ปัญหาการสื่อสาร: เมื่อมีปัญหานิยามศัพท์ "การวิจัย"


จริงๆไม่อยากติดกับคำศัพท์ แต่ปัญหาเกิดขึ้นเวลาสื่อสารแล้วไม่เข้าใจกัน จึงจำเป็นต้องมานั่งทำความเข้าใจคำศัพท์ที่แต่ละคนใช้ เพื่อจะได้แน่ใจว่า คุยเรื่องเดียวกันอยู่

บางครั้งคุยกับคนอื่นแล้วมีปัญหานิยามศัพท์ไม่ตรงกัน  เช่น

 

 เศรษฐกิจพอเพียง  (Sufficiency economy)   ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเท่ากับ เศรษฐกิจพอยังชีพ (self-sufficiency)

 

ครั้งนี้มีปัญหากับคำว่า   การวิจัย  กับ การจัดการความรู้

เลยต้องวิ่งกลับไปหาคู่มือหลายสำนักเพื่อจะตรวจสอบความเข้าใจของตัวเองเป็นหลัก

 

"การวิจัย คือ การพยายามหาคำตอบ" 

"การวิจัย คือ การสร้างความรู้ใหม่  การค้นหาความรู้" 

"การวิจัย คือ  กระบวนการสำรวจตรวจสอบ (investigate) อย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง"

 

การวิจัย จึงอาจเป็นการค้นหาคำตอบเฉพาะเรื่อง  เฉพาะพื้นที่  เฉพาะเงื่อนไขก็ได้   ไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบแบบ generalised หรือ เป็นภาพทั่วไปเสมอไป    การสร้างความรู้จากการวิจัยอาจสะสมจากจุดเล็กจุดน้อย  แล้วค่อยนำมาสังเคราะห์เป็นภาพใหญ่ก็ได้  ตรงนี้อาจ เกิดเป็น ทฤษฎี

ส่วนการจัดการความรู้ (KM) เป็นการเก็บสะสม  จัดระบบ  และแบ่งปันความรู้กับคนอื่น    ความรู้อาจอยู่ในรูปของเอกสาร  ทรัพยากร  หรือ ทักษะประสบการณ์   เป้าหมายเพื่อพัฒนาคน พัฒนาองค์กร

 ถ้าในขบวน KM มีความพยายามค้นหาคำตอบ  KM ก็มีมิติที่เป็นการวิจัย  เช่น  ถ้าเกิดคำถามว่า  "จะใช้รูปแบบของกลุ่ม ก. ในพื้นที่ ข.ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด"   เริ่มต้นด้วยการจัดการความรู้

โดยมีการแบ่งปันความรู้ระหว่างสองกลุ่ม     จากนั้นมีการทดลองนำมาใช้และสังเกตผล ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการวิจัย  นำผลมาพูดคุยกัน ปรับขบวนกัน  ในกรณีนี้การวิจัยจึงเกิดขึ้นควบคู่กับการจัดการความรู้

 

หรืองานวิจัยเพื่อหาคำตอบบางอย่างด้วยการประชุมระดมสมอง  ทำ focus group  วิธีการแบบนี้ก็คล้ายๆกับการทำ KM อย่างหนึ่ง   เพียงแต่เป้าหมายไม่ได้เพื่อพัฒนาผู้เข้าร่วม หรือพัฒนาองค์กร   แต่เพื่อพัฒนาตัวความรู้ ให้ถูกต้อง   (ซึ่งไม่รู้ว่า ถ้าจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ที่ไม่ได้มีเป้าหมายพัฒนาองค์กร  จะยังเรียกว่าเป็น KM อยู่รึเปล่า)  ในความเห็นของเรา  การระดมสมองเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง  ดูจะเป็นการวิจัยที่ไม่ค่อยเป็นระบบนัก  แต่มีผลเชิงแบ่งปันข้อมูล เป็น KM มากกว่า

 ที่ผ่านมา  การวิจัยมักทำโดยคนนอก ที่อาจมีระบบคิดต่างจากคนใน  (เว้นแต่งานวิจัยท้องถิ่นของ สกว.)  แต่การจัดการความรู้จะทำโดยคนใน  จึงดูจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงมากกว่า  ทว่า..เวลาคนนอกที่ไม่มีโอกาสปฏิบัติอยากจะเรียนรู้  จะพึ่งงานวิจัยได้มากกว่า เว้นแต่การจัดการความรู้มีการบันทึก วิเคราะห์ สังเคราะห์งานเอาไว้ (ก็ใช้กระบวนการวิจัยประกอบ) 

 

ดังนั้น   โดยส่วนตัว   เวลาพูดถึงการวิจัย  เรามองหลวมๆว่าเป็นการค้นหาคำตอบ   และไม่ได้ตัดขาดคำว่า KM ออกไป

จริงๆไม่อยากติดกับคำศัพท์  แต่ปัญหาเกิดขึ้นเวลาสื่อสารแล้วไม่เข้าใจกัน  จึงจำเป็นต้องมานั่งทำความเข้าใจคำศัพท์ที่แต่ละคนใช้   เพื่อจะได้แน่ใจว่า คุยเรื่องเดียวกันอยู่

 
หมายเลขบันทึก: 106835เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2007 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ขอบคุณที่ช่วยทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยกับ KM ชัดขึ้น อาจารย์เขียนได้รัดกุมดีครับ
  • ในทางสังคมวิทยามานุษยวิทยา ผมมองการวิจัย เป็นการวิจารณ์วัฒนธรรม เป็นเรื่องของการต่อรองอำนาจ การทำวิจัยเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีอยู่หลายระดับ และไม่เคยมีความเป็นกลางเพราะมันต้องอิงกับอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆอย่างในการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวมันเองและผู้ที่สร้างมันขึ้นมาเสมอ
  • ในส่วน KM ผมมีมุมมองเรื่อง KM ที่ต่างออกไป และเพิ่งพิมพ์บันทึกเรื่อง  "KM ที่ไม่ใช่ (แค่) การจัดการความรู้" ลองเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูที่ http://gotoknow/blog/culturalgarden นะครับ
P

สวัสดีค่ะ

อ่านได้ความรู้มากค่ะ

เพื่อนสนิทไปทำวิจัยเรื่อง การสื่อสาร ที่สถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น 1 ปี และไปที่จีนอีก 2ปี เราคุยกันเรื่องที่เขาไปทำวิจัยบ่อยค่ะ

เพิ่งไปทำบุญและให้ทุนการศึกษาเด็กๆด้วยกันค่ะ

สนใจเรื่องที่อาจารย์เขียนค่ะ ขอบคุณนะคะ

ขอบคุณคุณยอดดอยมากค่ะ   ตัวเองไม่ค่อยถนัดเรื่อง KM แต่ก็พยายามเรียนรู้ และคิดว่า KM  มีพลังค่ะ

ระยะนี้กำลังพยายามทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่เหมือนกันค่ะ    คิดว่า วาทกรรมก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  แต่งานวิจัยเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้น  จะหมายถึงกรอบความคิดทีนักวิจัยนำมาใช้รึเปล่าคะ 

เรียนคุณศศินันท์

ขอบคุณที่สนใจเรื่องที่เขียนนะคะ   บล็อกคุณศศินันท์ก็น่าสนใจและน่าชมด้วยค่ะ   เราคงได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอีกนะคะ

  • ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในงานวิจัย มีอยู่หลายระดับที่ทับซ้อนกันอยู่นะครับ
  • เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งทุน ตัวนักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย และชาวบ้าน ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมและกดขี่/ครอบงำ (exploit/ dominant) กันในรูปแบบต่างๆ พูดง่ายๆคือ มันไม่โรแมนติกนะครับ มันมีเรื่องของคนได้คนเสีย และบ่อยครั้งที่งานวิจัยเองไป exploit ชุมชน (ทั้งที่จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) มันมีผลข้างเคียงของการวิจัยที่มากไปกว่าที่เราคิดเสมอครับ
  • อีกเรื่องก็คือ ภาษา ในแง่ที่มันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ถ้ามองแนวโพสต์โมเดิร์น หมายความว่า มันมีนัยยะของการใช้อำนาจอยู่ในภาษา อย่างเฟมินิสต์ก็จะมองว่า ภาษาที่ใช้เป็นภาษาของผู้ชาย ซึ่งไม่สามารถอธิบายมุมมอง อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงได้ ซ้ำยังเหยียดภาษากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆว่าเป็นภาษาที่มีลำดับชั้นทางสังคมต่ำกว่า
  • กรอบความคิดที่นักวิจัยนำมาใช้ ก็น่าจะถูกตรวจสอบหรือวิเคราะห์ให้ถ้วนถี่ด้วยนะครับว่า มันมีอคติอะไรซ่อนอยู่บ้าง เช่น มันเป็นกรอบที่มีอคติทางเพศ อคติต่อชนกลุ่มน้อย อคติต่อสิ่งที่ "ไม่เป็นวิทยาศาสตร์" มากน้อยเพียงใด เพื่อให้งานวิจัยเป็นมากไปกว่าการผลิตซ้ำอคติเหล่านั้น เป็นมากไปกว่าผลที่ตั้งเป้าไว้ อันนี้ผมมองในแง่งานวิจัยสามารถเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ปลดปล่อยมนุษย์ออกจากพันธการและความบีบคั้นต่างๆ งานวิจัยจึงน่าจะมีมิติของการสร้าง "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" อันนี้ผมว่าสำคัญมากครับ  

เรียน อาจารยื ปัทมาวดี ที่เคารพ

ตามมาเรียนรู้ครับผม ขอบคุณครับ

ขอบคุณคุณยอดดอยค่ะ  คำอธิบายชัดเจนและน่าสนใจค่ะ

ถ้าพูดถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  การวิจัยและการจัดการความรู้ก็อาจมีปัญหา  แต่ที่รุนแรงและน่าเป็นห่วงกว่าคือ เรื่องการศึกษาค่ะ   การศึกษากลายเป็นสัญญลักษณ์ของผู้มีอำนาจเหนือกว่า   น่าเป็นห่วงทีเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท