ช่วยกันกอบกู้สังคมไทย : บทบาทของอุดมศึกษา


เครือข่ายอุดมศึกษาหนุนประชาชนแก้ปัญหาความยากจน จะเป็นโครงสร้างการทำงานของระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย ในการทำให้อุดมศึกษาไทยพ้นจากสภาพลอยตัว ไม่รู้ร้อนรู้หนาว จากปัญหาบ้านเมือง ไปสู่อุดมศึกษาเพื่อสังคมไทย (engaged higher education)

ช่วยกันกอบกู้สังคมไทย : บทบาทของอุดมศึกษา

           สภาพสังคมไทยในเวลานี้ วิกฤตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน   เพราะศัตรูคือความแตกแยกกันเองภายในชาติ   ผมได้ความคิดจากการดู ดีวีดี เรื่อง “ทางออกประเทศไทย” ในรายการ 9 ทันสถานการณ์ ของทีวีช่อง ๙  วันที่ ๑๑ พ.ค. ๕๓ เวลา ๒๐.๐๐ – ๒๑.๓๐ น.  ที่ท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน สนทนากับผู้ดำเนินรายการคือคุณสุวิช สุทธิประภา   จึงเกิดความคิดว่าฝ่ายต่างๆ ที่เป็นห่วงบ้านเมืองควรมาร่วมกันลงมือทำอย่างมีสติ   ในเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง

           โดยควรเลือกเรื่องแก้ปัญหาความยากจน เป็นตัวเดินเครือข่ายความร่วมมือ   ยุทธศาสตร์คือ

  •    หาทางเชื่อมโยงกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดเครือข่ายกว้างขวางยิ่งขึ้น จริงจังยิ่งขึ้น มีการดำเนินการหลากหลายยิ่งขึ้น   โดยที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารถึงกัน
  •    เน้นยุทธศาสตร์ให้ภาคประชาชน คนในพื้นที่ รวมตัวกันเป็นผู้ลงมือทำ คิดเองทำเอง และวางแผนดำเนินการต่อเนื่องยาวนาน   ภาครัฐ ภาคอุดมศึกษา  ภาคเอ็นจีโอ  ฯลฯ เข้าไปหนุน และเชื่อมโยงเครือข่าย   ไม่เข้าไปนำ  ระมัดระวังไม่เข้าไปครอบงำ   ไม่เข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์ทางการเมือง หรือการสร้างชื่อเสียง
  •    กิจกรรมที่มีการทำอยู่แล้วอย่างกว้างขวางคือโครงการปิดทองหลังพระ ที่มีมูลนิธิชัยพัฒนา และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเป็นแกนนำ    ท่านองคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย เป็นประธาน   และ มรว. ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นผู้จัดการหลัก   น่าจะใช้โครงการนี้เป็นแกนหนึ่งของเครือข่ายกอบกู้สังคมไทยให้พ้นจากความยากจน

            ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา ขอย้ำว่า มีหลายสถาบันดำเนินการอยู่แล้ว   จึงน่าจะหาทางต่อยอด ขยายผล ขยายเครือข่าย   และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น   โดยย้ำว่า เราต้องการให้ชาวบ้านรวมตัวคิดเองทำเอง   ฝ่ายมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมเรียนรู้และเอื้ออำนวยกิจกรรม   หรือเอาความรู้หรือเทคนิคบางอย่างไปช่วยเสริม   หรือช่วยจัดกระบวนการให้ชาวบ้านสรุปบทเรียน ที่เรียกว่าใช้กระบวนการจัดการความรู้  

            สิ่งที่วงการอุดมศึกษาควรลงมือทำคือ การจัดการเครือข่าย ที่มีวิธีจัดการอย่างได้ผล   เกิดการลงมือทำมากขึ้น ทำอย่างมีสติ อย่างมีความเข้าใจหลักการ    และเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ โดยเฉพาะเครือข่ายปิดทองหลังพระ

            ในวันที่ ๑๑ – ๑๓ มิ.ย. ๕๓ คุณชายดิศนัดดา ดิศกุล จะเชิญผู้ใหญ่ในวงราชการ และวงมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ไปเยี่ยมชมกิจกรรมแก้ปัญหาความยากจนในโครงการปิดทองหลังพระที่ จ. เชียงรายและน่าน   ท่านต้องการชวนมหาวิทยาลัย ๓ แห่งเข้าร่วมมือ   ท่านชวนผมไปด้วยในฐานะรองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล   ผมจึงได้แนวความคิดว่าน่าจะหาทางเอาอุดมศึกษาทั้งระบบเข้าร่วมมือ    จึงขอเสนอให้คุณปิยาภรณ์ ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ช่วยประสานงานกับคุณชาย ขอเชิญอีก ๒ ท่านร่วมขบวนไปด้วย   คือท่านเลขาธิการ สกอ. ดร. สุเมธ แย้มนุ่น (ถ้า ดร. สุเมธ ไม่ว่าง ก็ขอให้รองเลขาธิการท่านใดท่านหนึ่งไปแทน) กับ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมอง    ผมเล็งว่า เรื่องเครือข่ายอุดมศึกษาหนุนประชาชนแก้ปัญหาความยากจน นี้ น่าจะมอบให้สถาบันคลังสมองเป็นผู้จัดการเครือข่าย เพราะ ศ. ดร. ปิยะวัติมีประสบการณ์การทำงานแนวนี้   และจะเชื่อมโยงเอา สกว. เข้ามาร่วมทำงานได้อีก   สกว. ก็มีงานด้านนี้อยู่มาก

            ผมหวังว่า เครือข่ายอุดมศึกษาหนุนประชาชนแก้ปัญหาความยากจน จะเป็นโครงสร้างการทำงานของระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย    ในการทำให้อุดมศึกษาไทยพ้นจากสภาพลอยตัว ไม่รู้ร้อนรู้หนาว จากปัญหาบ้านเมือง    ไปสู่อุดมศึกษาเพื่อสังคมไทย (engaged higher education)    ทำงานด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย บริการสังคม ลงทุน สืบสานคุณความดีและศิลปะและวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงกับสังคมไทยอย่างแน่นแฟ้น   ... เพื่อกอบกู้สังคมไทยจากความแตกแยก   ผ่านการทำงานที่ไม่มีฝ่ายใดปฏิเสธ คืองานแก้ปัญหาความยากจน    

            จะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนที่ประชาชนเป็นแกนนำและแกนทำ    อุดมศึกษาเป็นแกนหนุน ทำงานวิชาการหนุน   เอาความรู้เข้าไปหนุน   โดยที่เป็นความรู้ที่เหมาะมือเหมาะใจชาวบ้าน   ยกระดับความรู้จากจุดลงมือทำของชาวบ้าน   เอาเรื่องราวกิจกรรมของชาวบ้านเป็นข้อมูลสำหรับให้นักศึกษาปริญญาเอกเข้าไปทำวิจัยด้านต่างๆ รวมทั้งด้านกระบวนการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย เป็นวิทยานิพนธ์

            ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบผลงานวิชาการแนวใหม่ ที่เรียกว่าผลงานวิชาการรับใช้สังคมไทย   หวังว่าจะเกิดระบบวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย   และเกิดการสร้างสรรค์ความรู้เชิงวิชาการขึ้นจากการทำงานร่วมกับชาวบ้าน เพื่อลดช่องว่างในสังคม ลดปัญหาความยากจน

            ทั้งหมดนี้ เป้าหมายใหญ่คือการกอบกู้สังคมไทย จากความแตกแยก

วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ค. ๕๓

หมายเลขบันทึก: 360239เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนอ.วิจารณ์ที่เคารพ

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งและอยากเห็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ให้กับสังคมไทยให้มากขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงถึง Impact Factor ตามกระแสสังคมของงานวิจัยกระแสหลัก แต่เราควรหันมามอง Social Impact ให้มากขึ้นนะครับ แต่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงและยังยืนต่อไปได้อย่างไรผมยังมองเห็นภาพไม่ชัดเจนเท่าไรนัก เหมือนกับที่มีการพูดถึงการพัฒนาคุณภาพของครู หรือพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ก็ยังมีโมเมนตัมที่ยังไม่มากพอนะครับ ผมอยากเห็นสังคมไทยและนักวิจัยไทยหันมามองสังคมให้มากขึ้นนะครับ และผมคิดว่าพลังของนักวิจัยรุ่นใหม่จะมีส่วนสำคัญมากๆ แต่นักวิจัยรุ่นใหม่ๆก็ต้องพยายามผลักดันตัวเองให้มีผลงานวิชาการในกระแสหลัก เพื่อที่จะได้ก้าวไปสู่ตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้นๆ ซึ่งอาจจะไม่ทันเวลา

เรียน อ.วิจารณ์ ที่เคารพ

เห็นด้วยครับ ถ้านำแนวคิดนี้ลงสู้การปฏิบัติจริงได้จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยค่อนข้างจะอยู่ในสถานะลอยตัว ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคมส่วนรวม

มุ่งแต่เป้าหมายเฉพาะตนเป็นที่ตั้ง ถึงเวลาปรับเปลี่ยนได้แล้วครับ

ด้วยความเคารพ

เรียน อ.วิจารณ์ ที่เคารพ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดของอาจารย์ ดิฉันเป็นผลผลิตของทุนคปก. และเป็นสมาชิกของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นประเด็นภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต อยากจะแลกเปลี่ยนถึงผลที่ได้รับจากการทำงานคือ ความรู้เรื่องวิจัยปฏิบัติการและการวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งสะสมอยู่ในตัวดิฉันและเพื่อนร่วมงานทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งต้องใช้ทั้งงานวิจัยพื้นฐานผสมผสานกับการวิจัยประยุกต์ และการวิจัยปฏิบัติการโดยชุมชนเป็นฐาน ในมุมมองของดิฉันชุมชน/ท้องถิ่นไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานีค้นคว้าวิจัย แต่ชุมชนเป็นเหมือนครอบครัวหรือสถานศึกษาที่มีชาวบ้านมิใช่เป็นเพียงแค่ผู้รับการถ่ายทอด (ซึ่งมีสถานะไม่แตกต่างอะไรจากนักศึกษาที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา) แต่ยังมีบทบาทในฐานะผู้ให้ความรู้ด้วย มันเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน ถ้าเรามองแบบนี้เราอาจจะหลุดพ้นจากกรอบของความเป็นอุดมศึกษาเพียงแค่ในกรอบของมหาวิทยาลัยก็อาจเป็นได้ และประโยชน์ก็จะเกิดกับสังคมไทยในวงกว้าง

ในฐานะที่เป็นคนในอุดมศึกษา ถ้าถามถึงผลผลิตส่วนตนบอกได้เลยว่ามาทีหลังผลผลิตของชุมชนหรือสังคม ถ้าบุคลากรในรั้วอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยยอมรับได้ แนวคิดเรื่องงานวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย จะผลิดอกออกผลอย่างทีตั้งใจค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ณัฐนันท์ สินชัยพานิช

วันที่ ๑๓ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

เรียน ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๔

เนื่องด้วยดิฉันได้รับเลือกคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ ซึ่งเลือกจากข้าราชการตำแหน่งประเภทวิชาการ จากนั้นได้รับหนังสือที่ ศธ.๐๕๑๗.๐๑๙/อธ ๓๒ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ เรื่องขอเชิญประชุมเพื่อเลือกผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ ในวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๑:๐๐ น. ห้องประชุม ๕๑๕ ชั้น ๕ สำนักงานอธิการบดี (ศาลายา) มหาวิทยาลัยมหิดล

๑. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๒

หมวด ๑ คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์

ข้อ ๘ ให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ ประกอบด้วย ตั้งแต่ (๑) - (๖)

(๗) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งกรรมการตาม (๑) - (๖) เลือกจาก ...

ให้คณะกรรมการตั้งเลขานุการหนึ่งคน และอาจตั้งผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการตาม (๒) - (๖) ให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย

ตามประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ข้อ ๙ การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

และในวันดังกล่าวได้มีการเลือกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ ท่าน

แต่ปรากฏว่าในวาระการประชุมนั้น

๑. เรื่องแจ้งเพื่อทราบ

๑.๑ ผลการดำเนินการเลือกกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ชุดใหม่

๙. เพื่อเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมเลือกเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ

๔. เรื่องพิจารณา

๔.๑ เรื่องการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ได้ดำเนินการเลือกเรียบร้อย

๔.๒ เรื่องแต่งตั้งเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ

โดยการนำเสนอจากประธาน

ยังไม่มีการรับรองรายงานการประชุม

ต่อมาได้มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนาม ณ วันที่ ๗ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ แต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๔ อาศัย

๑. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๒

๒ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๒๔ สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยอำนาจและหน้าที่เช่นนี้ให้

รวมถึง

(๑๙) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย ...

มาตรา ๓๔ อธิการบดีเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการทั้งปวง ให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย ข้อบังคับ และประกาศมหาวิทยาลัย หรือตามที่สภามอบหมาย

อนึ่งในการที่ดิฉันมีประเด็นสอบถามท่านนั้น กระทำด้วยความสุจริตและมิได้ประสงค์ที่จะกระทำให้เกิดความขัดแย้งต่อสังคม และมิได้เกี่ยวข้องกับความชอบหรือไม่ชอบในตัวบุคลแต่ประการใด แต่เพื่อให้เกิดกระบวนการที่ถูกต้อง เนื่องจากคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดล จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการด้วย ซึ่งอาจมีกรณีการร้องเรียน การดำเนินคดีทางกฏหมาย ฉะนั้นกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการ เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ประกาศคณะกรรมการฯ ต้องชอบด้วยกฏหมาย เ พื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลมีความชอบธรรมและโปร่งใส่ อีกทั้งหลักในการปกครองด้านนี้คงต้องอาศัย หลักการนิติรัฐกล่าวคือ "กฏหมายเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง มิใช่มนุษย์เป็นผู้ปกครอง"

ประเด็นที่สอบถาม

๑. การออกประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องประจำมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๔

โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ชอบด้วยข้อบังคับฯ และพระราชบัญญัติฯ ข้อใดของประกาศ

หากสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบอำนาจหน้าที่ให้แก่อธิการบดี ควรระบุ ตามมาตรา ๓๔ (๘) ในการประชุมสภา

มหาวิทยาลัย... หรือในข้อบังคับใด

๒. คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องประจำมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๔

ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ประกอบด้วย

หมวด ๑ คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์

ข้อ ๘ ให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ ประกอบด้วย ตั้งแต่ (๑) - (๗)

(๗) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งกรรมการตาม (๑) - (๖) เลือกจาก ...

ฉะนั้นคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ ประกอบด้วย ๑๒ ท่าน ใช่หรือไม่ประการใด

๓. เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการอุทธรณ์

และการร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ต้องแต่งตั้งโดยคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ หมวด ๑ ข้อ ๘ (๑) -(๗)

หรือ (๑) - (๖)

ถ้า (๑) - (๗) ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการก่อนหรือไม่

ถ้า (๑) - (๖) ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการก่อนหรือไม่ และต้องดำเนินการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ (๗) ใหม่หรือไม่

๔. เลขานุการกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ เป็นคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. ๒๕๕๔ หรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดให้ความเห็นด้วยจักเป็นพระคุณอย่างสูง เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องและชอบด้วยกฏหมาย หากมีความเห็นที่ขัดแย้งด้วยกฏหมายกรุณาสอบถามผู้ที่มีอำนาจในการตีความด้านกฏหมาย เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ใดก็ต้องมีหน้าที่โดยชอบด้วยกฏหมาย ดิฉันต้องขออภัยกับท่านด้วย หากไม่เหมาะสมที่สอบท่านผ่านช่องทางนี้ เนื่องจากผ่านทาง

สภามหาวิมยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ณัฐนันท์ สินชัยพานิช

คณะกรรมการอุทธรณืและร้องทุกข์ ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๔

มีแต่ความรู้เท่านั้นค่ะ ที่จะสามารถช่วยได้

kidlek

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ ทุกวันนี้บ้านเมืองเราแตกแยกมากแบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่รู้เมื่อไหร่จะจบสิ้นสักที การศึกษาก็ไปไม่ถึงไหนประเทศเราเป็นประเทศกำลังพัฒนามานานมากแล้ว สุดท้ายทุกคนก็ได้รับผลกระทบเอง อย่างข้าวของทุกวันนี้ก็แพงมากค่ะ อย่างดิฉันขาย ของเล่นเด็ก ของใช้เด็ก ปรับราคาขึ้นนิดหน่อยเอากำไรพองาม พออยู่ได้แบบไม่เืดือดร้อน สงสารแต่ลูกค้า พ่อ แม่ ของเด็กที่ต้องหาเงินมาซื้อ ไม่ซื้อก็ไม่ได้ เพราะของใช้เด็ก บางอย่างก็จำเป็นต้องใช้ นี่แหละน่อประเทศเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท