การศึกษาและฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑



          ระบบสุขภาพไทยเป็นระบบที่ดี ที่เราภาคภูมิใจ   แต่ก็ยังมีประเด็นที่เราน่าจะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น   และที่สำคัญ สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา

          ขณะนี้ในวงการสุขภาพได้เกิดกระแสการปฏิรูปการศึกษาในวิชาชีพด้านสุขภาพครั้งใหญ่ในรอบ ๑๐๐ ปี โดย Global Commission on Education of Health Professionals for the 21st Century มี Julio Frenk คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ Lincoln Chen ประธานของ China Medical Board of New York เป็นประธาน   ภายใต้การสนับสนุนเงินจาก มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกทส์, มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์, ไชน่าเมดิคัล บอร์ด และวารสารแลนเซ็ท 

          GCEHP มีแนวความคิดปฏิรูปการศึกษาหรือผลิตกำลังคนด้านสุขภาพใน ๒ หัวใจสำคัญ คือ (1) transformative learning และ (2) harnesses the power of interdependence in education   ซึ่งเมื่อเรานัดไปคุยกับ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา ท่านก็บอกชัดเจนว่า เป้าหมายดีมาก   แต่วิธีปฏิบัติยังไม่ลึกซึ้งถึงขนาดที่จะปฏิรูปการศึกษาผลิตกำลังคนด้านสุขภาพได้จริง

          เขาได้ยกร่างแนวคิด ชื่อ Education of Health Professionals for the 21st Century : A Global Independent Commission ซึ่งอ่านได้ที่นี่

          ที่ผมชอบมากคือเขาเปลี่ยนจุดเน้นในการผลิตกำลังคน จากเน้นปริญญา เป็นเน้นสมรรถนะ (competency) เน้นสมรรถนะในการทำงานตามบริบทของท้องถิ่น   โดยเขาใช้คำว่า “core competencies to specific contexts drawing upon the power of global flows of knowledge. Our vision is global not parochial; multi-professional not confined to a single group; committed to building sound evidence; encompassing both individual and population-based approaches; and focused on instructional and institutional reforms.” 

          ศ. นพ. จรัส ท่านมีความลุ่มลึก และสามารถตีความประสบการณ์ในการทำงานของท่านนำมาชี้ให้เห็นจุดอ่อนของระบบปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่ง   โดยจุดอ่อนสำคัญที่เราละเว้นไม่แก้ไขไม่ได้คือ (๑) ความเป็นธรรม (equity)   (๒) ทัศนคติและการให้คุณค่า ท่านบอกว่าแพทย์ในอนาคตต้องเคารพและให้คุณค่าวิชาชีพอื่น และทำงานร่วมกันเป้นทีม   (๓) การแยกส่วนของการศึกษาและฝึกอบรมต่างวิชาชีพ ทำให้ขาดทักษะด้านทีมงาน  (๔) การใช้ ICT ให้ได้ผลด้านบวก ลดผลด้านลบ

          ผมได้ความรู้ที่ลึกอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่า ผลการวิจัยคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งในชนบท ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ผลการส่องกล้องตรวจลำใส้ใหญ่คนที่ตรวจพบเลือดในอุจจาระ ๕๐๐ คน พบมะเร็งลำใส้ถึง ๑๐ คน  และอีก ๑๐๐ คนมีร่องรอยติ่งเนื้อที่ยังไม่เป้นมะเร็งแต่ต่อไปอาจกลายเป็นมะเร็งได้   ผลการวิจัยนี้เอามาตีความได้หลายมุม   โดยมุมหนึ่งสะท้อนภาพความไม่เป็นธรรมในสังคม   เพราะเราไม่มีปัญญาให้บริการแบบนี้แก่คนทั่วไปได้   เข้าทำนองมีความรู้ มีเทคโนโลยี แต่ไม่สามารถให้บริการอย่างทั่วถึงได้

          ศ. นพ. จรัส เสนอ โมเดลการผลิตบุคลากรสุขภาพจากปัจจุบัน เป็น technology-based หรือ knowledge-based model ไปเป็น people-based model   นำเอาความรับผิดชอบต่อการผลิตบุคลากรสุขภาพออกจากกลไกตลาด ไปไว้ภายใต้กลไกของสังคม   เป็นแนวความคิดที่ผมสนับสนุนเต็มที่

          เรื่องนี้ยังไม่จบ เป็นเพียงฉากแรกของเรื่องยาว   ผมบอก ผศ. พญ. สายพิณ หัตถีรัตน์ ที่ไปร่วมประชุมด้วย ว่าเรื่องนี้ต้องทำต่อเนื่อง ๒๐ ปี จึงจะเห็นผลเปลี่ยนการศึกษาในวิชาชีพด้านสุขภาพอย่างแท้จริง   คนที่จะเห็นผลและได้รับประโยชน์ในชีวิต คือคนรุ่น อ. หมอสายพิณ   ส่วนคนรุ่นผมจะเริ่มต้นไว้ให้แล้วลาจากไป แปลว่าตายไปก่อนจะได้เห็นผลจริงจัง

         คนที่ไปร่วมประชุมที่ห้องท่านนายกสภา จุฬาฯ ได้แก่ Prof. Lincoln Chen, President of China Medical Board; Prof. Timothy Evans, dean of BRAC School of PH; Dr. Mushtaque Chowdhury, Associate Director of RF; นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, อ. หมอสายพิณ และผม   เราจะหาทางร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้ทรัพยากรบุคคลด้านสุขภาพมีทั้งความสุข ความภาคภูมิใจ และความสะดวกในการทำหน้าที่   และระบบสุขภาพก็มีความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมหรือคนทั้งสังคมอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน   ย้ำว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงวิธีคิดและเชิงระบบ   เนื่องจากวิธีคิดและระบบที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมันล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมและในโลก

          เดือนตุลาคม เราจะไปประชุมเรื่องที่เกี่ยวข้องที่บาหลี   และเดือนมกราคม ๒๕๕๔ จะมีการประชุม Prince Mahidol Award Conference เรื่อง HRH (Human Resource for Health) ซึ่งจะเดินหน้าเรื่องนี้ด้วย

 

 

วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ย. ๕๓
      

หมายเลขบันทึก: 391902เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเรียนรู้ ปราชญ์ ท่านปรึกษากันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท