296 นักศึกษาพันธุ์ใหม่


(คำเตือน เป็นบันทึกยาว)

ผมขอต่อยอดจากหลายๆบันทึกของท่านครูบาฯ ที่กล่าวถึง นักศึกษาพันธุ์ใหม่ควรจะเป็นอย่างไร?”  สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่งเท่านั้นที่มีฐานจากลักษณะงานของผม โดยเฉพาะโครงการที่ผมรับผิดชอบอยู่ เป็นสถานที่ฝึกนักศึกษาบ้างบางปี รับนักศึกษาใหม่มาทำงานด้วย ต่อไปนี้เป็นประเด็นที่พบเห็น ครับ

 

ต้องการเด็กที่มีประสบการณ์ หรือเด็กใหม่

   

v    เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สวนทางกันระหว่างผู้รับผิดชอบโครงการกับเจ้าของโครงการ กล่าวคือ ผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการอย่างผมนี้ ต้องการเด็กที่มีประสบการณ์อย่างน้อย 1 ปีมาร่วมงานด้วย เพราะพื้นฐานการทำงานพัฒนาชนบทแบบโครงการชั่วคราวนั้นต้องการคนที่มีลักษณะพิเศษ คือ ยอมรับสภาพการทำงานว่าต้องอยู่ในชนบท คลุกคลีกับชนบท ซึ่งจะไม่มีความสะดวกสบาย สีสันต่างๆจะไม่มี โทรมือถือไม่ได้ ไม่มี Lotus, Big C ไม่มี KFC ไม่มีห้าง ฯลฯ หากเอาเด็กใหม่เข้ามา และเกิดได้คนที่คิดว่าทำงานได้ แต่พอเข้าชนบทจริงๆทนไม่ได้ มาลาออกกลางคัน  งานของเราเสียหาย ต้องหาคนมาใหม่เรื่อยๆ ไม่ไหว

v    แต่หากต้องการเด็กที่มีประสบการณ์ก็ต้องให้ค่าตอบแทนสูงขึ้น  เจ้าของโครงการก็ว่า งบประมาณด้านบุคลากรโป่งเกินไป ให้เอาเด็กใหม่มาฝึกเอา ค่าตอบแทนลดลงมา แต่ฝึกมากๆหน่อย

v    อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนอดีตตัวเองว่า หากจะเอาแต่คนมีประสบการณ์ เมื่อไหร่เด็กจบใหม่จะมีงานทำซะทีล่ะ  ไปที่ไหนก็รับสมัครแต่คนที่มีประสบการณ์ ไม่ให้ผมทำงานเด็กใหม่อย่างผมจะมีประสบการณ์ได้อย่างไร..

 

ต้องการคนที่ตั้งใจเรียนรู้

v    เป็นคุณสมบัติที่สูงสุด แต่วัดยากที่สุดในช่วงกระบวนการคัดเลือก เพราะการคุยกันแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงแล้วจะดูออก ไม่ออกหรอกครับ ก็ไหนๆเอาเด็กใหม่เข้ามาทำงาน ก็ได้ เราจะฝึกให้ แต่พ่อเจ้าประคุณทูนหัว ทูนเกล้า อีฟังเฉยๆ อีไม่ถามสักแกะ.. จดก็ไม่จด นั่งตาลอยคิดถึงกิ๊กคนไหนก็ไม่รู้  เอาสมุดให้เอาปากกาให้ก็จดอะไรไม่เป็นประเด็น  สาระหลักๆเก็บไม่ได้ หรือว่าเด็กเขาไม่ได้เรียนคัดย่อ เลยนึกไปถึงว่าเวลาเขาฟังอาจารย์เลกเชอร์นั้นเขาบันทึกได้อะไรบ้าง   เราอุตสาห์สรุปให้ฟังว่าคนที่จะทำงานพัฒนาชนบทได้นั้นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องชนบทอย่างไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ฯ เธอมีวิชาชีพมาแล้ว ไม่ว่าจะจบเกษตร วิศวะ รัฐศาสตร์ สังคมฯ แต่ต้องไปทำงานกับชาวบ้านจึงต้องเข้าใจชาวบ้าน ควรเข้าใจชาวบ้านในเรื่องอะไรบ้างล่ะ ...เราร่ายยาวไป จบแล้ว พ่อเจ้าประคุณถามว่า มีเอกสารแจกไหม จะไปอ่านเอา.. เอกสารน่ะมีแต่ไม่แจก เราต้องการให้จด เพราะการจดคือการบันทึกในส่วนที่เข้าใจ และประเด็นที่สำคัญๆ  ที่ผ่านมาอาศัยเรารู้จักกับทีมอาจารย์ที่ปรึกษาของเด็กใหม่ ก็คุยกันตรงๆ เด็กคนนี้เป็นไง นอกเหนือกระบวนการรับสมัครตามปกติ  หรือหากไม่รู้จักอาจารย์ที่ปรึกษาก็ติดต่อ References ที่เด็กอ้างอิง หรือ จากหนังสือ Reccommendation ที่แนบมากับใบสมัคร เพื่อสอบถามข้อมูลเฉพาะด้าน หรือข้อมูลอื่นๆที่ต้องการเพิ่มเติม

 

คิดไม่เป็น อยากให้ทำอะไรขอให้บอก

 

v    อันนี้ประสบมากครับ เด็กไม่มีจินตนาการว่าการเข้าทำงานพัฒนาชนบทนั้น สิ่งที่ต้องรู้และควรรู้มีอะไรบ้าง  เอ้า บอกให้ก็ได้ เราก็ทำรายการข้อมูลต่างๆให้ รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ผ่านช่วง Orientation มาแล้ว บางโครงการเราใช้เวลาช่วงนี้มากจริงๆเป็น 2-3 เดือนเลย ซึ่งเราเรียกว่า On the job training (OJT)  แบบทำงานไปก็มานั่งคุยกันสัปดาห์ละครั้ง อันนี้ดีมาก หลายคนพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่บางคน ต้องป้อนเป็นคำคำกัน เหมือนกับต้องสร้างคู่มือ แต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง เช้าจดเย็น

v     เราอยากได้คนแบบว่า เอาปล่อยป่าโดยไม่มีอะไรเลยแล้วให้เขามีชีวิตรอดเอาเอง เขาจึงต้องคิดว่า จะหาอาหารที่ไหน จะกินน้ำที่ไหน จะทำอย่างไรจึงไม่เป็นเหยื่อสัตว์ร้าย พิจารณาสิ่งรอบตัวแล้วตัดสินใจทำในสิ่งที่จะให้ชีวิตรอด  เช่นเดียวกัน การทำงานพัฒนาชนบท เราต้องการให้เขาเข้าใจชนบท คน หมู่บ้าน สังคม วัฒนธรรมประเพณี ข้อมูลด้าน กายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม ฯ เขาควรที่จะคิดออกว่าจะไปหาข้อมูลเหล่านี้ที่ไหน เมื่อไหร่ กับใคร ฯลฯ ไม่ต้องมาคอยบอกเป็นรายวัน  ซ้ำร้าย เด็กบางคนคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรก็เลย นั่งเฉยๆ อ่านหนังสือพิมพ์ไป เสียบหูฟัง....

 

ทำการบันทึกสิ่งที่ทำ สิ่งที่เกิดขึ้น ข้อคิดเห็น

 

v    ดูเหมือนจะเป็นยาขมหม้อใหญ่ เพราะเด็กส่วนมากที่สุด บันทึกไม่เป็น หรือบันทึกแต่หาสาระไม่พบ

v    ตัวอย่างก็มีให้ดู Format ก็มีให้ เหลือแต่ว่าลงมือเขียนเท่านั้น ยากยิ่งที่สุด ต้องบอกกันเหมือนสอนเด็กน้อย

v    การทำงานแบบโครงการนั้น บันทึกรายวัน รายสัปดาห์ หรือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆนั้นจำเป็นมาก โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำลงไปต้องมีรายละเอียดทำบันทึกไว้ เพื่อนำไปเขียนรายงานไตรมาส หรือรายงานประจำปี และหรือเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการประเมินผลกิจกรรม โครงการ ผลงานบุคคล บันทึกเป็นสิ่งสำคัญมากๆ

 

บันทึกการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ

 

v    นอกจากบันทึกต่างๆที่เกิดขึ้นในสนาม ในชีวิตปกติประจำวันแล้ว บันทึกที่สำคัญยิ่งอีกอย่างคือบันทึกการประชุม ต้องยอมรับว่าไม่ง่ายนักสำหรับเด็กใหม่ๆ เพราะต้องเป็นคนที่มีความจัดเจนในเรื่องภาษา สำนวน คำที่ใช้ ศัพท์เฉพาะ ชื่อคน ตำแหน่งหน้าที่การงาน คำย่อต่างๆ  format ทางราชการ ทางธุรกิจ ฯ

v    ผู้ทำหน้าที่บันทึกจะต้องมีความสามารถพิเศษในรายละเอียดดังกล่าว ผู้ใหญ่บางคนละเอียดถี่ถ้วนมากในเรื่องบันทึกการประชุม ต้องอ่านทุกบรรทัด ต้องมีพจนานุกรมติดตัวเพื่อตรวจสอบคำถูกต้อง ที่สำคัญมันเป็นเอกสารทางราชการที่สามารถอ้างอิงได้ตามกฎหมาย จึงต้องทำอย่างถูกต้อง

v    เด็กใหม่กว่าจะฝึกได้ก็ขายหน้าไปหลายครั้ง แม้จะมีการตรวจสอบแล้วก็ตาม ไม่เท่าไหร่หรอก เรายินดีรับสภาพนั้น แต่สำคัญที่ว่าเขาอดทนและตื่นตัวที่จะเรียนรู้ในการพัฒนาความสามารถหรือเปล่า หรือเมื่อถึงการประชุมทีไร หน้าหงิกเป็น... เพราะเธอจะเครียด ต้องให้กำลังใจกัน เหมือนดันก้นขึ้นชกบนเวที อิอิ..

 

ไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบศึกษา ชอบให้เล่าให้ฟัง

 

v    เด็กในยุคสำเร็จรูปนี้ เป็นอย่างนี้กันหมด โยนหนังสือให้ก็ไม่อ่าน ทำเอกสารคัดย่อให้ก็ไม่ศึกษา   แต่..พี่ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย ดิ ดิ..  น่าหยิกให้เนื้อเขียวเชียว พี่ก็มีงานล้นมือน้องที่รักจ๋า อ่านซะหน่อยซิจ๊ะ พ่อคุณทูนหัว.

v    สังคมที่ตื่นเช้าขึ้นมาก็มีรายงานสรุปข่าววันนี้ทางจอทีวี วิทยุ เลยไม่ต้องอ่านข่าวเอง  หนังสือพิมพ์ก็ไปอ่านโน่น..หน้าดาราบันเทิงโน่น.. พ่อมหาจำเริญ  แถมอะไรรู้ไหมครับ  อ่านหน้าประกาศรับสมัครงาน...เออ ต้องบอกกันตรงๆว่า หากไปจริง การทำหนังสือ Recommendation ให้นั้น พี่ขอเขียนแบบตรงไปตรงมานะ..อิอิ จ๋อยไปเลย..

 

ควรมีบุคลิกภาพแบบ Extrovert หรือ กล้าแสดงออก หรือเชิงรุก มิใช่ Introvert หรือเก็บตัวมากไป

 

v          งานพัฒนาชนบท เป็นงานที่ต้องเน้นการพัฒนาคน จึงต้องการคนที่ซักถาม พูด แสดงความคิดเห็น นำเสนอ ฯ จึงต้องกล้าแสดงออก  มิใช่เงียบกริบ ไม่พูดไม่จา ไม่ซักถาม ไม่นำเสนอ  แบบนี้ไม่เหมาะ

v          เพราะงานในสนามไม่มีสูตรตายตัว ต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพชุมชน สถานที่ ระบบนิเวศ คน ฯลฯ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นข้อเท็จจริงแล้วต้องกล้าแสดงความเห็นทันที  ไม่ใช่แล้วแต่พี่  แล้วแต่หัวหน้าไม่ได้ครับ

 

การเคารพกติกาของหน่วยงานและสังคม

 

v          การทำงานพัฒนาชนบทนั้นต่างจากการทำงานในสำนักงานมาก เพราะ การทำงานชนบทอิสระมากกว่าหลายเท่าตัว ไม่ต้องมานั่งจุมปุ๊กอยู่แต่เก้าอี้ แต่จะเดินทางไปพบชาวบ้านคนโน้นคนนี้ ไปดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปทำนั่นทำนี่ ฯลฯ โดยไม่มีหัวหน้างานอยู่ด้วยตลอด

v          จึงเป็นการทำงานแบบ ให้เกียรติกัน เคารพกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน มิเช่นนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่สนามอาจจะหลบไปหลับที่ไหนๆก็ได้  หรือหนีไปเที่ยวที่ไหนๆก็ไม่มีหัวหน้างานเห็น เหล่านี้ต้องการคนที่มีวุฒิภาวะสูงมากๆ

v          ต้องเป็นคนที่ต้องเคารพกติกาของสำนักงาน ของสังคมทั้งในแง่ กฎหมายทั่วไปและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และลักษณะเฉพาะของชุมชนนั้นๆ

v          เด็กหลายคนขับมอเตอร์ไซด์ผ่าไฟแดง ต่อหน้าคนอื่นๆ บางคนขับรถซิ่งในหมู่บ้านกลายเป็นแบบอย่างของวัยรุ่นที่ชอบในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว...

 

ข้อคิดเห็นทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น มีปลีกย่อยอีกมาก และทั้งหมดนี้มิใช่ว่าจะเป็นจุดอ่อน จุดด้อยของเด็กใหม่ทั้งหมด  เป็นการเก็บประเด็นจากที่เห็น และประสบมากับตัวเองจากเด็กใหม่หลายๆคน

 

ในแง่นักศึกษาพันธุ์ใหม่ต่องานพัฒนาชนบทนั้น ข้อคิดเห็นเหล่านี้น่าจะบอกได้บ้างว่าคือคุณสมบัติที่เราต้องการ

 

 

ประเด็น คนพันธุ์ใหม่

ตัวอย่าง คุณสมบัติในงานพัฒนาชนบท

ความรู้ความสามารถ

·        ทำบันทึกงานประจำวันได้

·        ทำบันทึกการประชุมได้

·        จัดประชุมชาวบ้านได้ นำการประชุมได้ สรุปสาระการประชุมได้

·        ประสานงานกับผู้นำและราชการพื้นที่ได้

·        รู้จักและเข้าใจวัฒนธรรม ประเพณีเฉพาะของท้องถิ่น และเคารพ ปฏิบัติตาม

·        สามารถดำรงชีวิตในชนบทได้อย่างสอดคล้อง

·        เข้าใจและยอมรับหลักการพัฒนาชุมชนขั้นพื้นฐาน

·        มีวุฒิภาวะสูงในการคิด ปฏิบัติ

·        มีทักษะในการนำหลักการสู่การปฏิบัติง่ายๆ

จิตสำนึก

·        เข้าใจหลักที่ว่า คนเหมือนกันแต่โอกาสทำให้คนต่างกัน

·        ไม่ลบหลู่ ดูถูกความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น

·        นอบน้อมต่อผู้เฒ่า ผู้นำชุมชน และผู้สูงอายุดุจญาติมิตรของเรา

·       

หมายเลขบันทึก: 172532เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2008 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีพี่บางทราย

หนูขออนุญาตนำบันทึกนี้ประกอบในการสอนนักศึกษาด้วยนะค่ะ

กราบขอบพระคุณคะพี่บางทราย

ด้วยความยินดีครับน้องหมูครับเอาเลยครับ

พี่เอามาบางส่วนเท่านั้นครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • อิอิ  ขออนุญาตนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่และประกอบการบรรยายครับ
  • ขอบพระคุณคร้าบบบบ
  • อิอิ

น้องสายลมP  3. นายสายลม อักษรสุนทรีย์

ด้วยความยินดีครับ  ไปต่อยอดเอาเลยนะครับ

  • สวัสดีค่ะพี่บางทราย
  • ได้รับประโยชน์จากบันทึกนี้อีกแล้วค่ะ
  • ขอบพระคุณนะคะ

สวัสดีครับน้อง 5. dd_L

 

ดีใจครับที่บันทึกมีประโยชน์แก่สาธารณะ ขอบคุณ G2K ขอบคุณทีมงานที่มีสื่อกลางให้คนได้เรียนรู้แก่กันครับ

เอาไปทำทานความรู้ต่อ

ข้อมูลประกอบเรื่อง จากบางทราย

http://gotoknow.org/blog/dongluang/172532

 

สวัสดีค่ะ

โชคดีจังเลยที่มาเจอบันทึกนี้   คนไม่มีรากกำลังอยากเป็นนักศึกษาพันธุ์ใหม่ ช่างเหมาะเจาะดีเหลือเกิน

ออกจากการเป็นข้าราชการพันธุ์เก่าแล้ว  แต่ยังเคว้งคว้าง หาหลักว่าจะเป็นพันธุ์ไหนต่อไปดี

ขอบคุณค่ะ จะเอาไปปรับใช้

แหม มาอ่านทีไรก็ข้อคิดกลับไปทุกครั้งเลยนะคะ

วิธีเป็นนักศึกษาพันธ์ใหม่นี่ถ้าจะบอกว่า มีนิสัยเป็นคนเมือง คือ กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ มั่นใจในตนเอง เรียนรู้และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่เสมอ แต่มีทัศนคติเป็นคนชนบท คือ ไม่ยึดติดกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ใจกว้าง ไม่ลบหลู่สิ่งที่เป็นความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะถูกรึป่าวนะคะ

แต่ยังไงก็ตาม การเป็นนักศึกษาพันธ์ใหม่นั้น ก็ไม่ง่ายเลยนะคะ เพราะว่าเค้าต้องเปลี่ยนทัศนคติเป็นสำคัญ ขอขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับ P 8. คนไม่มีราก


โชคดีจังเลยที่มาเจอบันทึกนี้   คนไม่มีรากกำลังอยากเป็นนักศึกษาพันธุ์ใหม่ ช่างเหมาะเจาะดีเหลือเกิน

ขอบพระคุณมากครับ 

ผมเพียงคิดว่าประเด็นของท่านครูบานั้น ผมมีบทเรียน(บางส่วน) จึงอยากแสดงออกมาสู่สาธารณะ อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งในอีกจำนวนมากๆที่ท่านอื่นๆยังไม่ได้แสดงออกมาครับ

ออกจากการเป็นข้าราชการพันธุ์เก่าแล้ว  แต่ยังเคว้งคว้าง หาหลักว่าจะเป็นพันธุ์ไหนต่อไปดี

ผมเพียงหยิบเอาความคิดเห็นส่วนตัวออกมาแสดง หากประสบการณ์นี้พอจะมีประโยชน์บ้างก็ยินดีครับ  ผมเองก็อยากเรียนรู้จากท่านด้วยเหมือนกันครับ

บันทึกนี้มีปัญหาตอนบันทึกครับ  ความจริงสาระที่ผมเขียนมีมากกว่านี้ แต่มันหายไป เดี๋ยวผมพยายามใหม่ครับ

สวัสดีครับ P  9. หัวใจติดปีก

แหม มาอ่านทีไรก็ข้อคิดกลับไปทุกครั้งเลยนะคะ

ขอบคุณครับ หัวใจติดปีก

วิธีเป็นนักศึกษาพันธ์ใหม่นี่ถ้าจะบอกว่า มีนิสัยเป็นคนเมือง คือ กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ มั่นใจในตนเอง เรียนรู้และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่เสมอ แต่มีทัศนคติเป็นคนชนบท คือ ไม่ยึดติดกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ใจกว้าง ไม่ลบหลู่สิ่งที่เป็นความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะถูกรึป่าวนะคะ

ผมคิดว่าเราไม่สามารถย้อนกลับไปสู่อดีตได้ แต่เราไม่ควรลืมอดีต โดยเฉพาะสิ่งดีดี ที่มีความหมาย หรือเป็นสิ่งที่สังคมนั้นๆยอมรับ แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็อย่าไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า  ผมชอบวิธีการทำงานของ มิชชั่นนารี ในการเผยแพร่ศาสนา  ท่านเหล่านั้นทำอย่างเข้าใจคน สังคม วิถีคน วิถีสังคม ฯลฯ นิ่มนวน ใช้เวลาในการเปลี่ยนคน และใจเย็นๆ ใช้ความรักเป็นฐานของการทำงาน ใช้ใจถึงใจทำงาน แม้จะเหน็ดเหนื่อยแสนเหนื่อย แล้วค่อยๆสอดแทรก...การทำแบบนี้ บางคนคบกันไม่นานก็เปลี่ยนศาสนา บางคนใช้เวลาเป็นสิบปีจึงเปลี่ยน 

การพัฒนาคนในระบบการพัฒนาปัจจุบัน ไม่ได้น้อมนำแนวทางแบบนี้มาศึกษา ปรับใช้  ตรงข้ามอาจหาญว่ามีเครื่องมือวิเศษ ทำงานเพียง 2 ปี 3 ปีจะให้ชาวบ้านเปลี่ยนอย่างนั้นอย่างนี้

ชาวบ้านเขาเข้าใจระบบ เขาก็หลอกเอา ช่วงที่ท่านยังทำงานอยู่ก็ตอบสนอง  แต่พอย้ายไปก็หยุด เลิกกัน  เป็นส่วนใหญ่...ครับ 

แต่ยังไงก็ตาม การเป็นนักศึกษาพันธ์ใหม่นั้น ก็ไม่ง่ายเลยนะคะ เพราะว่าเค้าต้องเปลี่ยนทัศนคติเป็นสำคัญ ขอขอบคุณมากค่ะ

ใช่ครับน้องสาว เพราะเราส่วนใหญ่เป็นคนเมือง เรามีเบ้าหลอมชีวิตมาจากสังคมเมืองเป็นส่วนใหญ่ จึงผิวเผินต่อ "ด้านลึกของวิถีชนบท"  

ผมเคยยกตัวอย่างว่า การที่ชาวบ้านไปทำบุญทุกวันพระนั้น มีความหมายมาก มาก มากกว่าพิธีกรรม

  • เป็นการแสดงความเคารพต่อศาสนา ด้านลึกคือละเลิก และถือศีล  อย่างน้อยที่สุดก็วันหนึ่งในสัปดาห์
  • เป็นการพบปะกันระหว่างคนในชุมชน  แน่นอนหลายคนพบปะประจำวันอยู่แล้ว  แต่หลายครอบครัวไม่ได้พบกัน วันพระเป็นวันที่มาพบกัน  การมาพบกันคนจำคุยอะไร  ก็ถามสารทุกข์สุขดิบ ป้าเป็นไง ลุงสบายดีหรือ ลูกเรียนที่ไหนฯลฯ  ด้านลึกนี่คือการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคมชุมชน มีใจต่อกัน แสดงน้ำใจต่อกัน
  • พ่อแม่จะพาลูกหลายไปด้วย  การที่เด็กๆไปด้วย พ่อแม่จะแนะนำลูกว่า ท่านนั้นคือลุงเรานะ ท่านนี้คือป้า ไปกราบซิลูก  ด้านลึกคือการสานต่อเครือญาติ เป็นการส่งไม้ต่อทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ การต่อสายจากรุ่นสู่รุ่น  เห็นไหมคนเมืองนั้น นานๆพ่อแม่มักจะบอกว่า คนเดี๋ยวนี้ไม่รู้จักญาติพี่น้องกันแล้ว  เพราะวิถีเปลี่ยนไป
  • ที่ภาคกลางจะมีการแลกเปลี่ยนอาหารกันหลังทำบุญแล้ว  แลกกับข้าว แลกขนม  ด้านลึกนี่คือการเรียนรู้วัฒนธรรมการแบ่งปันกัน  วัฒนธรรมอาหาร เมื่อเอาไปถึงบ้านก็เอามากิน ก็จะติชมว่าแกงบ้านนี้อร่อย ต้มบ้านนั้นเค็มไป จึงเกิดการเรียนรู้ทางอ้อมในเรื่องวัฒนธรรมการประกอบอาหารด้วย
  • มีการถือศีลของคนเฒ่าแก่ที่วัดในวันพระ  คนเฒ่าทั้งหญิง ชาย จะจำศีลอยู่ที่วัดเป็นกลุ่ม  สังคมที่นั่นก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันยามแก่เฒ่า เล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็ตั้งมั่นถือศีล สวดมนต์ ไหว้พระ จิตใจสงบ ร่วมเย็น  เป็นทางออกที่ดีมากๆสำหรับสังคมคนแก่เฒ่าในชุมชน เสียดายปัจจุบันหายากเสียแล้ว
  • ผมชอบกลอนบทนี้ครับ

วัดจะดี มีหลักฐาน เพราะบ้านช่วย

บ้านจะสวย เพราะมีวัด ดัดนิสัย

บ้านกับวัด พลัดกันช่วย  ยิ่งอวยชัย

ถ้าขัดกัน ก็บรรลัย ทั้งสองทาง

 

สังคมชุมชน ประเพณีชุมชนมีความหมายมากกว่าพิธีกรรมครับ

สิ่งเหล่านี้นักศึกษาพันธ์ใหม่ ก้าวข้ามเลยไปไกลแล้ว

นี่คือทุนทางสังคม เป็นฐานที่สำคัญของทุนทางสังคมครับ ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นในชุมชนและถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น

นักศึกษาพันธุ์ใหม่เห็นเหล่านี้บ้างหรือเปล่า หากจะไปทำงาน "กับคน กับชุมชน" ครับ  ผมเชื่อว่า มีจำนวนไม่น้อยพอเข้าใจ และมึอีกจำนวนมากห่างวัดเหลือเกิน  แล้วจะไปทำงานพัฒนาชุมชนได้อย่างไร ?????

 

ขอบคุณน้องสาวครับ

ตามมาอ่านอีกรอบ พร้อมกับ เก็บเอา ไปคิดว่า จริงๆแล้ววิถีชีวิตที่แสนจะธรรมดาในชนบทต่างๆ แฝงไปด้วยทฤษฎีการเรียนรู้ และวิธีการสืบสานวัฒนธรรมที่แยบยล จนไม่รู้ตัวเลยนะคะ ทำให้ทราบเลยว่า ที่วัฒนธรรมเรายังคงอยู่ได้มาตราบเท่าทุกวันนี้นั้น ต้องกลับไปกราบเท้าขอขอบคุณ บรรพบุรุษของเราที่มองการไกล มีวิสัยทัศน์ แอบส่งต่อวัฒนธรรมผ่าน ความเชื่อ วิถีชีวิต ของแต่ละบ้าน รวมเป็นหลายๆ บ้าน เกิดเป็นชุมชน เป็นสังคมขึ้นมา และในที่สุดก็กลายเป็นวัฒนธรรมของเรา อย่างนี้ ถ้าเราไม่สืบทอด แล้วใครจะมาสานต่อ ล่ะเนี่ย

แหะๆ ลืมขอบคุณ

ขอบคุณมากนะคะ

น้องสาว P 13. หัวใจติดปีก

 

เยี่ยมเลยที่น้องสาวสรุปเช่นนั้น  ถูกใจเผงเลย

ประเด็นสำหรับคนทำงานพัฒนาคือ จะมีแนวทางในการสืบสานวัฒนธรรมของเราอย่างไร ในรูปแบบไหน อย่างไร ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์เช่นที่เราทราบนี้ครับน้องครับ  ทิ้งเป็นประเด็นอย่างนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท