สอนวิชาเวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์


นศพ. ต้องขวนขวายฝึกตนให้มีทักษะในการเรียนรู้เรื่องนี้ตลอดชีวิต และต้องเน้นเรียนจากการลงมือปฏิบัติ คือใช้ร่างกาย (พฤติกรรม) ปลูกฝังจิตใจ ไม่ใช่แค่ใช้การคิด (สมอง) ควบคุมพฤติกรรม (ร่างกาย)

สอนวิชาเวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์

       วันที่ ๓ มิ.ย. ๕๒ ผมจะไปสอนวิชา เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์ แก่ นศพ. ปี ๑ ของ มวล. อีกครั้งหนึ่ง (เป็นปีที่ ๒) โดยวิธีการเรียนของปีที่แล้วเล่าไว้ที่นี่

       ปีนี้ในส่วนของการคิดเชิงวิพากษ์ผมจะให้ นศพ. เรียนจากการลงมือปฏิบัติ โดยเล่นเกม role play การคิดโดยใช้หมวก ๖ ใบ จะแบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน ๑๐ คน ให้แต่ละกลุ่มเลือกเรื่องที่จะร่วมกันคิดวางแผนดำเนินการ ๑ เรื่อง จากเรื่องที่จะต้องทำในเวลาอันใกล้ เอามาคิดวางแผนร่วมกันโดยประชุมกลุ่มแบบใช้หมวก ๖ ใบ โดยใช้เวลา ๔๐ นาที หลังจากนั้นจึงนำเสนอต่อเพื่อนทั้งชั้นว่ากระบวนการในกลุ่มดำเนินการไปอย่างไร เกิดการเรียนรู้อะไรบ้างในเรื่อง critical thinking

                หมวกสีขาว คิดอย่างเป็นกลาง ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง

                หมวกสีแดง คิดอย่างมีอารมณ์ ใช้ความรู้สึก

                หมวกสีดำ คิดระมัดระวัง หรือคิดเชิงลบ บอกข้อควรระวัง ข้อเสีย อันตราย

                หมวกสีเหลือง คิดเชิงบวก บอกคุณค่า ประโยชน์ ข้อดี

                หมวกสีเขียว คิดสร้างสรรค์ เสนอทางเลือกใหม่ คิดหลุดโลก หาแนวทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อน หรือไม่ตรงกับวิธีคิดที่ใช้กันอยู่

                หมวกสีฟ้า คิดรอบด้าน มองภาพรวม เสนอข้อสรุป ลงมติ

          สิ่งที่ นศพ. น่าจะได้เรียนรู้ คือคุณค่าของการคิดหลายๆ แบบ และคุณค่าของการร่วมกันคิด คือการมีหลายหัว ที่มุ่งเป้าหมายเดียวกัน ในการเรียนปีต่อๆ ไป (และตลอดชีวิตการเป็นแพทย์) จะต้องเรียนรู้การคิดบนฐานของข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้ (evidence-based) ไม่เชื่อง่าย หรือเชื่อตามๆ กันไป เรื่องนี้มีความซับซ้อนมาก เรียนได้ไม่รู้จบ เฉพาะเรื่องการตัดสินใจใช้ยาเรื่องเดียวก็หาหลักฐานมาคิดเชิง evidence-based และ critical thinking ได้มากมาย

          นอกจากนั้น แพทย์ (และในชีวิตจริงทุกเรื่อง) เรายังต้องฝึกตัดสินใจแบบที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน และฝึกค้นหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ได้ข้อมูลครบและลึก

          ในเรื่องจริยศาสตร์ ก็เช่นเดียวกัน นศพ. ต้องขวนขวายฝึกตนให้มีทักษะในการเรียนรู้เรื่องนี้ตลอดชีวิต และต้องเน้นเรียนจากการลงมือปฏิบัติ คือใช้ร่างกาย (พฤติกรรม) ปลูกฝังจิตใจ ไม่ใช่แค่ใช้การคิด (สมอง) ควบคุมพฤติกรรม (ร่างกาย)

           นศพ. ควรได้เข้าไปติดตาม เว็บไซต์ ของแผนพัฒนาจิต และควรเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น อันจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจเชิงจริยศาสตร์ได้ดีกว่าการอ่านเอกสารวิชาการด้านนี้ สรุปการเตรียมตัวล่วงหน้าของ

           นศพ. นอกจากอ่าน บล็อก นี้แล้ว นศพ. ต้องอ่าน ๒ เรื่องนี้มาล่วงหน้า

  1. http://gotoknow.org/blog/council/185603
  2. http://www.kruproong3.blogspot.com/

จารณ์ พานิช

๒๑ พ.ค. ๕๒

หมายเลขบันทึก: 262399เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2009 06:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2017 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความรู้ใหม่ ที่น่าสนใจและจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างแน่นอนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท