ชื่นชมคณาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มช. ลุกขึ้นมาโต้แย้ง (๑)


 
          เมื่อวานผมได้รับเชิญไปร่วม การสัมมนาเรื่อง “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติและความเป็นเลิศทางวิชาการ?” ที่ มช. โดยมีกำหนดการดังนี้   และมีรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาดังนี้

          โดยที่สาระสำคัญของการประชุมคือ การให้คุณค่าแก่ศาสตร์หรือวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์   และวิธีการวัดคุณภาพของวิชาการสายนี้   โดยที่คณบดีของ ๙ คณะในสายนี้ของ มช. ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย   ร่วมกันทำวิจัยเพื่อทำความเข้าใจเรื่อง university ranking, inpact factor, และ TQF  

          ผมจึงชื่นใจมากที่คนในวงการสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ ลุกขึ้นมาทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เพื่อหาทางสร้างเกณฑ์วัดความเป็นเลิศทางวิชาการที่เหมาะสมต่อศาสตร์ของคน ในบริบทไทย 

          ผมได้ขออนุญาต นำเอาเอกสารที่นำเสนอในที่ประชุมมาเผยแพร่ต่อ   เพราะจะได้เป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการทั้ง ๓ สาขานี้ในวงกว้าง    และทีมจัดสัมมนาได้อนุญาตแล้ว    และเชื่อว่าทีมจัดสัมมนาจะเผยแพร่เอกสารชุดที่สมบูรณ์กว่าที่ผมได้รับมา ในเว็บไชต์ของเครือข่ายคณบดีฯ ด้วย

          ในชั้นแรก ขอนำบทความเรื่อง “คุณภาพอุดมศึกษา การจัดอันดับมหาวิทยาลัย และความเป็นเลิศทางวิชาการ” โดย ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มาลงเป็นตอนๆ   ดังต่อไปนี้

 

ร่างบทความ กรุณาอย่าอ้างอิง
คุณภาพอุดมศึกษา การจัดลำดับมหาวิทยาลัย และความเป็นเลิศทางวิชาการ 
1


                                                       ปิ่นแก้ว  เหลืองอร่ามศรี2

 

 “Different disciplines shine under different lights...        [T]heir best contributions are not made with the same             tools. I think that the beauty of a university is its intellectual     diversity.”

       Michèle Lamont, author of How Professors Think : Inside  the Curious World of Academic Judgment, 2009

 

In the world according to the Shanghai Jiao Tong University rankings, higher education is not about teaching or community building or    finding solutions to local or global problems or being a critic and    conscience of society. It is about scientific research, publication,    citations and Nobel Prizes… [I]n the world according to the Times    Higher Education Supplement, higher education is primarily about    building institutional global reputation as an end in itself (and    therefore about international marketing), and about recruiting more   international staff as well as students, and about small student-staff   ratios, and for just 20 per cent of the time about research, because    these metrics drive the Times Higher index. It is not about teaching,   or community service, and very little about serving the greater good   unless that lifts reputation.


Simon Marginson, “Rankings: Marketing Mana or           Menace?”, 2007 (Emphasis added)


          กระแสการผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาตินับเป็นพลังขับเคลื่อนครั้งใหญ่ของอุดมศึกษาไทยในทศวรรษปัจจุบันที่ต้องการยกระดับเชิงคุณภาพของอุดมศึกษาไทยทั้งระบบ  ซึ่งมีสถาบันหลัก เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นกลไกในการผลักดันสำคัญ แน่นอนที่ว่า แรงขับสำคัญในการผลักดันในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความปรารถนาที่จะแข่งขันกับโลกอุดมศึกษาภายนอก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยระดับโลก (World-class University)  และทั้งมาจากความตระหนักในความอ่อนแอและขาดแคลนทั้งทุน บุคคลากรของสถาบันอุดมศึกษาในไทยในการที่จะผลิตสร้างงานวิจัยและนวัตกรรรมที่มีคุณภาพให้กับสังคม กระแสดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับอุดมศึกษาในไทยเท่านั้นหากแต่เป็นความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ที่ซึ่งความพยายามในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและวิชาการในระดับอุดมศึกษา ได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยไม่เพียงต้องมีพันธกิจต่อรัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เท่านั้น หากยังต้องตอบสนองต่อกระแสโลกานุวัตร(globalization) ที่ส่งผลต่อความรวดเร็วและยืดหยุ่นของการเคลื่อนย้ายทั้งบุคคลากรทางการศึกษาและนักศึกษา ซึ่งผลักให้มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาระบบที่เทียบเคียงคุณวุฒิในหลักสูตรในระดับสากลระหว่างกันได้  ทั้งยังต้องแข่งขันระหว่างกันเพื่อสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมทางการศึกษาที่น่าดึงดูดใจ และพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพที่จะช่วยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและขจัดข้อบกพร่องในการเรียนการสอนและการทำงานวิชาการของมหาวิทยาลัยอีกด้วย 

  
          ในต่างประเทศนั้น กระแสดังกล่าวได้ก่อให้เกิดทิศทางในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่างๆแข่งขันกันเองเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้วยระบบการจัดลำดับชั้น (ranking) และการพัฒนาเครื่องมือในการชี้วัดต่างๆ ขึ้นมาใช้ในการบ่งบอกถึงความเข้มแข็งและอ่อนด้อยของการทำงานในแต่ละสถาบัน  แน่นอนว่า กระแสดังกล่าว ย่อมได้รับการตอบรับด้วยท่าทีที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อทิศทางการมุ่งเน้นการแข่งขันดังกล่าว และความลักลั่นของวิธีวิทยา (methodology) ในการจัดลำดับชั้นของมหาวิทยาลัย  ในกรณีของไทยนั้น ในขณะที่แนวคิดเรื่อง “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” (Research Universities) ยังเป็นเรื่องที่พูดถึงและรู้กันเฉพาะในหมู่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย การผลักดันในเชิงนโยบายให้มหาวิทยาลัยไทยออกไปแข่งขันกับต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยกระทรวงศึกษาธิการกลับเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขัดกับหลักการที่มักได้ยินได้ฟังเสมอว่า กระบวนการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาตินั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและการสนับสนุนอย่างรอบด้าน นโยบายที่ผลักดันจากเบื้องบนดังกล่าว ใช้การแข่งขันที่ดุเดือด ที่มีทั้งเงินรางวัลและการควบคุมอย่างเข้มงวด ตลอดจนการลงโทษเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัยไทย แน่นอนที่ว่ามหาวิทยาลัยที่สามารถเข้าสู่ระบบการแข่งขันดังกล่าวได้ย่อมเป็นมหาวิทยาลัยที่มีทรัพยากรพร้อมมูลอยู่แล้ว

 

ห้องประชุม MOC ศึกษาธิการ - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติว่า เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ประกาศ ๙ มหาวิทยาลัยของไทย เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติปี ๒๕๕๓ โดยรัฐจัดงบสนับสนุนให้ ๙,๐๐๐ ล้านบาท แต่จะมีการประเมินเมื่อครบ ๑ ปี หากมหาวิทยาลัยใดไม่ผ่านเกณฑ์จะถูกถอดออก และหากมีมหาวิทยาลัยอื่นใดมีผลวิจัยเข้าเกณฑ์ จะได้รับการประกาศในปี ๒๕๕๔ ส่วนมหาวิทยาลัยรัฐอีก ๖๙ แห่งที่ไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติยังได้รับงบสนับสนุน ๓,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อเน้นทำวิจัยไปที่ SME และการทำวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาประเทศ


     รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณามหาวิทยาลัยที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ซึ่งได้มีมหาวิทยาลัยเสนอเข้ามารับการพิจารณา ๑๕ มหาวิทยาลัย โดยที่ประชุมได้พิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยถือหลักเกณฑ์สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดลำดับไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๕๐๐ ที่มีการประกาศมหาวิทยาลัยของโลก (Times Higher Education-QS ประจำปี 2008)  ประการที่สอง ถ้าไม่ติด ๑ ใน ๕๐๐ จะต้องเข้าเกณฑ์อย่างน้อย ๓ ประการ คือ ๑) มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติโดยภาพรวม (Scopus) ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ เรื่องใน ๕ ปีล่าสุด ๒) ผลงานวิจัยต้องมีความโดดเด่นอย่างน้อย ๒ ใน ๕ สาขาวิชา –ของ Times Higher Education-QS ๓) จะต้องมีอาจารย์ที่จบปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า ๔๐% ของอาจารย์ทั้งหมดในมหาวิทยาลัยนั้น  จากการพิจารณาทั้งหมด พบว่ามีด้วยกัน ๙ มหาวิทยาลัยที่เข้าเกณฑ์และคณะกรรมการมีมติให้ได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่งถือว่าเป็นปีแรกของประเทศไทยที่ได้มีการประกาศมหาวิทยาลัยแห่งชาติขึ้น ประกอบด้วย ๑. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ๒. มหาวิทยาลัยมหิดล ๓. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์               ๔. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๕. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ๖. มหาวิทยาลัยขอนแก่น                                          ๗. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๘. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ๙.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


     ถัดจากนี้ไป มหาวิทยาลัยทั้ง ๙ แห่งมีภารกิจที่จะต้องจัดทำแผนกลยุทธ์ฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอสู่คณะกรรมการเพื่อพิจารณา แผนที่ว่านั้นคือแผนกลยุทธ์ที่จะทำการวิจัยต่อไปอย่างน้อย ๑ ปีจากนี้ไป เพื่อคณะกรรมการจะได้พิจารณาในการจัดงบประมาณที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดผลงานในการวิจัยขึ้น โดยจัดงบประมาณสนับสนุนให้จำนวน ๙,๐๐๐ ล้านบาทในระยะเวลา ๓ ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) และจะมีการประเมินผลทุก ๖ เดือน และเมื่อครบ ๑ ปีแล้ว หากมีการประเมินผลพบว่ามหาวิทยาลัยใดไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็จะต้องมีการถอดออกจากความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ


     ในช่วงเวลา ๑ ปีถัดจากนี้ไป หากมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ นอกเหนือจาก ๙ มหาวิทยาลัยดังกล่าว สามารถที่จะปรับทิศทางผลงานการวิจัยของตนเองจนเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ก็จะได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติในปี ๒๕๕๔ เพราะฉะนั้นในแต่ละปีมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่มหาวิทยาลัยใดสามารถปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้


     รมว.ศธ.กล่าวถึงผลงานการวิจัยด้วยว่า นอกจากจะมุ่งเน้นการสร้างผลงานทางด้านการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยทั้งในส่วนของการสร้างองค์ความรู้ เพื่อที่จะไปต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป และการวิจัยเพื่อนำไปใช้ได้จริงสำหรับภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคบริการ ภาคสังคม และภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นการสนองตอบต่อเป้าหมายในการพัฒนาด้านต่างๆ ดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างแท้จริง


     ขณะเดียวกัน สำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ศธ.ก็ยังต้องการพิจารณาให้การสนับสนุนด้านวิจัยเช่นเดียวกัน โดยมีการเตรียมงบประมาณไว้ ๓,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับการส่งเสริมการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยของรัฐอีก ๖๙ แห่ง เพื่อที่จะทำผลงานพัฒนาวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง ๖๙ แห่งจะมุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้สร้างผลงานวิจัยในลักษณะที่สามารถนำไปใช้ได้จริงกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งทิศทางจะมุ่งเน้นไปในการสนับสนุนผลการวิจัยเพื่อประโยชน์สำหรับ SME ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน รวมทั้งการวิจัยเพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นเป็นด้านหลัก โดยงานวิจัยที่จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษนั้น จะสนับสนุนงานวิจัยที่มีโจทย์จากพื้นที่ชุมชน SME และภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงเป็นด้านหลัก” (จากข่าวสำนักรัฐมนตรี3  สธ. ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน
 


1บทความนำเสนอในการประชุมสัมมนาเรื่อง “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และความเป็นเลิศทางวิชาการ?” โดย คณะสังคมศาสตร์ ร่วมกับที่ประชุมคณบดีสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  10 ธันวาคม 2552  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3รายละเอียดข่าวจากเว็บไซต์ http://www.moe-news.net/index.php?option=com_content&task=view&id=1411&Itemid=2&preview=popup


 

          สิ่งที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษานั้นมีความหลากหลายอย่างมหาศาล และเป้าหมายของศาสตร์แต่ละสาขานั้นก็มีความแตกต่างกัน คำถามที่ว่า จะนิยามความเป็นเลิศทางวิชาการอย่างไร จึงจะสื่อให้เห็นถึงความแตกต่างและหลากหลายเหล่านี้ได้อย่างเพียงพอ? คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นโจทย์ที่แม้แต่ในวงการวิชาการต่างประเทศยังคงถกเถียงกันไม่เป็นที่สิ้นสุด ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการจัดลำดับความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษา ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างและยังไม่เป็นที่ยุติ ตลอดจนข้อกังขาที่ว่า  เหตุใดคุณค่าและความหมายของอุดมศึกษาและการเติบโตของวิชาการจึงถูกลดทอนลง/บีบคั้นให้เหลือเพียงทิศทาง “สายเดี่ยว” ของการแข่งขันเพื่อ “การเป็นอันดับหนึ่ง” เท่านั้นจึงจะเป็นทางออกเพื่อให้ตนเองอยู่รอด? ใครบ้างจะอยู่รอดได้ในเกมส์การแข่งขัน (ในสนามและความหมายที่เรามิได้กำหนด) นี้? และใครจะไม่สามารถอยู่รอดได้? คำถามดังกล่าว  ไม่ต่างอะไรไปจากคำถามที่มีต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักตามโลกตะวันตกที่สร้างปัญหาให้กับประชาคมโลกมาไม่น้อยกว่า 5 ทศวรรษ  ทั้งนี้ กรอบคิดเช่นนี้ยังได้ปิดบังมุมมองประเภทอื่นๆ ในการมองความจำเริญของการสร้างสรรค์เชิงปัญญาและแนวทางการพัฒนาชุมชนวิชาการเสียหมดสิ้น

          ในขณะที่ข้อถกเถียงในเชิงปรัชญาที่มีต่อ “การแข่งขันกันเป็นเลิศ” เป็นโจทย์สำคัญที่จำเป็นต้องขบคิดอย่างจริงจัง คำถามที่สำคัญที่ควรต้องตอบถัดมา ก็คือ อะไรคือกฎ และกติกาของการแข่งขัน? และเหตุใดหน่วยงานทางนโยบายของไทยจึงยึดถือเอากฎ กติกานั้น เป็นเครื่องมือมาตรฐานในการชี้วัดความเหนือกว่าและความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษา คำถามดังกล่าว มุ่งตรงไปที่ “ระบบการจัดอันดับของสถาบันการศึกษา” โดยใช้ Time Higher Education-QS (THE-QS) และฐานข้อมูล Scopus ที่ถูกระบุในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและสกอ.ให้เป็น “มาตรฐานตัวชี้วัดเดียว” ที่ใช้ระบุคุณลักษณะของความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ  ซึ่งกลายเป็นกรอบที่วางไว้ให้ทุกๆ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินรอยตาม 

          บทความชิ้นนี้ ต้องการประมวลและประเมินปัญหาของการใช้เกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวในการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และตัวชี้วัดความเป็นเลิศทางวิชาการ ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อการทำงานในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และวิจิตศิลป์ โดยใช้กรณีศึกษาจากต่างประเทศเป็นตัวอย่างและเป็นบทเรียนในการทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนต้องการวิเคราะห์ให้เห็นนัยสำคัญที่ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการเรียนการสอน และการทำงานวิชาการของสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และวิจิตศิลป์ในไทย นอกจากการประมวลข้อถกเถียงที่มีต่อ THE-QS และ Scopus ในระดับสากลแล้ว ผู้เขียนยังได้ชี้ให้เห็นถึงทางเลือกอื่นๆ ในการพิจารณาความเลิศทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาที่กว้างและหลากหลายกว่าเกณฑ์การวัดกระแสหลักที่เป็นอยู่ 

          ทั้งนี้ ด้วยเวลาอันจำกัด  การนำเสนอในบทความชิ้นนี้ เป็นเพียงการสำรวจความคิดและงานเขียนเบื้องต้น เพื่อเปิดพื้นที่ในการสร้างข้อถกเถียงเท่านั้น มิได้มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอข้อสรุปสุดท้ายที่มีต่อความเป็นเลิศทางวิชาการของอุดมศึกษาไทย อันเป็นโจทย์ที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญและซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องให้เวลาในการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบและรอบด้านก่อนจะที่วางนโยบายเพื่อบังคับใช้กับทุกสถาบันการศึกษา

 

มีต่อ
วิจารณ์ พานิช
๑๑ ธ.ค. ๕๒

บรรยากาศในห้องประชุม

 

รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม กล่าวรายงาน

 

ดร.พงษ์อินทร์ รักจริยะธรรม รองอธิการบดี กล่าวเปิด

หมายเลขบันทึก: 320163เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2009 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากครับ อาจารย์หมอ ;)

ขอบคุณมากครับ

 

ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลที่น่าสนใจค่ะ รอติดตามนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท