ครอบครัวสร้างขยะ...ขยะสร้างครอบครัว


ให้มีการจัดตั้งธนาคารขยะทุกหมู่บ้าน มีการจัดตั้งกรรมการขึ้นมาหมู่บ้านละ ๕ คน (เรียกกันเล่นว่า “กรรมการขี้เฮอะ”) ในการจัดการขยะ เพื่อรับซื้อขยะจากครัวเรือน

การจัดการขยะ

ชุมชนถืมตอง ต.ถืมตอง อ.เมือง จ.น่าน

(ดูบันทึกเรื่องอยู่เย็นสุขที่ถืมตองที่นี่)

 

แรงบันดาลใจ

          ด้วยที่เหตุปัญหาขยะเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นภาระของอบต.ต้องเข้าไปจัดเก็บต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดเก็บ การขนส่งไปทิ้งที่หลุมขยะของเทศบาลเมืองน่าน และต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เทศบาลเมืองน่านในการจัดการขยะ รวมเป็นงบประมาณแต่ละเดือนไม่น้อย ขณะที่แต่ละครัวเรือนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้อบต.ในการจัดเก็บขยะหลังคาเรือนละ ๒๕ บาทต่อเดือน รวมกันก็เป็นเงินที่มิใช่น้อย แทนที่จะนำงบส่วนนี้ไปพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ ในขณะที่ชุมชนก็ความคิดว่าขยะเป็นเรื่องอบต. ความรับผิดชอบต่อขยะจึงมิใช่ของเราหากแต่เป็นของอบต. ขยะล้น ขยะเหม็น ก็บ่นต่อว่าอบต. และแต่ละครัวคิดว่าจ่ายไปแล้ว ๒๕ บาทต่อเดือน ก็ทิ้งขยะได้เต็มที่ให้คุ้มค่าเงินที่จ่าย ขยะทุกประเภทจึงเอามาทิ้งหมด ไม่เว้นแม้แต่เศษอาหาร เศษใบไม้ใบตอง ที่ย่อยสบายได้ ทำให้ปริมาณขยะแต่ละครัวเรือนจึงมีปริมาณมาก อบต.ต้องจัดรถมาจัดเก็บอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง

          จากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ สภาประชาชน อบต.และผู้นำชุมชน จึงคิดว่าน่าจะมีการจัดการขยะในชุมชน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และนำเงินของอบต.ในส่วนนี้ไปใช้พัฒนาชุมชนด้านอื่นๆ เช่น จ่ายเป็นเบี้ยยังชีพในผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ เป็นต้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้จากการจัดการขยะด้วย นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ตำบลถืมตองร่วมกันคิด โครงการจัดการขยะ ของบประมาณสนับสนุนไปยังสสส.ได้งบประมาณดำเนินการมาจำนวน ๑ แสนบาท เพื่อสร้างกระบวนการจัดการขยะในตำบล

 

กระบวนการที่ทำ

          หลังจากมีความคิดที่จะจัดการขยะในตำบลแล้ว จึงมีการจัดเวทีสภาประชาชนถืมตองขึ้น เพื่อถกคิดถึงปัญหาขยะในตำบล มีการนำเสนอข้อมูลปริมาณขยะที่จัดเก็บและค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของอบต. ทำให้เกิดความคิดร่วมกันว่าควรที่จะมีการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น โดยเริ่มจากจัดเวทีชุมชนสัญจรไปทุกหมู่บ้านสร้างความเข้าใจกับชุมชนในเรื่องปัญหาขยะ พร้อมกับหาข้อตกลงร่วมกันในการที่จะจัดการขยะร่วมกัน จนเกิดมติร่วมกันในระดับตำบลดังนี้

          ๑. แต่ละครัวเรือนจะคัดแยกขยะออกเป็น ๓ ส่วน คือ

ขยะเปียกให้นำไปทำปุ๋ยหมัก โดยอบต.สนับสนุนหัวเชื้อจุลินทรีย์ในการจัดทำปุ๋ยหมัก

ขยะที่ขายได้ ให้มีการจัดตั้งธนาคารขยะทุกหมู่บ้าน มีการจัดตั้งกรรมการขึ้นมาหมู่บ้านละ ๕ คน (เรียกกันเล่นว่า กรรมการขี้เฮอะ) ในการจัดการขยะ เพื่อรับซื้อขยะจากครัวเรือน เดือนละ ๒ ครั้ง และติดต่อกับผู้รับซื้อขยะในชุมชนมารับซื้อขยะอีกทอดหนึ่ง

ขยะที่จัดการไม่ได้และย่อยสลายยาก เช่น พลาสติก หลอดไฟ ก็จะนำไปทิ้งในถังขยะของแต่ละครัวเรือนซึ่งอบต.ได้สนับสนุนให้เพื่อให้อบต.มาจัดเก็บ ทั้งนี้ได้มีมติร่วมกันว่าจะไม่ทิ้งขยะประเภทไหนบ้างในถัง ทำให้ลดปริมาณขยะที่จะทิ้งจริงๆ ลง

          ๒. ในการไปจ่ายตลาดให้นำถุงผ้าหรือตะกร้าที่แจกให้ทุกครัวเรือนจากงบประมาณโครงการ ส่วนแม่ค้าก็จะใช้ใบตองห่อแทนการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดการใช้พลาสติก

          ๓. การจัดงานเลี้ยงในชุมชน เช่น งานบุญ งานศพต่างๆ จะงดการใช้พลาสติกในการใส่ข้าวนึ่ง แต่จะให้กลุ่มแม่บ้านจัดซื้อกระติ๊บข้าวใส่ข้าวนึ่งแทน ส่วนเมี้ยงอมก็จะใช้แก้วเมี้ยงหรือห่อใบตองแทน ทำให้ลดการใช้พลาสติกลง

          ๔. กลุ่มเยาวชนจัดกิจกรรมรณรงค์ลดขยะในชุมชน เช่น การจัดเสียงตามสาย วิทยุชุมชนคลื่นขยายความดี จัดป้ายรณรงค์ เป็นต้น

          ๕. อบต.จัดเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะและค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะในแต่ละเดือน และคืนให้แก่ชุมชน

          ๖. ทุกฝ่ายร่วมรณรงค์ให้ความรู้ในการจัดการขยะร่วมกัน ทั้งอบต. สถานีอนามัย โรงเรียน ผู้นำชุมชน

          ๗. ผู้นำชุมชนแจ้งประกาศขอความร่วมมือในชุมชน พร้อมให้ข้อมูลปริมาณขยะที่จัดเก็บในแต่ละเดือนว่าลดลงได้มากน้อยเพียงใด

ดอกผลแห่งความสำเร็จ

          ด้วยน้ำพักน้ำแรงที่ได้ทำร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดปริมาณขยะในครัวเรือนลง ลดค่าใช้จ่ายที่อบต.ต้องใช้ในการจัดการขยะลง จากเดิมที่ต้องจัดเก็บสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง มาเป็น ๒ สัปดาห์ต่อ ๑ ครั้ง และปริมาณขยะที่เก็บได้ก็ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นขยะที่ย่อยสลายยากหรือขยะมีพิษ ในขณะที่ชุมชนมีพฤติกรรมการใช้ตะกร้าหรือถึงผ้าไปจ่ายตลาดแทน ใครไม่เอาไปกลายเป็นที่จับตาของคนในชุมชน กลายเป็นคนแปลกแยกไป ส่วนงานเลี้ยงต่างๆ ก็มีการใช้พลาสติกลดลง ทำให้ลดปริมาณขยะในครัวเรือนไปมากเลยทีเดียว

          มิเพียงขยะที่ลดลง ค่าใช้จ่ายก็ลดลง แต่กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก เรียกว่าสร้างเงินจากขยะ ที่สำคัญคือได้ความรักความผูกพัน ความสามัคคีของคนในชุมชน ในการที่จะช่วยกันจัดการปัญหาของตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จ

          ๑. การมีสภาประชาชนตำบลถืมตองเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ที่เชื่อมของส่วนต่างๆ ไม่ว่าฝ่ายท้องถิ่น ท้องที่ ประชาชน และส่วนราชการในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน

          ๒. การทำขยะให้เป็นวาระของตำบลที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันดำเนินการ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

          ๓. ความเอาจริงเอาจังของผู้นำชุมชนผู้นำท้องถิ่น

          ๔. การใช้ประเด็นเรื่องงบประมาณของอบต.ที่ต้องสูญเสียไปกับการจัดการขยะมาเป็นประเด็นให้ร่วมคิดและช่วยกันลดเพื่อนำเอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนาชุมชน

...................................................

 

บันทึกจากเรื่องเล่า เวทีสรุปบทเรียนศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๒ ณ โรงแรมเทวราช อำเภอเมืองน่าน

 

หมายเลขบันทึก: 236495เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2009 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นโครงการที่ดีมากมากนะคะ..มาชื่นชมและให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท