ก้าวใหญ่ของอุดมศึกษาไทย : หลักสูตรธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา


เป้าหมายคือเพื่อให้วงการอุดมศึกษาไทยได้รู้แนวทางการใช้พลังของการกำกับดูแลสมัยใหม่ (modern governance) ในการพัฒนาอุดมศึกษาไทย

 
          วันที่ ๒๙ ต.ค. ๕๓ เป็นวันที่ผมมั่นใจว่า หนึ่งในก้าวใหญ่ในระบบอุดมศึกษา ปี ๒๕๕๓ คือการมีหลักสูตรนี้ ที่ดำเนินการโดยโครงการจัดตั้งสถาบันธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย สถาบันคลังสมองของชาติ มูลนิธิทบวงมหาวิทยาลัย

          หลักสูตรที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๒๙ ต.ค. เป็นรุ่นที่ ๒   เป็นรุ่นแรกที่จัดโดยมีค่าลงทะเบียน เพื่อให้การจัดหลักสูตรนี้อยู่ในสภาพเลี้ยงตัวเอง   หลังจากจัดหลักสูตรทดลองหรือหลักสูตรพัฒนามา ๒ รุ่น คือ รุ่น ๐ กับรุ่นที่ ๑ ที่ไม่เก็บค่าลงทะเบียน

          ชื่อเสียงของคุณค่าความรู้ที่ได้จากหลักสูตรนี้ทำให้มีผู้สมัครเข้ากว่า ๕๐ คน ต้องมีการคัดเลือกเพื่อให้องค์ประกอบของผู้เข้าร่วม ลปรร. แต่ละรุ่นมีสมดุลที่เหมาะสม   และจำนวนผู้เข้ามี ๓๑ คน โดยที่ตัวเลขเป้าหมายคือ ๓๐   เรากำหนดให้เป็นกลุ่มเล็กเพราะต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้มข้น

          ผมได้รับความไว้วางใจให้เป็นคนเขี่ยลูกตอนเปิดสนาม ในครึ่งแรกของ module แรก ที่ว่าด้วยเรื่องบทบาทหน้าที่ของสภาฯ และกรรมการสภามหาวิทยาลัย  ส่วนตอนบ่ายเป็นครึ้งหลังที่ ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ รับหน้าที่วิทยากร เรื่องการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ

          ผมบอกตัวเองว่า ต้องทำหน้าที่ ๒ อย่าง อย่างแรกสำคัญที่สุด คือวางฐานบรรยากาศของหลักสูตรให้เน้นการ ลปรร. ไม่ใช่การสอน ให้เน้นเอาประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมมาตีความด้วยทฤษฎี   ส่วนเป้าหมายที่ ๒ คือปูพื้นหลักการกว้างๆ ของธรรมาภิบาล และการเอาหลักการมาประยุกต์ใช้ในบริบทของมหาวิทยาลัยไทย

          เป็นการวางฐานบรรยากาศของหลักสูตรที่ผ่อนคลาย   เรียนรู้แบบเน้นการประยุกต์ใช้ในบริบทจริง โดยเรียนจากทฤษฎีและประสบการณ์ครึ่งต่อครึ่ง   เน้นเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ใช่จากการบรรยายหรือสอน

          เป้าหมายคือเพื่อให้วงการอุดมศึกษาไทยได้รู้แนวทางการใช้พลังของการกำกับดูแลสมัยใหม่ (modern governance) ในการพัฒนาอุดมศึกษาไทย

 

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ต.ค. ๕๓
                                      

หมายเลขบันทึก: 410989เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นำภาพ Unseen หลังวันครบรอบวันเกิด หนึ่งวัน มาฝากครับ

ขอนำการ์ดและการร่วมกราบคารวะอาจารย์เนื่องในวาระครบรอบวันเกิดของอาจารย์ โดยหลายท่านใน GotoKnow มามอบแด่อาจารย์ด้วยครับ : ๕๒.การ์ดคารวะเนื่องในวาระครบรอบวันเกิดศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

                          

ขอนำการ์ดและการร่วมกราบคารวะอาจารย์เนื่องในวาระครบรอบวันเกิดของอาจารย์ โดยหลายท่านใน GotoKnow มามอบแด่อาจารย์ด้วยครับ : ๕๒.การ์ดคารวะเนื่องในวาระครบรอบวันเกิดศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

นับเป็นนิมิตหมายอันดียิ่งที่ในชาตินี้ได้เห็นการนำ "ธรรมะ" เข้ามาใช้อย่างจริงจังในวงการ "อุดมศึกษาไทย"

ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "ธรรมะ" แห่งพระพุทธองค์ พระบรมศาสนาสัมมาพุทธเจ้านั้นจะสามารถปูพื้นฐานแห่งจิตใจของ "ครูไทย"

การที่ครูและบุคลากรการศึกษาของไทยจักมีธรรมะที่แท้จริงในหัวใจได้นั้น น่าจะมีสัดส่วนของการปฏิบัติ 95% และปริยัติ 5%

เพราะการคิดหรือการทำใด ๆ จากส่วนกลางนั้นถือเป็นบรรทัดฐานของบุคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศ

การจะน้อมนำธรรมะเพื่อที่จะมา "อภิบาล" การศึกษาไทย จักต้องก้าวเดินไปตามหลัก "ไตรสิกขา" อันได้แก่ "ทาน ศีล และ ภาวนา"

การที่มีผู้อาสาทั้งรุ่นที่ ๑ รุ่นที่ ๒ และรุ่นต่อ ๆ ไป ก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่า จะบุคลากรที่ตั้งใจปฏิบัติตามคลองแห่งทาน ศีล และภาวนาด้วยกายและใจ

เพราะถ้าหากนักการศึกษาคนใดปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาได้อย่างเต็มที่เต็มหัวใจแล้ว จักเป็น "ครูดี ครูเพื่อศิษย์" และเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตของข้าราชการครูทั่วประเทศ

ทาน มิใช่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตรแต่เพียงอย่างเดียว ทานคือการให้ ทานคือการ "เสียสละ"

ดังนั้น บุคลากรที่อยู่ในหลักสูตรธรรมาภิบาลนี้ เป็นบุคลากรที่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า เป็นบุคคลที่พร้อมจักเสียสละให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

ถ้าหากเขาเหล่านั้นเป็นผู้บริหารแล้วก็คงจะเป็นผู้บริหารที่ดี เป็นครูก็ย่อมเป็นครูที่ดี เป็นหัวหน้าก็เป็นหัวหน้าที่ดี เป็นลูกน้องก็เป็นลูกน้องที่ดี หรือเมื่อกลับบ้านเป็นพ่อก็เป็นพ่อที่ดี เป็นแม่ก็เป็นแม่ที่ดี และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือเป็นลูกที่ดีอันมีความกตัญญูกตเวทีเป็นที่ตั้ง

บุคลากรในหลักสูตรนี้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าจักต้องเป็นคนที่มีศีล มีธรรมประจำใจ เพราะคนที่จะมีธรรมมาอภิบาลคุ้มครองรักษาจิตใจได้นั้นจักต้องเป็นคนที่ศีลห้าเป็นธรรมชาติพื้นฐานของจิต

บุคลากรในหลักสูตรนี้จักเป็นตัวอย่างของคนที่ละเว้นกิจกรรมนันทนาการจำพวกยิงนก ตกปลา เข้าป่า ล่าสัตว์ กิจกรรมหลักและกิจกรรมนันทนาการของเขาทั้งหลายคงจะอุดมเป็นด้วยการให้และการ "เสียสละ

บุคลากรในหลักสูตรนี้จักเป็นตัวอย่างของคนที่ตัดได้เสียซึ่งการ "คอรัปชั่น" ไม่มีการลักทรัพย์หรือโกงกินบ้าน โกงกินเมือง ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ในทางตรงก็คือ การรับสินจ้าง รับสินบน ใต้โต๊ะ บนโต๊ะ

ในทางอ้อมก็คือ ไม่โกงเวลาหลวง ไม่เบียดบังเวลาการทำงานไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว

มีงบประมาณอะไรผ่านเข้ามาก็ใช้คุณค่าของจิตใจแห่งความเสียสละนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนเสมอ

นอกจากนี้บุคลากรที่มี "ธรรมาภิบาล" อยู่ ย่อมเป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อบุตรและภรรยาของตนเอง รักเดียว ใจเดียว ซื่อสัตย์ ซื่อตรง ตั้งมั่นในศีลธรรมในการครองชีวิตคู่

เราจะไม่ได้เห็นบุคลากรทางการศึกษามีบ้านเล็กบ้านน้อยอีกแล้ว เราจะได้เห็นแต่ครูบาอาจารย์ของเราซื่อสัตย์ตั้งมั่นต่อคู่ชีวิตของตนจนถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร

นอกจากนั้นเราจักไม่ได้ยินคำโป้ปดมดเท็จใด ๆ ทหรือแม้แต่การพูดคำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ จากบุคคลที่สำเร็จหลักสูตร "ธรรมาภิบาล" ของเมืองไทย

เราจะได้เห็นแต่บุคลากรที่เจริญพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นวิหารธรรมในการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา และมีความกตัญญูกตเวทิตาต่อหัวหน้าหรือผู้บริหารอย่างสุดจิต สุดใจ

ภาพเดิม ๆ ที่เราจะเห็นงานเลี้ยงที่มีเหล้า ยา ปลาปิ้ง ผู้บริหารเมาแอ่น เมาแอ๋ ก็จะหายไปจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทย

เราจะได้เห็นงานเลี้ยงที่ปราศจากแอลกอฮอลล์

ทุกคนที่มางานเลี้ยงมีสติ สัมปชัญญะ อย่างเต็มเปี่ยมทั้งขามาและขากลับ เพื่อให้คนที่บ้านอุ่นใจได้ว่าพ่อและแม่จะเดินทางกลับบ้านมาหาลูกได้อย่างปลอดภัย

และนอกจากนั้นหากมีกิจกรรมนอกสถานที่ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมสัมนาจากเหนือจรดใต้ ผู้บริหารการศึกษาไทยย่อมไม่ปล่อยจิตปล่อยใจตกเป็นทาษของ "การพนัน"

หลักสูตรธรรมาภิบาลที่เข้ามาอภิบาลอุดมศึกษาไทยคงจักมีประโยชน์ดังที่ข้าพเจ้าหวังไว้ ภาพเดิม ๆ ที่พาเด็กนักเรียนไปเข้าวัดปีละครั้งแล้วบอกว่านี้ไง "ความรู้คู่คุณธรรม" คงหมดไป

เพราะผู้บริหารการศึกษาไทย "ภาวนา" กันเป็นแล้ว

ผู้บริหารการศึกษาจักไม่นำพาตนไปนั่งสมาธิ ทำตัวเป็นหุ่นยนต์แล้วบอกว่านี่ไงคือ "การภาวนา"

แต่ผู้บริหารการศึกษาจักภาวนาทุกลมหายใจ

ไม่ว่ามีสิ่งใดมากระทบก็รู้ รู้แล้วพร้อมจะ "ปล่อยวาง"

โลกธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา จักไม่เข้ามาครอบงำจิตใจนักบริหารการศึกษาที่ภาวนาเป็น

หลักสูตรธรรมาภิบาลดีเยี่ยงนี้ ควรแล้วที่อุดมศึกษาไทยจักก้าวไกลด้วยจิตใจของผู้บริหารที่มี "ธรรม..." 

เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณ ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ เขียนทั้งหมด จึงขออนุญาตคัดลอกและเพิ่มข้อความบางตอนที่โดนใจมากมายืนยันอีกครั้งนะคะว่า ..

ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่คาดหวังเช่นกันว่า ผู้ผ่านหลักสูตรจากโครงการจัดตั้งสถาบันธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย สถาบันคลังสมองของชาตินี้ จะต้อง (must)

1. เป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

 “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ”

พระราโชวาทแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

2.บุคลากรในหลักสูตรนี้เชื่อมั่นว่าต้องเป็นคนที่มีศีลธรรม มีธรรมประจำใจ (เพราะคนที่จะมีธรรมมาอภิบาลคุ้มครองรักษาจิตใจได้นั้นจักต้องเป็นคนที่ศีลห้าเป็นธรรมชาติพื้นฐานของจิต)

3. บุคลากรในหลักสูตรนี้ต้องเป็นตัวอย่างของคนที่ตัดได้เสียซึ่งการ "คอรัปชั่น" ไม่มีการโกงกินบ้าน โกงกินเมือง โกงกินงบประมาณแผ่นดิน ภาษีประชาชน ทั้งในทางตรงและทางอ้อม (คอรัปชั่นเชิงนโยบาย)

4. เราจะต้องได้เห็นแต่ครูบาอาจารย์ของเรา (และที่ไม่ไช่ครูแต่เป็นคน) ที่ซื่อสัตย์ตั้งมั่นต่อคู่ชีวิตของตนจนถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร บุคลากรที่มี "ธรรมาภิบาล" อยู่ ย่อมเป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อบุตรและภรรยาของตนเอง รักเดียว ใจเดียว ซื่อสัตย์ ซื่อตรง ตั้งมั่นในศีลธรรมในการครองชีวิตคู่ (ศีลข้อ 3 เป็นข้อที่มนุษย์เท่านั้นรักษาได้)

5. เราจะต้องไม่เห็นงานเลี้ยงที่มีเหล้า ยา และอื่นๆ ผู้บริหารเมาแอ่น เมาแอ๋ ก็จะหายไปจากสถานศึกษาไทย

6. เราจะต้องได้เห็นแต่บุคลากรที่เจริญด้วยพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นวิหารธรรมในการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา และมีความกตัญญูกตเวทิตาต่อแผ่นดินเกิด

บุคลากรเมื่อสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ meepole เชื่อมั่นว่า นับเป็นผู้มีจิตคิดดี ดังนั้นหวังว่าท่านผู้มีโอกาสดีเหล่านั้นคงใช้โอกาสนี้ให้คุ้ม ในการยกระดับพัฒนาจิต ให้มากยิ่งขึ้นไป และออกมาช่วยกันพัฒนาสังคม

(เสียดายมากที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีหลักสูตรนี้)

 การเป็นคนที่มีความดี มีธรรมประจำใจ หรือจะมีธรรม มาอภิบาลคุ้มครองรักษาจิตใจได้นั้นจักต้องเป็นคนที่ศีลห้าเป็นธรรมชาติพื้นฐานของจิต และที่สำคัญคือนักปรัชญามักจะเขียนไว้ให้คนอื่นปฏิบัติ หวังว่า course นี้คงไม่มีนักปรัชญา

Large_971deab04c65c5b98ec6fc25be11015a 

                 ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า
“ธรรม วินัย ของพวกเรา
มีพระศาสดาล่วงลับไปเสียแล้ว
พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้

อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น

อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี
ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย

ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี
ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่

อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา
ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุดแล

ที่มา : วัดนาป่าพง : http://watnapp.com/read/why-only-buddha/012


เมื่อบุคคลใดอันเชิญ "ธรรม" มานำชีวิต ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมประเสริฐ

เช่นเดียวกัน หากหลักสูตรใดของการศึกษาไทยนำคำว่า "ธรรม" มาใส่ไว้ในชื่อหลักสูตรแล้วไซร้ หลักสูตรนั้นย่อมประเสริฐยิ่ง

เพราะธรรมวินัยเป็นตัวแทนแห่งพระศาสดา บุคคลใดมีธรรม มีบุคคลนั้นมีธรรมแห่งของพระบรมศาสดาสัมมาพุทธเจ้าติดตัวไปทุกแห่ง

ดังนั้น บุคลากรที่จะสำเร็จหลักสูตร "ธรรมาภิบาล" นี้ไปที่ใด ก็เท่ากับเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ในทางโลก ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับพระสงฆ์ในทางธรรม

เมื่อพระสงฆ์มีธรรมวินัยคือสำรวม ระวัง ในศีล ๒๒๗ ข้อแล้ว

บุคคลผู้มีธรรมย่อมสำรวจ ระวัง ในศีล ๕ เป็นนิจ รักษาไว้เป็นพื้นฐานของชีวิตและจิตใจ

ธรรมวินัยของผู้บริหารการศึกษาไทยคือ "ศีล ๕"

ถ้าหากบุคคลใดใช้ "ธรรม" นำชีวิตแล้ว อาทิการที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่สำเร็จหลักสูตร "ธรรมาภิบาล" นี้ ไปที่ไหน บุคคลทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินก็เชื่อมั่นว่าบุคคลนั้นมี "ธรรมะ" อยู่เต็มหัวใจ

ท่านเป็นบุคคลที่ประเสริฐแล้ว ท่านเป็นหนึ่งในคนหลายล้านคน อาจจะเป็นหนึ่งเดียวของจังหวัด เป็นแบบอย่าง เป็นความหวัง ในการที่น้อมนำ "ธรรม" ปกครองตนและปกครองบุคคลอื่น

การใช้ "ธรรม" เข้ามาตั้งหลักสูตรเป็นสิ่งที่ประเสริฐ และเป็นภาระที่ใหญ่ยิ่ง

เพราะถ้าหากใช้คำว่าธรรม แต่ไม่น้อมนำลงไปถึงการประพฤติ ปฏิบัติ ก็เท่ากับเป็นการเหยียบหัวพระพุทธเจ้า ปากก็กล่าวว่ามีธรรม แต่การกระทำนั้นเหยียบย่ำพระพุทธองค์

 

ศีล ๕ เป็นศีลปกติของชีวิต ท่านทั้งหลายโปรดจงทำชีวิตให้ปกติเถิด

คนในสังคม ในแวดวงการศึกษากำลังรอความหวังจากท่านมาทำให้เราทั้งหลายนั้นกลับมาเป็น "ปกติ"

เราทั้งหลาย ขอดูแบบอย่างจากท่าน ว่าบุคคลที่มีธรรมไว้คุ้มครองรักษาชีวิตนั้นเป็นอย่างไร

 

ท่านจักใช้ธรรมะเพื่อให้เป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ของอุดมศึกษาไทย เพื่อที่จะน้อมนำชาติไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท