บันทึกการเมืองไทย : วิจารณ์นโยบายการศึกษาของรัฐบาลอภิสิทธิ์


จะให้ได้ผล ต้องแก้วิธิบริหารงานที่ผิดพลาดมา ๑๐ ปี

 

          ที่จริงผมเจียมตัวว่าตนเองไม่ถนัดในเรื่องการเมือง   ผมมองว่าความเห็นเชิงนโยบายเรื่องต่างๆ ของผมมักจะไม่ค่อยเหมาะสมต่อสภาพของวิธีคิดแบบเอาการเมืองเป็นตัวตั้ง   จึงไม่ค่อยได้ออกความคิดเห็นเชิงวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล   แต่นี่คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ขอร้องไว้ว่า อยากให้ผมช่วยให้คำแนะนำต่อการทำงานของรัฐบาลด้วย    ท่านคงจะเห็นว่า ในที่ประชุมที่เราเป็นกรรมการร่วมกันนั้น ผมให้ความเห็นแปลกๆ อยูบ่อยครั้ง   เข้าท่าบ้าง ไม่เข้าท่าบ้าง แล้วแต่กรณี

          ผมเองก็อยากให้รัฐบาลนี้อยู่บริหารประเทศไปนานหน่อย   เพื่อเยียวยาบาดแผลและวางรากฐานเรื่องหลักๆ ของประเทศ   เพราะผมศรัทธาในความเอาจริงเอาจังของท่านนายกฯ อภิสิทธิ์   แม้ว่ารัฐบาลผสมชุดนี้จะขี้เหร่อยู่ไม่น้อย   จึงลองเสนอความเห็นผ่านบันทึกใน บล็อก นี้   โดยไม่รับรองว่าความเห็นนี้จะถูกต้องหรือไม่

          นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลมี ๘ ข้อ   ที่เด่นที่สุดคือข้อ ๑ ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ    โดยมีข้อความดังนี้ “ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และระดมทรัพยากรเพื่อการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา พัฒนาครู พัฒนาระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนหลักรวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง”
          ที่ว่าเด่น เพราะเป็นเรื่องสำคัญสุดยอดต่ออนาคต แต่แนวทางดำเนินการซ้ำรอย ความผิดพลาดเดิม   คือหลงเน้นปฏิรูปโครงสร้าง   ไม่เน้นปฏิรูปกระบวนการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน   ถ้าทำตามที่เสนอก็จะไม่พ้นผลแบบเดิม คือคุณภาพของผู้จบการศึกษาลดลง ในขณะที่คุณวุฒิและผลประโยชน์ของครูและผู้บริหารการศึกษาดีขึ้น

          แนวทางของการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง คือการพัฒนาจากฐาน   ไม่ใช่พัฒนาจากยอดอย่างที่ทำกันมา ๙ ปี และเกิดผลให้ผลการศึกษาเสื่อมลง   การพัฒนาจากฐานคือพัฒนาที่โรงเรียน/ครู ที่จัดการเรียนรู้ได้ผลดี    โดยส่งเสริมให้ขยายเครือข่ายวิธีจัดการศึกษาที่มีคุณภาพออกไป   ส่งเสริมให้ครูที่มีผลงานดีได้ศึกษาต่อ ทำวิทยานิพนธ์เพื่อสร้างความรู้เชิงทฤษฎีจากผลการปฏิบัติ   โดยเชื่อมโยงนักการศึกษาระดับยอดในมหาวิทยาลัยเข้าไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา   ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อเด็กไทยยุคปัจจุบัน จากสภาพจริงภายในสังคมของเรา เชื่อมโยงกับศาสตร์ด้านการเรียนรู้ยุคใหม่ของโลก

          ที่จริงการกล่าวหาว่าแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ใช้กันอยู่เป็นแนวทางที่ผิดพลาดเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้มาก   ไม่สามารถเขียนรายละเอียดออกมาได้ทั้งหมด   ถ้ามีการจัดประชุมระดมความคิดเรื่องนี้ผมยินดีเข้าร่วมด้วย หากนัดล่วงหน้านานๆ เพื่อให้ผมจัดเวลาเข้าร่วมได้

ข้อวิจารณ์ของผม เป็นการวิจารณ์วิธีดำเนินการตามนโยบาย ไม่ใช่ตัวนโยบาย   ซึ่งนโยบายข้อ ๑ เชื่อมโยงกับข้อ ๓ คือการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา   ซึ่งมีข้อความดังนี้ “พัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานะสูงขึ้น ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน มีการดูแลคุณภาพชีวิตของครูด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เน้นการพัฒนาเนื้อหาสาระและบุคลากรให้พร้อมรองรับและใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างคุ้มค่า”


          ซึ่งผมก็ว่าที่ผ่านมาดำเนินการผิด   เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ผิดให้แก่วงการศึกษา คือวัฒนธรรมบ้า (คลั่ง) ปริญญา หรือคุณวุฒิในกระดาษ   ไม่เน้นคุณวุฒิในการปฏิบัติหรือผลงานต่อศิษย์   เรื่อง “ผลงาน” เพื่อปรับตำแหน่ง ก็เป็นผลงานในกระดาษ (บางคนจ้างทำ)    คำว่า “ทำผลงาน” ไม่เชื่อมโยงกับศิษย์ แต่เชื่อมโยงกับกระดาษ   ครูที่ได้ดีมักไม่ใช้ “ครูเพื่อศิษย์” แต่เป็น “ครูเพื่อนาย” หรือ “ครูที่มีปริญญา”   ผมฟันธงว่า วิธีพัฒนาครู ด้วยวิธีที่ไม่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของศิษย์ เป็นวิธีที่ผิดและไม่คุ้มค่า    แต่อาจได้ผลทางการเมือง ได้คะแนนเสียง

          ผมเห็นด้วยกับนโยบายข้อ ๕ ที่เน้นส่งเสริมอาชีวศึกษา   แต่ก็กังวลว่าวิธีปฏิบัติจะผิดทาง   คือเน้นพัฒนาจากยอด   ซึ่งจะไม่ก่อผลให้เกิดศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจ และยอมรับนับถือ ในทักษะเชิงเทคนิค และความรับผิดชอบเอางานเอาการสู้งานของผู้จบการศึกษา
          นโยบายข้อ ๕ เน้นจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และเน้นการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ   ซึ่งผมเห็นด้วย   โดยนโยบายข้อ ๕ มีดังนี้ “ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ โดยการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาตามศักยภาพ ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างของการใช้ทักษะอาชีวศึกษาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในงาน ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา”
          แต่แนวทางดำเนินที่ผ่านมาเน้นการขยายตัวของอุดมศึกษามากกว่าความเป็นเลิศ   และยังไม่มีวิธีจัดการระบบให้มีความเป็นเลิศหลากหลายแบบ เพื่อเป้าหมายที่แตกต่างกัน   แต่ก็มีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในความเป็นเลิศในรูปแบบและเป้าหมายของตน

          ผมเห็นด้วยกับนโยบายข้อ ๗ ที่มุ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ   โดยมีข้อความในนโยบายดังนี้  “ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้”   โดยในเชิงปฏิบัติผมว่าภาครัฐมีศักยภาพน้อยมากที่จะทำเรื่องนี้เอง   ภาครัฐควรดำเนินการแบบเชื่อมโยงเครือข่าย และร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมที่มุ่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว

          นโยบายข้อ ๘ มีว่า “เร่งรัดการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้อย่างบูรณาการในทุกระดับการศึกษาและในชุมชน โดยใช้พื้นที่และโรงเรียนเป็นฐานในการบูรณาการทุกมิติ และยึดเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นหลักในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตในชุมชน โดยเชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา”


          อ่านแล้วผมเกิดความรู้สึกสองด้านที่ตรงกันข้ามไปพร้อมๆ กัน   ที่ชอบใจคือเป้าหมายเป็นหนึ่งในภูมิภาค   แต่ที่เป็นห่วงคือกลิ่นไอของ เทคโนแครต ที่ขีดวงบทบาทหรืออำนาจที่เน้นภาครัฐเป็นหลัก   ยังไม่ได้ร่องรอยของวิธีคิดดำเนินการแบบแนวราบหรือเน้นเครือข่ายเป็นหลัก

          เอาเข้าจริง ผมไม่ได้วิจารณ์ตัวข้อความในนโยบาย   แต่วิจารณ์วิธีประยุกต์ใช้นโยบายลงสู่การปฏิบัติ   โดยมีสาระสำคัญคืออย่างหลงทางแบบที่เป็นมาแล้ว ๙ ปี 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ม.ค. ๕๒

 

 

หมายเลขบันทึก: 233658เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นานมาแล้วเคยอ่านขำขันเรื่องหนึ่ง (ซึ่งไม่แน่ใจนักว่าเป็นขำขันหรือเรื่องจริง) ในนิตยสาร วีรธรรม เรื่องมีอยู่ว่า

ข้อความโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งประกาศว่า "ผมจะบอกวิธีทำให้คุณรวย เพียงส่งเงินหนึ่งเซ็นต์มาให้ผม พร้อมซองติดแสตมป์ส่งกลับถึงคุณ ผมจะบอกเคล็ดลับนี้ให้"

ปรากฏว่าประชาชนสนใจอย่างล้นหลาม เมื่อส่งเงินไป (ถูกมาก เพียงเซ็นต์เดียวเท่านั้น) ไม่กี่วันก็ได้รับคำตอบเป็นกระดาษใบหนึ่ง เขียนว่า "Do as I do." (ก็ทำอย่างที่ผมทำไง)

ไม่นานมานี้ อ่านข่าวจริง (ไม่ใช่ขำขัน) ทางหนังสือพิมพ์ สายการบินใหม่สายหนึ่งในสิงคโปร์ประกาศว่า ค่าตั๋วเครื่องบินสิงคโปร์-กรุงเทพฯ ราคาเพียงหนึ่งเหรียญ (23.50 บาท)

ผู้คนแห่กันไปจับจองล้นหลาม เพราะราคาถูกเหมือนของฟรี

ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีอีกข่าวจริง (ไม่ใช่ขำขันอีกเช่นกัน) : สิงคโปร์กำลังพิจารณาว่า จะเปิดคาสิโนดีหรือไม่ เพราะบ่อน(ถูกกฎหมาย)หมายถึงรายได้เข้ารัฐจำนวนมหาศาล ไหลมาแบบง่าย ๆ เหมือนได้ฟรี แต่หากเปิดคาสิโนจริง จะจำกัดไม่ให้คนมีรายได้น้อยเล่น เน้นที่คนต่างชาติ

ทุกทุกวัน เราถูกกรอกหูด้วยประโยคที่ว่า นี่คือทางลัดไปสู่ความรวย นั่นคือประตูไปสู่ความมั่งมี โน่นคือทางลัดสู่ความมั่งคั่ง หนังสือขายดีส่วนใหญ่เป็นประเภทสอนวิธีสร้างความร่ำรวย การวางผังบ้านเรือนสำนักงานในทิศที่สร้างความรวย ชื่อที่ทำให้รวย ฯลฯ

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ดูเป็นคนละเรื่องกัน แต่ความจริงเป็น "นิยาย" เรื่องเดียวกัน

เรื่องนี้มีตัวละครเพียงสองตัว คือคนโลภ กับคนที่หาประโยชน์จากคนโลภ โดยที่ฉากของเรื่องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่น ตั๋วฟรี คาสิโน ล็อตเตอรี การแข่งม้า ไปจนถึงความมั่นคงทางกายภาพและใจ

ตอบยากว่าความโลภฝังอยู่ในมนุษย์มาแต่แรกเกิด หรือถูกสร้างขึ้นจากสภาพแวดล้อม ที่แน่ ๆ คือมันชูดอกตั้งแต่ใครบางคนคิดประดิษฐ์ระบบเงินตรา และเบ่งบานเต็มที่เมื่อทุนนิยมเสรีครองโลก ก่อนหน้านั้น มนุษย์กินอยู่ตามอัตภาพ ไม่มีใครปลูกพืชทำนาเกินกว่าที่ต้องกิน เพราะส่วนเกินคือความเหนื่อยเปล่า

มาถึงวันนี้ ส่วนเกินคือ "ความจำเป็น" คือสถานภาพทางสังคม คือ "ความมั่นคง" ที่สะสมได้

นี่คือยุคที่ความโลภเบ่งบาน คนฉลาดคือคนที่สามารถตักตวงผลประโยชน์โดยไม่ต้องทำงาน คนเก่งคือคนที่สามารถเกษียณในวัยหนุ่มสาว

นี่คือยุคที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยคนที่ไม่คิดจะทำงาน และเด็ก ๆ เติบโตขึ้นด้วยความเชื่อว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนก็มีชีวิตที่สุขสมสำเร็จได้

ความโลภนี้ทำให้หลายคนยอมปิดตาข้างเดียว เมื่อมันคาบเกี่ยวกับจริยธรรม ด้วยข้ออ้างอมตะ :

เราไม่ขายล็อตเตอรี คนอื่นก็ขาย

เราไม่ตัดป่า คนอื่นก็ตัด

เราไม่เปิดบ่อน คนอื่นก็เปิด

เราไม่โกง คนอื่นก็โกง

และอีกสารพัด "เราไม่" กับ "ใคร ๆ ก็ทำทั้งนั้น"

และมักลงท้ายด้วยการเปลี่ยนสีดำให้เป็นขาว โดยประทับตรา "ถูกกฎหมาย" เสียเลย

บางครั้งคำว่า "ถูกกฎหมาย" นี้น่าขยะแขยงยิ่ง ดูดี ๆ แล้วมันเป็นเพียงข้ออ้างของคนโลภเท่านั้น

หลัก "การพนันสำหรับคนต่างชาติ" นั้น ก็ไม่ต่างจากการห้ามตัดป่าของตน และหันไปตัดป่าไม้ในประเทศอื่นแทน หรือการโกยขยะออกจากบ้านของเราไปให้พ้นตัว

เมื่อคิดอย่างนี้ ก็ไม่มีใครที่สนใจปัญหาโอโซนรั่ว หรือปฏิกิริยาเรือนกระจก สิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน ไปจนถึงสงครามในอิรัก เพราะว่า "มันไม่เกี่ยวกับกู"

"ส่วนเกิน" นั้นไม่เคยพอ เพราะความโลภนั้นเป็นอนันต์

ข้อความนี้ฝากถึง นายกฤษณพงศ์ กีรติกร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท