BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๔


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๔

สำหรับหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะพึงปฏิบัติต่อลูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสิงคาลกสูตรว่า.... 

ดูกรลูกนายบ้าน มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ

  • ห้ามจากความชั่ว ๑
  • ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑
  • ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๑
  • หาภรรยาที่สมควรให้ ๑
  • มอบทรัพย์ให้ในสมัย ๑

อรรถกถาขยายความไว้ว่า พ่อแม่ย่อมกล่าวโทษแห่งความชั่วที่จะพึงเกิดขึ้นในชาตินี้และชาติหน้า จึงห้ามลูกจากความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ พูดเท็จ หรือลักขโมย เป็นต้น... แล้วก็ตำหนิ ติเตียน ดุด่า หรือลงโทษ เมื่อลูกทำความชั่วเหล่านั้น... ทำนองนี้เรียกว่า ห้ามจากการทำความชั่ว

ในข้อที่สองคือ การให้ลูกตั้งอยู่ในคุณความดี นั้น ท่านขยายความว่า บางครั้งพ่อแม่ก็ยอมจ้างลูกเพื่อจะได้ตั้งอยู่ในคุณความดี โดยท่านยกตัวอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่จ้างลูกชายให้ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ดังนั้น เราลองไปดูเรื่องย่อเล็กน้อย...

อรรถกถาธรรมบท.... เศรษฐีมีลูกชายชื่อนายกาล ซึ่งขาดศรัทธา ไม่ชอบไปวัดรับศีล ฟังธรรม หรือถวายทาน รวมทั้งมีความเห็นผิดอื่นๆ อีกด้วย... ท่านเศรษฐีเกรงว่าลูกจะตกอบายภูมิ จึงจ้างลูก ๑ พัน ให้ไปรักษาอุโบสถศีลที่วัด.... หลังจากย้ำข้อตกลงกับพ่ออย่างจริงจังแล้ว นายกาลก็ไปวัดเพื่อรักษาอุโบสถศีล แต่ก็มิได้ร่วมฟังธรรมหรือปฏิบัติเหมือนคนอื่น พอไปถึงก็หาที่เหมาะๆ นอน ตอนเช้าจึงกลับมาบ้าน รับค่าจ้างจากพ่อ....

ท่านเศรษฐีรู้ว่ายังไม่ได้ผล อีกวันจึงจ้างใหม่... ครั้งนี้ จ้างอีก ๑ พัน เพื่อให้ลูกจำคาถามาบทหนึ่งจากพระพุทธเจ้า... เขาจึงไปวัดอีกครั้ง ตอนแรกคิดว่า พอจำบทหนึ่งก็เลิกฟัง แต่ก็ไม่จำ จึงคิดว่าจะฟังบทต่อไปให้จำ... พออีกบทก็ไม่จำ จึงคิดว่า จะท่องบทต่อไปให้จำ... เมื่อยังไม่จำ เขาก็ต้องตั้งใจฟังเพื่อจะได้กำหนดจดจำให้ได้ การที่เขาต้องตั้งใจฟังอย่างจริงจัง ทำให้ค่อยๆ เข้าใจและบรรลุโสดาบันซึ่งเป็นคุณธรรมเบื้องต้นในที่สุด...

เรื่องมีอีกยาว ผู้สนใจอ่านต่อได้ที่ http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=23&p=11

อนาถปิณฑิกเศรษฐีในฐานะเป็นพ่อ จึงจ้างลูกไปฟังธรรม..เรื่องราวทำนองนี้เป็นน้ำใจของพ่อจากคัมภีร์.. และเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่า ความเป็นพ่อแม่ที่หวังให้ลูกทำความดีหรือเป็นคนดียังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย เช่น พ่อแม่มักจะให้เงินลูกเล็กๆ ทำบุญในวันหรือโอกาสสำคัญ... และเมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่บางครอบครัวก็จ้างลูกที่ขี้เกียจและค่อนข้างโง่ไปเรียนพิเศษ แล้วยังตั้งรางวัลเพิ่มเติม เมื่อได้คะแนนสูงขึ้น เป็นต้น

ผู้เขียนคิดว่า ความสำนึกของพ่อแม่ที่ต้องการใ้ห้ลูกหลีกห่างจากความชั่วและเป็นคนดี คงจะมีต่อไปทุกยุคสมัย.... 

.......

ข้อที่สามคือ ให้ศึกษาศิลปวิทยา  ชัดเจนแล้ว แต่ผู้เขียนก็สังเกตได้เหมือนกันว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง พ่อแม่บางคนก็มิได้ส่งเสริมให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียนเท่าที่ควร ข้อนี้อาจเป็นเพราะพ่อแม่บางคนมีความเห็นผิดก็ได้...

ในนิทานหิโตปเทสตอนเริ่มเรื่องจะเน้นประเด็นนี้มาก โดยกล่าวตำหนิว่า พ่อแม่ถ้าปิดกั้นไม่ให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน จัดเป็นไพรีหรือศัตรูของลูก .... และได้แนะำนำว่าพ่อแม่จำเป็นจะต้องให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียนดังโศลกที่ว่า

  • ไม่มีลูก ๑ มีลูกแต่ตายไปแล้ว ๑ ลูกโง่ ๑ สามประการนี้ ควรเลือกเอาสองประการแรก เพราะเป็นทุกข์เพียงครั้งเดียว ส่วนประการสุดท้ายคือลูกโง่นั้น จำต้องเป็นทุกข์ร่ำไป....

อีกอย่างหนึ่ง พ่อแม่ แม้จะมีหน้าที่ว่า ห้ามลูกมิให้ทำความชั่ว ให้ทำแต่ความดี... แต่ในหน้าที่ของลูก (ดู เล่า... ๒๓) ไม่มีข้อว่าจะต้องเชื่อฟังและทำตามพ่อแม่ มีเพียงว่าให้ทำตัวเหมาะสมเพื่อควรแก่การรับทรัพย์มรดก เท่านั้น

ประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่า เพราะลูกบางคนอาจเป็น อภิชาตบุตร กล่าวคือ เป็นผู้มีความคิดความอ่านยิ่งกว่าพ่อแม่ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อตามพ่อแม่สอน นั่นคือ ระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่า ลูกจะต้องเชื่อและทำตามพ่อแม ... แต่พระองค์ทรงสอนว่า ลูกจะต้องทำตัวให้เหมาะสมกับพ่อแม่ เพื่อควรแก่การรับทรัยพ์มรดก และจะต้องดำรงวงศ์ตระกูลไว้... ซึ่งประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่า เป็นความลุ่มลึกของคำสอน....

...................

ข้อว่า จัดหาภรรยาที่สมควรให้ ท่านขยายความว่า ภรรยาควรจะเป็นผู้เหมาะสมกับบุตร ด้วยฐานะ ตระกูล อุปนิสัย เป็นต้น... กรณีนี้เป็นทำนองโบราณ แต่ปัจจุบัน พ่อแม่ก็มักจะพิจารณาตรวจสอบเพื่อนต่างเพศของลูกว่า ผู้นี้สมควรกับลูกของตนหรือไม่ เพื่อจะได้จัดการให้ตามความเหมาะสม... ประมาณนี้

และข้อสุดท้ายว่า มอบทรัพย์ให้ในสมัย ท่านแก้ว่า สมัยมี ๒ อย่าง คือ นิจสมัย คือ พ่อแม่ก็ให้ทรัพย์สมบัติต่อลูกตั้งแต่เล็กๆ จนเติบโตตามความเหมาะสม.... และ กาลสมัย คือ บางครั้งลูกอาจเจ็บไข้ไม่สบายใกล้ตาย พ่อแม่ก็ควรจะให้ทรัพย์สมบัติต่อลูกในโอกาสนี้เพื่อจะได้ทำบุญกุศลสะสมไปในชาติหน้า.... ประมาณนี้

.....

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสหน้าที่ของลูกและพ่อแม่แล้ว ก็ได้สรุปอีกครั้ง ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อในตอนต่อไป... 

 

หมายเลขบันทึก: 139446เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2007 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • นมัสการหลวงพี่ พ่อ แม่ คือดวงใจ
  • เป็นครูผู้สอนสั่ง
  • เป็นทั้งแนวทางปฏิบัติที่ดีงาม
  • พ่อ แม่ สูงยิ่งใหญ่เกินกว่าใคร

 --/\--  กราบนมัสการค่ะ

 ระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่า ลูกจะต้องเชื่อและทำตามพ่อแม ... แต่พระองค์ทรงสอนว่า ลูกจะต้องทำตัวให้เหมาะสมกับพ่อแม่ เพื่อควรแก่การรับทรัยพ์มรดก และจะต้องดำรงวงศ์ตระกูลไว้...

ตระหนัก และซาบซึ้งมากค่ะ 

มนัสการค่ะ    --/\--

P

พัชรา

เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งอาตมาตั้งประเด็นนี้ขึ้นเอง เมื่อหลายปีก่อน...

็ลองคุยกับเพื่อนๆ และผู้รู้บางท่านเกี่ยวกับประเด็นนี้....

แต่ ก็ยังไม่มีใคร คัดค้านหรือให้ความเห็นแย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้....

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท