เล่าเรื่องงานเบาหวานที่ Ho Chi Minh City (๑)


ปัญหาของที่นี่ (เวียดนาม) คืออินซูลิน ความเพียงพอของอินซูลินขึ้นอยู่กับผู้บริหารของโรงพยาบาลด้วย ผู้ป่วยที่จนก็จะมีการลดขนาดของอินซูลินเอง

เรื่องเดิม

วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๒

วันนี้ต้องรีบจัดการตัวเองให้เรียบร้อยแต่เช้า คุณ David นัดมารับที่โรงแรมตอน ๐๙ น. เราไปที่ Children’s Hospital No.1 (ตั้งชื่อง่ายดี) เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เดินผ่าน OPD มีครอบครัวพาเด็กมารอรับการตรวจกันเยอะมาก มีบริเวณที่จัดเป็นที่เด็กเล่นด้วย สังเกตว่าประตูอาคารต่างๆ จะปิดล็อกกุญแจ ที่ไม่ได้ล็อกกุญแจก็จะเปิดแง้มๆ และมียามเฝ้า เราเดินขึ้นตึกไป ๒-๓ ชั้น ดูสภาพเป็น IPD ประตูปิดล็อกกุญแจ มีญาติผู้ป่วยนั่งที่พื้นกันอยู่หลายคน

คุณ David ไม่รู้จะติดต่อใครได้ ดิฉันมองเห็นพยาบาลอยู่ในห้องทำงาน พยายามจะส่งสัญญาณเรียก โชคดีที่มีผู้ชายคนหนึ่งคงเป็นญาติผู้ป่วย เขาเห็นคนต่างชาติมาเมียงๆ มองๆ จึงเข้ามายิ้มทักทาย ดิฉันทำท่าทางให้เขาเรียกพยาบาลให้หน่อย ปรากฏว่าได้ผล มีพยาบาลมาต้อนรับและเปิดประตูให้

Dr. Loan เป็น Nephrologist กำลังทำงานยุ่งอยู่กับพยาบาล เท่าที่เห็นงานเป็นงานการบันทึกต่างๆ คุณหมอท่านนี้พูดภาษาฝรั่งเศสได้ดี เล่าว่ามีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ในความดูแลจำนวนเท่าไหร่ มาจากไหนกันบ้าง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยากจนไม่สามารถซื้ออินซูลินใช้ได้อย่างเพียงพอ มาตรวจไม่สม่ำเสมอ ไม่มีเงินสำหรับ SMBG คุมน้ำตาลไม่ได้

สิ่งจำเป็นแรกสุดขณะนี้คืออินซูลิน บางครอบครัวอาจไม่มีตู้เย็นสำหรับเก็บอินซูลิน (Marg แนะนำให้เก็บไว้ในหม้อใส่น้ำ) การตรวจ HbA1C ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองและตรวจที่ห้อง Lab. นอกโรงพยาบาล การ follow up ผู้ป่วยดูตาม condition อาจทุก ๒ สัปดาห์-๓ เดือน ยังมีปัญหาเกี่ยวกับพยาบาลที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ผู้ป่วย แต่ในเดือนมิถุนายนนี้จะมีพยาบาล ๑ คน (คุณ Van) ไปอบรมที่ Sydney ออสเตรเลีย เป็นเวลา ๓ เดือน กลับมาจะทำหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน คิดว่าจะสามารถ run งานเองได้

โรงพยาบาลนี้มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ใน OPD จำนวนผู้ป่วยประมาณ ๒๐๐ คน/แพทย์ ๑ คน ใน IPD มีเตียง ๗๐ เตียง แต่มีผู้ป่วยถึง ๑๕๐ คน หอผู้ป่วยที่เห็นมีลักษณะเป็นห้องๆ ไม่ใช่หอใหญ่ๆ เหมือนบ้านเรา แต่ละห้องรับผู้ป่วย ๖-๗ คน ในห้องผู้ป่วยอากาศร้อน บางคนจึงออกมาอยู่นอกห้อง

คุณ Van พยาบาลที่จะไปอบรมที่ออสเตรเลียโชว์บัญชีรายชื่อผู้ป่วยที่เธอรวบรวมไว้จำนวน ๖๐ ราย มีเบอร์โทรศัพท์ที่จะติดต่อได้ เธอบอกว่าเมื่อกลับจากออสเตรเลียแล้วไม่รู้ว่าจะต้องไปทำงานที่ OPD หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหาร ที่โรงพยาบาลมีการสอนผู้ป่วยให้ฉีดอินซูลิน มีแพทย์ทางอาหารสอนเรื่องอาหาร มี Club ที่มีการประชุมปีละครั้ง Marg แนะนำว่าตอนไปอบรมให้พยายามคิดว่าจะเอาอะไรกลับมาทำอย่างไรบ้าง (ปรับให้เข้ากับบริบท)

ดิฉันสังเกตท่าทางการพูดจาระหว่างกันของแพทย์และพยาบาลที่นี่ ดูมีความเป็นกันเอง จึงคิดว่าคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คุณหมอ Loan ได้ให้ผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ ๑๓ ปีรายหนึ่งมาพบกับเรา ตัวเธอดูเล็กกว่าวัย บ้านอยู่ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ ๒๐๐ กม. ได้รับอินซูลินวันละ ๑๓ ยูนิต อยากกลับบ้านแล้ว อยู่ที่โรงพยาบาลมีพยาบาลฉีดอินซูลินให้ พยาบาลจะสอนวิธีการฉีดให้พรุ่งนี้ก่อนกลับบ้าน เพราะพยาบาลไม่มีเวลาเนื่องจากต้องทำงานอื่นด้วย Marg ดูข้อมูลในแฟ้มผู้ป่วย พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดยังสูงอยู่

เราออกจากโรงพยาบาลไปยังร้านอาหารแห่งหนึ่ง เรามีนัดรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับ Prof. Khue และ Dr. Than ร้านอาหารแห่งนี้เดิมเป็นที่พักอาศัยของชาวต่างชาติ อาหารที่นี่อาจเรียกว่าอาหารชาววังก็ได้ มีการจัดแต่งแบบน่ารับประทาน

 

หน้าตาของอาหารมื้อกลางวัน

คุณหมอ Khue เล่าว่าปัญหาของที่นี่ (เวียดนาม) คืออินซูลิน ความเพียงพอของอินซูลินขึ้นอยู่กับผู้บริหารของโรงพยาบาลด้วย ผู้ป่วยที่จนก็จะมีการลดขนาดของอินซูลินเอง อย่างไรก็ดี คุณหมอบอกว่าประชาชน aware เรื่องเบาหวานเพิ่มมากขึ้น มาตรวจเอง แม้แต่คนที่อยู่นอกๆ เมือง ผู้ป่วยเลือกโรงพยาบาลที่จะไปรักษาเอง เมื่ออายุ ๑๕ ปีขึ้นไปจะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลผู้ใหญ่

ปัญหาการทำงานคือการขาดคน วิธีการบริหาร กำลังทำงานร่วมกับ family doctor ในโรงพยาบาลเฉพาะทางมีการฝึกอบรมพยาบาลบ้าง มี patient's club ที่มีการประชุมร่วมกันเป็นระยะ สมาคม (เบาหวาน) ซึ่งมีแพทย์เป็นสมาชิกเป็นคนจัดการประชุม การทำงานทุกเรื่องห่วงเรื่องความปลอดภัย จึงต้องมีแพทย์ incharge

เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. เรามี presentation ที่ Nguyen Tri Phuong Hospital มีผู้เข้าฟัง เข้าใจว่าเป็นแพทย์ทั้งหมด กะด้วยสายตาน่าจะประมาณ ๑๐๐ คน บ่ายนี้มีฝนตกหนักมาก คราวนี้ดิฉันมีโอกาสฉาย VDO หมอฝอยทอง แม้จะฉายได้ไม่จบม้วน แต่ก็เห็นผู้เข้าประชุมให้ความสนใจกันดี มีเสียงฮือฮาให้ได้ยินกันบ้าง ความจริงคุณหมอ Khue เตรียมให้คุณหมอ Luong ซึ่งเคยไป train ที่ออสเตรเลีย และเพิ่งกลับจากเรียนเรื่องการดูแลเท้าที่ประเทศไทย นำเสนอเรื่อง patient’s club แต่หมดเวลาในการประชุมเสียก่อน

 

ซ้าย คุณ David Beran ขวา คุณ Marg McGill มุมขวาคุณหมอ Khue <p style="text-align: center;"> </p> <p style="text-align: center;"> </p><table border="1"><tbody><tr>

</tr></tbody></table> ผู้เข้าประชุม ขวา ผู้เข้าประชุมอีกส่วนและผู้ทำหน้าที่แปล

เย็นนี้คุณหมอ Luong และแฟน (เป็นหมอฟันที่เพิ่งกลับจากอเมริกา) เลี้ยงอาหารเย็นพวกเรา

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 259737เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท