สารหนูในน้ำดื่ม เพิ่มเสี่ยงเบาหวาน 3.6 เท่า


ท่านอาจารย์ดอกเตอร์อะนา นาวาส-อาเซียน และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพคินส์ สหรัฐฯ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 800 คน การศึกษานี้แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 5 กลุ่มตามปริมาณสารหนูในปัสสาวะ

...

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่แฟนๆ หนังกำลังภายในว่า สารหนูเป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ละลายได้ดีในน้ำ และเหล้า เช่น ไวน์ ฯลฯ จอมยุทธทั้งหลายจึงต้องระวังการถูกวางยาด้วยสารหนูมากเป็นพิเศษ

วันนี้มีผลการศึกษาที่พบว่า สารหนูเพิ่มความเสี่ยงเบาหวานมาฝากครับ

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์อะนา นาวาส-อาเซียน และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพคินส์ สหรัฐฯ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 800 คน การศึกษานี้แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 5 กลุ่มตามปริมาณสารหนูในปัสสาวะ

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับสารหนูในปัสสาวะสูงสุด (16.5 ไมโครกรัมต่อลิตร) มีความเสี่ยง (โอกาสเป็น) เบาหวานเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า หรือ 360% เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับสารหนูในปัสสาวะต่ำสุด (3 ไมโครกรัมต่อลิตร)

...

อาจารย์นาวาสกล่าวว่า คนอเมริกา 304.9 ล้านคนมี 13 ล้านคน (4.26%) ซึ่งใช้น้ำบ่อเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสได้รับสารหนูเพิ่มขึ้นมากกว่าประชากรทั่วไป

พื้นที่ทั่วโลกที่มีสารหนูปนเปื้อนมากได้แก่ บังคลาเทศ ยุโรปกลาง(บางแห่ง) ชิลี อาร์เจนตินา ภาคตะวันตกของสหรัฐฯ พื้นที่เหล่านี้มีการสะสมสารหนูจากการทำเหมืองแร่ในอดีต สารกำจัดศัตรูพืช น้ำเสียจากโรงงานและครัวเรือน

...

ปี 2547 ศูนย์อ้างอิงทางห้องปฏิบัติการ สำนักโรคจากการประกอลอาชีพได้ทำการสำรวจแหล่งน้ำพบว่า

น้ำในพื้นที่บางแห่งของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในภาคใต้ เช่น อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ฯลฯ และหมู่บ้านคลิตี้ล่าง กาญจนบุรี มีระดับสารหนูสูง

...

สารหนูเป็นสารก่อมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งผิวหนัง และอาจเป็นสารก่อมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาจารย์นาวาสกล่าวว่า สารหนูออกฤทธิ์ยับยั้งการจับของฮอร์โมนอินซูลินกับตัวรับ (receptors) ที่ผนังเซลล์ต่างๆ ทำให้น้ำตาลเข้าเซลล์ได้น้อยลง และเสี่ยงโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น

...

วิธีป้องกันอันตรายจากสารหนูที่สำคัญได้แก่

(1). เลือกแหล่งน้ำดื่ม

  • ถ้าเป็นไปได้.... น้ำกรอง โดยเฉพาะน้ำที่กรองด้วยวิธีรีเวิร์ซ ออสโมซิส (reverse osmosis / RO) และน้ำประปามีความปลอดภัยสูงกว่าน้ำบ่อ

...

  • เลือกแหล่งผลิตน้ำที่มีการสุ่มตัวอย่างไปตรวจสอบหาระดับสารหนู เช่น มีตรา "อย." รับรอง ฯลฯ
  • โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ลำปางลองสุ่มตัวอย่างน้ำบาดาลที่ใช้ไปตรวจ พบว่า มีสารหนูปนเปื้อน นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่า การสุ่มตัวอย่างมีความจำเป็นสำหรับแหล่งน้ำดื่ม

...

(2). ล้างมือ

  • การล้างมือด้วยสบู่ก่อนดื่มน้ำ และกินอาหารมีส่วนช่วยลดการได้รับโลหะหนักหลายชนิด เช่น ตะกั่ว สารหนู ฯลฯ โดยเฉพาะหลังการอ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งมักจะมีหมึกพิมพ์ติดมือมาเสมอ

...

(3). ลดการใช้ยาฆ่าศัตรูพืช

  • ควรล้างพืชผักเพื่อลดสารพิษตกค้างเป็นประจำ เช่น แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 10 นาที และล้างน้ำก่อนนำไปปรุงอาหาร ฯลฯ

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 

...

ที่มา                                                             

  • Thank Reuters > Andrew Stern. Maggie Fox ed. > Arsenic has firm link to diabetes in U.S. study > [ Click ] > August 19, 2008. // Source > JAMA.
  • Thank U.S. Census > U.S. and world population clock > [ Click ] > August 20, 2008. 14:47 GMT (EST+5).
  • Thank WHO > Arsenic in drinking water > [ Click ] > May 2001.

...

 

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร > 19 สิงหาคม 2551.

 

หมายเลขบันทึก: 202573เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2008 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท