การรับอาจารย์ไม่ควรดูแค่ปริญญา


ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง   เกิดกรณี สกอ. ไม่ยอมรับคุณวุฒิปริญญาเอกที่อาจารย์ท่านหนึ่งได้รับจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์   จึงมีการอภิปรายว่า มหาวิทยาลัยควรระมัดระวังในการรับอาจารย์โดยเชื่อถือปริญญาเอกอย่างเท่าเทียมกัน    เพราะปริญญาเอกจากบางมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมการเรียนรู้น้อยมาก    หรือคุณภาพการศึกษาต่ำนั่นเอง

 

ผมให้ความเห็นว่าปริญญาเอกในประเทศไทยมี ๒ แบบ   คือ แบบ Academic PhD   กับแบบ PhD เพื่อการทำงาน ไม่ใช่เพื่อวิชาการ   หลักสูตร PhD แบบหลังเวลานี้มีแพร่หลายมากในประเทศไทย   มหาวิทยาลัยพึงระมัดระวังในการรับคนที่จบปริญญาเอกจากหลักสูตรแบบหลัง

 

ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ให้ความเห็นว่า ไม่ควรรับอาจารย์โดยดูที่ปริญญาเป็นหลัก   แต่ควรดูที่คุณภาพหรือความสามารถของคนเป็นหลัก   เน้นคน ไม่ใช่เน้นปริญญา    คนที่ความรู้ความสามารถสูงมากจากการเรียนโดยไม่ผ่านปริญญา ก็ควรได้รับการยอมรับหรือยกย่อง ให้เข้ามาเป็นอาจารย์

 

ผมกลับมา AAR ที่บ้าน   ว่าการรับอาจารย์ต้องมีการกำหนดจุดมุ่งหมายว่ารับมาทำงานอะไรบ้าง   ถ้าต้องการรับมาทำงานที่เน้นการวิจัยและดูแลบัณฑิตศึกษา    อาจารย์ผู้นั้นต้องมีประสบการณ์การศึกษาและ/หรือทำงานแบบนั้นๆ มาก่อน   ซึ่งหมายความว่า ไม่ควรรับอาจารย์ที่จบหลักสูตรปริญญาเอกแบบเรียนเพื่อการทำงานทั่วไป ไม่เน้นวิชาการ    คือในการรับอาจารย์ มหาวิทยาลัยควรพิถีพิถันรับคนที่มีคุณภาพ

แต่มองอีกมุมหนึ่งของความเป็น อาจารย์    เราควรยอมรับคนที่มีความรู้ที่เรียนมาแบบใดก็ได้มาเป็น อาจารย์ ของเรา    ถ้าคนนั้นเป็นผู้ รู้จริง  

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ย. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 224232เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 07:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อาจารย์คะ ดิฉันเห็นด้วยกับแนวคิดของท่านมากค่ะ และขอขอบพระคุณที่ได้นำเสนอแนวคิดนี้ เพราะผู้บริหารบางแห่งดูเพียงปริญญาอย่างเดียวเพื่อให้ได้เกณฑ์ของ กพร.

สมศ.

สนับสนุนกับความคิดของอาจารย์ค่ะ

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผมมองว่า การรับอาจารย์ในปัจจุบันกำหนดคุณสมบัติเรื่องเกียรตินิยม ส่งผลให้ผู้มีความชำนาญในด้านนั้นๆ หมดโอกาสที่จะสมัคร และหมดโอกาสที่จะนำความรู้ความสามารถอย่างเต็มเปี่ยมมาใช้

การกำหนดคุณสมบัติในระดับปริญญาตรีว่าต้องได้รับเกียรตินิยม นั้น มีข้อพิจารณา คือ

ประการแรก บางคนชำนาญวิชานั้นๆ แต่อาจจะไม่เก่งอย่างอื่น การที่ได้คนที่จบการศึกษาระดับเกียรตินิยม พวกเขาเหล่านี้เก่งทุกวิชา แต่เก่งอย่างละนิด เรียกว่าเป็นการเก่งแบบต้นไม้ทั้งป่าแต่เป็นเก่งแบบกระพี้ก็เป็นได้ คะแนนเฉลี่ยรวมทุกวิชจึงสูงกว่าคนที่เก่งแบบ แก่นไม้แต่เป็นไม้ต้นเดียว...

ประการที่สอง ต้องยอมรับว่า สถาบันการศึกษามีคุณภาพที่ไม่เท่ากัน การกำหนดระดับเกียรตินิยมนั้น ย่อมไม่เป็นธรรมต่อผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่มีความยาก และความเข้มข้นทางวิชาการสูง ในทางกลับกัน เราจะได้ผู้มีความเข้มข้นทางวิชาการระดับอ่อน ที่ได้รับเกียรตินิยมเพียงเพราะ สถาบันนั้นมีระบบวัดผลที่อาจจะไม่ได้มาตรฐานมาเป็นนักวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากทีเดียว...

ลองตรองดูแล้ว มิพักต้องสงสัยเลยว่าคุณภาพของนักวิชาการทำไมจึงลดลง

เรื่องนี้อาจจะเล็กกว่าเรื่องที่อาจารย์เขียน แต่ผมเห็นว่ามันสำคัญมากทีเดียว

ชอบ "ประเด็นแนวคิด" นี้มาก ๆ ครับ อาจารย์หมอ

ขอรับไปคิดครับ :)

ภูมิปัญญาชาวบ้านเริ่มได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น ดีจังเลยครับ

การคัดเลือกอาจารย์จากเกียรตินิยมง่าย เพราะดูจากเอกสารได้เลย

แต่การคัดเลือกจากผู้รู้คงต้องมีขั้นตอนกระบวนการที่เหมาะสม ซึ่งก็คงจะแตกต่างกันไปตามสาขาวิชานะครับ ขอให้เกิดผู้รู้และคัดเลือกผู้รู้จริงมาเป็นอาจารย์เยอะๆนะครับ บ้านเมืองจะได้เจริญรุ่งเรืองอย่างสงบสุขนะครับ ขอบพระคุณครับ

นอกจากการคัดเลือกอาจารย์แล้ว กระผมคิดว่าต้องวางรากฐานทางการศึกษาให้สอดรับตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงปริญญาให้สอดรับกับจำนวนประชากรและการทำงานในอนาคตไปด้วยเลยก็น่าจะดีนะครับ โจทย์เยอะสักหน่อยนะครับท่านอาจารย์หมอวิจารย์ ที่เคารพอย่างสูงครับ

ใช่เลยครับๆๆๆๆๆ บางมหาลัยจะชอบดูปริญญาและดูมหาลัยที่จบเป็นหลักแต่ไม่ดูความสามารถของคนเป็นหลักคนเรามีคุณภาพต่างกัน บางคนจบการศึกษาในระดับที่สูงๆอาจจะมีบางเรื่องที่ไม่รู้ก็ได้ ความรู้บางสิ่งบางอย่างไม่ได้อยู่ในตำราก็มีมาก ถือวาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็แล้วกันครับ

สถาบันการศึกษามีความจำเป็นต้องรับผู้ที่จบปริญญาเอก เพราะต้องการผ่านตัวชี้วัดที่ตั้งขึ้น ทำให้บางครั้งการสัมภาษณ์อาจารย์ก็ดูเพียงแค่คุณวุฒิ ก็รู้แล้วว่าผู้บริหารอยากรับใคร

ผู้บริหารมหวิทยาลัยควรนำเป้าหมายของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยในการพิจารณารับอาจารย์ รวมทั้งการบริหารมหาวิทยาลัยก็ไม่ควรนำเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพมาดูเพียงด้านเดียวแล้วนำมาเป็นข้ออ้างในการบริหาร เพื่อไม่ต้องตอบคำถาม

การบริหารมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์ชี้วัดทั้งหมด อาจทำให้มหาวิทยาลัยขาดจุดเด่น และลืมจุดกำเนิด และจุดมุ่งหมายของการก่อตั้งได้

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับที่นำประเด็นนี้มาเสนอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท