Workshop OM-KM เบาหวาน ความดันโลหิตสูง (๓)


OM เริ่มจากภาพฝัน

ตอนที่

วันอาทิตย์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ บ่าย
๑๓.๓๐-๑๓.๕๐ น. เราขอให้หมอฝน สกาวเดือน นำแสงกุล เปลี่ยนบทบาทจากผู้เข้าประชุมมาช่วยให้ผู้เข้าประชุมผ่อนคลายก่อนจะเข้าสู่กิจกรรมตอนต่อไป จินตนาการว่าพวกเราเป็นเด็กอนุบาล ถึงเวลาที่จะนอน เพื่อเข้าสู่การหลับ.......ผ่อนคลายส่วนต่างๆ เริ่มตั้งแต่ปลายเท้า ปล่อยวางและผ่อนคลาย เลื่อนความรู้สึกขึ้นไปเรื่อยๆ...........ได้ยินเสียงบางคนกรน (เพราะเชียว) ต่อจากนั้นจึงเรียกให้ตื่น

ต่อจากนั้นกระตุ้นสมอง โดยน้อง ภญ. นุชนาฎ ตัสโต ผู้เข้าประชุมจาก รพ.ท่าศาลาอาสาเป็นผู้นำ

คุณอ้อบอกว่าจะเริ่มจากอะไรที่ง่ายๆ OM เริ่มจากภาพฝัน ให้ทุกคนวาดภาพฝัน วาดกันเป็นกลุ่ม แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม โจทย์ - วาดภาพฝันเกี่ยวกับชุมชน ประชาชน ปลายทางสัก ๑๐ ปี เกี่ยวกับเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง เขียนตัวหนังสือประกอบได้เล็กน้อย ให้เวลา ๑๐ นาที วาดให้เห็นภาพชัดๆ ว่าที่อยากเห็นเป็นอย่างไร

 

ช่วยกันวาดภาพฝัน

ต่อจากนั้นให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอว่าภาพที่เขียนบอกอะไร.....มีที่ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ภาพที่เราฝันร่วมกัน ต้องเป็นภาพที่เป็นไปได้ ต้องชัดเจนมากที่สุด เพราะเราจะใช้ในการทำงาน บูรณาการ ชุมชนเข้มแข็ง สุขภาวะ เป็นคำใหญ่ๆ ต้องทำออกมาให้ชัด

 

บางส่วนของภาพฝัน

ทีมงานเขียน keyword ลงใน card แยกกลุ่มด้วยสีที่เขียน ให้ดูว่ามีอะไรที่พูดซ้ำๆ กันอยู่ แทบจะเป็นคำเดียวกันได้เลย จัดหมวดหมู่ แล้วดูว่าของทุกกลุ่มอยู่ครบไหม

อยากให้ชัดขึ้นอีก คำถาม – ใครเป็นผู้รับประโยชน์สุดท้าย ฝันอยากเห็นอะไร ให้ช่วยกันตอบจากที่แต่ละกลุ่มคิดมา (ได้เรียนรู้วิธีการกำหนดวิสัยทัศน์แบบมีส่วนร่วม) ได้แก่ ประชาชน ผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน บุคลากรสาธารณสุข

 

จัดกลุ่ม

สุดท้ายที่เราอยากเห็นเป็นใคร ทำแบบละเอียดมาก เห็นตัวละครหลายตัว ผู้เข้าประชุมเลือกเอาประชาชน ค่อยๆ ช่วยกันปรับแต่ง เรียบเรียง ถ้าทำจริงต้องมีประชาชนเข้ามาอยู่ด้วย ภาษาอาจไม่หรู แต่อ่านแล้วทุกคนเข้าใจตรงกัน (ความสุข=เป็นคำใหญ่และเป็นนามธรรม น่าจะทำให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้)

เกือบ ๑๕.๔๕ น. พัก รับประทานอาหารว่าง กลับมาปรับวิสัยทัศน์กันอีกรอบ มีคนบ่นว่าใช้เวลากับวิสัยทัศน์มากไป.....แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ดังนี้

        “ประชาชนมีความรู้ด้านเบาหวานและความดันโลหิตสูง ตั้งแต่เด็ก มีสุขภาพดี สามารถดูแลตนเองและบุคคลในครอบครัวได้ ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ชุมชนมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมคัดกรอง ป้องกัน ส่งเสริม ดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ มีการพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ร่วมมือร่วมใจสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
        บุคลากรสาธารณสุขมีความรู้ทันสมัยเรื่องเบาหวานและความดันโลหิตสูง ทำงานด้านการสร้างเสริมมากกว่าการซ่อมสุขภาพ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง”

หลังจากตกลงกันได้ คุณอ้อให้แบ่งกลุ่มตามภาคต่างๆ ให้ทำพันธกิจ โดยกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการทำงาน ๑ ปี เราจะทำภารกิจใหญ่ๆ (แอปเปิ้ลทั้งผล) แค่ไหน จะทำอะไรเอาชัดๆ ขึ้นต้นเป็น verb ช่วงนี้ได้ยินเสียงหัวเราะจากกลุ่มบ้าง เสียงคุยกันครื้นเครงจน ๑๗ น. คุณอ้อบอกให้หยุดก่อน ก่อนจะไปกันไกล

 

กำหนดพันธกิจ

ทีมภาคกลาง+ตะวันออก
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้และทักษะในการสร้างเครือข่าย
- พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนให้สามารถดำเนินกิจกรรมคัดกรอง ป้องกัน ส่งเสริม ดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพในเรื่องเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
เห็นภาพของ DP และ SP ได้ลางๆ

ทีมภาคใต้
- พัฒนาความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ความดันโลหิต แก่ประชาชน (เดินสายทำได้หมดหรือเปล่า ตกลง บอกใกล้ชิดนอนกับประชาชน คิดดีๆ ว่าทำผ่านใครให้ไปขยายต่อหรือเปล่า  ให้ปรับเสีย)
- สร้างและพัฒนาศักยภาพแกนนำในการคัดกรอง
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข.....เหมือนกลุ่มภาคกลาง+ตะวันออก
- ค้นหา Best practice ในชุมชน เพื่อให้เกิดการ ลปรร.....

ทีมภาคอีสาน
- สร้างแกนนำ ให้แกนนำรวมกลุ่มและดูแลสมาชิก
- พัฒนาศักยภาพความรู้และทักษะการสื่อสาร

ทีมภาคเหนือบอกว่าจะเอาพันธกิจของภาคกลางและตะวันออกข้อเดียว

มีคนเสนอว่าเอาพันธกิจเดียวกันแต่กิจกรรมอาจจะไม่เหมือนกัน

เราให้พักตอนประมาณ ๑๗ น. รับประทานอาหารเย็นเวลา ๑๘ น.แล้วให้กลับมาที่ห้องประชุมประมาณ ๑๙ น. เพื่อทบทวนพันธกิจกันว่าจะใช้พันธกิจเดียวกันไหม ระหว่างนั้นทีมแกนนำของเครือข่ายฯ มีการประชุมเรื่องการจัดมหกรรม KM กว่าจะเสร็จก็เกือบ ๑๙ น. แล้ว ต่อด้วยการรับประทานอาหารเย็น (ที่เย็นจริงๆ) เมื่อกลับมาที่ห้องพบว่าผู้เข้าประชุมกำลังรวมกลุ่มช่วยกันเอากระดาษ หลอด ฯลฯ ช่วยกันต่ออะไรสักอย่าง (สอบถามคุณอ้อภายหลังทราบว่าเล่น role play ช่วยกันสร้างหอคอยสูงๆ)

กว่าดิฉันจะกลับถึงบ้านก็ ๒๑ น. พอดี

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 267330เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 07:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท