AAR การเดินทางไปกับทีมนักวิจัยเรื่องคนไร้รัฐที่แม่สอด


 
          ผมได้ลงบันทึกเรื่องไปแม่สอดแล้ว ๑ บันทึกที่นี่   ต่อไปนี้เป็น AAR ส่งทีมวิจัยอย่างเป็นทางการ
 

AAR
การเดินทางร่วมไปกับโครงการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและตรวจสอบสถานการณ์เข้าถึงสิทธิ และการใช้สิทธิด้านสาธารณสุข และการได้รับ การรับรองตัวบุคคลโดยการจดทะเบียนการเกิดของกลุ่มคนที่มีปัญหา    สถานะบุคคลในพื้นที่อำเภอแม่สอด และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

 

วิจารณ์ พานิช

 

BAR

          ผมร่วมไปลงพื้นที่ครั้งนี้ในฐานะ “ผู้ไม่รู้” และไม่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องคนไร้รัฐ  และเรื่องสิทธิมนุษยชน   รวมทั้งในชีวิตนี้ไม่เคยไปอุ้มผาง   และเข้าใจว่าไม่เคยสัมผัสภูมิสังคมแบบที่อุ้มผาง   ดังนั้น วัตถุประสงค์ในการเดินทางไปกับคณะในครั้งนี้ของผม ได้แก่

๑. ต้องการไปเรียนรู้ภูมิสังคม (และภูมิประเทศ) ของอำเภอชายแดนพม่า ที่ห่างไกล


๒. ต้องการเรียนรู้ภาพใหญ่ของเรื่องคนไร้รัฐ  และเรื่องสิทธิมนุษยชน   รวมทั้งมิติอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่า  และเกี่ยวกับกลไกการทำหน้าที่ของรัฐไทย และสังคมไทย


๓. ต้องการทำความเข้าใจว่า การย้ายถิ่นของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะมีผลต่อประเทศไทย สังคมไทย ในระยะยาวอย่างไร


๔. ต้องการเรียนรู้การทำงานของนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายเกี่ยวกับสถานะบุคคล


๕. หวังว่าจะได้ให้ความเห็น ในลักษณะของความรู้สึก ของ “ผู้ไม่รู้” ต่อการทำงานของคณะที่ร่วมเดินทางลงพื้นที่ด้วยกัน

 

 

 

AAR ตามวัตถุประสงค์ของตนเอง

๑. สิ่งที่ได้มากกว่าที่คาดหวัง ได้มีโอกาสคิดหาทางเชื่อมโยงงานนี้กับงานวิชาการรับใช้สังคมไทย   และได้บันทึกลง บล็อกไปแล้วที่ http://gotoknow.org/blog/council/391498 


๒. ได้เห็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายปฏิบัติกับฝ่ายวิชาการ  เป็นโมเดลของความร่วมมือได้   จะได้นำไปจัดทำเป็นนโยบายส่งเสริมการวิจัย และการอุดมศึกษาต่อไป  


๓. ได้ทำความเข้าใจทักษะสำคัญของนักวิชาการสายรับใช้สังคมไทย คือความเข้าใจความต้องการของฝ่าย “ผู้ใช้” และทำงานสร้างสรรค์วิชาการแนบแน่นอยู่กับการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์


๔. จากวัตถุประสงค์ข้อ ๑ ได้ครบถ้วน


๕. จากวัตถุประสงค์ข้อ ๒  ได้เห็นความซับซ้อนของเรื่องนี้   รวมทั้งเดาออกว่ามีส่วนที่เป็นผลประโยชน์จากการมีปัญหาผู้ย้ายถิ่นหลากหลายแบบ   การที่ปัญหามีอยู่อย่างปัจจุบันเป็นผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม   จึงไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอย่างได้ผล   ส่วนนี้น่าจะเป็นโจทย์วิจัยต่อเนื่อง แต่ต้องมีวิธีตั้งโจทย์ที่เป็นวิชาการแท้ๆ ไม่สร้างความรู้สึกต่อต้านจากฝ่ายใด

 

     ผมเข้าใจว่าปัญหางบประมาณค่าใช้จ่ายในการให้บริการสุขภาพแก่บุคคลไร้รัฐในประเทศไทยได้หมดไปแล้ว   เพราะโครงการ คศน. ได้ดำเนินการเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับสิทธิของบุคคลเหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญ   จนรัฐบาลได้มีมติ ครม. จัดค่าใช้จ่ายให้ปีละ ๕๐๐ ล้านบาท และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้นำเรื่องนี้ไปกล่าวสุนทรพจน์ใน World Health Assembly ที่เจนีวา จนเป็นที่ยกย่องของนานาประเทศ   แต่เมื่อมาเห็นสภาพจริง จึงรู้ว่าไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณตามมติ ครม. ดังกล่าว   ทำให้ผมรู้ตัวว่าโง่ที่หลงเข้าใจว่านักการเมืองจะปฏิบัติตามที่ตนอวดอ้าง  

 

๖. จากวัตถุประสงค์ข้อ ๒  ได้เข้าใจว่าสภาพผู้อพยพจากความไม่สงบในพม่า ที่พบในประเทศไทยเป็นเรื่องปลายทาง   สาเหตุหรือต้นทางอยู่ที่ประเทศพม่า   ประเทศไทยน่าจะหาทางแก้ไขแบบป้องกัน ซึ่งต้องใช้พลังของ UN หรือนานาชาติเป็นหลัก


๗. จากวัตถุประสงค์ข้อ ๒  ได้รับรู้ความรู้สึกขมขื่นของผู้บริหาร รพ. แม่สอด ที่ระบบปัจจุบันสร้างภาระทางการเงินให้แก่โรงพยาบาล   และแม้ ผอ. รพ. อุ้มผางจะสุภาพไม่บ่น แต่ความเป็นจริงที่ รพ. ไม่มีเงินใช้   ก็เห็นชัดว่าระบบการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เป็นธรรมต่อโรงพยาบาล   และเมื่อได้ฟังวิธีจัดการปัญหาแนวฝรั่งเศส จาก รศ. ดร. พันธ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร ที่จัดให้มีกลไกบังคับประกันสังคมแก่ทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศ ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณดูแลสุขภาพ   คิดว่าน่าจะมีการวิจัยในหัวข้อเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข   ซึ่ง ศ. นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย แห่ง มน. น่าจะเหมาะสมที่จะเป็นผู้วิจัย โดย สปสช. สนับสนุนทุนวิจัย


๘. จากวัตถุประสงค์ข้อ ๓ ไม่เห็นคำตอบในทันที   จึงมีความเห็นว่าควรเป็นหัวข้อวิจัยเชิงอนาคต สร้างฉากอนาคต (scenario) เพื่อใช้ในการสื่อสารกับสังคม ให้เห็นผลกระทบระยะยาวของการมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยการสมรู้ร่วมคิดของหลายฝ่าย


๙. จากวัตถุประสงค์ข้อ ๔  ได้กล่าวแล้วใน AAR ข้อ ๑ – ๓

 

 

AAR ให้แก่ทีมนักวิจัย


๑.   นอกเหนือจากความร่วมมือกับฝ่ายนโยบายอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ทีมนักวิชาการน่าจะเห็นโอกาสทำงานวิชาการเชื่อมโยงกับฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่มากขึ้น   ทั้งที่เป็นการทำงานเพื่อเป้าหมายให้ฝ่ายปฏิบัติทำงานได้ถูกต้องตรงตามกฎหมาย  รวมทั้งมีความสามารถในการตีความทำความเข้าใจกฎหมายเพื่อการปฏิบัติในสถานการณ์เป็นจริงที่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างหลากหลาย   การเชื่อมโยงดังกล่าวน่าจะใช้เทคนิค “จัดการความรู้” (knowledge management)  ไม่ใช่ถ่ายทอดความรู้ (technology transfer)   ซึ่งในกระบวนการจะต้องมีผู้ปฏิบัติจากหลากหลายฐานะ/ความรับผิดชอบมาเข้ากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

๒.   วิธีเก็บข้อมูลอย่างที่ใช้ในการลงพื้นที่รับฟังมีความลึกซึ้งแม่นยำในระดับหนึ่ง   การเก็บข้อมูลแบบนักวิจัยไปเก็บข้อมูลคนเดียวหรือ ๒ คน และเก็บข้อมูลแบบเจาะลึก เข้าไปถามตัวบุคคลที่เป็นผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคล   ถามเจ้าหน้าที่   ถามนายจ้าง ฯลฯ น่าจะได้ข้อมูลเชิงลึก และแม่นยำ กว่าที่ได้จากการลงพื้นที่เป็นคณะใหญ่ ๒๐ – ๓๐ คนมาก   นี่คือเรื่อง “วิธีวิทยา” (research methodology) ซึ่งนักวิจัยสามารถทำงานที่ได้ผลงานวิจัย ๒ ชั้น   คือได้ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีปัญหาสถานะบุคคล   และได้พัฒนา research methodology เน้นที่วิธีการเก็บข้อมูลภาคสนามจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ให้ได้ข้อมูลที่ครบด้าน   โดยนักวิจัยพึงตระหนักว่า งานที่กำลังทำเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมาก   และข้อเท็จจริงบางด้านได้มายาก ผู้เกี่ยวข้องอาจไม่สบายใจที่จะให้ หากเขาไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเอง   การพัฒนาวิธีเก็บข้อมูลเรื่องที่ซับซ้อนเช่นนี้ให้ได้ครบถ้วน ให้เห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อเท็จจริงในมิติที่ลึกจึงมีความสำคัญมาก

๓.   การจัดกระบวนการ KM ตามข้อ ๑ น่าจะช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกยิ่งขึ้นกว่าวิธีการตามข้อ ๒


๔.   ตอนไปเก็บข้อมูล ผมสังเกตว่า (ไม่ทราบว่าสังเกตผิดหรือเปล่า) ทีมวิจัยซึ่งมีหลายคนร่วมฟังการนำเสนอพร้อมกันทั้งหมด   ทำให้ได้ข้อมูลชุดเดียวกัน   ขาดโอกาสเก็บข้อมูลเชิงลึกจากคนบางคน   ไม่ทราบว่าจะดีไหม หากจะมีการเตรียมให้สมาชิกของทีมวิจัยบางคนสัมภาษณ์คนบางคนในพื้นที่แยกออกไปต่างหาก พร้อมๆ กับการประชุมของทีมใหญ่   ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลอีกชุดหนึ่งหรืออีกหลายชุด ที่มีมิติมุมมอง รายละเอียดของเหตุการณ์ แตกต่างออกไป   โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจากตัวบุคคลที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่เป็นคนเล็กคนน้อย


๕.   เนื่องจากข้อจำกัดของการเดินทางที่ทุกคนเหน็ดเหนื่อยมาก   ทำให้ไม่ได้ทำ AAR ร่วมกันสดๆ ตอนสิ้นสุดการทำงานแต่ละวัน   ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกแต่ละคนมองเห็นประเด็นเพิ่มขึ้นอีกมากมาย   และสมาชิกของทีมที่เป็นสื่อมวลชน ก็จะได้ประเด็นไปสื่อต่อสาธารณชนเพิ่มขึ้น หรือชัดเจนขึ้น

 

 

วิจารณ์ พานิช
๗ ก.ย. ๕๓

………………………….
                        
        

หมายเลขบันทึก: 392094เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ท่านอาจารย์

ผมมาเรียนรู้ วิธีวิทยา จากท่านอาจารย์ครับ

เพราะ เป็น แนวทางที่นักวิจัยที่เน้น การศึกษาพื้นที่และกลุ่มคน ต้องใช้กันมาก

กราบขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท