291 จากถืมตอง..ถึง..เฮฮาศาสตร์


“อิฐนี้ค่าของมันไม่มาก แต่ความสามัคคี และการช่วยเหลือกันมีค่ามากกว่านัก”.....

          ผมยังตื่นเต้นกับบทบันทึกของสิงห์ป่าสักไม่หายที่เขียนเรื่อง   เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน : การทำถืมตอง (ที่นี่)  เพราะมันสะท้อนคุณค่าอันสูงส่ง และหายากยิ่งในสังคมเมือง และสังคมโดยรวมก็ร่อยหรอลงไปมากแล้ว ผมขออนุญาต นำส่วนสำคัญ ของบทบันทึกนี้มาลงซ้ำอีกครั้งดังนี้

……………………………………..

          จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนี้ร่วมกับชาวบ้าน  จึงได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นคนเมืองเหนือที่ได้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน  คนเฒ่าคนแก่ยังพร้อมแรงแข็งขันที่จะร่วมมือกันสร้างเองค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าการเช่าเต้นท์  เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการลงแรงกันเอง  ตั้งแต่การช่วยกันตัดไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่สีสุก  ไม้ไผ่รวก  ไผ่บงที่แต่บ้านมีกันอยู่แล้ว  รวมไปถึงการนัดหมายกันออกไปเก็บใบตองตึง(ยางพลวง) เพื่อนำมาทำหลังคาชั่วคราวของบริเวณพิธี  ซึ่งการที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนไปเป็นการใช้เต้นท์ก็เพราะว่าการร่วมมือร่วมแรงกันนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  และสิ่งที่แฝงอยู่ในกิจกรรมเหล่านี้ก็คือมิติทางด้านสังคมที่ประมาณค่ามิได้

           เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรม  จึงได้เรียนรู้ว่าในการทำหลังคาบริเวณที่พักสำหรับผู้มาร่วมงานนั้น ต้องมีการวางแผนและร่วมมือกันอย่างจริงจังเป็นเวลาล่วงหน้าแรมเดือนครับ  คนจำนวนคนเฒ่าคนแก่ก็จะมีแม่งานที่ถนัดกันคนละอย่าง  แต่ทุกๆ อย่างก็จะลงมือช่วยกัน  ทำให้ได้เรียนรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องไปในตัว (อิอิ....ชาวบ้านเขาจัดการความรู้กันอย่างเป็นธรรมชาติมานานแล้ว)

................................................

          สำหรับผมนั้นเห็นสิ่งเหล่านี้มิใช่เรื่องธรรมดาแต่เป็นสิ่งวิเศษ เพราะผมเห็นในสิ่งที่มากไปกว่าสิ่งก่อสร้างและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องนี้ คือ

 

¯     เป็นกิจกรรมสังคมที่รวมพลคนในหมู่บ้านหรือแม้แต่ต่างหมู่บ้านมาทำงานร่วมกันที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น ซึ่งสังคมเมืองหายากเต็มที ตัวใครตัวมัน

 

¯     เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทุนทางสังคม ในแนวราบ การที่คนจำนวนมากมาร่วมกันทำเรื่องราวทางจิตใจนั้น มีแต่การเอื้ออาทรกัน พึ่งพาอาศัยกัน สามัคคีกัน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นแรงเกาะเกี่ยวในระดับรากเหง้าของสังคม

 

¯     คนที่มาครั้งนี้ มาทุกกลุ่มทุกเพศ ทั้งคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นหลักนำของกิจกรรมทางประเพณี คนหนุ่มสาวที่มาสืบสานต่อกิจกรรม มารับรู้ เรียนรู้และสืบทอดจิตวิญญาณทางสังคม มีเด็กๆติดตามมา ก็มาซึมซับวิถีปฏิบัตินี้เข้าไปภายใน ครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้เฒ่าผู้แก่จะสั่งสอนแนะนำสิ่งที่ควรสิ่งที่ไม่ควรต่างๆแก่ลูกหลาน นี่คือการส่งต่อทางวัฒนธรรม

 

¯     กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างบุคลากรทางโครงสร้างสังคมพื้นบ้านมากกว่าโครงสร้างสังคมทางการปกครอง เช่น พ่อเฒ่าจ้ำ หมอธรรม หรือผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทางประเพณีท้องถิ่น ได้มีบทบาททางสังคม ซึ่งนับวันบทบาทของบุคลากรเหล่านี้จะลดลงไปเรื่อยๆทั้งที่ท่านเหล่านี้คือแกนอันสำคัญต่อการสานต่อทุนทางสังคม

 

¯     เป็นกิจกรรมที่เสริมค่าทางใจแก่ชาวชุมชน เมื่อเข้าร่วมงานแล้ว ได้ปฏิบัติตามประเพณีแล้วมันอิ่มเอิบใจ สุขใจ สบายใจ ชุ่มชื่นใจ ยิ่งนัก ดั่งน้ำทิพย์ชโลมจิตใจคนในชุมชนให้ร่มเย็นผาสุข

 

¯     ผมเห็นว่านี่คือองค์ประกอบหลักอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักการพอเพียง เพราะความพอเพียงนั้นเป็นเรื่องปัจเจก แต่ปัจเจกอยู่ไม่ได้ หรืออยู่อย่างลำบาก หากสังคมเอารัดเอาเปรียบและไร้ทุนทางสังคม คนต้องมีสังคม คนในชนบทจะพอเพียงได้ต้องอยู่ในสังคมแบบนี้ด้วย สังคมที่มีทุนทางสังคมอันอุดม

 

 

 

 

          ขอน้อมนำคำกล่าวของท่านพุทธทาสมาในที่นี่ ดังนี้  พระภาวนาโพธิคุณศิษย์ท่านพุทธทาสและเป็นเจ้าอาวาสสวนโมกข์ในปัจจุบันท่านบรรยายไว้ว่า ...ครั้งหนึ่งอาตมาพบว่าอิฐขนอมมีคุณภาพดี ท่านอาจารย์ให้ไปซื้อมา เอาเรือใหญ่ใช้เรือเล็กจูง มาค่ำที่บ้านดอน เรือเกยตื้นที่พุมเรียง  วันรุ่งขึ้นน้ำแห้ง วันต่อมายิ่งน้ำลด อาตมาก็บอกท่านอาจารย์ แทนที่ท่านจะตำหนิ ท่านพาพระมาหมดวัดเลยไปช่วยเหลือกัน เอารถอีแต๋นไปขนอีกด้วย พระหลายรูปโดนปลากระเบนแทง ท่านก็ช่วยหายาไปให้ และท่านไปนอนตากยุงอยู่ที่นั่นด้วย  เวลาทุกข์ยากท่านไม่หนีและไม่ตำหนิ ท่านพูดให้กำลังใจว่า .. อิฐนี้ค่าของมันไม่มาก แต่ความสามัคคี และการช่วยเหลือกันมีค่ามากกว่านัก..... เรือติดอยู่สามวันก็ช่วยกันสำเร็จ *

 

          ผมนึกถึงความหมายถืมตองเช่นเดียวกันว่า ..คุณค่าของ..ถืมตอง..นั้นไม่มากนัก แต่คุณค่าของการร่วมกันทำอย่างสามัคคีของชาวบ้านนี่ซิ มีคุณค่ามากมายนัก ..

 

          สำหรับเราคนเมือง หรือกึ่งเมืองกึ่งชนบทนั้น การร่วมกันจัดกิจกรรม เฮฮาศาสตร์ แต่ละครั้งนั้น คุณค่าทางใจนั้นมากมายนัก..

 

          ช่วยกันรักษา ถนอม เสริมสร้างร่วมกันเถิด ขณะที่สังคมโดยรวมคุณค่านี้ถดถอยลงไปมากแล้ว...

 

-----------

* จากหนังสือ ร้อยคนร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส, เนื่องในหนึ่งศตวรรษชาตกาลท่านพุทธทาสภิกขุ, มีนาคม 2549, หน้า 32.

หมายเลขบันทึก: 169219เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2008 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • สวัสดียามเย็นครับพี่บางทราย
  • พี่บางทรายช่วยต่อเติมทำให้เห็นภาพที่ทับซ้อนอยู่ได้อย่างชัดเจนมาก
  • ผมชวนน้องไผ่ไปช่วยงานนี้ด้วย  ได้ช่วยผมนำรถเข็นเก็บเศษไม้ไผ่เพื่อนำไปทิ้ง  เขาบอกว่า "พ่อ..วันนี้เราเปลี่ยนมาทำงานเป็นภารโรงก็สนุกดีเหมือนกันนะ  พรุ่งนี้จะมากอีก"
  • แม้ว่าวันต่อมาเราไม่ได้ไปกัน เพราะผมต้องออกไปเลือกตั้งที่ในเมือง และเขาหยุดพักกันเพราะใช้สถานที่วัดเป็นหน่วยเลือกตั้ง แต่เมื่ออ่านบันทึกของพี่บางทรายที่บอกว่า "การส่งต่อ" นี่ไงครับใช่เลยครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ อ.บางทราย

  • เคยไปเชียงใหม่ เจอร้านอาหารร้านหนึ่งชื่อ ตองตึง รู้สึกว่าชอบมาก
  • น้องเล่าให้ฟัง คล้ายๆบันทึกนี้ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.บางทราย

  • สมัยอยู่บ้านพักครู ร.ร.อนุบาลจะมีต้นพลวงใหญ่ 2 - 3 ต้น
  • ช่วงเดิอนมีนาคม - เมษายน อากาศจะร้อน ใบพลวงทั้งใหญ่ และเล็ก (ใบตองตึง ) จะร่วงหล่น เป็นจำนวนมาก
  • พี่น้องที่อาศัยอยู่ใกล้ๆจะตื่นมาเก็บใบตองตึงตั้งแต่เช้าตรู่
  • เพื่อนำไปเปลี่ยนหลังคาบ้าน  บ้านในสมัยก่อนจะมุงหลังคาด้วยใบตองตึง ซึ่งทำให้อากาศในบ้านเย็นสบาย ค่ะ
  • การนำใบตองตึงไปทำหลังคานั้นก็มีวิธีการทำให้ทนและอยู่นานซึงภาษาไทยใหญ่เรียกว่า "ไพคา"
  • ปัจจุบันจังหวัดจะอนุรักษ์บ้านโบราณ แบบนี้ไว้โดยการขอร้องเจ้าของบ้าน 

เห็นด้วยอย่างมากๆ ค่ะ ว่าการร่วมมือกันทำนั้นมึคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

ไม่เคยรู้เลยค่ะว่าเขาเรียกแบบนี้ว่าืถืมตอง แต่เคยเห็นที่เชียงใหม่ แถวแม่ริมค่ะ เขาทำเป็นหลังคาร้านค้าข้างทาง ร่มเย็นดีค่ะ

  • สวัสดีค่ะพี่บางทราย
  • ตามไปอ่านเรื่องราวที่บันทึกของคุณสิงห์ป่าสักแล้ว ได้บรรยากาศจริงๆ
  • เมื่อก่อนที่โรงเรียนก็มุงด้วยใบตองตึง เวลาศิษย์เก่ามาเยี่ยมก็มักจะพูดถึงอาคารที่เคยเรียน
  • เคยพยายามทำเรือนไม้เล็กๆ ทำด้วยไม้ไผ่สานและมุงด้วยใบตองตึงให้เด็กอนุบาลเล่น แต่นานไปปลวกขึ้น และหาวัสดุเปลี่ยนยาก เลยจำใจต้องรื้อลงก่อน
  • ไว้ค่อยพยายามทำใหม่ค่ะ
  • ขอบคุณพี่สำหรับเรื่องราวดีๆ นะคะ

เคยไปช่วยทำเล้าหมูแล้วชาวบ้านเขามัดเป็นตับๆ เป็นแผงสำเร็จมาให้เรามุง เลยทำได้เสร็จเร็วพอกับมุงสังกะสี แต่ไม่เคยได้ทำแบบนี้เลยค่ะ อันนั้นก็จำไม่ได้ว่าเขาเรียกว่าอะไร แต่ก็แน่นหนาดีทีเดียว แบบนี้มันดูจะเปราะบางไปหน่อยนะคะ เหมาะกับการใช้แค่ชั่วคราวแทนเต้นท์

  • ขอบอกว่าชอบบันทึกนี้มากในรอบเดือนนี้
  • ซาบซึ้งแม้จะเป็นเพียงบันทึกเกี่ยวกับ ตอง

 

สวัสดีครับน้องสิงห์P 1. สิงห์ป่าสัก

  • น้องสิงห์คือต้นเรื่องนี้ พี่เห็นแล้วก็นึกอะไรต่ออะไรออกมามากเลยทีเดียว
  • ลองเข้าไปดูแผนพัฒนาชาติซิครับ ระบุว่าจะส่งเสริมทุนทางสังคม...แต่มีแต่รูปแบบครับ เนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดทุนทางสังคมแบบเนียนๆ เป็นไปเองโดยประเพณีไม่ต้องจัดฉาก ก็เป็นความพยายามของรัฐ
  • แต่ของเดิมที่มีอยู่แบบนี้ รัฐเขามาซิ มาต่อยอดซิ  หรือมองไม่เห็น มีตา แต่มองไม่เห็น
  • เราในฐานะที่คลุกกับชุมชนเราเห็น
  • นี่คือ G2K ที่สิงห์และพี่และอีกหลายๆคนเปิดเวทีนี้ให้กับชาวบ้านครับ ไม่งั้นมองไม่เห็นชาวบ้านกัน เห็นแต่เมือง เทคโนโลยี ธุรกิจ และฝันของรัฐ อิอิ

สวัสดีครับป้าแดง P 2. pa_daeng

  • เคยไปเชียงใหม่ เจอร้านอาหารร้านหนึ่งชื่อ ตองตึง รู้สึกว่าชอบมาก
  • น้องเล่าให้ฟัง คล้ายๆบันทึกนี้ค่ะ

 

มัวยุ่งกับ น้องหมา และงานแต่งงานหลานครับ มาตอบช้าหน่อย ในเขตภาคเหนือมั้งหมดจะรู้จักการทำ "เพิง" หรือ "โรง" แบบนี้ สำหรับรับเพื่อนบ้านจากใก้เคียงหรือห่างไกลก็แล้วแต่ มาร่วมประเพณี ก็มานั่งกันในนี้ อาจจะแบ่งกลุ่มกันว่าคุ้มบ้านเหนือนั่งตรงนั้นตรงนี้ ครับ เราโตขึ้นมาเราเห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้ สมัยเด็กๆ หรือวัยรุ่นเห็นแต่ไม่เข้าใจ เข้าใจแต่ไม่ลึกซึ้งมากเท่าวันนี้ ครับป้าแดง

สานต่อสิ่งดีดีเหล่านี้ต่อไป 

สวัสดีครับ 3. เอื้องแซะ 

  • สมัยอยู่บ้านพักครู ร.ร.อนุบาลจะมีต้นพลวงใหญ่ 2 - 3 ต้น
  • ช่วงเดิอนมีนาคม - เมษายน อากาศจะร้อน ใบพลวงทั้งใหญ่ และเล็ก (ใบตองตึง ) จะร่วงหล่น เป็นจำนวนมาก
  • พี่น้องที่อาศัยอยู่ใกล้ๆจะตื่นมาเก็บใบตองตึงตั้งแต่เช้าตรู่
  • เพื่อนำไปเปลี่ยนหลังคาบ้าน  บ้านในสมัยก่อนจะมุงหลังคาด้วยใบตองตึง ซึ่งทำให้อากาศในบ้านเย็นสบาย ค่ะ

เป็นความจริงครับผมเองก็เคยนอนบ้านที่มุงด้วยใบตองตึง และเคยช่วยชาวบ้านไปเก็บในตองตึงในป่าด้วย เอามาทำหลังคาโรงเรียนเด็กเล็กในหมู่บ้านกัน สมัยนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก เพียงว่าสนุกดีและเราไม่มีงบประมาณไปซื้อสังกะสี หรือกระเบื้อง เลยเอาแค่ตองตึง ก็เย็นดีอย่างว่าแหละครับ 

  • การนำใบตองตึงไปทำหลังคานั้นก็มีวิธีการทำให้ทนและอยู่นานซึงภาษาไทยใหญ่เรียกว่า "ไพคา"

ใช่แล้วครับหากเอาหญ้าคามาก็เรียก "ไพคา" หากเอาตองตึงมาก็เรียก "ไพตองตึง" ไปเก็บตอนเช้าดีนะครับเพราะมีน้ำค้างตกลงมาถูกใบต้องตึง ทำให้ใบไม่กรอบ ยังเหนียวอยู่ หากทิ้งให้แดดเผานานๆกรอบ เวลาเราเดินป่าจะดังกรอบแกรบ

อันนี้เองที่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านชอบจุดไฟเผาป่า จริงๆคือเผาใบตองตึงและใบไม้ชนิดอื่นๆ เพื่อ 2 เหตุผล คือ

  1. ให้เรียบเวลาเดินออกล่าสัตว์จะได้ไม่ดังกรอบแกรบ สัตว์ได้ยินเสียงก็หนีไปหมด
  2. เผาป่าแล้วหญ้าอ่อนจะแตกใหม่ เมื่อมีหญ้าอ่อนสัตวืป่าที่ชอบหญ้าอ่อนก็จะออกมากินหญ้า คน นายพราน ก็ดักยิงเอาเลย  นี่ คนฉลาดกว่าสัตว์  แต่ฉลาดแบบนี้ ป่าพินาจมามากแล้วครับ
  • ปัจจุบันจังหวัดจะอนุรักษ์บ้านโบราณ แบบนี้ไว้โดยการขอร้องเจ้าของบ้าน 

ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมากเลยที่จังหวัดอนุรักษ์บ้านแบบนี้ไว้นะครับ เพราะหาดูยากมากขึ้น  แม้อยู่ป่าอยู่ดอย หลังคาอย่างต่ำสุดก็สังกะสีกันมากแล้ว

ผมมีข้อเสนอแนะครับ ว่าเมื่อทางจังหวัดอนุรักษ์ไว้ก็ดี แต่อย่าเพียงเก็บบ้านหลังนี้ไว้เฉยๆ ควรจะมีป้ายบอกข้อมูลทั้งอย่างสรุปและอย่างละเอียด เพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ของสาธารณะชนที่ผ่านไปมา ผมเห็นมากมายที่ทำอนุรักษ์ไว้ หรือสร้างใหม่ก็ตาม แต่ได้รูปธรรมเสร็จแล้วก็หยุดแค่นั้น ไม่ได้ทำข้อมูลให้สาธารณะ เสียแค่นี้

อย่างขอนแก่น กาฬสินธุ์ มีไดโนเสาว์มาก ก็ปั้นตัวใหญ่บักเอ็บ มีลูกตัวเล็กๆด้วย  แต่ไม่มีข้อมูลอธิบายเลยว่ามันชนิดไหน อายุเท่าไหร่ กินอะไร น้ำหนักเท่าใด ฯลฯ เพื่อการเรียนรู้  แย่มากเลย เด็กๆ หรือผู้ใหญ่อยากรู้ก็ไม่รู้ต่อไป แล้วจะไปสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไรกัน ใช่ไหมครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ตุ๋ย P 4. กมลวัลย์

เห็นด้วยอย่างมากๆ ค่ะ ว่าการร่วมมือกันทำนั้นมึคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

ไม่เคยรู้เลยค่ะว่าเขาเรียกแบบนี้ว่าืถืมตอง แต่เคยเห็นที่เชียงใหม่ แถวแม่ริมค่ะ เขาทำเป็นหลังคาร้านค้าข้างทาง ร่มเย็นดีค่ะ

 

จริงๆในชนบทภาคเหนือนำตองตึงมาทำแบบนี้นานมาแล้ว ง่าย ประหยัด ให้คุ้มค่า เย็นดี พึ่งตัวเอง ... สารพัดคุณค่า แต่ทังหมดส่วนใหญ่ทำเพียงชั่วคราว เพราะอายุของใบไม้ที่จะใช้ได้นานนั้นก็ไม่มากเท่าใหร่ เป็นแบบชั่วคราว ยกเว้นที่เอามามุงหลังคาบ้าน  เขาจะเลือกเฟ้นใบที่สวยๆ หนา สมบูรณ์ ใหญ่ ไม่มีหนอนเจาะให้เป็นรู เมื่อเอามาไพ ก็ไพให้แน่นๆ เพื่อป้องกันฝนได้จริงๆครับ

สวัสดีครับ P  5. dd_L 

 

  • เมื่อก่อนที่โรงเรียนก็มุงด้วยใบตองตึง เวลาศิษย์เก่ามาเยี่ยมก็มักจะพูดถึงอาคารที่เคยเรียน

ชาวบ้านจริงๆใช้ใบตองตึงกันมานาน แต่ข้อเสียก็คือ อายุการใช้ไท่นานเท่าไหร่ ที่พบคือนานที่สุดคือสองปี แล้วต้องเปลี่ยนใหม่ บางบ้านเปลี่ยนทุกปี  แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับหลายอย่าง  ปัจจุบันโรงเรียนที่มีแบบนี้คงหาดูยากเต็มที  ใครมีรูปก็เอามาอวดกันหน่อยก็ได้

  • เคยพยายามทำเรือนไม้เล็กๆ ทำด้วยไม้ไผ่สานและมุงด้วยใบตองตึงให้เด็กอนุบาลเล่น แต่นานไปปลวกขึ้น และหาวัสดุเปลี่ยนยาก เลยจำใจต้องรื้อลงก่อน
  • ไว้ค่อยพยายามทำใหม่ค่ะ

ปัญหาอีกอย่างคือ ปลวกอย่างว่าแหละครับ มันชอบ เผลอละก็เสร็จเลย ปลวกเอาไปกินหมด

ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยม ขออภัยที่ตอบช้า เพราะติดธุระครับ

สวัสดีครับน้อง P 6. Little Jazz \(^o^)/

เคยไปช่วยทำเล้าหมูแล้วชาวบ้านเขามัดเป็นตับๆ เป็นแผงสำเร็จมาให้เรามุง เลยทำได้เสร็จเร็วพอกับมุงสังกะสี แต่ไม่เคยได้ทำแบบนี้เลยค่ะ อันนั้นก็จำไม่ได้ว่าเขาเรียกว่าอะไร แต่ก็แน่นหนาดีทีเดียว แบบนี้มันดูจะเปราะบางไปหน่อยนะคะ เหมาะกับการใช้แค่ชั่วคราวแทนเต้นท์

ใช่แล้วครับน้องซูซาน เป็นแบบชั่วคราว แค่งานประเพณี 2-3 วันเท่านั้น เพราะทำแบบบางๆ หากมุงบ้าน มุงเล้าหมูก็เอามาซ้อนกันหนาๆ แบบนั้นใช้ได้นานและกันฟ้ากันฝนได้ดีกว่า เน๊าะ

สวัสดีครับพี่บางทราย

"คนที่มาครั้งนี้ มาทุกกลุ่มทุกเพศ ทั้งคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นหลักนำของกิจกรรมทางประเพณี คนหนุ่มสาวที่มาสืบสานต่อกิจกรรม มารับรู้ เรียนรู้และสืบทอดจิตวิญญาณทางสังคม มีเด็กๆติดตามมา ก็มาซึมซับวิถีปฏิบัตินี้เข้าไปภายใน ครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้เฒ่าผู้แก่จะสั่งสอนแนะนำสิ่งที่ควรสิ่งที่ไม่ควรต่างๆแก่ลูกหลาน นี่คือการส่งต่อทางวัฒนธรรม"

 สังคม-วัฒนธรรม ไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรเหมือนกัน สังคมเมืองของไทยเรา เมื่อก่อนก็มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่ตามจากชนบท แต่กลไกการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคม และวัฒนธรรมก็ปรับตัวตามไป ถ้าไม่มีการปรับตัวก็อยู่ไม่ได้ เหมือนกับสมัย ร. 5 ท่านก็ทรงปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอดได้ สังคมในชนบท ก็มีการเปลี่ยนไป เมื่อความเจริญเข้ามา ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนก็จะถูกว่าเป็นผู้ด้อยพัฒนา ความโลภที่มีอยู่ในตัวตน มีโอกาศแสดงออกมามากขึ้น ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย ตามมาด้วยคำว่า "การล่มสลายของวัฒนธรรม" ซึ่งนักวิชาการใช้อยู่ แต่ถ้ามองไปในความเป็นจริง มองอย่างอุเบกขา แล้ว มันก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา  ปัญหาหลักของสังคมไม่ว่าจะเป็นเมืองหรือชนบท คือความมี หิริ-โอตปะ ของคนลดน้อยลง คุณธรรม ศีลธรรม ประจำใจลดลง ทำอย่างไรให้มันสูงขึ้น จุดนี้ต่างหากที่จะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข  วิธีการที่เหมาะสม  เพราะเราไม่สามารถไปขัดขวางการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าช่วยกันแก้ไข ลงมือทำจริง ทุ่มเทอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่พอหมดงบประมาณหรือต้องการเพียงผลงาน  ประเทศเรา โลกเรา ต้องการคนที่มีจิตอาสา ที่พร้อมจะช่วยเหลือคนอื่น ๆ อีกมากครับ เรามีคนดีเยอะ ในสังคมไทย แต่มีคนดีสักกี่คนที่พร้อมจะออกมาช่วย กันทำให้สังคม ดีขึ้น เพราะตราบใดที่เรายังอยู่ในสังคม ผมกระทบย่อมมีขึ้นกับเราและลูกหลานเราแน่ ๆ

ขอบคุณครับพี่บางทรายที่ช่วยเข้ามาเคาะกระโหลกให้ครับ

สวัสดีครับ P 7. ออต

  • ขอบอกว่าชอบบันทึกนี้มากในรอบเดือนนี้
  • ซาบซึ้งแม้จะเป็นเพียงบันทึกเกี่ยวกับ ตอง

ขอบคุณน้องออต 

ไม่แน่ในอนาคต พวกเราอาจจะต้องกลับมาใช้ใบตองตึงนี้ก็ได้ เพราะมีอยู่แล้วในธรรมชาติ ง่าย แค่ออกแรงงานไปเอามา ไพ ก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้ สอดคล้องกับ เรียบง่าย พึ่งตนเอง ประหยัด ไม่ทำลายธรรมชาติ...

สวัสดีครับ น้องภูคา (หายไปนาน)  14. ภูคา

สังคม-วัฒนธรรม ไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรเหมือนกัน สังคมเมืองของไทยเรา เมื่อก่อนก็มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่ตามจากชนบท แต่กลไกการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคม และวัฒนธรรมก็ปรับตัวตามไป ถ้าไม่มีการปรับตัวก็อยู่ไม่ได้ เหมือนกับสมัย ร. 5 ท่านก็ทรงปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอดได้ สังคมในชนบท ก็มีการเปลี่ยนไป เมื่อความเจริญเข้ามา ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนก็จะถูกว่าเป็นผู้ด้อยพัฒนา ความโลภที่มีอยู่ในตัวตน มีโอกาศแสดงออกมามากขึ้น ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย ตามมาด้วยคำว่า "การล่มสลายของวัฒนธรรม" ซึ่งนักวิชาการใช้อยู่ แต่ถ้ามองไปในความเป็นจริง มองอย่างอุเบกขา แล้ว มันก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา 

พี่เองก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงด้วย แต่เอาคุณค่าดีดีของสังคมเราติดไปด้วย ไม่ใช่ไปรับของใหม่แค่รูปธรรมแต่ไม่มีคุณค่าในทางเสริมสร้างทุนทางสังคมใดๆเลย ก็เท่ากับ สังคมก้าวไปสู่ความสูญเสียของดีที่มีอยู่

สังคมใหม่เรารับเอาวัฒนธรรมใหม่เข้ามาแบบ "ไม่มีการกรอง" หรือมีน้อยจนคนในชาติสร้างปัญหาสังคมจนปั่นป่วนไปหมด

ปัญหาหลักของสังคมไม่ว่าจะเป็นเมืองหรือชนบท คือความมี หิริ-โอตัปปะ ของคนลดน้อยลง คุณธรรม ศีลธรรม ประจำใจลดลง ทำอย่างไรให้มันสูงขึ้น จุดนี้ต่างหากที่จะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข  วิธีการที่เหมาะสม  เพราะเราไม่สามารถไปขัดขวางการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าช่วยกันแก้ไข ลงมือทำจริง ทุ่มเทอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่พอหมดงบประมาณหรือต้องการเพียงผลงาน  ประเทศเรา โลกเรา ต้องการคนที่มีจิตอาสา ที่พร้อมจะช่วยเหลือคนอื่น ๆ อีกมากครับ เรามีคนดีเยอะ ในสังคมไทย แต่มีคนดีสักกี่คนที่พร้อมจะออกมาช่วย กันทำให้สังคม ดีขึ้น เพราะตราบใดที่เรายังอยู่ในสังคม ผมกระทบย่อมมีขึ้นกับเราและลูกหลานเราแน่ ๆ

จริงๆเรากลั่นกรองการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งในแง่กฏหมาย นโยบายการปกครอง หรือเทคนิคต่างๆ ทุกภาคส่วนของสังคมต้องแสดงการวิเคราะห์วิจารย์สิ่งที่ไม่ดีในสังคมมากๆ โดยเฉพาะนักวิชาการของสังคม เมื่อเราหวังในสังคมกว้างไม่ได้ เราก็เริ่มจากจุดเล็กๆในหมู่บ้าน ซึ่งมีกลุ่มที่ทำงานด้านนี้กันพอสมควรแล้ว  

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สิ้นหวังในสังคมหรอก เพียงแต่ต้องทำงานกันมากขึ้น หนักขึ้นครับ และพี่เองมีความเชื่อในเรื่องการปรับตัวของสังคม  แต่ไม่ใช่ปล่อย ต้องคัดหางเสือ ต้องกลั่นกรองกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท