โอกาสทำหน้าที่มหาวิทยาลัยในสังคมใหม่


นักวิชาการของมหาวิทยาลัยรวมตัวกัน ทำหน้าที่วิเคราะห์นโยบายหรือการตัดสินใจสำคัญๆ และบอกผลกระทบหลากหลายด้านต่อบ้านเมือง เพื่อสร้างสังคมเรียนรู้ ทำให้การทำงานสาธารณะเป็นการเรียนรู้เชิงสังคมทั้งหมด ทำสังคมไทยให้เปิดกว้างยอมรับฟัง ซึ่งจะมีผลให้คนไทยถูกหลอกได้ยากขึ้น

โอกาสทำหน้าที่มหาวิทยาลัยในสังคมใหม่

ความขัดแย้งร้าวลึกในสังคมไทย เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้แก่สถาบันทางปัญญาของประเทศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน   ต่อไปนี้มหาวิทยาลัยจะมีโอกาสสร้างความโปร่งใสให้แก่สังคม   ทำหน้าที่เป็นจิตสำนึกแห่งความถูกต้อง ทางจริยธรรม ทางความเป็นธรรม ให้แก่สังคม  

เมื่อวันที่ ๔ มิ.ย. ๕๓ เรานัดกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลที่แสดงความเอาจริงเอาจังที่จะผลักดันมหาวิทยาลัยให้เข้าไปเยียวยาสังคมมาคุยกันที่ภัตตาคารของวิทยาลัยนานาชาติ   โดยมี ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นผู้นำเสนอแนวคิดและแนวทางดำเนินการเพื่อใช้มหาวิทยาลัยเป็นกลไกสร้างภราดรภาพของผู้คนในชาติ   และ ศ. นพ. ประเวศ วะสี และ อ. ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ก็เตรียมเอกสารมาเสนอแนวคิดและแนวทางดำเนินการด้วย   เป็นบรรยากาศที่ผมเห็นแล้วมีความสุข   ว่าประเทศไทยเราไม่ขาดแคลนผู้ใหญ่ที่เป็น concerned citizen

แต่ที่จะเล่าในบันทึกนี้ เป็นปิ๊งแว้บที่ผมได้จากการสนทนาในเที่ยงวันนั้น   ทีเราพูดกันว่า ต่อไปสังคมไทยจะต้องเปิดกว้าง   และการใช้อำนาจรัฐทุกอำนาจจะต้องโปร่งใส มีกลไกตรวจสอบสาธารณะ   และเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม   โดยต้องยอมรับว่า คนเราไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ตำแหน่งใหญ่แค่ไหน ศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน ย่อมทำผิดได้    และผิดถูกในเรื่องของสังคมนั้นมันซับซ้อนเสียจนเราไม่สามารถตราได้ชัดๆ ว่าผิดหรือถูก   แต่เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าการตัดสินใจนั้นๆ ก่อผลต่อส่วนต่างๆ กิจการต่างๆ มิติต่างๆ ของบ้านเมืองอย่างไร  

ต่อจากนี้ไป ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดสังคมไทยให้เปิดกว้าง ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์   เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันทั่วทั้งสังคมไทย   เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนต่างถิ่น ต่างฐานะ ต่างอาชีพ ลดแคบลง   ประเทศไทยจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เหมือนอย่างที่มีการแสดงละครประกอบการทำความเข้าใจฉากอนาคตของประเทศไทยใน ๑๐ ปีข้างหน้า   ที่จัดโดย สคช. ตามข่าวนี้   และที่นี่  

มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางการเมือง และเป็นกลางในเรื่องผลประโยชน์   เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในคุณลักษณะนี้ของมหาวิทยาลัย   นี่คือต้นทุนของมหาวิทยาลัยที่จะเข้าไปทำหน้าที่ที่อ่อนไหวนี้ให้แก่สังคม   คือหน้าที่เตือนสติและสร้างปัญญา   หยิบเอาเรื่องสำคัญๆ ในบ้านเมืองมาวิเคาระห์แยกแยะทำความเข้าใจและบอกแก่สังคม   บอกให้รู้ว่านโยบายหรือการตัดสินใจของผู้ถืออำนาจรัฐด้านต่างๆ ทั้งด้านการออกกฎหมาย (นิติบัญญัติ)  ด้านบริหาร  และด้านตุลาการ  รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ   ที่เมื่อมีมติหรืออกกฎหมาย หรือตัดสินคดีออกมาแล้ว   มหาวิทยาลัยต่างๆ จะแบ่งหน้าที่กันตรวจสอบ โดยใช้หลักวิชาการ และโดยเก็บข้อมูลหลักฐานมาวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างลุ่มลึก   และบอกแก่สังคม   โดยการทำหน้าที่นี่เป็นการดำเนินงานเชิงสถาบัน   ไม่ใช่เป็นการทำงานของอาจารย์เดี่ยวๆ เชิงปัจเจก

ทุกก้าวย่างของบ้านเมือง ที่ดำเนินการและรับผิดชอบโดยฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการ ฝ่ายธุรกิจ ฝ่ายประชาสังคม   ต่างก็มองได้ว่าเป็นขั้นตอนของการเรียนรู้เชิงสังคม   ที่แม้จะตั้งใจดีอย่างไรก็ตาม สามารถมองหลายมุมได้ มองต่างกันได้   สังคมต้องใจเปิด เปิดโอกาสให้ฝ่ายวิชาการเข้ามาทำงานวิชาการสร้างสรรค์ เพื่อบอกผลกระทบในหลากหลายด้านให้สังคมรับรู้   และเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงนั้น   โดยเราต้องไม่เน้นถูก-ผิด   แต่เน้นเรียนรู้ และนำเอาไปใช้ในอนาคต   ให้คิดเรื่องเหล่านั้นได้รอบคอบลึกซึ้งขึ้น   และสาธารณชนทั่วไปเข้าใจเรื่องราวได้ชัดเจนขึ้น   ไม่ตกเป็นเหยื่อของมายาคติ หรือเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อที่เวลานี้ควบคุมได้ยาก  

มหาวิทยาลัยต้องเป็นสติ และเป็นปัญญาให้แก่สังคม   โดยการสร้างระบบการเรียนรู้เชิงสังคมขึ้นในประเทศไทย   เพื่อช่วยให้คนไทยในทุกวิถีชีวิต ถูกหลอกได้ยากขึ้น

วิจารณ์ พานิช

๕ มิ.ย. ๕๓

หมายเลขบันทึก: 363913เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

กระผมได้ฟังแล้วก็ชื่นใจครับผม ช่วยกันสร้างช่วยกันเติมต่อครับผม

  ด้วยความเคารพครับผม

    นิสิต

คุณหมอ

เป็นแนวคิด และแง่มุมที่ดีที่อาจารย์เห็นความสำคัญ ความจริงแล้วหน้าที่เหล่านี้ ควรเป็นหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรเห็นความสำคัญและให้การใส่ใจมานานแล้ว โดยการจัดทำหลักสูตรอะไรก็ได้ ที่มีเป้าหมายและวิธีการที่จะสร้างให้คนใน "สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข" ในขณะเดียวกัน การศึกษาทุกวิชา หรือแขนงต้องเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขของคนในสังคม ไม่ใช่ไปเน้นเฉพาะวิชาทำมาหาิกิน หรือพัฒนาวัตถุ โดยหลงลืมมิติทางด้านจิตใจ เข้าตำราที่หลวงพ่อพุทธทาสเตือนพวกเราว่า "การศึกษาหมาหางด้วน" และแล้ววันนี้ เราทุกคนทราบชัดแล้ว การศึกษาแบบสุนัขหางหายมีชาตากรรมเป็นเ่ีช่นใด

ด้วยสาราณียธรรม

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส

มหาจุฬาฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท