โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)


 

          วันที่ ๒๓ ส.ค. ๕๐    สกว. จัดประชุมคณะกรรมการนโยบาย คปก. ด้วยความสุข เจือความเสียดาย     สุขเพราะได้เห็นผลงานที่ตนเองมีส่วนริเริ่มไว้     เสียดายตรงที่ประเทศไทยไม่มีกลไกลงทุนที่ก่อผลสร้างความเข้มแข็งระยะยาวของประเทศ อย่าง คปก.

          เป้าหมายของโครงการ คปก. (http://rgj.trf.or.th) ที่เป็นเป้าหมายโดยตรง     คือการผลิตบัณฑิตปริญญาเอกภายในประเทศ ที่มีคุณภาพสูงระดับนานาชาติ     จำนวน ๕,๐๐๐ คน ในเวลา ๑๐ (๑๕) ปี     เวลาผ่านมา ๑๐ ปี     มีการจัดสรรทุน ๒,๒๕๐ คน    จบไปแล้ว ๘๗๔ คน    มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ ๒,๐๓๕ เรื่อง    ยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ๓๘ เรื่อง 

          จะเห็นว่า ในเชิงจำนวน โครงการนี้ทำงานได้ประมาณ ๔๐%     และในเชิงคุณภาพ บัณฑิตมีคุณภาพสูงมาก     ไม่แตกต่างจากผู้จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ     แต่ใช้งบประมาณไม่ถึงครึ่งของวิธีส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ ปัญหาในเวลานี้อยู่ที่
          ๑. ได้รับงบประมาณน้อย    จึงจัดสรรทุนได้น้อย     ทั้งๆ ที่เวลานี้ มหาวิทยาลัยไทย มีความสามารถจะรับทุนทำงานสร้างบัณฑิตปริญญาเอกให้แก่ประเทศได้มากอีกประมาณเท่าตัว
          ๒. บางสาขาวิชา  มีศักยภาพต่ำ ในการผลิตบัณฑิตปริญญาเอก ที่มีคุณภาพสูงแบบ คปก.    การกระจายทุนจึงไม่ได้สมดุลในสาขาวิชาการ

          ปีนี้เป็น คปก. รุ่นที่ ๑๐ เราอนุมัติทุนจำนวน ๓๘๘ ทุน     ศ. ดร. นักสิทธ์  คูวัฒนาชัย   ผอ. คปก. บอกว่าน่าจะให้ทุน ๕๐๐ ทุน (โดยมีคุณภาพสูง) ได้สบายๆ     แต่ผมมองว่าน่าจะให้ ๓๘๘ x ๒ หรือประมาณ ๘๐๐ ทุนได้ โดยมีการกระตุ้นและสร้างความพร้อม

          ตัวเลขจาก สกอ. บอกว่า ทั้งประเทศต้องการอาจารย์ใหม่ ปีละ ๒,๐๐๐ คน ใน ๑๕ ปี    โดยจำนวนปีละ ๑,๑๐๐ เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุ     อีก ๙๐๐ เป็นความต้องการเพิ่ม    จะเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะใช้ คปก. ผลิตบัณฑิตปริญญาเอกปีละ ๑,๐๐๐ คน    ก็จะเกิดคุณูปการต่อบ้านเมืองมหาศาล   

          ผลกระทบของ คปก. ที่เป็นผลทางอ้อม ได้แก่
          ๑. กระตุ้น และส่งเสริมมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง เข้าสู่เส้นทางมหาวิทยาลัยวิจัย
          ๒. สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศในแบบที่เป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน    

          ผมได้เสนอต่อที่ประชุม ฝากไปกับผู้แทน สกอ., ผู้แทน สศช., ผู้แทนสำนักงบประมาณ ว่าน่าจะหางบประมาณเพิ่มเติมให้แก่ คปก. รุ่น ๑๐    ให้ได้ทุนสัก ๕๐๐ ทุน     เพราะเมื่อประเทศมีศักยภาพในการทำงานนี้     แล้วเราไม่ลงทุน ถือว่าเป็นความเขลาของประเทศ     การจัดงบประมาณนี้เป็น investment ไม่ใช่ expense     การไม่ invest อย่างฉลาดเพื่อความเข้มแข็งระยะยาวของประเทศ ถือเป็นความเขลา

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ส.ค. ๕๐

๑. บรรยากาศในห้องประชุม

๒. จากขวาไปซ้าย ประธาน  ศ.ดร.สุจินต์  จินายน, ผู้แทนสวทช. ,ผู้แทนสำนักงบประมาณ, ผอ.โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาฯ, นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

๓. ศ.ดร.นักสิทธ์  คูวัฒนาชัย   ผอ.คปก.

๔. รศ.ดร.โกศัลย์   คูสำราญ    รองผอ.คปก.ในปัจจุบัน  และรศ.ดร.กำจัด  มงคลกุล  อดีตผอ.คปก.

 

 

หมายเลขบันทึก: 125988เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2007 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดิฉันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกชั้นปีที่ 1 สาขาMathematics Education ตอนนี้รับราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และดิฉันมีความตั้งใจจริงที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการพัฒนาวิชาชีพของตนเองเพื่อพัฒนาเยาวชน และประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า  โดยเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบคิดของผู้เรียนที่สำคัญประการหนึ่ง  แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยทีเดียว  ซึ่งแหล่งทุนส่วนใหญ่จะสนับสนุนบุคลากรในหน่วยงานระดับอุดมศึกษา  ดิฉันจึงขอคำแนะนำว่าจะสามารถขอรับทุนการศึกษาได้จากแหล่งทุนใดบ้าง  ขอขอบพระคุณค่ะ

ดิฉันเป็นอาจารย์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ มีความประสงค์อยากขอรับทุนการศึกษาปริญญาเอกภายในประเทศ( มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ไม่ทราบว่าจะสามารถติดต่อขอรับทุนได้ที่ไหนบ้างคะ

ดวงเดือน สิริวิททยาวรรณ

เรียนศาสตราจารย์พิจารณ์ พานิช

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นดังนี้ค่ะ

ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกค่ะ เพราะประโยชน์ก็เป็นดังที่อาจารย์กล่าวไว้ค่ะ ตัวดิฉันเองตอนนี้ศึกษาปริญญาเอกอยู่ต่างประเทศ ประเทศที่มีค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่ว บางทีมานั่งนึกๆดู คำนวณรายจ่ายของรัฐบาลในการเรียนปริญญาเอกครั้งนี้ เฉพาะค่าบำรุงแลป(bench fee) ในแต่ละปี สามารถมาทำเป็นทุนวิจัยดีๆ ได้สองเรื่อง ในปัจจุบันนี้ ดิฉันว่าศักยภาพในการทำวิจัยของประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศ เพียงแต่ขาดงบประมาณสนับสนุนและบุคลากรเท่านั้น การมาศึกษาต่อในต่างประเทศอาจจะมีข้อดีในเรื่องของภาษา แต่ถ้าเทียบค่าใช้จ่ายแล้ว ดิฉันเห็นว่าควรแบ่งงบประมาณส่วนนี้สำหรับ คปก ก็น่าจะดีค่ะ คปก ทำให้ประเทศไม่ขาดดุลมาก เพราะเราได้ผลงานวิจัย ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ทำให้สามารถพัฒนาระบบและบุคลากรได้ จากทุน คปก ที่ให้นักศึกษาไปทำวิจัยต่างประเทศ ก็จะทำให้เราได้เรียนรู้เทคโนโลยีและมีเครือข่าย สรุปแล้วดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการนี้ค่ะ จริงๆดิฉันอยากจะเสนอว่า ในขณะนี้ จำนวนทุนอาจจะยังไม่ต้องเพิ่มก็ได้ แต่เงินที่ให้ในแต่ละทุนอาจจะให้มากขึ้น และมีระบบการคัดเลือกผู้รับทุนที่ชัดเจน เข้มข้นและเป็นธรรมค่ะ   ขอบคุณค่ะ

ผศ.พวงเพชร รัตนรามา

เรียนท่านอาจารย์ รศ.ดร.โกศัลย์ คูสำราญ

ดิฉันพวงเพชร รัตนรามาค่ะ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ไปเรียนที่สหพันธรัฐเยอรมนี จบปริญญาโทสาขาสถาปัตยกรรมภายในจาก Akademie der Bildenden Kuenste Muenchen [Art academy Munich] ไม่ได้ต่อให้จบปริญญาเอกเนื่องจากคุณแม่ป่วยหนักจึงต้องกลับมาดูแลคุณแม่ ตอนนี้อยากเรียนต่อค่ะ เพราะสนใจเรื่องความยืดหยุ่นของวัสดุก่อสร้างหลัก คือคอนกรีต และโลกเรามีปัญหาเรื่องแผ่นดินไหว ธรรมชาติเริ่มแย่ลง และ ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกอีกด้วย จึงคิดว่าถ้าเอาปัญหามาทำให้เกิดประโยชน์น่าจะเป็นการดี จึงพยายามค้นคว้าเรื่องคอนกรีตที่มีความหยุ่นตัวได้โดยมีพลาสติกใช้แล้วเป็นส่วนผสม ไปปรึกษาอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิศวกรรมโยธาของเราค่ะ ท่านก็ว่ามาทำปริญญาเอกเรื่องนี้เลยดีไหม ดิฉันไม่มีทุนสำรอง แต่ก็ไปลงทะเบียนเรียนแล้วค่ะ กำลังดำเนินเรื่องขอยกเว้นค่าหน่วยกิตจากท่านอธิการบดี เพราะปัจจุบันก็เป็นผู้ช่วยอธิการบดี ดูแลเรื่องภูมิทัศน์ รวมทั้งทำกิจการอื่นๆ เช่น ออกแบบนิทรรศการสำหรับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยที่แสมสาร สัตหีบ ให้กับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสร็จแล้วเปิดให้ชมได้ สามหลังตั้งแต่ ตุลาคม 2550ค่ะ (ทั้งหมดมีห้าหลัง) ขณะนี้กำลังออกแบบอยู่อีกสองหลัง รวมทั้งออกแบบอาคารส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของโครงการส่วนพระองค์ในวังสวนจิตรลดาอยู่อีกหนึ่งโครงการ งานทั้งหลายที่ทำก็เพื่อสถาบันของเราทั้งนั้น แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเรื่องทุนในการเรียนนี้ค่ะ พอดีไปเห็นโปสเตอร์ประกาศเรื่องทุนของท่านอาจารย์ ก็เลยคิดว่าจะเขียนมาขอทุน จึงใคร่รบกวนขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ด้วยค่ะ

การไปเรียนที่เยอรมันเป็นประสบการณ์อันดีเลิศของชีวิต ไม่มีโอกาสมาเล่าให้ท่านอาจารย์ทราบเลยค่ะ ก็เลยถือโอกาสนี้เล่าเป็นเบื้องต้นก่อน ถ้ามีจังหวะที่ท่านอาจารย์ว่างก็จะขอเรียนพบนะคะ ดิฉันได้นำกระบวนการคิดในการออกแบบจากที่โน่นมาสอนนักศึกษา ทำให้ชนะประกวดแบบกันมากมาย ช่วงแรกที่ไปเรียนโปรเฟสเซอร์ที่โน่น กระเซ้าว่าไปเรียนทำไม บ้านไทยสวยมากอยู่แล้ว ก็ตอบท่านไปว่า เรียนเพื่อเปรียบเทียบวิธีการ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ท่านก็พอใจ ดิฉันก็มีโอกาสกลับไปหาเพื่อนๆ แฟมิลี่ รวมทั้งโปรเฟสเซอร์อยู่บ้าง ทุกคนยังต้อนรับดีมากค่ะ นอกจากบางท่านที่เกษียณไปแล้วและไม่ได้เจอ

ท่านอาจารย์สบายดีนะคะ ดูในรูปยังสดใสมากค่ะ

ขอคุณพระคุ้มครองท่านอาจารย์ให้แข็งแรง และมีความสุขค่ะ

พวงเพชร รัตนรามา

โทร. 085 048 5545

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท