Cross-Cultural Interactive Learning Method : ฟลิปชาร์ต ปากกา


                    ..การจัดการให้ความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นโอกาส ก่อให้เกิดพลังการเรียนรู้ ตลอดจนก่อเกิดมิติอื่นๆที่เป็นผลดีอย่างเป็นทวีคูณ จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะต้องนำมาคิด วิเคราะห์ และเป็นข้อมูลสำหรับวางแผน ตลอดจนเตรียมตนเองและเตรียมกระบวนการต่างๆ ของครูอาจารย์และผู้สอน..

ความแตกต่างระหว่างบุคคลอาจจะเป็นปัญหาหรือเป็นโอกาสก็ได้ และเมื่อปัจเจกรวมตัวกันเป็นหน่วยสังคมขนาดต่างๆนับแต่ ๒ คนขึ้นไป กระทั่งเป็นกลุ่มก้อน องค์กร ชุมชน รวมไปจนถึงเครือข่าย ความแตกต่างหลากหลายก็จะมีมากขึ้น โอกาสและปัญหาก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ การจัดการกลุ่มและการเป็นผู้นำกิจกรรม ตลอดจนการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่กลุ่มในลักษณะดังกล่าวนี้ จึงมักจะให้การเรียนรู้แก่เราอีกแบบ ซึ่งบางแง่มุมนั้น ก็จัดว่าเป็นความรู้ในมุมมองใหม่ๆเพื่อการอยู่ในบริบททางสังคมที่กว้างขวางและซับซ้อนกว่าในอดีตมาก

กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างหลากหลายที่เป็นกลุ่มคนในสังคมเดียวกัน ก็ยังนับว่ามีความซับซ้อนน้อยกว่าความแตกต่างหลากหลายภายในกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนจากสังคมนานาชาติ

กลุ่มปัจเจกจากสังคมนานาชาตินั้น มีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างซับซ้อนหลายมิติ ทั้งทางด้านระบบวิธีคิด ทรรศนะพื้นฐานในการเข้าใจและวิธีเข้าสู่ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ตลอดจนความแตกต่างที่มาจากภาษา ศาสนาและความเชื่อ การปฏิบัติต่อผู้อื่นและตนเอง รวมทั้งการจัดความสัมพันธ์ของตนเองกับกลุ่มก้อนและการให้คุณค่าและความหมายจากการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสไตล์การเรียนรู้และวัฒนธรรมในการแสดงออกต่อกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งก็เป็นทั้งโอกาสและปัญหาด้วยเช่นกัน

 ปัจจุบัน  ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนต่างกำลังมุ่งสร้างความเป็นชุมชนอาเซียนเดียวกันให้แข็งแรง เพื่อร่วมมือและแข่งขันสร้างสุขภาวะสังคมช่วยกันในขอบเขตที่กว้างและดีกว่าเดิมเพื่อมุ่งสู่กระบวนทรรศน์การพัฒนาใหม่ๆของโลกาภิวัตน์และสังคมท้องถิ่น บทเรียนอย่างนี้จึงอาจจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเป็นลำดับครับ

  อุปสรรคปัญหาและธรรมชาติของกลุ่มปัจเจกนานาชาติ 

(๑) ในบางภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความแตกต่างหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมกันมากที่สุดของโลก พลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศต่างๆไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยภาษา ทั้งการพูด ฟัง เขียน และจดบันทึก การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และวิธีทำงานด้วยกันจึงมีเงื่อนไขไม่เหมือนที่ใดในโลก หลายเรื่องจึงควรต้องคิดและริเริ่มนำการเปลี่ยนแปลงออกจากความเป็นตัวของตัวเอง
(๒) ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสื่อสารกันได้อย่างหลากหลาย ผสมผสานวิธีการอย่างไม่จำกัด ให้บรรลุจุดหมายเพื่อความเข้าใจ ซาบซึ้ง และเกิดชุมชนปฏิบัติสนองตอบต่อความสำนึกและการมีประเด็นร่วมกันได้อย่างดีที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ยิ่งภาคภูมิใจกับทุนทางสังคม เห็นความงดงามของสังคมในภูมิภาคและเชื่อมั่นในความเป็นตัวของตัวเอง พร้อมไปกับสร้างสำนึกความเป็นหน่วยสังคมที่ร่วมเป็นปัจจัยสุขภาวะกันและกันข้ามพรมแดนความหลากหลายได้อย่างเพียงพอ เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการพัฒนาอย่างบูรณาการของสังคมในภูมิภาคนี้ของโลก
(๓) บริบททางความหมายและการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ก่อเกิดมาจากทรรศนะพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างกัน ทำให้สิ่งเดียวกัน อาจมีความหมายและมีความสำคัญต่อแต่ละคนไม่เหมือนกัน และบางครั้งก็กลับจะมีความหมายต่อผู้ที่มาจากต่างสังคมไปในทางตรงกันข้าม อีกทั้งมีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งที่อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่โต
(๔) หลายเรื่องก็มีกับดักทางความรู้ ก่อให้เกิดปัญหาการเมืองของความรู้ โดยเฉพาะเรื่องราวทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่มีบริบทจำเพาะของอดีต ซึ่งเป็นความรุนแรงที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมและความรู้ หากขาดความระมัดระวัง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกันได้มากมาย ความร่วมมือต่างๆจะเกิดขึ้นยากหากไม่มีการสร้างวิถีความรู้และริเริ่มวัฒนธรรมการเรียนรู้กันด้วยท่าทีใหม่ๆขึ้นมาด้วย
(๕) การศึกษาและความรู้พื้นฐานแต่เดิมของกลุ่มผู้เรียนนานาชาติที่มาอยู่ในหลักสูตรขั้นสูงด้วยกัน มักจะมีสำนักคิดและสำนักทางทฤษฎีที่เป็นกระแสหลักในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เนื้อหาวิชาการ ตลอดจนความรู้เชิงทฤษฎีต่างๆที่เราสามารถบรรยาย สอน ให้เป็นข้อมูลเพื่อการศึกษา ตลอดจนให้เป็นตัวอย่างในกลุ่มนักศึกษาไทยได้นั้น หลายอย่างจึงจะไม่สามารถใช้ได้เลยในกลุ่มนักศึกษานานาชาติ
(๖) ทุกคนมีศักยภาพและมีภาวะผู้นำสูง อีกทั้งสำนึกความเป็นหน่วยทางสังคมและการสังกัดปทัสฐานทางสังคมร่วมกันก็ไม่เข้มแข็งเหมือนกลุ่มนักศึกษาไทยด้วยกัน ดังนั้น กรอบการอยู่เป็นกลุ่มและการแสดงตนต่อกัน จึงมักมีความเป็นเอกเทศ ครูอาจารย์และผู้สอนก็จะมีฐานะเท่าปัจเจกคนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่ทางสังคมอย่างหนึ่งเหมือนกัน 
(๗) การเปิดโอกาสให้แต่ละคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและแสดงศักยภาพทางวิชาการ ต้องคำนึงถึงหลายด้าน และต้องทำหน้าที่กำกับกระบวนการเรียนรู้อย่างเคร่งครัด จึงจะสามารถเป็นผู้เอื้ออำนวยกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้เรียนนานาชาติได้ เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับสังคมโลกในบางด้าน มักมีการรับรู้และให้ความหมายในบริบทของประเทศต่างๆไม่เหมือนกัน หากมีการนำมาเป็นประเด็นอภิปรายหรือเป็นข้อมูลการเรียนรู้ที่ผู้เรียนไม่ได้คำนึงถึงความอ่อนไหวต่อผู้คนจากสังคมอื่นที่ขั้วความคิดต่างกัน ก็จะเกิดการต่อต้านและปะทะกัน ฉุดทั้งกลุ่มให้หันเหไปจากสาระการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะบานปลายไปเป็นอุปสรรคปัญหา ทำให้เสียโอกาสการเรียนรู้ดีๆอีกมากมาย เหล่านี้เป็นต้น

ในกลุ่มนานาชาติ ผมมักได้เจอกับปัญหาในลักษณะนี้แทบทุกครั้งและในทุกเวทีเรียนรู้ กระทั่งได้ข้อสรุปแก่ตนเองอย่างหนึ่งว่า หากไม่ใช่เวทีประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานทางวิชาการแล้วละก็ ไม่ควรใช้วิธีบรรยายเพื่อสอนให้ความรู้เป็นหลัก ไม่พยายามเดินออกจากทฤษฎีและสำนักคิดของผู้อื่นซึ่งในประเทศของเขาอาจจะไม่รูจักเลยก่อนที่จะให้พื้นฐานร่วมกันชุดหนึ่งเสียก่อน และไม่ควรเตรียมความรู้แบบสำเร็จรูปไปป้อนให้กลุ่มนักศึกษา เพราะทุกคนมีพื้นประสบการณ์ในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ต้องพัฒนาวิธีที่ส่งเสริมให้แต่ละคนสามารถใช้ประสบการณ์เพื่อเดินออกจากสิ่งที่ตนเองเป็น แล้วร่วมกันก้าวไปสู่ภาวะใหม่เหนือความแตกต่างหลากหลายของทุกคน ซึ่งเริ่มต้นจากประสบการณ์ในการคิด ความรู้ และประสบการณ์ชุดหนึ่งที่ร่วมกันสร้างขึ้นผ่านการใช้ประเด็นร่วม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามทรรศนะที่หลากหลายในชุมชนเรียนรู้นานาชาติของเขา

  กระบวนการเรียนรู้แบบข้ามสังคมวัฒนธรรม : Cross-Cultural Learning Process 

ในการจัดกระบวนการเรียนรู้และการบริหารจัดการกิจกรรมการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้เรียนที่เป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นนาชาติในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ข้ามพรมแดนทางสังคมวัฒนธรรม (Cross-Cultural Learning) ซึ่งกิจกรรมและการดำเนินการต่างๆ หลายกิจกรรม อาจจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากกระบวนการเรียนรู้ที่ดำเนินการกับกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันซึ่งบางเรื่องที่เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มีความสำคัญต่อปัญหาการจัดการเรียนการสอนแต่อย่างใด ก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคปัญหาต่อกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มผู้เรียนได้อย่างคาดไม่ถึง

การจัดการให้ความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นโอกาส ก่อให้เกิดพลังการเรียนรู้ ตลอดจนก่อเกิดมิติอื่นๆที่เป็นผลดีอย่างเป็นทวีคูณ จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะต้องนำมาคิด วิเคราะห์ และเป็นข้อมูลสำหรับวางแผน ตลอดจนเตรียมตนเองและเตรียมกระบวนการต่างๆ ของครูอาจารย์และผู้สอน เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กลุ่มผู้เรียน สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของวิชาและเข้าถึงการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างลึกซึ้ง มากกว่ากระบวนการศึกษาเรียนรู้แบบทั่วไปของตนเอง

  ปากกาปากสักหลาด กระดาษปรู๊ฟฟลิปชาร์ต และกระบวนการกลุ่ม 

กิจกรรมในกรณีศึกษานี้เป็นการทำให้การศึกษาดูงานภาคสนาม เป็นกิจกรรมเพื่อเรียนรู้อย่างเข้มข้นมากกว่าการเดินผ่านทาง ซึ่งกระบวนการที่ผมนำมาใช้ก็คือ ทำให้การศึกษาดูงานภาคสนาเป็นการปฏิบัติการเรียนรู้ เดินด้วยคำถามการวิจัย และเข้าไปสัมผัส สังเกตการณ์ มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้ง และเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาสร้างความรู้อย่างเป็นระบบเป็นกลุ่ม ตลอดกระบวนการมุ่งทำให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันของกลุ่มปัจเจกจากนานาชาติกลายเป็นความมั่งคั่งทางทรรศนะ ประสบการณ์เดิมและมุมมองเชิงทฤษฎี ดังนั้น จึงเน้นการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้เป็นกลุ่มแบบกลุ่มประชาคม ทุกคนมีความความเป็นอิสระ เป็นปัจเจก เท่าเทียม เสมอภาค

เทคนิคและวิธีการ เพื่อนำเสนอการสอนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมเป็นกลุ่ม จากนั้น จึงเสริมวิชาการและความรู้เชิงทฤษฎีให้กับผู้เรียนตามโครงสร้างและระบบวิธีคิดต่อสิ่งต่างๆอย่างที่เขาเป็น เป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้แก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี กรณีศึกษานี้ เป็นบทเรียนจากการใช้เทคโนโลยีการศึกษาแบบพื้นๆ ทว่า ผสมผสานเข้ากับการทำงานชุมชน คือ
(๑) ปากกาปากสักหลาด
(๒) กระดาษปรู๊ฟ
(๓) บอร์ดฟลิปชาร์ต และ
(๔) การแบ่งกลุ่มอย่างมีความหมาย ซึ่งกรณีนี้ให้คละกันและไม่ให้อยู่กับเพื่อนที่มาจากประเทศเดียวกัน

วัสดุ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีเชิงกระบวนการแบบพื้นๆอย่างนี้ จะเป็นนวัตกรรมการแก้ปัญหาที่เหมาะสมและพอเพียงได้เป็นอย่างดีเมื่อเราเข้าใจจุดหมาย ออกแบบกระบวนการอย่างมีหลักเกณฑ์ พึ่งการปฏิบัติของตนเองเป็นหลัก พร้อมกับรู้และทำได้ที่จะส่งเสริมให้ความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นคลังวิชาการที่จะสร้างพลังการเรียนรู้ออกมาจากผู้เรียนให้มากที่สุด ได้ด้วยตัวเราเอง   

  ออกแบบกระบวนการและสร้างกรอบแนวคิดขึ้นจากทฤษฎีของกลุ่ม 

นั่งสนทนาเป็นกลุ่มกับกลุ่มผู้เรียนเพื่อทำวัตถุประสงค์ให้ตรงกัน พร้อมกับระบุความคาดหวังที่แตกต่างหลากหลาย ตลอดจนรวบรวมการนำเสนอแนวคิดและความต้องกาารต่างๆที่ผุดขึ้นจากการแจ้งจุดหมายเบื้องต้นเพื่อเปิดประเด็นการปรึกษาหารือ สังเคราะห์เป็นบทสรุปและหาความสัมพันธ์ของชุดความคิดดังกล่าว

   

 จากนั้น   จึงใช้กรอบแนวคิดดังกล่าวเป็นกรอบอ้างอิงชั่วคราวสำหรับการทำงานบนความแตกต่างหลากหลายให้ราบรื่นและใช้เป็นแนวจัดกระบวนการต่างๆเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของกลุ่มนักศึกษา โดยจัดกระบวนการต่างๆ คือ
(๑) พัฒนาประเด็นคำถาม แล้ววิเคราะห์เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิธีการได้คำตอบจะอยู่ตรงไหนของการศึกษาดูงาน หากเป็นการบรรยายจะอยู่ตรงหัวข้อบรรยายใด หากเป็นเอกสารที่แหล่งศึกษาดูงานอาจเตรียมให้แล้วจะแจ้งว่าต้องการเนื้อหากิจกรรมใดบ้าง การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการเดินเยี่ยมชมและสังเกตการณ์ด้วยตนเองจะทำอย่างไร
(๒) เตรียมเครื่องมือและวิธีการที่จะต้องใช้ เช่น สมุดบันทึก กล้องถ่ายภาพ การจดประเด็นการเรียนรู้ คำถาม
(๓) วางแผนและมอบหมายบทบาทหน้าที่ของกลุ่มเพื่อกระจายออกเป็นกลุ่มและชุมชนเรียนรู้อย่างมีพลัง
(๔) นำเสนอต่อกลุ่มใหญ่ อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเก็บประเด็นไว้ในใจ
(๕) เข้าสู่กิจกรรมการศึกษาดูงานด้วยตนเอง
(๖) กลับมารวมกลุ่ม รวบรวมข้อมูลในกลุ่มย่อย วิเคราะห์ สร้างบทสรุปและเตรียมนำเสนอด้วยฟลิปชาร์ต
(๗) นำเสนอและอภิปรายกับกลุ่มผู้ฟังทั้งกลุ่มอาจารย์และกลุ่มเพื่อนนักศึกษาจากประเทศต่างๆ
(๘) ระหว่างนำเสนออาจารย์และผู้สอนบันทึกประเด็การเรียนรู้ที่สำคัญที่เกิดขึ้น
(๙) สรุปบทเรียนและเสริมความรู้เชิงทฤษฎี

 

 

  บทบาทของอาจารย์และผู้สอนเมื่อเปลี่ยนบทบาทเป็น Facilitator 

 (๑)  สิ่งที่จะต้องวางแผนและเตรียมการสอน จะกลายจากการเตรียมเนื้อหาการบรรยายและสื่อความรู้อย่างเดียว ไปสู่การออกแบบกระบวนการและเตรียมการจัดสถานการณ์เพื่อเป็นกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ของกลุ่มผู้เรียน พร้อมกับทบทวนองค์ความรู้และแนวการสรุปให้รอบด้านเพื่ออภิปรายและเสริมความรู้เชิงทฤษฎีไปตามความจำเป็นที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของนักศึกษา
 (๒)  นำเข้าสู่รายการและเตรียมความพร้อมให้แก่กลุ่ม ทั้งความตื่นตัว ความสนใจ ความกระตือรือล้น
 (๓)  บอกจุดหมายของภารกิจ สิ่งที่จะต้องได้ และให้รู้วัตถุประสงค์ของกระบวนการที่กลุ่มกำลังจะต้องทำ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ถกอภิปรายอย่างกระจ่างก่อนที่จะนำไปสู่กิจกรรมในขั้นต่อไป ใช้สื่ออย่างง่ายที่ส่งเสริมสื่อบุคคลและได้ปฏิสัมพันธ์กันของอาจารย์กับนักศึกษาแบบเห็นหน้าและพูดคุยกันได้แบบ ๒ ทาง
 (๔)  บอกกรอบเวลา กรอบกติกา แนวการทำงาน เทคนิคปฏิบัติแลเหตุผลเบื้องหลังที่สำคัญ ข้อที่พึงระมัดระวังและไม่ควรปฏิบัติ สิ่งที่ควรปฏิบัติและแสดงออก
 (๕)  บอกประเด็นคำถามและโจทย์ร่วมสำหรับการทำงานกลุ่ม ข้อมูลสำหรับการคิดที่จำเป็น  จากนั้นจัดเวลาให้ทำงานเป็นกลุ่ม
 (๖)  ทีมอาจารย์เป็นกลุ่มพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา เดินคอยอำนวยความสะดวกและช่วยแก้ปัญหาที่จะกระทบต่อการทำงานของกลุ่ม
 (๗)  กำกับเวลาและกำกับกระบวนการให้ดำเนินไปตามที่วางแผน
 (๘)  จัดให้นำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อภิปราย สรุป
 (๙)  เสริมวิชาการและความรู้เชิงทฤษฎี รวมทั้งเปืดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเพิ่มเติมความรู้ให้แก่ทั้งกลุ่ม
(๑๐) หากเกิดปัญหาและความขัดแย้งที่กลุ่มนักศึกษาระงับปัญหาช่วยกันเองไม่ได้ ครูอาจารย์ผู้สอนควรจะเป็นกลไกตัดสินใจและยุติปัญหาในขั้นสุดท้าย การจัดวางตนเองและมีความสม่ำเสมอในสิ่งที่กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มผู้เกี่ยวข้องจะวางใจได้ จึงมีความสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตนอย่างเป็นกิจวัตร ซึ่งเป็นคุณธรรมและภาวะผู้นำอย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานกับชุมชนการเรียนรู้อย่างนี้

(๑๑) ยุติกิจกรรมในเวลาและบรรยากาศที่เหมาะสม

ในกรณีที่เกิดปัญหาและความขัดแย้งที่มีนัยยะจากตัวตนทางสังคมท้องถิ่นของตน ผู้สอนและครูอาจารย์ซึ่งในกระบวนการอย่างนี้ได้ปรับบทบาทเป็น Facilitator : FAC  ต้องชี้แจงให้ตระหนักรู้อยู่เสมอว่ากิจกรรมทุกอย่างในห้องเรียนนั้นเป็นเวทีวิชาการและทุกคนเป็นนักศึกษา เวทีสำหรับการศึกษาเรียนรู้รองรับได้แต่กิจกรรมเพื่อความเป็นวิชาการและเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆด้วยการใช้ปัญญาด้วยกัน กระบวนการเรียนรู้ก็จะมีบรรยากาศเป็นชุมชนทางปัญญาอยู่เสมอ มากขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 341285เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 07:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

มาเรียนรู้ค่ะ

ตอนนี้อาจยังไม่ได้ใช้ประโยชน์

แต่ถ้ามีโอกาสได้เรียนต่อ

คงต้องมาค้นบ้านอาจารย์บ่อยๆ อิอิ

  • คุณณัฐรดา ตื่นเช้าจังเลยนะครับ
  • วันนี้ผมจะต้องไปเป็นวิทยากรให้กับเครือข่ายสมาคมนักเวชนิทัศน์ กับเครือข่ายสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพื่อรณรงค์สร้างสุขภาพ-สร้างภาวะการปลอดบุหรี่ในเยาวชน ของ สสส เลยต้องตื่นมาแต่เช้า
  • เป็นทั้งการทักทายและการทำให้เป็นอารมณ์ขันที่ผมพลอยได้ความสดชื่นแจ่มใสรับอรุณไปด้วยเลยนะครับ
  • สวัสดียามเช้าและขอให้ได้ทำงานอย่างมีความสุข อารมณ์แจ่มใสเบิกบานทั้งวันเลยนะครับ

ส่วนหนึ่งผมก็ได้เรียนรู้มากครับจากวิธีเขียนถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อแบ่งปันและถ่ายเทให้กับผู้อื่นของคุณณัฐรดา เรื่องการเขียนภาพทางพฤกษศาศตร์นั้นคุณณัฐรดาเขียนแจกแจงการปฏิบัติได้ชัดเจนและศึกษาเพื่อปฏิบัติได้ง่ายนะครับ 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เราเรียนรู้จากคนไกลบ้านไกลเมืองไกลได้มากและเต็มใจเรียนเสียด้วยซิ แต่กลับไม่มีใจให้กับการเรียนรู้กับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว(เพื่อนบ้านต่าง ๆ)
  • หรือเป็นเพราะเราดูถูกกันเอง มองไม่เห็นความสำคัญของกันและกัน เห็นแต่ด้านที่ตัวกำหนดเองว่าล้าหลัง ด้อยพัฒนา
  • แล้วกระแสก็หมุนกลับหวนคืนสู่ร่องรอยวิถีเก่าอีกครั้ง บางทีก็หิวอดีตพูดถึงเรื่องเก่าๆเพื่อให้เข้ากระแสก็มี

ขอสนับสนุนทรรศนะของพระคุณเจ้าครับ นอกจากเราไม่ค่อยได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นานาชาติกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มประเทศในภูมิภาคที่มีโอกาสร่วมทุกข์สุขกันได้มากๆแล้ว ก็กลับมีเหตุให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันได้อยู่เรื่อย การศึกษาและกระบวนการเรียนรู้(รวมทั้งอาจจะครอบคลุมไปถึงบทบาทของสื่อสารมวลชน) เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยกันพัฒนาให้มีส่วนร่วมในการแปรวิกฤติดังกล่าวนี้ให้เป็นโอกาสพัฒนาให้ร่วมกันพ้นจากปัญหาแบบท้องถิ่นอย่างนี้นะครับ

  • อยากได้กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ในบ้านเราแถวๆๆชายขอบให้มากๆๆ
  • แต่บ้านเราครูถูกบังคับด้วยหลักสูตรแกนกลาง
  • สอนเพื่อสอบ NT, ONET เด็กๆๆสมองบวมหมดครับ

ชุมชนชายขอบ ทั้งกลุ่มคนที่ไร้โอกาสในสังคมเมือง กลุ่มคนที่ดำเนินชีวิตไปในทางเลือกที่ต่างไปจากกระแสหลักของการพัฒนา กลุ่มวัฒนธรรมย่อยและกลุ่มความสนใจ  กลุ่มเป้าหมายพิเศษ รวมไปจนถึงกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบจริงๆตามแนวชายแดน พื้นที่สูง ชาวเขา ตลอดจนกลุ่มการศึกษาทางเลือกและกลุ่มทางเลือกการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้  คงจะมีบทเรียนในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างนี้มากมายเลยนะครับ ผมได้อ่านงานของหลายท่านในนี้อยู่บ่อยๆเหมือนกันครับ

พลังการเรียนรู้นั้นไม่มีขอบเขต และพรมแดนกลั่นได้คะ

จริงครับ ในกลุ่มทางสังคมที่มีพรมแดนมากมายทั้งทางกายภาพและในทางสังคมวัฒนธรรมนั้น กระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่ไม่มีพรมแดนก็จะทำให้ความแยกส่วน แยกขั้ว แยกขอบเขต-พรมแดนตามจินตนาการต่างๆ หายไปได้ แต่ก็มีเหมือนกันนะครับ ที่กระบวนการทางการศึกษาเรียนรู้ที่ไม่ได้ตระหนักอย่างนี้ ก็อาจะกลายเป็นตัวทำให้เกิดพรมแดนในความเสมอภาค เท่าเทียม และร่วมทุกข์สุขกัน ของผู้คน ผมนำลิงก์หอพระบรมธาตุวัดหนองแวง ขอนแก่น มาฝากด้วยครับ ที่แห่งนี้ก็เป็นที่หนึ่งที่เป็นแหล่งพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ในวิถีท้องถิ่นซึ่งลึกซึ้งมากครับ

เอาเรื่องโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณของสวนโมกข์มาฝากให้อีกด้วยครับ http://gotoknow.org/blog/civil-learning/243530 เป็นกรณีศึกษากรณีหนึ่งที่สามารถมองในเรื่องการคิดค้นและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สื่อ และแหล่งให้ประสบการณ์ในสิ่งที่ยากและลึกซึ้ง แก่กลุ่มคนที่ไม่จำกัดความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท