สีพ่นใจ...


วันนี้ (๓ ธันวาคม ๒๕๕๑) เป็นอีกวันหนึ่งที่ได้เพิ่มเติมความรู้ทางโลกขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ “เรื่องสี...”

หลังจากมีโจทย์ที่ท่านพระอาจารย์ให้พ่นสี “เตาเผาศพ” ให้เป็นสีอื่นที่ดูสดใสกว่านี้ (สีเทา) เราจึงได้มีโอกาสศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เกี่ยวกับสีที่จะนำมาใช้ในงานครั้งนี้

หลังจากที่ได้พูดคุย ปรึกษาหารือได้ข้อสรุปข่าว ๆ ว่า เราจะใช้สีบรอนซ์ทองซึ่งเป็นสีพ่นรถยนต์มาพ่นตัวเตาเผาศพให้สีดูสว่างมากขึ้น

ตอนสาย ๆ วันนี้เราจึงได้มีโอกาสไป “ขอความรู้” จากช่างในอู่หน้าปากซอย ไปถามเขาว่าจะเอาสีอะไรมาทำเตาเผาศพนี้จึงจะดี เขาจึงอาสามาให้ความรู้พร้อมกับจะร่วมทำการกุศลคือมาพ่นเตาเผาศพให้เราฟรี โดยเราเป็นผู้จัดซื้อสี และเขาจะเอาอุปกรณ์มาพ่นให้ทั้งหมด

แต่ก่อนเราเคยได้ยินเขาเรียกกันแต่ว่าสี “รูไซด์” เราก็รูไซด์  ๆ ๆ ตามเขาไป วันนี้จึงได้รู้ว่าไอ้เจ้ารูไซด์นี้ก็คือ สีที่มีเกล็ดสะท้อนแสงยิบ ๆ  ๆ นี่เอง โดยเวลาซื้อสีก็บอกเขาเลยว่าจะเอาสีรูไซด์ เขาก็จะผสมนี้แบบนี้มาให้เลย

จากนั้นเราจึงคุยกันต่อว่าเราจะใช้สียี่ห้ออะไรจึงจะดี วันนี้เราเลยได้รู้จักทั้งสีตราพัด สีตราผึ้ง สีตรานกแก้ว และสีดูปองท์

ช่างทั้งสองคนพาเราออกไปซื้อสีที่ร้านผสมสีโดยแนะนำให้เราใช้สี “ดูปองท์” ตอนแรกตั้งใจว่าจะใช้สีตรานกแก้วแต่พอทราบว่าราคาแพงมากและในเชียงใหม่หาซื้อยากจึงตกลงปลงใจกับสี “ดูปองท์”

แต่เจ้าสีดูปองท์ราคาแพงไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ลิตรละ 850 บาท ส่วนสีตราผึ้งนั้นสามร้อยกว่าบาท ส่วนตรานกแก้วนั้นช่างบอกว่าสองถึงสามพันบาท

พอเลือกยี่ห้อได้ก็กำหนดสีให้เขา พอเขาเห็นสีเขาก็ทำท่างง ๆ เพราะงานนี้เราเอาเบอร์สีของสีตราผึ้ง (Nippon) มาซื้อสี “ดูปองท์” เขาก็เลยต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวคำนวณส่วนผสมสีดูปองท์ให้ได้เหมือนสีตราผึ้ง

แต่ประสบการณ์ยี่สิบปีของพี่ช่างคนนี้ไม่เบาเลย ผสมออกมาสีใกล้เคียงกับเบอร์สีในแคตตาล็อกมาก จากนั้นเขาก็ได้ทดลองพ่นสีลงในแผ่นเหล็กเล็ก ๆ ให้เราดู พอเราพอใจสีแล้วเขาจึงผสมสีให้ครบทั้งแปดลิตร

งานนี้ไม่ใช่มีเฉพาะค่าสีเท่านั้น ยังต้องมีสีรองพื้นซึ่งเราใช้สียี่ห้อธรรมดาคือสีตราพัดเป็นสีเหลืองไว้รองพื้น เนื่องจากสีเก่า (สีเทา) ที่ทามาจากโรงงานเป็นสี (1 Komponent) ที่ใช้น้ำมันสนเป็นส่วนผสม ดังนั้นจึงต้องใช้สีรองพื้นก่อน
เท่านั้นยังไม่พอยังต้องสีส่วนผสมซึ่งเป็นตัวเร่งของสีในระบบ 2K (2 Komponent) ซึ่งจะต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยา (Hardener หรือ Activator) เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งจะทำให้สีเกิดการแห้งตัว (Chemical Drying)

เท่านั้นก็ยังไม่พออีก ยังจะต้องมี “แลคเกอร์” ที่ใช้พ่นเพื่อเพิ่มความเงางามซึ่งก็มีหลายเกรด หลายยี่ห้อ อันนี้เราเองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเราจึงสอบถามทั้งพี่ช่างคนผสมสี (ไม่ใช่คนขาย ไม่ใช่เจ้าของร้าน) ซึ่งน่าจะได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะเขาไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับของที่เราซื้อ เขาจึงแนะนำให้ใช้แลคเกอร์ยี่ห้อเดียวกันกับสี คือ “ดูปองท์” จะเป็นเกรดที่ดีหน่อยและเข้ากันกับสีที่ผสมได้ออกมา

เท่านั้นก็ยังไม่พออีก ยังจะต้องมีทินเนอร์ไว้ใช้สำหรับล้างอุปกรณ์อีกหนึ่งปี๊บใหญ่ แผ่นพลาสติกใส กระดาษทราย โดยรวมราคาอุปกรณ์สีทั้งหมดวันนี้ประมาณหนึ่งหมื่นบาท

ในระหว่างนั่งรถกลับเรามีโอกาสได้คุยกับพี่ ๆ ช่างที่มาร่วมทำการกุศลในครั้งนี้ว่ารถคันหนึ่ง ๆ ใช้สีประมาณกี่ลิตร พี่เขาบอกว่าใช้ไม่ถึง 4 ลิตร แต่เจ้าเตาเผาศพของเรานี่ใหญ่มาก (พอ ๆ กับรถตู้โฟล์คคันหนึ่ง) จึงต้องใช้ 8 ลิตร พอทราบเรื่องนี้จึงทำให้คิดไปถึงว่า ที่จริงต้นทุนราคาสีที่พ่นรถคันหนึ่งพร้อมอุปกรณ์จริง ๆ แล้วก็ประมาณ 5 พันบาทเห็นจะได้ แต่ค่าใช้จ่ายตอนเปลี่ยนสีรถคันหนึ่งนั้นอู่บางแห่งคิดเราตั้งสองสามหมื่นบาท แล้วจากที่เราคุยกับพี่ช่างคนผสมสีเขาก็บอกว่าเจ้าดูปองท์นี่ก็แพงมากแล้ว ปกติไม่ค่อยมีใครใช้เท่านั้น เพราะแค่สีตราผึ้งลิตรละสามสี่ร้อยบาทอู่เขาก็บ่นกันมากแล้ว.... (อันนี้ไม่ต้องพูดถึงสีตรานกแก้วที่ลิตรละสองสามพันนะ)

งานนี้เราจึงได้เข้ามารู้จักงานและคนในอีกสายอาชีพหนึ่งที่ได้เปิดโลกทัศน์ของเราเพิ่มเติมขึ้น

พอกลับมาถึงเราก็ต้องเตรียมงานคือการติดกระดาษและเทปกาวเพื่อบังส่วนที่เราไม่ต้องการให้สีไปติด งานนี้เราจึงได้มีโอกาสอยู่ใน “เมรุ” คนเดียวจนถึงห้าทุ่มกว่า ๆ (ได้สร้างวิริยะบามีอย่างดีทีเดียว)

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือกระดาษที่เราใช้ในงานนี้เราเลือกใช้ก็กระดาษ “คลิปชาร์จ” ซึ่งต้องลงทุนไปซื้อมาแผ่นละ 2 บาท จำนวน 100 แผ่น แทนที่จะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า
เพราะว่าที่นี่เขาห้ามอ่านหนังสือพิมพ์ ถ้าเราไปเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาใช้ ถึงแม้ว่าจะเก่า แต่นั่นก็ถือว่าเป็นการนำยาพิษเข้ามาให้กับชุมชนนี้ เพราะนั้นจะเป็นการเปิดช่อง เปิดโอกาสให้เรื่องโลก ๆ เข้ามาในสังคมแห่งนี้มากขึ้น

งานนี้จึงเป็นงานที่ต้องคิดกันอย่างรอบคอบ และระมัดมะวังมากทีเดียว
พรุ่งนี้ (4 ธันวาคม 2551) จะต้องเจอกับทั้งงานพ่นสี พร้อมทั้งงานติดแกรนิตซุ้มประตู เพราะหินแกรนิตที่สั่งจากสระบุรีจะเดินทางมาถึง พรุ่งนี้คงจะต้องเป็นอีกวันหนึ่งที่ต้อง “ภาวนา” กันอย่างหนักเลยทีเดียว...

หมายเลขบันทึก: 227191เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2008 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท