LLEN กับการปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียน



          เมื่อวันที่ ๓ พ.ย. ๕๓ มีคนระดับอธิการบดีถามผมว่า ผมมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองหรือไม่

          คำตอบของผมคือ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่เป็นทางการ เพราะผมเชื่อว่า ที่ทำกันอยู่นั้น ผิดทาง   จะไม่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น   ความเห็นของผมอาจจะผิด   แต่ผมก็มีความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ ว่าที่ทำกันอยู่นั้น เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่คนในวงการศึกษา มากกว่าหาทางปฏิรูปให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น

          ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของไทยลดลง ดังแสดงโดยผลการประเมิน PISA   นั่นคือผลงานของวงการการศึกษาส่วนที่รับผิดชอบระบบและใช้อำนาจ ใช้เงินภาษีของพวกเราเอาไปจัดการการศึกษาของชาติ

          แต่ผมเกี่ยวข้องกับความพยายามปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียน โดยขบวนการที่ไม่เป็นทางการ ไม่ใช่สายอำนาจ  กิจกรรมหนึ่งคือโครงการ LLEN ของ สกว.   และอีกขบวนการหนึ่งคือขบวนการครูเพื่อศิษย์ ที่ผมถือว่าเป็น virtual movement หรือขบวนการเสมือน คือไร้ตัวตน   แต่มีกิจกรรมและความมุ่งมั่นร่วม ที่จะดำเนินการหนุนครูเพื่อศิษย์

          เป็นการปฏิรูปจากภายนอกวงการการศึกษาส่วนที่ใช้อำนาจ   เราต้องช่วยกันทำหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างพลเมืองแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ให้แก่บ้านเมืองของเรา   ไม่ใช่ปล่อยไว้ในมือของคนในวงการศึกษาโดยสิ้นเชิง

          แต่เราก็ไม่ควรปฏิเสธคนในวงการศึกษาที่เป็นคนดี ทำเพื่อประโยชน์ของการเรียนรู้ของเด็ก อย่างแท้จริงนะครับ

          LLEN ย่อมาจาก Local Learning Enrichment Network  ตีความหมายได้ว่า ต้องการสร้างเครือข่ายหนุนเสริมการเรียนรู้ในพื้นที่   ตีความต่อได้ว่า ต้องการให้ฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียน   โครงการนี้ใช้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ   เวลานี้มีทั้งหมด ๑๕ จังหวัด

          แต่ละเครือข่ายจังหวัดมีวิธีการดำเนินการตามที่ตนคิดเอง หรืออาจมาจากการหารือกันภายในเครือข่ายจังหวัดนั้น ซึ่งที่จริงทำเพียงส่วนนิดเดียวของจังหวัด   แต่ก็มีสมาชิกของเครือข่ายมาจากหลายวงการ  โดยผมตีความแนว KM ว่า สมาชิกของเครือข่ายมี ๓ กลุ่ม คือ กลุ่ม “คุณกิจ” กลุ่ม “คุณอำนวย” และกลุ่ม “คุณเอื้อ”

          กลุ่ม “คุณเอื้อ” หมายถึงคนหรือวงการ/องค์กร ที่เข้ามาหนุนเสริม เช่นให้ทรัพยากร ให้กำลังใจ ให้แรงงาน ฯลฯ เพื่อให้ครู/โรงเรียน ดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนของตน   สกว. และคณะกรรมการชี้ทิศทางของโครงการ LLEN อยู่ในกลุ่มนี้   และได้เกิดคุณเอื้อในรูปแบบใหม่ๆ เช่น เครือข่ายต้นกล้าปัญญา ของจังหวัดสุราษฎร์ธที่มีคุณภาพ นพ. บรรจบ มานะกุล ผอ. รพ. ทักษิณ เป็นประธาน   มูลนิธิศุภนิมิต (ลำปาง)  บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด เป็นต้น   ทีมจัดการ LLEN น่าจะได้ส่งเสริมให้มีการรวบรวมถอดบทเรียนเกี่ยวกับการร่วมตัว และการรวมพลัง คุณเอื้อในพื้นที่ ว่าจะดำเนินการอย่างได้ผลและต่อเนื่องได้อย่างไร   โดย “ผล” ที่ว่านั้น คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่

          กลุ่ม “คุณอำนวย” ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง ๓ กลุ่ม   กระตุ้นความเข้มแข็งและกิจกรรมของทั้ง ๓ “คุณ”   ให้ร่วมกันทำงานเพื่อสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่   “คุณอำนวย” ในพื้นที่อาจจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มที่ทำงานกับ LLEN   อาจจะเป็นกลุ่มที่เขาทำกันอยู่แล้วในพื้นที่   เช่นอาจจะมี node ของ สกว. ท้องถิ่น จับทำเรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ของครู เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น

          เรื่อง “คุณอำนวย” ในพื้นที่ก็เช่นเดียวกัน ทีมจัดการ LLEN น่าจะจัดให้มีการทำวิจัยแบบ quick assessment ว่า จริงๆ แล้ว มีกลุ่มคนที่แสดงบทบาท “คุณอำนวย” ต่อการสร้างเครือข่ายหนุนเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบใดบ้าง ในพื้นที่หนึ่งๆ   และจะหาทางทำให้เข้ามาทำงานร่วมมือกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างไร 

          กลุ่ม “คุณกิจ” คือตัวครูนั้น ทำกิจกรรมเรียนรู้ใน ๒ ระดับ คือการเรียนรู้ของนักเรียน กับการเรียนรู้ของครู   การเรียนรู้ของครูนั้น มีกระแสขึ้นในโลกว่าต้องใช้หลักการ PLC (Professional Learning Community)   ผมตีความว่า ๘๐% ของการเรียนรู้ของครูต้องทำใน learning mode ในบริบทของการทำหน้าที่ประจำวันของครู   เพียง ๒๐% เท่านั้นที่ควรใช้ training mode คือจัดหลักสูตรฝึกอบรมอย่างที่ใช้กันในโครงการไทยเข้มแข็ง   ผมคิดแบบกวนๆ ว่าโครงการฝึกอบรมครูในโครงการไทยเข้มแข็ง ทำให้ครูไทยไม่เข้มแข็ง   และผมเสียดายเงินภาษีที่ผมเสียไป และเขาเอาไปใช้แบบอีลุ่ยฉุยแฉก

          PLC หมายความว่าครูต้องมีทักษะในการเรียนรู้จากงานประจำวัน   และจะทำได้ไม่ยากหากรวมตัวกันเรียนรู้เป็นกลุ่มหรือเป็นทีม (community)   โดยในยุค ICT กลุ่มหรือทีมนี้อาจอยู่ห่างไกลกันก็ได้   แต่ที่ต้องทำให้ได้คือ โรงเรียนแต่ละแห่งต้องเป็น learning community

          จึงมีการบ้านเสนอทีมจัดการ LLEN (ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่) ว่า ควรมีโครงการวิจัย quick assessment หา PLC ในโรงเรียน  และ PLC ข้ามโรงเรียน   เพื่อนำมาหาทางสนับสนุนให้เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ของโรงเรียน และของครู   ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ของจริง ที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของครูเอง ไม่ได้เกิดจากคำสั่ง   แต่เกิดจากความมั่นใจในคุณค่าของตน ความมั่นใจในปฏิปทาสร้างคุณค่าของตน ในการทำหน้าที่ “ครูเพื่อศิษย์” สร้างผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์   ไม่ใช่ทำเพื่อเอาใจจ้าวนายหรือนักการเมือง   

 

 

วิจารณ์ พานิช
๗ พ.ย. ๕๓
           

คำสำคัญ (Tags): #531102#llen#thaillen
หมายเลขบันทึก: 411596เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2010 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

LLEN : Local Learning Enrichment Network เป็นสิ่งที่ดียิ่งและมีโอกาสปฏิรูปการเรียนในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรมให้เป็นความมจริง

LLEN จะประสบความสำเร็จนั้นจะต้องมี "หัวโจก" สำหรับภาษาเด็กแก๊ง จะต้องมี "คีย์แมน" สำหรับภาษานักบริหาร หรือจะต้องมี "คุณอำนวย" ในภาษานักจัดการความรู้...

หัวโจกนี้จะต้องเป็นคน "บ้า" และ "บ้ามาก ๆ"

คนบ้าคือคนที่จะต้องทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น ไม่ติดระบบ ไม่ทำงานเป็นเวลา บ้าที่จะใช้คุณค่าของตนเองสร้างคุณค่าของส่วนรวม

หัวโจกจะต้องทุ่มเท เสียสละ อุทิศชีวิตจิตใจให้กับ LLEN ได้ ดังนั้น คนที่ไม่มีครอบครัว (ไม่ได้แต่งงาน และไม่มีลูก) จึงเหมาะสมที่สุด ต้องว่ากันถึงแบบนั้น

โซ่ที่ผูกหย่อน ๆ แต่แก้ได้ยากคือบุตรและภรรยานั้น จะตัดรอนประสิทธิภาพการทำงานของ "หัวโจก" ลงครึ่งหนึ่ง ทั้งประสิทธิภาพทางกายและประสิทธิภาพทางใจ

การประสานเครือข่ายการศึกษาระดับจังหวัด หัวโจกจะต้องทุ่มเทกายใจในการติดต่อสื่อสาร การเดินทาง การคิด การพูดลงไปให้กับเครือข่ายนั้น ๆ

ถ้าพูดถึงเรื่องปาก เรื่องท้อง ส่วนกลางจักต้องมีงบประมาณ (รายได้) ให้เขาแบบ "บ้า ๆ" เลยทีเดียว

พูดง่าย ๆ คือ นอกจากสอนหนังสือตามภาระงานปกติในมหาวิทยาลัยแล้ว คุณไม่ต้องไปทำงานอื่นใดนอกจา LLEN คุณก็มีชีวิตอยู่ได้ มีเงินจับจ่ายซื้อของสนองกิเลส ตัณหา และกามราคะได้ตามประสาคนโลก ๆ แบบ "สบาย ๆ"

LLEN ไม่ต้องการคนวิเศษ คือดีเลิศประเสริฐศรี ขอเพียงไม่มีภาระผูกพันธ์ทางครอบครัวอะไรมากมายนัก เพื่อที่จะทุ่มเทกำลังกายกำลังใจให้กับ LLEN อย่างสุดจิตสุดใจเท่านั้นเป็นดี

บ้านเมืองเราขาดหัวใจก หัวโจกแบบ "บ้า ๆ" บ้างาน ทุ่มเทให้งานแบบสุดจิตสุดใจ

ถ้าเราสามารถหาคนบ้า ๆ แบบนี้ได้เครือข่ายการปฏิบัติการเรียนรู้ในโรงเรียนไทยจึงจะได้ผล...

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๒ ธันวาคม ๒๕๕๓

 

  • ผมดีใจที่ได้เห็นรูปแบบการจัดการอบรมแบบที่เป็น school-based trainingของ LLEN
  • อยากเห็นความต่อเนื่องของครูถึงแม้ว่าโครงการจะจบไปแล้ว
  • เชื่อว่า ครูเป็นคนดี น่าจะทำ
  •  ทีมจัดการ LLEN น่าจะได้ส่งเสริมให้มีการรวบรวมถอดบทเรียนเกี่ยวกับการร่วมตัว และการรวมพลัง คุณเอื้อในพื้นที่ ว่าจะดำเนินการอย่างได้ผลและต่อเนื่องได้อย่างไร   โดย “ผล” ที่ว่านั้น คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่ และ
  •  ควรมีโครงการวิจัย quick assessment หา PLC ในโรงเรียน  และ PLC ข้ามโรงเรียน   เพื่อนำมาหาทางสนับสนุนให้เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ของโรงเรียน และของครู   ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ของจริง ที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของครูเอง
  • เพราะผมเห็นการอบรม online แบบ E-training ที่เรียกย่อๆว่า UTQ ของกระทรวงที่ครูทุกคนต้องเข้าไปทำและเป็นทุกข์มาก โดยเฉพาะในโรงเรียนที่ห่างไกล อบรมมาแล้ว ครูได้เพียงวุฒิบัตรให้ (ไม่รู้ได้ความรู้ไหม)
  • ไม่ทราบว่าได้มีการติดตามผลว่าครูได้นำเอาการเรียนรู้ไปสอนในชั้นเรียนหรือไม่
  • ขอบคุณครับ

ขอโอกาสต่อยอดความคิดเห็นของท่าน ดร.ขจิต ฝอยทอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทรงคุณค่ายิ่ง ดังนี้

สำหรับคุณเอื้อ ถ้าอธิการบดีหรือมหาวิทยาลัย "เอื้อ" ประโยชน์ให้กับอาจารย์ที่เป็นหัวโจกลงไปทำหน้าที่ "ข้อต่อ" หรือตัวเชื่อมประสานกับโรงเรียนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่น่าจะเป็นการดีที่สุด

การเป็นคุณเอื้อนั้น คือเปิดโอกาสในการทำงาน ลดภาระงานในมหาวิทยาลัยของหัวโจกลง ให้การทำงาน LLEN คิดเป็นภาระงานได้อย่างเต็มที่

นอกจากนั้น การเอื้อ M ต่าง ๆ คือ Man ควรจะมีผู้ช่วยสักหนึ่งคน อาจจะเป็นอาจารย์อายุน้อย ๆ หรือเจ้าหน้าที่ที่ลุยงานกันได้เต็มที่แบบไปไหนไปกัน ค่ำไหนนอนนั่น ลงไปทำงานอย่างจริง ๆ จัง ๆ

Money งบประมาณที่เป็นน้ำมันหล่อลื่น ต้องคล่อง ยืดหยุ่น ซึ่งถ้าไว้ใจกันจริง ๆ ก็ให้ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยดูงบที่คล่องตัวที่สุด

ถ้าใช้รถส่วนตัวจะคล่องกว่าใช้รถของสถาบัน แต่ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัยต้องเปิดช่องอย่างถูกกฎหมายในเรื่องของค่าน้ำมัน เบี้ยเลี้ยง อาหาร และที่พักให้กับคนที่ลงไปทำงาน

เรื่องพาหนะ ซึ่งคาบเกี่ยวกับ M ตัวที่ 3 คือ Material เป็นหัวใจหลักของการทำงาน การใช้รถส่วนตัวสะดวก แต่คุณเอื้อก็ต้องรับผิดชอบรถส่วนตัวให้เหมือนกับรถส่วนรวม มีค่าบำรุงรักษาให้บ้าง ค่าเสื่อมสภาพบ้าง เพราะเขาเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวไปทำงานเพื่อส่วนรวม

เรื่องงบประมาณที่ Fix ของหน่วยงานราชการนี่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน ไม่ลื่นไหล ไม่คล่องตัว ผลสัมฤทธิ์ก็ต่ำตามไปด้วย

สำหรับ M ตัวสุดท้ายคือ Management นั้น ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า ควรจะใช้หัวใจของ R2R ลงไปทำงาน เพื่อสกัดภาพการทำงานจริงของโรงเรียนต่าง ๆ ออกมาเป็นภาพแรก

ภาพของจริงจะทำให้เกิดความเหนียวแน่นของเครือข่ายอย่างมั่นคง

หัวโจกทำหน้าที่เสนอภาพ R2R ของเครือข่าย ซึ่งในโรงเรียนอาจจะใช้คำว่า "การวิจัยในชั้นเรียน" ชูขึ้นมา

ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งสองทาง คือ เกิดประโยชน์กับ LLEN และเกิดประโยชน์กับโรงเรียนด้วยคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนจะได้ผลงานทางด้านการวิจัยในชั้นเรียนชูขึ้นเมื่อมีการประเมินคุณภาพ เมื่อผู้อำนวยการเห็นผลประโยชน์ที่เขาจะได้ เขาจะเปิดทางให้เราทำงานสะดวก

สำหรับสิ่งที่ไม่ควรมีหรือมีให้น้อยที่สุดสำหรับความคิดเห็นของข้าพเจ้า (ซึ่งอาจจะผิด) นั้น คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการหรือการสัมมนาต่าง ๆ ของเครือข่าย หัวโจกไม่ควรเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัด ซึ่งจะนำมาถึงเรื่องการเบิกจ่ายของงบประมาณส่วนกลาง

เพราะจะทำให้เกิดวัฒนธรรมว่า เครือข่าย LLEN จะทำอะไรก็ต้องให้หัวโจกเข้าไปจัดการ

หัวโจกควรจะมีหน้าที่กระตุ้นเล็ก ๆ อยู่เบื้องหลังให้แต่ละโรงเรียนจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยตนเอง

เมื่อเห็นใครคุยเรื่องอะไรกันตามงานใด ๆ หัวโจกจะต้องว่องไวลงไปแอบดู หรือทำการสังเกตุแบบมีส่วนร่วม อันนี้หัวโจกน่าจะทำเป็นอยู่แล้ว เพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องการวิจัยเป็นธรรมดา

อาทิเช่น การติดตามผลของครูในเรื่องของการนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปสอนในชั้นเรียนหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของหัวโจกที่จะต้องค้นให้พบ เมื่อค้นพบแล้วก็ต้องนำเสนอสิ่งที่ดี ๆ เหล่านั้นให้โรงเรียนในเครือข่ายเห็นภาพ

เมื่อโรงเรียนอื่นเห็นภาพแล้ว เขาอยากจะมีภาพบ้าง เขาก็จะบอกเราเอง จากนั้นเราก็มีหน้าที่นำเสนอภาพต่าง ๆ เหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

Management หรือเรื่องการบริหารจัดการต้องว่องไว อย่าให้เฉิ่ม

คุณเอื้อต้องเอื้อช่องให้คุณอำนวยแบบจริง ๆ จัง ๆ

ดังนั้นจึงย้อนกลับไปว่า ถ้าหัวโจกเป็นคนที่ยังไม่มีครอบครัว ไม่มีพันธะจะดีมาก เพราะการทำงานคล่องตัว ไม่ต้องห่วงเรื่องทางบ้าน ทางครัว จะไปไหนก็ไปได้ทันที ไม่ต้องโทรรายงานใคร แต่อย่าลืมว่าจะต้องสร้างผลงานให้คุณเอื้อ (อธิการบดี) พึงพอใจด้วย เพราะมิฉะนั้นท่านอาจจะไม่เอื้อให้เราอีก...

ตามอ่านและเป็นกำลังใจมานานแล้วครับ แต่ไม่เคยแสดงความเห็น

ใจผมอยากให้คนที่ทุ่มเทตนเองและรู้ปัญหาจริงอย่างท่านอาจารย์และอีกหลายๆท่านในที่นี้เข้าไปอยู่ในขบวนการสายอำนาจมากกว่า

ที่ผ่านมาแม้จะมีขบวนการที่ท่านเรียกว่า virtual movement และมีเครือข่ายเชื่อมโยงกันมากมายเพียงใด มีกิจกรรมและผลสำเร็จอย่างไร แต่ในที่สุดแล้วก็ยังมองไม่เห็นว่ากระบวนการเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจะประสบผลสำเร็จได้จริง

แน่นอนว่า เราต้องช่วยกันทำหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างพลเมืองแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ให้แก่บ้านเมืองของเรา   ไม่ใช่ปล่อยไว้ในมือของคนในวงการศึกษาโดยสิ้นเชิง

สมมติว่าเราสามารถขับเคลื่อนเครือข่ายหนุนเสริมการเรียนรู้ในพื้นที่, ขบวนการครูเพื่อศิษย์ กิจกรรม...ฯลฯ ได้อย่างที่เราตั้งใจ สมมติว่าเราสามารถพัฒนาความรู้ของเด็กเป็นไปดังความคาดหวัง

คำถามต่อไปก็คือ แล้วเราจะนำพาศิษย์ของครูเหล่านี้ไปเป็นพลเมืองแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไปได้อย่างไร เพราะในขณะที่เด็กๆเหล่านี้กำลังเดินตามพวกเราไปบนสะพานแห่งความหวัง พอถึงเวลาหนึ่ง จังหวะหนึ่ง เด็กบางกลุ่มก็พากันทยอยร่วงหล่น ไม่สามารถไปถึงฝั่งได้เพราะระบบการประเมินคุณภาพผู้เรียนที่เราก็สงสัยในประสิทธิภาพและความเหมาะสม

แต่เป็นระบบที่มีอำนาจพอที่เครือข่ายของพวกเราทำได้แค่ "มองดู"

เด็กที่เหลือส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถฝ่ากำแพงระบบเพื่อไปสู่การศึกษาขั้นอุดมศึกษาได้เพราะ specification ที่คนกลุ่มเล็กๆที่มีอำนาจกำหนด อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นสำหรับเด็กๆของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ด้อยโอกาส เด็กที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายระบบติว
(บางที สอท.อาจจะอยู่สูงเกินไปเลยมองไม่เห็นเด็กระดับล่างๆ ถ้าเปลี่ยนเป็น สคท./สมาคมคณะบดีแห่งประเทศไทย ปัญหาอาจลดลง)

เช่นเดียวกัน เครือข่ายของเราก็คงทำได้เพียง "มองดู"

สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ หากไม่สามารถสร้างสมดุลย์อำนาจ (Power Balancing) ได้
แม้เครือข่ายของเราจะมีพลัง แต่เมื่อขาดอำนาจ
สิ่งที่สร้างไว้ถึงจะไม่สูญสลายไปเสียทีเดียว

แต่โอกาสที่จะถึงฝั่ง ก็แทบมองไม่เห็นเลยเหมือนกันนะครับ

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

       การศึกษาในปัจจุบันเน้นการคิดโดยเอาตำราเป็นตัวตั้งเกินไป ขาดทักษะในการเชื่อมโยงทางความคิด ต่อความเป็นไปของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น  (The way things are)  และหนำซ้ำยังไปเอาใจ บางสิ่งบางอย่างที่เรียกได้ว่า เอาตามตัณหาของผู้บริหาร หรือกลุ่มการเมืองหรืออะไรก็ตามแต่ โดยไม่สนกระบวนการหรือวิธีการ การพัฒนาเพื่อดึงศักยภาพมนุษย์เพื่อเป็นพลเมืองที่ดีของโลก การศึกษาด้วยวิธีการแบบโลกๆเพียงอย่างเดียว โดยขาด Wisdom eye จาก inner side  จึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่น้อยที่จะทำความเข้าใจต่อโลกและจักรวาลนี้ เปรียบดังเหมือน มดตัวน้อยเดินสำรวจป่าอะเมซอน จึงอ่อนล้า สับสนและว้าวุ่น ทั้งสุดจะเหนื่อยใจกับระบบต่างๆที่สร้างขึ้นมาเพื่อประเมินในแง่มุมต่างๆ ที่เรากำลังทำกันว่าเป็น  “การพัฒนาการศึกษาของชาติ”  ในโลกที่มีความสัมพันธ์ในเชิงระบบที่ซับซ้อนของโลกปัจจุบันนี้  ปัญหาจากทางบ้าน  สังคม สื่อ เศรษฐกิจ การคมนาคม สภาวะแวดล้อม ทั้งธรรมชาติและที่โรงเรียน ตลอดภาวะแข่งขันต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการศึกษา มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กและนักศึกษา  ต่าง มึนงง สับสน และค้นหาตัวเองไม่เจอ มันจึงเปรียบเหมือน มดตัวน้อยเดินสำรวจป่าอะเมซอน ยิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องยิ่งหลงทาง กระแสความเป็นไปเหล่านี้ก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นและมากขึ้น....ทุกวัน นักศึกษาจึงต่าง มึนงง สับสน และค้นหาตัวเองไม่เจอ ความพยายามเพื่อให้ได้ใบปริญญาที่ร่ำเรียนมา 4-8 ปี ที่ผู้คนในสังคมใช้แสดงเครื่องหมายหรือรับรองว่า เป็น  “บัณฑิต”  พูดง่ายๆก็คือ ผู้รู้ คนเก่ง มีความสามารถ และเป็นพลเมืองและอยู่ในทางแห่งสัมมาทิฐิ หากประเมินแล้ว พบว่าทักษะต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาในเชิงวิชาการ และการนำมาใช้ชีวิตที่จะเป็นพลเมืองดีในสังคมกลับไม่ปรากฏเด่นชัด ซ้ำยังตกต่ำจนน่าใจหาย  และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ใช้เวลาหลายปี แต่กลับ ขาดทักษะที่จะมีตนเป็นที่พึ่งในแง่มุมต่างๆ บางทีก็หาทางออกเพียงชั่วครู่ชั่วยามไปเรื่อย เรียกได้ว่าอ่อนแอจนน่าตกใจ อย่าว่าแต่เด็ก นักศึกษาเลย ผู้ใหญ่หลายท่านต่างก็อ่อนล้า สับสนและว้าวุ่น และเหนื่อยใจกับระบบต่างๆที่ดีโดยเพียงแค่ปรัชญาแต่กระบวนทัศน์การทำงานก็เหมือนเดิมๆ ทุกวันนี้กระผมเองก็พยายามพัฒนาตัวเองเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆเช่นกัน

      หากพัฒนามนุษย์ทางด้านจิตวิญญาณควบคู่ การพัฒนามนุษย์จะถูกดึงศักยภาพออกมาได้สูงขึ้น กว่าการศึกษาทางโลกเพียงอย่างเดียวที่อยู่ภายใต้ขอบเขต  “อันแสนจะธรรมดา”  Wisdom eye จาก inner side ที่มาจากการรับรู้โดย จิต (Knowing) จะสามารถจัด ลำดับความสำคัญ ได้อย่างชัดเจนขึ้น เพื่อจะทำความเข้าใจ การเข้าไปเกี่ยวข้อง และการบริหารจัดการแก้ไขสิ่งต่างๆ ซึ่งมีความซับซ้อนในเชิงระบบที่สูงมากในโลกปัจจุบัน รวมทั้งความสามารถในการบริหารอารมณ์และความคิดเชิงลบที่เกิดจาก  I-ego จากหรือการมีอุปทานที่สูง (ยึดมั่น ถือมั่น) ต่อสิ่งต่างๆก็จะถูกปรับปรุงให้อยู่ในทางที่ดีขึ้น ด้วย “ปัญญา” การเข้าใจในความสัมพันธ์เชิงระบบที่ซับซ้อน ก็จะถูกจำแนก จัดกลุ่มและความลำดับสำคัญได้  รู้เหตุ รู้ปัจจัย เงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง และสามารถจัดลำดับความสำคัญต่อสิ่งต่างๆได้ดีและเป็นไปอย่างยืดหยุ่น ตลอดจนเห็นการณ์ไกล คุณสมบัตินี้จะทำให้การเข้าไปจัดการปัญหาได้ดีกว่าการศึกษาทางวิชาการในทางโลกเพียงอย่างเดียว กล่าวคือการแก้ปัญหานั้นมี  “ประสิทธิภาพ ทรงพลังและยั่งยืนกว่า”  ในเมื่อทุกชีวิตต่างก็มี จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวถ้วนทั่วกัน เช่นกัน หากกระบวนทัศน์ผู้หลักผู้ใหญ่ ในบ้านเมืองหรือหัวจักรทางปัญญา ยังจำกัดอยู่ในมุมมองที่แสนจะธรรมดาและไม่ต่างจากนักศึกษามากนัก การแก้ปัญหาก็วนๆเวียนๆดังเช่นนี้แล การศึกษาเรา มันจึงดูเหมือนเป็นโลกของอารมณ์ มายาคติ ที่เกิดจาก conventional thinking มาวาดวิมาน การไม่ได้ถูกไตร่ตรองด้วย Wisdom eye  สังคมเราจึงแสดงผลดังที่ปรากฏ ซึ่งมันก็เป็นผลกรรมที่สังคมเราต่างทำร่วมกันมา  หากมองในแง่สัจธรรม กระผมก็คิดว่า สิ่งสูงสุดหรือกฎสูงสุดก็ทำหน้าที่ปรับสมดุล อย่างเด็ดขาดและเที่ยงธรรมต่อทุกสรรพสิ่ง ผลที่เกิดขึ้นเราก็เห็นกันอยู่  อย่างไรก็ตามกระผมก็เชื่อว่าภายใต้สิ่งสูงสุดหรือกฎสูงสุด ที่ครอบคลุมทั่วแดนโลกธาตุนั้น แบบแผนชีวิตมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาอย่างตายตัว จึงเปิดโอกาสในเราปรับปรุงตน พัฒนาตนได้ ......เราจึงต้องทำความเข้าใจต่อความเป็นไปของสรรพสิ่งและพัฒนามนุษย์ให้ถูกทาง กระผมมีความเชื่อว่า มนุษย์เราเป็น  “เวไนยสัตว์”  หากมนุษย์ใช้ความรู้ความสามารถไปในทางไม่เบียดเบียนต่อ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและตนเอง บ้านเมืองก็จะสันติสุขขึ้นครับผม

ด้วยความเคารพครับผม

      นิสิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท