022 : อภิมหาพหูสูต (PolyMath) แห่งโลกอารยะ ตอนที่ 1/2


 


อภิมหาพหูสูตแห่งโลกอารยะ
ตอนที่ 1


บัญชา ธนบุญสมบัติ
[email protected]

 


สังคมไทยในปัจจุบันได้นำคำว่า อัจฉริยะ มาใช้มากมายในหลายหลายบริบท ตั้งแต่ อัจฉริยะสร้างได้ อัจฉริยะข้ามคืน เด็กอัจฉริยะ ผ้าพันแผลอัจฉริยะ  ระบบจราจรอัจฉริยะ บ้านอัจฉริยะ ไปจนถึงโปรแกรมผูกดวงอัจฉริยะและส้วมอัจฉริยะ เป็นอาทิ


อย่างไรก็ดี ความหมายดั้งเดิมของคำว่า อัจฉริยะ นี้น่าจะบ่งถึงคุณลักษณะพิเศษของคนบางคนที่มีความรู้ความสามารถเกินระดับสามัญไปอย่างน่าอัศจรรย์ ดังเช่นในคำว่า อัจฉริยบุคคล และอัจฉริยภาพ ที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม โดยนัยนี้ คำภาษาอังกฤษที่ตรงที่สุดก็คือ genius (จีเนียส)

แต่ความรู้ความสามารถของมนุษย์นั้นไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดูอย่าง เลโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งรอบรู้และเป็นเลิศหลายเรื่อง ตั้งแต่ศิลปะ สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม คนที่มีลักษณะเช่นนี้แหละที่เรียกว่า โพลิแมท (polymath) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีความรู้หรือทักษะอย่างกว้างขวางและลุ่มลึกในหลากหลายสาขา

 ลีโอนาร์โด ดาวินชี


มีอีกคำหนึ่งซึ่งคล้ายกับคำนี้มาก นั่นคือ โพลิฮิสเทอร์ (polyhistor) ซึ่งในความหมายดั้งเดิม หมายถึง คนที่มีความรู้กว้างขวาง มีสติปัญญาสูงส่ง  อันเกิดจากความเป็นผู้คงแก่เรียนอย่างเยี่ยมยอด คนพวกนี้มักจะเรียนรู้โดยการอ่านหนังสือและการเรียนด้วยตนเอง คือ หนักไปทางความรู้ทางสติปัญญา


ถึงตรงนี้มีข้อสังเกตอย่างน้อย 3 แง่มุม คือ

หนึ่ง – ฝรั่งบางคนบอกว่า โพลิฮิสเทอร์ทุกคนนับเป็นโพลิแมทได้ แต่อาจมีโพลิแมทบางคนไม่ใช่โพลิฮิสเทอร์ เช่น สมมติว่าคุณเก่งไปหมดทั้งคณิตศาสตร์ ดนตรี กีฬา เต้นรำ และศิลปะแขนงต่างๆ ก็อาจเรียกได้ว่า คุณเป็นโพลิแมท แต่อาจไม่ใช่โพลิฮิสเทอร์เพราะว่าคุณไม่ได้คร่ำเคร่งกับตำรับตำราแต่อย่างใด


สอง – ผมคิดว่าโพลิฮิสเทอร์นี้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า พหูสูต อยู่มากทีเดียว เพราะพจนานุกรม (ฉบับมติชน) ให้ความหมายของ พหูสูต ไว้ว่า ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก ปราชญ์ผู้รู้ทั่ว ใครคิดเหมือน หรือต่างอย่างไร แว่บเข้าไปในบล็อกของผม หรืออีเมลไปหาก็ได้ครับ


สาม – อย่างไรก็ดี ฝรั่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันถือว่า โพลิแมท และ โพลิฮิสเตอร์ มีความหมายเหมือนกัน คือ ใช้แทนกันได้

 

พอถึงจุดนี้ก็มานั่งนึกๆ ดูว่าแล้วจะแปล โพลิแมท ว่าอะไรดี?

เนื่องจากโพลิแมทครอบคลุมกว่าโพลิฮิสเทอร์ (พหูสูต) ผมจึงขอเรียกแบบเว่อร์ๆ ไปก่อนว่า อภิมหาพหูสูต ก็แล้วกัน
(อ๊ะๆ ใครที่หัวเราะเยาะผม ช่วยคิดคำที่เหมาะกว่านี้หน่อยเถิด...อิอิ)



อภิมหาพหูสูต หรือโพลิแมท นี้จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะด้วยไหม?

คำตอบคือ ไม่จำเป็น!

 กล่าวคือ คนบางคนอาจจะมีความสามารถหลากหลาย เช่น ภาษาดี ดนตรีเก่ง คณิตศาสตร์ก็แจ๋ว
แต่ว่าความสามารถแต่ละอย่างนั้นยังไม่อาจนับได้ว่าถึงขั้นอัจฉริยะอย่างแท้จริง
(แต่ถ้าเป็นอัจฉริยะอุปโลกน์แบบไทยๆ ก็ไม่แน่)

ส่วนคนที่ถือกันว่าเป็นอัจฉริยะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโพลิแมท อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือมารี กูรี (Marie Curie – ที่เรามักเรียกว่า แมรี่ คูรี่) นั้นเป็นอัจฉริยะแน่ แต่เนื่องจากไอน์สไตน์และมารี กูรี ไม่ได้แสดงความสามารถโดดเด่นอย่างหลากหลาย จึงไม่ถือว่าเป็นโพลิแมท

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีของดาวินชีนั้น ถือกันว่าเป็นทั้งอัจฉริยะและโพลิแมทด้วยในคนๆ เดียวกัน
นอกจากนี้ ผลงานอันหลากหลายของดาวินชีซึ่งโดดเด่นและส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน
ทำให้มีคำใช้เรียกคนในลักษณะนี้อีกคำหนึ่งคือ อัจฉริยะสากล (Universal Genius)
กล่าวคือ แสดงความเป็นอัจฉริยะในทุกสาขาที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

 

อัจฉริยะสากลยังมีคนอื่นๆ อีกหลายคน ไม่เฉพาะดาวินชีเท่านั้น เช่น อะบู รอยฮาน อัล-บีรูนี (Abu Rayhan al-Biruni) (เกิด ค.ศ. 973-ตาย ค.ศ. 1048) ชาวเปอร์เซีย ซึ่งมีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้งทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การแพทย์ เภสัชกรรม ปรัชญา และอื่นๆ อีกมากมาย

อะบู รอยฮาน อัล-บีรูนี (Abu Rayhan al-Biruni)


ตัวอย่างอีกคนหนึ่งคือ นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคัส (Nicoluas Copernicus) (ค.ศ. 1473-1543) ซึ่งเราจดจำในฐานะนักดาราศาสตร์คนแรกที่เสนอว่า ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะนั้น จริงๆ แล้วก็เก่งรอบด้านโดยเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ แพทย์ ปราชญ์ทางด้านกรีก-โรมัน นักแปล ผู้นำทางการทหาร  นักการทูต และนักเศรษฐศาสตร์ อีกด้วย

 นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคัส (Nicoluas Copernicus)

คนอย่าง โคเพอร์นิคัสนี่ก็เข้าข่ายอัจฉริยะสากลเช่นกันครับ!

โปรดติดตามตอนที่ 2 (กำลังจัดเตรียม)


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

 


 

ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ท่องเวลา ผ่าอารยธรรม นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่นเสาร์สวัสดี เสาร์ 16 สิงหาคม 2551
  • ดัดแปลงเพื่อนำลงใน G2K เพื่อประโยชน์สาธารณะ
คำสำคัญ (Tags): #polymath#พหูสูต
หมายเลขบันทึก: 231984เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาขอบคุณความรู้เรื่องโพลิแมท (polymath) และ โพลิฮิสเทอร์ (polyhistor)ค่ะ

ยกตัวอย่างคนไทยๆ ด้วยนะคะ

อย่างโพลิฮิสเทอร์ = คนที่มีความรู้กว้างขวาง มีสติปัญญาสูงส่ง  อันเกิดจากความเป็นผู้คงแก่เรียนอย่างเยี่ยมยอด คนพวกนี้มักจะเรียนรู้โดยการอ่านหนังสือและการเรียนด้วยตนเอง ใน G2K เห็นหลายท่าน

โพลิฮิสเทอร์ เล็ก(เป็นได้ง่าย)กว่า โพลิแมท  เราก็ฝึกฝนให้เป็นกันได้ใช่ไหมคะ (กำลังใจ) คือเริ่มจากมี พรแสวง ใช่ไหม

พระพุทธองค์ก็ได้ ฉายาว่า ผู้รู้ไปหมดทุกเรื่อง (สัพพัญญู) ครับ


พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนวัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญาณญาณทัสสนะไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไปดังนี้ ไม่เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้วและชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำที่ไม่มี ไม่เป็นจริง
“ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓ ) ดังนี้แล เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง ชื่อว่าพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรม....
“ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง..... ตลอดสังวัฎวิวัฎกัปเป็นอันมาก ในภพโน้นเรามีชื่อย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น... เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วยประการฉะนี้ “ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ซึ่งเป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิฉาทิฐิ เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมทิฐิ..... เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์“ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง...”

จูฬวัจฉโคคตสูตร ม. ม. (๒๔๑-๒๔๒)
ตบ. ๑๓ : ๒๓๗-๒๓๘ ตท.๑๓ : ๒๐๓-๒๔๒
ตอ. MLS. II : ๑๖๐

สรุปก็คือ พระพุทธองค์ทรง รู้ในสิ่งที่พระองค์ทรงอยากรู้ เท่านั้นครับ :)

สวัสดีครับ

       พี่ดาว : เริ่มจากพรแสวงนี่ทำให้สิ่งต่างๆ สำเร็จได้ครับ ถ้าไม่ถึงขั้น polyhistor ก็อาจจะเป็น Jack-of-all-trades ก็น่าจะพอ (ไว้รอตอน 2)

       กวิน : ขอบคุณนะครับ

          น่าสนใจว่า คติทางศาสนาเชน (Jainism) นี่ก็ถือว่า ศาสดามหาวีระเป็น สัพพัญญู (omniscience) เช่นกันครับ

              มหาวีระ - ศาสดาแห่งศาสนาเชน ตอนที่ 1 (มี 2 ตอน)

       คุณครู วรางค์ภรณ์ เนื่องจากอวน : สวัสดีปีใหม่ครับ     

 

ตามมาจาก facebook จ้ะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท