ลดความอ้วนอย่างไร... ให้ยั่งยืน ตอน5


หลักสังเกตง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทใด ถ้าผ่านการผัดหรือทอดแล้ว จะให้กำลังงานสูง เพราะฉะนั้นการเลือกอาหารควรเลือกอาหารที่ไม่ผ่านการผัด-ทอด

...

ตอนก่อนเราคุยกันเรื่องอาหารจานเดียว คราวนี้ขอนำตัวอย่างกำลังงาน (แคลอรี) ในอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวจากหนังสือของท่านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์มาเล่าสู่กันฟัง อย่าเพิ่งลืมว่า ถ้ากินอาหารวันละ 3 มื้อ

  • ผู้ชายไม่ควรกินเกินวันละ 1,600 แคลอรี หรือมื้อละ 530 แคลอรี
  • ผู้หญิงไม่ควรกินเกินวันละ 1,200 แคลอรี หรือมื้อละ 400 แคลอรี

...

หลักสังเกตง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทใด ถ้าผ่านการผัดหรือทอดแล้ว จะให้กำลังงานสูง เพราะฉะนั้นการเลือกอาหารควรเลือกอาหารที่ไม่ผ่านการผัด-ทอด

อาหารผัด-ทอดนั้นเป็นศัตรูอันดับ 1 ของการลดความอ้วน อันดับ 2 เป็นเครื่องดื่มเติมน้ำตาล หรือมีน้ำตาล เช่น น้ำผลไม้ ฯลฯ

...

ผู้เขียนทดลองกับตัวเอง เติมน้ำมันพืชในอาหารดูว่า การเติมน้ำมันเพิ่มไปในอาหารจะทำให้น้ำหนักขึ้นได้หรือไม่

ผลปรากฏว่า เติมได้ ทว่า... เติมได้จำกัด เพราะร่างกายคนเราจะรู้สึกอึดอัดมากถ้ากินอาหารเติมน้ำมันเปล่าๆ โดยไม่ผัดหรือทอด ยกเว้นผสมในเครื่องปรุง เช่น น้ำสลัด ฯลฯ

...

ผลจากการทดลองกับตัวผู้เขียนเองพบว่า เติมแล้วน้ำหนักขึ้นไม่มากเท่าไร

ท่านผู้อ่านอย่าทดลองแบบนี้เป็นอันขาด เพราะอ้วนเป็นโรคที่ชอบ "ขาขึ้น" ขึ้นแล้วไม่ค่อยลง ไม่เหมือนตลาดหุ้น หรือค่าเงินบาท-ดอลลาร์ที่ขึ้นๆ ลงๆ

...

แต่ถ้าเป็นอาหารผัด-ทอด... น้ำมันจะซึมเข้าไปแบบ "ล่องหน" และอร่อย แถมร่างกายยังย่อยได้ดี และทำให้น้ำหนักขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

เพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งไปฝึกงานสมัยเป็นนักศึกษาที่โรงพยาบาลขุนยวม แม่ฮ่องสอน ท่านทำกับข้าวเก่ง และกินเก่ง ปรากฏว่า น้ำหนักขึ้นได้หลายกิโลฯ ภายใน 2-3 วัน เนื่องจากกินอาหารผัดๆ ทอดๆ

...

ผู้เขียนมีประสบการณ์น้ำหนักขึ้นเดือนเดียว 2 กิโลกรัมมาแล้วจากการดื่มน้ำผลไม้ ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องดื่มเติมน้ำตาล พอใช้เครื่องวัดสัดส่วนไขมัน และกล้ามเนื้อในร่างกาย (ของ Tanita) วัดดู ปรากฏว่า น้ำหนักที่ขึ้นเป็นน้ำหนักไขมันล้วนๆ เลย

พอหยุดดื่มน้ำผลไม้ และกลับไปออกแรง-ออกกำลังเพิ่มขึ้น อีกหลายเดือนสุขภาพจึงจะกลับมาดีเท่าเดิม

...

ถ้าอยากลดความอ้วน ควรจำกัดอาหารผัด-ทอดไว้ อย่าให้เกินสัปดาห์ละ 2 มิ้อจึงจะดี ส่วนเครื่องดื่มใส่น้ำตาล และน้ำผลไม้นั้น... ถ้าอยากลดความอ้วน ควรเว้นเสียให้ไกลที่สุด

ต่อไปขอนำตัวอย่างกำลังงาน (แคลอรี) ในอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวมาเล่าสู่กันฟัง

...

ก๋วยเตี๋ยว

กำลังงาน (แคลอรี)

ผัดซีอิ๊วใส่ไข่ 679
ราดหน้าหมู 397
ผัดมักกะโรนี 514
เส้นเล็กแห้งหมู 421
เส้นใหญ่เย็นตาโฟ 352
บะหมี่ต้มยำ 310
ก๋วยจั๊บน้ำข้น 279
ก๋วยจั๊บน้ำใส 259
ก๋วยเตี๋ยวหลอด 266
เส้นหมี่ลูกชิ้นเนื้อ 258
ขนมผักกาดใส่ไข่ 582
ผัดไทยใส่ไข่ 578
หอยแมลงภู่ทอดใส่ไข่ 428

...

ภาพที่ 1: หนังสือ "อ้วนอันตราย...ไม่อยากตายต้องลดอ้วน" ของท่านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ [ แนะนำให้ซื้อมาอ่านครับ ]

...

ก๋วยเตี๋ยวเมืองไทยทุกวันนี้พอจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

  • กลุ่มแรกเป็นก๋วยเตี๋ยวที่ทำขาย > การศึกษาเร็วๆ นี้พบว่า 80% ใช้หม้อน้ำซุปที่เชื่อมด้วยตะกั่ว > เวลากินจึงควร "รีด" น้ำออกให้มากที่สุด เพื่อลดการได้รับสารตะกั่ว
  • กลุ่มที่สองเป็นก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น หรือบะหมี่สำเร็จรูป > กลุ่มนี้มีเกลือโซเดียมสูงมาก > เวลากินจึงควร "รีด" น้ำออกให้มากที่สุด เพื่อลดการได้รับเกลือโซเดียม ซึ่งทำให้ไตทำงานหนัก และเสี่ยงต่อโรคความดันเลือดสูงเพิ่มขึ้น

...

ทางที่ดีที่สุดคือ การหุงข้าวกล้อง และทำกับข้าวกินเอง ทางที่ดีรองลงไปคือ การหุงข้าวกล้อง และซื้อกับข้าวประเภท "ไม่ผัด-ไม่ทอด" มากิน เน้นอาหารประเภทแกงที่ผักมากๆ และไม่ใส่กะทิจึงจะดี

อาหารนอกบ้านส่วนใหญ่จะ "หวาน-มัน-เค็ม" มากกว่าอาหารทำเอง ถ้าอยากลดความอ้วนจึงควรกินอาหารทำเองให้มากกว่าอาหารซื้อ ถ้าจำเป็นต้องซื้อ... ควรเตรียมผักประเภทให้กำลังงานต่ำ เช่น แตงกวา มะเขือเทศ ฯลฯ กินเสริมไปทุกมื้อ

...

ทีนี้อาหารประเภทเส้นๆ... นอกจากเส้นประเภท "แห้ง" จะมีการคลุกหรือทาน้ำมันทำให้มีกำลังงาน (แคลอรี) สูงกว่าประเภท "น้ำ" แล้ว

ท่านอาจารย์สง่ายังเตือนพวกเราให้ระวังการเติมกระเทียมเจียว และกากหมูให้มาก ทางที่ดีคือ อย่าเติมเสียเลย

...

เวลาคิดถึงของทอดให้จินตนาการไว้เลยว่า มีไขมันสีเหลืองๆ แบบในพุงเราประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาตรรวม

โปรดสังเกตกำลังงานในบะหมี่ประเภทต่างๆ ดังตาราง

...

อาหารประเภทบะหมี่ กำลังงาน (แคลอรี)
บะหมี่แห้ง 577
บะหมี่ต้มยำ 310
บะหมี่น้ำ 260
บะหมี่น้ำใส่กระเทียมเจียว 294.2

...

โปรดสังเกตว่า

  • อาหารประเภทเส้น > แบบแห้งจะให้กำลังงานสูงกว่าแบบน้ำ
  • ยิ่งเติมเครื่องปรุง เช่น กากหมู กระเทียมเจียว น้ำตาล ฯลฯ > กำลังงานจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

...

หมายเหตุ                                                       

บทความนี้มี 8 ตอน

  • โปรดคลิกที่นี่เพื่ออ่านตั้งแต่ตอนแรก / ตอนที่ 1
  • [ Click - Click ]
  • โปรดคลิกที่นี่ เพื่ออ่านตอนต่อไป / ตอนที่ 6
  • [ Click - Click ]

...

ที่มา                                                  

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข > อ้วนอันตราย...ไม่อยากตายต้องลดอ้วน > สำนักพิมพ์วายนอตคอมมิวนิเคชั่น. กรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2550. หน้า 70-74.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 25 เมษายน 2551.

 

หมายเลขบันทึก: 178739เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2008 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท