ความคึกคักในมหาวิทยาลัยที่รวยล้านล้าน


วันที่ ๒๒ ธ.ค. ๕๐ ผมไปเรียนรู้ในเวทีเสวนาสานพลังมหิดล    ที่ผู้บริหารระดับอธิการบดี  รองอธิการบดี  คณบดี  กรรมการคณะ  หัวหน้าภาควิชา   หัวหน้าหน่วยงาน  และสมาชิกสภาคณาจารย์  รวมประมาณ ๒๕๐ คน    มาร่วมประชุมเพื่อร่วมฝันและสานฝันร่วมกันอย่างคึกคักน่าประทับใจยิ่ง    ศ. นพ. ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มหิดล : องค์การการศึกษาแห่งอนาคต”     ท่านบอกว่าแม้เราจะไม่ค่อยมีเงิน    แต่คนเราทุกคนรวยแสนล้านทุกคน    คือมีเซลล์สมองหนึ่งแสนล้านเซลล์     แต่เราใช้ไม่เป็น    ใช้ได้เพียงคนละ ๕ – ๑๐% เท่านั้น  

ท่านแนะนำให้ใช้พลังสร้างสรรค์
๑. พลังจินตนาการ
๒. พลัง positive approach
๓. ใช้เครื่องมือ AIC  (ฝันร่วม  ยุทธศาสตร์ร่วม  แผนปฏิบัติร่วม)   ทำเป็นกระบวนการต่อเนื่อง
๔. พลังโครงสร้าง INN (Individual, Node, Network)  ตามแนวทาง Chaordic   เน้นการทำสิ่งที่แต่ละคนชอบ ทำอย่างประณีต อย่างลึก อย่างสร้างสรรค์    ซึ่งเป็นการเริ่มจากจุดที่ต่างกัน แต่เมื่อทำอย่างประณีตและลึก จะค่อยๆ เข้าไปพบภาพรวมเอง     โดยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ชอบพอหรือมีเป้าหมายเดียวกัน    และเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย 

จากแสนล้าน กลายเป็นล้านล้านอย่างง่ายดาย     เพราะเราสามารถรวมพลังของหลายๆ แสนล้านเข้ามาทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน  สร้างสรรค์ร่วมกัน  สุขร่วมกัน

การประชุมนี้จัดแบบสุนทรียสนทนา     โดยคณะผู้จัดที่เป็น “มือโปร” จริงๆ ในการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้กระตุ้นสมองซีกขวา      เขาจัดให้คนนั่งเป็นโต๊ะย่อย โต๊ะละประมาณ ๑๐ คน  เพื่อเสวนากันในหัวข้อ  (๑) หากภายใน ๔ ปีข้างหน้า มม. จะก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ จะต้องขับเคลื่อนนโยบายเรื่อง/ประเด็น ใด ที่เป็นลำดับความสำคัญสูงสุด เพราะเหตุใด  (๒) การขับเคลื่อน/ผลักดัน นโยบายข้างต้น ผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องประสานพลัง/ร่วมมือ กันอย่างไร    การประชุมนี้มีทีม “คุณอำนวย” ของสุนทรียสนทนานำโดย รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าทีม   

ก่อนจะมีการเสวนากลุ่มย่อย    มีการนำเสนอผลการวิจัยสถาบันเพื่อความเป็นเลิศใน ระดับสากลของ มม.    โจทย์สำคัญตามการตีความของผม ก็คือทำอย่างไร มม. จึงจะติดอันดับ ๑๐๐ มหาวิทยาลัยอันดับต้นของโลก

ผมชื่นใจที่ได้เห็นความคึกคักกระตือรือร้นของสมาชิกระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย     คุณูปการของการประชุมนี้คือ ได้เห็นเป้าหมายร่วม ที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก     การรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาการของ มม. โดยการประสานพลังของหลายหน่วยงาน    การให้ความสำคัญต่อการจัดการ และการกำกับดูแล     เพื่อเป้าหมายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ไมตรี ปัญญา และเมตตา (จิตสาธารณะหรือการรับใช้ผู้อื่น)     เห็นได้ชัดว่าเวทีหรือการประชุมแบบนี้เป็นการสร้าง “จิตวิญญาณมหิดล” ได้ดียิ่ง     รศ. ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ดำเนินการเสวนาช่วงแลกเปลี่ยนทั้งห้อง กล่าวว่าเป็นเวทีจินตนาการ

ท่านรองนายกฯ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ไปร่วมประชุมด้วย     และได้ให้ความเห็นว่า เมื่อออกจากระบบราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว     การทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยก็จะเปลี่ยนแปลงไปในระดับปฏิรูประบบ ที่เรียกว่าระบบกำกับดูแล

ผมได้ชี้ให้เห็นว่า สภามหาวิทยาลัยเป็นกลไกส่วนที่เรียกว่า “ระบบกำกับดูแล” องค์กร (Corporate Governance) แทนเจ้าของ (ซึ่งในที่นี้คือสังคมไทย) เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรได้ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง    อย่างในกรณีมหาวิทยาลัยมหิดล     ผมมาฟังในวันนี้เห็นชัดว่าฝันจะเดินไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ซึ่งน่าจะถูกต้อง เมื่อเห็นว่าทิศทางเป้าหมายถูกต้องสภาฯ ก็สบายใจ     แต่ระบบกำกับดูแลไม่ได้เพียงทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายแล้วคอยตรวจสอบว่าฝ่ายบริหารทำงานบรรลุเป้าหรือไม่     แต่การทำหน้าที่ Governance สมัยใหม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก ที่เรียกว่า stewardship หรือ empowerment ด้วย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้มีพลังและมีความราบรื่น

ในเวลาอันจำกัด ทำให้ผมไม่ได้พูดประเด็นสำคัญ ๒ ประเด็น ที่เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย คือ
๑. การสอดใส่มิติของการมองไกล มองเป้าหมายระยะยาว    ช่วยเสริมพลังของฝ่ายบริหารที่มักถูกงานระยะสั้นดึงความสนใจไว้
๒. การเชื่อมโยงกับสังคมวงกว้าง     นำเอาความต้องการของสังคมมาบอก    และในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงทรัพยากรเข้ามาให้แก่ มม. ผ่านความต้องการนั้นเอง

เท่ากับสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเอา “รวยล้านล้าน” ของมหาวิทยาลัย  ไปสร้างคุณค่าและมูลค่าต่อสังคมไทย (และมนุษยชาติในบางกรณี)     และในการที่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ให้แก่สังคม ก็จะยิ่งสั่งสม “ความร่ำรวย” ให้เพิ่มพูนขึ้น     เป็นวงจรไม่รู้จบ

 
 
บรรยากาศในห้องประชุมถ่ายจากหลังห้องเห็นต้นไม้แห่งความหวังอยู่ที่หน้าห้อง
 ต้นไม้แห่งความหวังผลิใบเป็นความฝันของแต่ละคนคนละ๒-๓ฝันว่าอยากให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างไร
 
 
ความฝันที่ได้จากการวิจัยสถาบัน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องมหิดลองค์กรการศึกษาแห่งอนาคตที่ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์เรียกว่ากล่าวปลุกระดม
 
 
บรรยากาศการประชุมกลุ่ม
การนำเสนอผลการประชุมกลุ่มต่อวงเสวนาในห้องใหญ่โปรดสังเกตคำขวัญที่ผนังห้อง
 
 
นี่ก็เป็นการนำเสนอผลการแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อยต่อที่ประชุมใหญ่เห็นป้ายคำขวัญอีกมุมหนึ่ง
ท่านรองนายกไพบูลย์, ศ.ประเวศ และ ศ.อมรนั่งอยู่กับอีกหนึ่งคำขวัญ
 
 
 ตัวอย่างใบไม้แห่งความหวัง
อีกหนึ่งใบไม้แห่งความหวัง
 
จากซ้ายท่านอธิการบดี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร, ศ.นพ.ประเวศ วะสี, คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  ที่อยู่บนเวทีแต่ไม่อยู่ในรูปคือ ผม กับ รศ.ดร.กฤตยา  อาชวนิจกุล
 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ธ.ค. ๕๐


          
         

หมายเลขบันทึก: 156155เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณครับ

เห็นภาพก็ประทับใจ ความร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว

ไม่มีอะไรให้ฝัน เห็นคนฝันดี ก็มีความสุขด้วยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท