BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปฐมพุทธพจน์ (ต่อ)


ปฐมพุทธพจน์

 ปฐมพุทธพจน์ ในคาถาแรกว่า...

อะเนกชาติสังสารัง สันธาวิสสัง อะนิพพิสัง

คะหะการัง คะเวสันโต ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง

ข้าพเจ้าเมื่อยังไม่พบ แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างสร้างเรือน ได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสารเป็นอเนกชาติ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์

ซึ่งผู้เขียนได้ขยายความไปแล้วในครั้งก่อน ดังนั้น ครั้งนี้จะเริ่มด้วยคาถาที่สองว่า...

คะหะการะกะ ทิฎโฐสิ ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ

สัพพา เต ผาสุกา ภัคคา คะหะกูฎัง วิสังขะตัง

เจ้าคนสร้างเรือน ! เจ้าถูกเราเห็นเสียแล้ว.. เจ้าสร้างเรือนให้เราไม่ได้อีกแล้ว (เพราะ) โครงเรือนทั้งหมดเหล่านั้น ถูกเราหักเสียแล้ว...ยอดเรือนก็ถูกเรารื้อเสียแล้ว

ขยายความได้ว่า ใจของเราที่ส่ายไปหาสิ่งโน้นสิ่งนี้ แต่เราไม่รู้ว่า ทำไมใจของเราจะต้องเป็นอย่างนั้น กล่าวคือ เหตุไฉนใจของเราจะต้องส่ายไปหาสิ่งต่างๆ ตลอด เหตุไฉนใจของเราจึงไม่นิ่งสนิท ...ต่อมาก็รู้ว่า สิ่งที่เป็นตัวผลักดันให้เราต้องสอดส่ายไปหาสิ่งโน้นสิ่งนี้ก็คือ ความทะยานอยากนี้เอง นั่นคือ ความทะยานอยากจะเป็นตัวขับให้ใจของเราต้องสอดส่ายไปหาสิ่งต่างๆ... ซึ่งความทะยานอยากเรียกตามศัพท์ธรรมะว่า ตัณหา....

นายช่างสร้างเรือน เป็นอุปมาที่เปรียบเทียบไปถึง ภวตัณหา นั่นคือ ความทะยานอยากที่จะเป็นอย่างนั้น ที่จะเป็นอย่างนี้ กล่าวคือ ใจของเราจะจินตนาการถึงความมีความเป็นของตัวเราเอง กำหนดตัวเราเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ หรืออย่างโน้นอยู่เสมอ...

เจ้าถูกเราเห็นเสียแล้ว หมายถึงว่า เมื่อระลึกได้และรู้ว่าเจ้าความทะยานอยากนี้เองเป็นพลังผลักดันให้ใจของเราต้องสอดส่ายไปเพื่อจะมีหรือจะเป็นสิ่งโน้นสิ่งนี้ อย่างนี้อย่างนั้น ซึ่งเป็นประดุจนายช่างที่จะเสนอให้เราสร้างเรือนแบบนั้นแบบนี้อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า... 

เจ้าสร้างเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป นั่นคือ การปฏิเสธต่ออำนาจของนายช่างสร้างเรือนหรือความทะยานอยาก และการยืนยันความเป็นอิสระแห่งใจว่า ต่อไปนี้ ความทะยานอยากจะไม่มีอำนาจคอยชักจูง ชักชวน หรือเป็นพลังขับเพื่อให้เราเป็นโน้นเป็นนี้อีกต่อไป....

โครงเรือนถูกหัก ยอดเรือนถูกรื้อ หมายถึง การบ่งบอกว่าอุปกรณ์ของเรือน ซึ่งเป็นประดุจเชื้อแห่งความทะยานอยากที่นอนเนืองอยู่ภายในใจได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว...

ยังมีบรรทัดสุดท้ายที่เป็นบทสรุปปฐมพุทธพจน์ ซึ่งจะนำมารวบยอดอีกครั้ง

คำสำคัญ (Tags): #ปฐมพุทธพจน์
หมายเลขบันทึก: 87610เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2007 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรือน เป็น ความทะยานอยาก

ช่าง เป็น ภวตัณหา 

ความทะยานอยาก ต่างจาก ภวตัณหา อย่างไรครับ? หรือว่า อภวตัณหา + ภวตัณหา = ความทะยานอยาก? 

P

เรือน เปรียบเหมือน ภพ

ภพ ภาวะ ภวะ แปลเหมือนกันว่า ความมีความเป็น

ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก

การที่เราต้องการเป็นอย่างโน้นอย่างนี้  เรียกว่า ภวตัณหา

ภวตัณหา จึงเปรียบดัง นายช่างสร้างเรือน

อภวตัณหา คือ ความทะยานอยากที่จะไม่เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้ หรือการต้องการสลัดออกจากความมีความเป็นอย่างนั้นๆ หรือต้องการทำลายเรือนที่อาศัยอยู่

อีกอย่าง กามตัณหา คือ ความทะยากอยากที่จะได้สิ่งโน้นสิ่งนี้... ทำนองการต้องการครอบครองสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้เป็นเจ้าของ

ทั้ง ๓ ตัณหานี้ ภวตัณหา เป็นแก่นหลัก...

เจริญพร

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท