8 วิธี ป้องกันหวัด+ไข้หวัด+ไข้หวัดใหญ่


วันนี้ผู้เขียนมีคำแนะนำพร้อมภาพจากบอร์ดประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง เกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคหวัดในเด็ก

...

ไทยรัฐฉบับวันนี้ (21 มีนาคม 2551) มีคำเตือนจากอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวัณโรคปอดว่า พวกเราอาจจะติดวัณโรคได้ถ้าเข้าไปในสถานที่ดังต่อไปนี้

  • การเข้าไปใน "ที่อับลม" หรือที่ที่อากาศระบายไม่สะดวก โดยเฉพาะห้องแอร์ เช่น โรงภาพยนต์(โรงหนัง) ฯลฯ
  • การเดินทางไกลในยานพาหนะปรับอากาศ เช่น ขึ้นเครื่องบิน ฯลฯ 8 ชั่วโมงขึ้นไป

...

วันนี้ผู้เขียนมีคำแนะนำพร้อมภาพจากบอร์ดประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง เกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคหวัดในเด็ก

จริงๆ แล้ว... คำแนะนำต่อไปนี้ป้องกันโรคหวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนกในผู้ใหญ่ได้ด้วย ถ้าทำตามคำแนะนำเหล่านี้พร้อมทั้งล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนกินอาหาร ก่อนดื่มน้ำ หลังเข้าห้องน้ำ และก่อนเข้าบ้านเป็นประจำ

...

การล้างมือด้วยสบู่มีข้อดีกว่าการใช้เจลแอลกอฮอล์ถูมือคือ ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากมือของเรา

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอ่านหนังสือพิมพ์... จะมีหมึกพิมพ์หลุดติดมือมาด้วยไม่มากก็น้อย หมึกพิมพ์มีโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ฯลฯ ปนเปื้อนอยู่

...

การล้างมือด้วยสบู่ช่วยชำระล้างคราบสีหมึกพิมพ์ได้ ส่วนการถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคได้ ทว่า... ชำระล้างคราบสีหมึกพิมพ์ไม่ได้

เรียนเชิญชมภาพจากบอร์ดประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลห้างฉัตรได้ ณ บัดนี้

...

ภาพที่ 1: "หลีกเลี่ยงดีกว่าต้านทาน" อาจารย์กังฟูสอนไว้ในหนังมานานแล้ว

ถ้าไม่อยากเป็นหวัดก็ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด เย็นจัด และอย่าลืม... ถ้าเปิดแอร์หรือพัดลม อย่าให้ลมพัดกระทบผิวหนังโดยตรงนานๆ โดยเฉพาะช่วงนอนหลับ เพราะผิวหนังที่โดนลมจะสูญเสียความร้อนจากการระเหยของน้ำ (เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า 'windchill' หรือ "ลมมันเย็น")

...

ภาพที่ 2: หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับคนที่เป็นหวัด ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้... ควรล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัส เพื่อลดโอกาสติดหวัดจากการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย ซึ่งมักจะปนเปื้อนมากับมือ

...

ภาพที่ 3: หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่แออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก โดยเฉพาะในห้องแอร์ หรือยานพาหนะติดแอร์

...

ภาพที่ 4: หลีกเลี่ยงมลภาวะ โดยเฉพาะฝุ่นควันรถ ควันบุหรี่ ควันไฟ โดยการลด-ละ-เลิกบุหรี่ ไม่สูดควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบเข้าไป ไม่เผาขยะ ไม่เผาป่า

...

ภาพที่ 5: กินอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะควรมีผักสด ผลไม้สด ถั่ว ข้าวกล้อง หรือขนมปังเติมรำ(โฮลวีท)เป็นประจำ 

...

ภาพที่ 6: ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ และนอนให้พอ... การนอนดึกหรืออดนอนมีส่วนทำให้โรคหลายอย่างกำเริบง่าย เช่น แผลร้อนใน เริม ฯลฯ

...

ภาพที่ 7: ควรให้เด็กๆ ได้กินนมแม่อย่างน้อย 4 เดือน นมแม่เก็บในขวดนมที่สะอาด ใส่ในตู้เย็น (ช่องเย็น ไม่ใช่ช่องแข็ง) เก็บไว้ได้ 24 ชั่วโมง ท่านที่จำเป็นต้องทำงานนอกบ้านจึงเก็บนมแม่ไว้ให้ลูกน้อยได้

ก่อนนำไปให้เด็กกินควรอุ่น โดยใส่ขวด นำไปแช่น้ำอุ่น และทดสอบว่า ไม่เย็นหรือร้อนเกินไป โดยหยดน้ำนมใส่หลังมือก่อนให้เด็กกินทุกครั้ง

...

การให้ลูกกินนมแม่มีส่วนช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ เบาหวาน และช่วยป้องกันโรคอ้วนในเด็ก

...

ภาพที่ 8: ควรพาเด็กไปรับวัคซีนตามกำหนดให้ครบ

...

โปรดสังเกตว่า ภาพสุขศึกษาส่วนใหญ่มักจะวาดให้คุณหมอตาเหล่เข้าในหน่อยๆ เพื่อเสริมบุคลิก(การ์ตูน) ชีวิตจริงคงจะไม่เหล่อย่างในภาพ

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • ขอขอบพระคุณ > โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 18 มีนาคม 2551.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 21 มีนาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 172218เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2008 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท