ความปวดเรื้อรังจากการเจ็บป่วย ทำให้คนๆหนึ่งถึงกับตัดสินใจทำร้ายตัวเอง เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานนั้นได้ เชียวหรือ?


“อะไรจะขนาดนั้น! เพียงเรื่องความปวดเนี่ยนะ ทำให้คนไข้ถึงกับตัดสินใจฆ่าตัวตาย..."
ในตอนเช้าของวันหนึ่ง ขณะที่ง่วนอยู่กับการโทรศัพท์ประสานงานกับสมาชิกทีมการดูแลแบบประคับประคอง ของโรงพยาบาล เพื่อนัดเวลาที่จะพบปะ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในบ่ายวันนั้น (ในหัวข้อเรื่อง การจัดการความปวด) ก็ได้ข้อมูลจากพยาบาลจิตเวชที่เป็นเครือข่ายการดูแลร่วมกัน ว่ามีผู้ป่วยหญิง วัยยังไม่ถึง 40 ปี รายหนึ่ง มาตรวจตามนัดที่คลินิกจิตเวชของโรงพยาบาล มีปัญหาปวดเรื้อรังจนถึงกับตัดสินใจทำร้ายตัวเอง(ฆ่าตัวตาย)เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน มาแล้วถึง 2 ครั้ง (ผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาปวด เมื่อประมาณ 2 เดือนหลังจากได้รับการผ่าตัดเอาถุงน้ำที่รังไข่ออกเมื่อ 1 ปีกว่าที่แล้ว หลังจากนั้นก็ตัดสินใจทำร้ายตัวเองถึง 2 ครั้ง ล่าสุดเพิ่งได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลเมื่อประมาณ 2เดือน) ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแว๊บ!แรก (ด้วยกำลังไฟแรง...เมื่อคืนพึ่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องของการจัดการความปวดมาหมาดๆ ทั้งจากงานวิจัยภาคไทย+ภาค Interฯ) “อะไรจะขนาดนั้น! เพียงเรื่องความปวดเนี่ยนะ ทำให้คนไข้ถึงกับตัดสินใจฆ่าตัวตาย ดีนะที่ไม่สำเร็จ ไม่งั้นคงเป็นอะไรที่สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในวงการ Pain society (ตั้งเอาเอง ค่ะ)...ก็รู้ๆกันอยู่ว่าปัญหา Pain เป็นอะไรที่เราน่าจะควบคุมได้ ถึงแม้ว่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ(ดังเช่นที่ทีม Palliative Care ของเราได้เรียนรู้ร่วมกันในบ่ายวันที่ 16 ตุลาคม 2551,ภาพประกอบ) ..แต่ระบบการบริหารจัดการ การติดตามประเมินผลการรักษาอย่างจริงจัง การให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาตอบสนอง ความคิดความรู้สึกของผู้ป่วยและครอบครัว ต่อปัญหานั้นๆ หรือการดูแลที่เข้าถึง “ใจ” ผู้ป่วยนั้น...ยังต้องการการพัฒนาอีกมาก หลังจากที่ได้พบปะกับผู้ป่วยเพื่อค้นหาปัญหา และให้คำปรึกษา เราก็ได้นำเอาเรื่องราวของผู้ป่วยรายนี้มาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนกันในทีมฯ บ่ายวันนั้น คุณหมอซึ่งเป็นหัวหน้าทีม Palliative Care ของเรา ซึ่งเพิ่งมีโอกาสได้เป็นเจ้าของไข้ผู้ป่วยรายนี้หลังจากที่ผู้ป่วยฆ่าตัวตายครั้งที่ 2 ก็ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ปรึกษาหาแนวทางการดูแลร่วมกัน...ที่ผ่านมา ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาทั้งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือก ได้แก่ การฝังเข็ม ควอนตัมบำบัด (Quantum therapy)...ซึ่งก็ปรากฏว่า การฝังเข็มของคุณหมอนั้นสามารถลดระดับความเจ็บปวดของผู้ป่วยลงได้ถึง 50 % (ก่อนการรักษาระดับความปวดอยู่ที่ 10 ใน 10, หลังการรักษาด้วยการฝังเข็มผู้ป่วยบอกว่า ระดับความปวดลดลงมาเป็น ระดับ 5 ใน 10)แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังรู้สึกทุกข์ทรมานอยู่ (suffering level อยู่ที่ 8 ใน 10)...แต่ก็เลิกคิดที่จะฆ่าตัวตาย(ในขณะนั้น) และตัดสินใจจะลองรักษาดูอีกครั้ง...ทางทีมฯได้ให้การดูแลเพิ่มเติม ควบคู่กันไปในส่วนที่ยังขาด โดยเฉพาะในเรื่องของการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย...บอกกล่าวให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่รักษาและควบคุมได้ เพียงแต่ต้องทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง และที่ผ่านมาผู้ป่วยได้รับการรักษาเรื่องความปวดนี้ไปอย่างไรแล้วบ้าง กำลังรักษาอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ทีมผู้ดูแลจะช่วยดูแลต่อไปอย่างไรบ้าง (บางเรื่องผู้ป่วยไม่ทราบว่านั่นคือวิธีการดูแลรักษาความปวด ไม่ทราบว่าความปวดของตนเกิดจากอะไร เป้าหมายของการรักษาเป็นอย่างไร ไม่ทราบว่าจะติดตามผลไปถึงเมื่อไหร่ถึงจะรู้ว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล และจะรักษาด้วยวิธีใดต่อไป)พร้อมกันนั้น ได้ให้ช่องทางในการติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์ได้ ตลอด24 ชั่วโมง และรับไว้เป็นผู้ป่วยในความดูแลของทีมฯซึ่งจะมีการติดตามสอบถามอาการ ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ และติดตามต่อเนื่องที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ...เพื่อปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป ล่าสุด เมื่อวันก่อนหลังจากมาพบแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยรายนี้ก็ได้รับการส่งตัวเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในโรงพยาบาลประจำจังหวัด(ผู้ป่วยได้โทรแจ้งและให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ก่อนไป) ซึ่งทางทีมงานของเราก็จะได้มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง...เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว ต่อไป เป็นกำลังใจ ให้ต่อสู้ต่อไปนะคะ...ผู้ป่วยของฉัน... **********
หมายเลขบันทึก: 220148เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2008 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • น้องไพลินค่ะน้องได้ทำทานครั้งยิ่งใหญ่แล้วค่ะ
  • ไม่ผิดหรอกค่ะที่ความเจ็บปวดจะทำให้ตัดสินใจทำร้ายตัวเองเพื่อให้หลุดพ้นกับความเจ็บปวดนั้นได้
  • แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยได้นั่นคือ กำลังใจ ค่ะ
  • ขอให้วันนี้เป็นวันหยุดที่มีความสุขนะคะ

สวัสดีค่ะ ความเจ็บปวด อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ก็อาจจะมีสาเหตุอื่นๆ ที่นอกจากสาเหตุนี้ เป็นกำลังใจให้คนไข้ และแพทย์ พยาบาลค่ะ

ความเครียด 

 ความทุกข์ 

ความไม่สุข

และความอะรหลายๆ อย่าง 

ก็ทำให้ความปวดเพิ่มมากขึ้นเป็นทบทวคูณ

เพิ่งเคยได้ยินค่ะ Quantum therapy ขอบคุณค่ะเป็นความรู้ใหม่ และขอเป็นกำลังใจให้นะค่ะ

ขอชื่นชมอย่างสุดซึ้ง ในสิ่งที่คุณไพรินทร์ได้กระทำค่ะ

ชื่นใจแทนคนไข้ และ ญาติของคนไข้ ที่ได้พบเจอบุคคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานด้วยหัวใจค่ะ

หลวงพ่อ รูปหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า อาชีพ หมอ แพทย์ พยาบาล

เป็นอาชีพของพระโพธิสัตย์ค่ะ

คุณไพรินทร์ ทำให้ดิฉันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

ขออนุโมทนาบุญ กับ ความเป็นพยาบาล(เดาเอาค่ะ) ทั้งตัว และ จิตวิญญานค่ะ

หลังจากที่ดิฉันได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างในบทความของคุณไพรินทร์

ก็ขออนุญาต นำไปเผยแพร่ เพื่อประยุกต์ในการสอนนักศึกษาแพทย์ ให้เป็นคุณหมอทั้งตัวและหัวใจบ้างนะคะ

ผมคิดว่า ส่วนใหญ่ ความปวดทางกาย เพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะให้ผป. ถึงกับทำร้ายตัวเองเช่นนั้นนะครับ

เป็นกำลังใจให้ครับ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์เต็มศักดิ์ที่ให้ความเห็นนะคะ...ผู้ป่วยรายนี้หลังจากได้ไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดแล้ว ได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยในทางสูติกรรมอยู่ 2 วัน อาการดีขึ้น เมื่อจำหน่ายได้รับยา Prednisolone Atarax และ AMT ผู้ป่วยเล่าว่า"...หมอฉีดยาให้ 2เข็ม เปิ้น(หมอ)ก็ตรวจให้หมด ได้รับการตรวจภายในตวย(ด้วย)..." หลังออกจากโรงพยาบาลบาล อาการปวดคงอยู่ระดับ 2 ได้ประมาณ 1 เดือน...ผู้ป่วยบอกว่าดีใจ แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ได้รับการปรึกษาทางโทรศัพท์จากผู้ป่วยอีกว่าอาการปวด ร้อนและคัน ทรมานกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว กำลังลองเปิด CD ฝึกสมาธิที่ทางเราให้ไป จะลองฝึกดู...คาดว่าพรุ่งนี้จะติดตามความก้าวหน้าอีกครั้ง และ plan จะติดตามเยี่ยมบ้าน พบกับครอบครัวของผู้ป่วยดู และอาจปรึกษาทีมจิตเวชร่วมกันสืบค้นปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกทีค่ะ...

พี่เล็กชื่นชมกับการทำงานด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ของพี่เล็กนะคะ ขอบคุณแทนให้กับผู้ป่วยทุกๆคนที่มีพยาบาลที่ดีๆ ไก่จะเป็นกำลังใจให้นะคะพี่เล็ก

P

มาทักทายและเป็นกำลังใจให้ค่ะ  ในการทำกุศล ต่อไปค่ะ

(เมื่อมีปัญหาเกินกว่าที่ควบคุมได้..มีแต่คำถามประดังประเดเข้ามาค่ะ)

เรียนคุณไพรินทร์ และผู้ให้ความเห็นในบันทึกนี้ทุกท่านครับ

ผมขออนุญาตนำความเห็นทั้งหมดในบันทึกนี้ไปรวบรวมเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ในกิจกรรมของเครือข่าย palliative care ในโรงเรียนแพทย์ โดยขอตัดข้อความที่เป็นการทักทายทั่วไปออก เพื่อความกระชับของเนื้อหานะครับ

ความปวดเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องหาวิธีจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งนี้การดูแลทางด้านจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ ให้กำลังใจคะ่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท