การปฏิรูปการศึกษายุคใหม่


วันที่ ๑๕ ธ.ค. ๕๑ จะมีการประชุม ระพีเสวนา ขึ้นที่หอประชุมใหญ่  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย   ในหัวข้อ การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท   โดยมีคณะผู้ร่วมจัดหลักจาก สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ  มูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก  และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา  มหาวิทยาลัยมหิดล    มีหน่วยงานภาคีเข้าร่วมประมาณ ๖๐ หน่วยงาน

 

วันที่ ๑๗ พ.ย. ๕๑ ทีมประชาสัมพันธ์งาน ขอมาสัมภาษณ์ผม   เพื่อเอาไปประกอบการประชาสัมพันธ์งาน   ผมมีความเห็นว่า การศึกษาที่จัดกันในปัจจุบัน ยังมีจุดอ่อนในหลายด้าน   จึงต้องมีการริเริ่มสร้างสรรค์การจัดรูปแบบการเรียนรู้แนวทางใหม่ๆ ขึ้นมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา    การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ต้องการ ๑๐ ข้อ หรืออาจเรียกว่า บัญญัติ ๑๐ ประการของการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง ได้แก่

1.      การเรียนรู้ที่เน้นเรียนวิธีเรียนรู้ (Learning Process) มากกว่าตัวเนื้อหาความรู้ (Content)   เน้นให้บัณฑิต เป็น นักเรียนรู้ เป็นผู้ใฝ่เรียน กระหายใคร่รู้ และมีทักษะในการเรียนรู้    คือเน้นให้เป็น Learning Person    ไม่ใช่เน้นให้บัณฑิตเป็น ผู้รู้ หรือ Learned Person

2.      การเรียนรู้ที่ ระเบิดจากภายใน หรือ งอกงามจากภายใน เป็นหลัก     ไม่ใช่รับมาจากภายนอก เป็นหลัก  

3.      การเรียนรู้ที่เน้นบูรณาการหลากหลายด้าน   ไม่ใช่เน้นเรียนรู้แบบแยกส่วน

4.      การเรียนรู้ที่เชื่อมชีวิตจริงกับวิชาการ  

5.      การเรียนรู้ที่ยิ่งทำให้แรงบันดาลใจ และจินตนาการ ของแต่ละคนยิ่งลุกโชนยิ่งขึ้น   ไม่ใช่ทำให้มันมอดไป

6.      การเรียนรู้ที่ให้ความสุข ความสนุก และเกิดความมั่นใจในตนเอง และเกิดความเคารพในผู้อื่น

7.      การเรียนรู้ที่ไม่ใช่นำไปสู่ความเป็นบุคคลเรียนรู้ และผู้รู้ เท่านั้น   แต่นำไปสู่พัฒนาการของความเป็นมนุษย์ด้วย

8.      การเรียนรู้ที่คำนึงถึงตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ   คำนึงถึงระดับพัฒนาการของสมองในแต่ละช่วงอายุ   และของแต่ละคนที่มีระดับพัฒนาการทางสมองไม่เท่ากัน

9.      การเปลี่ยนบทบาทของครู จากผู้สอนหรือถ่ายทอดความรู้ มาเป็น Learning Facilitator   และเป็นผู้จุดประกายแรงบันดาลใจและจินตนาการ

10.  การเปลี่ยนระบบการจัดการระบบการศึกษา    จากระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มาเป็นระบบเอื้ออำนาจ หรือ empowerment

 

หลักการข้างบนเวลาเอามาใช้ปฏิบัติจริงต้องมีการตีความ มีการทดลองปฏิบัติ และประเมินผลของการปฏิบัติ ในหลากหลายรูปแบบ    โดยผู้ทดลองปฏิบัติต้องมีจิตใจที่เป็นอิสระในการดำเนินการ   และดำเนินการด้วยแรงขับดันหรือแรงบันดาลใจจากภายใน   ไม่ใช่ทำตามกระแส กระสุน หรืออำนาจเหนือ   จึงเป็นการดีที่เครือข่ายการศึกษาทางเลือกเข้ามาเป็นแรงหนึ่ง ในการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษายุคใหม่

ผมมองว่า การศึกษาของชาติสำคัญเกินกว่าที่เราจะปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว    ทุกคนในชาติต้องเข้าไปช่วยกันปฏิรูป

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ พ.ย. ๕๑

 

หมายเลขบันทึก: 225030เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2008 06:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท