เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน : การทำถืมตอง


เป็นกิจกรรมที่ชุมชนได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ร่วมกัน และถ่ายทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งดีๆ ในท้องถิ่นที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม(ลงมือและเรียนรู้) อย่างคนใน

          บันทึกก่อนได้บันทึกเกี่ยวกับการที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้การทำรั้วราชวัตร ที่ทำในกรณีมีพิธีต่างๆ อ่านได้ ที่นี่  บันทึกนี้ผมได้นำวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งของชุมชนมาแบ่งปันครับ  เป็นการสร้างบริเวณที่พักสำหรับผู้มาร่วมงาน-พิธีต่างๆ ทึ่ชุมชนได้จัดขึ้นและได้อนุรักษ์ไว้

          การทำอาคารบริเวณพิธีสมัยใหม่นี้เราอาจจะเห็นการกางเต้นท์ผ้าใบโครงเหล็ก  ซึ่งสะดวกสบายทั้งการจัดตั้งและการจัดเก็บ  แต่ที่ชุมชนแห่งนี้ยังคงอนุรักษ์วิถีและวัฒนธรรมเดิมๆ ของชุมชนไว้  ด้วยการสร้างอาคารสำหรับผู้มาร่วมงานพิธีด้วยแรงงานของชาวบ้านเอง  ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างที่ทำจากไม้ไผ่  ส่วนหลังคานั้นทำจากใบตองตึงหรือใบของต้นยางพลวง

          จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนี้ร่วมกับชาวบ้าน  จึงได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นคนเมืองเหนือที่ได้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน  คนเฒ่าคนแก่ยังพร้อมแรงแข็งขันที่จะร่วมมือกันสร้างเองค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าการเช่าเต้นท์  เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการลงแรงกันเอง  ตั้งแต่การช่วยกันตัดไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่สีสุก  ไม้ไผ่รวก  ไผ่บงที่แต่บ้านมีกันอยู่แล้ว  รวมไปถึงการนัดหมายกันออกไปเก็บใบตองตึง(ยางพลวง) เพื่อนำมาทำหลังคาชั่วคราวของบริเวณพิธี  ซึ่งการที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนไปเป็นการใช้เต้นท์ก็เพราะว่าการร่วมมือร่วมแรงกันนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  และสิ่งที่แฝงอยู่ในกิจกรรมเหล่านี้ก็คือมิติทางด้านสังคมที่ประมาณค่ามิได้

           เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรม  จึงได้เรียนรู้ว่าในการทำหลังคาบริเวณที่พักสำหรับผู้มาร่วมงานนั้น ต้องมีการวางแผนและร่วมมือกันอย่างจริงจังเป็นเวลาล่วงหน้าแรมเดือนครับ  คนจำนวนคนเฒ่าคนแก่ก็จะมีแม่งานที่ถนัดกันคนละอย่าง  แต่ทุกๆ อย่างก็จะลงมือช่วยกัน  ทำให้ได้เรียนรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องไปในตัว (อิอิ....ชาวบ้านเขาจัดการความรู้กันอย่างเป็นธรรมชาติมานานแล้ว)

          รูปภาพต่อไปนี้เป็นการนำเสนอกิจกรรมอย่างเป็นขั้นตอน และกระบวนการจัดทำหลังคาที่พักสำหรับผู้มาร่วมงาน-พิธีแบบชาวบ้านๆ  ที่หลายท่านอาจจะเคยได้พบเห็น  แต่ก็คงจะมีอีกหลายท่านที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน

  • การเก็บใบตองตึงที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ  ซึ่งต้องไปเก็บในช่วงหน้าหนาว ในตอนเช้าๆ เพราะจะมีใบตองตึงให้เก็บ  และใบตองตึงยังไม่กรอบ-ฉีกขาดง่ายเพราะถูกแดด/ความร้อน  จากนั้นจึงนำมาตัดก้านใบ-แช่น้ำแล้วเรียงทีบเก็บไว้ (นี่ก็เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งที่น่าสนใจมาก)

51030306

  • ส่วนหนึ่งก็จะจัดเตรียมการสานโครง(แผง)ไม้ไผ่ กว้าง-ยาวประมาณ 2 เมตรตามรูป  โดยสาน 2 แผง (2 ด้านเพื่อประกบกัน)

51030305

  • จากนั้นนำใบตองตึงมาวางเรียงให้เต็มแผงไม้ไผ่นั้น แล้วใช้แผงไม้ไผ่อีกด้านมาประกบ จากนั้นใช้ตอกไม้ไผ่ผูกแผงไม้ไผ่ให้แน่น  ก็จะได้หลังคาชั่วคราวที่ชาวบ้านเรียกว่า "ถืมตอง"

51030307

  • เมื่อได้ถืมตองในบริมาณที่มากพอ ก็นำขึ้นไปมุงทำหลังคาชั่วคราวในส่วนที่ได้ทำโครงไม้ไผ่สูงประมาณ  3 เมตร  ก็จะได้บริเวณที่พักสำหรับผู้มาร่วมงาน-พิธี ที่ร่มรื่น(เย็นกว่าเต้นท์) กว้างขวาง  แถมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพียงแต่ออกแรงช่วยกัน

51030308

          นี่ก็เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง(การทำถืมตอง) ของชุมชนที่นี่  ที่บ้านใหม่  ตำบลท่าขุนราม  อำเภอเมืองกำแพงเพชร  จะเห็นได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ชุมชนได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ร่วมกัน และถ่ายทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น  เป็นสิ่งดีๆ ในท้องถิ่นที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม(ลงมือและเรียนรู้) อย่างคนใน   เสียดายที่คนรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่ค่อยจะให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมมากนัก  ส่วนใหญ่จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่ยังไม่ยอมละทิ้งของดีเพื่อหันไปใช้ของสมัยใหม่(เต้นท์เช่า)  และผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ที่ได้ยังมีสิ่งเหล่านี้ให้ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้  และตระหนักว่าทุกคน-ทุกความรู้ในชุมชนนั้นต่างมีคุณค่าเป็นอย่างมาก

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ (ยังมีตอนต่อไปนะครับ)

4 มีนาคม  2551

หมายเลขบันทึก: 168962เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2008 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

ยอดเยี่ยมจริงๆ น้องสิงห์

ง่ายๆ มีประโยชน์ ใช้วัสดุธรรมชาติ ใครๆก็ทำได้ คุ้มค่า เพื่อคนจำนวนมากๆ

ที่สำคัญที่พี่ชอบคือ การที่ทำถืมตองนั้นต้องใช้คนหลายคนมาช่วยกันทำ  นี่คือกิจกรรมที่ผูกคนให้มาสัมพันธ์กัน  คนเราเมื่อมาสัมพันธืกันในลักษณะส่วนรวมมันคือการเสริมสร้างทุนสังคมชุมชน เสริมสร้างโดยไม่ต้องฝึกอบรม บ่นกล่าวอะไร แค่มีกิจกรรมร่วมกันแบบสาธารณะแบบนี้ สุดยอดหละ

เราจะไม่เห็นคนในเมืองหรือหมู่บ้านจัดสรรเขาทำแบบนี้ ควักเงินอย่างเดียวจ้างเต้นท์ ชุมชนเงินตราหรือจะมีทุนทางสังคมมากกว่าชุมชนชนบท ..

บันทึกนี้ช่วยเปิดลิ้นชักความทรงจำอีกส่วนหนึ่งของอ้ายครับ

เคยไปนอนป่าเพื่อเก็บตองตึงกับคณะของพ่อและลุงๆ

เก็บแต่เช้า น้ำเหมยยังพรมใบตอง

เคยอยู่ตูบมุงตองตึง

คิดฮอดงานปอยที่มีผามตองตึง มีช่างซอ

ขอบคุณพี่น้องกำแพงเพชร ที่ยังมีตองตึงให้นึกถึง

ขอบคุณพ่อน้องไผ่ครับ

เคยเห็น เคยได้อยู่ใต้หลังคาตองตึงค่ะ แต่เพิ่งจะทราบกระบวนการและวิธีการที่นี่ ขอบคุณนะคะที่ถ่ายรูปเป็นข้นเป็นตอนให้เห็นกระบวนการชัดเจน และเล่าเรื่องได้เห็นภาพองการร่วมแรงร่วมใจ

เป็นการรู้จักใช้ทุนทุกอย่างในพื้นที่ ในชุมชน อย่างแท้จริงอย่างรู้จักตนเอง ภูมิใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำนะคะ  เป็นมิติที่คนสมัยนี้ไม่ใส่ใจสักเท่าใด ทุกอย่างต้องการแต่สะดวก เร็ว ดูทันสมัย

  • นึกถึงตอนเด็ก ๆ เคยอยู่บ้านที่"แอ้ม" ด้วยใบตองแบบนี้
  • บุญมหาชาติแต่ก่อนก็ทำแบบนี้ครับ
  • แต่ทุกวันนี้ใบตองกุง ตองซาด หายาก หาไม่ได้
  • ต้นไผ่ลำละ 30 บาท
  • ไม่มีแรงงานทำ
  • เช่าเต้นถูกสุด..
  • ขอบคุณที่ช่วยลำรึกอดีตชาติ(นี้)ครับ

สวัสดีครับ

  • ถืมตอง ชื่อหมู่บ้านและตำบล หนึ่ง ที่ จ.น่าน  อยู่ที่ อ.เมืองน่าน สงสัยมีที่มาจากนี่
  • บ้านพี่ พยอม นั่นเอง

P

  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสได้เห็นกิจกรรมเหล่านี้
  • ทุนทางสังคม..ใช่เลยครับ เป็นทุนที่มีอยู่ในชุมชนนี้อย่างมหาศาลประมาณค่ามิได้
  • นอกจากการรวมแรงแล้ว  ผมยังเห็นการระดมทรัพยากรที่แต่ละครัวเรือนพอมีอยู่  มาสนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ดำเนินไปด้วยดี เช่น การนำขนุน  ฟัก ผักต่างๆ มารวมกันเพื่อทำอาหารกลางวันเลี้ยงคนที่มาช่วยงาน
  • ข้าวสารที่ใช้ก็นำมาจากข้าวสารที่เก็บไว้จากวันตักบาตรเทโวเมื่อวันออกพรรษา  นำกลับมาใช้ประโยชน์แก่ชุมชนอีก
  • ขอบพระคุณมากครับ

P

 

  • สวัสดีครับอ้าย เป-ลี่-ยน
  • อิอิ....อ้ายคงกึ๊ดเติงหางานปอยหลวงทางบ้านเฮานะครับ
  • ที่นี่ก็จะมีงานปอยหลวงครับ วันที่ 15-16 มีนาคมนี้
  • มีซอในงานทั้ง 2 วันครับ เป็นจ๊างซอที่มาจากเชียงใหม่
  • คนที่นี่เขายังรักษาฮีตฮอยดั้งเดิมไว้ครับ 
  • ผมยังสนใจที่จะศึกษาว่ามีเหตุผลใดที่ทำให้ชุมชนนี้ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมไว้ได้หลายๆ อย่าง ทั้งๆ ที่ชุมชนเดิมสิ่งเหล่านี้ได้จางหายไปหมดแล้ว (มีหลายหมู่บ้านครับที่เป็นคนเมืองอพยพเข้ามาอยู่)
  • ขอบคุณมากครับ  แล้วจะนำภาพบรรยากาศงานปอยหลวงมาฝากในบันทึกต่อไปเน้อ

P

 

  • สวัสดีครับ อ.คุณนายดอกเตอร์
  • จริงอย่างที่อาจารย์ว่าไว้เลยครับ คนสมัยนี้ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องเหล่านี้มากนัก
  • เขาชอบความสะดวกสบาย อะไรๆ ก็จะใช้เงินอย่างเดียว วิถีของตนเองหาว่าไม่พัฒนา-ไม่เจริญ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาแลกเปลี่ยน

P

 

  • สวัสดีครับ อ.เกษตร(อยู่)จังหวัด
  • โชคดีที่ชุมชนนี้ยังพอมีทรัพยากรเหล่านี้ให้ได้ใช้
  • ไม้ไผ่ก็มีมากมายในหมู่บ้าน  ใบตองตึงชาวบ้านร่วมกันไปเก็บที่ป่าในศูนย์ราชการจังหวัดนี่เองครับ  ซึ่งมีมากมายแถมบางคนยังได้ผักสาบติดมือกลับมาอีกด้วย (คนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ใช้จึงมีเหลือเฝือ)
  • อิอิ....คิดถึงอดีตแสดงว่าเริ่มจะเป็น ส.ว.แล้ว
  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาแลกเปลี่ยน

P

 

  • สวัสดีครับพี่ชัยพร
  • ใช่เลยครับ ถืมตองคำๆ เดียวกันครับ ใช้ทำฝาหรือหลังคาชั่วคราว
  • แต่หากเป็นหลังคาที่มุงด้วยใบตองตึง จะทำอีกวิธีหนึ่ง เรียกว่าการไพตองตึง เรียงเป็นไม้ๆ ทีละตับ  คล้ายๆ กับการทำหญ้าคา

P

 

     ตามเข้าไปอ่านมาเรียบร้อยแล้ว  ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีครับ

  • เป็นกิจกรรมเพื่อความรักตวามสามัคคีของคนในชุมชน
  • เมือคนหลายคนมาพบกัน ก็เกิดการระดมความคิด
  • แล้วก็เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่าง
  • และเกิดการพัฒนาต่อยอดขึ้นไป   ..นี้คือภูมปัญญาชาวบ้าน
  • หาผู้สืบทอดเถอะครับ
  • สวัสดีค่ะ
  • ตามพี่บางทรายมาอ่าน
  • ทำให้ได้ระลึกถึงวันเวลาที่เคยได้นั่งอยู่ใต้หลังคาแบบนี้
  • และวันนี้จึงได้รู้ถึงวิธีทำ
  • ขอบคุณนะคะ ที่นำมาแบ่งปัน

P

 

  • สวัสดีครับพี่ไมตรี
  • ในชุมชน-ชนบท ยังคงมีอยู่นะครับ แต่อาจจะไม่ทุกพื้นที่
  • บางส่วนก็อาจจะหายไปบ้างแล้ว
  • หากมีการกระตุ้นและฟื้นฟู อาจทำให้สิ่งดีๆ หวลกลับคืนมาสู่สังคมได้นะครับ

P

 

  • สวัสดีครับ อ.ดวงพร
  • ยินดีที่ได้ ลปรร.ผ่านทางบล็อกนะครับ
  • ตอนเป็นนักเรียน ผมมีโอกาสเข้าไปส่ง-รับ เพื่อนๆ ที่เรียนโรงเรียนมงคลวิทยาทุกวันครับ
  • แต่ผมเรียนที่ รร.จักรคำฯ (เป็นลูกศิษย์ของ อ.มล.ฐากูร สุขสวัสดิ์ ตอนเรียน ม.ศ.ปลาย)
  • หมู่บ้านที่ผมบันทึกมานี้  ส่วนใหญ่เป็นคนเมืองจาก อ.เถิน จ.ลำปาง ที่อพยพไปอยู่ จ.กำแพงเพชร เมื่อ 40-50 ปีก่อน
  • หลายกิจกรรมยังคงรักษาไว้เหมือนท้องถิ่นดั้งเดิม
  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนและ ลปรร.

สวัสดีค่ะ

- ตามคุณบางทรายมาค่ะ

- เดี๋ยวนี้หายากค่ะ..งานลงแขก...เหมือนคุณเกษตรจังหวัดว่าไว้ค่ะ

P

 

  • สวัสดีครับ อ.พรรณา
  • ยินดีที่ได้ ลปรร.ครับ
  • เดี๋ยวนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก  วัฒนธรรมเดิมๆ ของชุมชน ได้เปลี่ยนแปลบงไปเกือบหมดแล้ว
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ ไม่ทราบว่ารบกวนรึเปล่า คือตอนนี้กำลังหาคนขายและรับจ้างทำหลังคาตองตึงค่ะ พอดี่จะสร้างศาลาในกรุงเทพฯ หาในอินเตอร์เนต หายากมากค่ะ ไม่ทราบว่าอาจารย์ พอจะมีที่แนะนำมั้ยคะ ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีครับคุณวิ
  • น่าจะหายากนะครับใน กทม.
  • มุงจากน่าจะหาได้ง่ายกว่านะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท