กฤษณพงศ์ กีรติกร : การปฏิรูปการศึกษา ๑



          ผมขอบทความที่มองระบบการศึกษาไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน   และเห็นภาพเชิงประวัติศาสตร์ ของ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาที่ดีและเก่งที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย   เอามาเผยแพร่ต่อดังต่อไปนี้   โดยที่บทความนี้ยาวกว่า ๕๐ หน้า    จึงทยอยลงหลายตอน

          ขอชักชวนให้ค่อยๆ อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะได้ประโยชน์มาก    

 

วิกฤติ    กระบวนทัศน์  มโนทัศน์  เพื่อการปฎิรูปการศึกษา


กฤษณพงศ์ กีรติกร

 

          ประเทศไทยในช่วงเวลาประมาณ 50 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง    เปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจมากมาย    ควบคู่กับการขยายอุดมศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา   ที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย    มหาวิทยาลัยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์   และชาวมหาวิทยาลัยก็วิพากษ์วิจารณ์กันเองอยู่ต่อเนื่อง      จากมิติของประโยชน์(utilitarian)   สถาบันอุดมศึกษาถูกวิพากษ์ว่าผลิตนักศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้    ขาดความรู้และทักษะของอาชีพและโลกยุคใหม่    จากมิติของปัญญา   ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถเป็นเหมือนประทีปทางปัญญาและสำนึกสังคมอย่างที่คาดหวังจากมหาวิทยาลัยในอุดมคติ    จากมิติของจิตวิญญาณและปฏิสัมพันธ์กับสังคม  ชาวอุดมศึกษาก็ถูกวิพากษ์ว่ามั่วสุมอยู่แต่ภายในสถาบันอุดมศึกษา ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม   ขาดสำนึกและอุดมการณ์ทางสังคม   รู้วิชาแต่ไม่รู้สังคม   อาจจะเข้ากับสภาวะที่อาจารย์หมอประเวศ  วะสีใช้คำว่าการศึกษาแบบลอยตัว (Non-engaged education)    จนกระทั่งปัจจุบันมีการวิพากษ์ว่าอุดมศึกษาอยู่ในสภาพวิกฤติ    ดูไปแล้วเหมือนกับอุดมศึกษาเป็นสิ่งชำรุดทางสังคม(Social defects)

มรดกการศึกษาและอุดมศึกษา
          มองย้อนหลังกลับไป    จากมุมปฏิสัมพันธ์กับสังคม   ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2500 และตลอดทศวรรษ 2510 เป็นกาลสมัยแห่ง โทษะมาณพ- angry young man   ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก  โทษะมาณพเป็นคนรุ่นใหม่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง   เติบโตในโลกของสงครามเย็นและสงครามตัวแทน(proxy war)   คนรุ่นใหม่เห็นการสลัดสภาพอาณานิคมและการเกิดประเทศใหม่หลายสิบประเทศ   ทั้งโดยการประกาศอิสรภาพอย่างสันติหรือผ่านสงครามประกาศอิสรภาพ    คนรุ่นใหม่เปี่ยมด้วยไฟอุดมการณ์และความคาดหวังที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาค   หวังที่จะเห็นรัฐบาลที่จริงใจกับประชาชน   ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง  และมีความสุจริต    หวังที่จะเห็นประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงโอกาส   สิทธิประโยชน์และทรัพยากรอย่างทัดเทียม   สถาบันอุดมศึกษาทั้งโลกตะวันตกและตะวันออกเป็นแหล่งผลิตและสะสมโทษะมาณพ  
          ในประเทศไทยช่วงนั้น   คนภายนอกรั้วและภายในรั้วอุดมศึกษาก็วิพากษ์เรื่องนิสิตนักศึกษาไทยจมลึกอยู่กับความสนุกสนานในรั้วมหาวิทยาลัย   เหมือนเด็กเล่นหม้อข้าวหม้อแกงเด็กเล่นตุ๊กตา     มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบกิจกรรมฟุ้งเฟ้อของสังคม    นิสิตนักศึกษาขาดสำนึกทางสังคม   ในปี 2512  อาจารย์วิทยากร  เชียงกูล  ในวัยนักศึกษามหาวิทยาลัย   สะท้อนความผิดหวังในการมาหาความหมายในมหาวิทยาลัย    ผ่านบทกวี เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน  


          ดอกหางนกยูง สีแดงฉาน  บานอยู่เต็ม  ฟากสวรรค์  คนเดินผ่าน  ไปมากัน  เขาด้น ดั้นหา สิ่งใด
          ปัญญา มีขาย ที่นี่หรือ  จะแย่ง ซื้อได้ ที่ไหน  อย่างที่โก้ หรูหรา ราคาเท่าใด  จะให้พ่อ ขายนา มาแลกเอา
          ฉันมา ฉันเห็น ฉันแพ้  ยินแต่  เสียงด่า ว่าโง่เง่า   เพลงที่นี่ ไม่หวาน เหมือนบ้านเรา
ใครไม่เข้า  ถึงพอ  เขาเยาะเย้ย
          นี่จะให้ อะไร กันบ้างไหม มหาวิทยาลัย ใหญ่โตเหวย  แม้นท่าน มิอาจให้ อะไรเลย วานนิ่งเฉย  อย่าบ่น อย่าโวยวาย
          ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย  ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย 
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว
          มืดจริงหนอ  สถาบัน อันกว้างขวาง  ปล่อยฉัน อ้างว้าง ขับเคี่ยว  เดินหา ซื้อปัญญา  จนหน้าเซียว  เทียวมา เทียวไป ไม่รู้วัน
          ดอกหางนกยูง สีแดงฉาน  บานอยู่เต็ม ฟากสวรรค์  เกินพอ ให้เจ้าแบ่งปัน  จงเก็บกัน  อย่าเดิน  ผ่านเลยไป

          ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย - ศนท. ที่จัดตั้งในปี 2513  ได้โต้กลับกระแสการครอบงำเศรษฐกิจการเมือง   สร้างกระบวนการขับเคลื่อนจิตสำนึกและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม   จนเกิดเหตุการณ์ 13 ตุลาคม 2516     และ ศนท. ถูกยุบด้วยรัฐประหารในวันที่ 6  ตุลาคม 2519   ในระหว่างสองเหตุการณ์นี้   ขบวนการนิสิตนักศึกษาก็ถูกวิพากษ์ด้วยคนจำนวนหนึ่งว่ายุ่งไปทุกเรื่อง    นิสิตนักศึกษาถูกวิพากษ์ว่าเป็นตัวแทนและเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายซ้าย  คู่ขนานกันไปก็มีขบวนการนักเรียนอาชีวศึกษาที่ถูกวิพากษ์ว่าเป็นตัวแทนทางการเมืองของฝ่ายขวา  ทั้งสองฝ่าย   เป็นตัวแทน (proxy) การต่อสู้   หลังรัฐประหารวันที่ 6  ตุลาคม 2519   โทษะมาณพจำนวนมากที่คิดได้  คิดเป็น ได้เข้าป่าไปหลายปี    กลุ่มโทษะมาณพที่มีจิตวิญญาณสังคมก็หมดไป   สถาบันอุดมศึกษาเริ่มมีความล้า (fatigue) ทางจิตวิญญาณสังคม   

          ในทศวรรษ 2520   เป็นช่วงที่มีการเติบโตของสถาบันอุดมศึกษาหลายกลุ่ม   เช่น กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางโดยเฉพาะเทคโนโลยี   เติบโตอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้แก่  กลุ่มเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ที่รับนักศึกษาเพิ่ม     กลุ่มเทคโนโลยีราชมงคลซึ่งพัฒนามาจากวิทยาลัยเทคนิค  วิทยาลัยเกษตรและวิทยาลัยอาชีวศึกษาจำนวนหนึ่ง   กลุ่มวิทยาลัยวิชาการศึกษาพัฒนาไปเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและขยายสาขาวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ   สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์    กลุ่มสถาบันราชภัฏพัฒนาจากวิทยาลัยครูแต่ขยายตัวได้เฉพาะสาขาสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์   รวมทั้งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเอกชน  ช่วงทศวรรษ 2530 ประเทศไทยเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูง   ต้องการคนทำงานมาก  แม้จะมีแผนอุดมศึกษาระยะยาวฉบับที่ 1 (2533-2547)เป็นเครื่องชี้ทาง  แต่อุปสงค์ด้านผู้จบอุดมศึกษามากกว่าอุปทาน   สถาบันอุดมศึกษาจึงขยายการผลิตบัณฑิตโดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ    ดังนั้นในทศวรรษ 2530  อุดมศึกษาไทยเริ่มเติบโตอย่างไรทิศทาง  ไร้ขอบเขต   อ่อนคุณภาพ   เราเริ่มเห็นสิ่งที่เรียกว่าอุดมศึกษาพาณิชย์   จนในสิบกว่าปีหลังจากนั้นเราได้ยินคำวิพากษ์เชิงเสียดสี เช่น จ่ายครบจบแน่     
 

 

          ขอย้ำว่า ผู้เขียนบทความที่สุดยอดล้ำลึกนี้ คือ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นะครับ    ผมเป็นเพียงผู้เอามาเรียนรู้และเผยแพร่ต่อ

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ค. ๕๒


             

 

หมายเลขบันทึก: 263528เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2009 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ

  • อ่านจบแล้วประทับใจไป ๑ เที่ยว  เพราะเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ค่ะ
  • ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย  ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย  สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว
  • จ่ายครบจบแน่ 
  • การศึกษาขั้นพื้นฐานถูกกำหนดให้เพิ่มสาระเนื้อหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และเพิ่มชั่วโมงเรียน ซึ่งประกาศออกไปถึงโรงเรียนเมื่อวานนี้
  • ทำไมครูในแต่ละโรงเรียนไม่คิดสอนกันเอง  ทำไมต้องรอการสั่งการ เพระสถานศึกษามีสิทธิ์สร้างหลักสูตรอยู่แล้ว
  • ทำให้คน (เป็นครู) ถนัดกับการทำตามกรอบที่(ไม่)พอดีอยู่วันยังค่ำ
  • กราบขอบพระคุณค่ะ

"อุดมศึกษาพาณิชย์" ... คือ เรื่องจริง

รับความรู้เป็นจุดเริ่มต้นอันคือ ปฐมเหตุ ครับ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท