รู้จักใช้และรู้จักหา ปากกา ฟลิปชาร์ต บอร์ด : สื่อปฏิสัมพันธ์เพื่อพลังการเรียนรู้


คนทำงานในกิจกรรมที่ต้องใช้ความรู้นั้น มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบสังคมแทบจะในทุกระบบ เทคนิคและทักษะปฏิบัติเกี่ยวกับความรู้จึงเป็นวัฒนธรรมการทำงานในทุกสาขา นับแต่ในองค์กรสมัยใหม่กระทั่งในชุมชนและในการรวมกลุ่มของชาวบ้าน โดยเฉพาะกระบวนการศึกษาเรียนรู้ การเรียนการสอน การอบรม กิจกรรมการศึกษาทั้งในและนอกระบบ การประชุมบริหารจัดการเพื่อทำงานเป็นกลุ่ม การพบปะปรึกษาหารือ ซึ่งสิ่งต่างๆในกิจกรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ เครื่องเขียน ตลอดจนเครื่องมือและวิธีจัดการความรู้ เครื่องมือและวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอความคิดแก่เวทีประชุม การนำเสนอและถ่ายทอดสื่อสาร เพื่อทำให้การทำงานด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนและเป็นหมู่คณะดำเนินไปอย่างได้ผล เป็นสิ่งที่คนทำงานจำเป็นต้องรู้จักเรียนรู้และนำมาใช้เพื่อทำงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ต้องให้ความสำคัญเหมือนกับเป็นทักษะชีวิตเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการการอยู่ร่วมกันและสร้างสุขภาวะสังคมร่วมกัน

การรู้จักใช้และรู้จักหา ปากกา ฟลิปชาร์ต บอร์ด เพื่อสร้างพลังการเรียนรู้ สร้างพลังในการปฏิบัติงาน และสร้างพลังในการบริหารจัดการกิจกรรมทางความรู้ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถเรียนรู้และเพิ่มพูนการพัฒนาให้เป็นทักษะติดตัว เพื่อเสริมสร้างพลังการทำงานดังที่กล่าวถึงในข้างต้นได้อย่างดีครับ..................

  กลุ่มคนที่ต้องรู้จักใช้และรู้จักหา ปากกา ฟลิปชาร์ต บอร์ด  

กลุ่มคนทำงานที่มีกิจกรรมการจัดการศึกษา การเรียนการสอน ประชุม อบรม และระดมความคิด เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน ซึ่งถ้าหากได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะต่อสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะยิ่งมีโอกาสนำไปใช้เพื่อพัฒนาการทำงานได้อย่างดีมากขึ้นก็เช่น อสม วิทยากรกลุ่ม วิทยากรชุมชน คนทำงานกับชุมชน กลุ่มคนทำงานบริการทางการศึกษา เจ้าหน้าที่จัดประชุม เจ้าหน้าที่จัดอบรม คนทำงานในสำนักงาน คนทำงานทางความรู้ทุกกลุ่ม วิทยากร ผู้สอน ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้นำชุมชน วิทยากรกระบวนการ ผู้นำการประชุมแบบกระบวนการกลุ่ม เจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ผู้ควบคุมและดูแลห้องประชุมสัมมนา

  กิจกรรมและเวทีเรียนรู้ที่เป็นโอกาสใช้ปากกา ฟลิปชาร์ต บอร์ด 

เครื่องมือและวิธีการเชิงกระบวนการที่เป็นโอกาสใช้ปากกา ฟลิปชาร์ต และบอร์ด ได้เป็นอย่างดีคือ การเรียนรู้โดยกระบวนการมีส่วนร่วม การระดมความคิดเป็นกลุ่ม การทำแผนภาพการคิด (Mind Map) การจัดเวทีระดมความคิดของชุมชน เวทีเรียนรู้ชุมชน การประชุมกลุ่มวิจัย การประชุมกลุ่มคนทำงาน การประชุมสอนงานของกลุ่มบุคลากรในหน่วยงาน การจัดอบรม การเป็นวิทยากรกลุ่ม 

 

อธิบายภาพ : ตัวอย่างจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้องค์กร วิเคราะห์ศักยภาพ และวางกรอบยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาแผนงานของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาองค์กรและเสริมพลังความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการทำงานภายในองค์กร ผ่านการได้เรียนรู้องค์กรและระดมสมองด้วยการจัดกระบวนการกลุ่มอย่างหลากหลาย ซึ่งฟลิปชาร์ต สื่ออย่างง่าย และวัสดุอุปกรณ์พื้นๆอย่าง เช่น กระดาษระบายสี เครื่องเขียน และวัสดุอุปกรณ์ที่ส่งเสริมพลังการคิดและแสดงการมีส่วนร่วมของปัจเจกอย่างเป็นธรรมชาติ ได้นำมาใช้เป็นสิ่งสนับสนุนให้เครื่องมือทำงานเป็นกลุ่ม ส่งผลดีต่อการทำงานในเวทีและได้ผลตามที่ต้องการอย่างดี

  ฟลิปชาร์ตและบอร์ดกับพลังของสื่อปฏิสัมพันธ์ 

(๑) บูรณาการและผสมผสานการสื่อสารเรียนรู้หลายชุดประสบการณ์ในเวลาเดียวกัน :  เพิ่มประสิทธิภาพในการเห็นและสื่อความหมายได้อย่างบูรณาการซึ่งพลังการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้จะเกิดจากหลายอย่างผสมผสานกัน ทั้งจากการฟังเสียงบรรยาย น้ำเสียง ภาษาท่าทางจากการเคลื่อนไหว ภาษาการวาดรูป สีสัน การเน้น การสร้างความกลมกลืน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดพลังแห่งความหมายขึ้นระหว่างที่เราเขียนฟลิปชาร์ต อีกทั้งเพิ่มโอกาสและทางเลือกจากหลายแง่มุมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงความทุกข์สุขและความเข้าใจร่วมกัน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย นำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันได้ดีขึ้น
(๒) สื่อสารเข้มข้นแบบ ๒ ทาง : ทำให้เกิดการสื่อสารแบบเห็นหน้า แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันแบบ ๒ ทาง ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ผู้มีส่วนร่วมสามารถพัฒนาตนเองและจัดวางความสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
(๓) ขับเคลื่อนพลังชุมชนเรียนรู้ : ผู้สอนและวิทยากระบวนการสามารถพัฒนาบทบาทเป็นผู้สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ รับฟังอย่างมีประสิทธิภาพ สังเคราะห์และประมวลผลข้อมูลได้อย่างฉับพลัน แล้วเขียนบันทึก วาดภาพ สรุปและป้อนกลับเป็นข้อมูลทำงานระดมความคิดของกลุ่มผู้ร่วมเวทีเรียนรู้กลับไปกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการเรียนรู้มีพลังและมีความต่อเนื่อง
(๔) เก็บรวบรวมข้อมูลและจัดการความรู้อย่างมีส่วนร่วม : การใช้ฟลิปชาร์ตและบอร์ด จัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งจัดกระบวนการกลุ่มเพื่อการทำงานของกลุ่มเป้าหมายแบบต่างๆ จะทำให้เกิดการจดบันทึกที่มีการตรวจสอบข้ามความแตกต่างกันหลายระดับและหลายเกณฑ์ หากผู้สอนและผู้จัดกระบวนการมีการเตรียมการได้อย่างดี ก็จะเป็นวิธีบันทึกและเก็บรวบรวมข้อมูลไปด้วย เมื่อนำไปผสมผสานอยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการวิจัย การฝึกอบรม การจัดเวทีชุมชน การจัดประชุมกลุ่มในหน่วยงาน การจัดประชุมกลุ่ม อสม และกลุ่มผู้นำชาวบ้าน ก็จะทำให้วิธีเก็บบันทึกข้อมูลแบบนี้เป็นกระบวนการสร้างศักยภาพปัจเจกและพัฒนาองค์กรจัดการกลุ่มของชาวบ้านไปด้วย ไม่ต้องแยกจัดอบรมและแยกจัดกิจกรรมทางการศึกษาออกจากกระบวนการวิจัยและกระบวนการทำงานกลุ่มต่างๆของชุมชน ซึ่งทำให้กิจกรรมมีมากไป
(๕) สรุปและเสริมวิชาการจากบทบาทผู้เชี่ยวชาญในจังหวะที่เหมาะสม : การใช้บอร์ดและฟลิปชาร์ตได้อย่างมีทักษะ มีศิลปะ จะทำให้ผู้สอน นักวิจัย และวิทยากรกระบวนการ สามารถทำหน้าที่หลายด้านไปด้วยกันอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สรุปและเสริมความรู้เชิงทฤษฎี รวมทั้งให้ความรู้พัฒนาการศึกษาเรียนรู้ต่างๆไปตามความจำเป็นที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

  ลักษณะที่มักปฏิบัติไม่ถูกต้องกับผลเสียของความไม่รู้จักการใช้และไม่รู้จักหา          

(๑) จัดหาและเลือกใช้ปากกาไม่ถูกประเภทการใช้งาน ทำให้สูญเสียทรัพยากรและทำงานเชิงระบบร่วมกันไม่มีประสิทธิภาพ องค์ประกอบแยกย่อยที่เกี่ยวข้องไม่เกื้อหนุนส่งเสริมกันอย่างที่ควรจะเป็น
(๒) จัดหาและใช้ปากกาเคมีซึ่งไม่เหมาะสมสำหรับใช้เขียนกระดาษ มาใช้กับฟลิปชาร์ตและกระดาษ
(๓) จัดหาและใช้ปากกาปากสักหลาด ปากกาตราม้า และปากกาอาร์ตไลน์ มาใช้กับไวท์บอร์ด ซึ่งจะทำให้ติดแน่นและลบไม่ออก
(๔) ไม่รู้วิธีใช้และไม่มีทักษะที่จะใช้ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการสอน บรรยาย จัดประชุม เก็บข้อมูล ทำเวทีเรียนรู้ชุมชน และทำกระบวนการกลุ่มต่างๆ ได้อย่างมีพลัง ทั้งที่เป็นสื่อที่ส่งเสริมพลังการเป็นสื่อบุคคลและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีมาก

กระบวนการเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนให้กระบวนการเรียนรู้และประสิทธิภาพความเป็นผู้สอน สื่อบุคคล การนำประชุม การจัดเวทีชุมชน และการเป็นวิทยากรกระบวนการ ไม่ได้ผลมากอย่างที่ควรจะเป็น 

  รู้จักปากกา เครื่องมือสำหรับสื่อบุคคล : ปากกาอาร์ตไลน์แบบเลือกขนาดได้ 

                            

                             ภาพที่ ๑ ปากกาอาร์ตไลน์แบบปากกลม มีปากสักหลาดเขียนด้านเดียว เหมาะสำหรับมืออาชีพและการทำงานที่มีการใช้อยู่เสมอ Label : ที่ระบุว่า High Performance หมายถึงให้คุณภาพสูง สีสันเข้มข้น ทนนานกว่าปากกาเคมีชนิดอื่นๆ Permanent หมายถึงเช็ดด้วยแปรงลบกระดานและล้างด้วยน้ำไม่ออก Non-Permanent หมายถึงเช็ดออกได้และล้างด้วยน้ำได้

                             

                            ภาพที่ ๒ ปากกาอาร์ตไลน์ตราม้าแบบ ๒ หัว ด้านหนึ่งปากกลม และอีกด้านปากแบน ราคาถูก สีสันคมชัด ซีดจางและเสื่อมสลาย เลือนหายไปเร็ว เหมาะสำหรับการทำงานเพื่อใช้ชั่วคราว

                            

                              ภาพที่ ๓ ปากกาอาร์ตไลน์สำหรับไวท์บอร์ด คนทั่วไปเรียกว่าปากกาเคมีสำหรับไวท์บอร์ดแต่มักไม่รู้วิธีใช้และไม่รู้วัสดุที่ใช้เขียน

ปากกาแบบอาร์ตไลน์ เป็นปากกาปากสักหลาดชั้นดีสำหรับทำงานเขียนและวาดภาพที่ต้องการคุณภาพสูง มีสีสันให้เลือกเป็นจำนวนมาก  ด้ามหนึ่งก็จะมีปากสำหรับเขียนแบบเดียวและขนาดเดียว หากต้องการเลือกขนาดเล็กใหญ่หลากหลาย และต้องการทั้งปากแบน-ปากกลม ก็จะต้องเลือกตามความต้องการโดยเบอร์ ๗๐ จะเป็นปากกาปากกลม แบบเบอร์ ๙๐ ขึ้นไปจะเป็นปากแบน ตัวเลขเบอร์มากก็จะเป็นปากกาที่ให้ขนาดเส้นใหญ่

ช่างเขียนและผู้ขายเครื่องเขียนโดยทั่วไปจะเรียกปากกาอย่างนี้ว่าอาร์ตไลน์ ข้อดีของปากกาแบบอาร์ตไลน์ก็คือ เมื่อต้องการใช้สีใดและด้ามใดก็เปิดฝาและใช้จำเพาะด้ามนั้น ทำให้หมึกปากกาหมดไปตามการใช้ไปทีละด้าม ซึ่งก็จะเหมาะสำหรับงานที่มีการใช้อยู่เป็นประจำนั่นเอง ไม่เหมาะสำหรับกิจกรรมที่นานๆจึงจะนำออกมาใช้สักครั้งหนึ่ง เพราะหมึกจะแห้งและมีราคาแพงกว่าทั่วไป

  ปากกาตราม้าแบบ ๒ หัว ปากแบน-ปากกลม ในด้ามเดียว 

                             

ปากกาตราม้าแบบ ๒ หัว ด้านหนึ่งจะมีปากแบนและอีกด้านปากกลม ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตออกมาในลักษณะเดียวกันอีกหลายยี่ห้อ แต่ก็ควรเลือกดูลักษณะความคมชัดของปากสักหลาดของปากกา ต้องไม่แตกง่าย สามารถซึมและให้หมึกที่ต่อเนื่อง ได้สีสันที่เข้มข้น สม่ำเสมอ เหมาะสำหรับเขียนบนกระดาษฟลิปชาร์ต หากเขียนบนไวท์บอร์ดก็จะลบไม่ออก ต้องใช้ทินเนอร์หรือแอลกอฮอลล์ล้างและเช็ดออก

  ปากกาเคมีสำหรับไวท์บอร์ด โลหะ และวัสดุผิวมัน 

                             

ปากกาไวท์บอร์ด เป็นปากกาเคมีชนิดที่มีตัวเร่งปฏิกริยาให้หมึกแห้งเร็ว แห้งแบบฉับพลันที่เขียน เหตุผลก็คือ หากเขียนบนวัสดุผิวมัน โลหะ โฟไมก้าร์ และไวท์บอร์ด ก็จะได้แห้งทันที ไม่เลอะเทอะ และได้สีสันเข้มข้น เพราะโลหะและวัสดุผิวมันจะทำให้เนื้อสีเกาะลอยตัวอยู่ที่พื้นผิวเป็นปึกหนาแน่น 

ดังนั้น ความคมชัดและสีสันของปากกาเคมีเขียนไวท์บอร์ดจึงสัมพันธ์กับวัสดุที่ใช้เขียนโดยตรง จึงไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวงที่จะใช้เขียนกับกระดาษและวัสดุที่สามารถดูดซับหมึกและสีสันจากปากกา เหตุผลก็คือ หมึกจะแห้งอย่างรวดเร็วทำให้กระดาษดูดซับหมึกไม่ทัน ซึ่งจะทำให้เหมือนกับเขียนไม่ออกทั้งที่เป็นปากกาใหม่เอี่ยม และเมื่อพยายามที่จะใช้เขียน กระดาษก็จะดูดซับจำเพาะสารเคมีแต่ไม่สามารถดูดซับสีสันที่เข้มข้นกว่าปากกาสำหรับเขียนกระดาษ หมึกก็จะแห้งอย่างรวดเร็ว เขียนไม่ออก ไม่ชัด

การที่ปากกาเคมีไวท์บอร์ดมีประสิทธิภาพการใช้อยู่ตรงที่เป็นหมึกที่แห้งเร็ว การเขียนปากกาเคมีสำหรับไวท์บอร์ดจึงต้องหมั่นปิดปลอกปากกา เมื่อลืมปิดปลอกปากกาและหมึกแห้ง ปากกาด้ามนั้นก็จะหมดสภาพการใช้งานไปทันที ทักษะของผู้ใช้จึงสำคัญมาก

ปากกาไวท์บอร์ดก็จะมีสองแบบคือปากกลมกับปากแบน มีขนาดเล็กใหญ่ให้เลือกตามที่ต้องการ และมีอักษรกำกับ A และ B ปากกาที่มีอักษร A จะเป็นปากกาปากกลม และอักษร B จะเป็นปากกาปากแบน

   การใช้ เทคนิคสื่อ และศิลปะการสอน  

 

ปากกาปากแบน ใช้สำหรับเขียนเส้นขนาดใหญ่และระบายสีในพื้นที่ขนาดใหญ่ ใช้เน้นให้เห็นชัด เน้นความสำคัญ ต้องฝึกที่จะใช้ด้านแบนให้สัมผัสกับกระดาษอย่างแนบสนิทเต็มที่ การฝึกฝนและหาความชำนาญจนสามารถรู้สึกและรับรู้การสัมผัสผ่านปากกาได้ จะทำให้สามารถเขียนเส้นปากกาด้านปากแบนได้ตามที่ต้องการ ทั้งการพลิ้วและการลากเส้นทึบให้สม่ำเสมอ

                            

เมื่อต้องการเส้นเล็กและตบแต่งรายละเอียด ก็เลือกใช้ด้านปากกลม

                            

ปากกาปากแบนนั้น สามารถใช้เขียนเส้นขนาดเล็กแบบยืดหยุ่นได้ด้วย โดยจะเลือกทำให้เป็นเส้นขนาดใดก็ได้ ดังนั้น เราจึงสามารถใช้ปากกาปากตัดด้านเดียวเขียนอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้องการเส้นใหญ่ก็ทำให้ปากแบนสัมผัสไปบนระนาบของกระดาษอย่างเต็มที่ และเมื่อต้องการเส้นเล็กก็ตะแคงไปตามองศาที่ให้ขนาดเส้นเล็กลงไปเรื่อยๆตามมุมที่เราตะแคง โดยไม่ต้องเปิดด้านปากกลมเลยก็ได้

ครูอาจารย์ ผู้สอน วิทยากร และผู้นำประชุมที่ฝึกฝนตนเองและหมั่นสังเกต ก็จะสามารถถือปากกาและใช้ปากกาได้นานกว่าปรกติเพราะการเปิดด้านเดียว นอกจากจะทำให้การเขียนมีประสิทธิภาพมากแล้ว ก็จะทำให้หมึกของปากกาหมดช้าลง สามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายครั้งกว่าทั่วไป

 เรียนรู้จากสิ่งเล็กๆเพื่อเห็นโอกาสพัฒนาเรื่องใหญ่ : ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อ เทคโน และหนังสือ  

ในสังคมและในองค์กรต่างๆนั้น เรายังใช้วิทยาการและเทคโนโลยี ตลอดจนทรัพยากรต่างๆทั้งที่อยู่ในชุมชน ท้องถิ่น และที่ขวนขวายจัดหามาจากแหล่งอื่น ที่ยังไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังไม่เต็มศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็นอยู่อีกเป็นจำนวนมากครับ ทำให้เกิดผลเสีย ผลกระทบ และผลสืบเนื่องเชิงลบเกิดขึ้นตามมาหลายอย่าง ที่ซึ่งขาดแคลนและมีความจำเป็นก็จะไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอให้ได้ใช้ มิพักที่จะต้องไปคิดถึงสิ่งที่ก้าวหน้าและทันสมัย

ส่วนที่สามารถเข้าถึงสื่อ เทคโนโลยี และวิทยาการที่ทันสมัย ก็ไม่สามารถระดมไปใช้ให้ตรงกับความจำเป็นและกรณีความต้องการที่แท้จริง เพราะมองข้ามการพึ่งการปฏิบัติของสื่อบุคคลและปัจจัยสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่จะต้องเป็นศูนย์กลางของการจัดการทรัพยากรและการจัดการความรู้ตามสถานการณ์อันหลากหลายต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์และแล็ปท็อปซึ่งถ้าหากผู้ใช้สามารถพึ่งการปฏิบัติตนเองได้แล้ว ก็จะสามารถใช้ทำงานได้มากมายเท่ากับทำงานได้เหมือนทีม ๒๐ คนของแผนกหนึ่ง ทว่า เมื่อขาดองค์ประกอบด้งกล่าวนี้แล้ว ก็อาจจะถูกนำมาใช้เพียงเป็นเครื่องพิมพ์ดีดสำหรับจัดเตรียมข้อความงานพิมพ์เอกสารเท่านั้น ขีดความสามารถอีกมากมายก็ไม่ได้ใช้เลย

กล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ที่เป็นสื่อมัลติมีเดียอยู่ในตนเอง เช่น โทรศัพท์มือถือแบบมีกล้องและเป็นคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับเครือข่ายสื่อมัลติมีเดีย แสดงผลข้อมูลได้ด้วยสื่อหลายชนิดนั้น เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนนั้น ขีดความสามารถขนาดนี้ จะต้องหมายถึงกิจการและห้องปฏิบัติการหลายอย่างที่กระจายกันอยู่ คือ กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ประกอบมากมาย สตูดิโอและร้านล้างฟิล์ม อัดขยายรูป ร้านถ่ายเอกสาร โทรศัพท์ เครื่องส่งแฟ๊กซ์ วิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ชุดไฟส่องสว่างเพื่อถ่ายภาพ เครื่องบันทึกเสียงและเล่นเทป และอีกหลายอย่าง

หากเป็นในอดีต การเข้าถึงการทำงานได้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆที่กล่าวมานี้ อาจต้องใช้เวลาหลายวันและต้องเดินเข้า-ออกร้านรวงต่างๆหลายร้านและหลายแห่ง ขนาดมหึมา ทว่า ปัจจุบันนี้ ทั้งหมดหลอมรวมอยู่ในอุปกรณ์มัลติมีเดียในอุ้งมือเดียว หรือในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กนิดเดียว แต่โดยมากแล้ว คนทั่วไปกลับมักใช้ขีดความสามารถดังกล่าวเหล่านี้ไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ การปฏิบัติและเรียนรู้จากสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เราคุ้นเคยหลายอย่าง จึงอาจเป็นการค้นพบตนเอง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ก่อเกิดสิ่งดีงามจากการมีส่วนร่วมเล็กๆของเราอย่างนี้ก็ได้ครับ.

หมายเลขบันทึก: 342602เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2010 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

แต่โดยมากแล้ว คนทั่วไปกลับมักใช้ขีดความสามารถดังกล่าวเหล่านี้ไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ การปฏิบัติและเรียนรู้จากสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เราคุ้นเคยหลายอย่าง จึงอาจเป็นการค้นพบตนเอง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ก่อเกิดสิ่งดีงามจากการมีส่วนร่วมเล็กๆของเราอย่างนี้ก็ได้ครับ

  • การค้นพบตัวเอง
  • นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
  • ก่อเกิดสิ่งดีงาม
  • จากการมีส่วนร่วมเล็กๆ

เยี่ยมมากครับอ.ดร.วิรัตน์

.

ครูอาจารย์ ผู้สอน วิทยากร และผู้นำประชุมที่ฝึกฝนตนเองและหมั่นสังเกต ก็จะสามารถถือปากกาและใช้ปากกาได้นานกว่าปรกติเพราะการเปิดด้านเดียว นอกจากจะทำให้การเขียนมีประสิทธิภาพมากแล้ว ก็จะทำให้หมึกของปากกาหมดช้าลง สามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายครั้งกว่าทั่วไป

มีความจำเป็นมากๆค่ะพี่อาจารย์..เรียกว่าต้องพกติดตัวกันไว้เลยทีเดียว..เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่ต้องมีประจำไว้ในกระเป๋าเครื่องมือค่ะ..

เขียนด้วยลายมือธรรมดาก็ใช้ได้ค่ะ..แต่ถ้าใช้เขียนแบบตัวริบบิ้นก็งามตามฝีมือการดักเหลี่ยมมุมของแต่ละบุคคลว่าจะได้เหลี่ยมมุมที่คมกริบขนาดไหนก็แล้วแต่เทคนิคของแต่ละบุคคลค่ะ..

สวัสดีครับคุณสุเทพครับ

สบายดีนะครับ บทเรียนและวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งการนำเอาทักษะและความรู้เพื่อทำให้คนทำงานเป็นกลุ่มด้วยกันอย่างมีพลัง มาจัดการเพื่อสร้างพลังอย่างทวีคูณสิ่งดีขึ้นจากกลุ่มคนที่อยู่ติดกับการทำมาหากินและแก้ปัญหาในชีวิตประชุมด้วยภูมิปัญญาที่บ่มสร้างมาจากการดำเนินชีวิตอย่างนี้ เครือข่ายชุมชน และเครือข่ายคนทำงานกับ พอช. มีเยอะครับ ดูเหมือนว่าผมเคยตั้งข้อสังเกตให้กับคุณสุเทพและเคยบอกว่าหากถอดบทเรียนออกมาสะสมไว้ ก็จะเห็นการงานแห่งชีวิตของผู้คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่เห็นในขั้นสุดท้ายหลายอย่าง ที่เป็นงานความคิดและกิจกรรมที่ใช้ปัญญาการปฏิบัติ ในเรื่องต่างๆของชุมชน ผู้คนจะมีกำลังใจจากการได้เห็นความงอกงามด้านในของตนอีกเยอะครับ

ตัดแต่งตัดต่อประกอบเป็นบอร์ดนิเทศได้..ไม่เปลืองหมึกพริ้นท์ค่ะ...ใช้ภาคสนามก็ใช้ได้ดีมากค่ะ..

  สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก   : อย่างที่น้องคุณครูอ้อยเล็กพูดถึงที่ตนเองปฏิบัตินั้น จะทำให้เราพึ่งตนเองและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของคนอื่นได้ทันทีอยู่เสมอเลยนะครับ ยิ่งเป็นตามต่างจังหวัด บ้านนอก งานอย่างนี้ชาวบ้านจะคิดว่ามันเป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านทำไม่ได้ เรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยอย่างนี้ของคนในเมือง ก็จะเป็นเรื่องที่เดินเข้าไปเป็นเพื่อนกับชุมชนและทำงานด้วยกันอย่างมีความหมายมากเลยครับ ทั้งช่วยการทำงานกลุ่มของชาวบ้าน ช่วยงานโรงเรียน ช่วยงานอำเภอ เป็นสื่อที่สามารถพาเราไปร่วมทอดผ้าป่าหัวใจร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีเลย ผมเองนั้นก็ต้องมีติดตัวตลอดครับ

อย่าว่าแต่ชาวบ้านและคนอื่นเลยครับ นี่นักศึกษาลูกศิษย์ผมเขาจะรับน้องของเขากันและอยากทำสิ่งต่างๆเป็น Inspiration และ First impression ให้กัน ยังมากะลิ้มกะเหลี่ยหลายรอบขอให้วาดการ์ตูนหน้าปกหนังสือรับน้องให้เลยครับ มันเป็นวิชาสร้างเพื่อน ทำให้คนเกิดโอกาสเรียนรู้ที่จะเดินเข้าหากันด้วยวิธีสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กันด้วยภาษาการทำงานเล็กๆด้วยกันน่ะครับ

อันที่จริงชุดนี้ผมเขียนเป็นตัวอย่างให้น้องๆทีมวิจัยของผมน่ะครับ ตอนนี้ขอให้น้องๆผมเขียนวิเคราะห์งานวิจัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์และบทเรียนของคนทำงานในชุมชน ผู้นำชาวบ้าน อสม เด็กๆและผู้นำเยาวชน แล้วก็มีข้อมูลจากกิจกรรมส่วนหนึ่งซึ่งเป็นงานเชิงกระบวนการและเป็นตัวอธิบายความสำเร็จของการพึ่งตนเองของชาวบ้านในการทำงานสร้างสุขภาพ รวมทั้งงานสร้างสุขภาวะหลายอย่าง อยู่ในระดับชุมชน ที่ผมอยากให้ทีมสกัดออกมาเป็นบทเรียนของสิ่งที่ใช้ทำงานกับชาวบ้านได้จริงในสังคมไทย แต่อยากให้เขียนและใช้ข้อมูลภาพจากการทำงานจริงๆ มาช่วยนำเสนอ เพื่อที่พอสกัดออกมาได้หมดแล้ว ก็จะได้รวบรวมออกมาทำเป็นหนังสือคู่มือการทำงาน ส่งกลับไปขยายผลและเสริมกำลังตนเองของชุมชนในแหล่งต่างๆต่อไปอีก ตอนนี้พรรคพวกร้องฮ้อแล้วครับ เพราะข้อมูลลงไปทำงานนั้นเพรียบเลย

P..เรียนพี่อาจารย์..ในการใช่สื่อประเภทนี้..เด็กนักเรียนก็ไม่มีความกล้าเช่นกันค่ะ..กลัวออกมาไม่สวย ไม่เริ่ด..อ้อยเล็กเองก็ต้องลงทุนว่า..ลายมือธรรมดานี่ก็ได้..เพียงแต่ให้เรียบร้อย อ่านออกพร้อมที่จะสื่อข้อความออกไปก็เป็นอันใช้ได้แล้ว..และค่อยฝึกๆไปจนได้ลายมือที่ต้องการ ภาษาไทยเป็นของเรา..ถ้าเราเขียนไม่สวยแล้วใครจะเขียนสวยเล่า..ตอนนี้เด็กนักเรียนรู้จักใช้สื่อชนิดนี้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นแล้วค่ะ..ใช้ได้ดีสุดก็ตอนจัดค่ายลูกเสือที่ศรีราชา..เขียนบนถุงผ้าแทนสีกันเลยทีเดียวค่ะพี่อาจารย์

ลูกเสือชาวภูฏาณ..วาดหมีพู...

 

 

 

น่าสนุกดีจัง ฝีมือดีนะครับ ดูมีสมาธิ ตั้งอกตั้งใจ-มุ่งมั่นดีครับ การเตรียมวัสดุแล้วให้คนมาระบายสี พอเสร็จแล้วก็ถือติดมือกลับไปเป็นผลงานตนเองและเอาไปใช้เองนี่สนุกดีครับ อย่าว่าแต่เด็กๆเลย ผมเคยเห็นในงานวัด คนหนุ่มคนสาวและผู้ใหญ่ก็ชอบมานั่งหาเวลาทำสมาธิและอยู่กับตัวเองโดยนั่งวาดรูปแและระบายสีด้วยเช่นกัน

สวยไม่สวยไม่สำคัญเท่ากับว่ารูปวาดข้างนอกนั้นมันเป็นเพียงวิธีการที่เขาจะอยู่กับตัวเอง แล้วก็เป็นวิธีการได้ออกกำลังจินตนาการ กำลังใจ กำลังความสามารถที่จะมีความสุขจากข้างใจให้มันแข็งแรงและค่อยๆแช่มชื่น รื่นรมย์เบิกบานขึ้นมา

แต่ก็ต้องไกด์ช่วยให้มากด้วยเหมือนกันครับ เพราะหากไม่ไกด์ช่วย คนส่วนใหญ่ก็จะไม่มีวิธีคิดให้สามารถมองเห็นความงามจากข้างในจิตใจตนเอง เพราะกระแสสังคมส่วนใหญ่มักทำให้คนรู้จักแต่ความงามที่อยู่ข้างนอก และทำให้คนกลัวว่าตนเองจะไม่มีฝีมือทำให้สิ่งที่เห็นมีความสวยงาม

ความงามนั้นอยู่ที่ใจ ? คนต้องรู้จักวิธีคิดเรื่อง จิตประภัสสร ซึ่งเป็นทรรศนะความเชื่อเหมือนกับวิธีคิดแบบพุทธที่ว่า ปัจเจกทุกคนมีความเป็นพุทธธะอยู่ตนเอง โดยทรรศนะดังกล่าวนี้ก็เชื่อว่า ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์และจิตด้้งเดิมของมนุษย์นั้น สะอาด ดีงาม และมีพลังแห่งพุทธธะ แต่การปรุงแต่งทั้งหลาย ทำให้ธรรมชาติและจิตประภัสสรนั้นถูกกลลและบดบัง การจะเห็นความงดงามและเข้าถึงความดีงามที่แท้ ก็จะต้องหมั่นกลับเข้าหาธรรมชาติและจิตดั้งเดิมให้ได้อยู่เสมอ การได้ทำงานศิลปะและอยู่กับตนเอง สังเกตตนเอง อย่างนี้ แค่ได้ทำและจัดโอกาสให้ตนเองอย่างนี้ก็ได้สัมผัสความงดงามและความดีงามแก่ตนเอง

หากมีแนวใคร่ครวญและพิจารณาอย่างนี้ คนก็จะสามารถเขียนและวาดรูป ทว่า ให้จิตใจมองส่องตนเองเข้าไปข้างใน และเห็น..ความงามมันอยู่ที่ใจ ได้ครับ

 เล็กน้อย แต่ขุมพลัง คลังข้อมูล

การเรียนรู้จากสิ่งเล็กๆ ลองฝึก ลองใช้ ลองผิด ลองถูก เก็บรายละเอียดให้ได้ แก้ปัญหาไปทีละนิด ทำไปแบบสะสม (อย่างที่อาจารย์ย้ำเตือนบ่อยๆ) ให้มีประสบการณ์รอบด้านมากขึ้น .. แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ถ้าไม่อำนวยต่อการใช้อุปกรณ์นึง เราต้องสามารถหาสื่อสิ่งอื่นมาทดแทนได้ทันท่วงที ..

เป็นบทเรียนในการทำงานที่เราได้รับมา เก็บเข้าสู่คลัง และนำมันออกมาใช้ให้รู้กาละเทศะ เพียงแค่นี้ก็ที่สุดแล้วนะค่ะ

อาจารย์เก็บรายละเอียดได้ทุกเม็ดทำให้ต้องร้อง ฮ้อ อย่างที่อาจารย์ว่าจริงๆ ค่ะ และทำให้ให้รู้ว่า โอ๊ยยยย ยังมีอีกเยอะเลย ที่ต้องเร่งเอามันออกมาใช้ได้แล้ว ^^

                              

                               

ภาพส่วนหนึ่งที่ทีมทำงานได้ใช้สื่อ เทคโนโลยี่ที่เรามีอยู่ เพิ่มความเข้มข้นต่อการเรียนรู้ และเสริมพลังการทำงาน ในการบันทึกข้อมูล และการจัดการความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพ  และลดช่องว่างต่างๆ ได้มากมายนะค่ะอาจารย์ ..

วัตถุดิบเพรียบเลยนะครับ นอกจากแบ่งปันแล้ว อาจารย์ณัฐพัชร์เขียนเผื่อสำหรับดึงออกไปเขียนตบแต่งเพิ่มได้เลยนะครับเนี่ย ผมขอเปลี่ยนรูปจากกลุ่มเด็กๆของทีมจังหวัดกาฬสินธุ์มาเป็นเวทีเวิร์คช็อปของกลุ่มผู้ใหญ่จากคณะสาธารณสุขฯนะครับ รูปของกลุ่มเด็กๆได้เตรียมไว้สำหรับนำไปใช้ในอีกหัวข้อหนึ่งครับ เป็นเรื่องกระบวนการทำงานกลุ่มของเด็กๆน่ะครับ เอามาใช้ในนี้เสียแล้ว หากเอาไปใช้อีกเลยเกรงว่าจะกร่อยครับ 

 ได้ค่ะอาจารย์  ดูเหมือนวัตุดิบเยอะนะค่ะ แต่แท้ที่จริงแล้วมีปัญหาเรื่องตัวข้อมูลบางส่วนที่เสียหายไป ส่วนที่พอยังดึงมาได้ก็มาจากข้อมูลเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ค่ะ แต่ดูๆ ไปก็ยังเพียบอยู่ดี .. ตอนนี้เลยเริ่มออกอาการ มือทำอย่างนึง ตามองหาอีกเล่มนึง สมองคิดไปส่วนอื่น อีกแล้วค่ะ ฮ่าา  ก็มันเย๊อะไปหมดนี่ค่ะ ทีมเราสะสมข้อมูลกันไว้เยอะมากนะค่ะเนี่ยะ ตอนนี้ชักอยากมีมือสัก ๑๐ มือ รอยหยักสมองเพิ่มอีกสัก ๑๐ เท่า ..... ว่าแล้วไปหากาแฟสด เย็นๆ หอมๆ อร่อยๆ ดื่มดีกว่า .. อาจารย์รับไหมค่ะ ^^

เข้าท่าดีครับ เป็นการให้สันทนาการตัวเองให้ได้ความครึกครื้นรื่นรมย์ใจอย่างง่ายๆอยู่กับการทำงานดีนะครับ  หากอาจารย์ณัฐพัชร์เอาข้อมูลในนี้ไปเรียบเรียงเป็นเนื้อหาคู่มือวิทยากรกระบวนการด้วยแล้วละก็ มีบางส่วนตรงส่วนต้นๆ ๓ ย่อหน้าแรกที่ผมได้เกลาข้อความเล็กๆน้อยๆให้กระชับกว่าเดิมอีก ต่างไปจากเดิมเล็กน้อยนะครับอาจารย์ อาจารย์ลองพิจารณาไปตามสะดวกเด้อครับเด้อ

*สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้นะคะ

ขอบคุณค่ะ^__^

สวัสดีครับหนูต้นเฟิร์น : ขอให้ได้สิ่งต่างๆมากมายนะครับ ว่างๆหนูต้นเฟิร์นกับเพื่อนๆคุยเรื่องโรงเรียนจ่านกร้องให้ฟังบ้างนะครับว่าทำไมเด็กๆกับคุณครูเก่งจัง

ตามรอยบันทึกมาจนได้มุมคิด

ได้เรียนรู้การใช้ปากกา

อยากให้โรงเรียนเปิดเร็วๆจังเลย

ขอบคุณมากๆค่ะ

และขอนำไปเผยแพร่ที่งานสังคมสงเคราะห์

และงานสุขศึกษาของรพ.สมุทรสาครก่อนโรงเรียนเปิดนะคะ

ผลเป็นอย่างไรจะเรียนให้ทราบค่ะ

สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ

  • "อยากให้โรงเรียนเปิดเร็วๆจังเลย" เป็นคำที่ฟังดูมีความสุขและมีความหวังดีจังเลยนะครับ
  • อยากอ่าน-อยากได้เรียนรู้ไปด้วยจังเลยครับ แต่ภาพมันเปลี่ยนแว๊บ-แว๊บ นั่งดูแป๊บเดียวก็มึนตึ๊บเลยครับ
  • ฝากรำลึกถึงคุณหมอ ผอ.และทีมบริหาร และทีมสังคมสงเคราะห์กับทีมงานสุขศึกษา รวมไปจนถึงทีมพัฒนาเครือข่าย รพ.-ชุมชน ด้วยนะครับ เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนผมได้ไปร่วมทำงานด้วย ระหว่างนั้นก็ไปป่วยเป็นไข้หวัดและไออย่างรุนแรง ไปรักษาที่ไหนและทำอย่างไรก็ไม่หาย-ไม่ดีขึ้น จนขี้เกียจรักษา
  • ไปได้ทีม รอง ผอ.ฝ่ายวิจัย และเพื่อนๆ-น้องๆในกลุ่มที่ทำวิจัยชุมชนกับงานสุขศึกษา-เครือข่ายชุมชน ของโรงพยาบาลสมุทรสาครนี่แหละครับ ที่นั่งประชุมกับผมและนั่งเรียนรู้เรื่องการวิจัยชุมชนกับผม ขณะเดียวกันก็แลกเปลี่ยนด้วยการดูแลรักษาให้ผมไปด้วย ประทับใจไม่ลืมครับ ขอบคุณย้อนหลังอีกรอบก็ยังไม่พอเลยทีเดียว

เรียนท่านอ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ได้เรียนให้ทางรพ.ราบแล้วค่ะ และ

วันอังคารที่จะถึงนี้(4 พค.53)

จะไปจัดกิจกรรมที่ศูนย์สามวัยต.บางโทรัดค่ะ

ระยะนี้จึงทบทวน และหาแนวทางการทำงานเพิ่มเติม

และกลับมาทบทวนสื่อพื้นฐานอีกครั้ง

เพื่อนำไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้

อยากเรียนให้อ.ทราบว่า จากบทความของท่าน

ทำให้ได้ปรับการเตรียมตัวเพื่อการการทำงานให้คล่องตัว

โดยจัดกระเป๋าสื่อมือถือเป็นของตัวเองแล้วค่ะ

ในกระเป๋ามีทั้งอุปกรณ์เครื่องเขียน กาว แม็กซ

ตัวหนีบ หมุดมีหัว สมุดการ์ตูนลายเส้น(เอาไว้ฝึกยามว่าง)

ดินสอสี

ส่วนในภาพที่นำมาฝากนั้นเราไม่มีกระดาน

ก็ยกโต๊ะตะแคงขึ้นทำหน้าที่แทนกระดานค่ะ

ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมต่างเขียน ความดีของเพื่อนร่วมงาน

เป็นกิจกรรมแบบนี้ค่ะ http://gotoknow.org/blog/krutoiting/344846

และวันที่ 10 จะมีกิจกรรม KM ครั้งที่ 4 ต่อจากครั้งนี้ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

  สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ 

  • ขอบพระคุณครับที่อุตส่าห์นำความรำลึกถึงไปบอกข่าวคราวแก่ทุกท่านของโรงพยาบาลสมุทรสาครให้ผมด้วย
  • อันที่จริงผมได้ช่วยทำกิจกรรมพัฒนาองค์กรด้วยการถอดบทเรียนตนเองแบบเสริมพลังให้กับกลุ่มทำงานกลุ่มต่างๆในโรงพยาบาล อยู่บางกลุ่มงานที่เขาใหญ่ ได้เห็นศักยภาพของคนทำงานระดับปฏิบ้ติที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จหลายอย่างของโรงพยาบาลสมุทรสาครมากทีเดียวครับ
  • ในช่วงหลังมานี้ เห็นทั้งทีมบริหารและกลุ่มปฏิบัติกลุ่มต่างๆ กำลังสนใจการทำวิจัยและพัฒนาเครือข่ายทำงานกับชุมชน เพื่อครอบคลุมงานในมิติต่างๆของระบบบริการสุขภาพให้รอบด้านมากที่สุด ป่านนี้คงมีประสบการณ์และได้บทเรียนดีๆมากมายนะครับ
  • ความเป็นชุมชน และปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ของสมุทรสาคร ต่องานสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแล้วน่าจะให้รูปแบบการทำงานในเงื่อนไขใหม่ๆของสังคมไทยมากเลยครับ มีความสลับซับซ้อนและมีคุณลักษณะเฉพาะที่เป็นภาพสะท้อนทั้งความเป็นท้องถิ่นและสังคมเศรษฐกิจของกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะความเป็นชุมชนประมง ชุมชนเมืองอุตสาหกรรม สังคมที่มีแรงงานอพยพทั้งภายในประเทศและแรงงานข้ามชาติจากประเทศใกล้เคียง บทเรียนที่แก้ปัญหาและทำงานได้ผลดีในชุมชนอย่างนี้ มีความสามารถอธิบายเงื่อนไขทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กว้างขวางได้ดีกว่าที่ใดๆมากเลยนะครับ

                           

  • ได้แวะเข้าไปดูกิจกรรมดีๆของทีมด้วยแล้วครับ มีบรรยากาศของการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ความลุ่มลึกของคนในองค์กรดีจังเลยนะครับ
  • การพากันนอนอย่างในภาพนี้ผมก็เคยใช้ในการประชุมและเวทีทำงานต่างๆครับ ทำได้ในหลายแนวคิด และหากนำกระบวนการดีๆก็ให้ผลดีเสมอครับ บางทีพลังความรู้และความสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นก็นอนก้น รอการดึงออกมาใช้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วในตัวคน เราเพียงจัดโอกาสให้ทุกคนได้อยู่กับตนเอง หยุดคิด ตั้งสติ เรียนรู้เข้าไปในตนเองให้ซาบซึ้ง เมื่อรู้จักตนเองได้ดีขึ้น ก็เจริญสติและภาวนาหรือพัฒนาให้งอกงามออกมาสู่การปฏิบัติ เมื่อได้ทำและกลับออกไปทำงาน-ดำเนินชีวิตอีกทุกครั้ง ก็ได้พัฒนางาน ได้ความงอกงามและพัฒนาตนเองไปด้วยอยู่เสมอ
  • ขอบพระคุณที่นำมาแบ่งปันกันครับ

ขอวิธีการทำหมึกปากกาไวท์บอร์ดจากธรรมชาติหน่อยค่ะ...

  • ผมยังไม่เคยทำเลยครับ
  • แต่หากที่ไหนไม่มีไวท์บอร์ดและปากกา ก็จะต้องแก้ปัญหาไปใช้วิธีทำกระบวนการแบบอื่นครับ เช่น หากเป็นการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ก็จะใช้วิธีนั่งสนทนากัน
  • หากเป็นชาวบ้านและต้องการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเพื่อวางแผนกิจกรรม  ก็อาจจะใช้การ์ดและบัตรคำให้เขียนด้วยดินสอปากกาแล้วติดบอร์ดแทนการใช้ไวท์บอร์ดและปากกาปากสักหลาดครับ
  • ผมเคยร่วมกระบวนการของอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธุ์ สถาบันพัฒนาการเรียนรู้และประชาสังคมเขาจัดประชุมและช่วงหนึ่งมีกิจกรรมนั่งสนทนากลุ่มย่อยที่ชายหาด วิทยากรก็ให้กลุ่มเตรียมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในกลุ่มย่อยด้วยการวาดรูปและปั้นกองทรายเป็นสื่อ พอคุยกันเสร็จก็ทิ้งไปเลย ก็ใช้ได้ผลดีครับ
  • เครื่องมือและวิธีการเหล่านี้ เป็นตัวเลือกที่มาทีหลังน่ะครับ อยู่ที่จุดหมายว่าต้องการอะไรและในเงื่อนไขแวดล้อมนั้นๆเรามีทรัพยากรอยู่อย่างไรบ้าง

รบกวนข้อข้อมูล ลักษณะ วิธีการใช้งาน ของกระดาษชาร์ต เพิ่มเติมได้ไหมคะ

น่าจะมีข้อมูลและตัวอย่างกิจกรรมการใช้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ อยู่บ้างเหมือนกันนะครับ
จะไม่ลืมที่จะนำมาเขียนถ่ายทอดแบ่งปันกันนะครับ ขอบคุณคุณศิริพรมากครับที่ให้ความสนใจและชวนสนทนาแบ่งปันกันในเรื่องเครื่องมือและเทคโนโลยีการศึกษาใกล้ตัว ทั้งชุมชนและคนทำงานแทบทุกสาขา 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท