างที่เป็นมาในอดีตต่อไปอาจจะไม่เป็นผลดี การเรียนรู้และทำให้ผู้คนคุยเรื่องความเป็นส่วนรวมให้สะท้อนอยู่ในกิจวัตรประจำวันเหมือนเป็นเรื่องปรกติเป็นทางหนึ่งที่เราทุกคนทำได้ครับ จะเพิ่มโอกาสให้เกิดพลังชุมชนเพื่อคิดและแก้ปัญหายากๆได้มากขึ้นครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      วันนี้(๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒)ได้ไป "งานสัปดาห์หนังสือ" NU book fair (มหาวิทยาลัยนเรศวร)

      ระหว่างวันที่ ๓-๗ พ.ย. ๕๒ มีสำนักพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือกว่า ๑๐๐ บูธ

      หนังสือเก่าลด ๕๐ % ก็มี หนังสือใหม่ลดตั้งแต่ ๑๕-๕๐ ก็มากมาย

      ได้ซื้อมาหลายเล่ม สังเกตผู้ซื้อก็มีแต่นักศึกษา(ตอนบ่าย ๆ)

      มีเจ้าของร้านใจบุญท่านหนึ่งถวายหนังสือสมุนไพรมา ๑ เล่ม ถวายเสร็จก็บอกว่าท่านสามารถเปลี่ยนเล่มที่ถูกใจได้นะ

      ก็อนุโมทนาสาธุกับน้ำใจที่เสียสละที่ทำบุญด้วยการสร้างปัญญาความรู้

      จากรายงานการวิจัยพบว่า คนไทยอ่านหนังสือวันละไม่กี่บรรทัด(อ่านน้อยจังเลย)

      • ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เวลาจัดงานสัปดาห์หนังสือ ก็ได้บรรยากาศสร้างสรรค์และได้ความตื่นตัวทางปัญญาดีครับ
      • ขอร่วมอนุโมทนากับเจ้าของร้านหนังสือที่ทำบุญโดยการถวายหนังสือแก่พระคุณเจ้านะครับ การทำบุญด้วยหนังสือนี่น่านับถือและต้องอนุโมทนาทั้งผู้ให้และผู้รับครับ
      • ผมกำลังติดต่อโรงเรียนที่บ้านเพื่อจัดกิจกรรมโรงเรียน ชาวบ้าน กับการเรียนรู้ชุมชนครับ กได้หาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเตรียมการติดต่อกับผู้อำนวยการโรงเรียนและทำอย่างเป็นทางการแล้วครับ เพื่อผู้คนที่เกี่ยวข้องจะได้มีส่วนร่วมตามอัธยาศัยและช่วยกันเป็นแรงสนับสนุนให้โรงเรียนกับชุมชนได้มีกำลังใจต่อไป
      • เมื่อลงตัวดีพอสมควรแล้วจะบอกกล่าวแก่พระคุณเจ้าและทุกท่านนะครับ หากมีโอกาสผ่านไปใกล้ๆก็จะได้มีโอกาสนำชาวบ้านทำสิ่งดีๆด้วยกันต่อไปครับ
      • ตอนนี้ผมไม่เพียงจะเห็นความสำคัญต่อการเรียนของเด็กๆที่บ้านนอก กับความสำคัญของโรงเรียนและเหล่าคุณครูแล้วครับ แต่พอได้ทราบความเคลื่อนไหวและสถานการณ์ต่างๆแล้ว ก็ถึงกับสงสารเด็กๆและเห็นใจ ร่วมความรู้สึกทุกข์ใจไปกับคุณครูและชาวบ้านมากๆเลยครับ
      • เด็กๆและครอบครัวของเขากำลังจะไปไม่รอดอีกนับ ๑๐ ครอบครัว โรงเรียนกำลังเหลือเด็กทั้งหมดอยู่ไม่ถึง ๙๐ คน ก็ทำท่าจะเจอกับเด็กออกกลางครันไปอีกหลายคน เด็กและครอบครัวก็ทุกข์ คุณครูทุกคนก็ห่อเหี่ยว
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      อ่านข่าวโรงเรียนจะถูกยุบทีไรรู้สึกใจหายทุกครั้งเหมือนบ้านเคยอยู่แล้วจะกลายเป็นบ้านร้างอะไรทำนองนั้นวังเวงไม่น้อย

      วัดนั้นแค่ร้างพระสงฆ์ไม่ถึบขั้นยุบ ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็มีพระมาอยู่ใหม่ก็สามารถทำบุญกุศลได้ดังเดิม

      แต่โรงเรียนนั้นถ้ายุบแล้วก็เป็นโรงเรียนร้างไปเลย เป็นอนุสรณ์สถานศึกษาที่ใครเคยเรียนที่แห่งนั้นคงเศร้าใจน่าดูมีหลายโรงเรียนแล้ว

      เมื่อสักครู่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด มีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาทั้งโรงเรียนมีนักเรียน ๔ คน คุณครู ๓ คน

      และโรงเรียนใกล้ ๆ กันมีนักเรียน ๔๐ กว่าคน สองโรงเรียนรวมกันมีนักเรียนไม่ถึง ๕๐ คน

      โรงเรียนบ้านตาลินถือว่ามีนักเรียนเยอะอยู่ตั้งเกือบ ๑๐๐ คน

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ถ้าชุมชนไม่มีโรงเรียน(รัฐสร้างให้)อยู่ในหมู่บ้าน? ก็เหลือแต่สิ่งที่ชาวบ้านสร้างกันขึ้นเอง(วัด)

      ถ้าจะมีการพูดคุยกันของคนในชุมชนคนมีโอกาสจะยอมมาพูดคุยด้วยไหม เพราะลูกผู้นำ ผู้บริหาร ผู้มีฐานะ ไปเรียนในเมืองหมดแล้ว

      คิดว่าท่านเหล่านั้นจะมาร่วมรับรู้ปัญหาในชุมชนตนเองหรือเปล่า พี่แอ๊ด-คาราบาวเคยร้องเพลง คนจนจะเรียนก็เรียนโรงเรียนวัดต่อไปโรงเรียนไม่มี(ยุบ)เพลงนี้ก็บอกกล่าวเล่าขาวการศึกษาไทยได้ด้วยเหมือนกัน ถ้าคิดแทนรัฐก็คงจะได้ว่า รัฐได้สร้างโรงเรียนพร้อมคุณครูมอบให้แต่ชุมชนแล้ว แต่ชุมชนไม่นิยม ไม่ใช้บริการที่รัฐสร้างขึ้น(ศรัทธา-ค่านิยม ความแตกต่าง)ทางเศรษฐานะ คนจนมีทางเลือกน้อยเหลือเกิน คฤหบดีมีทางเลือกมากมายมีโอกาสเหลือล้น

      ผู้ขาดโอกาสด้อยโอกาสก็คุยได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาก็ไม่ได้ไปไหน ลูกหลานก็เรียนจนจบชั้นสูงสุดในหมู่บ้านนั่นแหละ

      เมื่อชุมชนแยกเป็นสองข้าง(มี-ขาดแคลน) นำมาซึ่งความล่มสลายทางการศึกษาในชุมชน ประชากรลดลงเพราะอัตราเกิดต่ำหรือเพราะประชาไม่นิยม(ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายผู้นำ) หรือเพราะสาเหตุใดฤา

      มองในอีกแง่หนึ่ง ยุคสมัยนี้แล้ว สังคมขยายตัวหลากหลายและสลับซับซ้อนมากครับ ความเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งปรกติ เป็นธรรมชาติและเป็นความเป็นจริงของสังคม ตรงกันข้าม ความพยายามทำให้สังคมไม่ต้องเปลี่ยนแปลงนั้น ก็จะกลายเรื่องผิดปรกติและผิดธรรมชาติที่เป็นจริง

      ความเปลี่ยนแปลง ความล่มสลายของโรงเรียน ตลอดจนความล่มสลายขององค์กรและสถาบันในแต่ละช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างที่ผมกับพระคุณเจ้าและหลายท่านคุยกันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงกับสังคมไทยครับ ทุกประเทศในโลกก็เป็นไปตามๆกันครับ ดังนั้น การดูว่าเมื่อถึงขั้นของการเปลี่ยนผ่านในช่วงหนึ่งๆแล้ว เราจะพัฒนาตนเองให้คลี่คลายและเปีล่ยนแปลงตนเองให้พอดีและพอเพียงต่อสิ่งใหม่ๆได้อยู่เสมอได้อย่างไร จึงมีความสำคัญมากครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ได้ฟังเรื่องเล่าดี ๆ จากนิสิตมจร.(มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)วิทยเขตแพร่ จังหวัดแพร่

      ขอนำมาเล่าต่อ มีพระจากภาคกลางหรือภาคเหนือตอนล่างท่านไปจำพรรษาและศึกษาเล่าเรียนที่วิทยาเขตแพร่

      ภาคเหนือมีภาษาวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนหลายด้านหลายอย่างซึ่งเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป

      ท่านเล่าว่ามีธรรมเนียมปฏิบัติแบบหนึ่งในการทำบุญบำรุงพระศาสนาซึ่งท่านไม่เคยเห็นมาก่อนของชาวบ้านใกล้ ๆ วัดที่ท่านอยู่

      คือการบริจาคจตุปัจจัยสี่แก่พระสงฆ์เป็นค่าน้ำค่าไฟหรือค่าภัตตาหาร โดยปัจจัยดังกล่าวทางวัดให้พระสงห์หรือสามเณรไปรับที่บ้านโยมเลยซึ่งพระที่เล่าให้ฟังท่านบอกว่าไปครั้งแรกอายคนเป็นอย่างมาก ไม่ไปก็ไม่ได้เพราะทางวัดมอบภารหน้าที่ให้แล้ว

      พระก็มีบัญชีรายชื่อญาติโยมเจ้าของบ้านติดไปด้วย ยิ่งตอนเรียกให้สัญญาณบอกญาติโยมว่าพระมาแล้วยิ่งอายขนาดหนักทีเดียว

      ท่านบอกว่าสถานที่ที่ไปรับปัจจัยนั้นเป็นเขตเทศบาลเมืองแพร่ไม่ใช่อำเภอรอบนอกหรือชนบทบ้านนอก

      นึกเทียบเคียงคล้าย ๆ ที่อื่น ๆ และในหนองบัวก็คือการทำภัตตาหารเช้า-เพลไปถวายพระโดยจัดเป็นวาระแต่ละหมู่บ้านหมุนเวียนกันไป

      แต่มีแปลกนิดนึงก็คือต้องไปรับปัจจัยประมาณต้นเดือน(อาทิตย์แรกของเดือน)

      นี่คือชุมชนแห่งการแบ่งปันแห่งความเลื่อมใสศรัทธาและความมีน้ำใจเสียสละของผู้คนในสังคมชุมชนเป็นลักษณะคนมีจิตสาธารณะเอื้ออาทรเผื่อแผ่ต่อส่วนรวมด้วยความเต็มใจ

      แค่ฟังและรับรู้เรื่องราวดี ๆ ก็เกิดความสุขพร้อมทำใจอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ ก็สามารถสร้างกำลังใจให้เราเบิกบานใจไปด้วยได้

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      วันนี้(๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒) เวลา ๒๐.๐๐ น.

      ได้นิมนต์พระมาสวดมาติกาบังสุกุลที่กุฏิอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้โยมแม่ฟู ขำสุข

      เนื่องในวันมรณกรรมปีที่ ๑๒

      ขอนำบทกลอนที่แต่งขึ้นในงานทำบุญ ๑๐๐ วันโยมแม่ฟู ขำสุข ๑๑ พ.ย.๒๕๔๑

      ประพันธ์โดย ด.ญ. ประกาย ฉ่ำน้อย

      ปัจจุบันด.ญ. ประกาย ฉ่ำน้อย เธอเรียนจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีงานทำแล้ว

      หลวงน้าขออนุญาตนำบทกลอนดังกล่าวมาลงเพื่อรำลึกถึงแม่เฒ่าฟู ขำสุข

      อาลัยรัก...แม่เฒ่าฟู

      ๖๐ ปีหนีพรากไปจากโลก

      แสนเศร้าโศกสุดอาลัยให้ห่วงหา

      สิ้นชีวิตกะทันหันมิทันลา

      จากเคหาที่อยู่สู่หนใด

      ๖๐ ปีหนีพรากจากลูกหลาน

      ทิ้งถิ่นฐานบ้านเคยอยู่สู่หนไหน

      ผ่านมาทั้งทุกข์ตรมทั้งสุขใจ

      เป็นโพธิ์ไทรใช้อาศัยให้ร่มเย็น

      มาบัดนี้ต้นโพธิ์ไทรได้ตายจาก

      ทิ้งไว้เพียงตอรากให้แลเห็น

      เปรียบเมื่อสิ้นชีพมนุษย์สุดลำเค็ญ

      ความดีเห็นปรากฏอยู่มิรู้คลาย ฯ

      จาก...หลานกาย

      (ด.ญ. ประกาย ฉ่ำน้อย)

      ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      วันนี้ขออนุญาตนำข่าวประชาสัมพันธ์งานโรงเรียนหนองบัวโดยนำข้อความของอาจารย์วิรัตน์จากบล๊อกเวทีหนองบัวมาลงที่ไว้ที่นี่

      ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปี สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

      ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

      ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ

      กราบนมัสการพระคุณเจ้าและทุกท่านครับ

      การจัดการสถาบันทางจิตใจของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

      เรื่องแรกที่พระคุณเจ้านำมารำลึกถึงนั้น ผมขอเรียกว่าเป็นวิธีดูแลและบำรุงรักษาสิ่งที่เป็นแหล่งพัฒนาความเป็นส่วนรวมของชุมชน อย่างมีส่วนร่วมของครอครัว และของปัจเจก ที่อยู่ในชุมชนก็แล้วกันนะครับ เมื่อตอนที่อยู่บ้านนอกแถวบ้านผมก็ทำอย่างนี้เช่นกันครับ ตอนที่ไปอยู่เป็นเด็กวัดเขาวังราชบุรี ก็มีชาวบ้านที่ปวารนาตนเป็นผู้คอยสนับสนุนจตุปัจจัยไทยทาน ตามแต่ทางวัดและพระสงฆ์ รวมไปจนถึงแม่ชีและผู้ประปฏิบัติธรรมอยู่วัด จะเรียกร้องเอา ซึ่งทางฝ่ายวัดและผู้ที่เป็นตัวแทนของการไปแจ้งความประสงค์ ก็จะมีหลักปฏิบัติกำกับให้อยู่ด้วยว่าควรจะคำนึงถึงสิ่งใดบ้างที่พึงปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนและชุมชนได้มีโอกาสทำสิ่งดีๆที่เป็นบุญกุศล ให้บรรลุประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม และมิให้เป็นการเบียดเบียนชาวบ้าน

      นับว่าเป็นสิ่งที่งดงามและเป็นการจัดการสุขภาวะชุมชนอย่างมีส่วนร่วมที่สังคมชาวบ้านของสังคมไทยพอจะมีภูมิปัญญาการปฏิบัติเหล่านี้อยู่ในพื้นเพเดิมของตัวนะครับ ช่วยกันแสดงให้รู้จักและได้เรียนรู้สิ่งที่ลึกซึ้งจากสังคม ประชาชนและชุมชนก็จะสามารถได้หลักคิดเข้าถึงความรู้สมัยใหม่ เพื่อเรียนรู้และสร้างสุขภาวะสังคมที่สืบสานฐานรากตนเองและเท่าทันความเปลี่ยนแปลง อย่างพอเพียง

      บทกลอน ของหลานประกาย ฉ่ำน้อย เพื่อแสดงคารวาลัยและรำลึกถึงคุณยายฟู ขำสุขของเธอนั้น สะท้อนทั้งสำนึกกตัญญูและความเป็นผู้มีกำลังทางปัญญาของเด็กนะครับ เป็นศิษย์ร่วมสำนักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับผมด้วยครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เมื่อวาน(๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒)ได้เทศน์อานิสงส์งานศพในวัดยกเรื่องคติข้อคิดทางธรรมระหว่างสมบัตินอก-สมบัติใน

      สมบัตินอกโบราณบัณฑิตทางธรรมท่านถือว่า ต้องยื้อแย่ง แสวงหา แข่งขัน บีฑา เบียดเบียน ข่มเหง อาการท่ได้มาด้วยวิธีการแบบที่ว่านี้ ต้องเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ยากลำบาก เพราะวัถตุสิ่งของทรัพยากรมีจำนวนน้อยมีจำกัด แต่ผู้ต้องการมีมากมายเหลือคณานับ คนอยากครอบครองมีเยอะ อยากได้คนเดียวมาเท่าไหร่ยิ่งดี โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่นคนอื่นถ้าเป็นแบบนี้ต้องแก่งแย่งแข่งขันกอบโกยให้ได้มาก เห็นมนุษย์เป็นคู่แข่งเป็นฝ่ายตรงข้ามอยู่กันคนละด้านคนละฝั่ง ความเป็นเพื่อนเป็นมิตรเป็นกัลยาณมิตรที่ต้องช่วยเหลือก็ไม่มี

      จะมีแต่มองกันชนิดคู่ต่อสู้อาจถึงขั้นเป็นศัตรู สมบัติที่ได้มาก็ได้มาจากเพื่อนมนุษย์ที่อาจพ่ายแพ้สู้ไม่ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ หลากหลาย สรุปว่า สมบัตินอกไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองยศศักดิ์อัครฐานเกียรติยศชื่อเสียงได้มาแบบเบียดเบียนย่อมเหน็ดเหนื่อยเพราะเป็นทางมาแห่งความไม่สุจริตถูกธรรม

      ส่วนสมบัติในนั้น ไร้ราคาไร้ราคิน หมายถึงหาค่ามิได้มีค่ามากประมาณไม่ได้ ไร้ราคินไม่มีเศร้าหมองปราศจากราคีใสสะอาดหมดจด

      และที่ดีที่สุดก็คือ ไม่ต้องยื้อแย่งกัน ใครหาได้ทำได้บำเพ็ญได้สร้างได้ก็เป็นของผู้นั้น การแสวงหาก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย แข่งขันกันให้ลำบากทุกข์ใจ มีแต่จะสบายใจไร้กังวล เพราะอะไรก็เพราะว่าสมบัติในเป็นเรื่องความดี เป็นกุศล เป็นความเสียสละความน้ำใจให้แก่กัน เป็นลักษณะการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีแต่การช่วยเหลือเฟือฟาย มองเห็นผู้อื่นเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขที่ต้องช่วยเหลือ

      ฉะนั้นสมบัติทั้งจึงแตกต่างกันทั้งวิธีหาวิธีได้มา และเมื่อได้มาแล้วก็ให้ผลต่างกันด้วย

      นี่ก็เป็นข้อธรรมที่แสดงแก่บรรดาญาติธรรมทั้งหลายของผู้ล่วงลับในงานศพเมื่อวานนี้

      เอวัง.

      นี่นับเป็นการบันทึกการแสดงธรรมให้การศึกษาอบรมแก่ชุมชนไปด้วยเลยนะครับ ทั้งเป็นการถ่ายทอด ทำหมายเหตุ และเป็นฐานในการพัฒนาการเรียนรู้ของชาวบ้าน ที่ผสมผสานไปกับกิจกรรมชีวิตนะครับ ขออนุโมทนาครับ

      พระคุณเจ้าบันทึกในลักษณะนี้นั้น เริ่มมีเค้าโครงของการรายงานจากภาคปฏิบัติและบันทึกเก็บรวบรวมข้อมูลประสบการณ์เหมือนการทำกรณีศึกษาไปด้วย ซึ่งนอกจากแสดงเรื่องราวเบ็ดเสร็จอยู่ในตัวเองแล้ว ลักษณะการบันทึกและเขียนถ่ายทอดอย่างนี้ หากปรับแต่งไปเรื่อยๆให้ทำง่าย พอเหมาะ ดึงความคิดและบทเรียนออกมาใช้ได้ง่าย ก็จะสะสมเป็นข้อมูลการวิจัยที่ดีมากเลยครับ  สามารถนำมาวิเคราะห์-สังเคราะห์ซ้อนลงไป สร้างเป็นความรู้ได้เป็นอย่างดีครับ

      หากทำเองก็จะเป็นผู้สังเกตการณ์ทางสังคมและร่วมบันทึกความรู้จากคนที่อยู่ในปรากฏการณ์ และเมื่อต้องการเชื่อมโยงเครือข่ายเรียนรู้และเป็นเครือข่ายทำวิจัยแบบชาวบ้าน-ชาวบ้านกับคนภายนอก วิธีการอย่างนี้ก็จะเป็นวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลไปในตัวได้อีกด้วยครับ

                        

      คนที่ต้องทำหน้าที่กับกลุ่มคนทุกแขนง ก็จะสามารถพัฒนาตนเองให้สามารถร่วมเป็นเครือข่ายสร้างความรู้และมีส่วนปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติ ในการทำให้ชุมชนกับสังคมชาวบ้านมีพลังเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้

      เหมือนในอดีตที่การคุยกันตามลานบ้าน ชานเรือน ศาลาวัด ก็มักจะมีคนทำให้วงคุยกันเป็นกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อพัฒนาแนวปฏิบัติใหม่ๆ ก็ย่อมจะยกระดับให้กลมกลืนไปกับเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆได้ครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      หลังเทศกาลลอยกระทงปีนี้อากาศร้อนบางคนบอกว่าร้อนเหมือนเดือนเมษายนเลย

      ต้นหนาวมีอากาศเย็น ๆ สักสี่ห้าวันแต่ไม่รู้สึกว่าเป็นหน้าหนาวหรือเข้าหน้าฤดูหนาวเอาเสียเลยกลับมีแต่อากาศร้อนเป็นหน้าแล้งไป

      พอมาวันนี้เมื่อหกโมงเย็นกว่า ๆ ฝนตกพอดินเปียก ๆ เรียกว่าตกพอข้าวรายที่เกี่ยวเปียกแค่นั้นจริง ๆ โดยตอนเช้าวันนี้บรรยากาศครึ้มมีแดดไม่มากนัก

      จำได้ว่าเที่ยวงานลอยกระทงที่วัดใหญ่หนองกลับนั้น หนาวมาก ๆ ยิ่งใกล้เที่ยงคืนงานจะเลิกยุติกิจกรรมการลอยกระทงด้วยแล้วเย็นวาบ ถ้าใส่เสื้อแขนสั้นด้วยแล้วอยากกลับบ้านนอนเหลือเกิน งานสวนสนุกหน้าอำเภอหนองบัวอีกงานหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นหน้าหนาวจริง ๆ (นานมากงานหน้าอำเภอ-สามสิบกว่าปีแล้ว)

      เห็นภาพฝีมือของท่านอาจารย์วิรัตน์แล้ว ....ได้บรรยากาศและความรู้สึกดีเหลือเกินครับ...กองฟาง....กะซุ้มนอน...สุ่มไก่...

      ที่หนองคาย ฝนเริ่มตกเมื่อสามวันก่อน หลังจากนั้นอากาศก็เริ่มเย็นลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อคืนนี้อุณหภูมิประมาณ 15 องศา

      ที่วังทอง พิษณุโลก..... วัดของท่านพระมหาแลฯ อากาศป็นอย่างไรบ้างครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ภาพวาดชุดนี้ใครเห็นเป็นต้องบอกว่าคิดถึงบ้านบ้างคิดถึงอดีดบ้างได้อารมณ์ความรู้สึกดี ๆ

      หลายท่านเห็นแล้วก็เป็นเหมือนที่อาจารย์สมบัติกล่าวถึงนั่นแหละ

      เคยมีเด็กสาวชาวห้วยน้ำโจนเข้ามาดูแล้วบอกว่าเห็นภาพคนนั่งผิงไฟนี้ทำให้คิดถึงบ้านเลยทีเดียว

      หนุ่มชาวอีสานบอกว่าเห็นแล้วคิดถึงบ้านที่อุดรธานีขึ้นมาจริง ๆ

      หนองคายมีทั้งฝนตกและหนาว ก็คล้ายที่วังทองพิษณุโลก แต่ที่นี่ร้อนมากหน่อยร้อนชนิดที่คนขึ้นรถแอร์รอบเมืองพิษณุโลกบอกว่า

      ร้อนดั่งเทศกาลสงกรานต์เลยว่างั้น

      ตอนเย็นฝนตก พอสักห้าทุ่มชวนศิษย์วัดดูฝนดาวตกที่กลางลานวัด ปรากฏว่าครึ้มฟ้าครึ้มฝนฟ้าปิดสนิทมองไม่เห็นดาวแม้สักดวง

      สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทองครับ : เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ที่ทำงานเดิมผมจัดสัมมนาวิชาการประจำปี มีเครือข่ายนักวิจัยชาวบ้านมาจากต่างจังหวัดเป็นกลุ่ม ๒-๓ กลุ่ม ไปดูรูปเขียนชุดนี้ที่ผมรวบรวมเอาไปจัดนิทรรศการอยู่ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน ด้านหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พวกเขามาจากต่างจังหวัดกัน พอเดินเข้าไปเห็นรูป ก็คุยกันได้อย่างสนุก บางรูปทำให้พี่ท่านหนึ่งบอกว่าเห็นแล้วน้ำตาไหลเลย เขาบอกว่ามันเหมือนวิถีชีวิตของเขา

      ผมเองก็ยิ่งมีความสุขครับ เป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ผมอยากเห็น ที่กลุ่มชาวบ้าน ได้เดินดูและคุย สร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไม่เคอะเขิน ไม่แปลกแยก

      มันช่วยให้ชาวบ้านที่ไม่คุ้นเคยกับหนังสือและงานวิชาการที่เป็นรูปแบบทางการ ได้ดึงเอาสิ่งที่เป็นประสบการณ์ชีวิตอันมีคุณค่านอนนิ่งอยู่ในตนเองออกมาพูดคุยกันแล้วเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขได้ ก็เลยเป็นสื่อและเป็นสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้แนวราบระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายดีมากเลยครับ

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ เมื่อเช้านี้เดินออกไปขึ้นรถไปทำงานก็ได้สัมผัสลมเย็นสบายๆครับ แต่บรรยากาศหนาวเย็นอย่างที่เขียนบันทึกไว้ในรูปนั้น เดี๋ยวนี้คงจะหายากแล้วนะครับ บางแห่งอาจจะยังมีอยู่ อย่างที่หนองคายอย่างที่คุณสมบัติบอกว่า ๑๕ องศานั้น คงจะหนาวจนเดินห่างออกจากกองไฟไม่ได้เลยนะครับ

      แต่การได้เรียนรู้คุณค่าและเห็นความหมายจากเรื่องราวในวิถีชีวิตให้ได้ความสุข-รื่นรมย์ใจในชีวิตนั้น ก็คงจะยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับชาวบ้านและชุมชน แม้สภาพแวดล้อมจะแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยก็ตามนะครับ

      ผมเห็นว่า ความจริง ...... เป็นอย่างนั้นครับ

      ผมชอบที่อาจารย์มีความสามารถพิเศษในการเชื่อมโยงรากหญ้ากับหอคอยงาช้างเข้าด้วยกัน ......

      สามารถร้อยเรียงเรื่องราวให้สถานภาพทางความคิดของผู้คนทั้ง 2 กลุ่มเข้ามาผสมกลมกลืนกันได้อย่างแนบเนียนและไม่เคอะเขิน โดยมีภาพวาด.....ซึ่งเป็นฝีมือและความสามารถเฉพาะตัวของอาจารย์จริง ๆ มากระตุกความทรงจำในอดีตที่สงบนิ่ง เหมือนกำลังอยู่ในภวังค์ให้ตื่นขึ้นมา.....ตื่นมาแล้วได้พบแต่สิ่งดี ๆ

      ภาพเขียนของอาจารย์นั้น....สอดรับกับเรื่องราวที่เขียน...มีความลงตัว.....และหน้าติดตามจริง ๆ ครับ

      เมื่อคืนอุ่น ๆ ขึ้นมาหน่อยนึงครับ ประมาณ 19 องศา วันนี้แทบไม่มีแดดเลย เฉลี่ยทั้งวันน่าจะประมาณ 22 องศาครับ.

      อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้งานวิชาการและงานทางความรู้เข้าถึงชาวบ้านและทันใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้เครือข่ายคนทำงานวิชาการที่มีธาตุทำงานเชื่อมโยงได้กับคนส่วนใหญ่ของสังคม ได้มีโอกาสเกิดปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและภาคสาธารณะของประชาชนได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ส่วนชาวบ้านก็มีโอกาสได้เรียนรู้ให้มีความสามารถเข้าถึงโอกาสการพัฒนาต่างๆได้มากขึ้น 

      ผมเคยบอกน้องๆและเพื่อนๆที่ทำงานในแนวทางอย่างนี้คล้ายกับการมองให้เข้าใจตนเองว่า เนื่องจากเป็นคนทำงานวิชาการเล็กๆ เราจึงจะเป็นเครือข่ายวิชาการที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นเนื้อเยื่อที่ยึดโยงให้ระบบและองค์ประกอบต่างๆของร่างกายเกิดพลังและสุขภาวะอันสมบูรณ์จากความสามารถที่จะทำงานร่วมกันและผสมผสานกัน หรือเหมือนเส้นด้ายที่ถักทอรอยต่อให้ตะเข็บแข็งแรงและหนักแน่น เชื่อมโยงเศษผ้าและชิ้นส่วนของผืนผ้ากลายเป็นผ้าห่มอันอบอุ่นของผู้คนที่เราได้เข้าไปทำงานด้วย เลยก็มักไปในหนทางอย่างที่นำมาแบ่งปันกันนี่แหละครับ แต่ทำๆไป พอนานๆเข้าก็เห็นสิ่งดีๆเกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เดือนนี้เป็นเดือนอ้ายหน้าเกี่ยวข้าวเมื่อก่อนที่หนองบัวยังไม่มีรถเกี่ยวข้าวนั้น

      ข้าวเบาก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่หลังลอยกระทงมาแล้วนาบนโคก-ที่ดอนทำนนาข้าวเบาก็เกี่ยวก่อนข้าวหนัก

      หน้าเกี่ยวข้าวสมัยโน้นจำได้ว่าโรงเรียนจะปิดเพื่อให้ลูกหลานชาวนาชาวบ้านได้ไปช่วยพ่อแม่เก็บเกี่ยวข้าวกัน

      แสดงว่าสถานศึกษาให้ความสำคัญกับนักเรียนที่พ่อแม่เป็นชาวนาโดยให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำนาลงมือปฏิบัติจริงในท้องทุ่งนา

      เด็ก ๆ อันที่จริงก็รู้สึกชอบที่ได้ช่วยพ่อแม่แม้จะไม่มากมายอะไรก็ตาม การเรียนรู้แบบทำเป็นทำเองเข้าสู่ภาคปฏิบัติไม่ต้องท่องทษฏีจำไม่นานก็หลงลืมกันไปหมด

      ต่อมาลูกชาวนาอยู่มัธยมต้น-ปลายไม่เคยออกนาไปนา ทำแต่แปลงเกษตรเล็ก ๆ ในเดือนพฤศจิกายนเทอม ๒ นิดหน่อยเอง

      พ่อแม่ชวนไปนาก็ไม่ไป ขี่รถเที่ยวดีกว่า เล่นเน็ตเพลินใจ ติดเกมส์อีกต่างหาก เข้าเมืองหาความสนุกสำราญเบิกบานใจกันดีหลาย

      และเมื่อเกิดปัญหา ครอบครัว ชุมชน และสังคม ก็จะคาดหวังแต่เพียงให้การศึกษาในห้องเรียนและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นซึ่งขาดองค์ประกอบในการมีประสบการณ์ทางสังคมและการได้ปฏิสัมพันธ์กับวิถีชีวิตทั้งของครอบครัวพ่อแม่และของสังคมที่เป็นจริง

      เรื่องทำนองนี้และในสภาพแวดล้อมที่สังคมขยายตัวอย่างซับซ้อนมากแล้วนี้ จำเป็นที่จะต้องช่วยกันคิดและทำ ของผู้คนหลายฝ่ายเสียแล้วนะครับ หากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวพ่อแม่ ชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อ  ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม ทำอย่างเอกเทศ ก็คงจะรับมือไม่ไหวและเรียนรู้ไม่ทันกับความจำเป็น

      อย่างที่ผมแปรเอาการเสวนากับพระคุณเจ้ากับทุกท่านในนี้ มาเป็นเวทีพูดคุยกันเรื่องของชุมชนหนองบัวที่เชื่อมโยงไปกับการได้ทำการงานและการดำเนินชีวิตในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆของแต่ละคนอย่างนี้ ก็มีความคิดอย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงอยู่เบื้องหลังเหมือนกันนะครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      มีข้อสังเกตจากพระสงฆ์ชาวกัมพูชาโดยท่านมาศึกษาที่มจร.พิษณุโลกและจำพรรษาที่ประเทศไทยน่าสนใจ

      ประเด็นแรกท่านบอกว่าวัดในเมืองไทยมีพระน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับวัดที่ประเทศกัมพูชา

      คือท่านเห็นวัดแต่ละวัดในบ้านเรามีพระ๔-๕ รูป หรือน้อยกว่านั้น หรือเป็นวัดร้างก็มี

      แต่กัมพูชาแต่ละวัดอย่างน้อยมีพระ ๒๐ - ๓๐ รูป แม่ชีก็มากเด็กวัดก็มีทุกวัด

      อีกข้อหนึ่งคือการจัดงานบวชทางฝั่งไทยท่านบอกว่าจัดใหญ่โตอย่างมากแต่บวชไม่กี่วันก็ลาสิกขาแล้ว

      ส่วนกัมพูชางานบวชนั้นไม่มีกินเลี้ยงใหญ่โตเลยและไม่สิ้นเปลืองเงินทองอะไรอีกด้วย

      ที่สำคัญมาก ๆ คือพระกัมพูชาบวชเรียนกันหลายพรรษาประเภทบวช ๗ วัน ๑๕ ไม่นิยมเลยท่านให้ข้อมูลและตั้งข้อสังเกตไว้

      บวชเอาหน้าเอาตาแสดงฐานะผู้บวชไม่มีเกิดขึ้นทางฝั่งกัมพูชา(ข้อสุดท้ายนี้อาตมาวิเคาราะห์จากการบอกเล่าของท่าน)

      ประชากรและพลเมืองของประเทศไทยมีอัตราเพิ่มที่ลดลงไปมากขึ้นเป็นลำดับครับ ดังนั้น ในขณะที่หลายแห่งกำลังคุยกันเรื่องการขาดแคลนและความจำเป็นต้องพัฒนาการศึกษานั้น โรงเรียนและสถานศึกษาเป็นจำนวนมากทั่วประเทศกลับกำลังไม่มีเด็กและคนรุ่นใหม่เข้าไปเรียนมากพอที่จะดำเนินการได้แต่โดยลำพังครับ อีกไม่นานก็จะเกิดผลกระทบต่อวัดและส่งผลสืบเนื่องต่อหลายอย่างแน่นอนครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      วัดบ้านพารา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

      มีทายก(มรรคนายก)ท่านหนึ่งที่เป็นผู้ร่วมบุกเบิกสร้างวัดร่วมกับหลวงพ่อเข็บ(พระเทพปริยัติมุนี ป.ธ.๙)เจ้าอาวาสวัดควนในเมืองภูเก็ต

      คือโยมฉลู เวชสาร เป็นชาวจ.สมุทรสาคร มีเชื้อสายมอญ ได้พาครอบครัวไปอยู่ถลางทำสวนยางพาราหลายสิบปีมาแล้ว

      ท่านมีส่วนช่วยวัดเป็นอย่างมาก เช่น

      เช้าไปส่งลูกสาวที่ทำงาน รับส่งพระจากบิณฑบาต จากนั้นส่งหลานไปโรงเรียน แล้วถึงได้มาเก็บน้ำยางที่ตัดไว้ตอนกลางคืน

      ถ้าเป็นวันพระสาย ๆ ก็มาทำบุญที่วัด(เพราะภาคใต้ทำบุญวันพระตอนเพล)

      วันพระที่พระต้องไปลงปาฏิโมกข์ในเมืองภูเก็ต โยมฉลู เวชสาร ต้องมาเฝ้าวัดให้เพราะไม่มีใครอยู่วัด วัดอยู่ติดทะเลห่างหมู่บ้านเมื่อพระท่านไม่อยู่ทายกต้องมาอยู่วัดแทนจนถึงเย็น

      เป็นคนเสียสละเป็นผู้นำชุมชน ลูกสาวซื้อรถเก๋งให้ไว้ใช้แต่ไม่ได้ใช้ในกิจการอะไรหรอก เอาไว้รับส่งพระเวลาไปธุระในเมืองไปประชุม ไปสอบ ไปโรงพยาบาล

      วันสำคัญทางศาสนาก็พาคนงานในกงสีที่สวนยางตอนอาตมาอยู่ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวชาวอีสาน มาร่วมทำบุญเวียนเทียน

      งานทุกงานต้องโยมฉลู ไม่มีปฏิเสธแม้แต่ครั้งเดียว พระที่อยู่วัดบ้านพาราจะไปไหนแต่ละครั้งบางทีก็เดินจากวัดไปขึ้นรถเมล์ที่ถนนเส้นท่าฉัตรไชย-ภูเก็ต ซึ่งห่างวัดประมาณ ๖-๗ กิโลเมตร โดยอาตมาก็เดินบ่อย ๆ เพราะเกรงใจไม่อยากรบกวนท่าน ถ้าท่านรู้ว่าเดินก็ต้องขับรถตามไปส่ง หรือเดินผ่านบ้านเมื่อเห็นก็ต้องไปส่งทุกครั้ง เป็นผู้มีจิตสาธารณะสูงอย่างมาก

      เป็นที่เคารพนับถือทั้งพี่น้องไทยพุทธ-ไทยอิสลาม ปัจจุบันแม้อายุมากแล้วแต่ก็ยังทำอยู่เป็นนิตย์

      ผู้อุทิศตนให้แก่ส่วนรวม ชุมชน เพื่อบำรุงพระศาสนา ทั้งโดยความมีสำนึกและคุณธรรมต่อส่วนรวมของตน และโดยการถือเป็นวิถีปฏิบัติในการชำระตัวตน กล่อมเกลาและฝึกอบรมตน ให้อยู่ใกล้พระศาสนา ดำเนินชีวิตและทำการงานแห่งชีวิตให้เป็นการปฏิบัติธรรม ได้เข้าถึงธรรมไปตามเหตุปัจจัยจากการปฏิบัติของตนอย่างนี้ มีแนวการอธิบายและแนวปฏิบัติ ผ่านกรณีตัวอย่างของ มฆมานพ อยู่เหมือนกันครับ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่มีมาในพุทธประวัติ และคล้ายกับกรณีของโยมฉลู เวชสาร ที่พระคุณเจ้าเล่ามามากทีเดียวครับ

      มฆมานพ อยู่ในชุมชน ร่วมสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะของปัจเจกและชุมชน ผ่านการบำรุงและพัฒนาสิ่งที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนความเป็นส่วนรวม เช่น ทำศาลานั่งพัก ทำให้ผู้คนมีความสุขและได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ก่อให้เกิดความรักใคร่ กลมเกลียว เกิดภาวะผู้นำของหมู่เหล่า นำไปสู่การหารือร่วมไม้ร่วมมือทำสิ่งต่างๆด้วยกันของชุมชน ทำให้ชุมชนมีสุขภาวะสาธารณะ

      บางครั้งมฆมานพก็หมั่นกวาดทางเดิน ให้พระสงฆ์ที่เดินไปรับบิณฑบาตรญาติโยมในชุมชน ไม่ต้องเดินเหยียบหนามไหน่ตำเท้าและไม่ต้องเหยียบลงไปบนสัตว์ มด แมลง ซึ่งเป็นการปฏิบัติเกื้อนหนุนส่งเสริมให้พระสงฆ์มีวิถีที่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัยและทรงความบริสุทธิ์แห่งศีล เสริมพลังความเป็นเนื้อนาบุญให้ชาวบ้านและชุมชนยิ่งๆขึ้น

      แนวคิดและทฤษฎีการปฏิบัติเชิงสังคมต่อความเป็นสาธารณะอย่างนี้ สามารถหยั่งรากถึงวิธีคิดเกี่ยวกับความเป็นบุญกุศล ความเป็นสุขทางจิตใจ ความสอาดและสูงส่งทางจิตวิญญาณ และความมีสุขภาวะสาธารณะ ที่บูรณาการอยู่ในหลักพุทธธรรมและคำสอนในพระศาสนา

      ขณะเดียวกัน ก็สามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวทฤษฎีสมัยใหม่ทั้งของสังคมไทยและของต่างประเทศ โดยนำเอาประสบการณ์และความรู้ที่พอมีอยู่ในวิถีปฏิบัติตนของชาวบ้านอย่างนี้มาใช้ทำความรู้จักโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีทรรศนะของตนเอง ทำให้ชาวบ้านพอจะมีพื้นความเข้าใจสำหรับเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแนวคิดเรื่องสุขภาวะและความเป็นบุญกุศลในการทำกิจกรรมต่อส่วนรวมกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในทฤษฏีสมัยใหม่ครับ เช่น ไปกันได้กับเรื่องสำนึกพลเมืองและความมีจิตสาธารณะ ความเป็นประชาคม

      ด้วยเหตุนี้ ผมเองก็เลยสนใจเรื่องในแนวนี้อยู่ด้วยครับ เพราะจะทำให้ชาวบ้านใช้พื้นฐานดั้งเดิม มาต่อยอดและเชื่อมโยงกับสังคมสมัยใหม่ ทัดเทียมทั้งความเป็นสากล โลกาภิวัตน์ และไม่ทอดทิ้งฐานรากดั้งเดิมตนเอง เมื่อจะเห็นตนเองก็สามารถกลับบ้านถูก เห็นความเหมือนและกลมกลืนกับผู้อื่น ขณะเดียวกันก็เห็นกำพืดและความเป็นตัวของตัวเอง

      พระคุณเจ้านำเอาเรื่องราวของชาวบ้านและคนตัวเล็กๆเหล่านี้มาชื่นชมอย่างนี้ ทำให้เห็นว่าสังคมและชุมชนนั้นมีทุนทางสังคม และมีความงดงามอยู่อีกมากมายครับ เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของความดีงามในการปฏิบัติของปัจเจกดีครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      วันนี้อากาศหนาวทั้งวันเลย

      นึกถึงเมื่อสองปีที่แล้วหน้าหนาวได้นำเสื้อผ้าไปแจกให้กับชาวเขาบนดอยสูงบ้านห้วยไร่ อำเภอเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ๑ คันรถกระบะ

      ไปถึงหมู่บ้านตอนประมาณเที่ยงคืนถนนเหมือนไม่มีคนใช้เดินสัญจรเพราะรกและเป็นร่องเป็นหลุมไหล่เขาสูงน่ากลัวอย่างมาก

      ได้พักที่อาศรมพระบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย

      อากาศเย็นเฉียบอาศรมหลังเล็กพระ ๖-๗ รูปนอนเต็มพอดี

      ได้ยินเสียงน้ำค้างตกใส่หลังคาอาศรมเหมือนฝนตกเริ่มซาเม็ดใหม่ ๆ ก่อไฟลำบากเพราะไม้เปียก

      เราอยู่ภาคกลางก็ว่าหนาวแต่คนอยู่บนดอยนั้นพอบ่าย ๆ มันเย็นไปหมดทั้งตัว ไปดูโครงการหลวงที่ดอยอ่านข่างตะวันยังไม่ทันตกดินอากาศเย็นลงวูบ ๆ อย่างรวดเร็วจริง ๆ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ก่อไฟผิงกันข้างอาศรมโดยไม่อยากล้างหน้าแปลงฟันกันเลยทีเดียว

      พระท่านไปบิณฑิตบาตที่หมู่บ้านอยู่ข้างล่างตอนขากลับอาศรมมีเด็กน้อยชาวกะเหรี่ยงช่วยหิ้วของตามมาส่งพระ

      ตัวเล็กแต่สามารถถือของได้ตั้งเยอะโดยขึ้นเขาสูงดูมีกำลังแรงกายแข็งแกร่ง

      พระท่านบอกว่าเด็ก ๆ ชอบมาให้พระสอนภาษาไทยภาษาอังกฤษชอบเล่าเรียน ซึ่งเขาขาดโอกาศแต่อยากเรียนรู้และมุ่งมั่นอดทนดี ท่านเปรียบเทียบให้ฟังว่าคนข้างล่าง(เด็ก)ตั้งใจเรียนน้อยกว่าด้วยซ้ำไป

      ได้เห็นรอยยิ้มผู้รับของบริจาคแล้วก็มีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ นี่ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ แต่ประทับใจไม่น้อย

      พระคุณเจ้าทำให้นึกถึงว่าเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ประมาณปี ๒๕๓๑ ผมกับเพื่อนๆซึ่งตอนนั้นกำลังทำ ป.โท สาขาเทคโนโลยีการศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เคยขออาสาพระเณรวัดศรีโสดา เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ ไปช่วยทำสื่อและจัดกระบวนการกลุ่ม เพื่อสอนและเตรียมตัวเด็กๆลูกหลานพี่น้องชาวเขา ที่จะไปบวชสามเณรหมู่ที่วัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพ

      แนวคิดที่หารือและขอการชี้แนะจากพระคุณเจ้าที่คอยดูแลเด็กๆก็คือ ทำอย่างไรจะช่วยให้เด็กๆได้โอกาสเรียนรู้ชีวิตจากกิจกรรมที่เป็นบุญกุศลครั้งนี้ของพวกเขาให้มากที่สุด

      การได้ไปบวชเณรและใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการก่อเกิดสิ่งดีอย่างยิ่งอย่างที่พวกเด็กๆกำลังได้รับนั้น ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เขาได้โอกาสสร้างประสบการณ์พื้นฐานชีวิต สำหรับการพัฒนาตนเองในวันข้างหน้า

      พวกผมทำงานความคิดกันกับกลุ่มพระที่เป็นครูและทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ เตรียมตัวให้เด็กๆ มากพอสมควร นำประเด็นที่น่าสนใจต่างๆมาพิจารณา ก็พบทั้งด้านที่เป็นโอกาสและด้านที่เป็นข้อจำกัด ซึ่งทำให้เห็นเรื่องที่ควรนำมาทำกิจกรรมอย่างที่สนใจกัน

      ด้านที่เป็นโอกาสก็คือ เด็กๆจะได้โอกาสในการบวชเณรและได้รับการศึกษาอบรมจากแหล่งวิทยาการและสภาพแวดล้อมอย่างดี รวมทั้งจัดเป็นกิจกรรมสร้างความดีงาม อุทิศให้แก่สังคมและน้อมเกล้าถวายแด่ในหลวงในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ชนิดที่เรียกว่าทั้งผม เพื่อน และเด็กๆในเมืองที่อยู่พื้นราบก็มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้มีโอกาสอย่างนั้น

      ส่วนด้านที่เป็นข้อจำกัดก็คือ เด็กๆเพิ่งออกมาจากหมู่บ้านบนดอยตามชนบทที่กันดารและห่างไกลจากสภาพแวดล้อมของสังคมเมือง ทั้งความเป็นเด็กและประสบการณ์ทางสังคมที่แตกต่างอย่างยิ่งกับสิ่งที่กำลังจะต้องเจอนั้น จะทำให้เกิดช่องว่างทางการเรียนรู้ชีวิตอย่างมหาศาล นี้เป็นข้อจำกัดแรก

      และข้อจำกัดที่สอง ก็คือ เด็กๆทุกคนมีข้อจำกัดในการพูดสื่อสารและการจัดความสัมพันธ์กับคนพื้นราบ ทั้งในเรื่องภาษาและความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม เด็กๆไม่รู้ว่าจะวางตัวและจัดความสัมพันธ์กับคนที่ได้เจออย่างไร

      พอได้ประเด็นอย่างนี้แล้ว พวกผมก็ออกแบบกระบวนการเพื่อเตรียมตัวให้เด็กๆ ให้ใช้ชีวิตและการปฏิบัติของตนในช่วงเวลาสั้นๆ ให้ได้ประสบการณ์ชีวิตและได้การเรียนรู้จากโอกาสชีวิตอย่างนี้ให้ดีที่สุด โดยเลือกทำ ๓ เรื่อง คือ (๑) สอนและฝึกฝนให้รู้จักวงสังคม ที่วิเคราะห์ช่วยกันดูแล้วว่าเด็กๆจะมีโอกาสได้เจอ เช่น พระ เณร ผู้ใหญ่ที่อาวุโส และคนทั่วไป ควรจะทักทายอย่างไร คารวะและปฏิสันฐานอย่างไร จะน้อมตนเองให้ได้รับความเมตตาและได้การอบรมสั่งสอนสิ่งดีๆต่างๆให้อย่างไร (๒) สอนและฝึกฝนการพบปะทักทาย การพูดสนทนาในชีวิตประจำวันง่ายๆเพื่อสร้างมิตรภาพกับผู้อื่น เพื่อเริ่มต้นการได้เพื่อนที่ดี แล้วหลังจากนั้นความมีน้ำใจต่อกันก็จะเรียนรู้จากการแก้ปัญหาต่างๆเอาเอง ซึ่งจะเป็นหนทางให้เด็กๆได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านการได้เพื่อนและได้ปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า (๓) สอนและฝึกซ้อมการขานนาคและการปฏิบัติต่อพระที่เป็นครูอาจารย์

      และเนื่องจากเด็กๆพูดสื่อสารไม่ค่อยได้ รวมทั้งพวกผมและพระคุณเจ้าที่ร่วมทำด้วยก็สื่อด้วยภาษาชาวเขาไม้ได้ ก็เลยเป็นข้อท้าทายสำหรับพวกผมในอันที่จะคิดวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้จากกิจกรรมและทำสื่อขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ เสร็จแล้วก็ช่วยกันทำห้องเรียนเฉพาะกิจ พาเด็กๆเรียนรู้อย่างที่พวกเราวางแผนกัน

      ใช้เวลาอย่างเข้มข้นหลายวันเหมือนกันครับ เสร็จแล้วก็มีการทดสอบเป็นรายบุคคลและซ่อมให้กับเด็กเป็นรายกรณีเหมือนกัน ผิดหรือติดขัดตรงไหนก็บอกและซ้อมให้ใหม่ในเรื่องนั้นๆเลย ทั้งสนุก ได้การเรียนรู้และได้ความรู้สึกงดงามมากจากเด็กๆครับ

      หลังจากนั้น เด็กๆก็ไปบวชเณรที่วัดเบญจมบพิตรฯที่กรุงเทพฯ พระคุณเจ้าที่เป็นครูและผู้ดูแลเด็กๆดูมีกำลังใจมากครับที่มีคนช่วยเข้าไปเสริมกำลัง เมื่อกิจกรรมผ่านไปแล้วก็ได้แจ้งให้พวกผมทราบด้วยว่าเด็กๆที่บวชเณรในรุ่นนี้มีการแสดงออกที่ดีกว่าเดิม ที่เห็นชัดคือการท่องหนังสือ การขานนาค และการวางตัว อย่างที่เราได้เป็นแหล่งฝึกซ้อมให้เด็กมีประสบการณ์เบื้องต้นมาก่อนแล้ว ซึ่งก็คงจะมีส่วนอยู่บ้าง

      คนต่างจังหวัดและในชนบท รวมไปจนถึงชุมชนที่อยู่ห่างไกล ที่ยังขาดโอกาสทางด้านต่างๆนั้นยังมีอยู่มากเลยนะครับ การได้เอาใจใส่ดูแลกันในเรื่องที่ตนเองทำได้นี่คงทำให้มีกำลังใจในชีวิต เป็นความสุข เหมือนเมื่อตอนอยู่ตามหมู่บ้าน หากมีชุมชนและญาติพี่น้องหมู่บ้านอื่นมาทอดกฐินด้วยกันที่ชุมชนของเรา ก็ทำให้มีความสุขในชีวิตนะครับ เลยก็ขออนุโมทนากับพระคุณเจ้าและคณะญาติโยมครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      จำนวนแรงงานเกษตรลดลง

      แสดงว่าชาวนาชาวไร่ลดลงเรื่อย ๆ

      ได้ข่าวว่าจะมีเศรษฐีมาซื้อที่ดินจำนวนมาก ๆ เพื่อทำนาในเมืองไทย ทำนาเป็นอุตสาหกรรมส่งออก เป็นสินค้าตัวใหม่ที่น่าสนใจของนักธุรกิจ

      ลูกหลานไทยทอดทิ้งไร่-นา เข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่ดินก็ลดลง

      ต่อไปก็จะมีชาวนามือใหม่ หัดทำนาฝึกทำนาจากนาของพ่อแม่นั่นแหละที่ตกไปอยู่กับผู้อื่น

      เราชาวนาอยู่กับควายตัวใหม่(ควายเหล็ก)

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ปีนี้หนองบัวแล้ง ข้าวนาดอนตายก่อนที่น้ำจะมา นาลุ่มพอได้บ้าง

      สมัยก่อนถ้าเจอภัยธรรมชาติลักษณะนี้

      แผนงานที่วางไว้ต้องยกเลิกหรือเลื่อนไปเป็นปีต่อไป

      เช่น เมื่ออายุครบบวชจะบวชสักพรรษาเมื่อเจอฝนแล้งน้ำท่วมไม่มีกำลังจัดงานได้ก็เลื่อนไปเป็นปีหน้า

      หรือบางทียกเรือนหอ(ปลูกบ้าน)ไว้แล้วแต่ยังทำไม่เสร็จเรียบร้อย เมื่อไม่ได้ข้าวก็ต้องเลื่อนงานแต่งไปอีก บางท่านเลื่อนถึงปีสองปีก็มี

      หรือบางครั้งฝ่ายชายถูกทหารไปเป็นทหารเกณฑ์ก็เลื่อนการแต่งงานไปสองปี(โบกมือหยอย ๆ บอกน้องจะไปชายแดน....สองปีกลับมา)

      ดูแล้ว ก็สรุปเป็นหลักทฤษฎีชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นได้เหมือนกันนะครับว่า การดำเนินชีวิต วิถีชุมชน และกระบวนการเชิงพฤติกรรมของสังคมนั้น มีความเป็นเหตุเป็นผลและสะท้อนฤดูกาล ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ตนเองของชาวบ้านและการเรียนรู้ชุมชน จึงทำให้สามารถเชื่อมโยงออกไป เพื่อทำความเข้าใจสิ่งต่างๆได้อีกหลายเรื่องครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เหลือเวลาอีกไม่กี่วันแล้วเลยขอช่วยอาจารย์วิรัตน์ประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนหนองคอกในที่นี้อีกแห่งหนึ่งด้วย : ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปี สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

      • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
      • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ ในรุ่นหนึ่ง ก็อาจจะรวมกันคนละ ๕๐๐ บาทแล้วก็ตั้งกองผ้าป่ากองละ ๒,๐๐๐ บาท ได้หลายๆกองในรุ่นหนึ่งๆนะครับ
      • อีกวิธีหนึ่งนะครับ หากใครมีลูกหลานเรียนหนองคอกหลายคน ก็สามารถตั้งกองผ้าป่าเป็นครอบครัว กองละ ๒,๐๐๐ บาท จะหนึ่งกองหรือหลายกองก็ตามแต่จะต้องการครับ
      • ติดต่อโรงเรียนกันเอาเอง หรือติดต่อผ่านลูกหลานที่เป็นศิษย์เก่าหรือกำลังเรียนอยู่ ก็น่าจะสะดวกดีครับ

      กราบขอบพระคุณและขอกราบอนุโมทนากับพระคุณเจ้าที่ร่วมสนับสนุนผ้าป่าพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัวครับ

      ผมตั้งใจว่าจะไปครับ แต่ไม่รู้ว่าจะทำงานต่างๆให้พอโล่งใจที่จะไปไหวไหมน่ะครับ อยากไปกราบครูอาจารย์ ไปยืนสูดลมหายใจทั่วอาณาบริเวณของโรงเรียนหนองคอก ไปเจอเพื่อนพ้องน้องพี่  แล้วก็อยากได้ไปเจอและขอซื้อหนังสือคุณสมบัติสักหน่อยน่ะครับ หากมีโอกาสก็จะได้ปรึกษาหารือกันแบบจิปาถะด้วยครับ

      พี่ชายผมบอกว่าคุณครูสุนทร สันคามิน และคุณครูลัดดา พูลสวัสดิ์(สันคามิน) สองคุณครูเก่าแก่ของโรงเรียนหนองคอก ซึ่งหลังเกษียณมากว่า ๑๐ ปีแล้วท่านก็ไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีบ้านของท่าน ก็จะไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วยครับ ทั้งคนหนองบัวและศิษย์เก่าหนองคอกคงดีใจที่ได้ต้อนรับและกราบคารวะท่าน

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ที่วัดมีพี่น้องชาวอีสานมาพักค้างคืนประจำตลอดปี

      นำผลิตภัณฑ์จากหมู่บ้านมาเร่ขายบ้าง

      รับของจากบริษัทมาขายก็มี

      บริษัทให้ชาวบ้านนำของมาขายเองก็มีด้วย

      ที่ข้าง ๆ กุฏิมีต้นมะละกออยู่ลูกดกเชียวแหละ

      มาพักก็มาขอมะละกอกับพระไปตำส้มเกือบจะทุกครั้งทุกเจ้าเลย พระก็ให้เพราะไม่มีใครนำไปทำกินกัน

      ได้สังเกตว่าพี่น้องเราน่าจะกินส้มตำเป็นอาหารหรือไรเพราะเห็นกินได้ทุกวัน(เด็กที่อยู่ด้วยก็กินได้ตลอดตำเองอีกด้วย)

      คนภาคกลางกินเป็นบางครั้งหรือไม่ก็นึกอยากจะกินจึงได้ทำกินหรือไปซื้อมากิน บางครั้งมารวมหมู่พี่น้องแล้วตำส้มกินกันใครมีฝีมือก็รับไปทำ ส่วนมากก็จะรู้ว่าใครในหมู่ญาตินั้นมีฝีมือทางนี้ ก็จะได้โชว์ฝืมือกันอย่างสุด ๆ

      ดูแล้วกินง่ายนอนง่ายเพราะเหน็ดเหนื่อยจากเดินขายของทั้งวันค่ำแล้วก็หลับ

      ท่านที่มีอายุบอกว่าตอนเป็นเด็กไม่เคยออกจากหมู่บ้านไปต่างชุมชนอื่นเลย

      ก็ทำอยู่ทำกินกันเป็นครอบครัวใหญ่เฮ็ดนาเฮ็ดไร่ไม่เคยไปไหน

      ปัจจุบันครอบครัวมีลูกคนเดียวก็ยังไม่พอกินแถมเป็นหนี้สินอีกต่างหาก

      เมื่อก่อนมีแต่งัว-ควาย รถจักรยาน ไม่มีรถขี่ก็เดิน

      ตอนนี้รถก็มี เครื่องอำนวยความสะดวกก็มากมายเต็มบ้านไปหมด

      แต่ก็ยังไม่พอกินอยู่ดีว่างั้น.

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ข่าวเกษตร

      ช่วงนี้เห็นสื่อลงข่าวการลงแขกเกี่ยวข้าวของคนดังบ่อย ๆ

      ผู้ว่าชาวนาบ้าง

      ผู้ว่าเกี่ยวข้าวบ้าง

      นางงามเกี่ยวข้าวงบ้าง

      นิสิตนักศึกเกี่ยวข้าวบ้าง

      นักเรียนเกี่ยวข้าวบ้าง

      ผู้นำชุมชนเกี่ยวข้าวบ้าง

      ดีเหมือนกันที่มองเห็นความสำคัญการร่วมมือร่วมใจช่อยเหลือซึ่งกันและกัน

      คงเป็นกำลังใจให้กับชาวนา

      กระดูกสันหลังของโลก

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เคยจำคำพูดของโยมลุงว่อน ขำสุขได้เมื่อตอนเป็นเด็ก

      เรื่องการกิน

      มีบางคนชอบติแม่บ้านตัวเองว่า ทำกับข้าวกับปลาไม่เอาไหน ไม่อร่อย

      แม่บ้านมีเคืองแน่นอน ถ้าเจอพ่อบ้านโพนทะนาฝืมือตัวเองแบบนี้

      อุตส่าห์ทำให้กินแล้วยังเอาไปนินทาอีกอะไรประมาณนี้แหละ(เจอแบบนี้แม่บ้านไม่โมโหยังไงไหว)

      ลุงพูดไว้แล้วจำมาตั้งนานเลยว่า (ไม่รู้ลุงเตือนคนชอบนินทาฝีมือเมียหรือเปล่า-ไม่ได้ถามเสียด้วย)

      แม่บ้านเขาเป็นคนทำให้เรากินใครเขาจะแกล้งทำให้ไม่อร่อยละ ไม่มีหรอก เขาทำสุดฝืมือนั่นแหละ

      เรากินแล้วต้องชมเขาบ้าง

      เด็กหนุ่มที่กุฏิเขาฝึกทำอาหารแล้วนำมาถวายอาตมา ฉันแล้วชิมแล้วก็บอกว่าดีใช้ได้

      เขาคงอยากทราบว่าพระอาจารย์ฉันกับข้าวที่เขาทำแล้วเป็นอย่างไร อะร่อยไหม อยากให้ติชม

      เขาก็ถามอาตมาว่าแกงส้มเป็นอย่างไรบ้างครับพระอาจารย์

      อาตมาก็ตอบไปตามตรงแบบคนกันเองว่า ดีกว่ากินดินหน่อยนึง (พ่อครัวหัวเราะชอบใจ)

    • เรื่องการอยู่เหมือนกับอุทิศชีวิตให้กับการแสวงหาและสะสมสิ่งภายนอกนี่ หากไม่สมดุลกับการพัฒนาและยกระดับความอิ่มเต็มในตนเองไปด้วย ตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง ก็คงไม่รู้จักความพอเพียงได้เลยนะครับ
    • แต่มองในแง่การพัฒนา เรียนรู้ และอบรมตนให้ได้มีโอกาสลดความเป็นตัวกูของกูไปตามอัตภาพอยู่เสมอๆ เมื่อไหร่ที่คนเรารู้สึกพอสมควรแก่ตนเองและสามารถแบ่งปันสุขภาวะกับผู้อื่นได้ ก็จะหยิบยื่นและแบ่งปันสิ่งต่างๆกับผู้อื่นเพื่ออยู่ด้วยกันได้ทันทีเหมือนกันนะครับ เหมือนกับว่าพอรู้สึกพอก็ให้คนอื่นได้ทันที ความสมดุลจากการพัฒนาตนเองด้วยนี่สำคัญเหมือนกันนะครับ
    • ในขณะที่หากเราคิดว่า รอให้ตนเองพอก่อนแล้วจึงช่วยผู้อื่นนั้น บางทีตลอดชีวิตเราอาจจะเอาตัวรอดตลอด เห็นแก่ตัว คับแคบ เผื่อแผ่แบ่งปันสารทุกข์สุกดิบกับผู้อื่นไม่ได้สักที 
    • แต่กระแสสังคมก็มักจะเป็นแรงกดดันให้ผู้คนดำเนินชีวิตไปอย่างนั้นนะครับ แหล่งที่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญและทำสิ่งต่างๆให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเรียนรู้พัฒนาตนเอง จะสามารถสร้างโอกาสและทางเลือกใหม่ๆในชีวิตให้ดีขึ้นได้กระมังนะครับ เช่น สื่อต่างๆที่สื่อสารและนำเสนอทรรศนะต่อชีวิตที่เหมาะสม แนวการศึกษาที่ให้ทางออกใหม่ๆเพิ่มขึ้น รวมทั้งความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆที่เป็นสุขภาวะสังคม ของกลุ่มปัจเจก ครอบครัว และชุมชนระดับต่างๆ
    • ทั้งเรื่องการมีผู้คนไปมีกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์กับชาวนาในฤดูกาลเก็บเกี่ยว และการปฏิสันถารง่ายๆเหมือนการสร้างความคุ้นเคยกันอย่างญาติของผู้คนที่อยู่ด้วยกันในชุมชนอย่างที่พระคุณเจ้าเล่าแล้ว ทำให้เห็นถึงอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตจริงครับว่า  การได้สร้างสังคม ปฏิสัมพันธ์กัน พูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆจากจิตใจและความรู้สึกตนเองต่อกัน ก็ทำให้การอยู่ด้วยกันมีความสุขแล้วนะครับ
    • การมีเพื่อนได้พูดคุยและการมีคนอื่นให้ได้ดำเนินชีวิตด้วยกัน จึงเป็นทรัพยากรเพื่อสุขภาวะ ที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ไม่มีวันหมดไปง่ายๆเลยนะครับ แนวความเชื่ออย่างนี้ก็ทำให้เป็นความหวังสำหรับคนที่ชอบพัฒนาคนและสร้างสุขภาวะทางสังคมที่ดีเหมือนกันครับ
    • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      วันนี้ได้เดินทางไปที่วัดจุฬามณี ในเมืองพิษณุโลกช่วงนี้ทางวัดมีงานอุปสมบทหมู่เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ฯ ๕ ธันวามหาราชซึ่งได้จัดเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยปีนี้เป็นปีที่ ๒๐

      การจัดอุปสมบทหมู่ประจำปีของทางวัดเป็นการดำเนินรอยตามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้สร้างวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เสด็จมาประทับในขณะครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลา ๒๕ ปี แล้วเสด็จออกผนวชอยู่ที่วัดจุฬามณี เมื่อปี

      พ.ศ.๒๐๐๘ เมื่อครั้งทรงผนวชมีบรรดาข้าราชบริพารและไพร่ฟ้าออกบวชด้วยถึง ๒,๓๔๘ รูป นับว่าเป็นการอุปสมบทหมู่ใหญ่แสดงถึงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระมหากษัตริย์และพระพุทธศาสนา

      ปีนี้มีผู้เข้าอุปสมบท ๒๐๐ กว่ารูปบวชเป็นเวลา ๑๐ วัน มีทั้งชาวบ้านข้าราชการ พระใหม่ก็จำวัดใต้ต้นไม้มีกลดบ้าง เต้นท์บ้างเต็มลานวัดญาติโยมทั้งญาติพระใหม่และสาธุชนทั่วไปก็นำอาหารคาวมาถวายพระกันอย่างเนืองแน่นน่นอุโมทนาบุญ

      เนื่องจากบวชไม่กี่วันทางวัดจึงเน้นเรื่องจิตภาวนาเป็นหลักผู้บวชเป็นผู้ใหญ่แล้วมีงานการทำแล้วดูท่าทางท่านตั้งใจดีทุกท่านอีกอย่างเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ฯ ในหลวงด้วยก็เลยเห็นความตั้งใจในทางกุศลของพระใหม่ญาติโยมก็ชื่นใจอิ่มใจในบุญกันถ้วนทั่วทุกคน

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เมื่อวานมีพระภิกษุสามเณรจากโรงเรียนสาธิตวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช พิษณุโลก จำนวน ๒๐๐ กว่ารูปเดินทางมาพักที่วัดศรีโสภณ

      ในโครงการเดินธุดงค์ปักกลดลดย่ามประจำปีเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงเนื่องในวันพ่อจัดมาหลายปีปีนี้เป็นปีที่ ๙

      ถ้าเป็นนักเรียนทั่วไปก็ออกค่ายประจำปี แต่นี่เป็นเดินธุดงค์เดินมาทั้งหมด ๗ อำเภอแล้ว ยังเหลืออำเภอนครไทย กับอำเภอชาติตระการ

      ส่วนใหญ่เป็นสามเณรและเรียนหนังสือตั้งแต่ ม.๑ - ม.๖

      ตอนเช้าออกบิณฑบาตอาหารแห้งในหมู่บ้านมีญาติโยมศรัทธาใส่บาตรข้าวของมากมายทั้งจตุปัจจัยและสิ่งของทั้งหมดถาวยให้วัดที่ได้มาพัก

      แม้เณรจะตัวเล็ก(ม.๑)แต่ก็เข้มแข็งอดทนดีเดินได้วันละเป็นสิบกิโลเมตร

      เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ความมีน้ำใจของชาวบ้านชาววัดแต่ละที่ เณรน้อยคงได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดี

      เณรมาจากหลายจังหวัดของประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาในระบบเนื่องเพราะยากจน

      เวทีแบบนี้สร้างความเข้มแข็งให้เป็นคนสู้ชีวิตแบบคนด้อยโอกาสที่ดีไม่น้อยเลย.

      30...ความคิดเห็นที่..221 นมัสการพระอาจารย์มหาแล..

      สร้างกระแสกันไป..ของจริงๆอยากเห็นลูกชาวนาพัฒนาผืนนาของบรรพบุรุษให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรมากกว่าค่ะ..และขอให้ชาวนาไทยรวยๆเหมือนชาวนาญี่ปุ่นด้วยค่ะ...

                       นมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง...

      วันนี้เตรียมตัวไปถวายความจงรักภักดีต่อพ่อของแผ่นดินค่ะ..เก็บรูปได้จะนำมาฝากนะคะ...

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรคุณครูอ้อยเล็ก

      อยากให้ความประสงค์ของคุณครูอ้อยเล็กที่มีความปรารถนาดีต่อชาวไร่-ชาวนา เกิดขึ้นในชีวิตเรานี้จริง ๆ เลยเพี้ยง

      ถึงจะเป็นกระแสก็น่าจะมีส่วนให้เด็ก ๆ ได้เห็นผ่านตาบ้างก็ยังดี แต่แหมคนเกี่ยวข้าวมองกล้องจังเลยเนาะ ระวังเคียวบาดมือนะจะบอกให้

      หลายท่านคงได้ยินมาบ้างว่า ทำนาปีเหลือแต่หนี้กับซัง ทำนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้

      ยินดีอย่างมากเลยถ้าคุณครูอ้อยเล็กจะนำภาพกิจกรรมวันพ่อมาฝาก ณ ที่นี้

      อนุโมทนาขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กอย่างมาก

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ แล้วก็สวัสดีคุณครูอ้อยเล็กด้วยครับ จะรอชมภาพไปงานวันพ่อจากคุณครูอ้อยด้วยคนครับ ดูจากสื่อหนังสือพิมพ์แล้วน่าตื่นตาตื่นใจนะครับ เมื่อเย็นนี้ก็เห็นชาวบ้านลูกเล็กเด็กแดงแถวหมู่บ้านผมหอบหิ้วกันเดินไปรอขึ้นรถเมล์เข้าไปดูไฟกัน ทั้งมีสีสันและมีชีวิตชีวามากจริงๆ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      สองสามวันนี้ได้อ่านบทความดี ๆ เนื่องในวันพ่อใน GotoKnow นี่แหละ

      บอกเล่าเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับ"คุณพ่อ"

      รู้สึกมีความสุขมากและเป็นข้อมูลที่จะนำไปใช้ต่อได้อีกมากมายเลย

      พระที่เป็นวิทยากรอบรมเด็กคงนำไปปรับใช้เวลาอบรมเยาวชน

      พระนักเทศน์นักเผยแผ่ธรรมก็มีตัวอย่างจากชีวิตจริงไปสอนเรื่องความกตัญญูต่อบุพพการีอีกมาก

      ขอขอบคุณทุกท่านที่นำเรื่องราวดี ๆ มาแบ่งปันและเป็นประโยชน์อย่างมาก

      ขอร่วมอนุโมทนากับพระอาจารย์มหาแลด้วยครับที่ได้ทำกิจกรรมสร้างเด็กๆและเห็นแหล่งข้อมูลในนี้สำหรับนำไปเป็นวัตถุดิบช่วยเสริมกำลังการทำหน้าที่สร้างทุนมนุษย์เพื่อเติบโตไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคตครับ เมื่อตอนอยู่ชั้นประถมปลายโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) คุณครูพาไปทำบุญและกล่าวปวารนาตนเป็นพุทธมามกะบนศาลาไม้สักอันใหญ่โตของหลวงพ่ออ๋อย ทุกอย่างที่ดีๆก็ยังสามารถประทับเป็นความทรงจำอยู่กับตนเองตลอดเวลาเลยครับ เพราะฉะนั้นอย่างที่พระคุณเจ้าและหมู่คณะผู้เกี่ยวข้องต่างๆได้ร่วมกันสร้างประสบการณ์ให้เป็นทุนชีวิตแก่เด็กๆมากมายนี้ ก็เชื่อแน่ว่าจะส่งผลดีต่อเด็กมากยิ่งขึ้นไปอีกมากมายนะครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ได้ฟังการบรรยายเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติบ้านนามเมืองเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา

      โดยอดีตเป็นผู้นำชุมชนซึ่งตอนนี้เป็นผู้ทรงความรู้ประจำหมู่บ้าน บ้านดอนม่วง อ.วังทอง

      ผู้ฟัง ๒๐๐ กว่ารูปจากโรงเรียนสาธิตวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช พิษณุโลก

      ท่านเคยป่วยเป็นอัมพฤกษ์และรักษาหายด้วยยาสมุนไพรตอนนี้ก็เลยเป็นผู้รู้เกี่ยวกับสมุนไพรไปด้วย

      ทำเกษตรแบบพอเพียง

      เป็นวิทยากรให้ความรู้เมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมโครงการที่ท่านทำอยู่

      เล่าความเป็นมาในการดำเนินชีวิตแบบคนชนบทอยู่กันด้วยการพึ่งพาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันมีความสุขตามอัตภาพ

      ท่านเล่าว่าฟังข่าว เขาบอกว่าเศรษฐกิจจะดี จะฟื้นตัว โยมฟังแล้วก็ไม่เข้าใจหรอกดีไม่ดีโยมก็อยู่อย่างนี้มา ๗๐ ปีแล้วสบายดี

      ผู้ฟังสนใจเรื่องการเผาถ่านที่ท่านทำอยู่นับว่ามีรายดีทีเดียว

      เตาเผาถ่าน ๒๐๐ ลิตร เป็นเตาเผาถ่านที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเตาเผาถ่านแบบดั้งเดิม ประมาณ ๑-๒ เท่า ผลผลิตที่ได้จึงเป็นถ่านที่มีคุณภาพมีสารก่อมะเร็งต่ำขี้เถ้าน้อย และผลพลอยได้จากกระบวนการเผาถ่านอีกอย่างหนึ่ง คือ"น้ำส้มควันไม้หรือWoodVinegar"ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการเกษตรกรรมธรรมชาติ

      ท่านบอกว่าไม่รวยแต่ก็สุขสบายตามแบบชาวบ้าน มีความสุขที่ทำขึ้นเองสร้างเองพออยู่ได้

      นี่ก็เป็นแนวคิดแนวปฏิบัติผู้สูงวัยในยุคเก่าที่มีเพื่อนบ้านมีชุมชนอาศัยซึ่งกันและกัน

      เป็นวิถีทางเดินอันเก่าในสังคมเรา.

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      วิถีปฏิบัติบางท่านฟังดูง่ายเพราะกระทำอยู่เป็นประจำ

      คือทานบารมีการแบ่งปันเสียสละเอื้ออาทรเป็นคติชีวิตของตัว

      เรียกว่ามีทานเป็นเจ้าเรือนมั่นคงในเรื่องทานบารมี

      โดยแต่ละวันจะมีกิจวัตรอันนี้ไม่ขาด

      ก่อนจะทำภารกิจส่วนตัวก็ทำเพื่อผู้อื่นก่อนเป็นการแบ่งปันเป็นการลดอัตตาตนเอง

      ให้ผู้อื่นที่ง่าย ๆ แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่ไม่มีความมั่นคงทางด้านนี้

      แบ่งปันโดยการให้ทานสละสิ่งของเป็นทานแด่พระภิกษุสงฆ์ทุกเช้าก่อนจะทำประโยชน์ตน

      ในหนองบัวเห็นมีหลายท่านที่มีใจบุญสุนทรทานการกุศลแต่ละวันไม่ใช่น้อยอุปถัมภก์พระตั้งหลายวัดที่มารับบาตร

      ภาษาพระเรียกว่า ท่านทานาธิบดี คือเป็นใหญ่ในทานในการเสียสละกำจัดความตระหนี่ถี่เหนี่ยวท่านเปรียบเหมือนกับการทำสงคราม

      การเสียสละแม้เล็กน้อยแต่ดุจทำสงครามเลยทีเดียว

      นี่คือพุทธพจน์บทกลอนหลวงพ่อวัดชากมะกรูดเมืองระยอง ดังนี้

      ทานัญจะ ยุทธัญจะ สมานมาหุ แปลว่า ท่านว่า ทานและการรบ เสมอกัน

      การรบรับสัประยุทธ์ที่สุดละ ต้องสละชีวังแลสังขาร์

      น้ำใจพร้อมยอมตายวายชีวา อุปมาเปรียบได้กับให้ทาน

      ต้องสละราคีตระหนี่ทิ้ง แต่ยากยิ่งใหญ่นักจะหักหาญ

      ยังเหนียวใจไม่พรากจากสันดาน มิทำทานดอกหนาอย่ากังวล.

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

      • ผู้คนเริ่มอิ่มตัวกับวิถีดำเนินชีวิตอย่างในระยะที่ผ่านมา แล้วก็แสวงหารูปแบบที่พอดี เพื่ออยู่ในท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ด้วยฐานชีวิตที่หวนคืนสู่ความเรียบง่าย และเป็นมิตรกับธรรมชาติมากยิ่งๆขึ้นนะครับ พาคนให้ออกไปเรียนรู้อย่างนี้ก็จะได้มีกรณีตัวอย่างให้นำกลับไปขยายผล สานต่อตามความสนใจของตนเอง ดีกว่าตามกระแสสังคมตามๆกันไปนะครับ
      • ในแง่การบูรณาการกับวิถีชีวิตทางศาสนธรรม ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่จัดว่าเป็นสัมมาชีพ ทำมาหากินที่ลดการเบียดเบียนธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งตนเอง อย่างนั้นเลยนะครับ พวกผมที่ทำกิจกรรมกันที่พุทธมณฑล เรียกแนวดำเนินชีวิตและทำอยู่ทำกินอย่างนี้ว่า มรรควิถีที่นำไปสู่ชีวเกษม หรือความมีชีวิตและจิตอันเกษมครับ
      • งานมหากาพย์ภารตยุทธและภควัตคีตา ก็มีวิธีคิดแบบนี้เลยครับ คือ เป็นเรื่องของการแสดงประสบการณ์สงครามภายในจิตใจของมนุษย์ ที่ดำเนินเรื่องราวเชื่อมโยงออกไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆของโลกภายนอก แผ่ออกไปสู่สรรพสิ่ง นับว่าการเรียนรู้อย่างแยบคายจากกิจกรรมที่ผู้คนคุ้นเคย แล้วแสดงความเปรียบเทียบในกลอนอย่างที่พระคุณเจ้านำมาถ่ายทอดไว้นี้ ก็สามารถเข้าถึงและได้บทสรุปที่ลึกกซึ้งอย่างเดียวกันนะครับ
      • ผมเคยได้ยินผู้รู้และครูอาจารย์หลายท่านพูดถึงธรรมชาติอย่างหนึ่งของแก่นสภาวธรรมว่า สามารถเข้าถึงได้หลายทาง แต่ไม่ว่าจะเข้าถึงในทางไหนก็จะได้สัมผัสความเป็นสภาวะเดียวกัน เหมือนกัน คงจะเป็นอย่างนี้นะครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เมื่อคืนวานคุณครูจากอำเภอบางกระทุ่มมาเยี่ยมและพักค้างคืนด้วย

      ท่านออกจากราชการก่อนกำหนด

      มีน้ำใจว่างก็มาเยี่ยมเยือนประจำ

      ตอนนี้ได้ดูแลพระหลวงตารูปหนึ่งในอำเภอวังทอง

      ท่านสุขภาพไม่ค่อยดีคุณครูก็คอยมาเยี่ยมยามถามข่าวเสมอ ๆ

      เคยไปหนองบัวเมื่อคราวโยมอาเสียชีวิต

      จะปวารณาไว้เมื่อเรามีธุระจำเป็น

      เพื่อนท่านเป็นผอ.รู้จักพระรูปใดเมื่อพระจะไปปฏิบัติศาสนกิจเมื่อเรียนจบมจร.

      ก็แนะนำให้ไปสอนเด็กที่นั่น

      คอยอำนวยความสะดวกด้วยความเต็มใจ พระก็เกรงใจเพราะอยู่คนละอำเภอ

      มีบุตรสาวสองคนเรียนเก่งได้ทุนเรียนเลยไม่ค่อยห่วงดูสบายใจเมื่อพูดคุยถึงลูก ๆ

      ความมีน้ำใจความเสียสละเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่หวังผลคิดทางบุญกุศล

      เป็นชีวิตที่พอเพียงตามอัตภาพที่ตนเองจัดการได้บริหารได้

      จนก็สุขได้ไม่ยากเลยชีวิต.

      กราบนมัสการท่านมหาแล ขำสุข ที่เคารพ

      สุเข้ามาอ่านประวัติหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ อ่านประวัติวัด  บ้านหนองคอก  แล้วก็อ่านถ้อยคำที่พูดคุยกันระหว่างคนที่เข้ามเม้นท์และเยี่ยมเยือน  ท่านได้เล่ากิจกรรม รอบๆข้าง ความเห็น ของท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สื่อการกันไปมา เปรียบเหมือนกับบันทึกประจำวันเลยทีเดียว ได้ปรธดน์ในข้อคิด หลายแง่หลายมุม นับเป็นอาหารสมองและแนวความคิดที่ดีมากเลย  และคำบอกเล่าของท่าน เปรียบเหมือนจดหมายเหตุรายวัน  อีกหน่อยจะมีคนรุ่นลูกรุ่นหลานมาสืบค้น ว่าในสมัยนั้น สมัยนี้ เป็นอย่างไร ก็ดีทีเดียวคะ  เพราะท่านได้สอดแทรกความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณี แม้แต่น้ำใจของคนที่ท่านได้พบ คบหา ท่านก็ได้ข้อคิดมากมาย  สุอ่านเรื่องของท่านแล้ว ก็ไปอ่านเรื่องของอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ด้วย ทุกๆอย่างเก็บเป็นตำนานข้อมูลเพื่ออนาคตลูกหลานได้มาหาอ่าน และได้ศึกษา แม่ถ้าคนรุนปัจจุบันเหมือนสุนี่ ก็จะได้ข้อคิด  ในเรื่องรักท้องถิ่น และพัฒนาท้องถิ่นได้ โดยไม่ต้องมีใครมาร้องขอ เป็นจิตอาสาถ้าเห็นว่าสมควรคะ

      กราบนมัสการคะ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เจริญพรคุณโยมสุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ

      ขอขอบคุณและอนุโมทนาที่คุณโยมสุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ เข้ามาเยี่ยมชาวหนองบัวและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

      ขอแนะนำให้ชาวหนองบัวได้รู้จักกับคุณโยมสุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ คุณโยมได้เขียนบันทึกประวัติชุมชนอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจ.ขอนแก่น

      และอำเภอกระนวนยกฐานะเป็นอำเภอก่อนหนองบัวไม่นานนัก

      ชุมชนกระนวนมีเรื่องราวดี ๆ มากมาย และคุณโยมตั้งใจทำอย่างมากเพื่อบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังหรือลูกหลานชาวกระนวนได้ศึกษาเรียนรู้ชุมชนคนท้องถิ่นเป็นที่น่าชื่นชมยิ่ง

      เท่าทีดูตอนนี้คนที่ทำเรื่องชุมชนบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองยังมีไม่มากนัก ได้เห็นคุณโยมมุ่งมั่นทำเรื่องท้องถิ่นตัวเองเลยเกิดความสนใจ จึงได้เข้าไปเยี่ยมบล็อกที่คุณโยมเขียนเรื่องนี้โดยตรงในวันนี้เอง

      คุณโยม-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ มีผลงานที่เขียนไว้ในบล็อกGotoKnow อย่างมากมายหลากหลายและเป็นผู้มีประสบการณ์มีความรู้ เพียงแค่ชื่อที่ใช้เป็นนามปากกาก็เชิญชวนให้น่าติดตามความคิดความอ่าน

      แนวที่เขียนมีทั้งแนวธรรมะเรื่องทั่วไปน่าสนใจ ขอเชิญชาวหนองบัวทุกท่านไปเยี่ยมเยือนทักทายท่านได้ตามความสะดวก

      หวังว่าคงจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น – อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จากคุณโยมต่อไป

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ : การมีเครือข่ายผู้คนที่เกิดขึ้นบนรายทางของชีวิตเพื่อผ่อนพักทางจิตวิญญาณและเกื้อหนุนกันสร้างความดีงามที่มีความหมายต่อการใช้ชีวิตในทุกช่วงวัย เป็นทรัพย์สมบัติและเป็นทุนชีวิตที่มีคุณค่ามากอย่างยิ่งเลยนะครับ คนบ้านนอกจะร่ำรวยในสิ่งนี้ ต้องแลกเปลี่ยนและก่อเกิดด้วยระบบน้ำใจ ความซื่อตรง ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ซื้อหาเอาจากแห่งใดด้วยเงินทองและความร่ำรวยอย่างอื่นก็ไม่ได้

      สวัสดีครับคุณสุครับ : นอกจากนามปากกา (หรือว่าจะเรียกว่านามมือเคาะคีบอร์ดดีครับ) จะสะท้อนความเป็นผู้มีวิถีชีวิตการเรียนรู้่อยู่เสมอแล้ว การแวะมาให้ความสนใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่หลายท่านได้คุยกันในนี้ ก็บ่งบอกและย้ำให้เห็นมากขึ้นไปอีกว่าคุณสุเป็นผู้ให้ความสำคัญต่อชีวิตแห่งการเรียนรู้มากจริงๆ ขอร่วมต้อนรับกับท่านพระมหาแลครับ

      สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

      เห็นเด็กๆ ทางใต้มีวงเล่นไวโอลินกับแมนโดลิน และตะโพน รำมะนา ตัวเล็กน่ารักดี เล่นแล้วก็มีคนมารำ สนุกสนานและเด็กๆ ก็ได้มีกิจกรรมทำดีกว่าอยู่เฉยๆ วิธีการที่ครูเขาสอนเป็นการเรียนแบบลัด ไม่ต้องรู้จักโน๊ตก่อน ใช้วิธีจำเอา พวกนี้จะเล่นได้ไม่หลากหลาย เล่นได้เฉพาะเพลงที่คุ้นเคยรู้จักเท่านั้น ซึ่งข้อดีของการเรียนแบบนี้ก็คือเล่นเป็นเร็ว ทำให้เด็กไม่ต้องทนรอนานกว่าจะเล่นเป็นเพลงได้ ข้อเสียคือจะเล่นได้แต่แนวบ้านๆ และเทคนิคทั้งหลายไม่ค่อยมี ท่าทางไม่สวยงาม รวมถึงสุ้มเสียงไม่ค่อยนิ่ง

      โดย Little Jazz   [ อนุทิน ] [ ลิงก์ถาวร #54504 ]
      สร้าง: อา. 13 ธ.ค. 2552 @ 21:46   แก้ไข: อา. 13 ธ.ค. 2552 @ 21:46   ขนาด: 1397 ไบต์

      • ผู้มีทักษะแตรวงที่พริ้วไหวอย่างอาจารย์ ว่าอย่างไรค่ะ ^^

                            

                            

      • การหัดอย่างที่อาจารย์ว่านั้น ตามประสบการณ์ผม จะทำให้เด็กๆ และผู้เล่น มีทักษะในการฟัง อ่านทางเพลงและอ่านท่วงทำนองเพลงในภาพรวมได้ดีครับ เมื่อเล่นได้แล้ว ก็จะฟังเพลงออกและเล่นได้เลย แต่ต้องเน้นประสบการณ์ในการฟัง
      • สามารถเล่นเพลงได้สลับซับซ้อนมากๆได้ด้วยครับ ในเพลงตับ เพลงเถา ของเพลงไทยเดิมนั้น ทางเพลงและลูกเล่นของครูเพลงต่างๆจะมีความสลับซับซ้อน และมีลูกไม้เพลงไทย ซึ่งก็จะต้องสืบทอดเอาจากการบอกเคล็ดต่อๆกัน
      • แนวอย่างนี้ เหมาะสำหรับการเล่นอย่างแนวเพลงไทยและเพลงแจ๊สครับ คนเล่นจะมีทักษะสูงในการอ่านภาพรวมแล้วก็สะท้อนตนเองออกมาทางดนตรีเลย ความไพเราะและอารมณ์ทางดนตรี ภาษาดนตรี ก็จะเป็นอีกแบบ อีกทั้งมีหลายอย่างที่ดนตรีสากลและการเล่นจากการท่องโน๊ตสากลจะเล่นไม่ได้
      • ผมเคยหัดโน๊ตสากล พออ่านออกและเล่นได้อยู่พักหนึ่งแล้วไม่ได้ซ้อมต่อ ก็พอจะเห็นข้อแตกต่างและเห็นความเหมาะสมไปคนละแบบครับ เช่น จากโน๊ตสากลนั้นแม้เราจะไม่เคยได้ยินได้ฟังเพลงนั้นมาก่อน ก็สามารถเล่นได้เหมือนกันครับ ที่สำคัญคือ บรรทัด ๕ เส้น เพื่อกำกับระดับเสียงของตัวโน๊ตให้เรารู้ Octave เสียงของตัวโน๊ต กับห้องเสียงและอัตราการทอดเสียงย่อยๆของตัวโน๊ตแต่ละตัวซึ่งสามารถแบ่งย่อยลงไปถี่ยิบในตัวโน๊ตขเบ็ตต่างๆ องค์ประกอบพวกนี้ทำให้เด็กๆและคนเล่นดนตรีที่หัดจากการอ่านโน๊ตสากล สามารถเล่นไปด้วยกันให้พร้อมเพรียงได้แม่นยำกว่า ยิ่งเมื่อมีการซ้อมให้เห็นอารมณ์เพลงไปด้วย ก็จะได้ความไพเราะที่ซับซ้อนไปอีกทางหนึ่งครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      เมื่อคืนก่อนได้รับโทรศัพท์จากโยมผู้ใจบุญใจกุศลและมีใจปฏิบัติภาวนาที่รู้จักกันท่านหนึ่ง

      เรื่องจะไปทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระนิสิต/นิสิตฆราวาสของมจร.ที่ปฏิบัติกรรมฐานประจำปี ณ วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช

      พระและฆราวาสที่เรียนวิทยาลัยสงฆ์ต้องปฏิบัติกรรมฐานปีละ ๑๐ วัน ปีนี้ทั้งพระและฆราวาสรวมประมาณเกือบ ๖๐๐ ท่าน

      โยมครอบครัวนี้มีจิตศรัทธาเป็นเจ้าภาพมาตลอด บางปีการจัดทำอาหารต้องขอแรงญาติและเพื่อนบ้านมาช่วยทำเหมือนกับที่บ้านตัวเองมีงานบวชหรืองานแต่งเลยทีเดียว ด้วยใจศรัทธาแท้ถึงทำได้เพราะฐานะก็ทำนาทำไร่ธรรมดาไม่ได้ร่ำรวยอะไร

      บางทีพระก็เกรงใจกลัวเป็นการรบกวนเพราะงานบุญถ้าทำกันทุกครั้งก็นับว่าบ่อยอยู่เหมือนกัน

      เราเองก็ไม่ถนัดในการบอกบุญเสียด้วย ท่านก็มักชวนเราให้เป็นผู้นำไปทำบุญที่โน่นที่นี่ทำแบบไม่ปรากฏตัวหรือต้องการมีชื่อเสียงทำเพื่ออุปถัมภก์พระสงฆ์และบางครั้งก็มีเลี้ยงอาหารแก่เด็กนักเรียนด้วย

      ท่านเรียกว่าครอบครัวมีศรัทธาเสมอกันถ้าไม่เสมอกันทำได้ยากไม่น้อย เพราะจะเกิดการเสียดาย ใจไม่เต็มร้อยในการบริจาคหรือแบ่งปัน

      อาจขัดใจกันได้ในระหว่างครอบครัว.

      ผมเคยแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำกิจกรรมกับกลุ่มคนในทุกวัยเกี่ยวกับขนาดของกลุ่มเหมือนกันครับ โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งผมก็มักจะออกตัวว่า หากเป็นเวทีกิจกรรม ที่มีคนเป็นสอง-สามร้อยขึ้นไปแล้ว ก็จะเหมาะกับกิจกรรมที่มีลักษณะการบอกกล่าวหรือการทำให้อยู่ในวาระความสนใจต่อเรื่องต่างๆไปพร้อมกัน ทว่า หากเป็นกิจกรรมที่มุ่งให้เกิดความลึกซึ้ง ทั้งต่อเนื้องานและต่อการพัฒนาตนเอง หากเป็นผมแล้ว ก็จะถนัดที่จะทำเป็นกลุ่มที่ต่ำกว่า ๕๐ ตนลงมา หรือหากเป็นไปได้ก็จะให้อยู่ระหว่าง ๑๕-๓๐ คน เนื่องจากกลุ่มคนขนาดนี้จะเป็นขนาดที่จะยังมีความเป็นชุมชนและความเป็นกลุ่มก้อน ที่ผู้คนจะสามารถปฏิสัมพันธ์กับรอบข้างได้อย่างมีคุณภาพและได้ความลึกซึ้งต่อเรื่องต่างๆอย่างจำเพาะเจาะจงแก่ตนเองได้

      ทว่า หากเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ลักษณะของกลุ่มจะกลายจากความเป็นกลุ่มก้อนและชุมชน เป็นกลุ่มมวลชนขนาดย่อม ซึ่งจะทำให้ผู้คนมีความผิวเผิน ห่างเหิน ทำสิ่งต่างๆได้ดีในเชิงปริมาณแต่จะลดความเข้มข้นในเชิงคุณภาพน่ะครับ แต่นี่ก็เป็นนานาทรรศนะ นานาประสบการณ์น่ะครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      มนุษย์สร้างฝั่งให้ตัวเองไว้มากมายแล้วตัวเองอีกนั่นแหละมักติดฝั่งที่สร้างไว้ ฝั่งก็เลยกลายเป็นกับดักตัวเอง

      ฝั่งแห่งสีผิว

      ฝั่งแห่งเชื้อชาติ

      ฝั่งแห่งสีเสื้อ

      ฝั่งแห่งความโกรธเกลียด

      ฝั่งแห่งความเคียดแค้น

      ฝั่งแห่งความอาฆาต

      การเห็นความทุกข์เดือดร้อนและความดีของคนอื่นแล้วเราก็จะข้ามพ้นฝั่งได้.

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาและครับ

      • เป็นมุมมองที่จะทำให้เปลี่ยนกรอบทรรศนะเลยทีเดียวครับ จากการคิดถึงโดยใช้ตัวเรา ตัวกู-ของกู เป็นจุดยืน ก็กลายเป็นทรรศนะที่มองออกจากจุดยืนร่วมกับผู้อื่น
      • หลักคิดในแนวทางอย่างนี้ สอดคล้องกับพุทธวจนว่า อตฺตานํ อุปฺมํ กเร เอาใจเขามาใส่ใจเรา เลยนะครับ มหาวิทยาลัยมหิดลถือเอาพุทธวจนนี้เป็นปรัชญาและปณิธานด้วยครับ
      • บางทีความขัดแย้งทั้งหลายในสังคมไทยและหลายแห่งในสังคมโลก ซึ่งมีความหลากหลายซับซ้อน และผู้คนต่างอยู่กันด้วยความแตกต่างหลากหลาย หากเรามีวิถีปฏิบัติโดยเริ่มมองออกจากการคิดเพื่อเห็นใจผู้อื่น เห็นความทุกข์ และเห็นความดีงามของผู้อื่นให้มากขึ้น หลายอย่างก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและก่อเกิดเกิดสุขภาวะในสังคมมากมายนะครับ
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๓

      ขอให้อาจารย์วิรัตน์และครอบครัวชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่านมีความสุขดังบทบาลีที่ว่า เต อัตถลัทธา สุขิตา วิรุฬหา พุทธสาสเน อโรคา สุขิตา โหถะ สหสัพเพหิ ญาติภิ. ขอให้ครอบครัวของท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติ จงประสบสุขในสิ่งที่ปรารถนา มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ปราศจากโรคภัยและเจริญงอกงามไพบูลย์ในพุทธธรรมตลอดไป เทอญ.

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

      ขอกราบขอบพระคุณในคำอวยพรของพระคุณเจ้ามากเป็นอย่างยิ่งครับ เป็นศิลปะและกุศโลบายของการให้พรแก่กันทีลึกซึ้งอย่างยิ่งครับ แทบไม่เคยได้เห็นและได้ยินการให้พรที่มีนัยยะต่อการบอกจุดหมายสำคัญเพื่อมุ่งสู่ความงอกงามของชีวิตที่สมบูรณ์ในลักษณะนี้เลยครับ คนเฒ่าคนแก่แต่ก่อนจะมี และผู้ศึกษาในแนวปฏิบัติภาวนาก็มักมีการสื่อทางทรรศนะในลักษณะนี้ครับ

      ขออ้างเอาพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และมหากรุณาธิคุณ แห่งพุทธธรรมและไตรสรณคมภ์ อีกทั้งกุศลและธรรมบารมีจากความฏิปฏิบัติชอบ และบารมีอันแผ่ไพศาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมโพธิสมภาร จงร่วมเป็นพลวัตรปัจจัยส่งเสริมเกื้อหนุนพระคุณเจ้าให้ได้ถึงพร้อมในสิ่งที่ปรารถนา ได้ความก้าวหน้าในการปฏิบัติศึกษาทุกสถาน ก่อเกิดกำลังใจและกำลังชีวิตจากการได้เห็นความเจริญงอกงามของสิ่งที่ได้บำเพ็ญต่อสาธารณะอยู่เสมอมา และให้เวทีคนหนองบัวเวทีนี้คึกคักมีชีวิตชีวามากยิ่งๆขึ้นไปอีกครับ

       

      ขอถือโอกาสเนื่องในปีใหม่ ร่วมเฉลิมฉลองเวทีคนหนองบัวเวทีนี้ของพระคุณเจ้าไปด้วยเลยครับที่คนเข้ามาดูเกิน ๕,๐๐๐ คลิ๊กไปแล้ว ตอนนี้ผมเปิดเวทีคนหนองบัวเอาไว้ให้ทุกท่านไปช่วยกันถอดบทเรียนสะสมไว้ชื่อ ลานปัญญาของคนหนองบัว อีกเวทีหนึ่งแล้วนะครับ พระคุณเจ้าหาโอกาสแวะเวียนไปถอดบทเรียนและบันทึกสะสมไว้ด้วยเป็นระยะๆนะครับ

      แนวการถอดบทเรียน ก็คงเป็นแนวกว้างๆโดยอาศัยจากการมีประสบการณ์จากเวทีนี้และเวทีต่างๆว่า การที่เวทีอย่างนี้ทำให้เป็นแหล่งร่วมกันสร้างความรู้และเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับการปฏิบัติสิ่งต่างๆในชีวิตและการงานได้นั้น หากคนในชุมชนย่อยในหนองบัว จะลุกขึ้นมาช่วยกันสานต่อและช่วยกันทำให้ทั้งหนองบัวเป็นชุมชนสร้างความรู้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ร่วมสร้างสุขภาวะ แล้วก็โยนความรู้และบันทึกเป็นคลังข้อมูลความรู้ที่ช่วยกันสร้างขึ้นจากชาวบ้านไว้ในนี้แล้ว เรามีแนวคิดและบทเรียนหลายอย่างจะถ่ายทอดให้ใช้เป็นแนวเดิน และเป็นแนวเรียนรู้จากการลองทำด้วยตนเอง อะไรและอย่างไรบ้าง

      บทเรียนลักษณะดังกล่าว จะทำให้ชาวบ้านทั่วไป เด็กๆ เยาวชน และคนรุ่นใหม่ เดินเข้าสู่โลกวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยไม่ได้ใช้ความทันสมัยและความตื่นกระแสทางวัตถุนิยมที่ผิวเผินของสังคมเป็นตัวนำทางชีวิต แต่พัฒนาวิถีของผู้รักการเรียนรู้และแสวงหาการมีส่วนร่วมเพื่อการสร้างสุขภาวะของสังคมเป็นตัวนำ มีวัฒนธรรมการสร้างและใช้ความรู้เป็นตัวนำ แล้วเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อสนองต่อวัตถุประสงค์ต่างๆของตนเองและของสังคมอย่างมีคุณค่า มีความหมาย มีเหตุผล พอเพียง มีภูมิปัญญาและความรู้เป็นภูมิคุ้มกันที่ทัดเทียมกับการเสพและบริโภคทางวัตถุ ซึ่งน่าจะเป็นมรรควิถีหนึ่งที่ก่อให้เกิดการผสมผสานวิถีสังคมที่เน้าการพัฒนาทางจิตใจ กับการเน้นพัฒนาทางวัตถุภายนอก ที่มีความพอดีและสมดุลอยู่เสมอ

      ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการทำให้ผู้อื่นและชุมชนอื่นที่สนใจตัวอย่างของคนหนองบัว สามารถได้ตัวประสบการณ์ เพื่อนำไปขายผลและถ่ายทอดสู่การนำไปทำในแหล่างอื่นๆ ทำให้ชุมชนและกลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะสังคมอย่างนี้ มีโอกาสสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้แพร่หลายและดีงามตามกำลังและตามเงื่อนไขของตน ได้มากยิ่งๆขึ้นครับ

      มาร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาแล สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ คนหนองบัว เครือข่ายกัลยาณมิตร และผู้อ่านทุกท่านนะครับ

       ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีปกเกล้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล รวมทั้งสิ่งที่ทุกท่านเคารพนับถือ จงร่วมเป็นขวัญและกำลังชีวิตสำหรับทุกท่าน ให้ทุกขณะและทุกอริยาทบทในชีวิตของทุกท่านจงได้กอปรด้วยพลังแห่งความเป็นสัมมา กร้าแกร่งในพลังปัญญาและปรีชาญาณในการแก้ปัญหาต่างๆ มีพลังแห่งสติ พลังแห่งความตั้งมั่น ตบะ บากบั่น อดทน พลังแห่งความริเริ่มสร้างสรรค์

      มุ่งสู่ความสุขและความศานติ สงบเย็นทั้งกายใจ เจริญงอกงามในการปฏิบัติธรรมแห่งชีวิตทั้งเพื่อผู้อื่นและตนเอง มีความงอกงามก้าวหน้าในการเรียนรู้ในทุกสถาน พึ่งตนเอง พอเพียง มีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาวะสังคม และสามารถเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของหมู่มิตร เพื่อนร่วมงาน ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ให้ได้ปฏิบัติและเรียนรู้สิ่งดีไปด้วยกันอยู่เสมอ

      จำเพาะเวทีของคนหนองบัวนี้ ก็ขอให้เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งพัฒนาบทบาทของทุกท่านที่เข้ามาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกัน ให้ได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีสำหรับนำกลับไปทำการงานและดำเนินชีวิตเหมือนได้หมู่มิตรและที่ปรึกษาหารือให้ชีวิตกอปรด้วยความมีสติปัญญาและการใช้เหตุผลที่พอดี พอเพียง และเหมาะสมแก่เหตุปัจจัยแห่งชีวิตตนอยู่เสมอ ได้ความรอบด้าน มีความรู้ และมีสายตาที่เท่าทันโลกรอบข้าง

      เป็นพ่อแม่ก็ขอให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายผู้คนผู้มีน้ำใจแห่งมิตร มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีความดีงามอยู่ในตนเองอย่างหลากหลายทั่วประเทศในเวทีนี้ และได้เวทีนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะศักยภาพความเป็นครอบครัวของพ่อแม่ เพื่อสามารถเป็นที่ปรึกษาอันเท่าทันโลกแก่ลูก เป็นครูและเป็นผู้นำประสบการณ์ที่ดีมาสู่การเรียนรู้ของลูก เป็นกลุ่มสังคมและเป็นสถาบันอันดับแรกที่สร้างความมั่นคงเข้มแข็งของสังคมอย่างมีพลัง

      หากเป็นเด็กและเยาวชนคนหนองบัว รวมทั้งในท้องถิ่นต่างๆที่ได้เข้ามาเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนองบัว ก็มีความองอาจสง่างาม รอบรู้ทางสังคม มองไกลสู่โลกกว้าง มีปัญญาและความฉลาดต่อการเข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่เห็นประโยชน์สุขของคน ชุมชน และสังคม เป็นฐาน เรียนรู้ความกว้างขวางของโลกรอบข้างอย่างนอบน้อม เคารพผู้อื่น และเห็นภาวะผู้นำของตนเอง มีความเชื่อมั่น แจ่มแจ้ง และชัดเจนในสิ่งที่สังคมของตนมี สามารถแบ่งปัน นำเสนอความแตกต่างให้กับผู้อื่น และสามารถนำการปฏิบัติให้แก่ผู้อื่นด้วยหนทางที่แตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น จากความเป็นตัวของตัวเองได้เสมอ

      หากเป็นคนทำงานท้องถิ่นและคนของราชการ ก็เป็นคนบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ มีภูมิปัญญาพอเพียงแก่การทำการงานสังคมให้รอบคอบ เชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่น ความเป็นสาธารณะของสังคมไทย และความเป็นสากลของโลก เป็นความอุ่นใจของประชาชน เป็นกำลังทางวิชาการเพื่อการสร้างสุขภาวะของชุมชนทุกระดับขึ้นจากฐานชุมชนให้งอกงามและเป็นตัวของตัวเอง ได้มีโอกาสฟื้นฟูและส่งเสริมการเรียนรู้ตนเองของชุมชนให้ยิ่งงอกงาม สนุก ประสบความสำเร็จทีละเล็กละน้อยในการได้สร้างและสะสมพลังความรู้อย่างในเวทีคนหนองบัวช่วยกันให้มากยิ่งๆขึ้น ทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าแห่งชีวิตและมีโอกาสพัฒนาตนเองเพื่อมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ต้องการทำเพื่อผู้อยู่ร่วมกันกับอื่น

      คนหนองบัวทุกท่านที่เข้ามาพัฒนาเวทีคนหนองบัวด้วยกันในทุกเวทีย่อยๆ ก็ขอจงได้ประสบทุกสิ่งในข้างต้น และขอให้ได้ประสบการณ์ที่ดี สามารถร่วมสร้างสรรค์ และทำให้เวทีคนหนองบัวมีความคึกคัก ได้ความเป็นชุมชนและเครือข่ายของคนที่คิดดี ทำดี มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาทั้งเพื่อกลุ่มก้อนของตนเองและเพื่อความเป็นสาธารณะในทุกขอบเขตที่ทุกท่านสามารถนำตนเองเข้าไมีส่วนร่วมได้

      ด้วยพลังความสร้างสรรค์สิ่งดีจากการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติของเราทุกท่านดังกล่าว ก็ขอให้เป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้มีแต่ความสุข มีสุขภาวะสาธารณะ และทุกท่านก็ประสบแต่สิ่งดี ตลอดปี ๒๕๕๓ และตลอดไป ทุกท่าน เทอญฯ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • ต้องขอขอบคุอณอาจารย์วิรัตน์แทนคนหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน สำหรับพรบทนี้เป็นกำลังใจเสริมสร้างความคิดความงดงามที่ดีมาก ๆ ชื่นใจหลาย
      • ให้ทั้งความหวังความตั้งใจความมุ่งมั่นความพากเพียรแก่ทุกคนที่จะได้มีส่วนช่วยกันทำสิ่งดี ๆ
      • ทั้งเชิญชวนตั้งความปรารถาดีสร้างแรงบันดาลใจให้มวลพี่น้องคนบ้านเรามีพลังลุกกันขึ้นมาทำเพื่อท้องถิ่นตน
      • ทั้งมีความมั่นใจอันเต็มเปี่ยมในพลังชุมชนอันมีมากมายมหาศาลที่สามารถนำมาพัฒนาได้อย่างมีส่วนร่วม
      • ก็ขอเป็นกำลังใจอีกแรงหนึ่งให้พี่น้องชาวหนองบัวได้มีพลังใจเปิดมิติใหม่ต้อนรับศักราชปี ๒๕๕๓ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์พัฒนาเวทีคนหนองบัวให้เป็นเวทีสาธารณะเพื่อทุกคนเพื่อสังคมจนสารมารถแบ่งปันสิ่งที่ดีงามเหล่านีสู่โลกภายนอกอย่างมั่นใจและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข.

      ขออนุญาตกล่าวถึงและอ้างอิงถึงพระคุณเจ้า พระมหาแล ที่ คห ๒๖ ในบันทึกหัวข้อ ยายวง ผู้อยู่โดยใจสว่างในโลกมืด ของผมนะครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • ยุคที่ทำนาทำไร่ด้วยการใช้แรงงานงัว-ควาย ชาวบ้านหนองบัวหรือทั่ว ๆ ไปนั้นบ้านจะยกพื้นสูง ข้างล่างทำเป็นคอกควาย ตอนกลางคืนก็สุมไฟไล่ยุง ควันก็อบอวนบริเวณคอกและจะฟุ้งขึ้นไปบนบ้านบ้าง
      • ทว่าคิดเรื่องสุขภาพอนามัยคงจะไม่สอดคล้องนักกับนักอนามัยทั้งหลาย
      • เหตุผลที่มองเห็นน่าจะช่วยป้องกันโจรลักควาย เป็นสำคัญกว่างอย่างอื่น
      • เคยเห็นบางแห่งทำคอกควายนอกตัวบ้าน การทำคอกไว้ใต้ถุนบ้านช่วยให้ไม่ต้องเพิ่มภาระรายจ่ายเป็นการประหยัด และก็ปลอดภัยอีกด้วย
      • อีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็ทำมาแบบนี้หลายชั่วอายุคนแล้ว ก็ยังไม่พบว่าสาเหตุการเกิดโรคภัยไข้เจ็บจากการทำคอกควายไว้ใต้ถุนบ้านเลย
      • อาจมีบ้างเรื่องกลิ่นขี้ควายที่ฟุ้งขึ้นบ้านแต่ไม่มากมายอะไร แถมขี้ควายนี้ก็ทำประโยชน์ได้ เช่น ยาลานนวดข้าว ยากระพร้อมข้าว ยาฝายุ้งข้าว ทำเป็นปุ๋ยใส่นาข้าว และพืชไร่ได้อย่างดี
      • ปัจจุบันขี้งัวขี้ควายเป็นสินค้าทำเงินสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของได้ทุกวัน เจ้าทุยเพื่อนยากของเรา แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างไร เจ้าก็ยังมีประโยชน์อยู่เช่นเดิม.

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

      • ผมเคยศึกษาวิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชาวนาบัว คนทำนาปลูกบัวเป็นพืชเศรษฐกิจ ก็พบว่าการออกแบบและจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ของการอยู่อาศัยทั้งในครัวเรือน กลุ่มบ้าน และชุมชน มีตัวปัญญาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตกับการทำมาหากิน กำกับอยู่เบื้องหลังทั้งนั้นเลยครับ บางคนเขาก็เรียกว่าเป็นลักษณะจำเพาะของภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมชุมชน นักศึกษาทางสังคมและชุมชน ก็จะมองในแง่ความเป็นเทคโนโลยีและความรู้ ที่ผลักดันกระบวนการทางสังคม ทางด้านศิลปะก็จะมองถึงการสร้างความสมดุลและลงตัวขององค์ประกอบทั้งมวลที่ทำให้ปัจเจกและมนุษย์ได้ความรู้สึกว่างาม มีความสุข อิ่มปีติ
      • พอใช้วิธีมองอย่างนี้มองกลับไปอีก อย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึง ก็จะเห็นถึงเหตุผลของการมีคอกควายอยู่ใต้ถุนบ้านรวมทั้งกิจกรรมชีวิตหลายอย่างที่มีความสืบเนื่องกันอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผลเลยนะครับ
      • ในทรรศนะผมแล้ว ผมก็เลยมองว่า ลักษณะอย่างนี้เป็นความสมดุล พอดีกัน พอเพียง ระหว่างรูปแบบการดำเนินชีวิต สิ่งของเครื่องใช้  วิธีคิดกับตัวปัญญา เศรษฐกิจและความสามารถจัดการในเงื่อนไขแวดล้อมของตัว หากทำให้สามารถไปด้วยกัน ตามเหตุผลของมัน ก็คงจะไม่ติดอยู่ที่ว่าจะต้องเป็นเจ้าทุยหรือไม่เจ้าทุย บางสถานการณ์เจ้าทุยก็เหมาะสม บางสถานการณ์ก็ต้องอาศัยอย่างอื่น และบางสถานการณ์ก็ต้องอาศัยทั้งสองอย่าง ผสมผสานกัน 
      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ยึด-ไม่ยึด

      • หัวข้อธรรมบทนี้มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการยึดไม่ยึดดังที่เรารับรู้ข่าวสารและเข้าใจกันในตอนนี้แต่ประการใดทั้งสิ้น
      • แต่เกี่ยวกับคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญมาก มากจนมีนักปราชญ์บางท่านกล่าวสรุปไว้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ซึ่งก็คือพุทธพจน์บทหนึ่งนั่นเอง
      • คำถามจึงมีว่ายึดอย่างไรจึงจะเกิดสุขแก่บุคคลและสังคม การยึดแล้วเกิดสุขได้นั้นท่านให้ยึด

      สัมมาทิฐิ(ความเห็นถูกต้อง)

      พระธรรมวินัย

      ทางสายกลาง

      หลักการ

      เหตุผล

      ศีลธรรม

      กตัญญู

      ส่วนรวม

      ความยุติธรรม

      ต้นแบบที่ดี

      จรรยาบรรณ

      ธรรมาวุธ

      ทรัพย์(ภายใน-อริยทรัพย์)

      • ส่วนยึดแล้วเป็นทุกข์ทั้งตนเองและสังคม ก็คือสิ่งที่ไม่ควรยึดนั่นเอง หมายความว่าถ้ายึดแล้วจะกระทบทั้งตนเองและผู้อื่น ท่านสอนว่าไม่ควรสมาทาน หรือไม่ให้ยึด

      มิจฉาทิฐิ(ความเห็นผิด)

      อัตตาตัวตน

      สังขารทั้งหลาย

      ไสยาศาสตร์ ไร้เหตุผล

      อารมณ์ความรู้สึกเป็นใหญ่

      แนวทางที่สุดโต่ง สุดข้าง สุดขั้ว(กามสุข, ทรมานตน)

      ทรัพย์(ภายนอก-วัตถุสิ่งของทั้งหลาย)

      บทธรรมข้างต้นนั้นสามารถแบ่งเป็นหมวดธรรมได้สองฝ่าย คือธรรมและอธรรม ด้วยประการฉะนี้แหละหนา.

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

      สาธุ สาธุ สาธุ ครับ เป็นทั้งการตั้งสติ และโอกาสในการคิดทบทวน ใคร่ครวญ กับตนเองที่ดีและเหมาะสมกับบรรยากาศแวดล้อมในยามนี้เลยนะครับ

      ผมกำลังจะกราบเรียนพระคุณเจ้าพอดีอยู่ว่า ที่พระคุณเจ้าได้ธนาณัติไปถึงผม ๒,๐๐๐ บาท เพื่อร่วมสมทบทุนทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำกับชุมชนและกลุ่มคนกลุ่มต่างๆนั้น เนื่องจากตอนนี้ มีพี่และกลุ่มปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนากลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่ไปก่อตั้ง ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ที่ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จะทอดผ้าป่าทั้งเพื่อให้ผู้สนใจต่างๆได้มีโอกาสทำบุญ มีส่วนร่วม และระดมทุนไว้ทำกิจกรรมให้ของศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรมให้แก่สาธุชนทั่วไป ผมก็เลยจะนำเอาปัจจัยทำบุญที่พระคุณเจ้าส่งไปร่วมกิจกรรม แบ่งไปร่วมทอดผ้าป่าเพื่อให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สาธุชนต่อไปตามเจตนารมย์ของพระคุณเจ้า ๑ พันบาทนะครับ แล้วผมก็จะร่วมสมทบด้วยอีก ๑ พันบาท ร่วมกับคนอื่นๆซึ่งผมได้ตั้งกล่องรวบรวมความศรัทธาเพื่อตั้งกองผ้าป่าไว้ในที่ทำงานของผม อาทิตย์นี้ก็จะรวบรวมไปสมทบกับกองผ้าป่าจากที่อื่นๆครับ ส่วนที่เหลืออีก ๑ พัน จะนำไปร่วมทำกิจกรรมให้เด็กๆกับชุมชนที่บ้านหนองบัวนะครับ จึงนมัสการกราบเรียนและขออนุโมทนาในทานและบุญกุศลของพระคุณเจ้าด้วยเมตตาอันไม่จำกัดในครั้งนี้ ด้วยเทอญ

      การพิมพ์
      เพื่อให้มีรูปแบบการจัดบรรทัดอย่างที่เราต้องการ
      รวมทั้งให้ข้อความดูสั้น มีกำลังใจอ่าน
      อีกทั้งเป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับเขียนกลอน คติพจน์ โศลก
      อย่างรูปแบบที่พระคุณเจ้าเขียนนั้น
      หากบรรทัดชิดกันด้วย ก็จะทำให้สื่อกลุ่มความคิด
      อีกทั้งทำให้หน้าจอไม่ยาวด้วย
      ผมได้ลองหาวิธีทำดู ก็เลยได้วิธีที่จะช่วยได้
      อย่างที่กำลังพิมพ์ในส่วนนี้ด้วยน่ะครับ

      อย่างบรรทัดนี้ จะเป็นการพิมพ์ พอเราจะเปลี่ยนบรรทัดก็กดปุ่มที่คีบอร์ด ปุ่ม Enter เลย

      โดยวิธีนี้ แต่ละบรรทัด

      ก็จะเว้นห่าง ซึ่งจะเหมาะกับการเว้นบรรทัดสำหรับขึ้นย่อหน้า

      หากจะทำให้ชิดบรรทัด
      พอต้องการขึ้นบรรทัดใหม่ ก็กดปุ่ม shift ค้างไว้แล้วก็กดปุ่ม Enter ๑ ครั้ง
      บรรทัดก็จะชิดกัน ทำให้เราจัดหน้าและข้อความ
      เป็นกลุ่มข้อความได้ดีขึ้นครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • ขออนุโมทนาบุญที่อาจารย์แจ้งให้ทราบ
      • ส่วนการเขียนนั้นเดี๋ยวจะลองทำตามที่อาจารย์ได้ช่วยแนะนำ
      • ก็ยังนึกอยู่ว่าทำไมข้อความสั้น แต่หน้ากระดาษยาวมาก
      • เจริญพร

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

                                  

      ภาพวาดศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรมครับ

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • เห็นกุฏิกรรมฐานและมีทางเดินจรงกรมหลังนี้แล้ว ทำให้นึกถึงภาพธรรมชาติบรรยากาศวัดคลองสมอที่หนองบัว เมื่อตอนเป็นเด็ก
      • ตอนนั้นวัดคลองสมอมีหลวงพ่อธานีเป็นเจ้าอาวาส มีพระและแม่ชีจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก ในบริเวณใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นเขามรกต เขาพระ หรือเขาสูงก็ตามแถบนี้ล้วนแต่ยังมีสภาพป่าไม้ค่อนข้างหนาแน่นทีเดียว
      • ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ชื่อนี้ได้ทั้งความหมายที่ดีในทางธรรมและมีบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติอันเหมาะสมแก่การปฏิบัติภาวนาอย่างยิ่ง
      • ขอให้หมู่คณะของอาจารย์ที่มีความตั้งใจเสียสละช่วยกันสร้างสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ทุกท่านจงมีส่วนได้ในธรรมาภิสมัย ตลอดถึงมีความเบิกบานสดชื่นอันเกิดแต่ธรรมด้วยกันทุกคนตลอดไป
      • เจริญพร

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

      ตอนนี้มีความร่มรื่นมากทีเดียวครับ เมื่อปีที่แล้วในช่วงเริ่มต้นบุกเบิก มีแต่ทุ่งโล่ง ครั้งนั้นผมก็ได้ไปร่วมปลูกต้นไม้ ไปอีกรอบต้นไม้ที่ไปช่วยกันปลูกก็ยังไม่ค่อยโตเลยครับ แต่พวกต้นไผ่รอบๆกุฎิกับทางเดินจงกรมนี้ งอกงามเติบโตจนร่มรื่นอย่างกับอยู่ในป่า

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
      • วันนี้ได้พูดคุยกับหลวงตาในวัดผู้มีอายุท่านหนึ่ง ท่านได้รำลึกถึงอดีตเมื่อวัยเด็กซึ่งผ่านมาแล้วเกือบ ๘๐ ปี
      • แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ หลายอย่างยังอยู่ในความทรงจำเหมือนกับเรื่องนั้น ๆ ผ่านมาไม่นาน
      • ท่านเล่าว่าบ้านอยู่แถว ๆ ห้าแยกโคกมะตูมในเมืองพิษณุโลก เมื่อก่อนเมืองสองแควแห่งนี้มีที่เลี้ยงควาย-วัวอยู่หลายแห่ง วัดใหญ่ (วัดพระพุทธชินราช) ป่าช้าวัดใหญ่(โรงเรียนพุทธชินราชวิทยา) วัดโคกมะตูม วัดน้อย(โรงเรียนเทศบาลวัดน้อย-ท.๑) ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สนามบิน
      • ช่วงนี้ท่านบอกว่าประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๗-๘ ขณะนั้นหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดใหญ่ท่านเป็นคนใจดีมาก ๆ เมื่อมีเด็กมาเลี้ยงวัว-ควายในวัด ท่านมีวิธีเลี้ยงขนมเด็ก ๆ ก็ง่าย ๆ คือต้องให้เด็กน้อยทำงานก่อน คือให้เด็กช่วยนวดตัว บีบแขน บีบขา เหยียบหลัง –เอว
      • หลวงตาท่านจำชื่อจริงไม่ได้แล้ว แต่ชาวบ้านเรียกท่านว่าท่านเจ้าคุณวรญาณ(เป็นเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลกด้วย) ด้วยความเป็นคนใจดีมีเมตตามากนั่นเอง เวลาฉันข้าวคนก็กินไปด้วย แมว หมา ก็กินไปด้วยกันกับคน คือ ขณะที่ท่านฉันข้าวนั้น ท่านก็ป้อนข้าวแมว ป้อนข้าวหมาให้ได้กินไปพร้อม ๆ กันด้วยเลย
      • ท่านเล่าอีกว่าแม่น้ำน่านช่วงวัดน้อย(โรงเรียนเทศบาล ๑ ท.๑) จะตื้นเขินและแคบวัว-ควายสามารถเดินข้ามได้ ข้ามไปอีกฝั่งก็เป็นค่ายทหารคือค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในปัจจุบัน บางครั้งก็ไล่วัวข้ามสะพานนเรศวรหน้าวัดใหญ่
      • ท่านบอกว่าทหารก็มีวัว เมื่อชาวบ้านชาวนาไม่วัวใช้งาน ทำนา ก็สามารถเช่าวัวจากค่ายทหารได้
      • วัดใหญ่เมืองพิษณุโลกเพิ่งจะทำพื้นลานวัดเป็นคอนกรีตเมื่อปี ๒๕๔๖-๗ นี่เอง ก่อนนั้นก็เป็นสนามหญ้า
      • เรื่องนี้ทำให้นึกถึงวัดใหญ่(หนองกลับ)ที่เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วนี่เอง ก็มีวัวหลวงพ่ออ๋อยอยู่ในวัดหลายตัว ในหนองบัวนั้นยังมีคนจำวัวหลวงพ่ออ๋อยได้หลายคนโดยเฉพาะคนที่มีวัยสี่สิบปีขึ้นไป
      • แต่เมื่อมาได้ยินเรื่องคนเลี้ยงวัว-ควายที่วัดใหญ่พิษณุโลก คนที่จะจำเรื่องนี้ได้ต้องมีอายุอย่างน้อยที่สุดน่าจะอายุ ๗๐ ขึ้นไปทีเดียว สถานที่เลี้ยงวัวของหลวงตาที่พิษณุโลกเมื่อในอดีต ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญสูงสุดในพิษณุโลกบางแห่งเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองประวัติศาสตร์ เมืองแห่งนักรบหรือถิ่นกำเนิดสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทย
      • ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกย้อนหลังตามคำบอกเล่าของหลวงตาดูว่า เรื่องนี้เหมือนกับเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง ลูกหลานอาจจะนึกในใจว่า เป็นไปได้หรือ ห้าแยกโคกมะตูมพิษณุโลกเคยเป็นที่เลี้ยงควาย ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่นานนมกาเลมากนัก ก็แค่ ๖๐-๗๐ ปีเอง
      • ถ้าเป็นคนบ้านนอกที่มีอายุสักหน่อยก็คงเห็นตามไปด้วยได้ไม่ยาก เพราะเป็นคนร่วมยุคร่วมสมัยดังกล่าว
      • แต่ลูกหลานคงใช้จินตนาการอย่างมากถึงจะพอมองเห็นเค้า สาเหตุที่นึกไม่ออกก็ด้วยว่าเขาไม่เคยเห็นควาย ไม่รู้จักวัว-ควาย ขออภัยถ้าจะพูดว่ารู้จักแต่อย่างเดียวเท่านั้น คือรู้จักแต่เคยได้กินเนื้อวัว-ควาย
      • ผู้เขียนเองก็ทึ่งและรู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้จากผู้เฒ่าผู้คร่ำหวอดประสบการณ์แห่งชีวิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้การศึกษาของท่านจะจบแค่ ป.๒ ก็ตาม.

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

                                 

      ผมเลยลิงก์ เรื่อง คนเผาถ่าน ไอ้เป๋หนองบัว กับวัวหลวงพ่ออ๋อย ที่พระคุณเจ้าพูดถึงมาฝากท่านผู้อ่านไปด้วยเลยนะครับ เรื่องทำนองนี้เป็นความงดงามของชีวิตในการอยู่ร่วมกัน เหมือนจิตวิญญาณและลมหายใจของสังคม ที่ผู้คนช่วยกันสร้างขึ้น หากเป็นประวัติศาสตร์และเรื่องราวของสังคม ก็เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน นำมาเรียนรู้และทบทวนหาความหมาย ก็จะทำให้ทุกชุมชนเห็นสิ่งที่มีอยู่ของตนเองมากมาย มีเรื่องราว มีความทรงจำ มีรากเหง้า

      พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

      ภัยแล้ง - หน้าแล้ง

      ช่วงนี้เห็นข่าวภัยแล้งไม่มีน้ำดื่มเกิดขึ้นในหลายจังหวัดเกือบทุกภาคของประเทศ
      ถ้าสมัยที่ยังเป็นเด็กและที่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หน้าแล้งก็ตักน้ำเข็นน้ำกันเสมอมาเพราะที่บ้านหนองบัว-หนองกลับนั้น เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็เข้าหน้าแล้งน้ำก็แห้งหมดพอดี

      จะยังเหลืออยู่บ้างก็ในลำคลองที่ไกลบ้านมากๆ เช่นคลองห้วยถั่ว ถ้าไปเลี้ยงควายถึงคลองนี้ก็แสดงว่าควายมีน้ำกินและได้นอนน้ำอย่างสบายเพราะน้ำลึกท่วมหลังควาย แต่พอถึงเดือนสี่เดือนห้า (มีนาคม-เมษายน)หญ้าในทุ่งนาก็แห้งตายหมด คลองก็เหลือแต่น้ำไม่มีใครนำวัวควายไปเลี้ยงกันแล้ว

      ชาวบ้านก็เลี้ยงกันที่แถวๆ ใกล้บ้าน น้ำในหนองสาธารณะแห้ง หนองน้ำในทุ่งนาก็แห้ง
      วัวควายที่เลี้ยงใกล้บ้านก็กลับมากินน้ำที่บ้าน เพราะทุกบ้านมีลางไม้ สำหรับใส่น้ำไว้ให้วัวควายโดยเฉพาะ ลางไม้นี้ต้องยาวหน่อยอย่างน้อยก็วาสองวา(๒-๔ เมตร) ลางยาวจุน้ำได้มากและควายกินกันได้หลายตัว เรียงแถวกินกันหัวเป็นจุกเลย มีบางตัวหวงเมื่อกินแล้วจะเบียดตัวอื่นให้ชิดริมลางเลยทีเดียว สงสัยหิวจัดกลัวน้ำไม่พอกิน

      กิจกรรมหน้าแล้งก็จะเกิดขึ้นที่สระน้ำในหนองบัวหนองกลับทุกแห่ง เช่น สระน้ำวัดเทพฯสระน้ำวัดหนองกลับ สระน้ำเกาะลอย สระกำนันแหวน สระกำนันเทอญ ต้องตักน้ำ หาบน้ำ เข็นน้ำจากสระดังกล่าวนี้ ตั้งแต่เช้ามืดเพราะการตักน้ำเช้ามืดดีอย่างหนึ่งคือไม่ร้อน ไม่เหน็ดเหนื่อยมาก นี่ตักน้ำให้งัว-ควาย

      ส่วนน้ำกินสำหรับคนบ้าง ก็ต้องตื่นไปตักน้ำกันแต่เช้ามืดอีกเหมือนกันโดยไปเข้าคิวจองน้ำบ่อประจำหมู่บ้าน ใกล้บ้าน ถ้าคนเยอะก็วางถังน้ำเรียงลำดับก่อนหลังแล้วกลับมาทำงานอื่นที่บ้าน พอคาดคะเนว่าถึงคิวของตัวก็มาที่บ่อน้า บ่อน้ำซึมนี่ก็ซึมสมชื่อคือซืมทั้งคืนก็ได้น้ำไม่กี่หาบ เมื่อมารอกันหลายๆหาบหลายเจ้า เจ้าแรกก็ตักสบายหน่อยเพราะน้ำเยอะ คนต่อๆมาก็ต้องตักทีละขัน ก้นบ่อลึกเอื้อมช้อนน้ำไม่ถึง ก็ใช้ไม้ไผ่ลำเล็กๆยาวประมาณช่วงแขนเรานี่แหละ ผ่าปลายไม้เท่าความลึกของขันน้ำเพื่อให้เสียบขันน้ำแน่นได้พอดี ก็ใช้ตัก-ช้อนน้ำทีละขัน

      ก็เป็นอย่างนี้มาแต่โบราณกาลเพราะหนองบัวหนองกลับเป็นบ้านดอนไม่มีแหล่งน้ำเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ มีเพียงแค่สระน้ำวัด สระน้ำสาธาณะ บ่อน้ำซึม
      ส่วนคนในตลาดหนองบัวก็ใช้น้ำสระวัดหลวงพ่ออ๋อยกันทั้งตลาด จึงมีอาชีพเข็นน้ำขายเกิดขึ้น เพื่อขายให้กับคนในตลาดหนองบัวด้วยเหตุนี้แล

      ฉะนั้นเมื่อเห็นข่าวภัยแล้ง ขาดน้ำดื่มในหลายจังหวัดจึงไม่ค่อยแปลกใจมากนัก ถ้าขาดน้ำจริงก็ไม่น่ากังวลอะไร เพราะสมัยนี้ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีรถกันแล้วรถกระบะ รถอีแต๋น รถอีตุ๊ก วิ่งไปรับน้ำที่ทางการมาแจก หรือไปเข็นน้ำที่แหล่งน้ำ ถึงจะไกลก็ไม่ลำบากมากมายอะไร เทียบกับเมื่อก่อนแล้วยังห่างกันไกล เพราะต้องหาบน้ำกันจนบ่าด้านบ่าแตกเลยเชียว.

      เดี๋ยวนี้จะเดือดร้อนเพราะภัยแล้งแตกต่างจากอดีตหรือไม่ครับ เพราะไม่มีการใช้แรงงานวัวควายแล้ว เมื่อก่อนพอถึงหน้าแล้ง หากมีการแล้งมาก ก็จะหาน้ำให้วัวควายได้ลำบาก เดือดร้อนไม่น้อยไปกว่าการหาน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับคนเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้คนไปดื่มน้ำจากแหล่งอื่นกันหมดแล้ว

      นี่หัวข้อนี้ของพระคุณเจ้าคนเข้ามาอ่านกว่า ๖ พันแล้วหรือครับเนี่ย เป็นความเคลื่อนไหวที่ดีมากเลยนะครับ หากเป็นหนังสือพิมพ์หรือสื่อท้องถิ่น ก็ต้องนับว่าได้ทำหน้าที่สื่อสารเรียนรู้และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นส่งเสริมให้เรื่องของชุมชนหนองบัว ชุมชนเล็กๆ ในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เป็นหัวข้อความสนใจให้เป็นโอกาสที่ผู้คนจะได้เข้าถึงความเป็นส่วนรวมด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นวิถีชีวิตของประชาชนในสังคมของตน

      พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
      ClassStart
      ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
      ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
      ClassStart Books
      โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท