วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๒. วางฐาน PLoT สู่การปฏิรูปประเทศไทย


วิชาการสายรับใช้สังคมไทย  : ๒. วางฐาน PLoT สู่การปฏิรูปประเทศไทย

ตอนที่ ๑


          การสร้างวิชาการสายรับใช้สังคมไทยนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก   หากใช้เงินงบประมาณแผ่นดินปีละ ๑๐๐ ล้านบาท เป็นเวลา ๑๐ ปี    แล้วสถาปนาระบบนี้ขึ้นได้ในสังคมไทย   ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่และลงทุนต่ำมาก   ผมมองว่าแม้จะยกระดับการลงทุนขึ้นไปอีก ๑ ระดับ คือ ปีละ ๑,๐๐๐ ล้าน ก็ยังไม่ถือว่าแพง หากทำสำเร็จ

          ใช้เวลาวางรากฐานจนเป็นวัฒนธรรมวิชาการสายรับใช้สังคม ในเวลา ๑๐ ปี ถือว่าเร็ว   

          สงสัยแต่เพียงว่าเราจะมีความสามารถทำความเข้าใจกับสังคม จนได้กระแสใหญ่ ไปขับเคลื่อนให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไทย ได้สำเร็จหรือไม่

          เราจะปฏิรูปประเทศไทยได้สำเร็จในยุคสังคมความรู้   ต้องดึงเอาวงการวิชาการเข้าไปรับใช้สังคมได้อย่างทรงประสิทธิผล   ให้อุดมศึกษาเข้าไปทำงานแนบแน่นกับสังคม   ไม่ใช่ห่างเหินสังคมอย่างที่ผ่านมา 

          การทำงานวิชาการรับใช้สังคม ที่ประสบผลดีต่อสังคมอย่างชัดเจนหนักแน่น ต้องเป็น talk of the town   ต้องได้รับการปรบมือชื่นชม   วงการวิชาการจึงจะมีกำลังใจ   สร้างแรงบันดาลใจต่อเนื่อง    นี่คือหน้าที่ของ PLoT – Public Library of Thailand   ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ และอ่านออก   เพราะเป็นภาษาไทย   และมีบทสรุปของบรรณาธิการให้คนธรรมดาที่ไม่ใช่นักวิชาการอ่านเข้าใจ   เราเลียนแบบ PLoS คล้ายๆ เลียนสุกี้ของญี่ปุ่น ที่สุกี้ไทยอร่อยกว่ามาก (ตามลิ้นคนไทย) 

          จากสัญญาณวิกฤตความแตกแยกในสังคมไทย   สู่จิตวิญญาณอุดมศึกษา/วิชาการ รับใช้สังคม   สู่ระบบวารสารวิชาการรับใช้สังคม   ที่จะ transform วงการวิชาการ/อุดมศึกษาไทย จากห่างเหินสังคม สู่แนบแน่นสังคม   โดยลงทุน ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทใน ๑๐ ปี   เพื่อสร้าง infrastructure ของระบบวิชาการรับใช้สังคมไทย   ไม่แพงเลย แต่ต้องมีวิธีทำงานที่ได้ผล   ไม่ตกร่องเดิมๆ ไม่ติดกับความคิดเดิมๆ   และต้องมีระบบการจัดการที่ทรงประสิทธิผล มีการประเมินเพื่อพัฒนาอย่างเข้มงวดจริงจัง

          วิชาการสายรับใช้สังคมไทยเกิดยาก หากคิดเล็ก   ไม่มองว่านี่คือ โครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการแนวใหม่   ที่เป็นเครื่องมือดึงเอาระบบอุดมศึกษา/ระบบวิชาการ ทั้งระบบ เข้าไปรับใช้สังคมไทย   การลงทุนปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท เท่ากับเป็นการใช้กุ้งฝอยตกปลากะพง   เท่ากับจะช่วยยกระดับสังคมทั้งสังคมขึ้นมาด้วยการใช้ความรู้ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีพ ทั้งในชีวิตประจำวัน และในการประกอบการ/ประกอบธุรกิจ 

          คำขวัญคือ Modernize Thailand with New Track of Academic Life and PLoT. Towards Societal Impact Academics

          กล่าวเป็นภาษาไทยว่า ปฏิรูปประเทศไทยด้วยวิชาการสายใหม่ สายรับใช้สังคมไทย   เผยแพร่ผ่าน PLoT – วารสารวิชาการ ออนไลน์ ที่ทุกคนเข้าถึง และอ่านรู้เรื่อง    

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ค. ๕๓
                         

หมายเลขบันทึก: 378024เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2010 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

กระผมคิดว่าวิธีทางนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีมากๆ ที่วิชาการไปในแนวทางเดียวกับวิถีชีวิต ความง่ายที่จะเข้าถึง และสื่อด้วยภาษาที่ง่ายที่จะเข้าใจ และทำงานในสนามจริงไปด้วย จะทำให้ช่องว่างของความรู้นั้น ไม่ห่างกันมากทั้งในหลักวิชาการและการปฏิบัติ  สามารถนำไปตีความเพื่อเข้าใจ หรือเพื่อนำใช้ได้  เราต้องมีทั้งเวทีเสมือนและเวทีจริง เพื่อให้ทุนทางความรู้นั้นแน่น หลากหลายพอ ที่จะประยุกต์ใช้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ทรัพยากร ระบบเศรษฐกิจ และสังคม ในแต่ละมิติ หรือลำดับชั้นของระบบ กระผมเชื่อมั่นว่า หน่อและเชื้อมีก่อตัวอยู่แล้ว หาโอกาสให้หน่อนี้ขยายตัว โดยหลักแนวคิดพื้นฐานก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบแนวคิดหลัก และค่อยๆขยายเปิดพื้นที่ปัญญา การเข้าไปสร้างระบบนี้สามารถทำได้หลากหลายมิติ แต่โดยหลักการปฏิบัติของระดับครัวเรือน กระผมคิดว่าใจคนต้องมาก่อน หากสร้างหน่อใหม่ให้เติบโต  การจะได้ใจคนนั้นอาจจะต้องมีดูพฤติกรรมที่มีเชื้อก่ออยู่ ในระดับไร่นา มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ใช่หมายถึงเอกสารครับผม คือมีการปฏิบัติอยู่และสัมผัสได้ กระผมไม่ทราบแนวทางโดยภาพรวมทั้งระบบ แต่การจุดประกายนั้น ก็เลือกบุคคลที่มีทั้งใจและพฤติกรรมที่จะสอดประสานไปด้วยกัน เช่นมีสวน มีบ่อ การเลี้ยงสัตว์ และมีพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับระบบไร่นา ที่จะมีตนเองเป็นที่พึ่ง และยกระดับสังคมไปด้วย  ส่วนเนื้อหาในวารสารหรือเชิงฐานข้อมูล ก็สามารถตีผลและเข้าใจได้ง่าย  คือมีวิชาการที่เป็นลักษณะที่ชาวบ้าน สังคมเข้าใจความเหมือน ความต่างด้วยตัวเลขง่ายๆ กล่าวง่ายๆคือ เป็น Communication tools ที่สื่อชาวบ้านเข้าใจ ที่ทางเกษตรเชิงระบบก็ใช้อยู่ครับผม ในการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลกับชุมชน ข่าวแบบนี้กระผมสนใจครับ ถ้าในหนังจีน กระผมต้องบอกว่า โอ้..สวรรค์ชี้ทางสว่าง เรื่องนี้มีหลายแง่หลายมุมที่จะน่าจะทำให้เกิดขึ้นครับท่านอาจารย์หมอ  สังคมต้องถกกันยาวๆและวางระบบให้ดีในชัดเจนในมิติต่างๆ แต่ที่สำคัญคือต้องปฏิบัติครับ  และให้สามารถทำได้จริงครับผม ขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอครับผม

 ด้วยความเคารพครับผม

             นิสิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท