11 วิธีลดเสี่ยงเกิร์ด(GERD)หรือโรคกรดไหลย้อน


...

เป็นที่ทราบกันดีว่า โลกของเรากำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แม้แต่โรคภัยไข้เจ็บในคนไทยก็เปลี่ยนไปเร็วด้วย เช่น ความก้าวหน้าทางด้านยาลดกรด และอนามัยในเรื่องอาหารการกินทำให้การติดเชื้อ (H. pylori) น้อยลง ทำให้โรคแผลกระเพาะอาหารลดน้อยลง ฯลฯ... นี่เป็นข่าวดี

ทีนี้ธรรมชาติของข่าวดีคือ มักจะมาคู่กับข่าวร้าย... ข่าวร้ายที่ว่าคือ คนไทยเราเป็นโรคทางเดินอาหารสมัยใหม่ เช่น โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease / GERD) หรือเจ้า "เกิร์ด" กันมากขึ้น โรคไขมันจับตับ (fatty liver) มากขึ้น ฯลฯ

...

ท่านอาจารย์ รศ.วโรชา มหาชัย ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารในวารสารการศึกษาต่อเนื่องแพทย์

ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

โรคกรดไหลย้อนหรือเจ้า "เกิร์ด" นี่... คนตะวันตกหรือฝรั่งเป็นกันมาก คือ 13-29% หรือเฉลี่ยประมาณ 20% นั่นคือ ถ้ามีฝรั่งเดินมา 5 คนจะเป็นโรคกรดไหลย้อน 1 คน

ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญในไทย (ชมรมโมทิลิตี้) พบว่า คนไทยเรากำลังเป็นโรค "เกิร์ด" มากขึ้น จาก 5% ในปี พ.ศ. 2539 เป็น 7.4% ในปี พ.ศ. 2547 เพิ่มขึ้นเกือบ 50% ทีเดียว

...

ชื่อ "เกิร์ด" นี่ดี... ฟังเสียงแล้วคล้ายๆ เสียงเรอ (คนไทยเราเรอเสียงดัง "เอิกๆ" คล้ายๆ เจ้า "เกิร์ด" มากทีเดียว) ต่างกันตรงที่การเรอและการผายลมมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นการระบายลมที่มีมากเกินในทางเดินอาหารออกมา ทำให้แรงดันในกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง

ปกติหูรูดของหลอดอาหารจะยอมให้เรอหรือระบายลมจากกระเพาะอาหารขึ้นมาได้ ทว่า... ไม่ยอมให้อาหาร น้ำ หรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาได้ เนื่องจากจะทำให้เสี่ยงอันตราย เช่น หลอดอาหารอักเสบจากกรด ฯลฯ

...

บางคนมีกรดในทางเดินอาหารไหลย้อนขึ้นมากจนทำให้หลอดอาหารอักเสบ ทำให้เกิดอาการเช่น แสบร้อนในอก (ฝรั่งมักจะบรรยายว่า heartburn ได้แก่ แสบร้อนในอก) จุกแน่นลิ้นปี่ คลื่นไส้

ทีนี้ถ้ากรดไหลย้อนขึ้นสูงมากๆ อาจทำให้กล่องเสียงอักเสบ คออักเสบ ช่องปาก หรือส่วนหู-คอ-จมูกอักเสบได้ เช่น มีอาการเสียงแหบ ไอเรื้อรัง เจ็บคอ ฟันสึก เสียวฟัน ฯลฯ ได้

...

อาการกรดไหลย้อนมักจะเป็นมากหลังอาหาร โดยเฉพาะถ้ากินอาหารมื้อใหญ่ เช่น งานเลี้ยง ได้ของ(กิน)ฟรี ฯลฯ หรือหลังอาหารมื้อกินแล้วนอนราบลงทันที

ถ้าเปรียบกระเพาะอาหารเป็นขวดใส่น้ำที่มีน้ำเกือบเต็ม (หลังอาหาร) จะพบว่า น้ำในขวดหกออกมาได้ยากถ้าขวดตั้งตรง (เช่น อยูในท่ายืนหรือนั่งหลังอาหาร ฯลฯ) ตรงกันข้ามน้ำในขวดจะหกออกมาได้ง่ายถ้าขวดเอียงราบลง (เช่น นอนหลังอาหาร ฯลฯ)

...

การรักษาโรคกรดไหลย้อนอาจใช้ยาลดกรด ยาที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารบีบตัวได้ดีขึ้น หรือลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น (prokinetics)

ทว่า... เรื่องสำคัญมากๆ คือ โรคนี้รักษาไม่หาย และต้องอาศัยคนไข้ช่วยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (ไลฟ์สไตล์ / lifestyle) ได้แก่

...

(1). ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) > คนอ้วนเสี่ยง (โอกาสเป็น) โรคเกิร์ดมากกว่าคนผอม

(2). ไม่สวมเสื้อผ้าคับ > เสื้อผ้าคับเพิ่มแรงดันในช่องท้อง

...

(3). หยุดสูบบุหรี่ (ถ้าสูบ) > การสูบบุหรี่เพิ่มการสูบลมเข้าไปในกระเพาะอาหาร

(4). ไม่นอนหลังอาหารทันที

...

(5). กินข้าวเย็นให้เร็วขึ้น เช่น ถ้าเดิมกิน 2 ทุ่ม ให้กินเร็วขึ้นครั้งละ 1 ชั่วโมง เช่น 1 ทุ่ม ฯลฯ ถ้าไม่ดีขึ้นให้ปรับเป็น 6 โมงเย็น, 5 โมงเย็น, 4 โมงเย็น, บ่าย 3 โมงตามลำดับ

วิธีง่ายๆ คือ ให้กินข้าวเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดินจึงจะดี เพื่อให้อาหารในกระเพาะอาหารได้รับการย่อยบางส่วน และไหลไปยังลำไส้เล็กก่อนนอน ทำให้ปริมาณอาหารตกค้างในกระเพาะอาหารมีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

...

การงดข้าวเย็นแบบพระ หรือการกินข้าวเย็นแต่น้อยมีส่วนช่วยให้อาการกรดไหลย้อนทุเลาลงได้

(6). ไม่กินอาหารมื้อใหญ่ > ให้กินอาหารมื้อเล็ก วันละ 4-5 มื้อแทน เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาหารและน้ำในกระเพาะฯ มากเกิน

...

(7). หนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น หรือนอนเตียงเอียงให้ด้านหัวสูงกว่าด้านเท้า โดยการหนุนขาเตียง แต่อย่าหนุนหมอนหลายใบ เนื่องจาการหนุนหมอนหลายใบอาจทำให้ปวดคอ

(8). หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กรดไหลย้อน เช่น อาหารไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารประเภท "ผัดๆ ทอดๆ" พริกไทย ช็อคโกแลต หัวหอม น้ำผลไม้รสเปรี้ยว (เช่น น้ำส้ม ฯลฯ)

...

(9). ไม่กิน "ข้าวคำน้ำคำ" > เวลากินข้าว... อย่าเพิ่งดื่มน้ำหรือเครื่องดื่ม รอให้กินข้าวเสร็จประมาณ 10 นาทีค่อยดื่มน้ำหรือเครื่องดื่ม การกิน "ข้าวคำน้ำคำ" มีส่วนทำให้ปริมาณอาหารและของเหลวในกระเพาะฯ มีมากขึ้น เสี่ยงกรดไหลย้อนมากขึ้น

(10). ไม่ "กินไปพูดไป" > เวลากินข้าว... อย่าพูดมาก เนื่องจากการกินไปพูดไปเพิ่มโอกาสกลืนลมลงไปมากขึ้น

...

(11). ไม่เคี้ยวหมากฝรั่งมากเกิน > การเคี้ยวหมากฝรั่งมีส่วนเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ทำให้กลืนน้ำลายลงไปมากขึ้น และเพิ่มการกลืนลมลงไปในท้อง

โรคกรดไหลย้อนมีลักษณะคล้ายโรคที่เรื้อรัง หรือโรคที่รักษาไม่หายอื่นๆ ได้แก่ ยาอย่างเดียวได้ผลจำกัด หรือได้ผลไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ถ้าคนไข้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้ว  โรคมักจะทุเลาลงไปมาก

...

เวลาเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคที่รักษาไม่หาย... อย่าคิดแต่จะพึ่งยาหรือพึ่งหมออย่างเดียว ขอให้คิดพึ่งตัวเราเอง ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นมาก

วันนี้ผู้เขียนดีใจมาก เพราะมีครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งลงทุนมาร่วมกิจกรรมเลิกบุหรี่ ท่านบอกว่า ท่านสูบบุหรี่มานานแล้ว อยากจะให้ลูกศิษย์ในโรงเรียนเลิกบุหรี่ให้ได้ ทว่า... จะพูดไปตอนนี้ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เลยต้องรีบมาเลิกให้ได้ก่อน แล้วจะกลับไปพูดกับนักเรียนให้เต็มปากที่โรงเรียนให้ได้

...

นี่เป็นแบบอย่างของครูบาอาจารย์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ยอมเสียสละความสุขเล็กๆ น้อยๆ เพื่อการสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ให้เป็นแรง เป็นกำลังของชาติบ้านเมือง... สาธุ สาธุ สาธุ

ขอให้กำลังใจพวกเราที่คิดจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปในทางที่ดี คนเรามีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆ ได้มากกว่าที่คิดไว้เสมอ (ถ้ามุ่งมั่นและยืนหยัดที่จะทำ)

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 

...

 

ที่มา                                                             

...

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ รศ.พญ.วโรชา มหาชัย สาขาวิชาทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย > โรคระบบทางเดินอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นในเอเชียแปซิฟิก. Medical Progress CME (www.medicalprogress-cme.com). Vol.7 No.9 September 2008. pp. 27-29.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร > 15 กันยายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 208870เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2008 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 03:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

ติดตามอ่านมาได้ไม่นานค่ะ

แต่พยายามอ่านย้อนกลับหลายๆเรื่องค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ ทุกๆเรื่องมีประโยชน์มากๆเลยค่ะ

และมีประโยชน์ต่อบุคคลรอบข้างหนูด้วย

เพราะจะได้ระแวดระวังป้องกันและรักษาแต่เนิ่นๆค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ ที่ให้ความรู้

ขอขอบคุณ... คุณ your sister...

  • ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านย้อนหลัง แถมยังแวะมาเยี่ยมเยียนด้วย
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีค่ะ ดิฉันเพิ่งจะได้มีโอกาสอ่านสาระที่ดีๆ มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณหมอเมื่อวานนี้เอง..
  • ขอขอบพระคุณมากๆที่ให้ความรู้..เผยแพร่ต่อผู้อ่าน
  • ดิฉันอยู่ตาก..ปิดเทอมได้พาครอบครัวไปเที่ยวลำปาง ไปแจ้ซ้อน และผ่านห้างฉัตรด้วย.....อากาศดี..น่าอยู่จังค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์พัชราภรณ์...

  • อาจารย์ไปตอนลำปางหนาวพอดี
  • หวังว่า คงจะได้รับความประทับใจดีๆ จากการท่องเที่ยวเมืองไทย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจบ้านเมืองดีขึ้นด้วย...

อ่านแล้วเป็นประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆที่ได้รับ สามารถนำไปปฏิบัติตามในชีวิตประจำวันได้เลยค่ะ ขอบคุณคุณหมออีกครั้งค่ะ

ขอบคุณมากครับ ผมเคยเกิดอาการจุกที่หน้าอก หายใจไม่สะดวก จนต้องไปหาหมอทีแรกกลัวเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ เพราะไม่รู้จักโรคนี้มาก่อน ขอบคุณอีกครั้ง

ขอขอบคุณทุกๆ ท่าน ทุก ๆ ความเห็นมากๆ ครับ...

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท