ขุนเขาเหนือขุนเขา : (๑) เรียนวิชาพร้อมกับเรียนชีวิต


          ผมกำลัง AAR หนังสือ Mountains beyond Mountains : The Quest of DR. PAUL FARMER, A MAN WHO WOULD CURE THE WORLD เขียนโดยนักเขียนมือรางวัล พูลิตเซอร์ Tracy Kidder

          ปิ๊งแว้บของผมเมื่ออ่านตอนเขาบรรยายการเดินทาง 60 ก.ม. จากสนามบินไปยังโรงพยาบาล “พันธมิตรแห่งสุขภาพ” (Partners in Health – PIH) หรือ Zanmi Lasante ในภาษาไฮติ   ที่ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง ด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความยากจน    ผมบอกตัวเองว่า สาเหตุสำคัญของความยากจนคือวัฒนธรรม   ที่เป็นวัฒนธรรมแห่งการยอมจำนน    ไม่รวมตัวกันลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากลำบากนั้น
          สังคมใดมีวัฒนธรรมแห่งการต่อสู้ เอาชนะความยากลำบาก และเรียนรู้ สังคมนั้นไม่มีวันยากจน

          ผมยังอ่านได้ไม่ถึงครึ่งเล่ม   AAR ตอนนี้คือ เรื่องราวของคนที่เป็น outlier หรือคนนอกกรอบ   คือ Paul Farmer ที่ใช้ชีวิต “เรียนรู้คู่ขนาน” เดินสาม “รางชีวิต” ในขณะเดียวกัน    เป็นรูปแบบ “การศึกษา” ที่น่าสนใจยิ่ง    คือเรียนไป ทำงานไป รับใช้มนุษยชาติไป   
          Paul Farmer เรียนจบปริญญาตรีที่ Duke    แล้วได้ไปสัมผัสและหลงใหลความยากจนค่นแค้นของประเทศไฮติ ที่เป็นเกาะในทะเลแคริบเบียน   บวกกับความหลงใหลวิชามานุษยวิทยา    ทำให้เขาเรียนแพทย์ไปพร้อมๆ กับเรียนปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาที่ฮาร์วาร์ด   ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนที่ไม่ปกติ   แต่ที่ไม่ปกติยิ่งกว่านั้นคือ เขาเรียนไปทำกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาสุขภาพของสังคมไฮติไปพร้อมๆ กัน   โดยระหว่างเรียนเขาอยู่ที่ฮาร์วาร์ดน้อยกว่าอยู่ที่ไฮติ  
          น่าสนใจที่มหาวิทยาลัยชั้นยอด เน้นวิชาการสุดๆ อย่างฮาร์วาร์ดยอมให้นักศึกษาเรียนแบบนี้ได้   ยิ่งเรียนแพทย์ด้วยแล้ว ถือได้ว่าประหลาดสุดๆ  
          ที่ทำอย่างนี้ได้ ก็เพราะมีศาสตราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ ๒ คน (Arthur Kleinman และ Leon Eisenberg) คอยปกป้องสนับสนุน Paul Farmer
          แล้ว Paul Farmer ก็เรียนจบ MD และ PhD พร้อมกัน โดยผลการเรียนยอดเยี่ยม  

          ที่จริง ระหว่างเรียน MD PhD Paul Farmer เรียนทฤษฎีบางส่วนที่ฮาร์วาร์ด   แล้วไปเรียนภาคปฏิบัติและเรียนทฤษฎีด้วยตนเองที่ไฮติ   โดยทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์ดูแลผู้ป่วยและพัฒนา “ระบบดูแลสุขภาวะ” ไปพร้อมๆ กัน   ภายใต้ความคิดว่า ความยากจนคือปัจจัยเสี่ยงสำคัญของความเจ็บป่วย   และความอยุติธรรมในสังคมคือรากเหง้าของความยากจน   ความอยุติธรรมในสังคมไฮติมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มายาวนาน   และรัฐบาลอเมริกันคือต้นเหตุในประวัติศาสตร์และในขณะนั้น   วิธีคิดแบบนี้ทำให้มีโจทย์วิจัยทางมานุษยวิทยาที่แหลมคมและใหม่    วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมานุษยวิทยาของ Paul Farmer จึงได้รับยกย่องให้เป็นวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม   หลังจากทำงานไประยะหนึ่งเขาได้รับยกย่องว่าเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่วิชามานุษยวิทยา

          การเขียนทั้งบทความวิชาการและบทความลงในสื่อมวลชน ทำให้  Paul Farmer เป็นที่สนใจของมหาเศรษฐีใจบุญ   จนมหาเศรษฐีใจบุญ (Tom White) กลายเป็นผู้อุปถัมภ์การทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ยากจนที่ไฮติ   และ Paul Farmer ก็มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาร่วมลงมือดำเนินการโรงพยาบาล “พันธมิตรแห่งสุขภาพ”

          ต้องค่อยๆ อ่านหนังสือเล่มนี้เอง และ AAR เองจึงจะตีความและเรียนรู้หลากหลายแง่มุมที่หนังสือเล่มนี้บอก  

          การเรียนแบบ “หลักสูตรพิเศษ” อย่างนี้ ต้องเป็นนักเรียนพิเศษจริงๆ อย่าง Paul Farmer จึงจะทำได้สำเร็จ   ความฉลาด หรือ IQ อย่างเดียวไม่เพียงพอ    ต้องมีความอดทนหรือ AQ (Adversity Quotient) อย่างพิเศษสุดจึงจะทำได้    เพราะเป็นการทำงานและเรียนในท่ามกลาง สังคมที่ร้อนระอุทางการเมือง   มีอันตรายรอบด้าน   เสี่ยงชีวิตอยู่เสมอจากเผด็จการทหาร ไฮติ

          แต่ผมก็เชื่อว่ามีนักศึกษาในทุกประเทศในโลกที่มีแรงบันดาลใจและความเร่าร้อนที่จะทำอะไรดีๆ ให้แก่สังคม   รวมทั้งในประเทศไทยด้วย   ระบบอุดมศึกษาไทยพร้อมที่จะเอื้ออำนวยให้นักศึกษาที่มีสมองพิเศษ แรงบันดาลใจพิเศษ ความอดทนพิเศษ เช่นนี้  เรียนด้วยหลักสูตรแหกคอกเช่นนี้หรือไม่   หลักสูตรที่เรียนวิชาไปพร้อมกับเรียนชีวิต อย่างเสริมพลัง (synergy) ซึ่งกันและกัน 

          ผมเชื่อว่า การเรียนวิชาและเรียนชีวิตไปพร้อมกัน คือการเรียนที่แท้จริง

วิจารณ์ พานิช
๒๘ ธ.ค. ๕๑

       
                            

หมายเลขบันทึก: 235583เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2009 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์

  • ผมตามมาอ่านบันทึกนี้ หลังจากที่ได้ฟังใน UKM14
  • เป็นเรื่องราวในวงการศึกษาที่น่าสนใจ
  • บ้านเราอาจทำได้ที่มหิดล.ครับ

หนูเป็นพวกนอกกรอบเหมือนกันค่ะ เข้าที่ไหนวงแตกที่นั่น 5555

หนูคิดว่าถ้าเรามีการผสมผสานระหว่างระบบอาชีวศึกษากับอุดมศึกษาเข้าด้วยกันจะดีมากค่ะ

อาชีวศึกษา จะเน้นการปฏิบัติซึ่งเค้าสัมผัสกับการปฏิบัติจริง สามารถลัดขั้นตอนของทฤษฎีได้ ทำให้สิ่งต่าง ๆ ง่ายขึ้น และลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ ได้

อุดมศึกษา จะเน้นทฤษฎีซึ่งสามารถให้ข้อมูลอาชีวนำไปประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่า คุณค่าในงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ถ้าเราสามารถผสมผสาน 2 ส่วนเข้าด้วยกันได้ ประเทศไทยจะได้พึ่งตนเองได้มากขึ้น

  • อยากเห็นประเทศไทยส่งเสริมคนคิดนอกกรอบอย่างนี้
  • จะมีนักศึกษาสักกี่คนที่จริงจังและจริงใจกว่านี้
  • ขอบคุณค่ะที่เล่าเรื่องที่มีคุณค่าให้ได้อ่าน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท