ไปประชุมสภามหาวิทยาลัยที่นครสวรรค์


 

          การประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๔๐๒  เป็นการประชุมสัญจร (ครั้งที่ ๒)      คือ  ไปประชุมที่จังหวัดนครสวรรค์     เพราะมีวิทยาเขตอีกแห่งหนึ่งที่นั่น     ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า บึงเสนาท      แค่ได้ยินชื่อก็พอจะเดาได้ ว่าน้ำท่วมแน่     

          หน้าน้ำปีที่แล้วน้ำท่วมวิทยาเขตนครสวรรค์      แบบที่เขื่อนกั้นน้ำสูง ๒ เมตรเอาไม่อยู่    จนนักศึกษาต้องหนีน้ำไปเรียนที่อื่น     ส่วนหนึ่งมาเรียนที่ศาลายา     อีกส่วนหนึ่งเรียนในนครสวรรค์   หลังน้ำท่วมไม่กี่วันก็มีสมาชิกของชมรม YCL (Young Community Leader) ไปพบนายกสภามหาวิทยาลัย (คือผม)      แจ้งความประสงค์ว่าต้องการให้มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงเปิดสอนที่ “วิทยาเขตกลางบึง” นี้
    
          เช้าวันที่ ๒๐  ก.ค. ๕๐  ผมออกเดินทางไปนครสวรรค์      คุณนิกข์นิธิเอาเอกสารที่อดีตผู้นำชาวนครสวรรค์ (เรียกร้องให้มีมหาวิทยาลัยที่นครสวรรค์) มาให้      พลิกอ่านดูแล้วไม่เห็นสาระที่มีน้ำหนักอะไร     ไปไม่ถึงครึ่งทาง ผศ. ทพ. พาสน์ศิริ  รองอธิการบดีฝ่ายประสานงานและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย  โทรศัพท์มาแจ้งว่า      ได้รับแจ้งจาก ผศ.นคร  เหมะ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขต ว่าทางนครสวรรค์ไปรวบรวมชาวบ้าน ประมาณ ๕๐๐ คน มาต้อนรับ      อย่าตกใจ   ท่านแจ้งข่าวว่าทางนครสวรรค์เกรงว่ามหาวิทยาลัยมหิดลจะถอนตัวออกจากจังหวัดนครสวรรค์

          ผมก็แปลกใจว่าทำไมทางนครสวรรค์คิดอย่างนั้น     ถ้าเราจะถอนตัว แล้วเราจะลงแรงลงเวลายกขบวนกันไปประชุมที่นครสวรรค์ทำไม     ก็เพราะเราอยากไปดู ไปเรียนรู้ให้เข้าใจสภาพและสถานภาพ     เราจึงยอมลงแรงจัดการประชุมสัญจรนี้ 

          ที่จริงเรื่องวิทยาเขตในต่างจังหวัดไกลๆ ของมหาวิทยาลัยใหญ่ที่มีชื่อเสียงและมีความเข้มข้นทางวิชาการนั้นมันน่าจะมีวิธีคิดที่ชัดเจน      ว่าจะต้องเป็นหุ้นส่วนระหว่างจังหวัดกับมหาวิทยาลัย  ต้องคิดว่าแต่ละหุ้นส่วนจะเอาอะไรไปลงหุ้น      มหาวิทยาลัยไม่มีเงิน แต่มีวิชา มีวิธีจัดการวิชา ก็เอาส่วนนี้ไปลงหุ้น     จังหวัดต้องเอาเงินและทรัพยากรอื่นๆ มาลงหุ้น     ทรัพยากรของจังหวัดเอามาจากไหนบ้างก็ต้องปรึกษากันในจังหวัด      ส่วนหนึ่งคืองบประมาณแผ่นดิน  จังหวัดต้องไปเจรจากับผู้รับผิดชอบงบประมาณแผ่นดินให้ตั้งงบประมาณส่วน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ มาให้     หรือเจียดงบจาก อบจ., อบต. ฯลฯ มาให้    

          ที่จริงจังหวัดนครสวรรค์มีมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว คือ มรภ. นครสวรรค์   มหาวิทยาลัยภาคกลาง และมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (เอกชน)     และยังมีวิทยาเขตของ มหาวิทยาลัยนเรศวร  และ มสธ. อีกด้วย   การพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ จึงต้องคิดบนฐานความจริงนี้     ต้องมองอุดมศึกษาทั้งระบบของจังหวัด   มองเป็นเครือข่าย     มองเป็นเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาของจังหวัดใกล้เคียง และเป็นเครือข่ายกับทั้งประเทศด้วย     อาจต้องมองโยงไปยังโลก หรือภูมิภาคด้วย    

          ที่ผ่านมา การก่อตั้งหน่วยงานมักมีปัญหาเพราะเราวางแผนแบบไม่ครบวงจร     มองประเด็นที่เกี่ยวข้องไม่ทะลุ     หรือไม่ครบถ้วน    ปัญหาย่อมตามมา     

          ถนนไปนครสวรรค์สะดวกมาก ทำให้เราใช้เวลาไม่ถึง ๓ ช.ม.     เราจึงไปเช็คอินเข้าโรงแรมพิมานก่อน     เพราะหมออมราเขาไม่ชอบปรากฏตัว      เขาชอบไปนอนดูทีวีในโรงแรมมากกว่า      กะว่าจะไปทัวร์จังหวัดนครสวรรค์ในรายการพรุ่งนี้     เช็คอินเสร็จผมและคุณนิกก็ไปที่มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ ตามกำหนดการ

          ไปเห็นพื้นที่ ก็ประจักษ์ว่า เราเลือกมาอยู่ในบึงจริงๆ     คือมาอยู่ตรงที่มีไว้ให้น้ำอยู่ ไม่ใช่ให้คนอยู่ ถ้าคนจะอยู่ก็ต้องเอาชนะธรรมชาติด้วยวิธีการต่างๆ นานา    

          ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายชนินทร์ บัวประเสริฐ     และนายภิญโญ นิโรจน์ อดีต รมต. สำนักนายก มารอ
อยู่แล้ว     และทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้ชาวบ้านที่มาชุมนุมแสดงพลังความต้องการมหาวิทยาลัยมหิดล กว่า ๕๐๐ คน  นั่งรออยู่ที่อีกอาคารหนึ่ง

          ก่อนกินอาหารเที่ยง รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขต ผศ. นคร เหมะ มาบอกให้ผมไปพบกับชาวบ้านหน่อย เพราะรอมานานแล้ว      ไปถึงก็มีกำนัน  และนายก อบต. เอาช่อดอกไม้มอบ และแจ้งความประสงค์ต้องการให้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังอยู่ที่บึงเสนาทนี้ต่อไป     คนที่มีท่าทางเป็นผู้จัดแจงคือคุณภิญโญ นิโรจน์

          แล้ว รองฯ นคร บอกผมว่า อาจารย์พูดกับชาวบ้านหน่อย      ผมสวมวิญญาณนักการเมือง (ที่ผมไม่มี) กล่าวปราศัย     ว่าผมขอบคุณที่มาต้อนรับ และมอบดอกไม้     ที่จริงไม่น่าต้องลำบากมากันเลย      เพราะถ้ามหาวิทยาลัยมหิดลจะถอนตัวจากจังหวัดนครสวรรค์ เราก็จะไม่ยกขบวนมาประชุมกันที่นี่     ที่มาก็เพื่อมาดูให้เห็นกับตาว่าสภาพเป็นอย่างไร     และได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้นำของนครสวรรค์ด้วย      เพราะฉะนั้น ผมยืนยันได้ ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลจะยังร่วมมือกับชาวนครสวรรค์ต่อไป

          โดยต้องเข้าใจว่า นครสวรรค์กับ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหุ้นส่วนกัน     การเป็นหุ้นส่วนกันนั้น แปลว่าแต่ละฝ่ายมีของมาลงหุ้น     สิ่งที่ มหาวิทยาลัยมหิดลมีมาลงหุ้นไม่ใช่เงิน แต่เป็นวิชาความรู้และชื่อเสียง      ส่วนหุ้นที่เป็นเงินและทรัพยากรอื่นๆ นั้น ทางนครสวรรค์ต้องเป็นผู้ลง   

          ชาวบ้านที่มาท่าทางเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส     ผมยกมือไหว้ทักทายไปทั่ว     แล้วเดินไปกินข้าวเที่ยงอย่างสบายใจ      ผมมาทราบภายหลังว่า ชาวบ้านที่มานั้นได้รับคำชักชวนให้มารับเหรียญจตุคามฯ เขาจึงมา

          บ่ายโมง เป็นการนำเสนอเรื่องราวของ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์     ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๙     สมัยท่านอธิการบดี ศ. นพ. อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ    โดยทางนครสวรรค์เสนอที่ดิน ๓ แปลง คือ ที่บึงเสนาท อ. เมือง, บึงเขาดิน อ. เมือง, และดงบ้านโพ อ. เก้าเลี้ยว     ทางมหาวิทยาลัยมหิดล เลือกที่บึงเสนาท เพราะใกล้เมืองมาก     ห่างโดนเส้นทางตรงเพียง ๕ ก.ม.  
 
          อุปสรรคย่อมมีเป็นธรรมดา     ขั้นแรก เพราะบริเวณนี้เป็นเสมือน “แก้มลิง”  ของ จ. นครสวรรค์ นักนิเวศวิทยาจึงคัดค้าน     และมีมติ ครม. ในปี ๒๕๔๘  ให้อนุรักษ์พื้นที่นี้ไว้     กระทรวงมหาดไทยจึงมีมติให้ มหาวิทยาลัยมหิดลใช้เฉพาะพื้นที่ ๓๒ ไร่ที่ก่อสร้างอาคารไว้แล้ว

          อุปสรรคขั้นที่ ๒  เป็นบัญชาฟ้าดิน     คือน้ำท่วมใหญ่ในรอบ ๖๐ ปีของนครสวรรค์    ทำให้เขื่อนดินกั้นน้ำโดยรอบพื้นที่วิทยาเขตระยะทาง ๖.๘  ก.ม. ที่สร้างในเดือนมกราคม ปี ๒๕๔๙  พัง ๓ จุด     น้ำท่วมอาคารเรียนเหลือครึ่งเมตรก็จะถึงพื้นชั้น ๒     ในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ๒๕๔๙  คือเขื่อนที่สร้างเสร็จต้นปี โดนลองของตอนปลายปี     และพังไป 3 จุด    ดร. ต่อตระกูลบอกว่าเขื่อนนี้สร้างไม่ถูกหลักวิชา      ซึ่งก็ตรงกับที่ท่านผู้ว่าฯบอกผม    

          ทางนครสวรรค์ก็มีความเห็นต่างกัน     คนที่บึงเสนาทก็อยากให้มหาวิทยาลัยอยู่ที่นี่     คนที่มีเหตุผล ไม่มีผลประโยชน์อื่นก็เห็นชัดว่าอยู่ยาก     ผมเดาว่าคงจะมีคนอยากให้ย้ายไปอยู่ใกล้ๆ ที่ของตนด้วย    แต่ ม. มหิดล คงจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ในท้องถิ่น

          วข. นครสวรรค์เริ่มรับ นศ. ปีการศึกษา ๒๕๔๘     เวลานี้มี อาจารย์ ๖ คน    เจ้าหน้าที่ ๘  คน  นักศึกษา ๖๗ คน สาขาวิทยาการจัดการ    โดยที่ นักศึกษาศิลปศาสตร์ ๑๗ คน ย้ายไปเรียนที่ศาลายาเพราะน้ำท่วม แล้วติดใจ ไม่ยอมกลับ    

          เราเห็นชัดเจนว่า นครสวรรค์มี “ทุนสังคม” ที่สูงมาก    มีการรวมตัวกันเป็น “พลเมืองรักถิ่น”  หลายกลุ่มที่ร่วมมือกัน    ได้แก่ กลุ่ม YE (Young Executive),  กลุ่ม YCL (Young Community Leader),  กลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม    ผมรู้จักหัวหน้ากลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่มดี คือ นพ. สมพงษ์ ยูงทอง ประสาทศัลยแพทย์ผู้หลงไหลการทำงานเพื่อสังคมและชุมชน    

          หลังการประชุมสภามหาวิทยาลัย เรากลับมาที่โรงแรมพิมาน     ท่านผู้ว่าฯ ชนินทร์ เตรียมห้องพูดคุย ตามที่นัดกันตอน ๑๘.๓๐ น.    มีผู้นำหลากหลายกลุ่มมาพูดคุยกัน ๒๒ คน   ทางมหาวิทยาลัยมหิดล มีกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหาร ๘ คน     เราแนะนำตัวทำความรู้จักกัน     และแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องโอกาสในการร่วมมือกันทำความเจริญให้แก่จังหวัดนครสวรรค์         

          ต่อด้วยงานเลี้ยงอาหารค่ำ     ซึ่งทางจังหวัดจัดเสียใหญ่โต     มีวงดนตรีแจ๊สมาบรรเลงอย่างไพเราะ    อาหารอร่อย และเลี้ยงไวน์ด้วย     มีการกล่าวความในใจกัน   ตามด้วยการร้องเพลง    ทางนครสวรรค์ฉายวิดีโอบอกความต้องการของคนนครสวรรค์ ตั้งแต่ผู้ว่าฯ  คหบดี  ผู้นำท้องถิ่น ไปจนถึงนักเรียนมัธยม     ทำให้เราเข้าใจความต้องการและข้อจำกัดของทั้งฝ่ายนครสวรรค์ และมหาวิทยาลัยมหิดล    

          ทุกฝ่ายชื่นชมความสามารถในการประสานงานของ ผศ. นคร รองอธิการบดีวิทยาเขต     จนเกิดหลักสูตร ปริญญาตรี สาขา การอนุรักษ์ทรัพยากร     หลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น    และโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด     โดยความร่วมมือของ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมฯ กับประชาคมนครสวรรค์     แสดงให้เห็นศักยภาพทางวิชาการของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสนองความต้องการของท้องถิ่น

          นอกจากนั้นเรายังแลกเปลี่ยนกันว่ามีศักยภาพในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมแพทยศาสตร์สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ   

          แต่สถานที่จัดตั้งวิทยาเขตขนาดใหญ่นั้น ผมเรียนท่านผู้ว่าฯ และผู้นำในนครสวรรค์ว่า บึงเสนาทไม่มีอนาคต     ด้วยเหตุผลทางวิชาการ ที่ รศ. ดร. ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการก่อสร้างในที่ลุ่ม บอกว่าตรงนี้คนอยู่สัก ๘๐ คนอย่างปัจจุบันได้       แต่เพิ่มเป็น ๘๐๐ คนก็จะพบปัญหาน้ำเสีย    ไม่รู้จะจัดการอย่างไร    มีทางเดียวคืออสูบไปทิ้งที่อื่นซึ่งยุ่งยากเกินไป

          เรื่องการเลือกสถานที่นั้น ทางนครสวรรค์ต้องตกลงกันเอง    
          ได้ตกลงกันตามคำแนะนำของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ว่าให้ทางนครสวรรค์ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิจัย mapping ทรัพยากรทุกชนิดของนครสวรรค์ ศึกษาโอกาสในการใช้วิชาการต่อยอดเชื่อมโยงทรัพยากรเหล่านั้น     เป็นการศึกษาโอกาสในการสร้างนวัตกรรมทางการเรียนรู้     ให้นครสวรรค์เป็นจังหวัดแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ      

          ผมได้เรียนรู้ว่า นครสวรรค์เป็นชุมชนคนเชื้อสายจีน ที่ใหญ่เป็นอันดับที่สาม รองจากกรุงเทพ และนครปฐม      และโครงการ “ชีวิตสาธาณะเมืองน่าอยู่” ของ สสส. เมื่อ ๔ – ๕  ปีก่อน ได้ช่วยเพาะกลุ่มคนที่รักถิ่นของตน     เกิด civic group กระจายไปทั่ว     อ. ชัยวัฒน์  ถิระพันธุ์ และ ดร. อนุชาติ   พวงสำลี เคยมาฝึกอบรมทักษะ Systems Thinking และอื่นๆ เพื่อสร้าง “ความเป็นมนุษย์ที่แท้”   ทำให้ ดร. อนุชาติ มีความคุ้นเคยกับทีมผู้นำท้องถิ่นที่นี่     นับเป็นทุนความสัมพันธ์ที่ดีอีกอย่างหนึ่ง    

วิจารณ์ พานิช
๒๑  ก.ค. ๕๐

๑. ป้ายต้อนรับมีอยู่ตลอดทางเข้ามหาวิทยาลัย

๒. อาคารสำนักงานและอาคารเรียนตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในบึงเสนาท

๓. อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงเสนาทไว้ให้ชาวบ้านทำประมงน้ำจืด

๔. ผู้นำในจังหวัดมาทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความเห็น

๕. ส่วนหนึ่งของผู้นำในจังหวัด

๖. วิวเมืองแม่น้ำและบึงบอระเพ็ดถ่ายจากเขากบถ่ายโดยทีมทัศนศึกษา

๗. ทีมทัศนาจรที่บึงบอระเพ็ด

๘. หลักฐานแสดงชุมชนเชื้อสายจีนใหญ่อันดับสามของประเทศ


          
           
 

 

หมายเลขบันทึก: 114112เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2007 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
P_POP ผศ.ดร. พิจักษณ์ หิญชีระนันทน์

อย่าว่าแต่มหิดลถูก Convince ให้มาลงบึงนี้เลย

หากสังเกตอีกนิดนึง ก็จะเห็นอาคารย่อมๆ อยู่ข้างติดกันก่อนถึงมหิดล

มีสภาพยังไม่ใช้งานแต่ถูกทิ้งร้าง

บนอาคารติดป้าย "สำนักโยธาผังเมืองนครสวรรค์"

ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ออกผังเมืองเองและระบุว่าตรงนี้เป็นบึงสีเขียว

นับว่าการเมืองแรงจริงๆ

หน่วยงานที่ว่าก็ไม่ยอมมาใช้อาคารนี้หรอกครับ! ถือว่ายังไม่เสียท่า......................................

           P_POP อ.พิจักษณ์ คณะสิ่งแวดล้อมฯ

               

เชื่อมโยง...   http://gotoknow.org/blog/council/63611?page=1

ผมเห็นภาพว่าผู้บริหารระดับสูงพ่อหมอท่านๆ คงจะว่าๆ โปรเจกต์กันไปโดยลืมไปว่ามีคณะสิ่งแวดล้อมฯ, คณะวิศวกรรมฯ เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่จะสามารถปรึกษาได้ 

อาจเพราะถือว่ามีสถาปนิกใหญ่จากข้างนอกเป็นที่ปรึกษาประจำ แม้ในสภาก็รู้สึกจะมีท่านนึง

พอเกิดปัญหาค่อยโยนมาทางนี้ก็ถูกมองว่าทำไมไม่ดูแล.....ทั้งที่ไม่รู้เรื่องไม่ได้รับเชิญปรึกษาด้วยเลย

สถาปนิกในมหิดลก็มีจำนวนไม่น้อย เฉพาะในคณะสิ่งแวดล้อมก็มีเป็นอาจารย์ถึง 3 ท่าน

ตอนนี้ก็มีสถาปนิกปริญญาเอกวางแผนผังเมืองด้วยซ้ำ ผมเองน่ะเห็นแล้วอึดอัด

ยิ่งฟังรู้มาว่าคุณอนุชาตินักสังคมเที่ยวพูดไปว่ามหิดลเราไม่มีสถาปนิกเลยต้องเชิญคนข้างนอกมาปรึกษา ฟังแล้วเจ็บใจครับ (ที่ประชุมวางผังศาลายา ตค.2550)  บริษัทที่ปรึกษาภายนอกนั้นกร่างในที่สุดก็ดันงานเข้าบริษัทตนถ้าทำแล้วออกมาประเสริฐศรีไม่ว่า

แต่ทำแล้วออกมาเป็นตึกๆ แถวๆ เบอะบะคับที่คับทาง แทนที่จะออกมาให้มันดูมีนวัตกรรมลำสมัยสมกับที่ใช้งบประมาณสูงๆ ก็ขอ Comment เสียหน่อยนะครับ

           P_POP อ.พิจักษณ์ คณะสิ่งแวดล้อมฯ โทร 089-690-3696

คห. 2  ที่ว่าตึกๆ แถวๆ หมายถึงกรณีตึกคณะฯ สร้างใหม่ที่ศาลายาน่ะครับ

เขียนอย่างนี้ก็ไม่ค่อยปลอดภัยนะครับ อาจโดนฟ้องจรรยาบรรณ หรือกระแซะบ่อยๆ นักก็อาจโดนลูกตะกั่วได้

P_POP พิจักษณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท