สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา ต้ อ ง รี บ ส อ น ! (นำเรื่อง)


เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

บทความเรื่อง        สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา ต้ อ ง รี บ ส อ น !    นี้       ได้เขียนไว้ตั้งแต่วันที่ 23  เมษายน 2546      ข้อมูลในส่วนนำเรื่อง  จึงอาจไม่เป็นปัจจุบัน  แต่ดิฉันขอคงไว้  เพื่อยืนยันกับคุณเบิร์ด  ว่าในการขึ้นต้นบทความ

 …ฤาจะรอจนสิ้นชาติ ?....จึ่งฟื้นฟู     นั้น  เราใจตรงกันโดยมิได้นัดหมาย

P

บทความเรื่องนี้มี 4   ตอนค่ะ

ตอนที่     1    นำเรื่อง  (ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้) 

                    ซึ่งออกจะยาวอยู่บ้าง เพราะความด้อยประสบการณ์ของผู้เขียน  แต่ตอนเขียนนั้น  รู้สึก "มันส์" มาก  และอยากทำให้ฝันเป็นจริงเหลือเกิน   และดูท่าว่าจะเป็นฝันไปเรื่อยๆจนเกษียณ  แต่ดิฉันก็ยังคงมุ่งมั่นจนออกนอกหน้าต่อไป

ตอนที่     2     วิชาครอบครัวศึกษา                   

ตอนที่     3     วิชารู้เท่าทัน   

ตอนที่      4     วิชาภูมิปัญญาไทย  (จบ)

เพื่อความต่อเนื่อง และอารมณ์ที่ไม่ขาดตอน โปรดอ่านเรียงตอนตามลำดับนี้    ดิฉันขออภัยที่เขียนยาวๆ  นิสัยนี้รักษายาก  และแก้ไม่หายสักที

                                                                 ขอบพระคุณค่ะ  : )

สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา 

ต้ อ ง รี บ ส อ น !

 

              มีคำถามจากครูจำนวนมากว่า     ต่อไปนี้เราจะสอนวิชาอะไร..  .เมื่อเกิดวิกฤตสามประการของชาติไทยและของโลก    คือวิกฤตเศรษฐกิจไทย พ.ศ.2540      วิกฤตการณ์วันช็อคโลก 11 กันยายน 2544     และวิกฤตสงครามอิรัก  ที่ดำเนินไปท่ามกลางเสียงประณามของชาวโลกที่มิได้กระหายสงคราม   แต่ไร้อำนาจในการตัดสินใจ  เราจึงหยุดคุณบุช คุณแบลร์ คุณซัดดัม  และคุณอะไรต่อมิอะไรไว้ไม่ได้

            

              วิกฤตทั้งสามประการนี้   ได้กระชากมนุษย์ทุกคนออกมารวมกันข้างนอก  ชี้ให้คนไทยเกือบทั้งชาติได้เห็นความจริงว่าตัวเลขอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้หลงคิดว่าเป็นความมั่งคั่งนั้นล้วนเป็นภาพลวง ดินต่างหากคือทุนที่เป็นจริง  และด้วยเครื่องบินที่พุ่งชนตึกสามลำแต่สะเทือนขวัญไปทั้งโลก   ก็ทำให้เราได้เห็นว่า  หากไม่สอนลูกหลานเราให้เริ่มจากวิธีคิดที่ถูกต้อง  มันก็จะกลับมาสนองคนรุ่นเราให้ถึงแก่ชีวิต

              

              แล้วมันก็กลับมาให้เราเห็นทันตาในวิกฤติสงครามอิรัก  ที่ไม่ใช่แค่การคิดทำลายล้างกันเฉยๆ   แต่เป็นการส่งผ่านวิธีคิดในการรับรู้ความจริงเพียงเสี้ยวเดียว...  แถมยังเป็นเสี้ยวที่ประกอบสร้างโดยสื่อมวลชนที่มีอำนาจสั่งการให้เราคิดได้เท่าที่เห็น  เขาส่ง(สั่ง)ให้เราเห็นอะไร เราก็เห็นได้เท่านั้น  ข่าวสารข้อมูลความเป็นความตายความโหดร้ายและความทุกข์ยากของสงคราม และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งในชะตากรรมและความทุกข์ยากของผู้อื่น    ถูกลดทอนให้เหลือเพียงภาพใครถล่มใครที่ไหน   อะไรระเบิดไปบ้าง  อำนาจการทำลายล้างยิ่งใหญ่แค่ไหน  เร้าใจขนาดไหน 

                ธรรมชาติด้านมืดของมนุษย์นั้นน่ากลัวนัก....     โดยเฉพาะเมื่อถูกทำให้คิดว่าชีวิตบนจอทีวีเป็นแค่ตัวละคร   หรือตัวเล่นในเกมสงคราม  ดังนั้นที่ตายๆไปบ้างก็ไม่เป็นไร   ที่เจ็บก็เจ็บไป  ไม่เป็นไร......ไม่ใช่เรา  


              

              ถามว่าวิกฤตสามประการที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม   ถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนครั้งแล้วครั้งเล่าให้เราเห็นเป็นความถี่ซ้ำๆนี้ อยู่ในวิชาอะไร    หากคำตอบของท่านเจาะจงไปที่วิชาใดวิชาหนึ่ง แปลว่าท่านกำลังคิดแบบแยกส่วน  และหากท่านตอบว่าทุกวิชา  ก็อาจมิได้แปลว่าท่านกำลังคิดแบบองค์รวม  ดังนั้นจึงสมควรติดตามอ่านบทความนี้ต่อไป

                เบื้องหลังของวิกฤตทั้งสามเรื่องนี้  ส่วนหนึ่งอาจจะอยู่ที่ วิธีคิด ที่ว่า  ใครมีอำนาจและเป็นตัวแทนของการใช้อำนาจคนนั้นก็มีสิทธิ์ตัดสินใจ และกำหนดคำตอบให้ทุกคน

               

                และส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดวิธีคิดเช่นนี้เป็นผลมาจากระบบการศึกษา  เพราะถูกสอนกันมาให้เชื่อและอยู่ในอำนาจ ด้วยระบบการศึกษาแบบที่แยกมนุษย์ออกเป็นพวกตามชุดความรู้ แยกความรู้ที่ควรจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้ออกเป็นชุดย่อยๆ  จัดความรู้นั้นใส่กรอบของศาสตร์ สอนให้รู้ในกรอบของศาสตร์ที่คิดว่าต้องรู้เพียงเท่านั้น โดยมิพักตั้งคำถามว่าเบื้องหลังของศาสตร์นั้นมีที่มาอย่างไร ควรจะนำไปใช้หรือไม่ และควรจะนำไปใช้อย่างไร

               แปลว่าเชื่อในอำนาจของความรู้นั้น   ว่าจะช่วยให้หาประโยชน์ใส่ตนได้ และประทับตราการรู้ของคนด้วยการนับเลขเป็นปริมาณ  ดูๆไปคะแนนหรือเกรดก็ไม่ผิดกับตัวเลขในตลาดหุ้น ยิ่งได้ตัวเลขมากกว่าก็แปลว่ายิ่งเหนือกว่า จากนั้นก็เอาตราประทับให้ว่ารู้   แล้วก็รับใบรับรองไปคนละใบ  ส่วนจะรู้จริงรู้แจ้งหรือไม่นั้นก็ตัวใครตัวมัน  และจะเหลือความเป็นมนุษย์ที่ดีอยู่แค่ไหน  ก็ตัวใครตัวมันเหมือนกัน

            

             เมื่อออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง  ผู้มีการศึกษาเหล่านั้นจึงยังคงใช้หลักคิดแบบเดิม  ต้องได้มามากๆ ต้องได้มาโดยง่าย(ไม่ต้องวัดมิติอื่นนอกจากตัวเลขและปริมาณ) และต้องเป็นฝ่ายได้เปรียบเสมอ ไม่เป็นไร....ตราบเท่าที่คนที่เสียเปรียบนั้นไม่ใช่เรา 

             ระบบการศึกษา  ได้ทำให้ความได้เปรียบในทุกๆด้านของคนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นความชอบธรรม  และความเสียเปรียบของคนกลุ่มใหญ่กลายเป็นเรื่องธรรมดา ด้วยฐานคิดแบบที่คุณชารลส์ ดาร์วินว่าผู้ที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นจึงจะอยู่รอด    
                                                                  
            

              ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์  ถูกทำลายหายไปด้วยระบบการศึกษาทั้งแบบแพ้คัดออก การตัดสินความเป็นมนุษย์จากความเป็นมนุษย์ที่เก่งกว่า และความเป็นมนุษย์ที่เก่งที่สุด ทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในจิตวิญญาณของคนรุ่นหลัง    “ยิ่งเอาเปรียบได้มากเท่าไหร่ ยิ่งน่าภูมิใจมากขึ้นเท่านั้น”   แปลว่าความเห็นแก่ตัวคือความฉลาด ความมีน้ำใจคือความโง่ และความเสียสละคือความโง่ที่สุด        หากเชื่อว่าระบบสร้างคนได้ และกลืนคนได้   เราจำนวนมากก็ถูกสร้างมาโดยระบบคิดเช่นนี้          และถูกกลืนด้วยวิธีคิดอย่างนี้ไปเรียบร้อยแล้ว 


              วาทกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ล้วนถูกผลิตซ้ำ   ถ่ายทอด   ส่งผ่าน จากรั้วโรงเรียนทั้งสิ้น 
 
            

              ในเมื่อรั้วโรงเรียน เคยถูกใช้เป็นที่ปิดล้อมกล่อมคนให้เข้าสู่วิธีคิดวัตถุนิยม  ที่เห็นวัตถุสำคัญกว่าจิตใจ  บริโภคนิยมที่เห็นว่าการได้มาเพื่อเสพมากๆนั้นเป็นสิ่งดี  และทุนนิยมที่เห็นทุกสิ่งเริ่มจากเงินเป็นตัวตั้ง  มีเงินเป็นหลักคิด และมีเงินเป็นตัวขับเคลื่อน  สอนคนให้เข้าสู่วงจรมนุษย์เงินเดือน เป็นมนุษย์เก็งกำไรที่อยากได้มากๆโดยไม่คิดสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตน  ไม่สอดคล้องความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ   จนกระทั่งเกิดวิกฤตสามประการขึ้นมาให้เราเห็นทันตาในชาตินี้

             จำเราจะต้องลุกขึ้นมา  ช่วยกันพลิกวิกฤตเป็นโอกาส  ใช้รั้วโรงเรียนเป็นกรอบสร้างวิธีคิดใหม่เพื่อ ต่อสู้ฟาดฟันกับภัยร้ายสามตัวนี้  ด้วยวิชาพื้นฐานอย่างง่ายสำหรับชีวิตสามวิชา ที่ครูในยุคปฏิรูปการศึกษาต้องรีบสอน 
           
              ........หนึ่ง  วิชาครอบครัวศึกษา  สอง  วิชารู้เท่าทัน     และสาม  
วิชาภูมิปัญญาไทย..... 

             

             สามวิชาอย่างง่าย ที่ครูไทยจำนวนมากที่ตาสว่างมองเห็น   (มาก่อนหน้าที่จะเกิดบทความนี้)   ทุกท่านต่างก็กำลังทำงานหนักสอนสั่งปลูกฝังลูกศิษย์ของท่านอย่างรีบเร่ง  เพราะท่านรู้ว่าหากช้าไปจะไม่ทันการณ์ 

            เพราะเรากำลังจะมี พ่อ แม่ ลูก แบบไม่ได้เจตนาอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง  ลูกหลานเราจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของการโฆษณาชวนเชื่อแบบต่างๆที่รุนแรงผ่านสื่อมวลชนที่แยบยลร้ายลึกกว่าสมัยคอมมิวนิสต์   และเหลนโหลนภายหน้าของเรากำลังจะหัวแดงตัวขาวด้วยไวท์เทนนิ่งที่ดูคล้ายจะใช่ แต่ไม่ใช่(ฝรั่ง)  แถมยังคิดอะไรเองไม่เป็น ต้องเดินตามหลังภูมิปัญญาของคนอื่นเขา และตกเป็นอาณานิคมทางจิตวิญญาณในที่สุด  

                    

                เมื่อถึงวันนั้น.....  ใครจะร้องจะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง 

 

 

 

 

 

----------------------------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 97904เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
ครับ ทุกๆคนต้องช่วยกัน เริ่มต้นที่ครอบครัว พี่ น้อง   ลูก หลาน ผู้ใกล้ชิด และ ลูกศิษย  เราต้องคอยอบรม แนะนำตักเตือน ปลูกฝัง จิตสำนึกที่ดี เป็นประจำ..
สวัสดีครับคุณ
P

แนวคิด แนวรับรู้สู่การปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลง       ถ้าระบบคิด หรือ วิธีคิดที่ถูกต้อง  จะนำสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง  จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง     ขอบคุณ คุณ แอมป์  ได้ชี้แนวความคิดที่ได้ถึงเหตุผล

ขอบคุณมากๆครับ

 

P
สวัสดีค่ะคุณวรรธนชัย
             
  ขอบพระคุณค่ะที่แวะมา  การปลูกฝังจิตสำนึกแม้มิใช่เรื่องง่าย  แต่ก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้  งานหนัก แต่ก็ท้าทายนะคะ  และอย่างที่คุณวรรธนชัยบอกไว้   "ทุกๆคนต้องช่วยกัน"  ฝันจึงจะเป็นจริง   ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ 
P

ขอบพระคุณ คุณสิทธิรักษ์ที่กรุณาเข้ามาวิเคราะห์ต่อยอดให้หลายๆบันทึก ครบความนะคะ   ดิฉันก็ทำได้เพียงเสนอแนวคิดแบบบ้านๆ  มีผู้รู้มาช่วยวิเคราะห์แนวคิดให้ก็ทำให้เกิดมุมมอง 

ชอบคำว่า ระบบคิด จังค่ะ  ดิฉันยังเป็นแค่คนชอบคิด แต่ยังไม่ถึงขั้นคิดเเป็นระบบ  ต้องฝึกตัวเองอีกเยอะค่ะ  : )

     โดนครับโดน .. เขียนเหมือนที่ผมคิด .. ที่ไม่เห็นผมเขียน ก็เพราะเขียนอย่างไรก็ไม่ได้อย่างที่ท่านเขียนครับ .. ขอบคุณที่คิดเหมือนกันครับ
     อย่างไรก็ตาม หลักฐานก้พอจะมีให้เห็นอยู่บ้างดังนี้ครับ

อาจารย์Handy คะ

ดีใจจังค่ะที่อาจารย์แวะมา  ดิฉันก็เพิ่งแวะไปเยี่ยมบันทึกอาจารย์    คือว่า สวนกันไปสวนกันมาอยู่สองราชภัฏ .....  : ) 

ดิฉันจะแวะตามไปอ่านนะคะ  ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

ตามมาเอาความรู้ใส่รถกลับบ้าน ไปนอนศึกษาอย่างละเอียดครับน้องครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

แอมแปร์ก็วิ่งตามมาส่งถึงรถเลยอะค่ะ   : )

ดีค่ะ อยากให้คนไทยได้อ่านและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มาก

ไม่มีรูป   สวัสดีค่ะ คุณไม่แสดงตน

 

ขอบพระคุณอย่างสูงที่แวะมาในบันทึกนี้นะคะ  ดิฉันเขียนบันทึก สามวิชาฯ นี้ไว้นานมากแล้ว และเขียนด้วยความรู้สึกล้วนๆ  จึงออกจะหวั่นๆเป็นอันมากเมื่อตัดสินใจเผยแพร่บันทึก เพราะเนื้อหานั้นหาความเป็นวิชาการอะไรมิได้  นอกจากความคิดเห็นแบบไม่เป็นทางการของดิฉันคนเดียว  แถมยังมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมอีกต่างหาก 

แต่ด้วยความที่ดิฉันนึกเข้าข้างตัวเองว่าครูที่ "เห็น" ความจริงนี้มาก่อนดิฉัน  และทำงานนี้มาก่อนหน้านี้แล้วอย่างเงียบๆโดยไม่ได้ประกาศตน มีอยู่แล้วนับร้อยนับพันและนับหมื่นในเมืองไทย  ดิฉันจึงตั้งหน้าตั้งตาเขียนและทำต่อไปด้วยความสบายใจ  เพราะการตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่เราเห็นแล้วว่าเราต้องทำ(และเห็นไปล่วงหน้าถึงคุณค่าที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม)   โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งให้เราทำนั้น เป็นชีวิตที่เป็นอิสระและมีความสุขเหลือแสน    ไม่ว่าเราจะอยู่ในกรอบของอะไรก็ตาม 

เมื่อถึงวันที่เราแก่เอ๊ยโตพอที่จะ "เข้าใจ" เราก็จะได้เห็นว่า "กรอบ" ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเงื่อนไขที่ท้าทายสติปัญญา ทำให้ชีวิตสนุกสนานเป็นที่ยิ่ง  และเราจะสนุกสนานต่อไปได้จนเกษียณ หากเราทำเพราะเห็นคุณค่าโดยไม่สนใจมูลค่า เพราะสิ่งที่ได้มาไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นมนุษย์ที่(เราอาจหวังได้ว่า)ฝึกมาดีแล้ว

ขอบพระคุณสำหรับความเห็นที่เปี่ยมไปด้วยการให้กำลังใจที่ดียิ่งนะคะ  ดิฉันหลับไปตื่นหนึ่งแล้วลุกขึ้นมาว่าจะทำงานสักนิดแล้วจะนอนต่อ บังเอิญเปิดเมลแล้วได้เห็นลิงก์เตือนก็เลยตามเข้ามาในบันทึก  และได้พบกำลังใจที่น่ารักในยามดึก จึงล็อกอินเข้ามาตอบด้วยความขอบคุณยิ่งค่ะ  : )

ว่าแล้วก็เลยคิดถึงน้องสาว  เบิร์ด P

ที่เป็นแรงบันดาลใจให้โพสต์บันทึกนี้ด้วย  ดิฉันก็ยุ่งๆอยู่นานไม่ได้สื่อสารกับน้องนานแล้ว  ขออนุญาตถือโอกาสฝากความระลึกถึงน้องเบิร์ดผ่านบันทึกนี้เลยนะคะ  : )

กำลังติดตามอ่านด้วยใจจดจ่อครับผม ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีด้วยความเคารพค่ะท่าน ผอ.บวร

ขอบพระคุณอย่างสูงที่ท่านติดตามอ่านบันทึกค่ะ  ดิฉันเขียนบทความไว้ตั้งแต่ปี 2546 ตัวอย่างที่ยกมาเลยอาจไม่เข้ากับยุคสมัยบ้างนะคะ  อย่างไรก็ตามดิฉันก็เพียรเขียนไป ท่านผู้อ่านที่น่ารักก็กรุณาแวะมาให้กำลังใจกันอยู่เนืองๆ 

สังคมที่นี่น่ารักเพราะกำลังใจที่มีให้กันและกัน  และยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอมานะคะ  : )

"แถมยังคิดอะไรเองไม่เป็น ต้องเดินตามหลังภูมิปัญญาของคนอื่นเขา และตกเป็นอาณานิคมทางจิตวิญญาณในที่สุด" จับจิตจับใจมากครับ อันนี้ไม่ใช่การบ้าน การโรงเรียนสำหรับใครๆ แต่เป็น"การชีวิต"ของพวกเราทุกคน ซึ่งจะส่งผลไปสู่คนรุ่นอนาคตอย่างมากมาย ขอบพระคุณอีกครั้งครับผม

ขอบพระคุณท่าน ผอ.บวร   มากเช่นกันค่ะ  ที่กรุณาย้ำประโยคหลักที่ท่านกล่าวว่าเป็น "การชีวิต" และดิฉันเห็นด้วยอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ  : )  

ดิฉันเชื่อว่าครูดีที่คิดได้และสามารถสอนศิษย์ให้คิดเป็น ยังมีอยู่ทั่วผืนแผ่นดินไทย  ...จึงรู้สึกได้ว่าเรายังมีความหวังอยู่เสมอค่ะ...  : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท