Retreat ครั้งแรกของสภามหาวิทยาลัยมหิดล


 
          นับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ของการจัดการประชุมสภามหาวิทยาลัยแบบใหม่   แบบที่เรียกว่า retreat คือประชุมเพื่อใช้พลังสร้างสรรค์ พลังของความไม่เป็นทางการ พลังของความเอาจริงเอาจังเจือสนุก   เพื่อทำหน้าที่ Governance type II และ Governance type III    ผมขอปรบมือให้แก่ รศ. ทพ. พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการสภาและทีมงาน ที่จัดการประชุมได้อย่างดีเยี่ยม ได้บรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้พลังสร้างสรรค์ของสภาฯ  
          การประชุมนี้จัดที่โรงแรมมณเฑียร พัทยา ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ ม.ค. ๕๒   ผลของการประชุมทำให้กรรมการสภาและผู้บริหารที่เข้าร่วมเกิดความเข้าใจร่วมกันว่า    สภาฯ จะต้องทำหน้าที่ทั้ง Type I, Type II และ Type III เพื่อแสดงบทบาทของสภามหาวิทยา ลัยที่เป็น “ลมส่ง” ให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการทำงานขับเคลื่อนภารกิจเพื่อบรรลุเป้าหมาย “มหาวิทยาลัยวิจัยอันดับที่ ๑ ใน ๑๐๐ ของโลก” หรือการเป็น “ปัญญาแห่งแผ่นดิน” ให้ได้
          ในทางปฏิบัติในเรื่องวิธีทำงานของสภาฯ  เราตกลงกันว่า สภามหาวิทยาลัยจะทำงานทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ    ในส่วนที่ไม่เป็นทางการ คือการสื่อสารสัมพันธ์กันนอกห้องประชุม นอกคณะกรรมการ    ทำให้ผมคิดว่า ที่ผมเขียนบันทึกลง บล็อก อยู่นี่ ก็เป็นการทำหน้าที่กรรมการสภาฯ แบบไม่เป็นทางการอย่างหนึ่ง    และ รศ. ต่อตระกูล ยมนาค แนะนำให้ใช้ลู่ทางติดต่อสื่อสารผ่าน อินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางสื่อสารแบบไม่เป็นทางการหรือกึ่งทางการของสำนักงานสภาฯ
          การทำงานอย่างเป็นทางการมี ๓ แบบใหญ่ๆ คือ  (๑) การประชุมสภาฯ ซึ่งจะลดภารกิจด้าน fiduciary (Type I) ซึ่งกำหนดไว้โดย พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๐ ลง    เอาไปไว้เป็นหน้าที่ที่มอบหมายให้คณะกรรมการย่อยช่วยกลั่นกรอง หรือทำหน้าที่แทน    การประชุมสภาฯ จะเน้นการทำหน้าที่เชิง strategic (Type II) และ generative (Type III)   (๒) การทำหน้าที่สมาชิกของคณะกรรมการย่อย หรือคณะทำงาน   และ (๓) การประชุมแบบ retreat ซึ่งจะมีปีละ ๑ – ๒ ครั้ง  
          สภาฯ จะทำหน้าที่ได้ดี ต้องมีสำนักงานสภาฯ ที่เข้มแข็ง   ทำหน้าที่กำหนดระเบียบวาระของสภาฯ   เป็นแหล่งข้อมูลหรือสารสนเทศเพื่อการทำหน้าที่กำหนดนโยบายของสภาฯ   และทำหน้าที่ secretariat ของสภาฯ  คณะกรรมการย่อย  และคณะทำงาน   จุดสำคัญในทางปฏิบัติคือ สำนักงานสภาฯ จะช่วยให้สภาฯ ไม่ทำงานแบบคอยรับลูกจากฝ่ายบริหาร    แต่จะทำให้สภาฯ ทำงานแบบรุก หรือยึดกุมเกม ด้วยตนเอง    กล่าวอย่างนี้ต้องเข้าใจว่า    ในทางเป้าประสงค์ สภาฯ ทำงานเพื่อสนับสนุนฝ่ายบริหาร (และฝ่ายปฏิบัติการ)    และจะทำหน้าที่นี้ได้ดี ต้องไม่ตกอยู่ใต้ management mentality   แต่ต้องใช้ governance mentality   เราตกลงกันว่า สำนักงานสภาฯ จะมีรองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภา ที่สภาฯ แต่งตั้ง เป็นผู้บริหารสูงสุด    ทำงานภายใต้กำกับของนายกสภาฯ  และในขณะเดียวกันก็อยู่ภายใต้การบริหารงานของอธิการบดี   ในส่วนงานประจำของสภาฯ จะมี หัวหน้าสำนักงานสภาฯ ที่มีตำแหน่งระดับผู้ช่วยอธิการบดี ทำงานภายใต้รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภาฯ    ซึ่งท่านรองฯ พาสน์ศิริ จะไปดำเนินการเสาะหาตัวบุคคลที่เหมาะสมต่อไป  
          ในสายตาของผม การทำงานของสำนักงานสภาฯ เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และน่าสนุก   เพราะยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน   ยังไม่มีวัฒนธรรมสำหรับการทำงานนี้ในสังคมไทย   ยังไม่มีการพัฒนาทักษะสำหรับทำงานนี้    ที่เป็นงานหนุน governance ให้ทำหน้าที่ได้ดีทั้ง Governance Type I, Type II และ Type III ไปพร้อมๆ กัน   เป็นสำนักงานที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ที่อธิการบดีเป็นผู้บริหารสูงสุด   แต่สำนักงานก็ทำงานแบบไม่อยู่ใต้อำนาจสั่งการของอธิการบดี   แต่อยู่ใต้อำนาจสั่งการของสภาฯ ที่มีนายกสภาฯ เป็นหัวหน้า    ดังนั้น ผู้ทำงานในสำนักงานสภาฯ ต้องเข้าใจวิธีทำงานแบบ chaordic   ต้องเข้าใจ complex adaptive systems ของมหาวิทยาลัย   ที่สำนักงานสภาฯ เป็นส่วนหนึ่ง  
          เพื่อลดภาระของสภาฯ ในการทำหน้าที่ fiduciary ที่กฎหมาย (พรบ.) บังคับ   เราช่วยกันกำหนดคณะกรรมการย่อยได้ประมาณ ๑๐ คณะ เพื่อให้กลั่นกรองบ้าง ทำหน้าที่แทนบ้าง   แล้วเราก็บอกว่า มีจำนวนคณะมากเกินไป   จึงแต่งตั้งคณะทำงานไปคิดรายละเอียดต่อ    เพื่อนำเสนอต่อสภาฯ ในการประชุมคราวหน้า (เดือนกุมภาพันธ์) ให้สภาฯ ลงมติ
          เรื่องการทำหน้าที่ของสภาฯ อย่างมีประสิทธิผลนี้    สิ่งที่ต้องทำต่อคือ  (๑) ออกข้อบังคับว่าด้วยสำนักงานสภาฯ    เพื่อให้ส่วนที่ยังไม่ได้ระบุใน พรบ. มีความชัดเจน และมีความต่อเนื่อง   (๒) แก้ไข พรบ. ให้ตรงกับหลักการและวิธีการทำงานกำกับดูแล (governance) ที่มีทั้ง Type I, Type II และ Type III  (๓) พัฒนาระบบข้อมูลของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบข้อมูลการเงิน   เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ และสำนักงานตรวจสอบภายใน ทำงานได้อย่างแท้จริง (คำแนะนำของ ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์) 
          รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภาฯ จะต้องคัดเลือกคนเข้ามาทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ประจำ (secretariat) ในส่วนของการทำหน้าที่ Type II & Type III    และต้องฝึกคนเหล่านี้ ให้มีทักษะในการทำหน้าที่   ซึ่งจะต้องทำงานในลักษณะที่ไม่ใช้อำนาจสั่งการ    แต่ทำงานค้นข้อมูล จัดระบบข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประสานงานกับกรรมการ เชื่อมโยงสื่อสารกับส่วนต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และภายนอก
          สภาฯ จะต้องเรียนรู้วิธีทำงาน ไปด้วยกันกับสำนักงานสภาฯ
          เรื่องท้าทายมากอีกเรื่องหนึ่งคือคำแนะนำของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เรื่องการทำ กระบวนการนโยบายสาธารณะ    เรื่องนี้มีกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้เรื่องดี คือ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ   และยังมีทีมบริหารของอธิการบดีที่ทำเรื่องนี้เก่ง คือ รศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา    ผมคิดว่าถ้าสภามหาวิทยาลัยเข้ามาทำเรื่องนี้   ผลที่ได้ที่สำคัญที่สุดคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในมหาวิทยาลัย   เกิดพลัง synergy ระหว่างคนเก่งที่มี ความเป็นตัวของตัวเองสูง    และทักษะนี้ จะเป็นวิชาการที่ ม. มหิดล จะนำไปใช้ในการรับใช้สังคมไทยได้ด้วย  
 
วิจารณ์ พานิช
๒๕ ม.ค. ๕๒
 
หมายเลขบันทึก: 237962เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ..เป็นหลักการที่ดีมากๆซึ่งได้ติดตามผลทางปฏิบัติต่อไป

                           nongnarts

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท