เครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชน (เรื่องเล่าจากศูนย์ข้อมูลฯ ตอนที่ 1)


ผมไม่รู้หรอกว่าศูนย์ข้อมูลจะมีประโยชน์หรือไม่ เพราะผมไม่ใช่คนทำข้อมูล ผมไม่ใช่คนใช้ข้อมูล อีกทั้งศูนย์ข้อมูลก็ยังไม่เกิดขึ้น ที่เราพูดมาเสียยืดยาวในหลักการและเหตุผลนั้น อย่านำมากล่าวอีกเลย มันน่าเบื่อ เพราะเราเองก็ไม่รู้หรอกว่า มันจะเป็นจริงหรือเปล่า เราเพียงคาดเดาไปเองเท่านั้นแหละ

เรื่องเล่าจากการประชุมทำความเข้าใจแกนนำชุมชนโครงการศูนย์ข้อมูลเครือข่ายความรู้ภาคประชาชนจังหวัดระยอง 2 พฤษภาคม 2549 ณ ที่ทำการชุมชนลุ่มน้ำประแสร์ เวลา 10.00-15.00
                คณะของเราซึ่งประกอบด้วย พี่ดนัย  คุณรัชพล (สุภรัฐ)  คุณนณพรรณ และน้องสาวตัวเล็ก  และผม (สวัสดิ์) รวมทั้งผู้ใหญ่ชาติชายที่เราแวะรับในตลาดแกลง  เดินทางมาถึงที่ทำการของเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำประแสร์ 4 ตำบลหลังคณะของ พอช. ที่ประกอบด้วยคุณธนวิทย์ คุณอภินันท์ คุณปรกฤต ซึ่งติดรถของ พอช. มาจากกรุงเทพฯ รวมทั้งคณะทำงานของ พอช. อีก 4 ท่าน

                เวลาที่พวกเราเดินทางมาถึงเป็นเวลาใกล้ 10 นาฬิกา แล้ว ท่าน (อดีต) ผู้ใหญ่สอิ้ง ซึ่งเป็นแกนนำของเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำประแสร์ออกมาต้อนรับผู้มาเยือนด้วยชุดประจำถิ่นที่เป็นกางเกงชาวเลซึ่งมีทรงคล้ายกางเกงขาบานในยุค 70 มองดูแตกต่างจากกางเกงชาวเลของปากพนังตรงที่  ของปากพนังขาสั้นและบานกว่า

                เมื่อพวกเราเข้ามานั่งในศาลาที่ทำการของชุมชนฯ ซึ่งมีคณะของ พอช. และแกนนำชุมชนนั่งรออยู่ก่อนแล้ว  การสนทนาก็เริ่มดำเนินขึ้นโดยคุณปรกฤต  ผู้ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการดำเนินงานให้เป็นทางการ  มีความชัดเจนตามแบบฉบับนักวิชาการตัวจริง  หลังจากที่ล้มเหลวในการให้ผมเป็นผู้ดำเนินรายการ  เพราะเห็นท่าว่าผมจะพาชาวบ้านออกนอกเรื่องมากกว่าที่จะพูดคุยให้ตรงประเด็นและชัดเจน

                คุณปรกฤตทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม  ประกอบกับมีผู้ใหญ่ชาติชาย  คุณรัชพล คุณธนวิทย์ และคุณอภินันท์ ช่วยผมให้รอดชีวิตจากเวทีแรกมาได้  เพราะถ้าปล่อยให้ผมพูดชี้แจงทำความเข้าใจแกนนำ  แทนที่แกนนำจะเข้าใจผมเกรงว่าแกนนำจะวกวนอยู่ในเขาวงกตจนหาทางออกไม่ได้  ประเด็นนี้อาจถูกในมุมมองของนักวิชาการ  ที่สรุปเอาจากการคาดเดาโดยเหตุผลที่ตัวเองยกมาอ้าง  แล้วก็หาเหตุผลอีกชุดหนึ่งมาอ้างอีกเพื่อหาความชอบธรรมให้เหตุผลชุดแรก  จึงทำให้เชื่ออย่างสนิทใจว่าข้อสรุปนั้นถูกต้องอย่างไม่มีข้อสงสัย

                ในทัศนะของผม  ซึ่งผมประจักษ์ด้วยตนเองแล้วว่า  ผู้ที่เชื่อว่าและเรียกตัวเองว่า “นักวิชาการ” ไม่ใคร่จะปลื้มนักในทัศนะของผม  ที่เห็นว่า  เรื่องของชุมชน  เรา (ยิ่งอยู่ในฐานะผู้อำนวยการโครงการอย่างผมด้วยแล้ว) ไม่รู้  หรือรู้ให้น้อยที่สุดจะเป็นประโยชน์กับชุมชนมากกว่า  แต่ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า  เรามาทำงานเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง  ไม่ใช่ห่วงแต่เป้าหมายของตัวเอง  จนชุมชนไม่มีโอกาสเรียนรู้จากการได้คิดเอง  ทำเอง  โดยปลอดจากการครอบงำและการชี้นำ  ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม  อย่างไรก็ตาม  เจตนาของผมดูเหมือนนักวิชาการจะมองไม่เห็น  รวมทั้งผมก็จะไม่ชี้ให้นักวิชาการเห็นเจตนาของผม  เพราะผมก็ต้องการให้นักวิชาการได้เรียนรู้เหมือนกัน  สรุปว่า  ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร  สิ่งที่เราได้แน่นอนคือการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม
                ในวงสนทนา  ผมอยู่ในฐานะตัวประกอบตามที่ผมต้องการ  แม้คุณปรกฤตจะพยายามชงให้  ผมก็ดูเหมือนจะพาออกจากความชัดเจนตลอดเวลา  โดยเฉพาะเมื่อคุณปรกฤตชงลูกมาว่า “ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ  ผมอยากให้ ดร.สวัสดิ์  พูดถึงประโยชน์ของศูนย์ข้อมูลที่ชุมชนจะได้รับหน่อย”  ผมอาจทำให้หลายคนช็อก  เมื่อผมตอบว่า “ผมไม่รู้หรอกว่าศูนย์ข้อมูลจะมีประโยชน์หรือไม่  เพราะผมไม่ใช่คนทำข้อมูล  ผมไม่ใช่คนใช้ข้อมูล  อีกทั้งศูนย์ข้อมูลก็ยังไม่เกิดขึ้น  ที่เราพูดมาเสียยืดยาวในหลักการและเหตุผลนั้น  อย่านำมากล่าวอีกเลย  มันน่าเบื่อ  เพราะเราเองก็ไม่รู้หรอกว่า  มันจะเป็นจริงหรือเปล่า  เราเพียงคาดเดาไปเองเท่านั้นแหละ”  ผมยอมรับตรง ๆ เลยครับว่า  ที่ผมพูดออกไป  ผมรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ ผมใช้เหตุผลน้อยมากเมื่อผมเปลี่ยนมาทำงานกับชุมชน  ซึ่งผมก็ไม่ยืนยันว่าผมจะทำอย่างนี้ตลอดไป  ประสบการณ์คงจะสอนผมเองครับว่า  ผมควรจะเดินไปในทิศทางใดระหว่างเหตุผลหรือความรู้สึก
                คนในวงสนทนา  ยอมให้ผมแสดงความรู้สึกได้สักพัก  ก็มีหลายคนพยายามช่วยชีวิตผมไว้ครับ  ขอบคุณท่านเหล่านั้นที่เป็นห่วงครับ  คุณธนวิทย์พยามยามผมดึงเข้ามาสู่ลู่ทาง  โดยถามนำว่า “ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นน่ะมีอะไรบ้าง” ผมจึงพยายามเปิดไปอ่านในตอนที่ว่าด้วย “ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ” ผมดึงเวลาอยู่นาน  ความพยายามจึงเป็นผลครับ  ไม่ใช่ผมได้อ่านในสิ่งที่หาหรอกครับ  แต่เป็นเสียงจากแกนนำชุมชนตัวจริง ผู้ใหญ่ชาติชายครับ  คนที่ผมรอคอยให้เป็นคนพูดเรื่องนี้  แต่ถ้าผมจะเชิญให้พูดดูจะไม่เป็นธรรมชาติ  เพราะผู้ใหญ่ชาติชายมักไม่ค่อยจะพูดถ้าไม่มีใครเชิญ  ท่านคงเห็นผมกำลังจะจมน้ำครับ  จึงโดดลงมาช่วย
                ผู้ใหญ่ชาติชายจึงร่ายยาวประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนอีกคำรบหนึ่ง  หลังจากที่ช่วยผมชี้แจงหลักการและเหตุผลไปรอบใหญ่แล้ว  มนต์ของผู้ใหญ่ชงัดนักครับ  ผมเห็นประกายตาฉายออกมาจากแกนนำชุมชนแทบทุกคน  แววตาดังกล่าวบ่งบอกถึงความซาบซึ้งและความคล้อยตาม  แสดงว่าสมมติฐานของผมถูกต้องครับ  ที่ว่า  เรื่องของชุมชน เราที่เป็นคนนอกแม้จะมีดีกรีสูงเพียงขนาดไหนก็ตาม  ไม่ควรพล่าม  ให้ชุมชนพูดออกมาเอง  จะได้ผลกว่า  นี่เป็นบทเรียนที่ผมอาจจะหาโอกาสนำไปใช้ในโอกาสต่อไป  หากไม่มีใครจับได้เสียก่อน  แต่ก็ขอบคุณผู้ใหญ่ที่ช่วยผมให้รอดทุกที  เพราะถ้าผู้ใหญ่ไม่ช่วย  ผมคงจมน้ำตายจริง ๆ ครับ  เพราะผมยอมรับว่าผมไม่รู้จริง ๆ ผมเบื่อที่จะท่องสิ่งที่ผมเขียนมาบอกชาวบ้านครับ  ผมจะเบื่อตัวเองมากหากทำอย่างนี้
                หลังจากที่ผู้ใหญ่ชาติชายพูดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน  วงสนทนาของเราโชคดีที่ได้มีโอกาสรับคำแนะนำจากผู้ใหญ่สมศักดิ์  แกนนำชุมชนตำบลสองสลึง  ผู้ที่เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนตัวอย่างหนึ่งของระยอง  คำพูดของท่านทำเอาผมแอบสำลักเล็ก ๆ โดยเฉพาะคำว่า “ลิเกเร่” ท่านขยายความเรื่องลิเกเร่ว่า “นักพัฒนาทั้งหลาย  ประดุจดั่งลิเกเร่  ที่เปิดวิกแสดง  เก็บเงินค่าวิก  ลิเกจบแล้วก็จากไป” ท่านกล่าวต่อไปว่า “เราอย่ามัวแต่เป็นลิเกเร่อยู่เลย  เปิดวิกถาวรเสีย  แสดงให้ดี  แล้วคนดูเขาจะมาหาเอง อย่างที่ผมกำลังทำอยู่  แต่ก่อนผมก็เคยเป็นลิเกเร่เหมือนกัน” (แม้จะโค้ดเป็นคำพูด  แต่เป็นโค้ดโดยใจความ  ผู้ใหญ่สมศักดิ์อาจไม่ได้กล่าวถ้อยคำโดยตรง  แต่ผู้เล่าจับใจความเป็นสำคัญ)

                ผู้ใหญ่ให้ข้อคิดกับพวกเราว่า  “ศูนย์ข้อมูลต้องมีศูนย์ที่ทำให้เห็นความสำเร็จเป็นต้นแบบสักแห่งก่อน  ชุมชนจึงจะบอกได้ว่ามีประโยชน์หรือไม่อย่างไร” ข้อนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากการนำชุมชนคนอื่น ๆ หลายคน  แล้วผู้ใหญ่ก็กล่าวต่อไปว่า “ทาง พอช. ควรจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูลที่มีอยู่เต็มไปหมดในชุมชน  แต่ชาวบ้านไม่ถนัดที่จะเก็บข้อมูล  หากมีคนลงไปเก็บจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่าชาวบ้านเก็บเอง” ประเด็นทั้งสองที่ผู้ใหญ่เสนอ  คุณปรกฤต ผู้ดำเนินรายการน้อมรับ  โดยผมเสริมว่า “ความคิดของผู้ใหญ่เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้ากว่าพวกเรามาก  ในเรื่องศูนย์ข้อมูล  เพราะผู้ใหญ่ไปถึงขั้นที่ต้องการคนลงไปถอดบทเรียนที่เป็นข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว  แต่ของเราเพิ่งเริ่มต้นที่ข้อมูลพื้นฐานเท่านั้นเอง” ผมเสริมต่อไปว่า “อย่างไรก็ตาม  เรื่องที่ผู้ใหญ่เสนอ  ก็มีอยู่ในศูนย์ข้อมูล  คือ ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น  แต่เรา (ศูนย์ข้อมูล) อยากให้ชุมชนเรียนรู้กันไปในเรื่องดังกล่าว”  ผมสังเกตเห็นว่าผู้ใหญ่มีความยินดีที่ได้ยินคำกล่าวเช่นนั้นเพราะผู้ใหญ่มีรอยยิ้มบนใบหน้า (ความจริงแล้วผู้ใหญ่ยิ้มตลอดเวลาที่คุยกับพวกเราครับ) และเชิญพวกเราไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงที่ตำบลสองสลึงในตอนเย็น

                เราสนทนาด้วยเรืองเบา ๆ หลังจากได้ข้อสรุปว่า  แกนนำทุกคนเห็นด้วยในความสำคัญของศูนย์ข้อมูลโดยเฉพาะแกนนำ 6 พื้นที่นำร่องที่ไม่ต้องพูดถึง  เพราะเราพบกันมาแล้วหลายครั้งก่อนที่จะมาถึงเวทีนี้  ส่วนแกนนำชุมชนในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างตำบลตะพง  ผมได้ให้โปรแกรมแผนชุมชนและคู่มือการใช้โปรแกรมไปศึกษาและทำควบคู่ไปกับชุมชนนำร่องได้เลย  จากนั้นจึงพักรับประทานอาหารกลางวันที่ผู้ใหญ่สอิ้งรับหน้าที่เป็นพ่อครัวจัดหาอาหารมาให้  โดยเป็นอาหารที่ได้จากพื้นที่ลุ่มน้ำประแสร์
                หลังอาหารกลางวันที่เอร็ดอร่อยและอิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้าซึ่งประกอบด้วย  หอยนางรมสด  ขนมจีนแกงเขียวหวานไก่  ต้มยำปลาเก๋า กุ้งนึ่ง ปูนึ่ง แล้ว  ผมและคณะทำงานของ พอช. ร่วมกันร่างบันทึกความร่วมมือ (MOU) ที่ใช้เวลาร่วมสองชั่วโมงในการร่าง และให้พยานลงนาม  ก่อนที่คณะผู้รับผิดชอบ 4  คน ประกอบด้วยผม คุณปรกฤต คุณหมอต้อย และคุณรัชพล จะต้องตามไปลงนมที่สำนักงาน พอช. ภาคตะวันออก  เพราะกระดาษที่ชุมชนหมดเสียก่อน
                เราเสร็จสิ้นการลงนามที่ พอช. ภาคตะวันออกเวลาประมาณ 4 โมงเย็น  จึงได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ใหญ่สมศักดิ์ที่ตำบลสองสลึงตามเชิญ  เราพบว่า  ผู้ใหญ่มีความพร้อมมาก  ทั้ง ๆ ที่ผู้ใหญ่พึ่งโครงการของ พอช. น้อยมาก  ผู้ใหญ่สามารถระดมทุนโดยการเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง  ผู้ใหญ่เล่าว่า “รายได้ที่มาช่วยสนับสนุนมาจากกระทรวงเกษตรที่คิดจากจำนวนผู้มาเรียนรู้” ผู้ใหญ่มีโรงนอนชายและหญิง  มีฐานเรียนรู้ 6 ฐาน และที่สำคัญ ผู้ใหญ่แกะทุเรียนมาเลี้ยงพวกเราด้วยตัวเองเลยครับ  นอกจากนี้ผมโชคดีที่ได้คุยกับนักเรียนกินนอนของผู้ใหญ่คนหนึ่ง  จากการพูดคุยท่านบอกว่า  ท่านมาจากกรุงเทพ  มาเป็นนักเรียนของผู้ใหญ่ 2 ปี แล้ว โดยมีแปลงทดลองของตัวเองใกล้ ๆ กับผู้ใหญ่  สองปีที่มาอยู่ที่นี่  ท่านมีความรู้ที่พอจะพึ่งตัวเองได้  เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากครับ สำหรับผม

                พวกเรากราบลาผู้ใหญ่ก่อน 6 โมงเย็นเล็กน้อย รถตู้ของ พอช. พาผมและคณะมาถึงแยกพระรามเก้า ประมาณ 2 ทุ่ม  ผมมาถึงที่พักร่วม 4 ทุ่มแล้ว  หลังจากอาบน้ำ  ผมมานั่งเล่าเรื่องนี้จนถึงเวลา 23.50 แก้ไขอีกรอบตอน 09.00 ในวันต่อมา  ผมจะนำบันทึกนี้ไปเสนอไว้ใน Blog ของ สคส. ก่อนที่จะรวบรวมไว้เสนอแก่ พอช. ในรายงาน  ผมเชื่อว่า พอช. อาจจะไม่ happy นักที่จะอ่านรายงานแบบนี้  แต่นั่นคงไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ผมเปลี่ยนรูปแบบการเขียนหรอกครับ (แน่นอน  ผมกำลังต้องการเรียนรู้บางอย่าง  แต่ขออุบไว้ก่อนครับ)  นัดหน้าเราคงจะได้พบกันอีกในเรื่องเล่าจากเวที  “ปฏิบัติการเสริมหนุนพื้นที่แรก” ครับ

                ด้วยความเคารพ
                สวัสดีครับ
                สวัสดิ์  พุ้มพวง
                3 พฤษภาคม 2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26798เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2006 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
     อ่านแล้วเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเลยครับ
ขอบคุณในความปรารถนาดี  ที่มีให้แก่เราชาวชุมชนครับ
ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ท้าทาย...กับนัก"วิชาการ"ตามทฤษฎี
เพราะบางสิ่งบางอย่างที่เราทำอาจไม่เป็นไปตามกรอบ-รูปแบบที่เขากำหนด
อาจดูเป็นขัดหู..ขัดใจ..ขัดตา...และขัดการกระทำ
แต่หากเราก็ต้องทำหากต้องการ..ให้เกิด"ผล"จริงๆ..
หาใช่สิ่งที่ปั้นแต่งขึ้น...เพื่อโชว์อวด
ขอบคุณครับ Dr.Ka-poom สำหรับทุกถ้อยคำที่สะท้อนออกมาจากใจท่านครับ  งานชุมชนงานนี้  ถือว่าเป็นงานแรกของผม  จากงานที่ผมทำมาทั้งหมดร่วม 20 ปี ตั้งแต่ผมมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรก  ทางเลือกแรกก็อยากจะนำความสำเร็จของรุ่นพี่ไปประยกต์ใช้เลย  อีกทางหนึ่งก็อยากจะเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตนเอง  ผมตัดสินใจเลือกทางเลือกหลัง  แต่ก็เตือนตัวเองเสมอว่า  "การเรียนรู้ของเราต้องไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงของชุมชนที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย"  คำแนะนำของรุ่นพี่ทุกท่าน  จะเป็นเครื่องเตือนสติที่ดีสำหรับผมครับ  ขอขอบคุณในความปรารถนาดีที่มอบให้ครับ
ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์  พุ้มพวง

เขียนดีนะครับดอกเตอร์ 
ต้องขอขอบคุณที่ได้เตือนสติหลายๆเรื่อง
ไม่ท้อแท้ แต่ก็ไม่อดทนนะครับ
คาดหวังว่าดี กลับไม่ใช่ว่าดี   สู้กันต่อไปนะครับ

รัชพล  

"ความคาดหวัด"  ดูเผิน ๆ ก็ราวกับว่าเป็นยาชูกำลังนะครับคุณ rachapol มันจะส่งผลทางบวก  หากความคาดหวังกับผลที่ได้สอดคล้องกัน  แต่มันจะเป็นยาพิษเมื่อผลที่ได้ไม่เป็นไปดังความคาดหวังครับ  ฉะนั้น  อย่าเอามายาภาพแห่งความคาดหวังมาเป็นเครื่องล่อลวงตัวเองเลยครับ  ขอเพียงมี "ศรัทธา" ที่ตั้งมั่น มี "สติ" กำกับ มีความ "เพียร" มีความ "ตั้งใจมั่น" ในจุดมุ่งหมาย และประกอยด้วย "ปัญญา" เท่านั้นก็พอแล้ว กำลังใจท่านจะอยู่กับท่านตลอดการเดินนั้น และจักถึงจุดหมายแน่นอนครับ
ด้วยจิตเคารพ
สวัสดิ์  พุ้มพวง

เรียน คุณสวัสดิ์ ครับ

    ผมอ่านบันทึกนี้ซ้ำอีกรอบ เพื่อเคลียร์ใจตัวเองว่า ทำไมผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับขบวนการที่พูดคุยกันในเวทีที่เล่ามานี้ ก็พอสรุปได้บ้างแล้วนะครับ ฟันธงเลยว่า โจทย์น่าจะแข็งเกินไปที่ชุมชนจะรู้สึกต่อต้านไหมครับ กล่าวคือ

          1. เมื่อคนนอกชักชวนคนในบางส่วนที่เป็นแกนนำได้ ในเรื่องศูนย์ข้อมูล จึงเกิดคำถามจากคนในว่า "จะได้อะไร" เป็นคำถามที่ง่าย ๆ แต่ตอบยาก เหมือนลึก ๆ ในใจที่คุณได้ตอบเขาไป เลยยิ่งทำให้เขาไม่มั่นใจ ตรงนี้อย่าไปโทษใครเลย เพราะระบบสอนให้ชุมชนเป็นผู้รับมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เขาจึงมีสิทธิที่จะถามในลักษณะนี้ แต่เรามุ่งมั่นว่า "ของเขา เขาทำเอง เขาใช้เอง เขารับประโยชน์เอง" การเริ่มต้นจึงดูยาก และเขายังไม่ไว้วางใจเรานักลึก ๆ แล้ว

          2. สมมติว่าเปลี่ยนเป็น "สหกรณ์ข้อมูล" หรืออะไรในลักษณะนี้ น่าจะง่ายกว่า เพราะเมื่อพูดถึงสหกรณ์โดยฐานความเชื่อเดิม เขาจะเข้าใจทันทีว่าเป็นเรื่องของสมาชิก จะทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ยินครับ ผมคิดได้แค่นี้ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ หมายถึง ...ข้อมูล ที่เขารู้สึกว่าเป็นของเขาเอง เขาใช้เอง เขารับประโยชน์เอง

          3. ผมอ่านไปก็พบในหลาย ๆ ประเด็นที่ยังไม่ค่อยเป็นไปตามธรรมชาติ (คงไม่ว่ากันนะครับที่ผมกล่าวตรง ๆ) ในการทำโจทย์ แต่ผมยอมรับว่าโจทย์ชัดจะได้เข็มทิศ แต่เราคนทำงานโดยเฉพาะหัวใจแบบคุณสวัสดิ์ อาจจะรู้สึกขัด ๆ ใจ ในส่วนที่ผมทำและจะนำมา ลปรร.ด้วย หากจะพูดถึงข้อมูลชุมชน ผมคงยกประเด็นปัญหาเขาขึ้นมาเอาที่ hot ๆ (แอบจับปัญหาเอาในเวที) จากนั้นถามกลับไป-มา เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ เวทีไหนเวทีนั้น มักจะมาจนที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน ตรงนี้แหละครับที่ผมมองว่า เรา "ฉกฉวยโอกาส" ทันทีในการเปิดประเด็นเรื่อง ศูนย์ข้อมูล หรือสหกรณ์ข้อมูล (เทคนิคที่ผมชอบใช้...จริงใจครับ)

ขอบคุณครับคุณอนุชา

(ตอนแรกผมเขียนไว้ยาวมาก ใกล้จะจบแล้ว) แต่มือไปโดน "ปุ่มอะไรเข้าสักปุ่ม ข้อความหายหมดเลยครับ)

แต่ว่าแนวคิด "สหกรณ์ข้อมูล" ดีมากเลยครับ  หรืออาจจะเป็น "ธนาคารข้อมูล" ก็คงจะคล้ายกัน  ขอบคุณมากครับสำหรับคำชี้แนะ  เอาไว้ผมเอาแนวคิดในเสนอในเวทีชุมชนคราวหน้า  ได้ผลอย่างไร  แล้วจะนำมาเล่าให้ฟัง

ผมมีนิสัยไม่ดีอย่างหนึ่งคือ "ไม่ชอบความเป็นทางการ" เวลาเจอเป็นอะไรที่เป็นทางการทีไร  ผมพูดไม่ค่อยออกครับ (ไม่อยากจะพูด เพราะเวทีทางการมันดูไม่จริงใจอย่างไรบอกไม่ถูก) ประเด็นนี้  หากคุณอนุชาจะให้คำชี้แนะ  ผมยินดีน้อมรับครับ

ยินดีที่ได้ ลปรร. ครับ(นอนดึกเหมือนกันนะครับ)

ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์  พุ้มพวง

เรียน คุณสวัสดิ์ ครับ

     สั้น ๆ นะครับ ผมไม่มองธนาคาร เพราะในสายตาของผมและชาวบ้าน (บางคน) ที่เคยคุยกันบ้างแล้ว ธนาคารไม่ใช่ของเรา สหกรณ์นี่เป็นของเรา และในหลวงทรงให้การสนับสนุนแนวคิดนี้ สหกรณ์ จึงเหมาะกับบริบทนี้ที่สุด ตามฐานคิดผมนะ ผิดก็เป็นได้ ยิ้ม ๆ

เรียน คุณอนุชา

ผิดหรือถูกยังบอกไม่ได้หรอกครับ (ที่จริงผิดหรือถูก ไม่น่าจะเหมาะกับชุมชนเราครับ น่าจะเป็นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับแต่ละชุมชนมากกว่า) ในทางทฤษฎีและในประสบการณ์การปฏิบัติที่เราเคยได้เห็น สหกรณ์ "ดูเหมือนว่า" น่าจะเหมาะสมกับชุมชนครับ  ซึ่งผมด้วยในทางทฤษฎี  แต่ผมก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง  บางทีเราไปดูงานชุมชนอื่น  เห็นรูปแบบสหกรณ์ประสบผลสำเร็จ  แต่พอเราเป็นผู้ดำนเนินการ  ผลอาจตรงกันข้ามก็ได้  อย่างไรก็ตาม  ผมไม่เสี่ยงทำเป็นรูปแบบธนาคารแน่ครับ (เห็นด้วยกับผู้มีประสบการณ์มาก่อนครับ)

แนวคิดเรื่อง "ธนาคาร" มีที่มาจาก คราวที่ผมไปเห็น "ธนาคารขยะบ้านจำรุง" ก็เลยคิดเล่น ๆ ว่า เอ...ศูนย์ข้อมูลเรา...หากทำเป็นรูปแบบธนาคารข้อมูลจะเวิร์ค..เหมือน DTAC หรือเปล่านา..

ตอนนี้ผมก็อยู่ในช่วงนักฝันเฟื่องครับ...ขอบคุณคุณอนุชาที่เป็นเพื่อนร่วมทางของนักฝันอย่างผม..เอาไว้ผมมีผลสำฤทธิ์จากการปฏิบัติด้วยตัวเอง..ผมคงจะมีเรื่องไปเล่าในชุมชนกับเขาบ้างครับ

ขอบคุณอีกครั้งด้วยใจจริง
ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์
     แล้วผมจะเข้ามาติดตาม...ต่อ หากมีประเด็นอะไรก็ ลปรร.กันนะครับ

ผมเชื่อว่า...ในบรรยากาศของการพูดคุยกัน...คุณสวัสดิ์ต้องมีเทคนิคทางท่าที(Non-verbal Technique) ซึ่งผมเห็นว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่าปัจจัยอื่น ในกระบวนการสร้างสรรค์ประชาสังคมเลยนะครับ...และเป็นสิ่งที่คนมักละเลย ไม่นำมาถ่ายทอด ถอดเป็นการจัดการความรู้(หรืออีกนัยหนึ่ง... ทำได้ยาก)

 

สิ่งที่ผมเชื่ออย่างหนึ่งก็คือ...เวลาคนแปลกหน้า(แปลกปลอม)เข้าไปร่วมสังฆกรรมกับชุมชนใดชุมชนหนึ่ง...พลังแห่งการเรียนรู้ระหว่างกัน(ที่ขมึงเกลียว...ประมาณว่าอยู่ในภาวะ Strength Zone) ต้องได้รับการจัดการพาสู่ทิศทางของบรรยากาศสร้างสรรค์การเรียนรู้ได้...ด้วยเทคนิคและจิตวิญญาณวิทยากรกระบวนการ...ซึ่งคุณสวัสดิ์และทีมงานมีความเชี่ยวชาญจนน่าศึกษาเรียนรู้อยู่ไม่น้อยเลยครับ...

ขอบคุณ "นายขำ" ที่กรุณาชี้แนะครับ  สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติม  หลังจากผ่านเวที "นักขายหัวปลา" มาระยะหนึ่ง  แล้วมาเป็น "นักขายหัวปลาเพื่อเลี้ยงชีพ" ตัวเองจริง ๆ สิ่งที่ผมกำลังฝึกทำคือ  "การละวางอัตตา" ครับ  ยอมรับว่าสมัยก่อนไม่รู้เลยว่า  สิ่งที่ได้แสดงออกไปมันคือ "อัตตา" ที่ตัวเองได้ยึดถือไว้โดยไม่รู้ตัว  นับว่าเป็นการมืดสองเท่าครับ "คือไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้" หรือเปรียบเสมือนว่า "ตัวบอดแต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองตาบอด" แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นประสบการณ์ที่สุดยอดครับ  ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้  พอมาเป็น "นักขายหัวปลาเพื่อเลี้ยงชีพ" ผมได้ฝึกบทเรียนจริง ๆ ที่มีชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน "ถ้าขายได้ชีวิตก็รอด"  เป็นความท้าทายใหม่ที่ผมไม่เคยทำเลย (เพราะกลัว) มาจนกระทั่งอายุ 35 ปี  ที่นี่ผมได้บทเรียนว่า  "เราจะเริ่มขายได้เมื่อเราเริ่มละวางอัตตาได้" ครับ  หากผมได้มีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครเพื่อชุมชนอีกครา  ผมเชื่อว่า "ผมจะทำได้ดีกว่าคราวโน้นแน่นอน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้  คุณรัชพลเชิญผมไปร่วมสังเกตการณ์ที่เวที สกว. ที่ระยองอีกคำรบหนึ่ง  ได้เรื่องอย่างไร  จะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ
สวัสดิ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท