Thai Qualification Framework for Higher Education


ต้องมีสถาบันอุดมศึกษา และสาขาวิชา ร่วมกันเป็นเจ้าของ หรือเป็น “พระเอก นางเอก” สกอ./กกอ. เป็นกองเชียร์ หรือเป็นผู้ช่วยพระเอก/นางเอก สร้างระบบช่วยหนุน และให้ความชื่นชมในผลสำเร็จของการสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ สกอ./กกอ. ต้องอย่าเข้าไปเป็นเจ้าของ TQF/NQF

TQF : HED

TQF : HED = Thai Qualification Framework for Higher Education

สกอ. จัดการประชุมเรื่องที่สำคัญยิ่งนี้ในช่วงวันหยุดยาวววว ของสงกรานต์   คือในวันที่ ๑๘ เม.ย. ๕๒   ชื่อของการประชุมยาวหน่อย การประชุมหารือ คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ 

ผมถือโอกาสใช้การประชุมเป็นห้องเรียนส่วนตัวของผม   วิธีเรียนของผมคือการตั้งคำถาม

·      เรื่องที่สำคัญยิ่งต่อบ้านเมือง ต่ออุดมศึกษาของประเทศ เช่นนี้   เรามีวิธีการจัดการที่ทรงประสิทธิผลหรือไม่   วิธีการที่เหมาะสม ได้ผลจริง ควรเป็นอย่างไร

·      จะทำให้ TQF เป็นทาสของคนในวงการอุดมศึกษา ไม่ใช่เป็นนาย ได้อย่างไร    เราต้องการให้ TQF เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่อการทำงานในมหาวิทยาลัย ให้ผลิตบัณฑิตอย่างมีคุณภาพ  มีความยืดหยุ่นคล่องตัวในระบบ    ไม่ใช่ TQF เป็นภาระต่อการทำงาน    ทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนี้   เป็นเรื่องท้าทายมาก   และเป็นการเปิดมิติใหม่ของการทำหน้าที่กำกับดูแลระบบ    มิติใหม่ที่ว่านี้ คือการทำหน้าที่ควบคุมกำกับแบบ empowerment ไม่ใช่แบบ command & control    และหวังใช้ TQF เป็นเครื่องมือ empower มหาวิทยาลัย/อาจารย์/นักศึกษา  

เมื่อจบการประชุม ผมได้คำตอบชัดเจนมาก   จากการนำเสนอผลการดำเนินการของสาขานำร่อง ๖ สาขา    ว่า สกอ. สามารถใช้ NQF/TQF (N = National) เป็น ผู้รับใช้ได้ใน ๓ รูปแบบเป็นอย่างน้อย

1.    สาขาที่มีการรวมตัวกันในสาขาเดียวกันอย่างเหนียวแน่นอยู่แล้ว  และกระบวนการคุณภาพค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว   (เช่น สาขาพยาบาล)   กรอบ/หลัก คิดของ TQF/NQF จะช่วยเติมวิธีคิด/ทำ เกณฑ์คุณภาพอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น

2.    สาขาที่มีความหลากหลายมาก และยังไม่ค่อยรวมตัวกัน   กระบวนการ TQF/NQF จะช่วยส่งเสริมเชื่อมโยงให้สาขานั้นในต่างสถาบันเข้ามาทำงานพัฒนาคุณภาพร่วมกัน   รวมทั้งสร้างโอกาสให้องค์กรวิชาชีพ  และฝ่ายผู้ใช้บัณฑิตได้เข้ามาร่วมให้ความเห็น และให้ความร่วมมือในการฝึกทักษะของ นศ.   เราเห็นได้ชัดเจนว่า สถาบันการศึกษาต่างก็กระหายที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของตน   เมื่อมีกลไก และหลักดำเนินการ ให้รวมตัวกัน ก็เกิดกระบวนการคุณภาพที่น่าชื่นใจมาก

3.    สาขาที่อาจอยู่ในฐานะที่ มีวิกฤตก็จะไม่ต้องตกอยู่ในฐานะ เอาหัวหมกทราย  จะมีโอกาสเผชิญความจริงและหาทางปรับตัวอย่างขนานใหญ่    

·      ผมตีความว่าเป้าหมายสำคัญของ TQF คือ (๑) คุณภาพ  (๒) internationalization  และ (๓) mobility ของ นศ.   คำถามก็คือ จะทำให้ TQF เป็นกลไกสู่เป้าหมายสำคัญทั้ง ๓ ได้อย่างไร   และเมื่อจบการประชุม ผมได้เป้าหมายข้อที่ ๔ ว่าคือ (๔) relevance ของผู้จบการศึกษา  

·      มีข้อท้าทายอะไรบ้าง ที่จะต้องฝ่าด่าน ในการบรรลุ TQF   ที่ผมรับฟังมา  ข้อท้าทายอย่างหนึ่งคือข้อกำหนดขององค์กรวิชาชีพบางองค์กร    เมื่อจบการประชุม ผม AAR ว่า ข้อท้าทายที่รุนแรงคือสาขาวิชาที่กำลังอยู่ระหว่างวิกฤติ identity  คือสาขาศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์   ซึ่งหากมองจากมุมของการทำงานเป็นครูในระบบการศึกษาไทย ดูจะต้องการ rethinking / redefinition   ซึ่งจะเป็นความเจ็บปวดของคนที่อยู่ในคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์    ที่จะต้องเผชิญความจริง 

·      หัวใจของ TQF/NQF คือ ต้องมีสถาบันอุดมศึกษา และสาขาวิชา ร่วมกันเป็นเจ้าของ   หรือเป็น พระเอก นางเอก   สกอ./กกอ. เป็นกองเชียร์ หรือเป็นผู้ช่วยพระเอก/นางเอก   สร้างระบบช่วยหนุน และให้ความชื่นชมในผลสำเร็จของการสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ    สกอ./กกอ. ต้องอย่าเข้าไปเป็นเจ้าของ TQF/NQF  

·      วัฒนธรรมคุณภาพที่เราพูดกัน ต้องเน้นวัดที่ outcome โดยที่เปิดความยืดหยุ่นใน process, support และ input ในระดับหนึ่ง 

ศ. ดร. สุจินต์ จินายน เป็นประธานอนุกรรมการที่คิดเรื่องนี้ มีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕   ท่านให้ความเห็นกับผมว่า เรื่องคุณภาพที่เร่งด่วนสำหรับอุดมศึกษาไทยที่น่าจะจับดำเนินการคือ (๑) GE – General Education   (๒) ภาษา  (๓) Learning skills

ท่านรองเลขาฯ จิรณี บอกที่ประชุมว่า หัวใจคือการจัดการเรียนการสอน   ไม่ใช่อยู่ที่เอกสาร    

แต่ละวงการต่างก็มีวัฒนธรรมประจำวงการของตน   วงการอุดมศึกษาก็ต่างจากวงการสุขภาพ   ผมโชคดี (หรือร้ายก็ไม่ทราบ) ที่เป็น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจึงมองว่า วิธีการที่ สกอ. น่าจะใช้ในเรื่องการขับเคลื่อน TQF คือวิธีการของ HA   คือเน้นการพัฒนาและรับรอง   เน้น empowerment มากกว่า การควบคุมสั่งการ   

เห็นได้ชัดเจนว่า หากใช้/จัดการ ขบวนการ TQF/NQF เป็น   สกอ. จะกลายเป็น เพื่อนผู้เห็นคุณค่าของวงการอุดมศึกษา    ที่ลุกขึ้นมาร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการคุณภาพเอง   TQF/NQF ก็จะกลายเป็นการขับเคลื่อนวัฒนธรรมคุณภาพ ในวงการอุดมศึกษา   แต่ละสถาบันก็จะจัดระบบพัฒนาและประเมินคุณภาพภายใน   สกอ. เข้าไปช่วยสร้างระบบประเมินคุณภาพภายในให้เข้มแข็ง โดยใช้ TQF/NQF process   พร้อมเมื่อไรสถาบันก็แจ้ง สกอ. ว่าต้องการให้รับรอง TQF/NQF ทั้งสถาบันแล้วนะ   แล้ว สกอ. ก็จัดทีมตรวจเยี่ยมเพื่อให้การรับรอง   สถาบันที่ได้รับการรับรองก็จะได้ติดโลโก้ TQF/NQF ไม่เกินจำนวนปีที่ระบุ   เช่น TQF 2552 – 2555 แล้วต้องประเมินใหม่  

วิธีการจัดการระบบ TQF/NQF ให้ถูกจริตและท้าทายสถาบันอุดมศึกษานี้ น่าจะมีเคล็ดลับ/กุศโลบาย มากมาย   เช่นทำระบบบันได ๓ ขั้น   ระบบรับรองเพียงบางสาขา    ซึ่งโลโก้รับรองจะต้องต่างจากการรับรองทั้งสถาบัน

การประชุมวันนี้ ได้รับคำแนะนำมากมาย   ผมไม่ได้มีเป้าหมายเอามาบันทึกรายละเอียด   ต้องการเพียงเล่าขบวนการคุณภาพของอุดมศึกษา    ที่หากจัดการเป็น ก็จะสร้างคุณประโยชน์แก่ระบบอุดมศึกษาอย่างมากมาย    แต่ถ้าจัดการผิดพลาด ก็จะกลายเป็นยาขมสำหรับสถาบันอุดมศึกษาอีกขนานหนึ่ง

ผมกลับมา AAR ที่บ้านกับตัวเองว่า หัวใจของงานนี้อยู่ที่การกำหนด outcome indicators ของแต่ละสาขาวิชา    ที่มีทั้ง quantitative indicators และ qualitative indicators   ที่จะช่วยให้ peer evaluation ประเมินได้อย่างแม่นยำน่าเชื่อถือในระดับที่ยอมรับได้   เราหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้ peer evaluation เป็น external evaluation เข้าไปยืนยันผลของ internal evaluation ของสถาบัน

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ของผม    และไม่รับรองว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

วิจารณ์ พานิช

๑๘ เม.ย. ๕๒

 

 

หมายเลขบันทึก: 256121เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2009 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมเองเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือเป็นเป็ดเสียด้วยซ้ำ

ผมเห็นว่าจุดอ่อนของเราเวลารับเรื่องใดๆมา เรามักทำตามกฎหรือเกณฑ์ของเขาทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎตั้งไว้แบบบังคับ เราก็ตอบสนองแบบมั่วและ make

องค์กรยังไม่มีคนที่ทำตัวเป็นสมองหรือที่จริงเป็น blood brain barrier ที่จะเลือกกรองบางอย่างเฉพาะที่เป็นประโยชน์เข้ามาใช้ คือขาดการคิดแบบกาลามสูตร

ผมดีใจที่คิดอย่างที่อาจารย์แนะนำคือหา outcome indicator ที่ประเมินไม่ยากนัก แต่เป็นตัวที่แสดงผลจริงๆ แต่บางครั้งด้วยการบังคับสั่งการ ก็มี indicator ที่เราไม่เห็นว่าดี ส่งให้เขาได้เช่นกัน ไม่ทราบว่าเพราะกลัวหรือรำคาญจึงมีส่งให้เขาไป

จะต้องอ่านของอาจารย์ซ้ำอีกหลายๆครั้งเพื่อกลั่นเอาสิ่งต่างๆมากมายที่มีอยู่ออกมาอีกครับ

เรียน อาจารย์ที่เคารพ ผมเด่นศักดิ์ หอมหวล จากวิทยาลัยชุมชนตาก ครับ

วันที่ 18 สิงหาคม 2552 กำลังจะไปฟังบรรยายของอาจารยืที่ โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท 11 เรื่อง TQF และ NQF เลยมีคำถามเรียนปรึกษาท่านอาจารย์ สัก 3 ประเด็น

1 วิทยาลัยชุมชน ทั่วประเทศ จัดการศึกษาระดับอนุปริญญา (มาตรฐานหลักสูตรตามเกณฑ์ สกอ. พ.ศ. 2548) จะต้องมีเกณฑ์มาตรฐาน TQF และ NQF ด้วยใช่หรือไม่ เพราะ หลายท่าน พูดว่า NQF และ TQF จัดในระดับปริญญา ยกเว้นของอาชีวที่เขาทำเป็นกรอบมาตรฐานหลักสูตรของ ปวช และ ปวส หลักสูตรระยะสั้น

2. วิทยาลัยชุมชน จัดการศึกษาในหลักสูตรฝึกอบรม ตั้งแต่ 6-200 ชั่วโมง

หรือ ใช้เวลา 1 ภาคการศึกษา และบางสาขาอาจใช้เวลา 1 ปีการศึกษา ต้องใช้ NQF ด้วยหรือไม่ หรือต้องมีประกาศเป็นกลางๆ เป็นของวิทยาลัยชุมชนเอง

3. อาจารย์ครับ ผมกำลังเสนอหัวข้อ (ได้นำเรียนกับอาจารย์เมื่อวันก่อน) เรียนถามว่าหากผมมีหลักสูตรเกิดจากชุมชนอย่างแท้จริงผมจะต้องมีกรอบมาตรฐาน โดยเน้นสมรรถนะที่เกิดกับผู้เรียนน่าจะเหมาะสมหรือไม่

อาจารย์ครับ ด้วยความศรัทธาครับ ผมอยากให้วิทยาลัยชุมชน เป็นองค์กรของสกอ.ที่เข้มแข็ง และเป็นภูเขาลูกที่ 1 ที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับ อุดมศึกษาอย่างแท้จริง เพราะทุกวันนี้อุดมศึกษาเข้าไม่ถึงชุมชนหรอกครับ เพราะบทบาทภาระกิจบางมหาลัยยังให้ความสำคัญในการดูแล ชุมชน สถานศึกษา หรือเป็นพี่เลี้ยง ตามความคาดหวังน้อยมาก สัดส่วนน้อยจริงๆ เพราะพันธกิจของเขาเองก็ไม่เอื้อวิทยาลัยชุมชนนี่แหละจะเป็นสะพานที่ดีที่สุดที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง มหาวิทยาลัย กับชุมชนในเครื่อข่าย ทั้ง 9 แห่งอย่างชัดเจน

ขอบคุณครับ

เด่นศักดิ์ หอมหวล

วิทยาลัยชุมชนตาก 089-6378462

อาจารย์มหาวิทยาลัย372คนทั่ว ปท. ฮือต้าน สกอ.ออกกฎ"เกสตาโป"คุมการทำงาน-อ้างยกเทียบมาตรฐานสากล

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1266326997&grpid=00&catid=

  • สวัสดีค่ะท่านอาจารย์
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูล TQF ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท