BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อาบน้ำคนแก่ จำเริญอายุ และบังสุกุลเป็น


อาบน้ำคนแก่ จำเริญอายุ และบังสุกุลเป็น

เดือนห้าสงกรานต์สำหรับชาวปักษ์ใต้ เรียกกันว่า วันว่าง หรือ เดือนว่าง (เล่าไว้แล้ว คลิกที่นี้ ) สมัยก่อนนิยมอาบน้ำญาติผู้ใหญ่ระดับปู่ ย่า ตา ยาย หรือทวด... แต่ปัจจุบันการอาบน้ำคนแก่ทำนองนี้ ค่อยๆ น้อยลง โดยอ้างว่าพิธีกรรมยุ่งยาก พระ-เณรก็ไม่ค่อยจะว่าง ลูกหลานก็ใคร่จะรีบกลับ... จึงคงเหลือเพียงรดน้ำใส่มือผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นเป็นส่วนมาก

พิธีอาบน้ำคนแก่ นิยมทำในเดือนห้าเดือนว่าง ซึ่งจะตรงกับวันสงกรานต์หรือวันว่างหรือไม่ก็ได้ โดยมากมักจะกำหนดตามความเหมาะสมของบรรดาลูกหลานและพระ-เณรที่นิมนต์มา โดยพิธีกรรมมักนิยมจัดตอนบ่ายถึงเย็น ไม่นิยมทำตอนเช้าหรือตอนกลางคืน...สถานที่จัดอาบน้ำคนแก่ มักจะเป็นบ้านที่คนแก่อาศัยอยู่ หรือไม่ก็อาจเป็นลานบ้าน หรือศาลากลางบ้านก็มี...

เริ่มต้นพิธีกรรม โดยคนแก่และลูกหลานเหลนโหลน รวมตัวกันหน้าแท่นปะรำพิธี ซึ่งมีพระสงฆ์ประจำอยู่บนอาสนะพร้อมแล้ว... หลังจากมีการบูชาพระรับศีลเรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ก็เิริ่มทำน้ำมนต์เพื่อจะได้เอาน้ำมนต์นี้ไปผสมกับน้ำในโอ่งซึ่งจัดเตรียมไว้แล้วในสถานที่จะอาบน้ำคนแก่ (สมัยก่อนอาจใกล้ๆ บ่อน้ำ หรือสระน้ำ ปัจจุบันอาจหน้าห้องน้ำ หรือข้างก๊อกน้ำ ตามสมควร)

หลังจากทำน้ำมนต์เสร็จแล้ว ลูกหลานเหลนโหลนก็จะทำพิธีขอขมาลาโทษคนแก่ ซึ่งอาจจะขอขมาฯ ที่ปะรำพิธีหน้าพระสงฆ์เลยก็ได้... หรือหากลูกหลานเยอะเกินไป ไม่สามารถเข้ามาร่วมที่หน้าพระสงฆ์ในปะรำพิธีได้ ก็อาจยกขบวนไปขอขมาฯ ที่ลานอาบน้ำคนแก่ก็ได้

หลังจากขอขมาฯ แล้ว (หรือค่อยไปขอขมาฯ ) ก็เชิญคนแก่ โดยให้ท่านเดินไปเอง พยุงท่านไป หรืออุ้มไปก็ได้ ไปยังสถานที่จะอาบน้ำให้ท่าน เมื่อไปถึงแล้วก็ให้ท่านผลัดผ้าเป็นผ้าอาบน้ำตามสมควรแก่เพศ... หลังจากท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานเหลนแล้วก็ช่วยๆ กันรดน้ำใส่มือท่าน ตักน้ำราดตัวท่าน ฟอกสะบู่ ถูเนื้อตัวของท่านตามสมควร...

หลังจากช่วยกันรดน้ำ อาบน้ำท่านจนสำเร็จเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำท่านมาผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นผ้าใหม่ หวีผม ปะแป้ง ตลอดถึงพรมน้ำหอมให้ท่านด้วย ตามสมควร (ลูกหลานจะต้องเตรียมไว้ก่อน) แล้วก็นำท่านไปยังแท่นปะรำพิธีต่อหน้าพระสงฆ์.... ลำดับการอาบน้ำก็เสร็จเพียงแค่นี้ ต่อไปก็จะเป็นการจำเริญอายุและบังสุกุลเป็น...

............

คำว่า จำเริญอายุ หรือ จำเหริญอายุ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า เจริญอายุ... พิธีกรรมเริ่มต้นด้วยการนำด้ายสายสิญจน์ที่ต่อจากพระสงฆ์มาพักไว้ที่คนแก่ ซึ่งนั่งพับเพียบอยู่หน้าพระสงฆ์... ถ้าท่านไม่สะดวกในการนั่งพับเพียบ ลูกหลานก็อาจจัดเก้าอี้ให้ท่านนั่งแทนก็ได้ตามความเหมาะสม...

บทจำเริญอายุนี้ เริ่มต้นด้วยนโม... พุทธังชีวิตัง.. ปฐมัง ทานบารมี... และอื่นๆ ตามสมควร... แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ บทโพชฌงคปริต ซึ่งจัดเป็นธรรมโอสถตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา... การเจริญพระพุทธมนต์ว่าด้วยการจำเริญอายุทำนองนี้ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในที่นั้น... หลังจากนั้นก็จะพิจารณาบังสุกุลเป็น

บทบังสุกุลเป็น ก็คล้ายๆ กับบทบังสุกุลตายที่ว่า อะนิจจา วะตะ สังขารา... ซึ่งเราได้ยินทุกครั้งเวลาพระสวดศพนั่นเอง.... เพียงแต่ว่า บังสุกุลเป็นนี้ใช้กับคนเป็น ส่วนบทบังสุกุลตาย ใช้กับคนตาย...

  • บทบังสุกุลเป็น...
  • อะจิรัง วะตะยัง กาโย             ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ
  • ฉุฑโ๋ฑ อะเปตะวิญญาโณ        นิรัตถังวะ กะลิงคะลัง
  • กายนี้ จักนอนทับ ซึ่งแผ่นดิน ไม่นานหนอ
  • มีวิญญาณไปปราศแล้ว ถูกเขาทิ้งไว้ ไร้ประโยชน์ ดุจดังท่อนไม้


เมื่อพระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลเป็นเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำพิธีถวายปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนาทาน ก็เป็นอันเสร็จพิธี...

...........

อนึ่ง เฉพาะงานจำเริญอายุแล้วบังสุกุลเป็นทำนองนี้... บทอนุโมทนาวิเสส พระสงฆ์มักจะใช้ บทภุตตา โภคา... เพิ่มขึ้นอีกบทเป็นส่วนมาก ซึ่งผู้เขียนคิดว่า มีนัยสำคัญบางอย่าง จึงถือโอกาสนำมาเล่าไว้ด้วย...

อาทิยะสุตตะคาถาแปล

 

  • ภุตตา โภคา ภะฏา ภัจจา      วิติณณา อาปะทาสุ เม
  • โภคะทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว บุคคลทั้งหลายที่ควรเลี้ยง
  • เราได้เลี้ยงแล้ว อันตรายทั้งหลาย เราได้ข้ามพ้นไปแล้ว

 

  • อุทธัคคา ทักขิณา ทินนา      อะโถ ปัญจะ พะลี กะตา
  • ทักษิณาที่เจริญผล เราได้ให้แล้ว อนึ่ง พลีห้าเราได้ทำแล้ว

 

  • อุปัฏฐิตา สีละวันโต              สัญญะตา พรัหมะจาริโน
  • ท่านผู้มีศิลสำรวมแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เราได้บำรุงแล้ว

 

  • ยะทัตถัง โภคะมิจเฉยยะ      ปัณฑิโต ฆะระมาวะสัง
  • บัณฑิตผู้ครองเรือน ปรารถนาโภคะเพื่อประโยชน์อันใด

 

  • โส เม อัตโถ อะนุปปัตโต       กะตัง อะนะนุตาปิยัง
  • ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้ว กรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่ง
  • ความเดือดร้อนภายหลัง เราได้ทำแล้ว

 

  • เอตัง อะนุสสะรัง มัจโจ          อะริยะธัมเม ฐิโต นะโร
  • นรชนผู้จะต้องตาย เมื่อตามระลึกถึงคุณข้อนี้อยู่
  • ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม

 

  • อิเธวะ นัง ปะสังสันติ             เปจจะ สัคเค ปะโมทะตีติ
  • เทวดาแลมนุษย์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญนรชนนั้น ในโลกนี้
  • นรชนนั้น ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ดังนี้.

 

ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า บทภุตตาโภคา... ที่โบราณาจารย์วางธรรมเนียมให้สวดในงานจำเริญอายุเป็นกรณีพิเศษ ท่านคงต้องการจะบอกให้คนแก่เกิดความภูมิใจในความเป็นคนที่ได้เกิดมา และเพื่อเป็นการสอนลูกหลานไปด้วยว่า ควรจะดำเนินชีวิตทำนองนี้... แต่บังเอิญพระสวดเป็นภาษาบาลี คนแก่และลูกหลานจึงไม่เข้าใจ (แม้พระส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน...)

 ...ในโอกาสเดือนห้าเดือนว่างปีนี้ ผู้เขียนจึงอัญเชิญมาไว้เป็นข้อคิด...

 

หมายเลขบันทึก: 176350เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2008 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • ได้อ่านและเกิดความรู้มากขึ้น
  • เคยได้ยินแต่พิธีรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ค่ะ แต่นี่คือพิอาบน้ำผู้ใหญ่ ได้อ่านที่คุณกวินทรากรเขียนไว้ว่าวันสงกรานต์จะอาบน้ำพ่อแม่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจค่ะ เพิ่งแจ่มแจ้งตอนนี้เอง
  • กราบนมัสการค่ะ

P

คนไม่มีราก

 

อันที่จริง ยังมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องนี้อีกหลายประเด็น เช่น...

  • หลังจากอาบน้ำให้คนแก่ที่อาวุโสที่สุดแล้ว ก็จะเชิญคนแก่ที่อาวุโสลงมาเพื่อจะอาบน้ำให้ด้วยอีก ๒-๓ ท่าน...
  • คนแก่ที่อาวุโสน้อยลงมา บางคนไม่ยินยอมให้อาบโดยบอกว่า  กูยังไม่แก่ ! (5 5 5...)
  • บางคนก็ต่อรองว่า  สำหรับกู พวกสูค่อยอาบให้ปีหน้า !  (5 5 5...)

แต่เห็นว่า บันทึกจะยาวเกินไป จึงละไว้... อาจค่อยนำมาเล่าต่อปีหน้า...  

เจริญพร

 

นมัสการพระคุณเจ้า

  • พิธีกรรมต่าง ๆ ล้วนมีแก่นสาระอยู่ภายใน เมื่อก่อนคนไม่มีรากจะไม่ค่อยชื่นชอบพิธีกรรมทุกชนิด เมื่อมาเรียนวัฒนธรรมจึงได้รู้ถึงจุดประสงค์ของพิธีกรรม ซึ่งก็สำคัญ เหมือนต้นไม้ต้องมีเปลือกหุ้มแก่น ไม่เช่นนั้นก็คงไม่สมบูรณ์
  • พิธีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่หรือการอาบน้ำให้ผู้ใหญ่ก็คงมีจุดประสงค์ เพื่อบำรุงเลี้ยงน้ำใจผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอาวุโสว่ามีลูกหลานรักเคารพ เอาใจใส่ ลุกหลานได้ตระหนักและใจใส่ทั้งในด้านจิตใจและสุขภาพต่อผู้ใหญ่ในบ้าน
  • นมัสการค่ะ

P

คนไม่มีราก

 

  • ประมาณนั้น

วัฒนธรรม คือ ขนบ ธรรมเนียม จารีต ประเพณี รวมถึงพิธีกรรมด้วย... จัดว่าเป็น ปรัชญาเชิงปฏิบัติ ดังนั้น จะศึกษาว่าคนกลุ่มไหนหรือสังคมใดมีแนวคิดเชิงปรัชญาอย่างไร ก็ให้พิจารณาที่วัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติของพวกเขา...

อีกนัยหนึ่ง ถ้าหากวิถีปฏิบัติเปลี่ยนไป อาจบ่งชี้ว่า่โลกทรรศน์หรือปรัชญาของสังคมนั้นเปลี่ยนไป...

เจริญพร

  • เห็นด้วยทุกประการค่ะ
  • สาธุ

นมัสการ...BM.chaiwut ค่ะ

น้องไก่ได้ไปร่วมงานทอดผ้าป่าที่ จ.พัทลุง มาค่ะ ทราบว่ามีพิธีบังสุกุลเป็นผู้สูงอายุ

แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ไปร่วม

เลยมาค้นหาข้อมูล ได้เจอบันทึกของหลวงพี่ น้องไก่ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ (ขออนุญาตินำข้อมูลนี้ไปอ้างอิงในบันทึกด้วยนะคะ)

P

น้องไก่ (ศวพถ.)

 

  • อนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง...

เจริญพร

ที่บ้านผม ที่ต.กระดังงา ทุกวันที่9 เดือน เมษายน จะมีการอาบนำ พ่อ และ แม่ทุกปี ผมได้อ่านแล้ว ทำไห้เข้าใจและได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท