มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ : ๙. คำอธิบายของ รศ. ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล



          เช้าวันที่ ๓ ก.ค. ๕๒ รศ. ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล บรรยายพิเศษเรื่อง มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “๒๕๕๒ ปีแห่งคุณภาพการอุดมศึกษาไทย” ได้อย่างยอดเยี่ยม   ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการมีมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นหัวรถจักร ยกระดับของสังคมไทยทั้งแผงขึ้นไป   ให้มีความสามารถในการแข่งขันในโลก  

          านที่สนใจเรื่องนี้ เข้าไปดูได้ที่ www.nru.mua.go.th

          สกอ. ได้บันทึกวิดีทัศน์ไว้   และจะนำไปให้ download ได้ที่ www.mua.go.th  

          ผู้ที่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับความเข้มแข็งด้านการวิจัย จะยังมีข้อโต้แย้งในรายละเอียดได้    แต่ผมมองว่า ประเด็นที่ ดร. วันชัยชี้ให้เห็นชัดเจนในการบรรยาย   คือโครงการนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนความเข้มแข็งของการจัดการวิชาการ/วิจัยในมหาวิทยาลัย   เพราะที่ผ่านมาการบริหารในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นการบริหารเชิง bureaucracy เสีย 90%   มีการบริหารเข้าไปในวัฒนธรรมความเข้มแข็งของวิชาการน้อยมาก   เชื่อว่าโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติจะเป็นเครื่องขับเคลื่อนการบริหารแบบ World Class Research University ขึ้นในประเทศไทย 

          และผมเชื่อว่า ต่อไปในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ การสรรหาผู้บริหารจะได้ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ความเข้าใจ เรื่องการวิจัย/วิชาการ มากขึ้น   การตัดสินใจเชิงบริหารจะยึดถือผลทางวิจัย/วิชาการ มากขึ้น

          โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล www.scopus.com   ดร. วันชัยได้ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการทางวิชาการ/วิจัย ของมหาวิทยาลัยไทย ในช่วงเวลา ๕๐ ปี อย่างน่าสนใจยิ่ง    และได้เห็นว่าจำนวน international publication ของมหาวิทยาลัยไทยเพิ่มแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา   น่าสนใจว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากอะไร    ผมขออนุญาตยกหางตัวเองว่า ต้องมีบทบาทของ สกว. เป็นปัจจัยสำคัญอยู่ด้วย หากมีปัจจัยอื่นเป็นปัจจัยหลัก  

          ทำให้ผมมองเห็นประโยชน์ของ central management ที่มีผลต่อพฤติกรรมทางวิชาการ/วิจัย ของมหาวิทยาลัย   ซึ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนการมีโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ   ซึ่งข้อเตือนใจต่อเนื่อง ก็คือ โครงการนี้ต้องการการวางเงื่อนไขเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ   ให้มีพฤติกรรม/วัฒนธรรมวิจัย   สิ่งเหล่านั้นคืออะไร  กำหนดเงื่อนไขอย่างไรจึงจะนิ่มนวล และยอมรับได้

          เป็นความท้าทายต่อทีมจัดการโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอย่างยิ่ง

วิจารณ์ พานิช
๔ ก.ค. ๕๒

 

รูปแสดงการเพิ่มแบบก้าวกระโดดของ international publication ของมหาวิทยาลัยไทย

หมายเลขบันทึก: 278326เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมไม่มีโอกาสได้ไปร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ “๒๕๕๒ ปีแห่งคุณภาพการอุดมศึกษาไทย” แต่ก็ได้ศึกษาคำบรรยายของ รศ. ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล เรื่อง โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (โครงการ SP2)จากไฟล์ PowerPoint ที่เว็บไซต์ http://www.nru.mua.go.th ต้องขอชมเชยว่าเป็น PowerPoint ที่ดีมากจริงๆ

ก่อนหน้านี้ผมได้แสดงความเห็นในเรื่องมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติผ่าน blog/council/ที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ได้เริ่มต้นไว้ภายใต้หัวข้อเรื่อง มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ : 8a. สำนักไต้หวันจัดอันดับการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ที่ http://gotoknow.org/blog/council/276676 โดยเสนอข้อมูลกรณีสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยด้านรายชื่อวารสารยอดนิยมของนักวิจัยไทย และรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์มากที่สุด 10 แห่ง จากฐานข้อมูล ISI Web of Science เปรียบเทียบกับฐานข้อมูล Scopus

ผมขออนุญาตนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลงานวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างๆในปี ค.ศ. 2004-2008 ที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus แยกเป็นสาขาวิชา (Subject Area) ซึ่งไม่ปรากฏใน PowerPoint ของ รศ. ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล ผ่าน blog นี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่สนใจ หรือผู้ที่จะต้องมีส่วนขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติต่อไป ดังนี้

จากจำนวนผลงานวิจัยจากประเทศไทยที่มีการตีพิมพ์ในช่วงปี 2004-2008 ในฐานข้อมูล Scopus จำนวน 27,302 เรื่อง สามารถจำแนกเป็นสาขาต่างๆ จากมากไปหาน้อย 20 ลำดับแรก ดังนี้ (ตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนเรื่อง)

1 Medicine (8,149), 2 Engineering (4,941), 3 Agricultural and Biological Sciences (3,877), 4 Biochemistry, Genetics and Molecular Biology (3,373), 5 Immunology and Microbiology (2,371), 6 Computer Science (2,303), 7 Chemistry (2,120), 8 Materials Science (2,108), 9 Physics and Astronomy (1,563), 10 Environmental Science (1,365), 11 Chemical Engineering (1,336), 12 Pharmacology, Toxicology and Pharmaceutics (1,280), 13 Social Sciences (973), 14 Mathematics (755), 15 Multidisciplinary (697), 16 Energy (646), 17 Earth and Planetary Sciences (642), 18 Veterinary (399), 19 Business, Management and Accounting (358), 20 Nursing (258)

[กำหนดให้อักษรย่อของมหาวิทยาลัย/สถาบันในประเทศไทย เป็นดังนี้

AIT=Asian Institute of Technology, CU=Chulalongkorn University, CMU=Chiang Mai University, KKU=Khon Kaen University, KMITL=King Mongkuts Institute of Technology Ladkrabang, KMUTT=King Mongkuts University of Technology Thonburi, KU=Kasetsart University, MU=Mahidol University, PSU=Prince of Songkla University, SUT=Suranaree University of Technology, TU=Thammasat University]

ในสาขา Medicine มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 MU (2,821), 2 CU (1,755), 3 CMU (936), 4 KKU (777), 5 PSU (736)

ในสาขา Engineering มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 KMITL (1,236), 2 CU (884), 3 KMUTT (567), 4 AIT (367), 5 PSU (359)

ในสาขา Agricultural and Biological Sciences มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 KU (814), 2 PSU (615), 3 MU (536), 4 CU (507), 5 CMU (427)

ในสาขา Biochemistry, Genetics and Molcular Biology มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 MU (1,063), 2 CU (750), 3 PSU (660), 4 CMU (339), 5 KKU (295)

ในสาขา Immunology and Microbiology มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 MU (951), 2 CU (449), 3 PSU (347), 4 CMU (287), 5 KKU (183)

ในสาขา Computer Science มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 KMITL (599), 2 CU (411), 3 PSU (299), 4 KMUTT (220), 5 TU (202)

ในสาขา Chemistry มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 CU (738), 2 MU (485), 3 PSU (467), 4 CMU (236), 5 KU (202)

ในสาขา Materials Science มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 CU (661), 2 PSU (403), 3 CMU (372), 4 MU (310), 5 KMUTT (210)

ในสาขา Physics and Astronomy มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 PSU (469), 2 C MU (342), 3 CU (334), 4 MU (253), 5 SUT (150)

ในสาขา Environmental Science มีผลงานวิจัยตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ ของไทย จากมากไปหาน้อย 5 ลำดับแรก ดังนี้

1 PSU (325), 2 CU (302), 3 MU (252), 4 AIT (248), 5 KU (183)

สำหรับสาขาอื่นๆ ขอเชิญท่านที่สนใจ สืบค้นได้จากเว็บไซต์ของฐานข้อมูล Scopus และถ้าจะให้ดี ควรสืบค้นจากฐานข้อมูล ISI Web of Science เปรียบเทียบกันด้วย ซึ่งก็คงจะเห็นความแตกต่างตั้งแต่ชื่อสาขา (Subject Area) ที่ไม่เหมือนกันตั้งแต่แรกเลย แต่แนวโน้มจำนวนผลงานวิจัยทั้งหมด ค่อนข้างจะสอดคล้องกัน แม้ว่าจำนวนผลงานวิจัยจากฐานข้อมูล Scopus จะมีมากกว่าจากฐานข้อมูล ISI Web of Science เนื่องจากฐานข้อมูล Scopus ครอบคลุมวารสารที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากกว่า

To share an opposite idea from Dr. ทวิช จิตรสมบูรณ์

โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ

Detail: You can follow the article at

Source:

http://www.moe-news.net/index.php?option=com_content&task=view&id=1327&Itemid=&Itemid=&preview=popup

I am not sure if MU will participate in this project. However, I think it is likely since there are not many Universities, which are qualified for such position.

By: TJ July 13, 2009 23:21

Message 1:

Followed up by an article from ทวิช จิตรสมบูรณ์

==============================

เพื่อนญี่ปุ่นของผม (และงานวิจัยแห่งชาติของผม)

คศ. 1986 ในขณะที่ผมทำงานวิจัยอยู่กับศูนย์วิจัยแลงรี่ขององค์การนาซา

ผมมีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่งเป็นคนญี่ปุ่น พอเรียนจบปริญญาเอกเขาก็มาทำงานอยู่แผนกเดียวกับผม เป็นแผนกที่แปลเป็นไทยได้ว่า " แผนกขับเคลื่อนความเร็วเหนือเสียงมาก" (Hypersonic Propulsion Branch) ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นขวัญใจของการวิจัยในองค์กรทีเดียว เพราะจะใช้เป็นเครื่องยนต์ที่สามารถขับจรวดหรือเครื่องบินให้เร็วได้ถึง 25,000 กม. ต่อชั่วโมงนั่นเทียวบินจากนิวยอร์คมาโตเกียวเพียงครึ่งชั่วโมงก็ถึงแล้ว (จริงๆแล้วโครงการนี้ทำทีเป็นเอกชน แต่เป้าหมายคือทหารแน่นอน บางคนเรียกเป็นโครงการ star war ของปธด. โรแนลด์ เรแกน)

เราเป็นคนต่างชาติเพียงสองคนในแผนกนี้ (ซึ่งมีประมาณ 20 คน) จึงสนิทสนมกันมากเป็นพิเศษ เพื่อนชวนผมไปกินข้าวปลาสาเกที่บ้านเพื่อนบ่อยๆ (แม้เพื่อนจะค่อนข้างขี้เหร่แต่ภรรยาสวยมากแบบดาราญี่ปุ่นยังไงยังงั้น) พอสนิทกันสักหน่อย ผมก็ถามเพื่อนว่าญี่ปุ่นก็แสนเจริญ แล้วทำไมเพื่อนไม่กลับไปทำงานที่ญี่ปุ่นเล่า

เพื่อนตอบว่า กลับไม่ได้หรอก เพราะว่าเรียนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ

ถ้ากลับไปจะไม่รุ่งเรือง ....อ้าวเป็นงั้นไป

เพื่อนเล่าต่อว่า ในญี่ปุ่นถือว่าคนที่ไปเรียนนอกเป็นคนที่เรียนในประเทศไม่ไหว หรือไม่ได้จึงจัดเป็นพวกหางแถว ได้รับการดูถูก จึงเจริญได้ยากอีกทั้งพรรคพวกเพื่อนพ้องที่จบมาจาก u เดียวกันที่จะคอยช่วยเหลือกันก็ไม่มีกะเขา (เรื่องพวกพ้องนี่ญี่ปุ่นเหมือนไทย)

ผมมาสะท้อนคิดว่า เออหนอ ช่างตรงข้ามกับไทยเราอย่างสิ้นเชิงของเราทั้งรัฐและเอกชนต่างก็เห่อการส่งคน ไปเรียนนอกให้มากๆและนานมานับร้อยปีแล้ว

ไม่มีรัฐบาลชุดไหนเคยคิดที่จะสร้างค่านิยมในการเรียนเมืองไทยเลย แล้วอย่างนี้มหาลัยไทยจะเข้มแข็งได้อย่างไร เพราะขาดกำลังงานสำคัญในการทำงานวิจัยซึ่งคือนักศึกษาปริญญาเอกนี่เอง

เพื่อนเล่าให้ฟังด้วยว่าในญี่ปุ่นมีนโยบายให้นักวิจัยญี่ปุ่นตีพิมพ์ผล งานวิจัยเป็นภาษาญี่ปุ่นก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีจึงจะเอาไปเสนอในต่างชาติได้ ซึ่งนี่ก็ตรงข้ามกับของไทยเราอีกที่หน้าใหญ่ใจโตต้องตีพิมพ์วารสารนานาชาติ ให้มาก

ส่วนภาษาไทยเราเองไม่นิยมตีพิมพ์ถือว่าเป็นวารสารที่ต่ำต้อย ไร้คุณภาพ (อ้าว..แล้วทำไมพวกคุณไม่ช่วยกันทำให้มันมีคุณภาพล่ะ มัวไปถือกระเป๋าตามนักการเมืองจนลืมไปหรือไง ทั้งที่วารสารวิชาการนั้นคือหัวใจของการวิจัยเลยก็ว่าได้)

นักวางนโยบายวิจัยไทยทุกคนที่ผมเคยได้กลิ่นขี้ปากมาต่างพูดกันเสียงเป็น เสียงเดียวกันว่า นักวิจัยไทยต้องตีพิมพ์นานาชาติ เพราะมันคือตัวชี้วัดความเจริญของชาติเรา ผมก็ได้แต่ส่ายหน้าหมดหวังกับอนาคตประเทศผมที่มีแต่คนพวกนี้ (วิจัย"เก่ง"จนขนาดได้ไปเป็นนักวางนโยบายการวิจัย ที่เสียงดังขโมงโฉงเฉง ลั่นประเทศใครๆ ก็ต้องฟัง รวมทั้งรัฐบาล)

ที่งานวิจัยไทยมันไม่เจริญนั้นผมได้ยินเสียงวิจารณ์มาบ้างและได้พบมากับ ตนเองบ้างว่าเป็นเพราะมันเล่นพวกเล่นพ้องเหมือนกับวงการอื่นนั่นแหละ นักวิจัยระดับวางนโยบายก็วนเวียนกันอยู่ในก๊กในสถาบัน สมบัติผลัดกันชมอยู่ไม่กี่คนและกี่สถาบันนี่แหละ หลายคนอยู่กันจนถือไม้เท้ายอดเพ็ชรในประเทศไทยนี้ไม่มีใครล้ำเลิศยิ่งไปกว่า หาตัวแทนไม่ได้อีกแล้ว

จึงไม่แปลกอะไรเลยที่งานวิจัยไทยเราช่วยประเทศไม่ค่อยได้ เพราะพวกวางนโยบายพวกนี้เป็นพวกนักวิจัย "มือขาว" ทั้งนั้น ที่ไม่รู้จักประเทศไทยดีพอ เห่อฝรั่ง และกลัวฝรั่งจนลนลาน ไม่กล้าคิดอะไรที่เป็นของไทย ที่ทำไปจากล่างสู่บน

จะทำอะไรแต่ละทีเป็นต้องจากบนสู่ล่าง ต้องมีที่ปรึกษาต่างชาติ ต้องร่วมมือกับต่างชาติก่อนเสมอไป

ทำไมนักวิจัยเต็มประเทศ แต่ปล่อยให้ชาติขายมันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด

น้ำมันปาล์ม แบบดิบๆ ที่ราคาแสนต่ำ ไม่นับรวมผลไม้อีก 100 ชนิด ในขณะที่นิวซีแลนด์เขามีผลไม้ลูกเดียวคือ กีวี แต่ทุกมหาลัยทำงานวิจัยกันจ้าละหวั่น

เพื่อเอาทุกส่วนของกีวีมาแปรเป็นรายได้เข้าประเทศ ในขณะที่นักวิจัยไทยหันไปทำงานวิจัยเรื่องนม เนย ชีส ไวน์ นาโนเทค ไปโน่น ปล่อยให้ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ ล้นตลาด ราคาแสนต่ำ

ไม่รู้จะโทษใครผมต้องขอโทษนักการเมือง ที่ปรึกษานักการเมือง และนักวางนโยบายวิจัย (อดีตนักวิจัย) ไว้ก่อนหละ ส่วนผมตัวน้อยๆ ก็ทำหน้าที่ของผมแล้ว ในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียวแต่หลายครั้งแล้ว

จนผมเชื่อว่าได้มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงนโยบาย สกว. = สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย อย่างขนานใหญ่มาแล้ว เพราะเมื่อสัก 10 ปีก่อน สกว. จะสนับสนุนการวิจัยแบบเลิศลอยฟ้าที่เน้นตีพิมพ์ต่างชาติที่สุด จนผมทนไม่ไหวได้เขียนบทความวิจารณ์ในวารสารของ ม. ของผม ว่า การทำเช่นนี้ถือเป็น "การทำลายชาติ" เมื่อเรื่องเข้าหู "ผู้ใหญ่" (ซึ่งท่านมาเล่าให้ผมฟังเอง) สกว. จึงได้ปรับนโยบายมาส่งเสริมการวิจัยด้านการเกษตรมากขึ้นผิดหูผิดตาจนทุก วันนี้

คราวนี้ผมกำลังจะบอกว่า รัฐบาลกำลังจะ "ขายชาติ" อีกแล้วด้วยการทุ่มเงิน

12,000 ล้านบาทเพื่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ โดยงัดเอามุกด้อยพัฒนาเดิมๆมาใช้ คือ ต้องตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติให้มาก...จบข่าว

....ทวิช จิตรสมบูรณ์

เห็นด้วยกับคุณทวิชอย่างยิ่ง

ปรัชญาตะวันออกเน้นความรู้คือวิทยาทาน คือ การให้ เป็นการลดความเห็นแก่ตัว และเผื่อแพร่ความรู้ให้แก่ผู้อื่น เราเน้นคุณค่าทางด้านจิตใจ พอเพียง มากกว่า ตึก 100 ชั้น แต่ข้างในเงียบเหงา ขาดการแบ่งปัน

อาจารย์ค่ะ หนูได้มีโอกาศเข้าฟัง ดร.วันชัย บรรยายที่เมืองทองวันนั้น รู้สึกเหมือนท่านอาจารย์ค่ะว่ายอดเยี่ยมจริงๆ หนูได้มีโอกาศพบอาจารย์และได้รับฟังข้อคิดเห็นของอาจารย์เพียง 10 นาที ก็ยิ่งประทับใจอาจารย์เป็นอย่างมาก นับว่าเป็น 10 นาที ที่มีค่าและมีประโยชน์มากจริงๆ ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ที่นำเสนอสิ่งดีๆ ที่จะส่งผลให้งานวิจัยของประเทศก้าวหน้าต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท