เรื่องของสะพานไม้ที่ผม "หลงรัก" ของอ.แผ่นดิน


เชิญชวนอาจารย์แผ่นดินคุยต่อยอด สะพานไม้อันน่าหลงรัก

สวัสดีครับ...
 
เรื่องของสะพานไม้ที่ผม "หลงรัก" นั้น
ถือเป็นเกียรติสำหรับผมที่มีคนนำไปบอกเล่ากันต่อๆ กันไปนะครับ
 
วันก่อนผมได้รับเมล จากเด็กคนหนึ่งที่ตอนนี้ไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ
เขาคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของเขามาก
ยิ่งมาเจอเรื่องราวหมู่บ้านของตัวเองในบันทึกผม..
ก็ยิ่งคิดถึงบ้าน..
เป็นการคิดถึง ที่ทำให้เขามีพลังที่ใช้ทำงานเลี้ยงตัวเอง
เขาจากบ้าน-เพราะความยากจน โดยแท้
 
นั่นคือ..
พลังชีวิตที่ผมได้รับ...
เฉกเช่นการได้รับในเรื่อง "สะพานไม้" ....ในวันนี้ด้วยเช่นกัน
 
สุขภาพกายและใจ...แข็งแรงๆ นะครับ

 

*****                   *****                     *****

 

ข้างบนเป็นจดหมายเมล์ตอบอนุญาต กลับมาจากอาจารย์พนัส (อ.แผ่นดิน) เรื่องสะพานไม้ ซึ่งดิฉันไปอ่านในบันทึกแล้วติดใจ อยากนำบันทึกบางส่วน ภาพที่สวย สะดุด ฉุดพาเรากลับไปหวนคำนึงถึงอดีต จึงเชื้อเชิญ(ฉก)มาใน บล็อกสนทนาวิสาสะ

 

ใช่แล้วค่ะ  ในอดีตดิฉันเคยคุ้นกับสะพานไม้อยู่บ้าง เป็นสะพานที่ทอดตัวจากริมหมู่บ้าน หรือ กล่าวได้ว่า ข้าง ๆ หมู่บ้านริมทะเลชายเลนของเพื่อน ๆ วัยเด็ก เป็นสะพานปลา สะพานที่ชาวประมงท้องถิ่น จะนำเรือมาจอด โดยเริ่มลงเดิน..ลากจูง..ตั้งแต่รอยต่อของชายทะเลต่อกับแผ่นดิน..ลากจูงเรือหาปลาลำน้อยของเขามาที่ริมหาดทรายซึ่งแถว ๆ บริเวณหมู่บ้านที่ดิฉันมีภูมิลำเนาอยู่เป็นชายหาดแบบชายเลน

 

เขานำปลาตัวเล็กตัวน้อยมาขายชาวบ้านก่อน ปลาที่ตัวโต งาม ๆ เก็บไว้ขายร้านอาหาร หรือ ระบบตลาดซื้อขายส่งเป็นอย่างไร เรายังเด็กนัก จึงไม่ทราบ

 

พ่อของดิฉันมักพาดิฉันไปดู และซื้อเหมามาในราคาไม่แพง นำมาปรุงอาหาร สำหรับลูก ๆ ซึ่งมีหลายคน..

 

ดูภาพ อ่านบันทึก อาจารย์แผ่นดินดีกว่า ภาพสวย คำไพเราะค่ะ

 

 

*****                   *****                     *****

สะพานไม้.. สะพานที่ผมหลงรักอย่างไม่ลังเล

ไม่รู้อะไรกันนักหนา..ผมหลงรักสะพานไม้เป็นชีวิตจิตใจ  รักและหลงรักราวกับชายหนุ่มต้องมนต์เสน่ห์ของหญิงสาวคนรักผู้เป็นยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง

 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ที่เดินทางไปราชการประสานงานการลงพื้นที่ของนิสิตที่บ้านแกดำ  หมู่ที่  1  (เทศบาลตำบลแกดำ  อ.แกดำ  จ.มหาสารคาม)  มีโอกาสยลโฉมสะพานไม้ที่ทอดตัวอย่างทระนงจากฟากหนึ่งไปสู่อีกฟากหนึ่งของหนองน้ำแกดำที่น่าจะมีความยาวราว ๆ เกือบ  1 กิโลเมตร

    

จากปากคำของผู้เล่าในห้วงสั้น ๆ  ผมรับรู้ได้อย่างผิวเผยว่าสะพานไม้นี้น่าจะมีความยาวที่สุดในบรรดาสะพานไม้ที่พบในจังหวัดมหาสารคาม  อีกทั้งยังน่าจะมีอายุเก่าแก่ยาวนานไม่ต่ำกว่า  20  กว่าปี  หรืออาจจะมากกว่านั้นเป็นเท่าตัว !

สะพานไม้ดูขรึมขลัง  ซ่อนแฝงความอบอุ่นและอ่อนโยนราวกับชายชราผู้เอื้ออาทรต่อบุตรหลาน  ..แข็งแรงและสง่างามอย่างน่าประทับใจ !

 

ผมพยายามเลียบ ๆ เคียง ๆ  ถามซ้ำถึงที่มาที่ไป  กระนั้นก็ยังไม่มีใครบอกกล่าวเล่าแจ้งถึงการเกิดขึ้นของสะพานไม้นี้ได้อย่างชัดเจน   หากแต่ยืนยันกับผมว่าทันทีที่คณะนิสิตลงสู่พื้นที่   ปากคำประวัติศาสตร์ในเรื่องของสะพานก็จะแจ่มชัดขึ้นอย่างแน่นอน

    

อย่างไรก็ดีผมก็พอรู้มาบ้างว่าสะพานนี้เชื่อมระหว่างชุมชนบ้านแกดำกับบ้านเขวาที่อยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของหนองน้ำแกดำ  (ระยะหลังเรียกอ่างเก็บน้ำแกดำ)  สร้างขึ้นโดยอดีตนักการเมืองรุ่นเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่ในละแวกนี้ 

 

สะพานไม้ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นเส้นทางสัญจรที่เชื่อมโยงให้คนสองฟากฝั่งได้ผูกพันและไปมาหาสู่กันอย่างสนิทชิดเชื้อ  .. จากรุ่นสู่รุ่น  จากวันสู่วัน  จากเดือนสู่เดือนและจากปีสู่ปีอย่างไม่ลบเลือน

  

วันนั้นในห้วงเวลาสั้น ๆ  ผมไม่ลังเลที่จะก้าวเดินไปตามแผ่นพื้นไม้กระดานที่ทอดกายเรียงรายรองรับวิถีสัญจรอันยาวเหยียด   บางแผ่นยังคงชิดติดแน่น  บางแผ่นแหว่งโหว่สุ่มเสี่ยงต่อการพลัดตกลงสู่ห้วงน้ำ  ขณะที่เสาสะพานที่เป็นท่อนไม้ต่างขนาดก็ยังคงปักดิ่งลงสู่ท้องน้ำเรียงรางเป็นทิวแถวยาว  ....บ้างมั่นคงแน่นหนา   บ้างโยกไหวโอนเอน ...

ผมยืนนิ่งซึมซับในวิถีนิ่งสงบของท้องน้ำและสะพานอันขรึมขลังอย่างมีความสุข  ลมแล้งอันเบาสบายพัดพาความเย็นชื้นมาเยือนอย่างไม่ขาดห้วง  ผมเหลือบเห็นนกน้ำหลายตัวบินโฉบร่อนลงกลางแพผืนของผักตบชวา  หมู่ปลาตัวน้อยแวกว่ายในน้ำใสอย่างน่าเอ็นดู  ....ขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังสัญจรผ่านไปมาบนสะพานไม้อย่างมีความสุข ...

    

 

ผมหลงรักสะพานไม้อันสง่างามนี้ยิ่งนัก   รักและหลงรักอย่างไม่ลังเลถึงเหตุและผล....

ไม่นานนักหรอกที่ผมจะไปเยือนที่นี่อีกครั้ง...   พร้อมกับใช้เวลาอันมากมายเพื่อให้หัวใจของตนเองได้มีเสรีต่อการสัญจรไปบนบนสะพานทีละก้าว ทีก้าว... 

รวมถึงการพลิกย้อนไปสู่ต้นตำนานการก่อเกิดของสะพานแห่งนี้ร่วมกับชาวบ้านอย่างเป็นทางการอีกสักครั้ง

 

 

หมวดหมู่: เรื่องทั่วไป
คำสำคัญ: บ้าน วิถีทุ่ง คนที่รักและความทรงจำไม่รู้จบ
สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ *เรียนขออนุญาตแล้วค่ะ

สร้าง: พ. 28 มี.ค. 2550 @ 22:28   แก้ไข: พ. 08 ส.ค. 2550 @ 02:53   ขนาด: 14787 ไบต์

 

หมายเลขบันทึก: 260301เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2009 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ขอบคุณมากๆ ครับ..ที่นำพาบันทึกนี้กลับมาอีกหน...
ภาพต่อจากนี้  เป็นภาพที่ผมบันทึกไว้เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา...
ผมกลับไปเยี่ยมและติดตามการใช้ประโยชน์ของศาลาที่ตั้งอยู่ริมน้ำ
วันนั้น-ฝนโปรยสายเป็นระยะๆ

จนบัดนี้ ผมก็ยังหลงรักสะพานไม้ในทุกๆ แห่งที่พบเจอมา..

ส่วนภาพจากนี้ เป็นภาพที่ไปเจอแถวอำนาจเจริญ ...

http://gotoknow.org/blog/pandin/233291

 

ขอบคุณครับ

  • ประทับใจกับสะพานไม้...  เห็นแล้วเหมือนต้องมนต์จริงๆ ด้วยค่ะ
  • สะพานไม้ดูขรึมขลัง  ซ่อนแฝงความอบอุ่นและอ่อนโยนราวกับชายชราผู้เอื้ออาทรต่อบุตรหลาน  ..แข็งแรงและสง่างามอย่างน่าประทับใจ !

แวะมาชมสะพานไม้..ซึ่งณ เวลานี้เหลือน้อยมากมากนะคะ

ประทับใจกับสะพานไม้...  เห็นแล้วเหมือนต้องมนต์จริงๆ ด้วยค่ะ

 P. Sila Phu-Chaya ดีใจค่ะ ที่มีคนหลงรัก ประทับใจสะพานไม้เหมือนเรา

อาจารย์แผ่นดินคะ มีแฟนคลับ สะพานไม้ เพิ่มอีกแล้วค่ะ

 

P   แผ่นดิน อาจารย์คะ ภาพที่มาเพิ่ม ยิ่งเพิ่มมนต์เสน่ห์สะพานไม้ นะคะ  เสียดายว่าในคลังภาพของดิฉันเองยังไม่มีเลยค่ะ

มีภาพนี้ แนบมาให้ก่อนนะคะ  ของเพื่อนค่ะ ที่ไหนยังไม่ได้ถาม

 

ตามมาอ่าน เพราะเห็นพูดถึง อ.แผ่นดิน

รูปสะพานสวยดี ชอบดูธรรมชาติค่ะ

P berger0123 ตามไปฟังเพลงแล้วค่ะ

"ซื่อตรงต่อเวลา"..อืม..ความหมายดี๊ดี..

P

addขอโทษน้องแอ๊ด ที่ตอบช้ามาก ๆ

วันนี้คิดถึงสะพานไม้..จึงเพิ่งมาตอบ

ค่ะ สะพานไม้น้อยลง ๆ

แถวนครชัยศรี ที่พี่เล็งไว้อีกแห่งคือ สะพานสูงเหนือแม่น้ำนครชัยศรี

เมื่อไหร่ที่เลิกผัดผ่อนตัวเอง มีเวลาพอสมควร(ทางเข้านครชัยศรีทำถนนค่ะ รถติดเชียวค่ะ)จะโพสต์ภาพมาโชว์ค่ะ

ดิฉันเป็นชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่ที่ 1 ต.แกดำ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม สะพานไม้แห่งนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของหมู่บ้านนี้ก็ว่าได้ ถ้าไม่นับหลวงปู่จ้อย ปัจจุบันดิฉันอายุเกือบจะสี่สิบอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า พอจำความได้ ดิฉันก็เห็นสะพานไม้แห่งนี้แล้ว หากนับว่าสะพานนี้มีอายุเท่ากับตัวเองนั้นยังคงน้อยไปอีกด้วยซ้ำ สะพานไม้เคยมีผู้บริหารบ้านเมืองบางคนอยากจะรื้อทิ้ง เพราะเห็นว่าไม่สวยงาม บดบังทัศนียภาพของหนองน้ำแห่งนี้ แต่หารู้ไม่ว่าหากหนองน้ำแกดำแห่งนี้ไม่มีสะพานไม้นี้ ก็จะทำให้หนองแห่งนี้ไม่มีชีวิตชีวาอีกต่อไป แต่ก็ไม่อาจต้านแรงชาวบ้านที่ไม่ยอมให้เส้นทางชีวิตของพวกเขาถูกทำลายได้ บางครั้งสะพานอาจจะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่พวกเราชาวบ้านที่นี่ก็จะร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมแซมอย่างไม่รีรอที่จะของบประมาณจากทางการมาช่วยเหลือ เพราะสะพานแห่งชีวิตของพวกเขา จะต้องอยู่ต่อไปคู่กับชุมชนแห่งนี้

  ศิริพร โยทะคง  ขอขอบคุณค่ะที่มาฝากข้อมูลไว้ที่นี่

 

ชอบสะพานไม้นี้มาก อ่านพบแล้วรักต้องตามไปขอผู้บันทึก อาจารย์แผ่นดิน นำมาไว้ในสมุดของเราเอง

 

ขนาดนั้นเลยค่ะ

เรียนอาจารย์ หาเจอแล้ว....แต่การแลกเปลี่ยนคงไม่เหมือรเดิม เพราะเขียนใหม่

ภาพสะพานที่นำมาให้ชม "สวยลึก งามล้ำ"

เด็กบ้านนอก หรือเด็กริมคลองล้วนผ่านประสบการณ์กับสะพาน

สะพานคือแหล่งรวมใจของหมู่บ้าน สร้างทำสะพานสัญจรแต่ละครั้งจะเห็นความร่วมมือของคนในชุมชน (สะพานส่วนรวม

สะพานส่วนตัว สะพานไม้หมาก อายุการใช้งานปีเดียวตามฤดู"หยาม"

สะพานอกแตก คือสะสะพานที่ทอดไม้สองข้างประมาณล้อรถสองข้างผ่านได้ ตรงกลาง ปล่อยว่าง

(เกิดอุบัติเหตุจากสะพานอกแตกปล่อยครั้ง ที่พลัดตกไปกลางสะพานทั้งคนทั้งรถ)

สะพานไม่ว่าเล็กใหญ่ ยาวสั้น หรือสะพานไม้หมากดุ้นเดียว ย่อมต้องมีราวสะพาน

คนใต้ทำสะพานไม่มียาว ถือว่าทำสะพานไม่เสร็จ ไม่สวย ไม่มีเสน่ห์ (นอกจากทำราวสะพานเพื่อความปลอดภัย)

เพราะเขาเปรียบ สะพานไม่มีราวไว้ว่า "พานหม้ายราว เหมือนสาวหม้านุม(นม) หนุ่ม หม้ายหนวด" ขาดเสน่ห์

สะพานไม่มีราวไว้ว่า "พานหม้ายราว เหมือนสาวหม้านุม(นม) หนุ่ม หม้ายหนวด" ขาดเสน่ห์

 


พี่ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--คะ

ชอบคำพูดนี้จัง เอาไว้สอนลูกค่ะ ลูกหลานคนใต้เหมือนกัน

 

ขอบคุณภาพสะพานสวยคลาสสิคด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท