อยู่เย็นเป็นสุขที่ “ถืมตอง”


การหยิบยื่นหื้อแก่กั๋น จะฮักกั๋นแปงกั๋นตลอดปี๋ตลอดจาด อะหยังที่ก๋ายเป็นใบห้าใบบาท มันจะขาดก๋านเป็นปี้เป็นน้อง” (หมายความว่า การหยิบยื่นให้แก่กัน จะทำให้รักกันไปตลอดปีตลอดชาติ อะไรที่เป็นเงินเป็นทอง จะทำให้ขาดการเป็นพี่น้องกัน)

บันทึกเรื่องเล่า “ปั่นจักรยานสร้างสุข”

         

ยามสายๆ ของหน้าหนาวที่หมอกเริ่มจางลง แดดอุ่นๆ เริ่มสาดส่องมาให้ไออุ่น ทีมชมรมจักรยานและชมรมจริยธรรม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน นัดหมายกันเตรียมห่อข้าวห่อปลาและน้ำเป็นเสบียง เริ่มปั่นจักรยานจากหน้าสำนักงานฯ ลัดเลาะไปยังถนนเลี่ยงเมืองมุ่งไปสู่ตำบลถืมตอง โดยมีชมรมจักรยานของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง และตำบลถืมตองมาดักรอรับที่ปากทางบ้านปางค่า ตำบลไชยสถาน เพื่อพากันไปตำบลถืมตอง ไปเที่ยว ชม ฟังคำบอกเล่า และเรียนรู้เรื่องราวดีดีของการพัฒนาชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขของชุมชนตำบลถืมตอง

พอปั่นเข้าเขตตำบลถืมตอง เราพากันลัดเลาะไปตามถนนที่เลียบไปตามคูนาและทุ่งนาที่ชาวบ้านกำลังปลูกถั่วเหลืองกัน มุ่งหน้าไปพักกินน้ำสมุนไพรที่สถานีอนามัยตำบลถืมตอง มีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย แกนนำชุมชน และชมรมออกกำลังกาย มาคอยต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกับโชว์การออกกำลังกายแบบรำไม้พลองของชมรมผู้สูงอายุ แล้วไปนั่งฟังเรื่องราวกระบวนการพัฒนาชุมชนของตำบลถืมตอง หลังจากนั้นได้พากันปั่นจักรยานไปไหว้พระที่วัดถืมตอง แล้วปั่นไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่น กลุ่มแปรรูปเนื้อสัตว์ โรงสีชุมชน การเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกพืชผักสวนครัว กลุ่มตีเหล็ก ที่ตั้งวิทยุชุมชน ปั้มน้ำมันชุมชน และบ้านพ่อปั่น (ปราชญ์ชาวบ้าน) ที่เป็นบ้านตัวอย่างของการพออยู่พอกิน ปลูกทุกอย่างที่กิน แล้วก็ปั่นจักรยานกลับมากินข้าวเที่ยงที่สถานีอนามัย เป็นกับข้าวที่อร่อยที่สุด หลากหลายอย่าง ที่ทุกคนตั้งใจห่อมาแบ่งปันกันกิน ท่ามกลางการคุย หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน พอบ่ายๆ เราก็ล่ำลาชาวถืมตองปั่นจักรยานกลับสำนักงานฯ ด้วยจิตใจที่เบิกบาน

นี่คือบันทึกเรื่องเล่าจากการไปเรียนรู้ตำบลถืมตอง ในวันอังคารที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ ณ สถานีอนามัยตำบลถืมตอง และชุมชนถืมตอง ต.ถืมตอง อ.เมือง จ.น่าน

 

การสร้างบ้านแปงเมือง

ตำบลถืมตอง อำเภอเมืองน่าน เป็นชุมชนที่อยู่ชานเมืองออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๘ กม.ไปตามเส้นทางน่าน-บ้านหลวง จะเห็นทางแยกเข้าไปทางซ้ายมือ จากประวัติของชุมชนกล่าวกันว่าที่นี่เป็นที่นาของเจ้าครองเมืองน่านและเชื้อพระวงศ์ ที่นี่จึงเป็นชุมชนที่ทำนาอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองน่านในอดีต ด้วยชัยภูมิอันเป็นที่ราบลุ่มลำน้ำสมุนที่มีลำเหมืองสมุนให้น้ำให้ท่าหล่อเลี้ยงผู้คนในถิ่นแถบนี้มายาวนาน พื้นที่แห่งนี้จึงนับว่ามีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก จากประวัติศาสตร์ที่เชื่อมกับความเป็นเมืองน่านในอดีตทำให้ผู้นำชุมชนที่นี่จึงมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้ครองเมืองน่านและเชื้อพระวงศ์ในยุคต่างๆ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนการปกครองจากเจ้าเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่สายสัมพันธ์ของผู้นำที่นี่ก็มิได้เสื่อมคลายลงไป การพัฒนาชุมชนที่นี่จึงมีรากฐานของการสร้างบ้านแปงเมืองน่านที่สอดคล้องกับวิถีทางวัฒนธรรมและการพัฒนาความเป็นเมืองน่านยิ่งนัก นี่คือทุนทางสังคมที่สำคัญยิ่งของชาวถืมตอง

 

จากอดีตสู่การพัฒนาสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข

          จากอดีตที่อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขแบบพี่แบบน้องของสังคมเครือญาติในชนบท วิถีการดำรงชีวิตเริ่มเปลี่ยนไป การมุ่งทำงานหาเงิน มุ่งสร้างรายได้ ทำให้วิถีแบบเดิมๆ เริ่มลดน้อยถอยลงไปทุกทีๆ ทำให้แกนนำตำบลถืมตองได้มีการพูดจาประสาคนถืมตองได้ถกถึงปัญหาต่างๆ ของชุมชนที่หากไม่รีบป้องกันไว้ อาจจะยากแก่การแก้ไข จึงเริ่มรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลายที่จะช่วยกันสรรค์สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในชุมชน และคงไว้ซึ่งวิถีทางแห่งวัฒนธรรมที่ดีงาม มีการสืบค้น “ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ต่างๆ มารื้อฟื้นและถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบทอด

 

ออมทรัพย์บ้านวังฆ้อง

          ด้วยเหตุที่ทุนในการทำมาหาเลี้ยงชีพที่ชาวบ้านต้องใช้ต้องไปกู้ยืมมาจากทั้งในระบบไม่ว่าจะเป็น ธกส. สหกรณ์การเกษตร หรือแม้แต่กู้ยืมนอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายเป็นทุนรอนในการทำมาหากินและการศึกษาของบุตรหลาน ในขณะที่รายจ่ายนับวันยิ่งมากขึ้นๆ แต่รายรับกลับน้อยลงๆ ทำให้กลุ่มชาวบ้านได้รวมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้านวังฆ้องขึ้น มิเพียงแต่เป็นการสร้างสัจจะการออมให้แก่คนชุมชนเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างทุนในการทำมาหากินของชุมชนด้วย โดยการเข้ามาหนุนเสริมของภาครัฐอย่างพัฒนาชุมชน และการหนุนเนื่องของกลุ่มฮักเมืองน่าน ทำให้กระบวนการออมของชาวบ้านเติบใหญ่ กลายเป็นแหล่งทุนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกับชาวบ้านในยามขัดสน รวมทั้งมีการจัด “สวัสดิการภาคประชาชน” ให้การดูแลอุ้มชูคนในชุมชน ทั้งผู้ยากลำบาก ทุนการศึกษาของเด็กๆ และรางวัลน้ำใจเชิดชูให้แก่คนดีดี เช่น คนที่งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นต้น นี่คือการสร้างคนและสร้างทุนชีวิตด้วย “สัจจะ” ของชาวบ้าน

 

ครอบครัวเข้มแข็ง

          ในปี ๒๕๔๗ บ้านวังฆ้อง และบ้านเขื่อนแก้ว ตำบลถืมตอง ได้รับคัดเลือกเป็น ๒ ใน ๑๒ หมู่บ้านนำร่องโครงการครอบครัวเข้มแข็ง ที่ริเริ่มโดยสถาบันครอบครัวรักลูก สนับสนุนโดยสสส.ผ่านมูลนิธิฮักเมืองน่าน ทำให้ข้าราชการคนในพื้นถิ่นถืมตองอาทิเช่น คุณพยอม วุฒิสวสดิ์, คุณภาคภูมิ พรมสาร, คุณสุพัต ขันตี พร้อมกับแกนนำครอบครัวเข้มแข็งของหมู่บ้าน อาทิเช่น คุณศุภรัตน์ เสาร์แดน, คุณขันทอง มูลใจตา (ทั้งหมดได้มาเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนงานครอบครัวของจังหวัดน่าน และเป็นแกนนำคนสำคัญของกระบวนการพัฒนาตำบลถืมตอง) ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมวิทยากรกระบวนการครอบครัวเข้มแข็ง แล้วนำเนื้อหา เทคนิควิธีการไปขับเคลื่อนกิจกรรมครอบครัวเข้มแข็งในชุมชน ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการสร้างสายสัมพันธ์คนในครอบครัว การรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน การสืนสานอาหารพื้นบ้าน ภาษาพื้นเมือง การรื้อฟื้นวงดนตรีอุ้ยสอนหลาน และอีกสารพัดกิจกรรม

 

งานศพปลอดเหล้า...ชุมชนปลอดการพนันและหวย...ลดพิธีการในงานศพ

จากการจัดเวทีทุกข์-สุขของครอบครัวของโครงการครอบครัวเข้มแข็ง พบว่าสิ่งหนึ่งที่ลูกๆ ไม่อยากเห็นคือ “พ่อแม่กินเหล้า” ทำให้เกิดเวทีขับเคลื่อนงานครอบครัวในระดับตำบลที่มีผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น แกนนำครอบครัว ผู้สูงอายุ พ่อบ้าน แม่บ้าน และเยาวชน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และได้กำหนดมาตรการร่วมกันในระดับตำบลที่จะ “งดเหล้าและการพนันในงานศพ” เนื่องจากเป็นงานอวมงคลที่ไม่ได้เตรียมการไว้ และแต่ละงานศพก็สิ้นเปลืองค่าเหล้าไม่น้อยกว่า ๓-๕ พันบาท ทำให้เกิดมติที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย เกิดการขับเคลื่อนงานศพปลอดเหล้า ทำความเข้าใจกับคนในชุมชน เจ้าภาพงานศพต่างๆ และทำกันอย่างจริงจังจนเกิดผลสำเร็จกลายเป็นวัตรปฏิบัติที่ต่อเนื่องมา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง มีคนสมัครใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นทุกปี

แต่การพัฒนาไม่เคยหยุด ชุมชนได้ขับเคลื่อนต่อในการลดการพนันและการเล่นหวยในชุมชน ตามแผนงานลดอบายมุขในชุมชน โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อไม่ให้คนในชุมชนไปเสียเงินเสียทองกับอบายมุขเหล่านี้ เกิดเวทีพูดคุยกันจนกำหนดเป็นมาตรการของชุมชนในการห้ามเล่นการพนันและขายหวยในชุมชน

และปัจจุบันยังได้มีการพูดคุยถึงการลดพิธีการและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในงานศพลง ทำให้ใช้เวลาในส่วนพิธีการน้อยลง และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

 

สภาประชาชน

          จากการที่แกนนำชุมชน ข้าราชการคนในท้องถิ่นได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการคิดว่า หากไม่มีการจัดการที่ดีและกำหนดเป้าหมายทิศทางการพัฒนาร่วมกันที่ชัดเจน ก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้ อย่างที่หลายพื้นที่ประสบปัญหาที่เงินและโครงการลงไปทำให้คนแตกแยกกัน จึงได้จัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เกิดการจัดตั้ง “สภาประชาชนตำบลถืมตอง” ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตำบลระหว่างภาคผู้นำท้องที่ ภาคผู้นำท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคราชการ

องค์ประกอบสภาประชาชนตำบลถืมตอง

๑. เป็นชาวบ้านในพื้นที่ตำบลถืมตอง

๒. มาจากตัวแทนทุกกลุ่มวัย รวมถึงข้าราชการในพื้นที่

๓. ประธานเป็นกำนันโดยตำแหน่ง

๔. ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง

๕. คณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งวาระ ๔ ปี

บทบาทหน้าที่

๑.พิจารณากลั่นกรอง แผนงานโครงการต่างๆที่จะดำเนินการในพื้นที่

๒. แสวงหาความร่วมมือจากจากองค์กรภายนอกทั้งความรู้ใหม่และ งบประมาณ

๓. สนับสนุนการทำงานของฝ่ายปกครอง/ฝ่ายท้องถิ่น และภาคี โดยยึดชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมและบูรณาการ

๔. เผยแพร่ผลการทำงานสู่สาธารณะ

๕. หารูปแบบการทำงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบพอเพียงสอดคล้องกับวิถีถืมตอง

ทำให้สภาประชาชนตำบลถืมตองเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาตำบลถืมตองที่เชื่อมทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นไปในทิศทางเดียว

 

หมู่บ้านจัดการสุขภาพ

          ในปี ๒๕๕๐ ตำบลถืมตองได้รับคัดเลือกเป็นตำบลนำร่องหมู่บ้านจัดการสุขภาพ ทำให้มีการวิเคราะห์ วางแผน และพัฒนาสุขภาพโดยชุมชนเอง เกิดกระบวนการเรียนรู้และจัดทำแผนสุขภาพในระดับชุมชน ที่เชื่อมประสานไปกับแผนพัฒนาของตำบล ก่อให้เกิดกิจกรรมและกลุ่มสร้างเสริมสุขภาพอย่างหลากหลาย

 

กลุ่มออกกำลังกาย

          มีการจัดตั้งชมรมออกกำลังหลากหลายรูปแบบ เช่น การเต้นแอโรบิก รำไม้พลอง เล่นเปตอง และปั่นจักรยาน มีการพัฒนาแกนนำกลุ่มออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ๓ ต้อง ๖ ไม่ เพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี เชื่อมกับงานด้านสุขภาพอื่นๆ ของสถานีอนามัย

 

สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่

          ได้มีการพัฒนาแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบล ในการคิดริเริ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น การรณรงค์ภาวะโลกร้อน การจัดการขยะ เรียนรู้วิถีชาวนา ดนตรีพื้นบ้าน สื่อเยาวชน เป็นต้น ทำให้เยาวชนมีการรวมกลุ่มขับเคลื่อนงานด้านเยาวชน สร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ห่างไกลจากอบายมุขและสิ่งเสพติด

 

ลดการใช้สารเคมี

          ด้วยวิถีอาชีพที่ทำการเกษตร ปลูกข้าว ถั่วเหลือง และผักต่างๆ ทำให้มีการใช้สารเคมีหลากหลายรูปแบบ การเข้ามาหนุนเสริมของวิทยาลัยการสาธารสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ ทำให้มีการรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในเกษตรกร เริ่มตั้งแต่การเจาะเลือดหาสารพิษในเกษตรเพื่อสร้างความตระหนัก และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ความรู้ทางวิชาการและพิษภัยจากสารเคมี ทำให้เกิดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในรูปแบบต่างๆ มีการกำหนดมาตรการชุมชนห้ามใช้พ่นสารเคมีในหมู่บ้าน และมีการรณรงค์การใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น และการทำปุ๋ยหมัก ทดแทนการใช้สารเคมี จนทำให้ชาวบ้านมีความตระหนักมากขึ้น และมีการใช้สารเคมีน้อยลง

 

การจัดการขยะ

          จากที่ขยะเป็นเรื่องที่ทุกคนผลักภาระเป็นหน้าที่ของอบต.ในการจัดเก็บ ทำให้อบต.ต้องใช้งบพัฒนาไปกับการจัดเก็บขยะในหมู่บ้านไปทิ้งที่หลุมขยะของเทศบาลเมืองน่าน ต้องเสียทั้งค่าจัดเก็บ ค่าขนส่ง และค่ากำจัดขยะ เป็นงบประมาณ ๕-๖ แสนบาทต่อปี แทนที่จะได้นำเงินดังกล่าวมาพัฒนาชุมชน เมื่อมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อมูลกับชุมชน ทำให้มีการจัดการแยกขยะจากครัวเรือน และจัดตั้งธนาคารขยะขึ้น ทำให้สามารถลดปริมาณขยะที่อบต.ต้องจัดเก็บลงไปมาก ขยะที่คัดแยกส่วนหนึ่งก็นำไปขายได้ ส่วนหนึ่งก็นำไปทำปุ๋ยหมัก ทำให้เกิดรายได้ ลดรายจ่ายของครัวเรือนลง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)

 

วิถีพอเพียง

          วิถีชนบทที่ยังคงเกื้อกูลกัน ดังคำกล่าวว่า “พริกบ้านเหนือ มะเขือบ้านใต้” ประกอบกับการน้อมนำเอาพระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” มาปฏิบัติ ทำให้ชุมชนมีการพึ่งตนเอง อยู่แบบพออยู่พอกิน ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ในบริเวณบ้านของตนเอง แทบพูดได้ว่าเกือบทุกหลังคาเรือน การรวมกลุ่มพึ่งพากันเองในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเนื้อสัตว์(แหนม, หมูยอ, ไส้กรอก, กุนเชียง), กลุ่มโรงสีชุมชน, กลุ่มทำปุ๋ยหมัก, กลุ่มทำน้ำยาเอนกประสงค์, กลุ่มตีเหล็ก, กลุ่มทำไม้กวาด, ปั้มน้ำมันชุมชน เป็นต้น นับเป็นการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองที่หลากหลายยิ่งนัก

 

สื่อชุมชน

          ในยุคที่สื่อเป็นเจ้า ที่มีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของชุมชนเป็นอันมาก สื่อจึงเป็นดาบสองคมที่หากไม่ดูแลอาจกลายเป็นสื่อร้ายได้ คุณสุเรียน วงศ์เป็ง ที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของตำบลถืมตองจึงได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน ๑๐๒ MHz “วิทยุขยายความดีเยาวชนตำบลถืมตอง” ขึ้น เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักใช้สื่อวิทยุมาขยายความดีงามที่เกิดขึ้นในชุมชน และข่าวดีดีจากที่อื่นๆ มาขยายให้คนในชุมชนได้รับรู้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเฝ้าระวังสื่อร้ายและรู้เท่าทันสื่อด้วย

 

วิถีแห่งการแบ่งปัน

          แม้ว่าชุมชนที่นี่จะพัฒนาไปมากตามกระแสของการพัฒนา แต่ที่ยังคงไว้มิเสื่อมคลายคือ “วิถีแห่งการแบ่งปัน” และ “รอยยิ้มแห่งความสุข” ที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนให้ติดใจมนต์เสน่ห์แห่งท้องทุ่งและหมู่บ้าน พ่อปั่น นันสว่าง กล่าวเป็นคำสอนว่า “การหยิบยื่นหื้อแก่กั๋น จะฮักกั๋นแปงกั๋นตลอดปี๋ตลอดจาด อะหยังที่   ก๋ายเป็นใบห้าใบบาท มันจะขาดก๋านเป็นปี้เป็นน้อง”  (หมายความว่า การหยิบยื่นให้แก่กัน จะทำให้รักกันไปตลอดปีตลอดชาติ อะไรที่เป็นเงินเป็นทอง จะทำให้ขาดการเป็นพี่น้องกัน) สะท้อนให้เห็นคำสอนที่เพาะบ่มให้คนในชุมชนรู้จักแบ่งปันสืบสานกันมา 

          ถึงแม้ที่นี่อาจไม่ใช่ชุมชนศรีอารยะในเทพนิยาย แต่นี่คือสวรรค์บนดิน ที่เต็มไปด้วยความชุ่มชื้นของดิน น้ำ และจิตใจของผู้คน

          ขอบคุณคำบอกเล่า น้ำพริก ส้มตำ เสียงปิน เสียงสะล้อ รอยยิ้ม และมิตรภาพที่หยิบยื่นให้ แม้ห้วงเวลาเพียงน้อยนิด แต่มีความหมายที่เปี่ยมล้น และปิติสุขที่ได้มาเรียนรู้

 

..........................................................

 

ขอขอบคุณ

เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลถืมตองทุกคน

ชมรมจักรยานตำบลถืมตอง

กลุ่มรำไม้พลอง ชมรมผู้สูงอายุตำบลถืมตอง

แกนนำตำบลถืมตอง

กลุ่มแม่บ้านตำบลถืมตอง

ทุกเรื่องราว ทุกความคิด ที่ถากถางทางเดิน และบอกเล่าเรื่องราวดีดี

 

ถนัด  ใบยา

เล่าเรื่องจากกิจกรรม “ปั่นจักรยานสร้างสุข”

ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ ณ สถานีอนามัยตำบลถืมตอง และชุมชนถืมตอง ต.ถืมตอง อ.เมือง จ.น่าน

หมายเลขบันทึก: 231967เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะคุณพ่อน้องซอมพอ

....วิสาหกิจชุมชน เป็นเครือข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืน

เห็นภาพแล้ว ถือได้ว่า หมู่บ้านถืมตอง เป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ได้เลยนะคะนี่

.... เหมาะสมมากเลย กับการเป็น

ชุมชนศรีอารยะในเทพนิยาย แต่นี่คือสวรรค์บนดิน ที่เต็มไปด้วยความชุ่มชื้นของดิน น้ำ และจิตใจของผู้คน

...

ให้คุณพ่อ น้องซอมพอ และทุกๆ คนในครอบครัว น่าน

มีความสุขมากๆ นะคะ ... รักษาสุขภาพนะคะ อากาศหนาวแล้ว

 สุขสันต์ช่วงเวลาแห่งความสุข สงบ กับสิ่งที่เลือก ค่ะ

...

 

สวัสดีค่ะ

* แวะเข้ามาชมชุมชนถืมตอง

* เป็นชุมชนต้นแบบที่ยอดเยี่ยมมากค่ะ

        งานศพปลอดเหล้า...ชุมชนปลอดการพนันและหวย...ลดพิธีการในงานศพ

*  ขอให้ชาวถืมตองและผู้เกี่ยวข้อทุกท่านสุขกายสุขใจค่ะ

KM ที่ปัวยอดเยี่ยมไปเลยค่ะ พี่เป็น model ที่ดีของน้องสายสุขภาพนะคะ

น่าภูมิใจจังค่ะ

คนน่านมีความสุข พอเพียง อ่านแล้วอยากไปเที่ยวน่านจังค่ะ

ก็ให้พ่อน้องซอมพอ สดชื่น ปลอดโปร่ง สดใส มีชีวิตชีวา สร้างสรรค์งานเพื่อสังคมได้ต่อเนื่องนะค่ะ

ชื่นชมและเห็นภาพ กำลังจะตามไปดูครับ

สวัสดีค่ะคุณพ่อฯน้องซอมพอ

สบายดีไหมคะ หายเงียบไปนานๆพอๆกัน ซอมพอที่บ้านเริ่มโตแล้ว คิดถึงจังเลยค่ะ

ปล. จริงด้วยสิคะ น้องฮักสีชมพูคงใกล้จะปิดเทอมแล้วกระมังเอ่ย มารอติดตามข่าวคราวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท