ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับนรกและสวรรค์


ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับนรกและสวรรค์

ในครั้งพุทธกาล มีพวกเจ้าลัทธิ  นัตถิกทิฏฐิ”   และ  อุจเฉททิฏฐิ  เป็นกลุ่มที่มีทรรศนะปฏิเสธปรากฏการณ์ในโลก  นัตถิกทิฏฐิบอกว่า   ในโลกนี้ไม่มีอะไรเลย  อุจเฉททิฏฐิบอกว่า  สรรพสิ่งมีอยู่ในตอนนี้  แต่เมื่อแตกทำลายแล้ว   ย่อมสูญสิ้นทุกอย่าง พวกนัตถิกทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิปฏิเสธนรกและสวรรค์ด้วยเช่นกัน    แม้แต่บุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนายังมีข้อสงสัยว่า  นรกและสวรรค์มีจริงหรือไม่?  อาศัยการพยากรณ์ (ตอบ)  ของพระพุทธเจ้า  ทำให้ท่านเหล่านั้นหมดความสงสัยไปได้

คัมภีร์พระไตรปิฎกแสดงนรกและสวรรค์   ทั้งในฐานะเป็นสถานที่  และเป็นภาวะทางจิตใจ
 คัมภีร์โลกศาสตร์แสดงเฉพาะนรกและสวรรค์ในฐานะเป็นสถานที่  และแสดงพิสดารยิ่งกว่าในคัมภีร์พระไตรปิฎก  นี่แสดงให้เห็นว่า  ผู้ศึกษาเรื่องนรกและสวรรค์เริ่มมีความคิดเห็นคลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว  ทั้งนี้  อาจจะเป็นเพราะในพุทธศตวรรษที่  20  ได้มีการรจนาและศึกษาคัมภีร์ศาสนาอย่างกว้างขวาง  คัมภีร์เหล่านั้นเป็นของลัทธิพราหมณ์ก็มี  เป็นของพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็มี  แม้ผู้ศึกษาจะเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท (หินยาน)   แต่เมื่อเห็นข้อความในคัมภีร์ของลัทธิอื่นตรงกับข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นบางส่วนโดยเฉพาะเรื่องนรกและสวรรค์  เมื่อมีโอกาสรจนาคัมภีร์ขึ้น  ย่อมมีการผสมผสานข้อความจากแต่ละคัมภีร์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน  อย่างไรก็ตาม  แม้จะคลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์พระไตรปิฎกโดยเหตุที่พิสดารเกินไป  แต่ไม่ได้มีความขัดแย้งกันมากนักกลับสนับสนุนส่งเสริมกันและกันจนทำให้ภาพลักษณ์ของนรกและสวรรค์ชัดเจนยิ่งขึ้น  

แต่การที่ภาพลักษณ์ของนรกและสวรรค์พิสดารมากยิ่งขึ้นนี้  ไม่ได้หมายถึงว่าจะมีผลดีเสมอไป  อาจจะสร้างแนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่เพียงด้านเดียวแก่บุคคลบางคนได้  ทำให้เขาเกิดความยึดมั่นในความคิดเห็น (ทิฏฐิปาทาน)  ว่า  นรกและสวรรค์ในพระพุทธศาสนา หมายถึงสถานที่เสวยผลกรรมชั่วและกรรมดีของมนุษย์ภายหลังจากตาย  ไม่ได้หมายถึงภาวะทางจิตใจ  ความคิดเห็นอย่างนี้ย่อมไม่เป็นผลดีแก่ใคร เพราะจะทำให้เขามัวคิดถึงเฉพาะความสุขและความทุกข์ในโลกหน้า  ไม่อยู่กับปัจจุบัน

ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์เริ่มคลาดเคลื่อนไปอีกลักษณ์หนึ่งคือ  มีการแสดงเฉพาะนรกและสวรรค์ที่เป็นภาวะทางจิตใจในขณะปัจจุบัน ไม่ต้องการให้คิดและศึกษานรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่ในโลกอื่นที่จะไปเกิดหลังจากตาย  ทรรศนะอย่างนี้  แม้จะไม่ได้ปฏิเสธตรง ๆ แต่ก็เริ่มมีความเคลื่อนออกไปแล้ว   ทรรศนะฝ่ายที่มีท่าทีคล้ายจะปฏิเสธนรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่นี้ ยังสนับสนุนให้ศึกษาทฤษฏีภพ-ภูมิ-ปรโลก-โอปปาติกะเฉพาะในขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น  โดยอธิบายว่า

1.   ภพ คือ  ความมีความเป็นไปอยู่ในขณะปัจจุบันชาตินี้

2.   ภูมิ คือ  ระดับชั้นของจิตใจที่เป็นไปอยู่ในขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น

3.   โอปปาติกะ    คือ  การเกิดขึ้นทางจิตใจในขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น

4.   ปรโลก คือ  วินาที-นาที-ชั่วโมง-วัน-เดือน-ปีที่จะถึงต่อไปข้างหน้า

ทรรศนะอย่างนี้ย่อมมีผลดีแก่ผู้เข้าใจหลักการและเหตุผลในการนำเสนออย่างแจ่มชัดเพราะจะทำให้เขาอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น  มีกำลังใจที่สร้างความสุขขึ้นให้ได้ในขณะปัจจุบันโดยไม่รอถึงชาติหน้าภายหลังจากตาย แต่ข้อจำกัดของทรรศนะอย่างนี้  คือ  อาจจะทำให้ผู้ศึกษาตามอย่างผิวเผินซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เก็บเอาไปขยายความเพิ่มเติมในปฏิเสธมากขึ้นก็ได้  เพราะการอธิบายนรกและสวรรค์ในเชิงภาวะทางจิตใจ (นามธรรม) นี้  สามารถทำให้เห็นประจักษ์และเข้าใจได้ง่ายกว่าการอธิบายนรกและสวรรค์ในเชิงสถานที่ (รูปธรรม)  และเนื่องจากนรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่ไม่มีใครสามารถนำมาแสดงให้เห็นประจักษ์แก่กันและกันได้นี่เอง  จึงทำให้คนรุ่นใหม่อภิปรายถกเถียงกันตลอดมาว่ามีจริงหรือไม่  ?  ตั้งอยู่ที่ไหน ?  มีลักษณะอย่างไร ?”

ต่อปัญหานี้  ผู้เขียนเห็นว่า  การที่จะตอบปัญหานี้ให้ชัดเจนที่สุดได้  เราจำเป็นต้องศึกษาทฤษฏีอื่นประกอบด้วย  โดยเฉพาะทฤษฎีกำเนิด  4  ทฤษฏีเทพ  3  ทฤษฏีอภิญญา  6  ทฤษฏีกรรม และทฤษฏีการเกิดใหม่ในพระพุทธศาสนา  กำเนิด 4  คือ

1.  ชลาพุชะ หมายถึง สัตว์ผู้เกิดในครรภ์แล้วคลอดออกมาภายหลัง

2.   อัณฑชะ หมายถึง สัตว์ผู้เกิดในฟองไข่แล้วฟักออกมาภายหลัง

3.   สังเสทชะ หมายถึง สัตว์ผู้เกิดในเถ้าไคลหรือของสกปรกเฉอะแฉะ

4.   โอปปาติกะ หมายถึง สัตว์ผู้เกิดโตเต็มวัยทันทีโดยไม่อาศัยมารดาบิดา
(สังคีติสูตร  ,  ที.ปา. 11/263.  มหาสีหนาทสูตร ,  ม.มู. 12/654.)

จากการศึกษาตามพุทธฎีกา  กำเนิด 4  เป็นเรื่องของการเกิดทางรูปกายหรือรูปธรรม  ไม่ใช่การเกิดทางนามธรรม  โอปปาติกะกำเนิดเป็นกำเนิดของเทวดา  สัตว์ นรก  เปรต  อสุรกาย  และมนุษย์ยุคต้นกัปทฤษฏีกำเนิด  4  เราจะอธิบายในแง่นามธรรมก็ได้  โดยเฉพาะโอปปาติกะกำเนิด จะหมายถึงการเกิดความคิดขึ้นภายใจจิตใจซึ่งไม่ต้องอาศัยมารดาบิดก็ได้  เมื่อโอปปาติกะ  หมายถึงพวกเทวดา  สัตว์นรก  เปรต  อสุรกาย  และมนุษย์ยุคต้นกัปด้วย  ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ในชั้นนี้ว่า  เทวดาและสัตว์นรกมีอยู่จริง  และบ่งไปถึงนรกซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์นรกและสวรรค์ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกเทวดาว่า  มีอยู่จริงอีกด้วย  โดยเฉพาะในเรื่องเทวดานั้น  ในคัมภีร์พระไตรปิฎกแบ่งเทวดาออกเป็น  3  ประเภทคือ

1.  สมมติเทพ คือ พระราชา  พระราชินี  พระราชโอรส  พระราชธิดา

2.  อุปปัตติเทพ คือ พวกเทวดาโดยกำเนิด  เทวดาในสวรรค์

3.   วิสุทธิเทพ คือ พระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระสาวกพุทธเจ้า

(โสฬสมาณเวกปัญหานิทเทส , ขุ.จู. 30/654)

ถามต่อไปอีกว่า  เพราะเหตุไร  จึงมองไม่เห็นพวกเทวดาและสัตว์นรก ?”  ในคัมภีร์พระไตรปิฎกแสดงไว้อย่างชัดเจนว่า สัตว์ที่เกิดในโอปปาติกะกำเนิดเป็นพวกกายละเอียด  บุคคลผู้ได้อภิญญามีตาทิพย์เท่านั้นจึงจะมองเห็นสัตว์เหล่านี้ได้  อภิญญา  6  คือ

1.  อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่าง  ๆ  ได้

2.  ทิพพโสต ความรู้ที่ทำให้มีหูทิพย์

3.  เจโตปริยญาณ ความรู้ที่ทำให้กำหนดใจผู้อื่นได้

4.  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ทำให้ระลึกชาติได้

5.  ทิพพจักขุ ความรู้ที่ทำให้มีตาทิพย์
6.  อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

(ทสุตตรสูตร , ที.ปา. 11/431.  ทุติยอาหุเนยยสูตร , องฺ.ฉกฺก.22/273)

การทำทฤษฎีหลายทฤษฏีมาเชื่อมต่อกันอย่างนี้  เป็นคำตอบยืนยันได้ว่านรกและสวรรค์มีจริงสำหรับปัญหาที่ว่า  นรกและสวรรค์ตั้งอยู่ที่ไหน?  มีลักษณะอย่างไร ?  มีคำตอบบ้างแล้วในคัมภีร์โลกศาสตร์ซึ่งนำแนวคิดจากคัมภีร์อนุฎีกาวิภังคปกรณ์ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้หมดความสงสัยได้  ในทรรศนะของผู้เขียน   การที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายไม่ได้บอกที่ตั้งของเมืองนรกและเมืองสวรรค์ไว้ชัดเจนนั้น คงเป็นเพราะว่า  ในวิสัยของท่านเหล่านั้น  มันไม่มีปัญหาอะไร  นรกและสวรรค์เป็นองค์ประกอบของสังสารวัฏ  สังสารวัฏย่อมไม่มีบนไม่มีล่าง  การที่มนุษย์ยุคปัจจุบันกำหนดเป็นข้างบนและช้างล่าง  ว่าโดยปรมัตถ์แล้ว  เป็นเรื่องสมมติขึ้นเพื่อจะได้สื่อความหมายกันเข้าใจระหว่างชาวมนุษย์โลกด้วยกันเอง  เป็นข้อตกลงของชาวมนุษย์โลกเท่านั้น  พระอริยบุคคลท่านมองเห็นนรกและสวรรค์เป็นประจำ  จึงถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีบนไม่มีล่าง  แต่ข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกแสดงโดยนัยว่า  เมื่อเปรียบเทียบกันกับมนุสสภูมิ  เทวภูมิสูงกว่ามนุสสภูมิ  มนุสสภูมิสูงกว่านรกภูมิสวรรค์จึงต้องอยู่สูงเหนือเมืองนรกแน่นอน

นรกและสวรรค์เป็นข้อเท็จจริงเชิงปริยัติ

เกี่ยวกับนรกและสวรรค์ในฐานะที่เป็นสถานที่นี้  ทรรศนะที่คลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์พระไตรปิฎกทั้งที่เป็นไปในเชิงสนับสนุนแต่พิสดารเกินไปและเป็นไปในเชิงปฏิเสธโดยไม่ต้องการให้ศึกษาตามนี้  ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนแก่คนรุ่นใหม่อย่างแน่นอน

ผู้ที่มีความคิดเห็นค่อนข้างจะเชื่อมากอยู่แล้ว   เมื่อได้ศึกษาตามทรรศนะที่สนับสนุนนรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่  ยิ่งจะมีความเชื่อมากขึ้นจนกลายเป็น  ทิฏฐปาทาน (ความยึดมั่นในความเห็น)   อธิบายนรกและสวรรค์เฉพาะในแง่ที่เป็นสถานที่หรือเป็นดินแดน และประฌามทรรศนะที่เห็นผิดไปจากตน  

ส่วนผู้ที่ไม่ค่อยเชื่ออยู่แล้ว  เมื่อได้ศึกษาตามทรรศนะเชิงปฏิเสธ  ยิ่งจะทำให้คลายความเชื่อลงไปจนโน้มเอียงไปข้าง  นัตถิกทิฏฐิ คือ  เห็นว่าไม่มีอะไร  โลกหน้าไม่มี ซึ่งจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทหนึ่ง  


เรื่องนรกและสวรรค์จึงไม่ควรนำมาวิจารณ์หรืออธิบายให้คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกมากเกินไป  แต่เป็นเรื่องที่ควรศึกษามาให้รู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

ในทางพระพุทธศาสนา  มีลัทธรรมซึ่งหมายถึงธรรมอันดีหรือธรรมของสัตบุรุษ  ถือเป็นแก่นของศาสนา  3  ประเภท คือ

1. ปริยัติสัทธรรม  สัทธรรมคือคำสอนอันจะต้องเล่าเรียน  ได้แก่  พระพุทธพจน์  ข้อเท็จจริงทั้งหลายในคัมภีร์พระไตรปิฎก

2. ปฏิบัติสัทธรรม  สัทธรรมคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ  ได้แก่  อัฏฐังคิกมรรคหรือไตรสิกขา คือ  ศีล  สมาธิ ปัญญา

3. ปฏิเวธสัทธรรม  สัทธรรมคือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ  ได้แก่  มรรคผล  นิพพาน

เรื่องนรกและสวรรค์จัดอยู่ในหมวดปริยัติสัทธรรม  คือ เรื่องดีงามหรือเรื่องของสัตบุรุษที่ควรศึกษาตามจุดมุ่งหมายของปริยัติคือการก้าวเข้าไปและศึกษาปัญหาข้อเท็จจริงทั้งหลาย ปริยัติต้องก้าวเดินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง  มีประเด็นปัญหาใดที่น่าสนใจหรือยังหาคำตอบไม่ได้หรือได้ไม่เป็นที่พอใจ หลักการของปริยัติคือต้องศึกษาประเด็นปัญหานั้นให้ลึกซึ้งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  แม้แต่อัฏฐังคิกมรรค (มรรคมีองค์ 8) มรรค ผล และนิพพาน  ก็สามารถจัดเข้าในหมวดปริยัติสัทธรรมได้  แต่เป็นหลักการที่ต้องลงมือปฏิบัติจริง ๆ  หลังจากที่ได้ศึกษามาพอสมควร  และมีปฏิเวธสัทธรรมเป็นจุดหมายที่ดำรงอยู่รองรับผู้ปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรค

นักปรัชญาทุกสาขาย่อมมีทรรศนะว่า  ความเชื่อและความไม่เชื่อตามเรื่องใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับภูมิปัญญา  บริบทของสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล   แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์สูงสุดทางศาสนานั้น  นับว่าเป็นเรื่องที่ควรศึกษาตาม ในเชิงวิชาการ  แม้แต่เรื่องที่ถูกประฌามว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ยังเป็นเรื่องที่ควรศึกษาตาม  เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างไร?   เพราะเหตุไรจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิแต่จุดมุ่งหมายและวิธีการของนักปรัชญาที่ว่านี้ก็มีข้อจำกัดอยู่คือเมื่อผ่านการศึกษามามาก  ย่อมมีโอกาสพลัดตกไปข้าง ทิฏฐปาทาน  ได้ง่าย  ผู้ที่ผ่านการศึกษามามากมักจะยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีเกินไป  จนเกิดเป็นความสำคัญตน  ไม่ยอมรับคำสอนของผู้อื่นโดยดี  ความรู้ตามคัมภีร์อย่างเดียว ไม่สามารถจะทำให้พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏได้  พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลผู้ศึกษาแต่คัมภีร์อย่างเดียวโดยไม่หมั่นฝึกอบรมจิตของตนว่า เป็นเหมือนใบลานเปล่า  โดยเคยตรัสเรียกพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกรูปหนึ่งชื่อ  โปฐิละว่า  

มาเถิดคุณใบลานเปล่า ,  นั่งเถิดคุณใบลานเปล่า,  ไปเถิดคุณใบลานเปล่า , คุณใบลานเปล่าไปแล้ว  ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระภิกษุรูปนั้นว่า  ใบลานเปล่า  เพราะท่านรูปนั้นเรียนรู้ข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกมาก  แต่ไม่ปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง  เพราะฉะนั้นการจะพิสูจน์เรื่องนรกและสวรรค์ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงปริยัติให้ประจักษ์ชัด     จึงต้องศึกษา  (เน้นปริยัติ)  และลงมือปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์  8  (เน้นปฏิบัติ)  เพื่อให้บรรลุถึงมรรคผล  นิพพาน  เป็นผู้หมดกิเลสมีความบริสุทธิ์ทางกาย  วาจา  และใจ  มีศักยภาพเพียงพอที่จะรู้เห็นสิ่งที่อยู่เหนือสามัญสำนึกของมนุษย์ปุถุชนได้

หมายเลขบันทึก: 215797เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วทำให้กลัวไม่กล้าด่าเพื่อนเลยคะกลัวตกนรก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท