AAR การประชุม กกอ. ครั้งที่ ๕/๒๕๕๒


ผมมีความเชื่อว่า เมื่อทำงานอะไรก็ตามไประยะหนึ่ง แล้วพบว่ามันลำบากยากเย็น ให้ตั้งสติว่ากระบวนทัศน์ที่ใช้ในการทำงาน/จัดระบบงาน มันผิด ต้องไตร่ตรอง/ปรึกษาหารือ/ศึกษา หากระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงาน

          เป็นการประชุมเมื่อวันพฤหัสที่ ๗ พ.ค. ๕๒ ก่อนวันหยุดยาว ๔ วัน    เป็นครั้งหนึ่งของการเป็นประธานการประชุมที่ผมรู้สึกเหนื่อย   และเกิดคำถามต่อที่ประชุมว่า เราจะทำงานกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาของชาติกันอย่างนี้หรือ    รวมทั้งเกิดคำถามกับตัวเองว่าผมจะทนทำงานในสภาพอย่างนี้ไปได้สักกี่น้ำ    หรือที่น่าจะเป็นคำถามที่ตรงกว่าคือ ผมเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้ไหม

          สภาพของการประชุมใช้เวลามาก อภิปรายกันมาก ข้อมูล/สาระสนเทศสำหรับใช้ตัดสินใจเชิงนโยบายไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน    และผู้ใหญ่ของฝ่ายบริหารไม่ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจง    สำหรับท่านเลขาธิการ สกอ. ท่านต้องขออนุญาตไปประชุม กพอ. ที่ประธานคือ รมต.    และประธานนัดประชุม กพอ. ตรงกับวันประชุม กกอ. ที่มีกำหนดวันประชุมแน่นอน    กลายเป็นว่า เลขาธิการ สกอ. จำเป็นต้องโอนอ่อนตาม รมต. ที่นัดประชุมตามสะดวกของตน    และต้องไม่อยู่เกือบตลอดการประชุม กกอ. วันนี้

          ที่จริงวาระการประชุมเป็นเรื่องเล็กๆ ปลีกย่อย   แต่กรรมการ กกอ. อภิปรายไปสู่ภาพใหญ่ของระบบ   ที่ข้อมูลประกอบวาระไม่มี เพราะเขาไม่ได้เตรียมให้พิจารณาเรื่องใหญ่   ฝ่ายเลขาต้องการให้พิจารณาเรื่องเล็กนิดเดียว    จึงเตรียมเอกสารเพื่อการนั้นเท่านั้น   เมื่อกรรมการอภิปรายภาพใหญ่และใช้ข้อมูลที่ตนเองมี ซึ่งก็แม่นยำบ้างไม่แม่นยำบ้าง    ผู้ใหญ่ที่รู้เรื่องจริงๆ ก็ไม่อยู่   จึงเป็นการประชุมที่อึดอัดมาก   กรรมการท่านหนึ่งถึงกับเสนอให้ปิดประชุม  

          นี่คือ cultural mismatch ระหว่างฝ่าย กกอ. กับฝ่าย สกอ. ที่ท้าทายว่าทั้ง ๒ ฝ่ายจะร่วมกันหาทางสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ได้อย่างไร   โดยส่วนตัวผมคิดว่าการกล่าวโทษกันไปมา หรือไม่พอใจซึ่งกันและกัน มีแต่จะทำร้ายบ้านเมือง และระบบอุดมศึกษา

          ผมตีความว่าทางเจ้าหน้าที่ของ สกอ. เคยชินกับการทำงาน micromanagement และทำงานเพื่อกำหนดกฎระเบียบ คิดว่าการทำงานแบบนี้จะดูแลระบบอุดมศึกษาได้    แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ชักไม่แน่ใจเข้าเรื่อยๆ ว่าคงจะสู้กับกระแสวัฒนธรรมศรีธนญชัยไม่ไหว    ส่วนคณะกรรมการ กกอ. มีวัฒนธรรมการทำงานแบบต้องการทำ macro governance ของระบบ   พอมีเรื่องเสนอเข้ามาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็เอาแว่นระบบส่อง    แล้วก็ตั้งคำถามว่าวิธีการทำงานที่ทำกันอยู่นี้มันจะทันกินหรือ   ดูจะเป็นการทำงานแบบตั้งรับและล่าช้าจะสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว โจทย์การทำงานก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ   มันจะทำให้ระบบอุดมศึกษาตอบสนองความต้องการของสังคมได้จริงหรือ   การทำงานแบบตั้งอนุกรรมการนี้ซ้อนกันไปมากับหน่วยราชการอื่นโดยที่ไม่ได้ทำงานประสานให้เกิด synergy กัน 

          นี่คือสภาพ tension ในการประชุมครั้งนี้ ที่ทำให้ผมหมดแรง   แต่เมื่อกลับมาไตร่ตรองที่บ้าน ก็ได้คิดว่าวิกฤติคือโอกาส   นี่คือโอกาสที่จะปฏิรูปวิธีทำงานกำกับระบบอุดมศึกษา    และปฏิรูปวิธีทำงานบริหารระบบอุดมศึกษา

          ที่ประชุมจึงตกลงกันว่า ต้องจัดการประชุมแบบ retreat อีกสักครั้ง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายกำกับดูแล ว่าจะทำงานดูแลระบบอุดมศึกษาอย่างไร ให้ประเทศได้รับประโยชน์จริงๆ 

         ผมมีความเชื่อว่า เมื่อทำงานอะไรก็ตามไประยะหนึ่ง แล้วพบว่ามันลำบากยากเย็น ให้ตั้งสติว่ากระบวนทัศน์ที่ใช้ในการทำงาน/จัดระบบงาน มันผิด   ต้องไตร่ตรอง/ปรึกษาหารือ/ศึกษา หากระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงาน   ชีวิตการทำงานของผมเจริญก้าวหน้าโดยอาศัยคาถานี้มาตลอด   ไมทราบว่าคราวนี้คาถานี้จะยังศักดิ์สิทธิ์หรือไม่  

          สำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สกอ. ผมก็มองว่า นี่คือโอกาสยิ่งใหญ่   ที่ชีวิตการรับราชการของตนจะอำนวยประโยชน์ยิ่งใหญ่ในชีวิต   เพราะจะได้เข้าสู่ยุคใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ของการทำงานจัดการระบบ (อุดมศึกษา)    ที่มีเรื่องให้เรียนรู้และสร้างสรรค์มากมาย    ใครก็ตามที่ทำงานในระบบที่เรียนรู้และสร้างสรรค์ ก็จะดูดซับคุณสมบัตินี้เข้าตัว    เป็นคุณต่อตัวเองตลอดชีวิต

          เป็นการ AAR แบบเปิดใจรายงานสังคมไทย   ว่าในการทำงานรับใช้ชาติในหน้าที่ประธาน กกอ. ผมกำลังทำอะไร คิดอย่างไร มีความฝันอย่างไร    และอยากได้ feedback จากสังคมด้วย   จะได้เป็นกระจกส่องตัวเอง ว่าผมยังควรทำหน้าที่ในตำแหน่งที่ทรงเกียรติ (แต่เป็นงานปอเต็กตึ๊ง) นี้หรือไม่   ผมเป็นคนเจียมตัว ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่คิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่น   และเป็นคนไม่มี hidden agenda

วิจารณ์ พานิช
๘ พ.ค. ๕๒
วันวิสาขบูชา

    
            

คำสำคัญ (Tags): #520507#กกอ.#สกอ.
หมายเลขบันทึก: 262228เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2009 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์

  • ผมเข้ามาให้กำลังใจ แล้วขอให้อาจารย์ทำงานแบบ "ปอเต็กตึ้ง" ต่อไป
  • เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานต่อไป
  • ข้อเขียนของท่านอาจารย์หมอ สร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายคน
  • และเขาเหล่านั้นก็ทำงานอิงระบบ ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมไทย และลูกหลานไทยต่อไปครับ
  • "วัฒนธรรมศรีธนนชัย" ยังคงอยู่ตลอดไป แต่ต้องช่วยกันจำกัดวงไม่ให้ขยายตัวออกไปมากกว่านี้ครับ

 

เรียน อาจารย์หมอ

ขอร่วมเป็นกำลังใจให้ท่านอาจารย์ อย่าท้อเพราะท่านเหมาะสมกับ กกอ.ที่สุด ท่านมองได้อย่างทะลุปรุโปร่งตามสภาพที่เป็นจริงที่ถูกมองข้ามมานาน แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะเรียนเพิ่มเติมคือ อาจจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของ สกอ.ทั้งหมดที่เคยชินกับการทำงานแบบ Micro Management แต่ด้วยวัฒนธรรมหรือการถูกหล่อหลอมจากผู้ Manage ส่งผลให้ต้องกระทำตามน้ำหรือสุดแต่จะเรียกเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ หากท่านถอยแล้วใครลือจะอาจหาญมาช่วยพัฒนาอุดมศึกษาไทยได้ เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ท่านมองว่าวิกฤตินี้คือโอกาสในการปฏิรูปวิธีการทำงานกำกับระบบและบริหารระบบอุดมศึกษา...สู้ๆๆ

ตามมาเป็นกำลังใจครับอาจารย์ ผมเชื่อและมั่นใจว่าอาจารย์ทำได้ครับ คนอย่างอาจารย์หมอนี่แหละครับที่ควรนั่งในตำแหน่งนี้ครับ เป็นกำลังใจให้เสมอครับ

อุดมศึกษาต้องการผู้นำที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ขอเป็นเสี้ยวหนึ่งเพื่อให้อุดมศึกษาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น งานไม่ง่าย แต่เชื่อมั่นว่าความตั้งใจดีและภาวะผู้นำของท่าน จะช่วยสร้างความเข้าใจ เกิดการสื่อสารที่จะทำให้การทำงานเกิด synergy กับองค์กร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา ท่านอย่าเพิ่งถอย พวกเราหลายคนพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และมีความหวังกับการทำงาน สักวันคงทำให้มีสิ่งที่เป็นความภูมิใจเกิดขึ้น ให้ลูกหลานพูดถึง

รักและเคารพ

ลูกน้องของท่านที่อยู่ใน สกอ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท