๗๗.Ignite : เวทีจุดประกายร่วมเปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลังสร้างสรรค์เชิงบวกของปัจเจก


เย็นวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ ผมชวนน้องๆจากหลายหน่วยงานไปงาน Ignite Thailand ครั้งที่ ๒ ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาศัยรถของน้องคนหนึ่ง ณัฐพัชร์ ทองคำ ขนกันไป ๔ คนจากพุทธมณฑล นครปฐม ตรงไปยังที่จัดงานอย่างกระหยิ่มยิ้มย่องด้วยอารมณ์ของบ้านนอกเข้ากรุงเลยทีเดียว งานจะเริ่ม ๖ โมงเย็นถึง ๓ ทุ่ม เริ่มลงทะเบียน ๕ โมงเย็น แต่แล้วรถก็เสียกลางทางที่ใกล้ ๔ แยกประปาแม้นศรี ก่อนถึงโรงพยาบาลหัวเฉียวนิดเดียว เหลือไม่ถึง ๓๐ นาทีก็น่าจะถึงจุฬา

ความคึกคักกระปรี้กระเปร่าที่นานครั้งจะได้เข้าไปเปิดหูเปิดตากับเขาในกลางเมืองกรุงเทพฯ พลันก็กลายเป็นการผจญภัยไปกับอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ เปลี่ยนเรื่องราวต่างๆให้ดำเนินไปเป็นอีกคนละเรื่อง หลายอย่างในชีวิตของเรานั้น มีไม่น้อยที่มักเป็นอย่างนี้ ทว่า ความเป็นศิลปะและท่าทีต่อชีวิตที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ก็ทำให้สิ่งเดียวกัน สามารถมีหนทางดำเนินไปในวิถีที่แตกต่างกันได้

สาเหตุเกิดจากท่อหม้อน้ำขาด กำลังคุยกันอย่างสนุก ไอเดียแตกมากมาย พลันก็เห็นควันลอยออกมาจากกระโปรงหน้ารถตลบอบอวล ที่สุดก็ช่วยกันเป็นทีมเข็นรถและนั่งแกร่วอยู่ริมถนน หาประสบการณ์ที่ให้ความประทับใจกับความเป็นจริงอีกแบบ ผมยืนกำหนดใจให้อยู่กับปัจจุบันขณะ มองรถราวิ่งขวักไขว่ ค่อยๆลดความแออัดจอแจ บางตาไปทีละเล็กละน้อย.....กลางวันกับกลางคืนของกรุงเทพฯช่างต่างกันราวกับเป็นสองภพภูมิบนพื้นที่ชีวิตเดียวกัน

ร้านรวงรอบข้างเริ่มปิดหมดแล้ว เราช่วยกันเข็นรถไปถึงหน้าร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่เจ้าของยังนั่งปล่อยอารมณ์ผ่อนคลายท้ายวัน คงรอให้หมาดเหงื่อก่อนปิดร้าน เลยขอจอดรอให้ช่างและทีมจากศูนย์บริการส่งรถยกไปถึง นั่งคุยกัน ซื้อลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึกปิ้ง ไส้กรอก ไปนั่งกินและคุยกัน ได้ความประทับใจไปอีกแบบ โดยเฉพาะได้สัมผัสกับน้ำใจและความเอื้ออาทรแห่งมิตรจากเจ้าของร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่พวกเราขอไปอาศัยจอดหน้าร้านเพื่อจะได้มีแสงไฟในยามวิกาล รวมทั้งได้รับรู้ความอิ่มเต็มและความเมตตากรุณาของชีวิตผู้คนตัวเล็กๆในท่ามกลางผู้คนในเมืองใหญ่อย่างเมืองหลวง ที่สังคมมักมองข้ามเขาไป

ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ให้ข้อแนะนำมากมายอย่างผู้ที่มีประสบการณ์ จนทำให้ทุกอย่างดูเป็นเรื่องไม่น่าตกใจ ไม่น่าวิตกกังวล เขาไม่ได้เป็นเจ้าของตึกอย่างที่ผมคิดเอา ทว่า เป็นเพียงผู้ที่มาเช่าซื้ออาคารจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วยค่าเช่าต่อเดือนไม่มากนัก แต่เขาก็ทำอยู่ทำกินอย่างพออยู่ได้ 
             "..มันไม่ค่อยได้เงินหรอกพี่..ผมอยู่กันสองคนกับลูกน้อง" ฝ้าบุเพดานชั้นล่างห้องแถวของเขาเปื่อยยุ่ยห้อยกะรุ่งกะริ่งและขาดเป็นรูใหญ่กว่ากระด้ง ๔ รู ผมรู้จักกระดานชานอ้อยและแผ่นเมโซไนต์จากการใช้เป็นกระดานเสก๊ตช์ สภาพอย่างที่เห็นนี้บ่งบอกถึงความอับชื้น ทรุดโทรม เก่าแก่ อ่านได้ว่าผู้อยู่อาศัยต้องอยู่ในสภาพกว่าจะผุพังตามบุญตามกรรมอย่างนี้มากว่า ๔๐-๕๐ ปี
             "..คนแถวนี้และคนที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกไม่มีเงิน.." เขานั่งอยู่บนเก้าอี้หน้าร้านและพูดสบายๆอย่างต่อเนื่อง กวาดสายตาไปตามความเคลื่อนไหวบนถนนเบื้องหน้า
             "..เป็นลูกจ้าง คนส่งของ หรือไม่ก็ขับรับจ้างอยู่แถวนี้ทั้งนั้น..." ผมกวาดตามองเพื่อเห็นสภาพแวดล้อมที่เขากล่าวถึง ย่านนั้นเป็นย่านแม้นศรี บ้านบาตร หัวลำโพง จักรวรรดิ คลองถม ย่านที่เชื่อมต่อกับ China Town ของกรุงเทพฯ เมืองมหานคร ๑ ใน ๒๐ ของโลก
             "..พอซ่อมแล้ว ส่วนหนึ่งหากจะคิดเงินมากเขาก็ไม่ค่อยมีจ่าย กับอีกพวกหนึ่ง เสียมาจนเอาไปใช้ทำมาหากินไม่ได้ เช่น พวกยางแตก เครื่องไม่ติด จะไม่ซ่อมให้เขา เขาก็ไม่มีรถขับไปทำมาหากิน แล้วเข็นมาจนถึงนี่แล้ว จะไปยังไงไหว ก็ต้องช่วยกันไปอยู่เรื่อย.."  
             "..หลายครั้งซ่อมให้แล้วเขาก็ไม่มีเงินจ่าย ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง..." ร้านของเขาอยู่ใกล้สี่แยก หากทำมาค้าขายอย่างอื่นก็คงจะเป็นทำเลทำมาหากินและค้าขายขึ้น ทว่า เมื่อมาทำเป็นร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์แล้ว ความเป็นทำเลก็กลับไปหนุนเหล่ามอเตอร์ไซค์เสียตามสี่แยก ที่โดยมากแล้วก็มักจะเป็นมอเตอร์ไซค์คนยาก ให้ไหลมาเทมาหาเขา!!! หมู่คนยากก็เลยยิ่งกลับมาพอกพูนความยากให้กัน คุณค่าและความหมายอย่างอื่นต่อชีวิตนเองเท่านั้นที่ทำให้ยังพออยู่ได้ 

ได้ฟังและได้รับรู้เรื่องราวความเป็นจริงอย่างนี้ของการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมเมืองหลวงแล้ว ด้านหนึ่งก็รู้สึกสะเทือนใจ ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์เนื้อตัวมอมแมม ทั้งเสื้อผ้าและร่างกายของเขาเต็มไปด้วยคราบน้ำมันเครื่อง หน้าตาดำกร้านทว่าดูแกร่งและหนักแน่นต่อชีวิต ได้ยินการถ่ายทอดความเป็นมาเป็นไปบนชีวิตการทำมาหากินของเขาแล้ว ก็ให้รู้สึกนับถือและเห็นความงดงามยิ่งใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ในมุมเล็กๆของชีวิต ผมแบ่งปันนำลูกชิ้นปิ้งไปมอบให้เขาหนึ่งไม้
             "...นั่งกินเล่นๆดูรถวิ่งในถนนเพลินๆก่อนกลับบ้านน่ะพี่.." 
             ผมบอกด้วยท่าทีอ้อนวอนให้เขาตอบรับน้ำใจ
             "...ไม่หรอก เกรงใจ..."
เขาปฏิเสธอยู่หลายครั้งก่อนในที่สุดจะรับไปนั่งกินพร้อมๆไปกับพวกเรา ดูเอาเถอะน้ำใจคน เขาเองนั้น เมื่อพูดถึงการให้แก่คนอื่น เขาก็พูดจนเหมือนเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้อย่างง่ายดายสำหรับตัวเขา ทว่า เพียงจะให้เขารับลูกชิ้นปิ้งจากผมสักหนึ่งไม้ ผมกลับต้องขอร้องให้เขาเป็นผู้รับบ้างอย่างมากมาย ด้านที่งดงามและสวนทางกับกระแสหลักของสังคมเมืองกลับสะท้อนอยู่ในน้ำใจของคนตัวเล็กๆอย่างเขา

พลังสร้างสรรค์และพลังเชิงบวกอย่างนี้ มีอยู่จริงในปัจเจกทุกคน แม้ในสังคมเมืองที่ดูเหมือนว่าพรั่งพร้อมด้วยความเป็นวัตถุนิยม

การเสียโอกาสอย่างหนึ่ง บางทีก็กลายเป็นโอกาสได้ทำและได้สร้างความสร้างสรรค์สิ่งดีๆอีกอย่างหนึ่ง พวกเราได้นั่งปรึกษาหารือเรื่องงาน ได้นำเอาหนังสือดีๆมาแบ่งปัน ได้ทบทวนชีวิต ได้คุยสัพเพเหระซึ่งทำให้กลุ่มสนทนากลายเป็นเครื่องมือสอดส่องเห็นความเคลื่อนไหวของโลกกว้าง ไม่ได้ไปเวที Ignite Thailand ครั้งที่ ๒ นี้ก็ไม่เป็นไร ก็กลับมีโอกาสได้ประสบการณ์ที่ดีไปอีกแบบที่ก็คงหาไม่ได้ง่ายๆ

ที่สุด จากยังไม่ถึง ๕ โมงเย็น ก็รอกันไปจนเกือบ ๓ ทุ่ม จึงได้รถยกจากศูนย์บริการที่ดูแล้วน่าจะอยู่บนเส้นทางที่จะทำให้ไปรับรถกลับได้โดยสะดวกที่สุด ได้เห็นกิจกรรมชีวิตที่เคลื่อนไหวโลกและเคลื่อนไหวสังคมในเวลากลางคืน พวกเขาทำงานหมุนเวียนกัน ๒๔ ชั่วโมง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสร้างความสมบูรณ์ให้แก่สังคม ในยามที่ผู้คนส่วนใหญ่ได้พักผ่อนหลับไหล เมื่อลากรถไปจอดที่ศูนย์บริการตามที่ต้องการแล้วก็เป็นอันโล่งใจกันไปเปราะหนึ่ง เลยก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ซึ่งก็คงจะเป็นเวลาไล่ๆกันที่เวที Ignite เลิกพอดี คิดๆไปก็ดีเหมือนกัน เพราะถึงแม้ไม่ได้ไปหาความบันดาลใจจาก Igniters บนเวที Ignite อย่างที่ตั้งใจจะไปกัน แต่เราก็ได้ประสบการณ์ชีวิตและทำความบันดาลใจให้แก่ตนเองได้มากมาย และบางแง่มุมก็ได้ความเป็นจริงของชีวิตดีกว่าไปนั่งชมจากผู้อื่นเสียอีก

  Ignite   เวทีจุดประกายพลังเชิงบวกของปัจเจก

เวที Ignite ที่พวกเราตั้งใจแต่เดิมว่าจะไปนี้ เป็นเวทีพูดและนำเสนอจินตนาการความสร้างสรรค์ต่อสังคม สำหรับคนทั่วไปจากสาขาต่างๆซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ดำเนินชีวิต ทำการงาน และมีความริเริ่มต่างๆในกระแสทางเลือก เป็นเวทีที่ส่งเสริมการคิดและการแสดงออกทางความริเริ่มสร้างสรรค์ที่ตกผลึกมาจากประสบการณ์ของแต่ละคน จัดเวทีเหมือนกับเป็นเวทีแสดงปาฐกถาสาธารณะ ผสมผสานกับความเป็นมืออาชีพในการจัดเวทีมหรสพและเวทีสำหรับแสดงออกทางความริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ที่มีใจรักต่อการทำงานเชิงสังคม

ผู้ที่ขึ้นไปนำเสนอจะได้รับการเสนอชื่อและเลือกสรรค์อย่างพิถีพิถัน จากนั้น จะไปแสดงออกร่วมกันในเวที Ignite ซึ่งจะจัดขึ้นไปตามประเด็นต่างๆและโดยมากจะทำให้เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับแแหล่งที่จัดด้วย เช่น Ignite Chiang Mai, Ignite Bangkok, Ignite Thailand เหล่านี้เป็นต้น

ผู้ประสานงานและเป็น Administrative Project Manager คือ คุณพีรนุช สุวรรณรัตน์ มือ IT ของ บริษัทบัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ทำเว็บ krapook.com เป็นมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาประชากรศึกษา รุ่นน้องผมเอง

ผู้ได้รับเลือกสรรและเชิญขึ้นไปนำเสนอสิ่งต่างๆในเวที Ignite เรียกว่า Igniter หรือ 'ผู้จุดประกาย' 'คนทำให้ไฟติด' 'คนสุมไฟ' 'คนมีไฟ' 'คนยั่วยุ ท้าทาย โหมแรงไฟ' ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในวิถีผู้นำ ที่เรียกว่า Authentic Leadership ผู้นำที่มีอิทธิพลทางวิธีคิดและจิตใจ นำโดยไม่นำ นำโดยเป็นผู้เสริมสร้างพลังใจและเป็นความบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น หรือ Lead from behind

Igniter แต่ละคนจะทำงานร่วมกับทีมจัดเวที Ignite เพื่อเตรียมหัวข้อ แนวคิด และสไลด์หรือพาวเวอร์พ๊อยต์คนละ ๒๐ ภาพ และจะมีเวลาให้พูดนำเสนอเพียงคนละ ๕ นาที พูดเรื่องที่คิดว่าดีที่สุดในชีวิตในขณะนั้น ภายใน ๕ นาที ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วก็จะมีเวลา ๑๕ วินาทีต่อ ๑ ไสลด์ ...พูดให้ดีที่สุด...มีเรื่องราวมากที่สุด ทว่า ด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุดและในสภาพแวดล้อมที่กดดันที่สุด !!!!! ทั้งท้าทายและเป็นเวทีสร้างคน บ่มสร้างวิถีผู้นำโดยสถานการณ์ และเป็นวิถีผู้นำภาคพลเมืองที่น่าสนใจมากอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวิถีผู้นำและภาวะผู้นำของปัจเจกทุกคนที่ไม่มีพลังอำนาจและเครื่องมือทางอำนาจอื่นใด นอกจากพลังทางสติปัญญา พลังของการสื่อสารและนำเสนอถ่ายทอด พลังของสื่อเฉพาะกิจและสื่อขนาดเล็กที่เข้าถึงและปฏิบัติการได้ในวิถีชีวิตของปัจเจก พลังคุณธรรมต่อส่วนรวมและพลังทางจิตใจ ส่งเสริมความเป็น Active Citizenship ของประชาชนทุกคนอยู่ในตนเอง

เวทีหนึ่งๆจะมี Igniter หรือผู้จุดประกาย เวทีละ ๑๐-๒๐ คน ก่อนการพูดและนำเสนอของ Igniter ซึ่งจะต่อเนื่องกันไปนั้น ก็จะมีการแสดงในเชิงสร้างสรรค์ และอาจจะมีคนอื่นๆหมุนเวียนกันขึ้นไปพูดคุยรอให้คนมาพร้อมกันก่อน ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ารายการจริง เมื่อมองจากองค์ประกอบทั้งหมดแล้ว Ignite จึงเป็นเวทีจุดประกายพลังเชิงบวกในตัวของปัจเจก รวมทั้งเป็นเวทีการแสดงออกถึงความสร้างสรรค์ของพลเมือง นำเอาพลังความตื่นตัวกับสำนึกต่อสังคมและความต้องการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้คนทุกสาขาอาชีพและทุกระดับชั้นด้วยวิถีทางที่สร้างสรรค์ ไม่รุนแรง ไม่แบ่งแยก ให้มาบรรจบกัน สร้างกิจกรรมชีวิตนอกบ้านที่เกิดขึ้นในพื้นที่สังคมเมือง ให้สะท้อนเนื้อหาการครุ่นคิดต่อสังคม ทั้งในบริบทความเป็นท้องถิ่นและความเป็นโลกาภิวัตน์

อาจจัดได้ว่า Ignite เป็นเวทีสร้างสรรค์การเมืองเชิงวัฒนธรรมของภาคพลเมืองในมิติใหม่ๆและเคลื่อนไหวในประเด็นส่วนรวมทั้งของท้องถิ่นและระดับโลก เวทีแต่ละครั้งจะเป็นเวทีหลากรส หลากประเด็น มีเพียงแนวคิดหลักหรือมี Theme ร่วมกันเท่านั้น บ้างก็สะท้อนไปสู่ประเด็นสุขภาพ บ้างสะท้อนสู่ประเด็นการศึกษาเรียนรู้ ความบันดาลใจแห่งชีวิต คุณค่า ความหมาย และคุณภาพแห่งชีวิต รวมทั้งจะมีการกำหนดวาระจัดเวที Ignite ร่วมกันทั่วโลกในเวลาเดียวกัน ตามหัวข้อต่างๆอยู่เป็นระยะๆ

เวที Ignite กระจายอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก เป็นรูปแบบกิจกรรมและแบรนด์ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ใครต้องการจัดและเป็นเครือข่ายเวทีเชื่อมโยงกัน ก็สามารถริเริ่มและออกแบบเวทีได้อย่างไม่จำกัด รวมทั้งสามารถออกแบบโลโก้ได้ด้วยตนเองเพียงขอให้มีคำว่า Ignite และ Central-Connector รูปสายเชื่อมต่อสัญญาณเครือข่ายสื่อสาร ลักษณะเหมือนเกสรดอกไม้แตกออก ๓ ช่อ อยู่ในโลโก้ด้วยเท่านั้น เมื่อจัดขึ้นแล้วก็ส่งข้อมูลไปเผยแพร่ร่วมกันและแจ้งให้ผู้เป็นเจ้าของทราบ ผู้ที่ริเริ่มเป็นชาวต่างประเทศ* ผู้ที่นำมาจัดในประเทศไทยคือ Web Master ของ krapook.com และ sanook.com ได้รับการตอบรับและเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

เวที Ignite ครั้งหนึ่งๆจะใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมงและจะเลือกจัดในช่วงเวลาหลังเลิกงานเพื่อให้สอดคล้องกับแบบแผนชีวิตการทำงานของคนชั้นกลางในสังคมเมือง เวที Ignite Thailand ครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวทิยาลัยในครั้งนี้ มี Igniters ที่โดดเด่นและน่าสนใจหลากหลายสาขา คลิ๊กเข้าไปดูได้ที่นี่

.......................................................................................................................................................................

   เชิงอรรถ    :

* เวที Ignite ริเริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๙ (คศ.๒๐๐๖) ที่เมือง Seattle สหรัฐอเมริกา โดย แบรดดี้ ฟอเรสต์ และเบร เพตติส ( Brady Forrest and Bre Pettis) โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัททำสื่อและแมกกาซีน O'Reilly Media และ MAKE magazine รูปแบบของเวที Ignite นับแต่ก่อเกิดขึ้น มีการดำเนินการด้วยบริษัทธุรกิจเอกชนครั้งเดียวในปี ๒๕๕๒ (คศ.๒๐๐๙) โดยเป็นการดำเนินการของบริษัท OSCON นอกเหนือจากนั้นเป็นการดำเนินการขึ้นอย่างอิสระด้วยการรับทุนอุดหนุนจากแหล่งต่างๆ และเปิดให้ผู้เข้าร่วมเวที Ignite ฟรี

หมายเลขบันทึก: 402822เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2010 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ถูดจัดวางไว้แบบนั้นเองครับ

ผมเองก็พลาด ignite ในครั้งนี้

เเต่มาอ่าน ignite ในมุมอาจารย์ก็ได้เรียนรู้จากความจริงตรงนั้นเลย

ผมคิดว่า นี่หละครับ ประสบการณ์เชิงบวก เเม้ว่ารถมันจะเกเร

เเต่หากรถไม่เกเร ก็คงไม่ได้เจอเรื่องราวเหล่านี้

  • ใช่เลยเอก 'มันเป็นเช่นนั้นเอง'
  • นี่ผมยังพูดให้พรรคพวกขำกันเล่นอยู่นะว่า เจ้าเอกกับดิเรกแคล้วคลาดไปได้อย่างไรนะ เพราะผมพยายามหาทางชวนไปด้วยกันอยู่
  • ไม่อย่างนั้นก็คงได้ไปนั่งสุนทรียสนทนากันอยู่ริมถนนรอบถุงลูกชิ้นปิ้ง

ขอบคุณค่ะ..ประทับใจกับเรื่องราวริมถนน..ที่โชคชะตาพัดพาให้คณะของอาจารย์ ได้มาสัมผัสเพื่อนร่วมเหตุการณ์ ที่สะท้อนมิตรภาพของการมีน้ำใจที่จดจำมาเล่าต่อที่นี่นะคะ..ใต้แสงเงา..ย่อมมีความงามแฝงอยู่ หากรู้จักมองหา..

  • กลายเป็นได้ความประทับใจไปอีกแบบครับ
  • ขอบพระคุณรูปดอกไม้สวยๆและความร่มรื่นจากรูปถ่ายครับ
  • พูดในภาษาศิลปะและภาษาภาพถ่ายแล้วละก็ รูปนี้บอกเล่าและถ่ายทอดความร่มรื่นได้งามมากเลยละครับ
  • งานศิลปะที่เล่นกับไรแดดและแสงเงาที่ลอดพุ่มไม้ แล้วทำให้เกิดองค์ประกอบ-การจัดวาง แสดงเนื้อหาเรื่องราวได้อย่างนี้ มีพื้นฐานมาจาก ๒ ยุคครับ ยุคแรกคือยุคโรแมนติค เป็นงานแนวบุกเบิกภาษาของแสงและเงา แต่เรื่องราวยังเน้นตำนาน ศาสนา เทพปกรณัม และคนชั้นสูง ต่อมาก็เป็นงานยุคใหม่ คือ งานแนว Fotivism-Pointivism และงานที่อยู่ในกลุ่ม Impressionism ซึ่งจะเขียนเรื่องราววิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งในชนบทและในสังคมเมือง เช่น งานของเรอนัวร์ | มาติสต์ | มาเน่ต์ กับงานในยุคต้นๆของแวนโก๊ะ
  • งานสะสมของธนาคารไทยพาณิชน์ ธานาคารกรุงเทพ และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีงานในกลุ่มนี้ของจิตรกรหลายท่าน เช่น งานของอาจารย์ปรีชา เถาทอง ของไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาธิต ทิมวัฒนบันเทิง งานของจิตกรกลุ่มนี้มีความงดงามที่ถ่ายทอดผ่านแสงและเงาครับ

สวัสดีคะ อาจารย์ ดร.วิรัตน์

  • (ความเห็นของอาจารย์) การใช้ชีวิตแบบ Slow Life มันส่งผลต่อจิตใจในขณะนี้เป็นอย่างยิ่งคะ ..
  • พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง เคยบอกไว้ว่า "คนเรามักจะรังเกียจความเงียบ กลัวความมืด และกังวลในความช้า .. แต่ถ้าเราสามารถที่จะไม่แสดงความรังเกียจต่อความเงียบ ไม่กลัวความมืด และไม่กังวลต่อความล่าช้าแล้ว มันจะทำให้เรามีสติมากขึ้นคะ" แม๊! พี่จุ้ยเราไม่ธรรมดา
  • ที่จริงจะบอกว่าอาจารย์ด้วยหล่ะคะ ขอบคุณคะที่พาพวกเราทั้งคิด ทั้งพาทำอย่างสร้างสรรค์เชิงบวกตลอดเวลาคะ ..
  • เสียดายแทน เอกกับดิเรกนะคะ ที่ไม่ได้ไปซึบซับบรรยากาศรอบถุงลูกชิ้นปิ้งด้วยกัน =o)

อาจารย์ครับ ถึงเกิดเรื่องก็ได้เรียนรู้ก่อนไปชมงาน เป็นทีมเดิมใช่ไหมครับ เห็นแสงและเงาแล้วชอบมากเลยครับ เอามาฝากบ้าง

เอามจากที่นี่ครับ http://gotoknow.org/blog/yahoo/337321

ขอบพระคุณมากค่ะ..เพิ่มความรู้ด้านศิลป์ศึกษาอีกมากมาย..พี่ขออนุญาตนำความเห็นที่มีคุณค่านี้ไปขึ้นบันทึกนี้นะคะ :

http://gotoknow.org/blog/nongnarts2/402835

Large_monet16

                             ภาพสวนของมาเนต์

สวัสดีค่ะ

ความดีงามอย่างที่อาจารย์ว่าเป็น "พลังสร้างสรรค์และพลังเชิงบวกอย่างนี้ มีอยู่จริงในปัจเจกทุกคน แม้ในสังคมเมืองที่ดูเหมือนว่าพรั่งพร้อมด้วยความเป็นวัตถุนิยม"

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ  แต่ยายคิมว่าขึ้นอยู่กับเราเองว่าจะสามารถมองเห็นคุณค่าหรือไม่  อ่านเรื่องเล่าของอาจารย์ทำให้นึกถึงคำสอนของคุณปู่ "คนดีย่อมมองเห็นความดีของผู้อื่น"

ทั้งบันทึกของคุณณัฐพัชร์  และอาจารย์เล่าเรื่องความดีของคนอื่น  ทำให้คนดีมีกำลังใจ  เป็นการดูแลคนดีในสังคมจริง ๆค่ะ

สวัสดีครับ ให้รูปนี้สวัสดีควบเลย
ทั้งอาจารย์ณัฐพัชร์และอาจารย์ขจิตครับ

                        

สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ

  • เนี่ยละครับ เขาเขียนไรแดดที่ไต่กระโดดไปตามยอดหญ้าและใบไม้ได้งามจริงๆครับ
  • ก่อนหน้านั้น แนวคิดเรื่องความงามและสิ่งที่สื่อสะท้อนสุนทรียะปัญญา ส่วนใหญ่จะมุ่งยกย่องงานที่เขียนด้วยเรื่องราวสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า กษัตริย์ หรือรูปแบบชีวิตของชนชั้นสูง
  • มาเน่ต์นำเอาความประทับใจจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แสงแดด อากาศและสายหมอก มาสื่อสะท้อนและเล่าใหม่ด้วยสายตาของจิตรกร ผู้คนก็เลยเพิ่งได้เรียนรู้ว่าความงามอยู่ใกล้ๆตัวของตนเองนั่นเอง
  • เรอนัวร์นำมาเล่าอีกสำนวนหนึ่งครับ เขาเล่าผ่านรูปแบบชีวิตของคนชั้นกลางในโลกเสรีนิยม มีความบันเทิงเริงรมย์ มีความรื่นรมณ์ของชีวิตในสังคมเมือง หรูหรา ทันสมัย มีรสนิยมในคติความเชื่อของสังคมยุคนั้น มักมีไรแดด แสงเงา เป็นตัวเล่าเรื่องด้วย
  • ในศิลปะสมัยใหม่นั้น  งานของ เรอนัวร์และมาเน่ต์ ได้ชื่อว่าเขียนไรแดดและสีสันบรรยากาศความประทับใจ ได้อย่างเยี่ยมยอดที่สุดครับ
  • ในหมู่นักเรียนศิลปะ หากจะหัดเขียนอากาศและไรแดด ด้วยสีในกลุ่ม Ultramarine สี Currorine Blue และ Purple แล้วละก็ ก็มักจะ Study จากงานของมาเนต์และเรอนัวร์ หากแตกฉานและเอาอยู่ได้ ก็ถือว่าบรรลุละครับ
  • ผ่านไปสอง-สามอาทิตย์ ได้เพื่อนใหม่เป็นยายคิมแล้วละนะครับ
  • คุณครูคิมสบายดีนะครับ
  • ขอเรียกคุณครูคิมดีกว่านะครับ เพราะรู้สึกว่าคุณครูนั้น มีนัยประหวัดถึงจิตวิญญาณความเป็นครูในตัวปัจเจก มากกว่าการเป็นตำแหน่งการงานมิติเดียว ดังนั้น แม้ออกจากตำแหน่งที่เป็นทางการแล้ว ก็รู้สึกว่าคุณครูคิมก็ยังเป็นคุณครูคิมละนะครับ

                     

  • ขอบพระคุณคะที่นำภาพไปฝากไว้ที่บันทึก เลยแวะมาโหวต +๑ สำหรับภาพแต่งสุดสร้างสรรค์ของอาจารย์คะ =o)

ใกล้วันใหม่แล้วค่ะพี่อาจารย์....อ้อยเล็กเอาความเล็กแต่ยิ่งใหญ่ของจั๊กจั่นเครื่องเล่นไทยโบราณจากOTOPสมุทรปราการมาฝากค่ะ...ได้ทำงานและท่องเที่ยวเชิงวิชาการกับลูกศิษย์แสนรัก3-4คน...ก็พอจะชาร์ทแบตตัวเองให้สู้งานต่อไปได้ค่ะ..http://www.facebook.com/#!/album.php?aid=2057377&id=1403326796&page=2

  • สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
  • ขำๆน่ะครับ หัวเราะก็เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นความสร้างสรรค์ได้เหมือนกันนะครับ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กครับ

  • ปิดเทอมแล้วนี่เนาะ
  • เลยพอมีเวลาไปเที่ยวท่องในชีวิตกับเขาบ้างอย่างนั้นใช่ไหมครับ
  • เห็นจั๊กจั่นยางสนแล้วต้องนึกถึงท่อนอ้อยกับแมงกว่างเลยนะครับ
  • ยิ่งย่างเข้าหน้าหนาวและหน้าน้ำอย่างนี้ด้วย ผมนี่ตัวล่าแมงกว่างเลยครับ
  • แต่แม่กับน้าและน้องสาวผมก็จะเป็นฝ่ายแอบปล่อยแมงกว่าง

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

           รู้จักอาจารย์จากบันทึกของคุณพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณค่ะ ได้รับ

ความรู้ด้านทัศนศิลป์จากอาจารย์เลยติดตามมาอ่านบันทึกนี้ก็พบว่า ผู้มีศิลปใน

หัวใจมีพลังเชิงบวกที่ทำให้ทุกคนที่ได้รู้จักเกิดความคิดดีๆ เห็นความงดงามที่ยิ่ง

ใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ในมุมเล็กๆของชีวิต .... ขออนุญาตเข้ามาเติมพลังเชิงบวกกับ

อาจารย์ต่อไปนะคะ

                   มีภาพถ่ายมาให้อาจารย์วิจารณ์เชิงทัศนศิลปด้วยค่ะ

                          

                                       ขอบคุณค่ะ

                           

          

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

น้ำใจยังหาได้ ในเมืองกรุง อยู่ที่มีวาสนาชักพาให้พบพาน

แม้นบ้านนอกที่มากน้ำใจ ใช่จะหาง่ายหากไร้วาสนา

สวัสดีครับคุณครูดาหลาครับ

                         

  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยือนกันแถมนำเอารูปถ่ายสวยๆมาฝากอีกด้วยครับ
  • การจัดองค์ประกอบภาพ Composition การจัดวางศูนย์รวมความสนใจด้วยเส้นนำสายตาที่เกิดจากกลีบดอก สวยครับ
  • หากจะทดลองเล่นต่อไปอีก ก็อาจจะลองถ่ายโดยไม่ใช้แสงแฟลช หรือถ่ายย้อนแสงแล้วใช้แสงแฟลชดึงรายละเอียดของด้านที่เป็นเงาให้ออกมาดูสิครับ จะทำให้สามารถเพิ่มมิติความเป็นดอกไม้ขึ้นมาอีกมิติหนึ่งคือ ความบางเบาของกลีบดอกไม้

                       Large_growth   

  • การเลือกมุมถ่ายที่ทำให้เห็นแสงผ่านออกมาจากด้านที่เป็นเงา จะทำให้กลีบดอกไม้ดูบางและอ่อนโยน รวมทั้งจังหวะของแสงและเงาก็จะทำให้เกิดเรื่องราวขึ้นอีกมิติหนึ่ง ทำให้ได้ความสวยงาม สามารถบันทึก บอกเล่า และสื่อแสดงให้ได้สัมผัสสภาพแวดล้อมในห้วงเวลานั้นๆได้หลากหลายมิติมากขึ้นครับ

สวัสดีครับลุงวอญ่าครับ

  • จริงมากอย่างยิ่งเลยละครับ
  • แถวบ้านนอกและในชนบทก็ใช่จะดีไปหมด และในสังคมเมืองก็ใช่จะร้ายไปหมด
  • แสดงว่าแม้นจะโชคร้ายจากการอดไปงาน Ignite อย่างที่ตั้งใจ แต่ก็ได้พบสิ่งดีๆอย่างอื่นแทน ก็นับว่าเป็นวาสนาหนุนนำ นะครับ

กราบสวัสดีคะท่านอาจารย์วิรัตน์

ไม่ว่าเวลาใด อาจารย์ก็เป็นครูในการชวนคิดและทำเรื่องราวต่างๆ เชิงบวก ที่จะมาพร้อมกับการเรียนรู้ตัวเอง และคนรอบข้าง

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะ

สวัสดีเจ้าบี

เป็นการได้รำลึกถึงสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เป็นสีสันของชีวิต ที่มานึกดูแล้ว ตอนนั้น ก็เหมือนความเป็นชุมชนบ้านนอกของพวกเราที่อยู่ศาลายามากเลยนะเนี่ย ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมวิชาการหรือกิจกรรมดีๆในกรุงเทพฯทีไรก็ต้องวางแผนและพากันเดินทางไปอย่างกับเดินทางไปต่างจังหวัด มีแถมรถเสียกลางทางแล้วก็ต้องอดไป เหมือนกับอย่างครั้งจะไปร่วมเวที Ignite ในบันทึกนี้

เป็นการทำหมายเหตุชีวิตให้กับตนเองที่ดีไปอีกแบบหนึ่งว่า หลายๆอย่างที่น้องๆทำงานกันเก่ง แกร่ง รอบด้าน และได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานให้กับสังคมได้อยู่เสมอๆนั้น เพราะเบื้องหลังมักได้อยู่บนเส้นทางต่างๆที่ต้องใช้ความสามารถเผชิญกับอุปสรรคปัญหาและทำให้ผ่านไปด้วยดี มีความสุขและสนุกได้มากกว่าการได้ทำสบายๆอย่างคนทั่วๆไปนั่นเอง

นึกถึงทุกท่านเลย โดยเฉพาะหนูเหมียว ผู้ที่เหมือนกับใช้รถส่วนตัวมาเป็นพาหนะ ทั้งให้กับทีมและให้กับงานราชการ สะดวกสบายจนคนทั่วไปลืมมองเห็นความเสียสละมากมาย ..... ในรูปนี่ ตอนนั้น แต่ละคนดูตัวผอมๆกันทั้งนั้นเลยเนาะ

กราบสวัสดีคะท่านอาจารย์วิรัตน์

ชอบมากเลยคะอาจารย์ "หมายเหตุ" ของชีวิต บางทีหากได้ฉุกคิดว่า ชีวิตได้ทำ "หมายเหตุ" ใดบ้าง คงเป็นการเตือนสติให้เราได้มองรอบข้าง และเรียนรู้อยู่เสมอ และเมื่อมองย้อนไปพบว่า "หมายเหตุ" ต่างๆ ล้วนมีผู้คนเกี่ยวข้องมากมาย ที่ช่วยเติมเต็ม "หมายเหตุชีวิต" ของเรา

พี่เหมียว (อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ) เป็นอีกหนึ่งต้นแบบในการเสียสละ และทุ่มเท เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ และความสุขในการทำงานของทุกคน

ตอนนั้น ทุกคนดูผอมๆ กัน ส่วนตอนนี้ได้กำไร สมบูรณ์ขึ้นมาหน่อย ต่อไป กำลังพยายามดูแลสุขภาพ เพื่อจะได้มีกำลังในการทำงานอย่างมีความสุขกันคะ

ทำงานแล้วก็ได้เพื่อน ได้ความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันของผู้คน ได้ความทรงจำเกี่ยวกับคน เหล่านี้นี่ เป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งในความสำเร็จของงาน ที่จะเป็นต้นทุนในการสั่งสมความสำเร็จและได้เพิ่มพูนความยั่งยืนของการพัฒนาต่างๆในระยะยาวไปด้วยได้มากยิ่งๆขึ้น เป็นทั้งความเก่งและถือเป็นความโชคดีที่ไม่ได้เกิดขึ้นสำหรับทุกคนเสมอไป รวมทั้งเป็นทักษะจิตใจและทักษะการคิดของตัวเราเองเหมือนกัน

บางที งานดีและผู้คนดี แต่ทักษะความรู้คิดของเราไม่ดี ก็กลับไม่เห็นความสำเร็จและไม่เกิดความงอกงามในจิตใจ ต่อผู้คนก็กลับได้แต่ความทรงจำที่ไม่ดี ในทางกลับกัน บางทีทักษะจิตใจและวิธีคิดดี แต่องค์ประกอบเกี่ยวกับคนและตัวงานไม่ดี มันก็อาจจะทำให้เกิดแต่ความว่างเปล่า ไม่พอที่จะเป็นหมายเหตุที่ดี ก็เกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง ดังนั้น ต้องนับว่าเป็นผลทั้งจากความเก่ง ความโชคดี และความมีทักษะชีวิตด้านใน ที่พอเหมาะพอดี ซึ่งบีและทีมที่ได้มีโอกาสทำงานด้วยกัน มีอยู่ในตัวเองมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท