กระบวนการดำเนินการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม


เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามเงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการ โดยสามารถพิจารณาจากการดำเนินงานในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง เพื่อนำไปสู่แนวทางและวิธีการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1 การประชุมเพื่อชี้แจงการเข้าติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Opening Meeting)

ก่อนการติดตามตรวจสอบพื้นที่โครงการ เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางถึงสถานที่นัดหมายอย่างพร้อมเพรียง หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่อง (Facilitator) กล่าวนำการประชุม โดยอาจเริ่มจากการแนะนำตัวผู้ร่วมตรวจสอบฯ และชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ และขั้นตอนการติดตามตรวจสอบพื้นที่โครงการ และการปฏิบัติตามระเบียบด้านความปลอดภัยของโครงการ รวมทั้งทรัพยากรที่จำเป็นในการขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากโครงการ เช่น เจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ที่มีการติดตามตรวจสอบ การแสดงจุดเก็บตัวอย่าง เป็นต้น หลังจากนั้นเจ้าของโครงการอาจนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการติดตามตรวจสอบดังกล่าว เช่น การดำเนินงานโดยทั่วไป และกระบวนการผลิตคร่าวๆ และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนการชี้แจงรายละเอียดประเด็นปัญหาที่คณะผู้ติดตามตรวจสอบสนใจ เพื่อทำให้สามารถเห็นภาพกว้างในการดำเนินงานโครงการ ตลอดจนลักษณะเฉพาะของโครงการ

2 การตรวจสอบและรวบรวมสภาพโครงการในปัจจุบัน โดยดำเนินการตรวจสอบตามแนวทางการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่ได้รับฟังการเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานของโครงการพอสังเขปแล้ว เจ้าของโครงการจะนำคณะผู้ติดตามตรวจสอบฯ ตรวจสอบการปฏิบัติงานจริง (Work Through) ภายในพื้นที่โครงการ ตามขั้นตอนการติดตามตรวจสอบที่ได้แจ้งให้ทราบไว้แล้ว และในระหว่างการเดินสังเกตการณ์ อาจมีการสัมภาษณ์พนักงานผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และสังเกตความผิดปกติในการทำงานของพนักงานและเครื่องจักรที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามที่เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประเด็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ เช่น เปลี่ยนแปลงชนิดหรือขนาดระบบบำบัดมลพิษมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากที่เสนอไว้ในรายงานหรือไม่

นอกจากนี้ สังเกตการณ์การปฏิบัติงาน และการดูแลรักษาสถานที่ ตลอดจนตรวจสอบว่ามีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานหรือไม่ โดยการตรวจสอบเอกสาร ข้อมูล บันทึก รายงานจากหน่วยการผลิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตรวจสอบในลักษณะนี้ ส่งผลให้สถานประกอบการทราบว่ายังคงมีกระบวนการบังคับใช้อยู่ ทั้งนี้ หากเจ้าของโครงการอนุญาตให้ถ่ายภาพก็อาจเก็บภาพที่เกี่ยวกับประเด็นที่ยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งผิดปกติที่อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีการปฏิบัติตามข้อกำหนด นอกจากนี้ในการพิจารณาสัญญาณที่บ่งบอกให้ทราบว่า สถานประกอบการตั้งใจจะฝ่าฝืนหรือรายงานข้อมูลเท็จหรือไม่ เช่น ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง ลูกจ้างแต่ละคนในสถานประกอบการเดียวกันให้ข้อมูลต่างกัน และข้อมูลที่สถานประกอบการรายงานไม่มีหลักฐานหรือเอกสารสนับสนุน เป็นต้น  สำหรับกรณีที่มีความจำเป็นในการเก็บตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ตรวจสอบการแพร่กระจายมลพิษที่ประชาชนร้องเรียนผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย อาจจำเป็นต้องดำเนินการตรวจวัดโดยหน่วยงานที่เป็นกลาง (Third party) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และมีความเชี่ยวชาญในการเก็บตัวอย่าง รวมทั้งสามารถให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการ

 

หมายเลขบันทึก: 391887เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท