อาจารย์ดาบซามูไรของฉันกับ Zanshin


ถ้าไม่ได้ฝึก Zanshin และไม่เคยฝึกวิปัสสนามาก่อน ตอนที่ฉันฟันเสื่อขาดหลุดลงไปที่พื้น ฉันก็คงเป็นลมไปแล้ว พร้อมกับเสื่อช่วง "คอ" ที่โดนตัดลงไปดัวยฝีมือของฉันนั่นเอง เพราะฉันเป็นคนที่จินตนาการดีเกินเหตุ

 

Tabuchi Sensei

ภาพ Tabuchi Sensei หนึ่งในสุดยอดปรมาจารย์ดาบสั้น Kodachi ในการศิลปการใช้ดาบซามูไรแบบ Iaido แบบสำนักโทยาม่า ริว และเทคนิคการตัดทดสอบดาบซามูไรที่เรียกว่า Tameshigiri ทั้งด้วยดาบยาวคาตานะ และ ดาบสั้นโคดาจิ

ท่านเป็นเซนเซที่สอนฉันที่ญี่ปุ่น

(ตัวอย่างลำดับภาพการตัด Tameshigiri ของสำนัก butokuin)

Fukushima Sense

ภาพ Fukushima Sensei  ปรมาจารย์ดาบยาว คาตานะ แห่ง สำนักดาบจากฟุกุชิม่า  ผู้เชี่ยวชาญศิลปการต่อสู้แบบโบราณหลายแขนง แต่ถ้าเป็นศิลปการใช้ดาบซามูไรจะเป็น  Battou Jutsu ซึ่งเป็นแขนงที่เก่าแก่และอันตรายกว่า Iaido ในเชิงจุดประสงค์และลักษณะการฝึก   ท่านเป็นเซนเซสอนฉันที่เมืองไทย

ดาบคาตานะในมือท่านเป็นดาบชนิดคมใช้ตัดได้จริงไม่ใช่แบบมีไว้ซ้อม มีอายุกว่า ๔๐๐ ปีแล้ว เป็นดาบสมัยโตกุกาว่า  ยังคมกริบและตัดได้ดีอยู่  และคาดว่ายังได้รับการลับโดยครอบครัวเดิมที่สืบทอดเทคนิคการลับมาหลายชั่วอายุคน  ภาพโดยนิตยสาร GM

 

 ถ้าฉันบอกทุกท่านว่า ชายทั้งสองท่านที่ "จิก" สายตาสู้กล้องกับท่านอยู่นี้  ต่างก็เป็นสุภาพบุรุษที่มีความนุ่มนวลอ่อนโยน อบอุ่น ใจดี มีเมตตาที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ฉันเคยพานพบมา เหมืออาจารย์สอนวิปัสสนาฉันที่เชียงใหม่ ท่านจะเชื่อฉันไหม?

 

ท่านไม่ต้องเชื่อก็ได้  เพราะวิสัยของผู้มีปัญญานั้น ไม่เชื่อไว้ก่อนก็จะดี  ดังที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ในกาลามสูตร

 

เมื่อเห็นภาพเซนเซทั้งสองท่านของฉันประกบกันอยู่เช่นนี้  ฉันก็อดคิดไปเล่น ๆ ไม่ได้  ถึงคำพูดเตือนใจคำหนึ่งว่า  

 

"บางครั้ง  สิ่งที่ท่านเห็น  ก็อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป"

 

วันนี้ตั้งใจจะมาชวนท่านคุยกันเรื่อง Zanshin  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการฝึกวิชาดาบ  และของศิลปป้องกันตัวหลายแขนง  ที่ได้อิทธิพลมาจาการฝึกสติ และ สมาธิ ของเซน

 

เมื่อกี๊ได้แวบไปดูบล๊อกเรื่องธนูญี่ปุ่นของคุณหมอ(ฟัน)มัทนา  ก็พบว่ามีเช่นกัน  แต่เป็นคนละประเด็นกัน ไม่เหมือนกันทีเดียวนัก

 

ก่อนที่จะเข้าเรื่องว่า   Zanshin มันคืออะไรกันแน่  มีประโยชน์อย่างไร  เราจะพัฒนามันขึ้นมาได้อย่างไร ฯลฯ  ฉันเลยอยากจะถามท่านผู้อ่านก่อนว่า.....

 

ท่านรู้จัก Zanshin กันมาบ้างหรือยัง

 

มากน้อยแค่ไหน

 

ใบ้ให้ก็ได้ว่า  ในใบหน้าของเซนเซทั้งสอนท่านนี้  กับท่วงท่าทั้งหมด  มีกระแสพลังของ Zanshin พุ่งออกมาเต็มเปี่ยม

 

...เอ้า...เฉลย...

 

คำว่า  Zanshin นั้น เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 残心 หมายถึงสภาพจิตใจที่ตื่นรู้ หรือบางทีก็เรียกว่ามีความพร้อมอยู่เสมอ   ถ้าแปลตรงตามตัวอักษร  จะแปลว่า ใจที่หลงเหลืออยู่

หลงเหลืออยู่จากอะไรเล่า?  เนื่องจากสำนวนนี้เราเห็นกันในการฝึกศิลปป้องกันตัวโบราณญี่ปุ่นหลากหลายแขนง  จึงหมายความว่า  หลงเหลืออยู่หลังจากการลงมือปฏิบัติไปแล้ว ๑ กระบวนท่านั่นเอง

 

Zanshin ในการฝึกวิชาดาบที่มีลักษณะการต่อสู้กัน

ในการฝึกซ้อมวิชาดาบที่มีลักษณะการต่อสู้กันได้จริง ๆ  อย่างเช่น เคนโด หรือ spochan การฝึก Zanshin จะหมายถึงการรักษาความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ  ในการที่คู่ต่อสู้จะเข้ามาโจมตีเมื่อไหร่ก็ได้  รวมทั้งการที่เราจะออกไปโจมตีเมื่อไหร่ก็ได้ด้วย

ฟุกุชิม่าเซนเซเคยบอกคล้าย ๆ กับว่า  ต้องทำใจให้เป็นทั้งผู้บุก และ ผู้รับ ได้ในเวลาเดียวกัน  นั่นคือในระดับ Zanshin 

เพราะตอนที่ฉันถามว่า  ทำยังไงฉันถึงหาจังหวะเข้าทำท่านไม่ได้เลย  แต่ในขณะเดียวกันดาบท่านมาจากไหนก็ไม่รู้  ฟาดฉันเอา ๆ เปรี้ยง ๆ (ในการซ้อม spochan ที่มีหน้ากากป้องกันด้วย  ไม่งั้นคงตายไปแล้ว)  ท่านบอกว่านั่นมัน Mushin 

ด้วยความเป็นเด็กช่างถาม  ฉันก็เลยถามต่อว่า แล้วมุชินล่ะเซนเซ...ต้องทำใจอย่างไร  ท่านบอกว่าต้องทำใจให้ไม่อยากเอาชนะ  ถึงจะชนะ...โห....(จะทำได้ไหมนี่?)

 

เอ้า กลับมาเรื่อง Zanshin กันต่อ มุชินเอาไว้วันหน้า

 

 

Zanshinในการฝึก Iaido หรือ Battou Jutsu 

สำหรับในเวลาฝึก Iaido หรือ Battou Jutsu นั้น  สภาวะ Zanshin มักจะชัดเจนหน่อยหลังจากจังหวะออกดาบจากฝักและฟันแล้ว...

ผู้ที่ฝึกใหม่ ๆ พอจังหวะที่ชักดาบออกจากฝักด้วยความเร็วปานสายฟ้าแลบ(ว่าเข้านั่น) แล้วไหนยังจะต้องฟันให้เข้าเป้าในจินตนาการอีก  ซึ่งจินตนาการเรากับจินตนาการเซนเซอาจจะไม่ตรงกัน  ก็ต้องซ้อมฟันกันอยู่นั่นแล้ว (ดาบนะจ๊ะ กรุณาอย่าคิดลึก)  พอฟันแรง ๆ แล้วร้อยทั้งร้อยมันก็จะต้องเสียหลัก

นั่นคือกรณีของผู้ฝึกใหม่  ดังนั้น Zanshin ในระยะแรกนี้  เอาแค่ประคองตัวไม่ให้ล้มให้อับอายขายหน้าให้ได้ก็พอแล้ว

พอทำได้สักพัก  ก็ค่อยไปเอาใจใส่เก็บรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องจังหวะฟัน

จากนั้นก็อาจจะมีเรื่องจังหวะออกดาบ  หรือการก้าวเดินกับการออกดาบที่ต้องประสานกัน  ถ้าเป็นท่ายืน

ถ้าเป็นท่าคุกเข่า  ก็จะเป็นอีกแบบ  ต้องสมมติเอาในใจว่าศัตรูจะจู่โจมมาจากทิศไหน  และการออกดาบจะต้องให้ได้เป็นทั้ง defense และ offense ในจังหวะเดียวได้อย่างไร

นี่ยังไม่ได้ไปถึง Zanshin เลยนะเนี่ย

พอทำอย่างที่ว่าพอจะได้บ้างแล้ว  ซึ่งก็อาจจะหลายเดือนอยู่  เซนเซถึงจะเริ่มใส่ใจรายละเอียดของ Zanshin ของเรา

 

 

ความคล้ายคลึงกับการกำหนดสติในวิปัสสนา 

โชคดีที่ฉันเคยฝึกวิปัสสนาไปจากเมืองไทยบ้างแล้ว  และเคยฝึก battou jutsu มาก่อนด้วยปีครึ่ง  ดังนั้น  ตอนไปเรียน Iaido ที่ญี่ปุ่น  และทาบูจิ เซนเซ มาเน้นสอนเรื่อง Zanshin มาก ๆ นั้น  ฉันจึงพอเอาตัวรอดได้บ้าง  และไม่หัวเราะขำตัวเองไปเสียก่อนน 

ที่สำนักของทาบูจิเซนเซ  เวลาฝึก Iaido จะให้มองกระจกด้วยตอนแรก ๆ  ซึ่งถ้าใครไม่เข้าใจและนึกว่าเป็นการซ้อมเก๊กหน้าก็จะทำไม่ได้ 

 เพราะว่าจริง ๆ แล้วเวลาทำ Zanshin  จุดที่มองจะต้องเป็นจุดสมมติของศัตรูที่เราต้องทำสมาธิไปที่นั่น  แต่จะจดจ่ออยู่ที่เดียวก็ไม่ได้  ต้องสามารถรับรู้สภาพแวดล้อมโดยรวมในขณะนั้น ๆ ด้วย

ดังนั้น  ตอนซ้อมหน้ากระจก  บางที ต่อให้มองไปข้างหน้า ก็เหมือนมองไม่เห็นตัวเอง  มันก็เป็นเบลอ ๆ ไป  เพราะใจมันจดจ่ออยู่ที่อาการเคลื่อนไหวของกายตอนเก็บดาบเสียแล้ว

แล้วบางทีก็จดจ่อต่อเนื่องไปที่ใจด้วย เวลารู้สึกกลัว หรือโมโหตัวเอง  ผิดหวัง   หรือดีใจ  หรือแม้แต่แอบสะใจ(เวลาทำได้ดี) นี่แหละ  แค่ฝึกดาบอย่างเดียว มันเห็น "ใจ" ตัวเองไปถึงไหนถึงไหน

 

ลำดับการออกดาบ 

การฝึก  Battou Jutsu ก็ดี  Iaido ก็ดี  ลำดับการออกดาบจะคล้ายกัน  จะต่างกันที่กระบวนท่าของแต่ละสำนักเท่านั้น  แล้วก็แล้วแต่ด้วยว่าที่ไหนมีกี่กระบวน  หรือที่เรียกว่า คาตะ 

(ภาพประกอบของการฝึกบางท่า ดูได้จากบทความก่อนหน้าในบล๊อกฉัน เรื่องนี้ )

โดยลำดับของการออกดาบก็คือ

๑. จังหวะแรก ทำสมาธิ  จะนั่งคุกเข่า  นั่งกระหย่งเข่าสองข้าง  ข้างเดียว  ยืน  โดยตำแหน่งของมือและดาบก็แตกต่างกันไป  แต่มักเป็นจังหวะที่นิ่งเป็นสมาธิก่อน

 

๒. จังหวะออกดาบ  มักจะเร็วเป็นสายฟ้าแลบ  ด้วยใจเหมือนทะเลตอนมีสึนามิอย่างที่ฟุกุชิม่าเซนเซเปรียบเทียบสอนฉันไว้ในวันแรก

 

๓. จังหวะฟัน   ซึ่งมักจะควบเกี่ยวกับจังหวะที่สอง  แล้วต้องต่อด้วย Zanshin  ซึ่งมักจะเป็นลักษณะนิ่งค้างไว้  หรือเปลี่ยนตำแหน่งเล็กน้อยแล้วค้างไว้  หรือเปลี่ยนตำแหน่งร่างกายแล้วค้างไว้ ก็แล้วแต่

 

๔. จังหวะกรีดเลือด สะบัดเลือดในจินตนาการทิ้ง  ก็จะทำช้า ๆ เหมือนทำสมาธิเช่นกัน  สายตาจะไม่ละตำแหน่งคู่ต่อสู้ในจินตนาการไปเลย

 

๕. จังหวะค่อย ๆ สอดดาบเก็บเข้าฝัก  อันนี้ก็ต้องอาศัยสุดยอด Zanshin เช่นกัน มันจะเป็นทั้งศาสตร์ และ ศิลป์ ด้วยนะ  ฉันคิดว่าอย่างนั้น  

 

เป็นศาสตร์ในแง่ที่ว่า  มันไม่ง่ายเลยที่จะใช้ลำตัวส่งใบดาบเข้าฝักโดยไม่ใช้แรงส่งจากแขนเท่าไหร่  อันนี้เป็นคล้าย ๆ ดาบกับกายเป็นหนึ่ง 

แล้วอย่าลืมว่าเขาห้ามมองด้วย  ตาต้องห้ามละจากคู่ต่อสู้ (แหงล่ะ  เผื่ออีฟื้นขึ้นมาฟันเราหัวแบะ)

 

และเป็นศิลป์ ในแง่ที่มีทั้งความอ่อนโยน นุ่มนวล และมีทั้งความช้า และ ความเร็ว ในแต่ละช่วงของการผสานร่างกายแต่ละส่วนเข้ากับดาบ 

ทาบุจิเซนเซทำได้ประณีตที่สุดแล้วจนฉันต้องกลั้นใจ  ต้องมองตาของท่านด้วย  เพราะว่ามีหรี่เป็นจังหวะบางช่วงที่ดาบกำลังจะเข้าไปสุดอีก  โห...เวลาได้ดูในระยะประชิดที่ท่านทำให้ดูนี่  คิดว่าเป็นศิลปะจริง ๆ ที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้เลย 

คือมันมีจิตวิญญาณน่ะ  และคิดว่าทุกคนในโดโจ(สำนัก) ไม่ว่าแก่ หรือ เด็ก ต่างก็พากันลืมหายใจ  ถ้าได้มีโอกาสเห็นเซนเซทำตัวอย่างให้ดู

 

๖. จังหวะสุดท้าย  สอดดาบเข้าไปสุด เป็นจังหวะเหมือนล็อคให้แน่ใจว่าดาบเข้าไปแน่นสนิท  ไม่อันตราย อะไรทำนองนี้  แล้วก็ค่อย ๆ กลับไปเหมือนจังหวะแรก  คือ นิ่งเป็นสมาธิอีก

 

จะว่าไปแล้ว  ถ้าจะทำให้ถูกวิธี  ก็จะต้องมีสภาวะที่เป็นสมาธิในระดับหนึ่งและสามารถรักษาระดับนั้นเอาไว้ให้ได้ตั้งแต่ต้นจนจบนั่นแหละ

 

 ฟังดูไม่ยาก?  ฝึกไปแล้วได้อะไร?

คือหลายท่านอาจจะบอกว่าฟังดูหมูมาก  ไดรฟ์กอล์ฟหรือเล่นตะกร้อลอดห่วงน่าจะยากกว่าเยอะ  ก็คงต้องเชื้อเชิญให้ทดลองดู  เพราะว่านี่ไม่มีลูกกอล์ฟและห่วงให้เห็นและวัดผลได้ชัด  มันต้องใช้ "ใจ" วัด 

และสิ่งที่จะฝึกมันก็ไม่ได้เพื่อแต้มแฮนดิแคป หรือการออกแข่งขันอะไรกับใครที่ไหน  แต่มันเป็นการแข่งกับใจตัวเองล้วน ๆ เลย   วิชาการออกดาบเนี่ย

แต่สิ่งที่จะได้  นอกเหนือจากการฝึกกายใจแล้ว  ก็อาจจะเป็นเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำไปปรับใช้กับวิชาดาบอื่น ๆ ที่มีการต่อสู้กันจริง ๆ เท่านั้นแหละ  เช่น spochan  เป็นต้น 

หรือจะเอาไปใช้กับการตัดด้วยดาบคมจริง ๆ  เช่น การฝึก tameshigiri ก็ได้  เพราะนั่นดาบคมชนิดถ้าพลาดล่ะก็คุณเอ๋ย  มีได้แขนขาด ขาขาด มือขาดกันแน่ๆ  การฝึก Zanshin จะช่วยให้ไม่ลุกลี้ลุกลนในตอนก่อน ขณะ และ หลังการตัดเสื่อนั่นเอง

เรื่องเล่าจากการฝึกตัดด้วยดาบซามูไรจริง (Tameshigiri) 

แต่ต่อให้ทาบุจิเซนเซบอกว่าฉันพอจะผ่านในเรื่องZanshin ก็เถอะ   ตอนเรียนตัดหนแรกฉันยังกลัวแทบตาย  เกิดมาก็เพิ่งจะเข้าใจคำว่า "กลัวหัวหด" ก็ครั้งนี้  เพราะเกิดมาไม่เคยอยู่ในห้องที่มีดาบคมเยอะแยะขนาดนี้มาก่อนเลย  ฉันนั้นหดทั้งหัว  ทั้งตัว และแขนขา เนื่องจากกลัวดาบชาวบ้านจะพลาดมาโดนแขนอ้วน ๆ ของฉันเข้า   

แต่ก็แปลก  พอเรียน ๆ ไป  ความกลัวมันหายไปไหนก็ไม่รู้  เหลือแต่ความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะฝึกตัด โดยเฉพาะพอตอนเริ่มตัดเป็นแล้วชักจะมันและติดใจน่ะนะ   อารมณ์เหมือนคนเพิ่งไดรฟ์กอล์ฟได้ดีล่ะมั้ง

ฉันต้องรีบกำหนดดูความเปลี่ยนแปลงในใจด้วยความอดสู เพราะมันน่าอายเหลือเกิน  แล้วความจริงมันก็ไม่ดีนะ  ควรจะมีความกลัวเหลือไว้บ้าง  จะได้ไม่ประมาท  เพราะดาบพวกนั้นคมและอันตรายมาก 

หลังจากตัดไม่ขาดตลอด ตัดไม่สวย ตัดไปติดครึ่งหนึ่ง ฯลฯ หลายครั้งแล้ว  ฉันจะไม่มีวันลืมจังหวะแรกที่ฉันสามารถตัดได้อย่างถูกต้องด้วยรอยตัดที่เนียนเรียบและเร็ว ดัง "ฟึ่บ"  โดยไม่รู้สึกเหมือนดาบผ่านอะไรแข็ง ๆ เลยได้เลย  

ตอนนั้นนั่นแหละฉันถึงเพิ่งเข้าใจว่า  ดาบซามูไรเป็นอาวุธที่ร้ายแรงสุดยอดจริงๆ ถ้าใช้เป็น 

เพราะเหล็กที่ดีมาก  และได้รับการตีมาคมมาก  และถ้าใช้ถูกวิธี  คือ  ตัดได้อย่างถูกวิถีของมันนี่ คือตามการฝึกด้วยกระบวนท่าของร่างกายนั้น  เสื่อตาตามิที่ม้วนไว้และนำไปแช่น้ำให้เหนียว  และมีขนาดประมาณเท่าคอคนนี่  สามาถตัดผ่านไปได้แบบไม่ต้องออกแรงเลยนะ 

  ความรู้สึกเหมือนเพียงใช้ใจยกดาบโดยไม่ต้องออกแรง และวาดดาบผ่านอากาศเบาๆ เฉยๆ  เป้าหมายก็ขาดสองท่อนแล้ว ดาบซามูไรนี้มีอานุภาพร้ายแรงน่ากลัวอย่างนี้นี่เอง  

 

  ถ้าไม่ได้ฝึก Zanshin  และไม่เคยฝึกวิปัสสนามาก่อน  ตอนที่ฉันฟันม้วนเสื่อขาดหลุดจากแท่นไม้ที่ใช้เสียบลงไปที่พื้น  ฉันก็คงเป็นลมไปแล้ว พร้อมกับเสื่อช่วง "คอ" ที่โดนตัดลงไปดัวยฝีมือของฉันนั่นเอง  เพราะฉันเป็นคนที่จินตนาการดีเกินเหตุ    

การฝึก Zanshin เป็นร้อยครั้ง พันครั้งมาก่อนหน้า  จึงทำให้ฉันสามารถค้างอยู่ในท่านั้นได้สามวินาทีอย่างสงบนิ่ง  หน้าไม่แสดงความรู้สึกใด ๆ ใจรับรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่มันเป็น...

...ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดดาบลงทำความสะอาด กรีดเก็บเข้าฝักและโค้งทำความเคารพแท่นที่ตั้งเสื่อนั้นหนึ่งครั้ง  ก่อนที่จะยกโคนเสื่อที่เหลือออกและเก็บกวาดสถานที่ เตรียมให้ผู้อื่นที่รออยู่มาฝึกตัดต่อจากฉันต่อไป...

...ด้วยใจที่ว่างเปล่า...

 

 

จบเรื่อง Zanshin

bamboo water pipe

ภาพแสดงบ่อน้ำตามแนวคิดเซน ที่มาภาพ:http://farm1.static.flickr.com/4/4350925_a136b42fd1.jpg



ความเห็น (10)
ท่านดูท่าทางน่าเกรงขามมากครับ อยากฝึกดาบแบบสำนักดาบบ้านเราบ้างเช่นสำนักดาบพุทธไธสวรรค์ ไม่รู้ว่าปัจจุบันมีไหม ขอบคุณมากครับผมที่แวะไปเยี่ยม ผมเขียนภาษาอังกฤษอย่างเดียวบางทีเบื่อๆเหมือนกัน เลยเอาเรื่องต่างๆมาปนบ้าง

ขอบคุณค่ะ คุณขจิต  ที่แวะมาเยี่ยมเช่นกัน 

อยากฝึกดาบไทยเหมือนกันค่ะ  ถ้ามีแรง และมีเวลาน่ะนะคะ

ขอให้วิทยานิพนธ์เรื่องภาษาอังกฤษของคุณขจิตมีความคืบหน้าสม่ำเสมอนะคะ (ทางนี้ไม่ค่อยเลยค่ะ  แหะ ๆ)

สวัสดีค่ะ,

ณัชร

"มองที่ตาเห็นที่ใจ" ศึกษาเซนตามตัวอักษรมาก็นานอยู่ ชักเบื่อ อยากจะไปให้เซนเซของคุณไล่หวดบ้างแล้วซิ เผื่อจะมีโอกาสแขนหักขาหักอย่างมีคุณค่าบ้าง รู้แต่ไม่เข้าใจมันใช้การอะไรได้ล่ะ อย่างมากก็เป็นได้แค่เครื่องประดับของคนเขลาเท่านั้น

     แค่พบคนที่พูดจาภาษาเดียวกัน ก็เหมือนได้เจออาหารถูกปาก แต่มันช่วยเราได้แค่เพียงอิ่มชั่วตราว ไม่อาจทำให้เราอิ่มถาวรได้...

คุณอนุเซน รินไซ นอนดึกนะคะ 

หรือไม่ก็ตื่นเช้า?

รู้สึกเป็นเกียรติเหลือเกินค่ะ  กรุณาแวะมาให้ความเห็นหลายทีแล้ว

ถ้าอยู่เมืองไทย  ลองติดต่อไปดูก่อนก็ได้นะคะ  ที่เวบไซต์ของเซนเซน่ะค่ะ  ถึงแม้ว่าตอนนี้ท่านจะบอกว่าเต็มอยู่ก็ตาม   (เผื่อมีศิษย์คนใดตาย เอ๊ย ย้ายประเทศ น่ะค่ะ)

แต่ถ้าคุณอนุเซนอยู่ญี่ปุ่น  จะลองติดต่อ เวบไซต์ของทาบูจิเซนเซก็ได้นะคะ  ไม่แน่ใจว่าต้องมีจม.แนะนำไปก่อนหรือเปล่า  เพราะท่านเป็นระดับ "อภิ" แล้วน่ะค่ะ  ตอนนั้นถือว่าเป็นความกรุณาของฟุกุชิม่าเซนเซที่นี่มากที่ท่านเป็นธุระติดต่อไปให้

และเป็นบุญเหลือล้นที่เซนเซของท่านอีกทีหนึ่งที่ญี่ปุ่นนู่นเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับทาบูจิเซนเซน่ะค่ะ

ขอบพระคุณที่แวะมาชมจันทร์ยามดึกเป็นเพื่อนค่ะ

ณัชร

อ่านแล้วเหมือนดูหนังเลยคะ  .....ที่สำคัญเห็นขั้นตอน

ลำดับการฝึก น่าสนใจมากคะ  เหมือนทะเล จริงๆเลยคะ

เริ่มจาก นิ่งๆ ค่อยๆไป สูงสุด คลื่นต่อสู้  .....ค่อยๆลงไปๆ  นิ่ง.ๆ.....

ดิฉันชอบที่คุณณัชร ค้นพบทฤษฎีกับภาคปฎิบัติ และ get น่ะคะ เป็นอารมณ์ที่ดีมากเลย

 ตามเรื่องคุณณัชร แล้วดิฉันนึกถึงหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งจำชื่อไม่ได้ เป็นเด็กสาวไฮสคูล เรียนสายวิทย์ และต้องการทำรายงาน พลังงานที่หมุนไปได้เองของมนุษย์ อะไรสักอย่างนี่ล่ะคะ  คือเด็กคนนี้เขาไปได้ความคิดตอนเขาไปดูเพื่อน

เต้นบัลเล่ย์  การหมุนของนักเต้น เป็นพลังงานที่

น่าสนใจ  นักเรียนคนนี้เพื่อที่จะเข้าถึงการทำรายงาน

ก็เลยไปสมัครเรียนบัลเล่ย์ด้วย เพื่อจะเข้าใจ

กระบวนการ ขั้นตอนเกิดพลังชนิดนี้ในมนุษย์

แล้ว นักเรียนคนนี้ก็เรียนได้ดีที่สุดในชั้นคะ

จนค้นพบตัวเองว่า ไม่ได้ชอบเรียนวิทย์แล้ว

แต่ชอบเป็นนักบัลเล่ย์ ซึ่งผิดกับความคาดหวังของที่บ้าน .........

....หายากนะคะการที่คนเรา พาตัวเองไปสู่สิ่งที่เราค้นพบว่าเรารักจริงๆ.... 

    คุณณัชรๆ  มาสารภาพว่าอ่านแล้วรู้สึกมันล้ำลึกมากเลย ปรัชญาเซน นี่  ชอบเหมือนกันค่ะ แต่ยังปีนกระไดไม่ถึงเลย

    แต่นึกถึงเทียบกะการว่ายน้ำ  ตอนที่เราปล่อยตัวสบายๆไม่เกร็ง จะลอยได้สบายๆและว่ายได้แบบไม่ค่อยเหนื่อย มันคงคล้ายๆกันไหมนะ  แต่หมอก็ว่ายน้ำไม่เป็นนะ  เคยหัดๆหลายรอบ  ไซนัสเอาไปกินก่อน เลยไม่สำเร็จเลยค่ะ

   

สวัสดีค่ะ คุณดอกแก้ว,  

แหะ ๆ ดีใจที่คุณดอกแก้วได้รับความเพลิดเพลินประหนึ่งได้ดูภาพยนตร์นะคะ

โห...เห็นเป็นเหมือนทะเลได้แล้วหรือคะเนี่ย  แปลว่าล้ำหน้าข้าพเจ้าไปอีก  อย่างนี้ต้องเอาไปฝากเป็นลูกศิษย์เซนเซ  บอกว่าเอาเด็กรักป่ามาเป็นลูกศิษย์  เซนเซคงจะชอบค่ะ  เซนเซท่านรักธรรมชาติมาก ๆ

เพราะวันหนึ่งตัวเองนำนิตยสาร National Geographic ที่มีรูปพระญี่ปุ่นนิกายไหนไม่ทราบใส่ชุดขาวเหมือนเซนเซเลย ยืนฝึกสมาธิอยู่ใต้น้ำตก   เอาไปให้น้องจากบางกอกโพสต์ที่จะมาสัมภาษณ์เซนเซดูน่ะค่ะ  แล้วอธิบายเขาว่า  นี่  เซนเขาฝึกกันอย่างนี้  ก็เห็นเซนเซชะโงก ๆ ดู

พอน้องเขากลับไปแล้ว เซนเซก็บอกว่า ท่านก็เคยฝึกเหมือนกันน่ะ ยืนใต้น้ำตกอย่างนั้น  แล้วก็เห็นเซนเซอมยิ้มนิด ๆ สายตาท่าทางจะมีความสุขเมื่อนึกถึงตอนนั้น

แต่เราเองกลับนึกว่า อ้าว....แล้วทำไมเซนเซไม่บอกบางกอกโพสต์ไปล่ะเมื่อกี๊น่ะ   แต่ตอนหลังเริ่มทราบแล้วค่ะว่า  เซนเซจะไม่ค่อยบอกอะไรเกินความจำเป็น 

เพราะถ้าถามเซนเซอย่างนั้นจริง ๆ ท่านก็จะตอบว่า  "...โก้เพราะเขา(โพสต์)ไม้ได๊ถามมาหนิ..." (ภาษาไทยสำเนียงญี่ปุ่นน่ะค่ะ นึกออกไหมคะคุณดอกแก้ว)

ปีที่แล้วท่านเคยจะจัดไปฝึกดาบซามูไรริมชายหาดแบบเสาร์อาทิตย์ที่หัวหิน  แต่ตัวเองไปเมืองนอกเสียก่อนเซนเซเลยไม่ได้จัด  แต่เห็นรายการที่เซนเซจะจัดแล้วน้ำลายหกติ๋ง ๆ เลยค่ะ 

เพราะมันคือการตื่นเช้ามืดมาฝึกบนชายหาดนั่นเอง  โห...โรแมนติคสิ้นดีเลยเซนเซ   เหมือนจะเป็นฉากดวลครั้งสุดท้ายมูซาชิยังไงยังงั้น  ฮิ ๆ  (เอ...แล้วฉันจะต้องตายตอนจบไหมเนี่ย)

อันนั้นล่ะค่ะท่าทางจะทะเลของจริง  คงต้องมีอะไรเกี่ยวกับการหลับตาฟังเสียงคลื่น เสียงลม (ขอเดา) ก่อนจังหวะการออกดาบ

แค่นึกถึงเสียงใบดาบคมกริบปลิว ฟิ้วว์ ควั่บ ตัดกับลมและสีเงินของคมดาบตัดแฉลบแปลบปลาบอาบกับแสงอาทิตย์อุทัย(อุ๊ย) เรื่อ ๆ แล้ว  โห....

ว่าแล้วไปเลียบ ๆ เคียง ๆ เซนเซหน่อยดีกว่า  ว่าปีนี้จัดเสียหน่อยดีไหม ฮี่ ๆ ๆ

ที่คุณดอกแก้ววิจารณ์มานั้น  ก็ตรงกับที่ตัวเองรู้สึกเวลาฝึกค่ะ  คือแต่ละท่า  ที่ฝึกซ้ำแล้ว ซ้ำอีกนั้น  มันจะเหมือน ๆ กับเวลาเราเดินจงกรมกลับไปกลับมา

บางทีมันก็เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป  อยู่อย่างนี้เรื่อยไป

ยังค่ะ ยัง  ยังไม่ค้นพบเลย ไม่ว่าจะทั้งทฤษฎี หรือ ปฏิบัติ  ยังเพิ่งเริ่มหมดทุกอย่างเลยค่ะ  เป็นนักเรียนอนุบาลเหมือนเด็ก ๆ คนอื่นไม่มีผิดเพี้ยนเลยค่ะ  ในความรู้สึกตัวเองน่ะนะคะ

เผลอ ๆ เด็กน่ะ อาจจะเข้าใจอะไรมากกว่าเราด้วยซ้ำ (เขาเรียนกันมาก่อนน่ะค่ะ แหะ ๆ)

จะว่าไปแล้ว  เรียนกับฟุกุชิม่าเซนเซในเมืองไทยนี่  ได้หลายอารมณ์ดีค่ะ

เพราะดาบเหล็ก  เรียนเดี่ยว ตัวต่อตัว

ดาบไม้ เรียนหมู่ กับพวกผู้ชาย

ดาบผ้าอัดลม เรียนกับเด็กอนุบาลญี่ปุ่น

มันเป็นการฝึกการถอดถอนอัตตาตัวตนดีค่ะ  ตอนแรก ๆ เซนเซทำเหมือนหนังจีนไม่มีผิดเพี้ยน  ไม่ว่าจะให้เด็กสอนเราบ้าง  ให้ไปขัดพื้นเคียงข้างเด็กบ้าง

แต่จริง ๆ คือการขัดเกลาจิตใจตัวเราน่ะค่ะ ไม่ใช่พื้น

ถ้ายังขืนถือว่าฉันเป็นผู้ใหญ่ อายุเยอะ เรียนป.เอก จบโทอเมริกา นู่น นี่นั่น อยู่นี่  ก็คงเป็นชาล้นแก้ว  ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่กัน

นี่ไปเจอเซนเซทดสอบจิตใจจนสามารถเดินต้อย ๆ เซื่อง ๆ ตามแถวเด็กได้น่ะค่ะ  เซนเซถึงค่อย ๆ ให้กระเถิบข้ามสายมาสายน้ำตาล (เพราะเทียบจากเทควันโดที่เคยเรียน) แล้วก็มาสอบสายดำ

อะไรจะเซ้น เซน ขนาดน้านนนน เซนเซที่รักของข้าพเจ้า

เรื่องทดสอบจิตใจนี้  ไปเจอที่ญี่ปุ่นนก็มีอีกแบบค่ะ  อย่างนั้นเป็นอย่างโหดกว่า  ไว้วันหลังมาเล่าก็แล้วกัน

หนังที่คุณดอกแก้วเล่า  ไม่เคยได้ดูค่ะ แต่น่าสนใจดี

ฟังดูหวาดเสียวว่าอีกหน่อยตัวเองอาจเรียนไม่จบ  เพราะคิดว่าไม่ได้อยากเรียนทางโลกแล้ว  อยากออกไปตามป่าเขา น้ำตก ไปฝึกดาบเล่นเย็น ๆ ใจเสียอย่างนั้นนั่นเอง

อ้าว...โลกนี้มันมีแต่ความไม่เที่ยงน่ะนะคะ  ใครจะไปรู้

สวัสดีค่ะ,

ณัชร

คุณหมออนิศราคะ,

ตัวเองก็ยังปีนไม่ถึงเหมือนกันล่ะค่ะคุณหมอ  แหะ ๆ 

แต่จะว่าไปแล้ว  มันเหมือนกันนี่ล่ะค่ะ  ที่เราไปเรียนด้วยกันที่วัดห้วยส้ม กับเซนนี่น่ะ  มันหลักการเดียวกัน

ก็ค่อย ๆ กำหนดไปทีละอย่าง แล้วก็อยู่กับปัจจุบันแค่นั้นเอง

แต่ที่คุณหมอวิเคราะห์เรื่องว่ายน้ำมานี้ใช่เลยค่ะ

คิดว่าคุณหมอคงจะปีนถึงแล้วนะคะ  เผลอ ๆ สูงกว่าข้าพเจ้าแล้วด้วย

เพราะสังเกตุตัวเองเหมือนกันค่ะ  เวลาเกร็งมากจะออกดาบผิดตลอด  ไม่สามารถทำให้มันออกไปถูกวิถีดาบดัง ฟิ้ววว ได้เลยสักครั้งเดียว  แม้นจะใส่แรงเยอะแค่ไหน เหวี่ยงแรงยังไงน่ะนะคะ

ตอนหัดใหม่ ๆ นี่ยังนึกเลยว่า  ดาบซามูไรนี่เขาออกแบบมาสำหรับไว้ฝึกการเจริญสติอย่างเดียวเลยเหรอเนี่ยฮึ

คืออธิบายไม่ถูกน่ะนะคะ  ถ้าไม่ได้ทำท่าประกอบหรือมีภาพประกอบ  แต่เหมือนกับว่า  ใน ๓๖๐ มุม  อาจจะมีอยู่มุมเดียว ที่เป็นการออกดาบที่ถูกต้อง  และต้องทำแบบไม่เกร็งด้วย  ว่างั้น

ถ้าทำผิด  ก็จะเห็น "ใจ" ตัวเองหงุดหงิดมั่ง ท้อแท้มั่ง กระวนกระวาย  ใจร้อน สงสัย  สารพัดค่ะ 

เห็นความเป็นเหตุเป็นผลของกายและใจค่อนข้างจะชัดค่ะ

แต่ถ้าทำถูก และไม่เกร็ง  และเผลอไปนี่  ใจมันก็เสวยอารมณ์สะใจไปอีกแบบได้นะคะ  ถ้าไม่ระวัง

ฝึกแป๊บเดียวนี่น่ะค่ะ  เห็นหลายอย่าง  โดยมากทำไปแล้วก็ละอายใจตัวเอง  เห็นกิเลสเยอะค่ะ

บางทีไปเรียนครั้งถัดไป  ไม่ค่อยกล้าสบตาเซนเซ  เพราะรู้สึกท่านอ่านเราทะลุปรุโปร่งทุกครั้ง  ชอบพูดอะไรเปรย ๆ เหมือนไม่จงใจแต่เราแอบสะดุ้งน่ะค่ะ

เหมือนครูบาอาจารย์ที่เขียนบล๊อกอยู่แถว ๆ นี้ท่านนึงน่ะค่ะ  ฮิ ๆ

มีเหมือนกันนาน ๆ ทีที่เซนเซออกจม.เตือนมา  เรื่องให้ดูจิตใจตัวเองเวลาแข่งขัน  ตอนนั้นเซนเซให้ฝึกปะลองครั้งแรกค่ะ  แล้วไม่ยอมบอกอะไรเลย

ให้ลงสู้กับแชมป์เอเชียเลยด้วย  แล้วเกิดมาเราไม่เคยเห็นว่าการแข่งชนิดนี้มันเป็นยังไง  เมืองไทยไม่มีการเล่น  ทีวีก็ไม่เคยเห็น 

เซนเซต้องการทดสอบเราน่ะค่ะ  ว่าจะมีการแก้สถานการณ์อย่างไร 

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า  คือ ต้องการดู "ใจ" ของเราน่ะค่ะ  ว่าเป็นอย่างไร

ปรากฏว่าเราก็คนไทยไงคะ  ฆ่าได้ หยามไม่ได้ ฮิ ๆ  ไม่รู้นี่นา  ก็เลยเข้าคลุกวงในเสียสนุก  นึกถึงเวลามวยไทยแข่งกันไว้ก่อน 

แล้วก็อาศัยสวมหัวใจเสือนี่แหละค่ะ  สู้ตาย หลับหูหลับตา  มั่วอย่างเดียว  แล้วก็พยายามนึกว่า ที่เราเคยอ่านมูซาชิมาน่ะ เขาทำกันท่าไหนมั่ง

พอโดนเข้าไปหลายดาบ  ก็ไม่ได้การล่ะ  ใช้ไม้ตายมูซาชิเลยดีกว่า คราวนี้ฝ่ายแชมป์เอเชียถอยกรูดเลยค่ะ  เจอลูกกระโดดเอาดาบฟาดหัวดังเปรี้ยงเต็มแขน  เหมือนตบวอลเล่ย์ของข้าพเจ้า  เพราะคงไม่มีในการแข่งขันทั่วไป 

อุ๊ย ชักมันส์  ทำท่าจะต่อ  แต่เซนเซรีบยุติการชก เอ๊ย ประลอง  แล้วอาทิตย์ต่อไป  ก็ได้จม.สั่งสอนจากเซนเซ  เรื่อง การให้ฝึกดูใจในการแข่งขัน  ให้ไม่นึกถึงแต่จะเอาชนะ  แล้วก็สอนให้ดูแค่เรื่องจังหวะและนน.ของการออกดาบ  และระยะทางการออกดาบที่สัมพันธ์กับสองสิ่งนั้นน่ะค่ะ

เพราะนึกย้อนกลับไปแล้ว  ที่เราทำ ๆ ไปด้วยความไม่รู้นั้น  มันเป็นสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ทั้งนั้นเลย  ที่ต้องการแข่งขัน เอาชนะ แล้วพอเริ่มได้อะไรมา  ก็มักจะขาดสติ  หน้ามืด ตามัว จะเอาอีก ๆ ไม่รู้จักพอ

และหลายครั้ง ทำอะไรแต่พอควร เพื่อยังชีพ หรือให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย ก็พอแล้ว  แต่เซนเซคงเห็นว่านั่นทุ่มแบบเอาเป็นเอาตาย  อารมณ์เหมือนพุ่งเข้าใส่แบบเล่นอเมริกันฟุตบอล

เวลาไปดูการแข่งดาบระดับสูงที่ญี่ปุ่น  ระดับปรมาจารย์นั้นนิ่งมากจะสงสัยเลยค่ะว่ากระพริบตา หรือว่าหายใจกันบ้างหรือเปล่า แหะ ๆ

แต่บทจะออกดาบนั้น  ก็เร็วจนพวกเราดูกันไม่ทันอีกน่ะค่ะ

ตัดสินกันในดาบเดียว......

อืมม......

 

ตัวเองยังต้องเรียนอีกเยอะเหมือนกันค่ะ คุณ try,

อาจารย์ที่สอน battou นี้สอนที่ไหนหรอคับ

พอดรผมมีความสนใจที่จะเรียนดาบหนะครับ

ถึงเปนโพสเมื่อ7ปีที่แล้วยังไงก็ขอฝากด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท